วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 11


    ไม่ว่าจะเป็นในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับผู้ใกล้ชิดในครอบครัว หรือว่าในการอบรมเจริญปัญญา ถ้าเป็นการไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงก็หลงยึดถือว่าเป็นปัญญาขั้นต่างๆ นั่นด้วยอำนาจของโลภะ ไม่ใช่ปัญญาที่รู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ดิฉันเคยได้ยินมาตั้งนานมาแล้ว เขาก็ขึ้นต้นคำว่า ตัณหารักลูกเหมือนเชือกผูกคอ ตัณหารักสามีภรรยาเหมือนปอผูกศอก ตัณหารักวัตถุข้าวของเหมือนปลอกสวมตีน เขาว่าอย่างนี้ค่ะ ถือว่าความรักนี้เป็นอกุศล แค่ลูกกลับจากโรงเรียนช้า ก็เป็นทุกข์แล้ว กระสับกระส่าย ตาคอยมองอยู่ที่ประตู ไม่ว่าอะไรจะก๊อกแก๊ก ก็คิดว่าลูกจะมา แต่ถ้าตราบใดที่มีการเจริญสติ ระลึกได้ว่า แม้แต่ตัวของเราเอง ก็ไม่อาจกั้นกระแสกรรมของเราได้ ทุกอย่างที่มีความยินดีพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ที่ได้รับคือวิบาก ลูกก็เป็นเพียงนามธรรมรูปธรรมเท่านั้น ตัวของเรา ความทุกข์ขณะนี้ก็เป็นเพียงรูปธรรมนามธรรมเท่านั้น ขณะที่ทุกข์ ก็เพราะความยึดถือ เพราะอุปาทาน ถือว่าเป็นลูกก็เลยทุกข์ พอได้สติเช่นนี้ ก็รู้สึกว่าค่อยยังชั่ว

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นกุศลแล้ว ไม่นำมาซึ่งทุกข์ใดๆ เลย เพราะฉะนั้น ความทุกข์ของท่านเกิดจากอะไร ให้ทราบว่า มีอกุศลธรรมเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์นั้น ถ้าเป็นกุศลธรรม เป็นปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วละก็ จะไม่เกิดทุกข์ และจะเข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น ที่เกิดมานี้ ถ้าไม่มีกิเลสไม่เกิดแน่ มีปฏิสนธิเกิดขึ้น ให้ทราบได้ว่า ต้องยังมีกิเลสอยู่แน่นอน จึงมีปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นได้ ที่จะกล่าวว่า ไม่มีกิเลสแล้วเกิดนี่เป็นไปไม่ได้ ถ้าเกิดในสุคติภูมิ ในมนุษย์ ในสวรรค์ ก็เป็นผู้ที่ยังไม่ละความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความยินดีพอใจมีมากมายเหลือเกิน ในภพ ในชาติ ในวัตถุ ในบุคคล ในสิ่งต่างๆ แต่เมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้ บุคคลต่างๆ เหล่านี้ หาความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้ ท่านมีความยินดีพอใจในอะไร

    นี่เป็นปัญหาที่น่าคิดนะคะ เพราะเหตุว่าถ้าไม่ได้พิจารณาสภาพธรรมให้ตรงตามความเป็นจริง ท่านก็บอกว่า ท่านมีความรักบุตรธิดา มีความรักผูกพันในบุคคลนั้นบ้าง ในวัตถุสิ่งนั้นบ้าง แต่ให้ทราบตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงเป็นความยินดีของท่านเอง ท่านติดเหลือเกินในสุขเวทนา ในความพอใจ ในความรู้สึกเป็นสุขอันนั้น ที่ต้องการจะให้เกิดอีกกับท่านซ้ำแล้วซ้ำอีก บุคคลภายนอกเป็นแต่เพียงอารัมณะ หรืออารมณ์ ซึ่งเป็นที่ตั้ง เป็นเพียงปัจจัยให้ความรู้สึกเป็นสุข หรือรู้สึกยินดีของท่านเกิดอีก เพราะฉะนั้น จึงดูเสมือนว่า ท่านรักบุคคลอื่นนี้มากมายเหลือเกิน ถ้าเป็นปู่ย่าตายาย ก็ดูเหมือนว่า รักหลานนี้มากมายเหลือเกิน แต่ความจริงท่านรักใคร ท่านต้องการให้ตัวท่านนี่เกิดสุขเวทนาบ่อยๆ สุขเวทนาอันนั้นแหละที่มาจากบุคคลนั้นแหละ เพราะฉะนั้น ความจริงแล้ว ท่านรักตัวของท่านที่สุด ต้องการให้สุขเวทนาของท่านอันนั้นเกิดขึ้นอีกๆ อันเนื่องมาจากบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่น ถ้าท่านเป็นคนที่ชอบเพชรนิลจินดา ก็ดูเหมือนกับว่า ท่านพอใจ ท่านยึดมั่นในเพชรนิลจินดานั้นมาก แต่ว่าสุขเวทนา ความรู้สึกยินดีพอใจของท่านสืบเนื่องมาจากเพชรนิลจินดา หรือว่ามีเพชรนิลจินดานั้นเป็นเหตุให้เกิดขึ้น ท่านจึงต้องการอารมณ์ วัตถุภายนอกที่จะเป็นปัจจัยให้สุขเวทนาของท่านเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

    เพราะฉะนั้น ท่านรักอะไรที่สุด ก็ต้องเป็นสุขเวทนา ความรู้สึกเป็นสุขของท่านนั่นเอง ที่ต้องการจะให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้นบ่อยๆ เนืองๆ และท่านก็รู้ว่าสุขเวทนาของท่านนั้นมีอารมณ์อะไรเป็นปัจจัย มีสิ่งใดเป็นปัจจัย ก็แสวงหาสิ่งนั้น เพื่อที่จะให้ความรู้สึกเป็นสุขของท่านนั้นเกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก เพราะฉะนั้น ท่านรักใคร ท่านรักอะไร สุขเวทนาของท่านเองต่างหาก

    ถาม ผมจะถามอาจารย์ในข้อนี้ว่า ทุกอย่างดูเหมือนจะเหมือนกัน อย่างที่ว่าสุขเวทนาในธรรม ก็จะแสวงหามาให้ตัวเองบ่อยๆ เพื่อให้เป็นที่พอใจ เป็นอกุศลหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เป็นยังไง สุขเวทนาในธรรม

    ผู้ฟัง เช่นฟังเข้าใจในข้อธรรมที่อาจารย์บรรยาย ทำให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ต่างๆ อันนี้เป็นสุขเวทนาที่ตัวเองได้รับอยู่ ทีนี้ก็ปรารถนาจะได้ฟังบ่อยๆ ลักษณะอย่างนี้ แสวงหาอยู่ ถึงได้มาที่นี่ ปกติไม่ได้มา

