วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 16
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมเลี้ยงตนให้ เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ
ข้อนี้เกือบจะไม่ต้องกล่าวถึงเลย ทุกคนรักตัวเอง เพราะฉะนั้น เมื่อมีสมบัติ คนที่คิดถึงประการแรก คือ ตัวเอง แต่แม้กระนั้นก็ยังมีบางคนซึ่งสะสมอกุศลมามากจนกระทั่งมีกำลัง แม้ว่ามีทรัพย์มากสักเท่าไรก็ยังไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง เพราะฉะนั้น จะเห็นโทษของอกุศลที่สะสมมาต่างๆ กันว่า อกุศลทั้งหมดเป็นโทษ ไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะถึงแม้เป็นผู้มีสมบัติ ก็ยังไม่ใช้สมบัติเพื่อเลี้ยงตนเองให้ เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ
ท่านที่สะสมความตระหนี่มามาก อาจจะทนทุกข์ทรมาน ไม่รักษาตัว หรืออาจจะไม่ใช้เงินทองให้เป็นประโยชน์ในเรื่องของการบริโภคพอสมควร ซึ่งนั่นก็เป็นการ ใช้ทรัพย์ที่ไม่สมควร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุข โดยชอบ เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ เลี้ยงบุตร ภรรยา คนใช้ คนงาน และบริวารให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ เลี้ยงมิตร และอำมาตย์ให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ
นี่คือชีวิตประจำวันสำหรับผู้ที่จะเจริญกุศล ไม่ใช่ให้เบียดเบียนตนเอง ให้เดือดร้อน และทำให้จิตใจเศร้าหมอง พร้อมกันนั้นปัญญาก็ไม่สามารถเจริญขึ้น จนกระทั่งรู้จักตนเองตามความเป็นจริงได้ว่า เป็นบุคคลที่สะสมอกุศลมามากน้อยเพียงใด
นี่เป็นข้อที่ ๑ ในการบริโภคทรัพย์ที่หามาได้โดยยาก
ประการที่ ๒ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมป้องกันอันตรายทั้งหลายที่เกิดแต่ไฟ แต่น้ำ แต่พระราชา แต่โจร หรือแต่ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักเห็นปานนั้น ด้วยโภคทรัพย์ที่ตน หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาแล้วโดยธรรม กระทำตนให้สวัสดี นี้เป็นฐานะข้อที่ ๒ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร
เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า นอกจากจะบริโภคโภคสมบัตินั้น เลี้ยงดูมารดาบิดา บุตร ภรรยา คนใช้ คนงาน มิตรสหายแล้ว ยังต้องป้องกันอันตรายที่เกิดแต่ไฟ แต่น้ำ แต่พระราชา แต่โจร หรือแต่ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก
แต่ละชีวิตไม่เหมือนกัน แต่ก็จะต้องดำเนินไปอย่างนี้
ประการที่ ๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ทำพลี ๕ ประการ คือ ญาติพลี อติถิพลี ปุพพเปตพลี ราชพลี เทวตาพลี ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นฐานะข้อที่ ๓ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงแล้วโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร
