แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 369
ครั้งที่ ๓๖๙
ขอกล่าวถึงสภาพของจิตใจของผู้ที่เป็นบรรพชิตซึ่งต่างกับฆราวาส ในเรื่องของศีลข้อที่ ๓ ซึ่งสำหรับเพศบรรพชิตกับเพศของฆราวาส ก็ต่างกันตามการสะสม ตามความเป็นจริงที่ทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นบรรพชิต ส่วนบุคคลอื่นก็ยังคงเป็นฆราวาสอยู่ เพราะฉะนั้น ความคิดและจิตใจ ก็ต่างกันไปตามการสะสมด้วย
ข้อความใน ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกนิบาต วรรคที่ ๘ อาตุมเถรคาถา มีว่า
ท่านพระเถระกล่าวว่า
หน่อไม้มียอดอันงอกงาม เจริญด้วยกิ่งก้านโดยรอบ ย่อมเป็นของที่บุคคลขุดขึ้นได้โดยยาก ฉันใด เมื่อคุณแม่นำภรรยามาให้แก่ฉันแล้ว ถ้าฉันมีบุตรหรือธิดาขึ้น ก็ยากที่จะถอนตนขึ้นออกบวชได้ ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ฉันจะบวชในบัดนี้
นี่เป็นสภาพของจิตจริงๆ ที่คิดอย่างนั้น ที่สะสมมาที่จะเป็นเพศบรรพชิต ไม่ใช่ด้วยความเข้าใจผิดว่าตนเองเป็นฆราวาส แต่ต้องไปทำอย่างบรรพชิต จึงจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งถ้าเป็นการเข้าใจผิดอย่างนั้น ไม่สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เป็นชีวิตจริงๆ ตามปกติได้
เมื่อไม่สามารถที่จะอบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ที่เป็นชีวิตจริงๆ ก็ไม่สามารถที่จะขัดเกลาการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังคิดอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าไม่คิด ก็เป็นการสะสมของท่านมาที่ในภพนี้ ชาตินี้ ไม่ได้คิดอย่างนี้ แต่ว่าภพก่อน หรือชาติหน้า จะคิดอย่างนี้ได้ไหม ก็ได้ แล้วแต่ว่าท่านจะสะสมมาให้มีปัจจัยพร้อมที่จะเป็นอย่างนี้พร้อมที่จะคิดอย่างนี้ในชาติไหน
เรื่องของกิเลสเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ในชาติก่อนๆ อาจจะเคยคิดอย่างนี้ แต่ว่าชาตินี้ไม่เป็นบรรพชิตแล้ว เป็นฆราวาสอีกก็ได้ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า ตราบใดที่กิเลสยังไม่ดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท ก็ย่อมมีการขึ้นลง หวั่นไหวไปตามเหตุตามปัจจัยในภพหนึ่ง ในชาติหนึ่ง แต่อย่าลืมว่า ถ้าผู้ใดคิดอย่างนี้ หรือว่าในชาตินี้แม้ว่าท่านยังเป็นฆราวาสอยู่ แต่บางครั้ง บางกาล บางโอกาส อาจจะเกิดความคิดอย่างนี้ขึ้น เป็นไปได้ไหม ยังเป็นฆราวาสอยู่ แต่บางครั้ง บางโอกาส บางกาล ก็มีความรู้สึกคล้ายบรรพชิตเกิดขึ้น ถ้าไม่มีการสะสมมาเลยจะไม่มีการคิดอย่างนี้ แต่ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาส ที่จะคิดอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ก็ไม่ตลอดไป ถ้ากิเลสยังไม่ดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท คิดได้บางครั้ง บางวัน บางขณะ และกลับไปคิดเป็นอย่างอื่นอีก
เพราะฉะนั้น ใครจะสะสมมาอย่างไร มากน้อยต่างกันอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ซึ่งแต่ละบุคคล สติจะต้องระลึกรู้ แลกเปลี่ยนกันไม่ได้เลย ถ้าใครจะคิดอย่างนี้ในขณะนั้น สติก็เกิดระลึกรู้ และถ้าเป็นผู้ที่เคยอบรมเจริญสติปัฏฐานมาแล้ว จะทราบได้ทันทีว่า ที่คิดอย่างนี้เพราะเคยขัดเกลากิเลสมาก่อน แต่ถ้าสติไม่เคยเกิด ไม่เคยระลึกรู้ ไม่เคยขัดเกลาเลย ความคิดอย่างนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้
ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมสามารถที่จะรู้ปัจจัยแม้ของความคิดว่า ที่จะคิดอย่างนั้นขึ้นมาได้ ก็เป็นเพราะว่าเคยอบรมการขัดเกลากิเลสมาแล้ว แต่ละท่านเองก็จะทราบได้ว่า ความคิดจริงๆ ของท่านเป็นอย่างไร คิดอย่างนี้บ้างไหม และต้องทราบด้วยว่า ตราบใดที่กิเลสยังไม่ดับหมดเป็นสมุจเฉท ความคิดอย่างนี้เป็นแต่เพียงบางชาติ บางภพ หรือว่าบางครั้ง บางกาลเท่านั้น ต่อเมื่อใดที่กิเลสดับเป็นสมุจเฉท เป็นขั้นๆ ความคิดก็จะต้องเป็นไปตามปัจจัยที่ได้ดับกิเลสแล้วด้วย