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลหรืออกุศล

    ผู้ฟัง อย่างนี้ผมถึงได้ถามอาจารย์ แล้วอารมณ์อื่นตกอยู่ในสภาพนี้เหมือนกัน ผมไม่เข้าใจจึงได้ถามอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ถ้าเจริญสติปัฏฐานจะทราบได้ว่า โสมนัสเวทนา ความรู้สึกเป็นสุขเกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้ เป็นความรู้สึกที่เป็นสุข เป็นโสมนัสจริง ไม่ใช่โทมนัส ไม่ใช่อุเบกขา แต่ว่าเกิดกับสภาพของจิตที่ต่างกัน เวลาที่จะรู้ลักษณะของศรัทธานี้ สภาพของศรัทธาซึ่งเป็นกุศลธรรมปรากฏ ไม่ใช่ลักษณะของโลภะ โลภะเป็นอกุศลธรรม ดูหนัก ดูเหมือนจะเป็นความยินดี แต่เป็นความติด เพราะฉะนั้น ต้องเป็นลักษณะของทุกข์อย่างหนึ่ง แต่ลักษณะของศรัทธาเป็นลักษณะที่เบาจากความติด ความเป็นทาส ความผูกพัน จากเยื่อใย พ้นแล้วแม้ชั่วคราว ในขณะนั้นก็เป็นลักษณะที่ผิดกัน เพราะเหตุว่าเป็นลักษณะที่ใส ที่เบาจากอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าจะเกิดโสมนัส ความรู้สึกที่เป็นสุข ที่ปัญญากำลังรู้ลักษณะของนามธรรมก็ดี รูปธรรมก็ดี กุศลจิตในขณะนั้นสามารถเกิดกับโสมนัสเวทนาก็ได้ และบุคคลนั้นก็รู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แม้ของโสมนัสเวทนาในขณะนั้น

    ถาม ขณะที่ฟังอาจารย์บรรยายอย่างนี้ มีความเข้าใจ มีความยินดีพอใจ แต่ปราศจากปัญญาได้ไหมคะ มีแต่กุศลจิต แต่ไม่มีปัญญา เป็นไปได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ปัญญามีหลายขั้นนะคะ ปัญญาขั้นเข้าใจในการฟังก็เป็นปัญญา แต่ไม่ใช่ปัญญาที่ได้อบรมจนถึงขั้นที่จะประจักษ์สภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ กว่าจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ ต้องอบรมมากเหลือเกิน แต่ว่าก็ไม่มีเหตุที่จะต้องท้อถอย เพราะเหตุว่าของจริงก็ต้องยาก สภาพธรรมกำลังเกิดดับ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จากการที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง มาเป็นได้ยินได้ฟัง แล้วก็สนใจศึกษาพิจารณาต่อไปอีก ฟังต่อไปอีกเรื่อยๆ ขัดเกลาต่อไปอีกเรื่อยๆ ก็ย่อมเป็นปัจจัยที่จะให้ปัญญางอกงามเจริญขึ้น แต่ว่า

    เป็นไปได้อย่างช้าๆ แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์ยังต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป พระอริยสาวกทุกท่านที่แสดงประวัติของท่านเหล่านั้นเอง ก็ได้กล่าวถึงอดีตอนันตชาติว่า ได้เคยพบ ได้เคยเฝ้า หรือได้เคยฟังธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ บางท่านก็กล่าวว่า ฟังแล้วฟังอีก ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาครั้งเดียวก็ไม่พอ ๒ ครั้งก็ไม่พอ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เหมือนย่ำเท้าอยู่กับที่ และหนทางที่จะต้องไปนั้นก็แสนไกล แต่ว่าย่ำต่อไปเถอะค่ะ เพราะเหตุว่าขณะที่ย่ำไป ก็จะกระเถิบไปนิดหนึ่ง อยู่เรื่อยๆ ย่ำไปๆ เรื่อยๆ ก็กระเถิบไปทีละนิดอยู่เรื่อยๆ แต่ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ เป็นสติจริงๆ เป็นการระลึกศึกษาในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ต้องเป็นของจริงทุกอย่าง แล้วปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ในวันหนึ่ง อย่างท่านพระสารีบุตรในชาติสุดท้าย ท่านได้อบรมปัญญาถึงขั้นที่จะบรรลุคณธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่แม้กระนั้นระหว่างที่ท่านบำเพ็ญบารมี โสตาปัตติมรรคไม่เกิด แต่มาเกิดในชาติสุดท้าย เมื่อได้ฟังท่านพระอัสสชิแสดงธรรม และหลังจากนั้นต่อมา ๑๕ วัน บารมีทั้งหลายที่ท่านได้สะสมมาที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอัครสาวก ก็ทำให้ท่านได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าสติเกิดขึ้น แล้วสติก็ดับไป ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา แต่ยังไม่ประจักษ์ ถ้ายังไม่มีการพิจารณา ไม่มีการศึกษา จะเกิดความรู้ขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกแล้ว ยังต้องศึกษาพิจารณาน้อมไปสู่ความรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ถอดสัตว์ บุคคล ตัวตนที่เคยยึดถือรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตาออกหมด แล้วก็สามารถที่จะรู้จริงๆ ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่สามารถจะปรากฏทางตาเท่านั้น

    ถาม ผมอยากจะถามอาจารย์ว่า ระหว่างที่ท่านพระสารีบุตรบำเพ็ญบารมี โสตาปัตติมรรคไม่เกิด ญาณขั้นต่ำท่านเกิดหรือเปล่า หรือสามารถที่จะเกิดได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้กล่าวไว้ค่ะ เกิดหรือไม่เกิด ไม่เป็นปัญหา อบรมต่อไป เป็นความสงสัยเท่านั้นเอง แต่สภาพธรรมใดก็ตามจะเกิดขึ้น หมายความว่ามีเหตุปัจจัยพร้อมที่จะให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น เมื่อพร้อมแล้วใครจะยับยั้งก็ไม่ได้ แม้ว่าท่านกำลังติดตามท่านพระอัสสชิไป เพียงได้ฟังพระธรรมสั้นๆ จากท่านพระอัสสชิ ท่านก็สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ไม่มีใครยับยั้งปัญญาของท่านพระสารีบุตรว่า ขณะนั้นอย่าเพิ่งเกิด หรือยังไม่ควรจะเกิด หรือต้องไปเกิดที่อื่น

    ผู้ฟัง ผมขอถามอาจารย์ว่า สาวกองค์อื่นๆ ที่ปฏิบัติธรรมแล้วได้ญาณขั้นต่ำ ยังไม่ได้โสตาปัตติมรรคจิต แล้วตายไป มีหรือเปล่าครับ