กว่าจะถึงพระนิพพาน กว่าจะเจริญสติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติจริงๆ ในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ก็จะต้องมีชีวิตที่ดำเนินไปในวันหนึ่งๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอกุศลย่อมมากกว่า เพราะฉะนั้น ทางที่จะเป็นการประพฤติในทางที่ควร แม้ว่าขณะนั้นจะเป็นโลภะตามปกติก็ตาม เพราะว่าในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น เช่น วงศาคณาญาติ ก็จะต้องมีทั้งอกุศลเป็นส่วนใหญ่ แต่ ก็ต้องมีกุศลด้วย
สำหรับการที่จะดำเนินชีวิตเป็นปกติในวันหนึ่งๆ นอกจากจะเป็นผู้มีปกติ เจริญสติปัฏฐานแล้ว ยังจะต้องมีกุศลที่ได้กระทำด้วย เช่น อริยสาวกเป็นผู้ทำพลี ๕ ประการ คือ ญาติพลี สละวัตถุสมบัติเพื่อสงเคราะห์ญาติ นี่เป็นกุศลประการหนึ่ง อติถิพลี สละวัตถุเพื่อต้อนรับแขก ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ญาติผู้ตาย ราชพลี สิ่งที่ควรทำแก่พระราชา ได้แก่ การบำรุงราชการ หรือการช่วยประเทศชาติ และ เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา
แล้วแต่ว่าแต่ละท่านจะได้กระทำมากน้อยแค่ไหน แต่เป็นชีวิตประจำวัน ที่ควรกระทำ
ประการที่ ๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมยังทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ให้ตั้งไว้เฉพาะในสมณพราหมณ์ ผู้งดเว้นจากความประมาทมัวเมา ผู้ตั้งอยู่ในขันติ และโสรัจจะ ฝึกฝนตนผู้เดียว ยังตนผู้เดียวให้สงบ ยังตนผู้เดียวให้ดับกิเลสเห็นปานนั้น ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นฐานะข้อที่ ๔ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร
ดูกร คฤหบดี อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้กระทำกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม
ดูกร คฤหบดี โภคทรัพย์ของใครๆ ถึงความสิ้นไป นอกจากกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ เราเรียกว่าสิ้นเปลืองไปโดยใช่เหตุ สิ้นเปลืองไปโดยไม่สมควร ใช้สอยโดยไม่สมควรแก่เหตุ ส่วนโภคทรัพย์ของใครๆ ถึงความสิ้นไปด้วยกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ เราเรียกว่า สิ้นเปลืองไปโดยเหตุอันควร สิ้นเปลืองไปโดยสถานที่ควร ใช้สอยโดยสมควรแก่เหตุ
ข้อความต่อไปมีว่า
โภคทรัพย์ทั้งหลายเราได้บริโภคแล้ว คนที่ควรเลี้ยงเราได้เลี้ยงแล้ว เราได้ข้ามพ้นอันตรายทั้งหลายไปแล้ว ทักษิณามีผลอันเลิศ เราได้ให้แล้ว อนึ่ง พลีกรรม ๕ ประการ เราได้กระทำแล้ว ท่านผู้มีศีล สำรวมอินทรีย์ ประพฤติพรหมจรรย์ เราได้บำรุงแล้ว บัณฑิตอยู่ครอบครองเรือนพึงปรารถนาโภคทรัพย์เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นเราได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กรรมที่ไม่เดือดร้อนในภายหลังเราได้กระทำแล้ว นรชนผู้มีอันจะตายเป็นสภาพ เมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ เป็นผู้ตั้งอยู่แล้วในธรรมของพระอริยะ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้ทีเดียว ครั้นเขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกสวรรค์
จบ สูตรที่ ๑
นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เพื่อที่จะเตือนพุทธบริษัทให้ดำเนินชีวิตในทางที่ถูก และท่านผู้ฟังจะเห็นได้ตั้งแต่การใช้ทรัพย์ข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒ ข้อที่ ๓ และข้อที่ ๔ คือ การบำรุงสมณพราหมณ์ ผู้งดเว้นจากความประมาทมัวเมา ผู้ตั้งอยู่ในขันติ และ โสรัจจะ ฝึกฝนตนผู้เดียว ยังตนผู้เดียวให้สงบ ยังตนผู้เดียวให้ดับกิเลสเห็นปานนั้น นี่เป็นข้อสุดท้าย คือข้อที่ ๔
และข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นรชนผู้มีอันจะตายเป็นสภาพ แสดงให้เห็นว่า ทุกคนไม่ควรจะลืมคิดถึงความตาย ซึ่งจะเป็นทางทำให้ใช้ทรัพย์ในทางที่ถูก และในทางที่เป็นประโยชน์ เพราะว่า นรชนผู้มีอันจะตายเป็นสภาพ เมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ เป็นผู้ตั้งอยู่แล้วในธรรมของพระอริยะ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้ทีเดียว ครั้นเขาละไปแล้วย่อมบันเทิงในโลกสวรรค์
การที่จะให้สติปัฏฐานเกิดบ่อยๆ เนืองๆ โดยที่ชีวิตประจำวันเต็มไปด้วยความทุกข์ และการกระทำที่ไม่ถูกไม่ควร ย่อมจะไม่เกื้อกูลต่อการเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ปัญญา หรือการมีโยนิโสมนสิการ พิจารณาการดำเนินชีวิตโดยถูกต้อง โดยแยบคาย ย่อมจะเกื้อกูลให้รู้ว่า การที่จะดับกิเลสนั้นเป็นสิ่งที่ยาก ในชีวิตประจำวันจึงต้องเป็นผู้ที่ตรง และประพฤติตามธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงอนุเคราะห์แสดงไว้ด้วย
ตัวอย่าง คือ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีซึ่งเป็นพระโสดาบัน ทุกข้อที่แสดงมานี้ จะเห็นได้ว่า เป็นความประพฤติของท่านเป็นตัวอย่าง ตั้งแต่เลี้ยงตนให้เป็นสุข เลี้ยงมารดาบิดา เลี้ยงบุตร ภรรยา เลี้ยงมิตรอำมาตย์ และเป็นผู้ที่ป้องกันอันตรายทั้งหลาย ทำพลีต่างๆ และย่อมยังทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน คือ ตั้งไว้ในเฉพาะสมณพราหมณ์ ผู้งดเว้นจากความประมาทมัวเมา ผู้ฝึกฝนตนผู้เดียว ผู้ยังตนผู้เดียวให้ดับกิเลส
ผู้ฟัง พลีกรรมอันดับที่ ๒ คืออะไร
ท่านอาจารย์ อติถิพลี การสละวัตถุเพื่อต้อนรับแขก ถ้ามีผู้ไปเยี่ยมเยียนถึงบ้าน จะใจจืดใจดำ หรือจะเป็นผู้ที่มีเมตตา มีปฏิสันถาร
ผู้ฟัง ราชพลี ทำอย่างไร
ท่านอาจารย์ ส่วนที่ควรทำแก่พระราชา หรือแก่ประเทศชาติ หรือแก่ราชการ บำรุงราชการ หรือมีทางที่จะช่วยเหลือประเทศชาติในทางหนึ่งทางใด
ผู้ฟัง อันดับสุดท้าย เทวตาพลี
ท่านอาจารย์ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เทวดา
ผู้ฟัง จะมนสิการอย่างไร
ท่านอาจารย์ ทุกครั้งที่ทำบุญ อุทิศส่วนกุศลได้
ผู้ฟัง ไม่เคยรู้จักเทวดา
ท่านอาจารย์ มีหรือเปล่า
ผู้ฟัง เชื่อว่ามี
ท่านอาจารย์ ถ้าทำกุศล ท่านย่อมอนุโมทนา ก็อุทิศส่วนกุศลที่กระทำนี้ให้ท่านอนุโมทนา อย่างสาณุสามเณร ทุกครั้งที่ท่านแสดงธรรมจบลง ท่านจะอุทิศส่วนกุศลให้แม้มารดาของท่านในอดีตชาติ ซึ่งมารดาในอดีตชาติของท่านก็อยู่ในเทพชั้นยักษ์
ผู้ฟัง ตั้งแต่เรียนธรรมมา ฟังธรรมก็ดี หรือว่าสนทนาธรรม หรือจะมีทาน มีศีลก็ดี ยังไม่เคยเทวตาพลีสักครั้งเดียว เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร
ท่านอาจารย์ การทำกุศลทุกอย่างอุทิศได้ อย่างสาณุสามเณร แม้การแสดงธรรมที่ท่านแสดงจบลง ท่านก็อุทิศส่วนกุศลให้เทพก็ได้
พลี คือ การสละ จะสละเป็นวัตถุหรือไม่เป็นวัตถุก็ได้ แม้แต่สละเวลา ที่จะอุทิศส่วนกุศลเมื่อได้ทำกุศลแล้ว สิ่งที่เป็นกุศล และคนอื่นสามารถล่วงรู้ ย่อมจะอนุโมทนา เกิดกุศลจิตได้
พระธรรมช่วยเกื้อกูลหลายท่านซึ่งเป็นผู้ที่สังเกตพิจารณาตนเอง และเปลี่ยนแปลงจากอุปนิสัยเดิม
ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งได้เล่าถึงเพื่อนของท่านคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนตั้งแต่เด็ก และเป็นอัมพาต เส้นโลหิตฝอยแตกเป็นอัมพาตมาได้ ๔๑ ปี ซึ่งปกติท่านเป็นคนที่ตระหนี่ แต่ในเดือนนี้เอง ท่านได้เอาเงินที่ท่านเก็บสะสมไว้ตามที่ต่างๆ แจกเพื่อนฝูงของท่านคนละ ๗๐๐ บ้าง ๖๐๐ บ้าง ๕๐๐ บ้าง ทำให้เพื่อนแปลกใจว่า ทำไมจึงเปลี่ยนจากเดิม ท่านผู้นั้นก็บอกว่า ได้อ่านอรรถกถาสัทธัมมโชติกา ขุททกนิกาย มหานิทเทส คุหัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๒ และท่านก็เห็นกรรมของท่านที่ทำให้เป็นผู้ที่คดงอ เป็นอัมพาตถึง ๔๑ ปี เพราะฉะนั้น ท่านก็เริ่มนำทรัพย์ที่ซุกซ่อนไว้ออกแจก
นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของแต่ละบุคคล ซึ่งพระธรรมเกื้อกูลทำให้เห็นว่า สิ่งใดควร และสิ่งใดไม่ควร เพราะฉะนั้น ก็ทำให้เป็นกุศลเพิ่มขึ้น
และสำหรับการดำเนินหนทางไปสู่การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ถ้าเห็นกิเลสของตนเองเพียงเล็กๆ น้อยๆ เช่น อาจจะเห็นเพียงความตระหนี่ แต่ยังมีกิเลสอีกหลายประเภท ซึ่งถ้าสังเกตจริงๆ ก็พอที่จะรู้เพิ่มขึ้นว่า มีอะไรบ้างที่ยังจะต้องขัดเกลา ซึ่งอกุศลทั้งหลายก็ไม่ค่อยจะยอมให้ปัญญาขัดเกลาเลย ยังคงคิดว่า ถ้ายังมีมานะอยู่บ้างก็ต้องดี หรือยังมีสิ่งที่ไม่ดีอยู่บ้างก็ต้องดี จนกว่าจะเห็นความไม่ดีของอกุศลทั้งหลายจริงๆ และสามารถกระทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับอกุศล เช่น คนที่มีความสำคัญตนก็เริ่มที่จะเห็นว่า ความสำคัญตนไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย นอกจากจะเพิ่มความสำคัญตนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และนับวันความสำคัญตน ความถือตน ความทะนงตนนั้น ก็จะปรากฏในลักษณะที่น่ารังเกียจทั้งทางกาย ทางวาจา
นอกจากนั้น ยังมีอกุศลเล็กๆ น้อยๆ อีกมาก ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่สังเกตเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ขัดเกลามากขึ้น เพราะว่าการติด ไม่ได้ติดแต่เฉพาะในรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ แต่ยังมีการติดในแม้คำสรรเสริญ หรือคำชมเชย
เรื่องการติดในลาภ ในยศ และพอใจที่จะแสวงหาลาภบ้าง ยศบ้าง ก็เพราะ ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วทั้งหมดเป็นการติดในความเป็นตัวตน เช่น บางคนเพียง คำสรรเสริญ ก็เป็นที่พอใจ บางคนบอกว่า ไม่ได้ต้องการคำสรรเสริญ แต่ขอให้คิด ให้ละเอียดไปกว่านั้นว่า ที่ว่าไม่ต้องการคำสรรเสริญ ต้องการคำชมเชยเล็กๆ น้อยๆ บ้างไหม คือ คำสรรเสริญอาจจะมาก เพราะฉะนั้น ก็ย่อลงมาเป็นเพียงคำชมเชย เล็กๆ น้อยๆ ต้องการไหม
