วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 10
ว่าด้วยทิศ ๖
[๑๙๘] ดูกรคฤหบดีบุตร ก็อริยสาวกเป็นผู้ปกปิดทิศทั้ง ๖ อย่างไร ท่านพึงทราบทิศ ๖ เหล่านี้ คือ พึงทราบมารดาบิดาว่าเป็นทิศเบื้องหน้า อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา บุตร และภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง มิตร และอำมาตย์เป็นทิศเบื้องซ้าย ทาส และกรรมกรเป็นทิศเบื้องต่ำ สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน ฯ
ถ้าปรารถนาจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ไม่สนใจที่จะประพฤติต่อทิศทั้งหลาย คือ บุคคลทั้งหลายที่ท่านอยู่ร่วมด้วยให้ถูกต้อง อกุศลจิตก็จะเกิดมาก แล้วเวลาที่อกุศลจิตเกิดสะสมมากขึ้นก็ย่อมยากต่อการที่จะดับอกุศลธรรมเหล่านั้นเป็นสมุจเฉท
สำหรับความหมายของคำว่า “ปกปิด” ก็คือ ภัยย่อมจะไม่มีมาจากทิศทั้ง ๖ คือ จากบุคคลทั้งหลายที่อยู่ร่วมกับท่าน ถ้าท่านประพฤติปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้นด้วยกุศลธรรม
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
[๑๙๙] ดูกรคฤหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า อันบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยตั้งใจไว้ว่าท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ ๑ จักรับทำกิจของท่าน ๑ จักดำรงวงศ์สกุล ๑ จักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก ๑ ก็หรือเมื่อท่านละไปแล้ว ทำกาลกิริยาแล้ว จักตามเพิ่มให้ซึ่งทักษิณา ๑ ฯ
ทุกท่านมีมารดาบิดา ท่านจะทำกิจเหล่านี้หรือเปล่าด้วยกุศลจิต ถ้าประพฤติต่อมารดาบิดาโดยถูกต้อง พร้อมกันนั้นอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ว่าแยกการเจริญสติปัฏฐานไว้ต่างหาก และการประพฤติปฏิบัติต่อบุคคลทั้งหลายในชีวิตประจำวันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้นเลย นี้คือบารมี ในการที่ปฏิบัติถูกต่อผู้มีคุณด้วยกุศลจิต แล้วไม่ได้หวังอะไรค่ะ ไม่ใช่หวังผลที่จะเกิดในสวรรค์ หรือว่าไม่หวังผลของกุศลที่ได้ทรัพย์สมบัติ แต่หวังที่จะขัดเกลากิเลส เพราะเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน และมั่นคงในการที่จะสร้างสมปัญญาในการที่จะดับกิเลส จะไม่ละทิ้งความละเอียดของสภาพธรรมที่ควรประพฤติ ปฏิบัติต่อบุคคลที่ท่านอยู่ร่วมด้วย โดยฐานะของทิศต่างๆ แต่เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ต้องอาศัยวิริยะ ความเพียร และศรัทธาด้วย
เช่น บุตรพึงบำรุงมารดาบิดา ผู้เป็นทิศเบื้องหน้าด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยตั้งใจไว้ว่าท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ ๑
ทำกิจนี้หรือเปล่า ถ้าลืมก็เป็นอกุศลละค่ะ เพราะเหตุว่าอกุศลย่อมทำให้หลงลืมกิจที่ควรกระทำต่างๆ ท่านที่ยังอยู่กับมารดาบิดา คงจะพิจารณาเห็นได้ในชีวิตประจำวันว่า ท่านได้ปรนนิบัติตอบแทนคุณของมารดาบิดามากน้อยเท่าไร แต่ถ้าเทียบกันแล้วละก็ เทียบไม่ได้เลยกับพระคุณที่ท่านเคยกระทำต่อบุตร