สำหรับผู้ที่ยังติดในกาม ไม่เห็นโทษของกาม แต่ถึงกระนั้นบางท่านก็ใคร่ที่จะรู้ว่าอะไรเป็นเหตุของทุกข์ ทั้งๆ ที่มีทุกข์อยู่แต่ไม่รู้ ก็ได้ไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาค ซึ่งข้อความใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค คันธภกสูตร มีว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อุรุเวลกัปปะ นิคมของมัลลกษัตริย์ในมัลลรัฐ ครั้งนั้น นายบ้านนามว่า คันธภกะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค โปรดทรงแสดงเหตุเกิดและเหตุดับแห่งทุกข์แก่ข้าพระองค์เถิด
ไม่ทราบท่านผู้ฟังสนใจใคร่รู้อย่างนี้บ้างไหม คือ ใคร่ที่จะทราบว่าอะไรเป็นเหตุเกิดและเหตุดับแห่งทุกข์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายคามณี ก็เราพึงปรารภอดีตกาล แสดงเหตุเกิดและเหตุดับแห่งทุกข์แก่ท่านว่า ในอดีตกาลได้มีแล้วอย่างนี้ ความสงสัย ความเคลือบแคลงในข้อนั้นจะพึงมีแก่ท่าน ถ้าเราปรารภอนาคตกาล แสดงเหตุเกิดและเหตุดับแห่งทุกข์แก่ท่านว่า ในอนาคตกาลจักมีอย่างนี้ แม้ในข้อนั้น ความสงสัย ความเคลือบแคลงจะพึงมีแก่ท่าน
เป็นวิธีที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงให้เห็นว่า ถ้าพระองค์ตรัสถึงอดีต ผู้นั้นจะไม่หมดความสงสัย ถ้าตรัสถึงอนาคต ผู้นั้นก็ไม่หมดความเคลือบแคลงสงสัยเพราะฉะนั้น ควรจะกล่าวถึงปัจจุบันที่กำลังปรากฏอยู่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่งเล่า เรานั่งอยู่ ณ ที่นี้แหละ จะแสดงเหตุเกิดและเหตุดับแห่งทุกข์แก่ท่าน
ซึ่งนั่งอยู่ที่นี่เหมือนกัน ท่านจงฟังคำนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ไม่มีอะไรจะพิสูจน์ได้ดีเท่ากับปัจจุบันที่กำลังปรากฏ
นายคันธภกคามณีทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
ดูกร นายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัส และอุปายาส พึงเกิดขึ้นนี้แก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ในอุรเวลกัปปนิคมตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์ หรือถูกติเตียน มีแก่ท่านหรือ
ซึ่งถ้าท่านที่นี่ จะเปลี่ยนจากหมู่มนุษย์ในอุรุเวลกัปปนิคมมาเป็นในกรุงเทพมหานคร หรือว่าจังหวัดหนึ่งจังหวัดใดที่ท่านอยู่ก็ตาม ท่านก็คงจะตอบคำถามนี้ เช่นเดียวกับนายคันธภกคามณี
นายบ้านคันธภกะ กราบทูลว่า
มีอยู่พระเจ้าข้า ที่ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัส และอุปายาส พึงเกิดมีแก่ข้าพระองค์ เพราะหมู่มนุษย์ในอุรุเวลกัปปนิคมตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์ หรือถูกติเตียน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายคามณี ก็ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ไม่พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ในอุรุเวลกัปปนิคมตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์ หรือถูกติเตียน มีอยู่แก่ท่านหรือ
นายคามณีกราบทูลว่า
มีอยู่พระเจ้าข้า ที่ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ไม่พึงเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะหมู่มนุษย์ในอุรุเวลกัปปนิคมตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์ หรือถูกติเตียน
จะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศีลทั้งนั้น ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดล่วงศีล กระทำทุจริต ก็ย่อมไม่พ้นจากการถูกจองจำบ้าง เสื่อมทรัพย์ ริบทรัพย์ หรือว่าถูกติเตียนในการเป็นผู้ทุศีลเช่นนั้น ซึ่งถ้าบุคคลในนิคมนี้ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์ หรือถูกติเตียน บุคคลใดจะเกิดทุกข์เพราะเหตุใด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัส และอุปายาส พึงเกิดแก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุระเวลกัปปนิคมบางพวกตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์ หรือถูกติเตียน
ก็หรือว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์โทมนัส และอุปายาส ไม่พึงเกิดมีขึ้นแก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคม บางพวกตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์ หรือถูกติเตียน
นายคามณีกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส พึงเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมเหล่าใดตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์ หรือเพราะถูกติเตียน ก็เพราะข้าพระองค์มีฉันทราคะในหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมเหล่านั้น ส่วนความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ไม่พึงเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมเหล่าใดตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์ หรือถูกติเตียน ก็เพราะข้าพระองค์ไม่มีฉันทราคะในหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมเหล่านั้น พระเจ้าข้า
จะเห็นได้ว่า เหมือนกันทุกกาลสมัย ไม่ว่าจะเป็นอดีต หรืออนาคต ก็เช่นเดียวกับปัจจุบัน ซึ่งความทุกข์ทั้งหมดย่อมเนื่องมาจากฉันทราคะ ถ้ามีความผูกพัน มีความรักใคร่ มีความพอใจในบุคคลใดมาก และบุคคลนั้นตาย หรือถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์ ถูกติเตียน ท่านก็ย่อมเป็นทุกข์มากน้อยตามฉันทราคะที่ท่านมีต่อบุคคลเหล่านั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายคามณี ท่านจงนำไปซึ่งทุกข์อันใดด้วยธรรมที่เห็นแล้ว ทราบแล้ว บรรลุแล้ว โดยไม่ประกอบด้วยกาล หยั่งลงแล้ว ทั้งอดีตและอนาคต ทุกข์เป็นอดีตกาลอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเกิด ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์ ทุกข์เป็นอนาคตกาลอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเกิดจักเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์
ในชาตินี้ท่านผู้ฟังมีทุกข์บ้างไหม ถ้ามี ท่านทราบได้ว่าทุกข์ของท่านเนื่องมาจากตนเอง ซึ่งเป็นที่รักบ้าง หรือว่าเนื่องกับบุคคลซึ่งเป็นที่รักทั้งนั้น ถ้าท่านไม่มีฉันทะ ไม่มีบุคคลซึ่งเป็นที่รัก แม้ว่าบุคคลนั้นจะตาย หรือว่าถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์ หรือถูกติเตียนก็ตาม ท่านย่อมไม่เกิดทุกข์ใดๆ ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ชาตินี้ท่านเป็นทุกข์แล้ว เพราะความรักใคร่พอใจ ความผูกพันในบุคคล ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ ชาติก่อนๆ นี้ ก็เหมือนกัน ท่านก็เคยผ่าน เคยเป็นทุกข์เพราะบุคคลที่เป็นที่รัก เพราะฉันทราคะของท่านที่มีต่อบุคคลเหล่านั้น และทุกข์ข้างหน้าก็เหมือนกัน ท่านก็ยังจะต้องมีทุกข์อีกมาก ตราบใดที่ยังมีฉันทราคะ มีความพอใจ ผูกพันในบุคคลอื่น
นายคามณีกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว พระดำรัสนี้ว่า ทุกข์เป็นอดีตกาลอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเกิด ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์ ทุกข์เป็นอนาคตกาลอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเกิด จักเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์ พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุมารนามว่าจิรวาสี บุตรของข้าพระองค์มีอยู่ เขาอาศัยอยู่ภายนอกนคร ข้าพระองค์ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ส่งบุรุษไปด้วยสั่งว่า แน่ะนาย เจ้าจงไป จงทราบกุมารจิรวาสี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษนั้นยังไม่มาเพียงใด ความกระวนกระวายใจย่อมมีแก่ข้าพระองค์ว่า อะไรๆ อย่าเบียดเบียนจิรวาสีกุมารเลย ดังนี้ เพียงนั้นๆ
นี่เป็นความห่วงใยที่มีอยู่เป็นประจำในบุคคลซึ่งเป็นที่รัก ที่ท่านมีฉันทราคะในบุคคลนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัส และอุปายาส พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะจิรวาสีกุมารตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์ หรือถูกติเตียนหรือ
แม้จิรวาสีกุมารยังมีชีวิตอยู่ ผู้ที่เป็นบิดาก็ยังมีทุกข์ถึงเพียงนั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้ข่าวว่ามีความสุขสบายประการใด เพราะฉะนั้น ถ้าจิรวาสีกุมารตาย หรือว่าเสื่อมทรัพย์ ถูกจองจำ ผู้ที่เป็นบิดานั้นจะมีทุกข์หรือไม่
นายคามณีกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้เมื่อจิรวาสีกุมารยังมีชีวิตอยู่ ข้าพระองค์ยังมีความกระวนกระวายใจ ไฉนความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จักไม่เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะจิรวาสีกุมารตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์ หรือถูก ติเตียนเล่า พระเจ้าข้า
ท่านที่มีญาติพี่น้อง มิตรสหาย บุคคลผู้เป็นที่รักมากในขณะนี้ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ และยังไม่ถูกจองจำ ยังไม่เสื่อมทรัพย์ ยังไม่ถูกติเตียน แต่ไม่แน่ว่าผู้เป็นที่รักนั้นจะถูกติเตียนวันไหน จะเสื่อมทรัพย์เมื่อไร หรือว่าจะถูกจองจำ ต้องโทษ หรือถึงแก่สิ้นชีวิตเพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ทุกข์จะต้องตามมาแน่นอน ซึ่งถูกติเตียนนี่แน่นอนที่สุด คือเมื่อล่วงศีล เมื่อกระทำทุจริตกรรม ไม่ว่าใครจะทำทุจริตกรรมประการใดประการหนึ่งล่วงศีลไป ที่จะไม่ถูกติเตียนนั้น ไม่มี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายคามณี ข้อนั้นพึงทราบโดยปริยายนี้ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเกิด ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนี้มีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์
ดูกร นายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อใดท่านไม่ได้เห็นมารดาของจิรวาสีกุมาร ไม่ได้ฟังเสียง เมื่อนั้นท่านมีความพอใจ ความกำหนัด หรือความรักในมารดาของจิรวาสีกุมารหรือ
นายคามณีกราบทูลว่า
ไม่ใช่อย่างนั้นพระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เพราะอาศัยการเห็น หรือการฟัง ท่านจึงมีความพอใจ ความกำหนัด หรือความรักในมารดาของจิรวาสีกุมารหรือ
นายคามณีกราบทูลว่า
อย่างนั้นพระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัส และอุปายาส พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะมารดาของจิรวาสีกุมารตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์ หรือถูกติเตียนหรือ
นายคามณีกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้เมื่อมารดาของจิรวาสีกุมารมีชีวิตอยู่ ข้าพระองค์พึงมีความกระวนกระวายใจ ไฉนความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส จักไม่เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะมารดาของจิรวาสีกุมารตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์ หรือถูกติเตียนเล่า พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายคามณี ท่านพึงทราบความข้อนั้นโดยปริยายนี้ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเกิด ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์
จบคันธภกสูตรที่ ๑๑
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๗ ตอนที่ ๓๖๑ – ๓๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 361
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 362
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 363
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 364
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 365
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 366
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 367
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 368
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 369
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 370
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 371
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 372
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 373
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 374
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 375
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 376
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 377
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 378
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 379
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 380
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 420