    ท่านอาจารย์ มีค่ะ

    ผู้ฟัง หลังจากญาณที่ท่านได้รู้แล้ว ตายไปแล้ว ตายไปอีกชาติหนึ่ง ปัญญาที่รู้นั้นก็หายไปไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่หายซิคะ ก็อบรมต่อไป

    ผู้ฟัง หมายความว่าในชาตินี้ เจริญสติปัฏฐานได้ถึงอุทยัพพยญาณ แล้วตายไปในชาตินี้ ไปปฏิสนธิในชาติต่อไป ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ อุทยัพพยญาณยังรู้ได้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ปัจจัยยังไม่พร้อมที่จะให้เกิด ก็ไม่เกิดค่ะ แม้แต่พระโสดาบันบุคคลรู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ญาณก็ไม่เกิด หรือว่าเวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ยังไม่พร้อมที่ญาณจะเกิด วิปัสสนาญาณก็ยังไม่เกิด ไม่ใช่วิปัสสนาญาณจะเกิดทุกขณะไป ไม่ใช่อย่างนั้น

    ผู้ฟัง อริยมรรคจะเกิดหรือไม่เกิดในชาติหนึ่งๆ ผมว่ามันเกี่ยวกับตำแหน่ง คืออย่างพระพุทธเจ้ายังงี้ ถ้าจะเป็นพระอริยะเฉยๆ ครั้งสมัยท่านเป็นสุเมธดาบสก็ได้เป็น แต่หลักใหญ่ของท่าน ท่านปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า หลักเกณฑ์มันอยู่อย่างนั้น มันจะต้องเดินไปถึงขั้นนั้น ผมก็ยังไม่เจอคัมภีร์อย่างพระสังกัจจายน์ ความจริงท่านปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน แต่หลังๆ เมื่อมาบวชเป็นสาวก อีกนานนัก ก็เอาเถอะ เลยมาเป็นสาวก เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ความปรารถนา ความตั้งใจ มันคนละตำแหน่ง อย่างว่าเราอยากจะเป็นทหาร ไปเรียนอย่างอื่น มันก็ไม่สำเร็จทหาร จะต้องไปเข้าโรงเรียนทหาร ถ้าอย่างจะเป็นพลเรือน ก็พอจะเปรียบกันได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า สมัยที่พระทีปังกรเป็นสุเมธดาบส ก็มีทางสำเร็จเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว แต่ความปรารถนาของท่านมันคนละเรื่อง

    ท่านอาจารย์ ในบรรดาท่านที่เจริญสติปัฏฐาน มีความปรารถนาอะไรบ้างหรือเปล่าคะ บางท่านก็ไม่รอคอยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป

    ผู้ฟัง พูดเฉพาะผม ถ้าจะสำเร็จในวันนี้พรุ่งนี้ ละมาแล้ว แค่พระโสดาผมก็เอา มันเบื่อชีวิตเต็มที อายุตั้ง ๘๓ ถ้าตายระหว่างนั้นก็เห็นจะไปนรกแน่ และในที่สุดเขาก็ปลดจากราชการ ตอนนี้ถ้าไม่ดีแล้ว เราทำทั้งดีทั้งชั่ว มันอาจจะตกนรก พอกลัวนรกขึ้นมา ก็หาอาจารย์ ฟังธรรม ไปตั้งหลายแห่ง ไม่ว่าสอนที่ไหน ตั้งแต่ ๒๕๒๓ ผมฟัง อาจารย์มา ผมไม่ยอมฟังคนอื่นหรอก เป็นความจริง คนอื่นผมไม่ฟังหรอก ขอโทษ ไม่ใช่อวดดีหรอก คนอื่นแสดง ผมไม่คิดว่าเหนือผมหรอก แต่อาจารย์นี้ผมว่าเหนือผม ผมยอม

    ท่านอาจารย์ ท่านที่เจริญสติปัฏฐาน ท่านมีความปรารถนาอะไรบ้างหรือเปล่า เพราะเหตุว่าบางท่านก็ไม่รอคอยที่จะพบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป แต่ว่าบางท่านก็ขอได้พบ ได้เฝ้า และได้บรรลุมรรคผลในขณะที่ได้ฟังธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ผลทั้งหลายย่อมเป็นไปตามเหตุ สำหรับท่านที่ปรารถนาจะพบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป ท่านอาจจะเห็นกิเลสของท่านมากเหลือเกิน โดยเฉพาะสมุทัย ความยินดีพอใจ ยังเต็มเหลือเกินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในบุตรธิดา ในญาติ มิตรสหาย พร้อมไปถึงสัตว์โลกต่างๆ เพราะฉะนั้น ท่านก็เห็นว่า ท่านคงไม่สามารถจะบรรลุอริยสัจธรรมก่อน

    สมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป แต่ว่าการที่จะได้พบได้เฝ้า ได้ฟังพระธรรมต่อพระพักตร์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป ท่านพร้อมแล้วหรือยัง ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะได้เฝ้าฟังธรรม ก็อาจจะเป็นเหมือนในขณะนี้ก็ได้ ซึ่งบางท่านก็อาจจะยังไม่แจ่มแจ้งในพระธรรม ไม่สามารถจะประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพราะฉะนั้น ถ้าอบรมเหตุ คือ ปัญญาไปเรื่อยๆ แล้วก็แล้วแต่เหตุว่า ท่านจะบรรลุมรรคผลก่อนพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป หรือว่าจะได้เฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป ก็ขออย่าให้เป็นผู้ที่ประมาท เพราะเหตุว่าถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะได้ฟังธรรม ก็เหมือนกับที่เคยได้เฝ้าได้ฟังธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ในอดีต แต่ท่านก็ยังไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้