ขอยกตัวอย่างตอนเป็นเด็ก มารดาบิดาอาบน้ำให้บุตรเป็นประจำทุกวัน จนกว่าจะโต ไม่เบื่อหน่ายเลย ใช่ไหมคะ เพราะว่าบุตรนั้นน่ารัก ท่านให้ความเมตตาเอ็นดู รักใคร่ เลี้ยงดู ให้ความสุขสบายทุกอย่าง แต่เวลาที่มารดาบิดาแก่ชราลง บุตรทำกิจนี้หรือเปล่า และโดยเฉพาะถ้าท่านเป็นผู้ที่ชรามาก หรือว่าเป็นผู้ที่ป่วยไข้ มีแรงน้อย ไม่สามารถที่จะบริหารร่างกายได้ด้วยตนเอง บุตรกระทำกิจนี้ต่อท่านหรือเปล่า อาจจะมองดูว่า มารดาบิดาผู้ชรานี้ไม่น่ารัก ทำกิจนี้อาจจะยาก แต่ทำไมไม่เห็นความน่าเคารพในความชรา ซึ่งเป็นผู้ที่ได้สละทุกอย่างที่จะให้บุตรมีความเจริญก้าวหน้า ตั้งแต่เล็กจนโต ยิ่งบิดามารดามีความชราปรากฏให้เห็นเท่าไร ซึ่งอาจจะดูเป็นความไม่น่ารัก อย่างเด็กเล็กๆ ที่มารดาบิดามีความรักต่อบุตร แต่บุตรควรจะเห็นความน่าเคารพในคุณ
ของมารดาบิดา ที่ท่านยอมสละทุกอย่างเพื่อความสุขของบุตร แล้วก็ควรกระทำกิจที่ท่านได้เคยกระทำต่อ
ผู้ฟัง นี่มันเรื่องปรากฏปัจจุบัน ผมไม่ว่าคนอื่น ผมว่าลูกผมเอง ผมส่งเสียจนกระทั่งจบอักษรศาตร์บัณฑิต จบแล้วก็ไปทำงานในกระทรวงไทยพัฒนา จนได้เงินเดือน ๑,๗๕๐ เขาได้มา เขาให้แม่เขา ๕๐๐ ผมเขาไม่ให้หรอก ถามว่าเป็นไงไม่ให้ล่ะลูก เขาบอกว่าพ่อมีบำนาญแล้ว
ท่านอาจารย์ เป็นความผิดของใครคะ
ผู้ฟัง เป็นความผิดของโลกครับ
ท่านอาจารย์ อกุศลค่ะ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเลย เห็นสภาพของอกุศลธรรม ถ้าไม่มีการขัดเกลา ไม่มีการละคลายให้เบาบาง อกุศลนับวันก็เพิ่มขึ้น แล้วเวลาที่อกุศลเพิ่มขึ้นนี่ ย่อมปรากฏให้เห็นการกระทำที่ไม่ถูกไม่ควรทางกาย ทางวาจา และแม้ทางใจ บางทีบุตรอาจจะมีฐานะด้อยกว่ามารดาบิดา บางทีบุตรก็มีฐานะเสมอกับมารดาบิดา บางทีบุตรก็มีฐานะดีกว่ามารดาบิดา แต่ไม่ว่าจะเป็นบุตรมีฐานะอย่างไร ไม่ว่าจะด้อยกว่า หรือเสมอ หรือว่าสูงกว่ามารดาบิดาก็ตาม มีหลายอย่างทั้งทางกาย ทางวาจา ที่บุตรจะกระทำได้ต่อมารดาบิดา แม้ว่าไม่ใช่เรื่องทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สมบัติไม่จำเป็นจะต้องให้มากถ้ามีน้อย แต่ให้บ้างได้ไหม เพื่อเป็นการแสดงถึงความกตัญญู หรือระลึกถึงคุณของมารดาบิดาที่จะทำให้ท่านมีความสุขกายสบายใจ แม้ว่าบุตรมีน้อย แต่ควรจะเป็นสิ่งกระทำได้ที่จะให้ท่านมีความสุขใจ
ผู้ฟัง นี่ก็อยากจะเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ อาจารย์ก็รู้ดี พวกเราก็รู้ดี แต่ย้ำเสียอีกที สมัยครั้งพุทธกาล พราหมณ์ผัวเมียคู่หนึ่ง มีลูกผู้หญิงบ้าง ผู้ชายบ้าง รวม ๗ คน มีทรัพย์สมบัติแบ่งหมดเลย แต่งเมียให้ บ้านก็ให้ พ่อแม่อยู่ตรงกลาง ลูกล้อม ๗ คน ไม่มีอะไร ให้ลูกหมดเลย เช้ากินบ้านนี้ กลางวันกินบ้านนี้ เย็นกินบ้านนี้ ก็นี่แหละครับ ลูกสะใภ้ก็ดี ลูกเขยก็ดี บางทีทำกับข้าวให้พ่อแม่กินไม่ได้ วันไหนทำอร่อยก็ทำซ้ำ กินเช้า กินกลางวัน กินเย็น หนักๆ เข้าลูกสะใภ้ก็ว่า แกก็ให้เท่าๆ กัน แล้วทำไมมาซ้ำบ้านนี้ตั้งหลายหนอย่างนี้ นี่มันเป็นอย่างนี้ สมบัติของพวกเรามี อย่าให้ลูกหมด เอาไว้บ้าง เผื่อจะเจ็บไข้ ผมได้บำนาญ ๓,๐๐๐ กว่า เมียไม่เลี้ยง ลูกไม่เลี้ยง ผมไม่ทุกข์หรอก ผมไปอยู่กับพระ จ้างคนทำปิ่นโต ๖๐๐ จ้างคนนวดก็ได้ พราหมณ์คนนั้นไม่รู้จะทำยังไง ไปขอทาน พบพระผู้มีพระภาคเข้า พอทรงทราบเรื่อง ตรัสว่า ลูกที่ไม่เชื่อฟังแล้วไม่อุปการะพ่อแม่ ไม้เท้ายังดีกว่าลูกที่ไม่เชื่อฟัง
ท่านอาจารย์ ก็สังเกตยาก ใช่ไหมคะ กุศลเกิดยาก อกุศลเกิดง่าย
ผู้ฟัง ยากหรือง่ายก็ไม่รู้ แต่มันโดนกะผม พ่อมีบำนาญแล้วไม่ต้องให้
ผู้ฟัง ดิฉันต้องขอประทานโทษค่ะ คือดิฉันเป็นพวกของแม่ เรื่องของลูกที่ให้แม่ ไม่ได้ให้พ่อ เพราะความรับผิดชอบครอบครัวทั้งหลายมันอยู่กับแม่ พ่อถ้าคิดเปรียบเทียบแล้ว แม่เหมือนถังขยะ ไม่ว่าอาหารมื้อไหน ใครจะรับประทานก็ต้องอยู่ที่แม่ พ่อน่ะยังต้องเอามาให้แม่อีก ทีนี้ดิฉันขอ
นอกเรื่องไปอีกนิดหนึ่ง ดิฉันไปเยี่ยมญาติคนหนึ่ง แกเป็นคนขาพิการ แกถักสวิงสำหรับตักขนมจีนขาย ดิฉันบอกว่า น้า น้าจะไปถักทำไมมันถูก น้าก็นอนเล่น นั่งเล่นพักผ่อนอยู่ไม่ได้หรือ แกพูดคำหนึ่งออกมาทำให้ดิฉันนึกถึงคำพูดของอาจารย์ แกบอกว่า หายใจทิ้งไปเปล่าๆ ทำไม ถึงได้น้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย ก็เลยทำให้ดิฉันนึกถึงคำพูดของอาจารย์ที่สอนให้เจริญสติบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ได้ทิ้งเวลาไปเปล่าๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน โอกาสใด และดิฉันก็รู้สึกว่า ขณะที่แกพูดแล้วเตือนใจให้นึกถึง ได้ประโยชน์มากค่ะสำหรับคำพูดนิดๆ หายใจทิ้งไปทำไมเปล่าๆ รู้สึกว่าไม่ว่าดิฉัน และใครๆ หลายๆ คน การหายใจทิ้งไปเปล่าๆ นี่ก็มีมากอยู่
ท่านอาจารย์ ขอขอบพระคุณค่ะ เป็นคำพูดที่น่าฟังมากนะคะ แล้วก็เป็นธรรมด้วย ที่ว่า “หายใจทิ้งไปทำไมเปล่าๆ ” ในขณะนี้นะคะ หายใจทิ้งไปทำไมเปล่าๆ สติควรจะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ แต่ว่าแล้วแต่ขั้นของความเข้าใจ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องของการประกอบอาชีพ หายใจทิ้งไปทำไมเปล่าๆ ก็จะทำให้เป็นผู้ที่ขยันในการที่จะประกอบอาชีพ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ขั้นของความเข้าใจที่จะใช้คำที่น่าฟังว่า “หายใจทิ้งไปทำไมเปล่าๆ ” ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดที่จะเป็นได้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของผู้ใดก็ตามเป็นสภาพธรรมเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบุตรธิดา หรือมารดาบิดา ก็เป็นการสะสมของสภาพธรรม ถ้าใครมีกายวาจาที่ปรากฏเป็นอกุศล ก็ย่อมส่องถึงการสะสมอกุศลนั้นซึ่งมีกำลัง ทำให้ปรากฏออกมาเป็นการกระทำที่เป็นอกุศลทางกาย ทางวาจา แต่ถ้าเป็นผู้ที่สะสมอกุศลธรรมไว้มาก ก็เป็นปัจจัยให้เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติในทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น แต่ทั้งหมดนี้มีอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดมาก หรือว่าให้อกุศลจิตเบาบาง พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด ผู้ใดสดับมาก ฟังมาก พิจารณามาก ทรงจำมาก เห็นประโยชน์มาก น้อมนำที่จะประพฤติ ปฏิบัติตามมาก ก็เป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดมาก
ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาในทางโลก เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในทางโลกมาก แต่ถ้าขาดการฟังพระธรรม ก็ไม่สามารถที่จะมีปัจจัยที่จะให้ละคลายอกุศล แล้วก็เจริญกุศลยิ่งขึ้น