    ผู้ฟัง แต่สำหรับผม ผมยึดหลักนี้ โย ธมฺมํ ปสฺสติ โสมํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต คือ ถ้าเราเห็นธรรมเหมือนเห็นตถาคต เหมือนกันครับ เพราะฉะนั้น ถ้าผมจะสำเร็จวันนี้พรุ่งนี้ ผมไม่รอคอยที่จะพบ เพราะเหตุว่าการพบพระพุทธเจ้านั้น ก็เป็นอนุตริยะอันหนึ่งเหมือนกัน เราจะเห็นได้สมัยพุทธกาล พบพระพุทธเจ้า แล้วไม่เอาเรื่องก็มี อย่างพระเจ้าปเสนทิโกศล เฝ้าเช้าเฝ้าเย็น แล้วท่านได้อะไร ก็พบไปอย่างนั้น ตอนตายก็ยังน่าทุเรศเสียอีก ถึงแม้ว่าในประวัติจะกล่าวว่า ท่านจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง อย่าว่าแต่คนอื่นเลย พระเจ้าปเสนทิโกศลท่านเฝ้าเช้า ท่านเฝ้าเย็น มีธุระอะไรก็ไปถาม ก็ไม่ได้อะไรเลย เพราะฉะนั้น การที่จะได้พบพระพุทธเจ้า ก็เป็นอนุตริยะ อนุตริยะ แปลว่า ดี แต่บางครั้งในสมัยพุทธกาล พระสามาวดีไม่ได้พบพระพุทธเจ้าเลย ฟังธรรมจากนางขุชชตรา สำเร็จโสดาเสียแล้ว อันนี้ไม่จำเป็น แต่ได้พบก็ดี มีเรื่องในพระมาลัยคาถาพระศรีอาริย์ ฟังเทศน์คาถาพัน ๑๓ กัณฑ์ จบในวันเดียว ก็จะได้ทันพบพระศรีอาริย์ ไปพบแล้วรู้สึกว่า จะไปได้ลาภ สักการะ น้ำขึ้นทางหนึ่ง แล้วมีต้นกัลปพฤกษ์ รู้สึกว่าเป็นเรื่องโลภทั้งนั้นแหละ

    เพราะฉะนั้น การที่จะได้พบพระพุทธเจ้านั้นก็เป็นอนุตริยะ แต่ถ้าเราได้ถึงธรรมเดี๋ยวนี้ก็ได้ ถ้าเราได้เห็นจริงๆ เราก็สิ้นกิเลสได้เหมือนกัน แต่เราฟังไม่จริงนะซิ บางทีฟัง อาจารย์พูดก็ไปนั่งคุยเสีย ในสมัยพุทธกาลเขาตั้งใจฟังกันจริงๆ เราไม่ได้ตั้งใจฟัง บางทีพูดไปแล้ว เอ พูดว่าอะไร มัวแต่ไปคุยกันเสีย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องรอ คือ เจริญเหตุไปเรื่อยๆ เมื่อเหตุพร้อมเมื่อไร ผลก็เกิดเมื่อนั้น แต่ถ้าเหตุไม่พร้อม ถึงแม้ว่าได้เฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป ก็ยังไม่พร้อม ก็ยังต้องรอต่อไปอีก ไม่ทราบว่าจะต้องถึงพระองค์ไหน เพราะฉะนั้น การไม่รอ คือ ผู้ที่ไม่ประมาท ดีที่สุด วิธีไม่รอคือยังไงคะ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ ถ้าไม่ระลึก หมายความว่า ปัจจัยไม่พร้อมที่จะให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    นี่คือความยากยิ่งของการอบรมปัญญา ซึ่งจะต้องอาศัยเหตุปัจจัยที่จะให้ปัญญาเกิดมากมายหลายประการทีเดียว ที่จะเป็นบารมีที่จะให้สติเกิดขึ้นเนืองๆ บ่อยๆ ระลึกแล้วก็ศึกษาด้วยความแยบคายในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏให้ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ แล้วปัญญาก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่ข้อสำคัญคือไม่รอด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที ถ้าจะให้ท่านบรรลุนิพพาน โดยไม่มีความรู้อะไรเลย เอาไหมคะ เอาหรือไม่เอาคะ ที่ว่าชาตินี้ได้ก็ดี

    ถาม การบรรลุนิพพาน ถ้าให้ผมบรรลุนิพพานเดี๋ยวนี้ ผมไม่เอาหรอกครับ เพราะยังเสียดายตัณหา เพราะเหตุว่าถ้าบรรลุนิพพานแล้ว มันไม่สนุก

    ท่านอาจารย์ ท่านที่ต้องการนิพพานในชาตินี้ ถ้าจะให้บรรลุโดยไม่รู้อะไร จะเอาไหมคะ ไม่เอา เพราะฉะนั้น จุดมุ่งหมายยังไม่ควรจะเป็นนิพพานเลย เพราะเหตุว่าเป็นจุดมุ่งหมายที่ไกลมาก แต่จุดมุ่งหมายแต่ละขณะควรจะเป็นการศึกษา เพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่มีการศึกษาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงแล้วล่ะก็ไม่ถึงแน่ค่ะ ไม่มีการที่จะบรรลุถึงนิพพานได้ โดยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องรีบร้อนไปถึงนิพพาน แต่ควรที่จะระลึกได้ รู้ว่ามีความรู้เพิ่มขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้หรือเปล่า ถ้ายังไม่มี ก็ไม่ใช่กิจอื่น นอกจากการระลึกได้ในขณะนั้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ สังเกต สำเหนียก ศึกษา เพื่อที่จะรู้ว่า สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นเพียงสภาพรู้ ธาตุรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วก็หมดไป แล้วก็มีลักษณะของสภาพธรรมอื่น ซึ่งเป็นอาการรู้ สภาพรู้ ในลักษณะของสภาพธรรมอื่นต่อไป

    นี่เป็นสภาพธรรมที่ตราบใดยังไม่ระลึก ยังไม่รู้ ยังไม่ศึกษา ก็ไม่สามารถจะรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมนั้น จนถึงนิพพานได้

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง หัวใจหยุดไป ๒ ครั้ง แพทย์ก็ได้ช่วยไว้ได้ รักษาพยาบาลทำให้ไม่ถึงกับสิ้นชีวิต ท่านถามว่าในขณะนั้นควรจะทำอะไรดีที่สุด ซึ่งก็ได้เรียนชี้แจงว่า ไม่สามารถจะทำอะไรได้ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ให้เกิดขึ้นเป็นไปตามความต้องการได้ ผู้ที่ใกล้จะสิ้นชีวิต ไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับให้สภาพธรรมที่เป็นกุศล เกิดขึ้นตามที่ต้องการ แม้แต่จะเป็นกุศลขั้นความสงบ หรือว่ากุศลซึ่งเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะนี้ไม่ศึกษา ไม่สังเกต ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็จะไปหวังว่า เวลาที่ท่านใกล้จะสิ้นชีวิต ก็จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ก็เป็นไปไม่ได้ แม้แต่ท่านที่เป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานเอง เวลาที่ใกล้จะสิ้นชีวิต ไม่มีใครจะสามารถระลึกได้ว่า จิตในขณะนั้นจะเป็นกุศลหรืออกุศล จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหรือไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น การอบรมปัญญาแต่ละขณะเป็นปัจจัยที่จะทำให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ แล้วแต่ว่ามีเหตุปัจจัยที่จะให้ระลึกขณะใด สติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ท่านผู้นั้นได้ถามต่อไปว่า แทนที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นปัจจัยที่จะทำให้สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้แล้วแต่ว่ามีเหตุปัจจัยที่จะให้ระลึกขณะใด สติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น

    ท่านผู้นั้นได้ถามต่อไปว่า แทนที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เช่น ทางกาย ก็มีลักษณะที่อ่อนหรือแข็งปรากฏ ดูเหมือนจะไม่ได้ประโยชน์เท่ากับการที่จะระลึกถึง “พุทโธ” เป็นความคิดของท่านนะคะ ที่ใกล้สิ้นชีวิต แทนที่สติจะระลึกรู้อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน หรือเสียง หรือสีที่ปรากฏทางตา หรือเห็น หรือได้ยิน เป็นต้น ท่านคิดว่าจะไม่มีประโยชน์เท่าระลึกถึงพุทโธ พระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่ออนุเคราะห์ให้สาวก คือ ผู้ฟังธรรมได้เข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น นี่เป็นจุดประสงค์ของพระธรรมเทศนาทั้งหมด

    การระลึกถึงพุทโธ ไม่ใช่การศึกษาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่จะรู้ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏโดยสภาพความจริงแล้วไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ลักษณะอ่อนหรือแข็งที่ปรากฏดูเป็นของธรรมดาเหลือเกิน ปรากฏอยู่เสมอในวันหนึ่งๆ ทำไมยังจะต้องศึกษา ถ้าไม่ได้เห็นประโยชน์ว่า ศึกษาเพื่อละความเห็นผิดที่ยึดถืออ่อนแข็งนั้นเองเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเป็นความเห็นผิด ของธรรมดาๆ ที่ปรากฏอยู่ตามปกติ ไม่มีใครที่ไม่รู้ลักษณะที่อ่อนหรือที่แข็ง แต่ถ้าไม่ศึกษาจะเกิดความรู้จริงๆ ได้ไหมว่า ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งนั่นน่ะ ไม่ใช่ตัวของเรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏกับสภาพนามธรรม ธาตุรู้ อาการรู้ ที่กำลังรู้ในลักษณะที่อ่อนหรือลักษณะที่แข็งในขณะนั้น แม้แต่ขณะที่กำลังรู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ ไม่ระลึก ไม่สังเกต ไม่สำเหนียก ก็ไม่รู้ว่าขณะที่กำลังรู้อ่อนนั้นน่ะไม่ใช่ตัวตน เป็นธาตุรู้ อาการรู้ ซึ่งไม่สามารถจะรู้รูปอื่น อ่อนกำลังปรากฏกับสภาพรู้อ่อน สภาพรู้อ่อนในขณะนั้น รู้อื่นไม่ได้เลย เป็นธาตุที่เมื่อเกิดขึ้น ก็รู้อ่อนเท่านั้นเอง จะรู้อย่างอื่นๆ ไม่ได้ ขณะที่เห็น เป็นธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งขณะที่เป็นธาตุรู้ที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นจะรู้อ่อนด้วยไม่ได้ เป็นธาตุรู้แต่ละลักษณะจริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความมั่นคงจริงๆ ว่า ปัญญาที่เป็นการรู้แจ้งแทงตลอดก็คือ การรู้จริง รู้แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี่เอง ก็จะทำให้ท่านคิดว่า การระลึกถึงสิ่งอื่นมีประโยชน์กว่า เช่น การระลึกถึงพุทโธ เป็นต้น การระลึกถึงพุทโธ ไม่ใช่การศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่การระลึกได้ ไม่ลืมที่จะสังเกต เพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นการที่จะละความเห็นผิดที่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ซึ่งเป็นพุทธประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมต่อสาวกที่จะให้ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วก็ดับกิเลสได้เช่นที่พระองค์ได้ทรงประจักษ์แจ้ง และทรงดับกิเลส

    แล้ว เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี่ ทุกท่านก็จะเห็นได้ว่า แสนยาก เพราะเหตุว่าส่วนมากจะมีปัญญาขั้นความคิด ตรึก นึกถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แทนที่จะเป็นสติที่ระลึกในลักษณะนั้น แล้วสังเกตสำเหนียกรู้ลักษณะนั้นก่อนคิด เวลานี้ไม่คิด สิ่งที่ปรากฏทางตา มี เพราะมีธาตุรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา การระลึกได้พร้อมทั้งการน้อมไปสู่การที่จะรู้ในสิ่งที่ปรากฏ โดยที่ยังไม่ได้คิด นี่เป็นความรู้ขั้นที่ต่างกับเพียงขั้นนึกคิด เพราะเหตุว่าบางท่านก็นึกว่า นามเห็น แล้วก็สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูป นามได้ยิน เสียงเป็นรูป นี่เป็นขั้นคิด ซึ่งทุกท่านก็ทราบว่า ห้ามไม่ได้เลย ไม่มีใครสามารถจะห้ามความคิดนึกได้ แต่ความเข้าใจสามารถจะระลึกได้ว่า การคิดไม่ใช่การสังเกตที่น้อมไปสู่การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมก่อนคิด เพราะเหตุว่าห้ามความคิดไม่ได้ ประเดี๋ยวๆ ความคิดก็เกิดอีก แต่ว่าขณะที่คิดเป็นสภาพนามธรรมที่กำลังรู้คำ ไม่ใช่การสำเหนียกสังเกตน้อมไปสู่การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นแต่เพียงสภาพรู้แต่ละลักษณะ แม้แต่สภาพที่คิด สติก็จะต้องระลึกรู้ว่า เป็นนามธรรมที่เป็นธาตุรู้คำ รู้เรื่อง ไม่ใช่การได้ยินเสียง หรือว่าการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วศึกษาลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าจะเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้น และทั่วขึ้นจริงๆ ก็เป็นสิ่งซึ่งท่านจะทราบได้ด้วยตัวของท่านเองว่า เป็นสิ่งที่แสนยาก เพราะเหตุว่าต้องเป็นสภาพธรรมตามปกติที่เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถจะไม่ให้เห็นในขณะที่การเห็นเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งธาตุรู้เสียง เวลาที่มีการได้ยินเกิดขึ้น แต่สติสามารถจะศึกษาลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏ

    ถาม คือว่าดิฉันสงสัยขณะที่คนจะตาย เขาก็ระลึกถึงพุทโธ ขณะนั้นก็มีสติระลึกรู้ว่าสภาพนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เช่นนี้จะเป็นวิปัสสนาหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ เป็นแน่นอน

    ผู้ฟัง เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่ปรากฏขึ้น เป็นแต่เพียงธาตุที่คิดได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ห้ามการคิดนึกนะคะ แต่พร้อมกันนั้นอบรมปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ แม้แต่การคิดนึกในขณะนั้น รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ความคิดเป็นสิ่งที่ยับยั้งไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ไปกั้นหรือไปหยุดยั้งความคิดด้วยความเป็นตัวตน แต่จะต้องศึกษาระลึกรู้ว่า ขณะที่คิดเป็นการรู้คำหรือรู้เรื่อง