ข้อความต่อไป เป็นธรรมที่มารดาบิดาพึงปฏิบัติต่อบุตร เลือกไม่ได้ว่า จะมีอภิชาตบุตร คือบุตรที่สูงกว่าบิดามารดาด้วยคุณธรรม หรือว่าเลือกไม่ได้เหมือนกันที่จะมีอนุชาตบุตร คือบุตรที่เสมอกันกับมารดาบิดา หรือบางท่านก็อาจจะมีอวชาตบุตร คือ บุตรที่ต่ำกว่ามารดาบิดาทั้งในความประพฤติ และในชีวิตการงาน หรือว่าในเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นมารดาบิดาแล้ว จะเจริญกุศลอย่างไร พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ และผู้ใดประพฤติปฏิบัติตาม ผู้นั้นก็เป็นมารดาบิดาที่ประพฤติในฐานะที่ควร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรคฤหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าอันบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕ คือ ห้ามจากความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ ให้ศึกษาศิลปวิทยา ๑ หาภรรยาที่สมควรให้ ๑ มอบทรัพย์ให้ในสมัย ๑ ฯ
พ้นจากสภาพบุตรมาเป็นมารดาบิดา กุศลจิตเกิดได้ไหมคะ สำหรับผู้ที่เป็นมารดาบิดา ถ้าไม่ใช่เป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน อาจจะไม่ทราบความต่างกันของความผูกพันรักใคร่ในบุตรธิดา ซึ่งเป็นสภาพของอกุศลธรรม เป็นโลภมูลจิต กับสภาพของความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งเป็นกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม และไม่ได้พิจารณาโดยละเอียด ถือเอาอกุศลเป็นกุศล เข้าใจว่าท่านมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาต่อบุตร ซึ่งเป็นกุศล แต่ความจริงถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น แยกไม่ออกระหว่างโลภมูลจิต ความผูกพันรักใคร่เยื่อใยเป็นตัวตนในบุตรธิดา หาใช่กุศลธรรมที่เป็นเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาไม่
ผู้ฟัง สำหรับบิดามารดาที่มีความรู้สึกต่อบุตร ถ้าหากว่าสมัยก่อนที่ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ดูตัวเองไม่ออกค่ะ
ท่านอาจารย์ ความรู้สึกเป็นสิ่งที่สามารถจะระลึกรู้ได้ว่า เป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าท่านรู้สึกว่าบุตรของเรา มีความเป็นของเรา ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต เวลาที่มีความปรารถนา ที่จะให้บุตรเจริญรุ่งเรืองในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ถ้าเป็นความปรารถนาที่ท่านมีต่อบุคคลทั้งหลายทั่วไปไม่เลือก ไม่ว่าใครต้องการให้บุคคลทั้งหลายเป็นสุขจริงๆ ไม่ว่าบุตรเราหรือบุตรเขา หรือใคร นั่นเป็นสภาพของกุศลธรรม เป็นเมตตาโดยแท้จริง แต่ถ้ามีความรู้สึกเป็นของเราโดยเฉพาะ นั่นเป็นโลภมูลจิต
ท่านอาจารย์ มีบางคนใคร่ที่จะทราบลักษณะของเมตตากับโลภะว่าต่างกันอย่างไร เพราะเหตุว่ามีข้อความในพระธรรมที่แสดงว่า เมตตานั้นเหมือนการกระทำของมารดาทั้งหลายที่มีต่อบุตร แต่ไม่ใช่ว่าด้วยโลภะ เอาความผูกพันว่าเป็นบุตรของตนออกเสียก่อน แล้วมารดาที่กระทำต่อบุตรด้วยความรัก ด้วยความปรารถนาดี ด้วยความหวังดีอย่างไร แล้วบุคคลอื่นสามารถจะเจริญเมตตา ความรัก ความหวังดีต่อบุคคลทั้งหลายในลักษณะที่มารดามีความหวังดี มีความเมตตาต่อบุตร นั่นคือลักษณะของเมตตา แต่ต้องเอาความผูกพันรักใคร่ในฐานะที่เป็นบุตรของเราออกเสีย แล้วก็ดูการกระทำของมารดาที่กระทำต่อบุตรอย่างไร ท่านก็กระทำต่อผู้อื่นเช่นเดียวกับที่มารดาสามารถกระทำต่อบุตรฉันนั้น