    ถาม ผมอยากขอความกรุณาให้อาจารย์อธิบายตอนนี้พอให้เป็นที่เข้าใจขึ้นหน่อย มีอาจารย์บางท่านก็บอกว่า เวลาคนจะดับจิต มีอาจิณณกรรมอย่างไรก็ไปอย่างนั้น แล้วอีกอย่างหนึ่งผู้ที่จะดับจิตนั้น ควรจะนึกถึงบุญทาน คุณความดีที่มีในพระพุทธศาสนาเพื่อให้ติดตัวไป มาศึกษาของอาจารย์บอกว่าให้ระลึกสติปัฏฐานอยู่เสมอว่า ไม่ใช่ตัวตน เรา เขา สัตว์ บุคคล ทีนี้เวลาที่จะตายจริง จะปฏิบัติอย่างไร ขอให้ อาจารย์ช่วยอธิบายให้ฟังด้วย

    ท่านอาจารย์ สำหรับเรื่องของกุศล ทำไมจะควรต้องคิดตอนที่ใกล้จะสิ้นชีวิต ขณะนี้ไม่ควรหรือคะ ควรทุกขณะค่ะ ไม่ต้องรอจนถึงขณะนั้นแล้วจึงควร เรื่องของกุศลทั้งหมดเป็นสิ่งที่ดีงาม ไม่ต้องรอจนกว่าจะสิ้นชีวิต แม้ในขณะนี้ก็ควร ถ้าเป็นไปได้ ข้อสำคัญเป็นไปได้อย่างใจหรือเปล่า

    ทราบว่าควร ไม่อยากจะมีกิเลสเลย แล้วกิเลสจะไม่เกิดขึ้นได้ไหมคะ เพียงด้วยการคิดว่าควรเท่านั้น สติเกิดยากกว่าการหลงลืมสติ เพราะเหตุว่ามีกิเลสสะสมมามากเป็นปัจจัยให้หลงลืมสติมากกว่าที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น เมื่อทราบว่าสิ่งใดควร ก็ไม่รอค่ะ ควรเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เพราะเหตุว่าไม่มีใครทราบว่าความตายจะเป็นขณะไหน ชั่วขณะจิตต่อไปก็ได้ และจิตในขณะนี้จะเป็นกุศลหรืออกุศล ก็แล้วแต่กรรม และการสะสมที่ได้สะสมมาที่จะเกิดขึ้นเป็นไป นี่เป็นเหตุที่จะไม่ควรประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ เพราะเหตุว่าทุกคนทราบว่า สติปัฏฐานเป็นกุศลที่ประเสริฐยิ่ง เพราะเหตุว่าเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะทำให้รู้แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่วันหนึ่งๆ กุศลก็ยังจะเกิดได้ง่าย และมากกว่าสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่เมื่อทราบว่า การที่จะรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นเป็นสิ่งที่แสนยาก เพราะฉะนั้น ก็ไม่ประมาทในการที่จะเจริญกุศลทุกประการเพื่อที่จะเกื้อกูล เป็นการสร้างเสริมให้ปัญญาสามารถดับกิเลสได้โดยไม่ยาก ในขณะที่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏ กำลังเกิดดับด้วย อวิชชาปิดบังทำให้ไม่ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่อทราบว่าอวิชชาหมายถึงสภาพความไม่รู้ในขณะนี้ที่กำลังไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ การที่จะรู้ได้ ถ้าขาดการศึกษา คือ การสังเกตน้อมไปที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วละก็ จะไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ปัญญาขั้นรู้แจ้งแทงตลอดเกิดขึ้นได้เลย แต่เมื่อไม่สามารถจะให้สติเกิดได้ตามความปรารถนา ก็จะต้องบำเพ็ญกุศลทุกประการ ทุกโอกาส เพื่อที่จะเป็นบารมีให้ถึงฝั่ง คือ การที่สามารถดับกิเลสได้โดยไม่ยาก หรือว่าปัญญาจะเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วก็ละการยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าได้ขัดเกลา ได้ละคลาย ได้เพิ่มพูนปัจจัยของกุศลที่จะทำให้ถึงฝั่ง คือการดับกิเลสได้ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานทุกท่านทราบว่า มีกิเลสมาก ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐานคิดว่ากิเลสไม่มาก แต่เมื่อเป็นผู้ละเอียดขึ้น ก็เห็นความต่างกันของกิเลสที่สะสมมาว่า มีหลายระดับเหลือเกิน แม้แต่ขณะที่กำลังนั่งเฉยๆ ยังไม่ได้พูด หรือไม่ได้ทำอกุศลธรรมใดๆ แต่อกุศลเกิดแล้ว ถ้าขณะนั้นกุศลไม่เกิด ถ้าสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นอกุศลไหลไปสู่อารมณ์ภายนอกด้วยโลภะ แล้วก็เก็บสภาพของอกุศลธรรมนั้นสะสมเป็นปัจจัยต่อไปในจิตดวงต่อๆ ไป เป็นปัจจัยที่จะให้โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ เพราะฉะนั้น ขาดการอบรมเจริญกุศลไม่ได้ แล้วก็กุศลทั้งหมดที่เจริญสำหรับผู้ที่เห็นคุณค่าของปัญญาที่จะรู้แจ้งแทงตลอดที่จะดับกิเลสได้ ก็ไม่หวังผลอื่นเลย แต่มุ่งเพียงจะให้ละคลาย และดับกิเลสได้โดยไม่ยาก เพราะเหตุว่าถ้าทำกุศลแล้วมุ่งหวังผลอย่างอื่น กุศลนั้นก็ไม่เป็นบารมีที่จะให้

    ดับกิเลสได้โดยไม่ยาก เพราะเหตุว่ายังมีความหวังในสิ่งอื่น แทนที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    ถาม ผมสงสัยพยัญชนะในพระไตรปิฎกมีคำว่า “สัตว์ที่กำลังหาที่เกิด” ก็ไม่ทราบว่าสัตว์ที่กำลังหาที่เกิดนั้น มันมีอยู่ในภูมิไหน

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่จะต้องเกิดทั้งหมด นอกจากพระอรหันต์เท่านั้น

    ผู้ฟัง มันมาจากขุททกะ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะที่ว่า แผ่เมตตา คือท่านสอนว่า สัตว์ที่ยาวใหญ่ สั้น หรือปานกลาง ที่เห็นแล้วหรือยังไม่ได้เห็น ที่อยู่ที่ไกล หรือที่ใกล้ หรือสัตว์ที่เกิดแล้ว หรือกำลังหาที่เกิด ผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็หมายความว่าเกิดแล้ว เกิดแล้วก็ว่ากำลังหาที่เกิด นั่นน่ะมันหมายความว่าอะไรครับ

    ท่านอาจารย์ เหมือนกันค่ะ เป็นคำพูดที่แสดงซ้ำ ย้ำให้เข้าใจว่า ผู้ที่เกิดแล้ว แล้วยังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าถ้าเกิดแล้ว แล้วก็อบรมปัญญาจนกระทั่งบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ก็ไม่ต้องเกิดอีก แต่สำหรับผู้ที่เกิดแล้ว แล้วก็ยังไม่บรรลุคุณธรรม

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่าผู้ที่เกิดแล้ว ยังไม่บรรลุคุณธรรม และดำรงชีวิตอยู่นั่นน่ะ ใช้คำว่า “กำลังหาที่เกิด”

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ผู้ที่ยังต้องเกิดอยู่

    ผู้ฟัง คำว่า สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด บาลีว่า สัมภเวสี กระผมจะยกตัวอย่างมาให้ดู เมื่อครั้งผมลาสิกขาบท พระที่จะสึกเหมือนกับสัตว์ที่แสวงหาที่เกิด คือหมายความว่าบวชเป็นพระสบายๆ แล้ว ไปเป็นฆราวาสจะต้องไปหากิน เท่ากับสัมภเวสีเหมือนกัน แสวงหาที่เกิด

    ท่านอาจารย์ ในคราวก่อนได้กล่าวถึงข้อความในสิงคาลกสูตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงหน้าที่ของมารดาบิดาต่อบุตร และหน้าที่ของบุตรต่อมารดาบิดา ซึ่งถ้าไม่ใช่ผู้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านอาจจะคิดว่า ท่านมีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ต่อบุตรธิดา หรือต่อมารดาบิดาของท่านมาก แต่ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้วจะทราบลักษณะที่ต่างกันของกุศลธรรม และอกุศลธรรม ถ้าท่านมีความเมตตาต่อบุตรธิดา เสมอกับคนอื่นในบ้าน ขณะใดที่อยากให้บุตรธิดามีความสุข ความสะดวกสบายในการบริโภคอาหาร ในการที่จะได้รสอาหารต่างๆ ที่ประณีต ท่านมีความรู้สึกอย่างนั้นกับคนในบ้านคนอื่นที่ไม่ใช่บุตรธิดาโดยเสมอกันอย่างนั้นหรือไม่ ถ้าเป็นความเสมอกัน ก็เป็นกุศล แต่ถ้ามีความรักใคร่ผูกพันพอใจเป็นพิเศษในบุตรธิดายิ่งกว่าบุคคลอื่นในบ้านซึ่งไม่ใช่บุตรธิดา ก็แสดงว่าในขณะนั้นก็จะต้องมีสภาพของโลภมูลจิต ซึ่งเป็นความผูกพันในบุตรธิดา ไม่ใช่กุศลอันแท้จริง และเมื่อทราบอย่างนี้ ทำอย่างไรจึงจะลดความผูกพันในบุตรธิดา หรือว่าในมารดาบิดาซึ่งเป็นอกุศล แล้วก็เพิ่มธรรมที่เป็นกุศลยิ่งขึ้นได้ ถ้าปัญญาไม่เกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น หาความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลไม่ได้ ถ้าสติไม่เกิด และปัญญาไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็ไม่มีหนทางที่

    จะดับความผูกพันในมารดาบิดาในบุตรธิดา ซึ่งเป็นอกุศล แล้วก็เจริญธรรมที่เป็นกุศล คือ ความเมตตา กรุณา เสมอกันกับบุคคลอื่นได้

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ธรรมทั้งหมดที่เป็นฝ่ายกุศล จะเจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้นด้วยการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน และปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมยิ่งขึ้น

    วันนี้ขอกล่าวถึงข้อความในสิงคาลกสูตรต่อไป ซึ่งมีว่า

    [๒๐๐] ดูกรคฤหบดีบุตร อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวาอันศิษย์พึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยลุกขึ้นยืนรับ ๑ ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้ ๑ ด้วยการเชื่อฟัง ๑ ด้วยการปรนนิบัติ ๑ ด้วยการเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ ๑ ฯ

    ถ้าไม่ได้กระทำกิจอย่างนี้ ขณะนั้นก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น สภาพของกุศลที่จะเกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวันต่อบุคคลทั้งหลายตามหน้าที่ที่เป็นได้ เพราะเหตุว่าท่านจะต้องมีการเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นอยู่เสมอโดยสถานต่างๆ หรือโดยทิศต่างๆ ซึ่งการประพฤติปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้น แล้วแต่ว่าจิตในขณะนั้นของท่านเป็นกุศลหรืออกุศล

    สำหรับกิจที่บุคคลควรจะประพฤติปฏิบัติต่อผู้ที่เป็นอาจารย์ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้เป็นทิศเบื้องขวา หมายความถึงควรรับทักษิณาทาน คือของที่ควรจะให้ท่านด้วยความเคารพ ศิษย์ควรบำรุงอาจารย์ด้วยสถาน ๕ คือ

    ด้วยลุกขึ้นยืนรับ ๑

    ในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเปล่าคะ ความอ่อนน้อม ตรงกันข้ามกับความหยาบกระด้าง ความสำคัญตน ความถือตน ถ้าสติไม่เกิดจะรู้สภาพของจิตในขณะนั้นไหมคะ ว่าเป็นอะไร แต่ถ้าสติเกิด ก็สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพของจิตที่ละเอียด ซึ่งเกิดดับสลับกันได้ บางครั้งเป็นกุศล บางครั้งเป็นอกุศลอย่างรวดเร็ว

    ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้ ๑ ด้วยการเชื่อฟัง ๑ ด้วยการปรนนิบัติ ๑ ด้วยการเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ ๑

    ถาม เรื่องอาจารย์กับศิษย์ หรือครูกับศิษย์ ในทางธรรมแล้ว เป็นสิ่งที่ดีมาก การปฏิบัติดีมาก แต่ความเป็นจริงแล้ว สมัยนี้ไม่ว่าศิษย์หรืออาจารย์ มักจะเห็นแก่อามิส หรือเห็นแก่ตัวมากกว่า รู้สึกว่าจะไม่ตรงกับพระไตรปิฎกกล่าวหรือพูดถึง

    ท่านอาจารย์ แต่เรื่องของบุคคลอื่นจะเป็นอย่างไร ไม่สำคัญนะคะ เรื่องของบุคคลอบรมเจริญกุศลที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ แล้วศึกษา สังเกต สำเหนียกจิตใจของตนเองว่า เป็นกุศล หรืออกุศล แล้วประพฤติในสิ่งที่เป็นกุศล นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า ส่วนบุคคลอื่นจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนสะสมมาที่จะต้องเป็นอย่างนั้น

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรคฤหบดีบุตร อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา อันศิษย์บำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน ๕ คือ แนะนำดี ๑ ให้เรียนดี ๑ บอกศิษย์ด้วยดีในศิลปวิทยาทั้งหมด ๑ ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง ๑ ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย ๑ ฯ

    ข้อที่ว่า แนะนำดี หมายความถึงในการดำเนินชีวิตด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ให้วิชาความรู้เท่านั้น เพราะเหตุว่าถ้ามีแต่เพียงวิชาความรู้ซึ่งเป็นอาชีพ แต่ถ้าขาดความประพฤติการดำเนินชีวิตที่ดีถูกต้อง ความรู้ในวิชาอาชีพก็อาจจะนำมาซึ่งความเสื่อมหรือความพินาศได้

    บอกศิษย์ด้วยดีในศิลปวิทยาทั้งหมด

    ในสมัยก่อนได้ทราบว่า มีอาจารย์ที่ท่านหวงความรู้ แต่ถ้าเป็นในทางธรรมแล้วล่ะก็ จะเห็นได้ว่าการที่แต่ละบุคคลจะสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้นแสนยาก ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการหวง มีการที่จะไม่ปรารถนาให้บุคคลอื่นได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจะรู้หนทาง แต่การปฏิบัติจริงๆ ที่จะดำเนินไปจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม และดับกิเลสได้จริงๆ นั้นแสนยาก ซึ่งถ้าใครจะเจริญได้ ก็เป็นสิ่งซึ่งควรอนุโมทนาอย่างยิ่ง เพราะว่าเป็นสิ่งที่ยากจริงๆ เพราะฉะนั้น สำหรับในเรื่องธรรมก็ไม่เหมือนกับเรื่องของทางโลก

    ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง

    นี่ก็เช่นเดียวกัน เพราะเหตุว่าบางท่านสะสมมาที่จะมีความสามารถเป็นเลิศ หรือเป็นพิเศษในแต่ละด้าน ซึ่งท่านก็ควรที่จะสนับสนุน ร่วมกันที่จะให้แต่ละบุคคลได้มีความสามารถที่ดีเด่นจริงๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อพระศาสนา เพราะเหตุว่าบุคคลเดียวนั้นไม่สามารถที่จะเป็นผู้เลิศได้ในทุกทาง

    ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย

    การที่ครูอาจารย์แนะนำในสิ่งที่ดีทั้งในทางอาชีพหรือว่าในการดำเนินชีวิต ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้ศิษย์ได้รับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งเนื่องมาจากให้วิชาความรู้ของครู อาจารย์ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้การที่ครูอาจารย์ให้ความรู้แก่ศิษย์จึงเป็นการทำการป้องกันในทิศทั้งหลาย ไม่ให้ได้รับภัยจากทิศทั้งหลาย ไม่ว่าศิษย์จะไปสู่ที่ใดก็ตาม

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรคฤหบดีบุตร อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวาอันศิษย์บำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่า นี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องขวานั้น ชื่อว่าอันศิษย์ปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัยด้วยประการฉะนี้ ฯ

    นี่เป็นชีวิตประจำวันของแต่ละท่านค่ะ ซึ่งห้ามไม่ได้ในหน้าที่ต่างๆ ซึ่งจะต้องปฏิบัติต่อทิศต่างๆ ไม่ใช่ว่าไม่ทรงแสดงไว้ แต่ว่าชีวิตตามความเป็นจริงของท่านไม่ขัดเกลา ไม่เจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    [๒๐๑] ดูกรคฤหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังอันสามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยยกย่องว่าเป็นภรรยา ๑ ด้วยไม่ดูหมิ่น ๑ ด้วยไม่ประพฤตินอกใจ ๑ ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้ ๑ ด้วยให้เครื่องแต่งตัว ๑ ฯ

    นี่เป็นทิศอีกทิศหนึ่งนะคะ ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ ที่ใด มีทิศเบื้องหน้า มีทิศเบื้องขวา มีทิศเบื้องหลัง ผู้ที่อยู่ร่วมกับท่าน ถ้าท่านไม่อบรมเจริญกุศล อกุศลธรรมก็จะเพิ่มพูนมากขึ้น แต่ว่าถ้าท่านประพฤติในทางที่ถูก ในทางที่เป็นกุศล ก็ย่อมจะอบรมทำให้ บรรเทากิเลสได้ยิ่งขึ้น เช่น ทิศเบื้องหลังของสามี คือ ภรรยา คงจะไม่ใช่ทิศที่ไม่สำคัญ ใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่าก็ต้องอยู่ร่วมกันไปในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนาน แต่ละภพ แต่ละชาติ ไม่ว่าท่านจะเกิดเป็นใคร แล้วจะมีกี่ทิศแวดล้อมท่าน ทานก็จะต้องประพฤติในสิ่งที่ควรต่อทิศต่างๆ เหล่านั้นด้วย

    ในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ภรรยา คือ ผู้ที่บุรุษเลี้ยงเป็นทิศเบื้องหลัง เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่ตามหลังสามี สามีก็จะต้องบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ

    ด้วยยกย่องว่าเป็นภรรยา ๑

    วิธีที่จะยกย่อง ทำยังไงคะ ทั้งกาย ทั้งวาจา อย่าลืมที่จะต้องมีกายวาจาที่เป็นการยกย่องภรรยาด้วย คำพูดที่อ่อนหวาน ด้วยคำพูดที่ใช้คำที่ยกย่อง ไม่ให้รู้สึกน้อยใจ หรือกระทบกระเทือนใจ ให้อับอายขายหน้าต่อบุคคลอื่น และด้วยไม่ดูหมิ่น

    นี่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญนะคะ ข้อความในอรรถกถา มีเรื่องหนึ่งในนิบาตชาดก ซึ่งมีข้อความว่า

    มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งได้หญิงขัดสน ซึ่งเก็บพุทราขายเลี้ยงชีพคนหนึ่งมาเป็นอัครมเหสี อยู่มาวันหนึ่งมีผู้นำพุทราไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินก็รับพุทรานั้นไปเสวย แต่ขณะที่กำลังเสวยอยู่นั้น อัครมเหสีคนนั้นก็ได้ทูลถามขึ้นเป็นเชิงสัพยอกว่า “ลูกอะไรสีแดงๆ ที่พระองค์เสวยนั้น”

    พอพระเจ้าแผ่นดินทรงฟังคำว่า “ลูกอะไรแดงๆ ” เท่านั้น ก็ทรงพิโรธ แล้วก็ตรัสตอบออกไปด้วยคำที่ดูถูกดูหมิ่นชาติตระกูลของอัครมเหสีว่า

    “ไม่รู้หรือว่า ลูกแดงๆ นี่แหละเป็นลูกพุทรา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 4
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