นั่นเป็นลักษณะของเมตตา โดยที่คนนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นบุตรของท่าน แต่ว่าการกระทำของท่านต่อบุคคลอื่น เหมือนกับการกระทำของมารดาต่อบุตร นั่นเป็นความหวังดี ปรารถนาความสุข เป็นการมีเมตตาต่อบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาสภาพธรรมโดยละเอียดนะคะ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมบางอย่างมีลักษณะที่ใกล้ชิดกัน แต่ว่าสภาพธรรมหนึ่งเป็น
อกุศล สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเป็นกุศล โลภะเป็นอกุศล เมตตาเป็นกุศล รักบุตรธิดา ต้องการจะให้บุตรธิดาก้าวหน้ารุ่งเรือง
ผู้ฟัง คำว่า “รัก” เท่าที่ผมเรียนมา รักบุตรธิดา เขาเรียกว่า สิเนหา ปุตตสิเนโห ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยมันก็รักเหมือนกัน แต่ศัพท์นั้นเป็นสิเนหา หรือสิโนโห มันต่างกัน โลภะ ลาภะ ที่มามันก็ต่างกัน ศัพท์มันก็ต่างกัน เหมือนอย่างภาษาไทย คำว่า “รัก” รักเพื่อนก็รัก รักแฟนก็รัก รักใครก็รัก แต่ว่าศัพท์ที่ใช้ในภาษาบาลีต่างกัน รักเพื่อนอย่างหนึ่ง รักเพื่อน รักเมียนี้ต่างกัน รักบุตรธิดาใช้คำว่า สิเน่หา มีในลักษณะกฎหมายยกให้ ให้ทรัพย์โดยสิเน่หา รักเมีย รักเพื่อนฝูง มันคนละอย่าง สิเน่หา มิตร เพื่อน สหาย แต่ภาษาไทยใช้คำว่าเพื่อนทั้งนั้น แต่ที่มามันต่างกัน อย่างฝรั่ง friend ก็เพื่อนเท่านั้น ใครๆ ก็เพื่อน แต่ภาษาบาลี สหาย สห + อาย คนที่ไปร่วมกันเสมอๆ เรียกว่า สหาย มิตร คนที่สนิทชอบกัน เรียกว่า มิตร สุหชฺชา ล่ะ คนที่ใจดีต่อกัน สุหชฺช สุ แปลว่า ดี หชฺช หทย ชา แปลว่าเกิด คนที่ใจดีต่อเรา เรียกว่า สุหชฺชา ทั้ง ๓ อย่าง ภาษาไทยแปลว่าเพื่อน
ท่านอาจารย์ รักคนละอย่าง รักหลายๆ อย่างๆ รักทุกๆ อย่างนั่นน่ะค่ะ โดยสภาพธรรมแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล จะใช้ศัพท์อะไรก็ตามแต่ รักบุตรธิดา รักมารดาบิดา รักญาติมิตรสหาย จะรักอะไรอีกก็แล้วแต่ รักสัตว์นานาชนิด โดยสภาพธรรมแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ต้องตรงต่อความเป็นจริง เป็นอกุศลทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญกุศล จึงต้องสามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะตรงตามความเป็นจริง อกุศลเป็นกุศลไม่ได้ และกุศลก็ไม่ใช่อกุศลเลย เมตตาไม่ใช่โลภะ โลภะไม่ใช่เมตตา เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาไม่สามารถจะรู้ชัดในสภาพธรรมที่ต่างกัน ๒ ลักษณะ บางท่านอาจจะเข้าใจผิด คิดว่าท่านเจริญกุศลมาก ท่านมีเมตตามากเหลือเกิน แต่ว่าความจริงแล้ว หาใช่เมตตาไม่ ตรงกันข้ามท่านมีโลภะมากเหลือเกิน บางคนรักบุตรธิดาของตนมาก จนกระทั่งสามารถจะกล่าวร้ายบุตรธิดาของคนอื่นได้ เพื่อที่จะยกบุตรธิดาของตน แล้วข่มบุตรธิดาของคนอื่น นี่หรือคะเมตตา อกุศลธรรมทั้งนั้นค่ะ ที่มีกำลังแรงขึ้น จนกระทั่งสามารถกระทำทุจริตทางกาย ทางวาจาได้ ด้วยความรักซึ่งเป็นอกุศล ซึ่งเป็นโลภะที่มีต่อบุตรธิดา ไม่ใช่ด้วยเมตตา ถ้าเมตตาแล้ว เสมอเหมือนกัน มีความหวังดี ไม่ใช่ด้วยความผูกพันว่า เป็นของเรา ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลจิต เพราะฉะนั้น การเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้รู้ลักษณะที่ต่างกันจริงๆ ของสภาพธรรมที่ปรากฏ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่หลงไป ให้อกุศลเป็นกุศล คือ ไม่หลงเอาโลภะ ความติด ความต้องการผล ความอยากรู้ลักษณะความเกิดดับของนามรูป โดยที่ไม่อบรมเจริญปัญญาตามลำดับขั้น ลักษณะของโลภะมีมากมายเหลือเกิน ซึ่งถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นโลภะแล้ว โลภะก็สามารถที่จะเกิดขึ้นอิงอาศัย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติใดๆ ทั้งสิ้น หรือท่านคิดว่าท่านทำเพื่อบุตรธิดาด้วยความเมตตา แต่ความจริงเป็นอกุศล คือ โลภมูลจิต เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นบิดามารดา และศึกษาพระธรรม มีความเข้าใจมากขึ้น จะมีความเมตตาต่อบุตรธิดามากกว่าที่จะมีโลภะต่อบุตรธิดาอย่างที่เคยเป็น โลภมูลจิตไม่ดับหมดสิ้นไปได้ จนกว่าจะถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล แต่พระโสดาบันรู้ลักษณะของสภาพธรรม ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ไม่หลงผิด ไม่ให้โลภะเกิดโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นโลภะ แต่เพราะรู้ ถึงละได้ ถ้าไม่รู้โลภะตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถที่จะละโลภะนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับผู้ใกล้ชิดในครอบครัว
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 01
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 02
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 03
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 04
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 05
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 06
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 07
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 08
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 09
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 10
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 11
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 12
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 13
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 14
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 15
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 16
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 17
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 18
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 19
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 20
- สมถภาวนา ตอนที่ 01
- สมถภาวนา ตอนที่ 02
- สมถภาวนา ตอนที่ 03
- สมถภาวนา ตอนที่ 04
- สมถภาวนา ตอนที่ 05
- สมถภาวนา ตอนที่ 06
- สมถภาวนา ตอนที่ 07
- สมถภาวนา ตอนที่ 08
- สมถภาวนา ตอนที่ 09
- สมถภาวนา ตอนที่ 10
- สมถภาวนา ตอนที่ 11
- สมถภาวนา ตอนที่ 12
- สมถภาวนา ตอนที่ 13
- สมถภาวนา ตอนที่ 14
- สมถภาวนา ตอนที่ 15
- สมถภาวนา ตอนที่ 16
- สมถภาวนา ตอนที่ 17
- สมถภาวนา ตอนที่ 18
- สมถภาวนา ตอนที่ 19
- สมถภาวนา ตอนที่ 20