แม้แต่คำชมเชยในเรื่องของรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ การแต่งกาย หรือเครื่องประดับต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ ชั่วขณะที่ได้ยินเสียงชม เพียงเสียงที่กระทบหู และดับไป แต่ให้สังเกตว่า ขณะนั้นมีความหวั่นไหว มีความพอใจ มีอกุศลจิตที่เกิดสืบต่อ ทางมโนทวารวิถีอีกหลายวาระ แม้ว่าเสียงที่กระทบหูเป็นคำชมเพียงเล็กๆ น้อยๆ และก็ดับไป
เพราะฉะนั้น เรื่องของอกุศล อย่าคิดถึงเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ เรื่องเล็กๆ นิดเดียว ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เป็นสิ่งที่แสดงความติดในความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ซึ่งจะต้องเห็นความจริง และจะต้องเป็นผู้ที่คลายความหวั่นไหวลงไปบ้าง เรื่อยๆ จนกว่าจะสามารถดับได้เป็นสมุจเฉท
ขุททกนิกาย มหานิทเทส มหาวิยูหสุตตนิทเทสที่ ๑๓ ข้อ ๖๐๖ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
คำว่า ก็ความสรรเสริญนั้นเป็นของน้อย ในคำว่า ก็ความสรรเสริญนั้น เป็นของน้อย ไม่พอเพื่อสงบกิเลส ความว่า ความสรรเสริญนั้นเป็นส่วนน้อย ต่ำช้า นิดหน่อย ลามก สกปรก ต่ำต้อย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความสรรเสริญนั้น เป็นของน้อย
นี่คือผู้ที่ทรงอนุเคราะห์ให้พุทธบริษัทเห็นโทษของกิเลส แม้เพียงคำสรรเสริญ หรือคำชมเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม โดยตรัสถึงความจริงที่ว่า ก็ความสรรเสริญนั้น เป็นของน้อย ไม่พอเพื่อสงบกิเลส
ขอให้คิดดูว่า ชั่วขณะที่เสียงสรรเสริญกระทบหู เพียงเล็กน้อย จะทำให้คนที่ ได้รับคำสรรเสริญนั้น สงบกิเลสหรือเปล่า
ใครจะชมใครก็ได้ พิสูจน์ดู คนที่ถูกชม สงบกิเลสหรือเปล่า คำสรรเสริญนั้นเป็นประโยชน์จริงๆ หรือเปล่า เป็นของเล็กน้อยจริงๆ เพราะว่า ไม่พอเพื่อสงบกิเลส เพราะฉะนั้น ที่ว่า ความสรรเสริญนั้นเป็นส่วนน้อย ต่ำช้า นิดหน่อย ลามก สกปรก ต่ำต้อย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความสรรเสริญนั้นเป็นของน้อย
ขอกล่าวถึงความละเอียดของพระผู้มีพระภาค และพระสาวกทั้งหลาย ในครั้งที่ ยังบำเพ็ญบารมีก่อนที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม
ขุททกนิกาย ชาดก อรรถกถากุรุธรรมชาดกที่ ๖ มีข้อความว่า
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้ฆ่าหงส์ รูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้
แสดงให้เห็นว่า แม้เป็นภิกษุก็ยังทำสิ่งที่ไม่ควร
ครั้งนั้น มีสหาย ๒ คน เป็นชาวเมืองสาวัตถี บรรพชาแล้วอุปสมบทใน สำนักภิกษุทั้งหลาย สหายทั้งสองนั้นมักเที่ยวไปด้วยกัน
ในสมัยนี้ก็มี ใช่ไหม เพื่อนสนิท ๒ สหายไปไหนไปด้วยกัน เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะบรรพชาอุปสมบทแล้ว ภิกษุ ๒ สหายนี้ก็มักเที่ยวไปด้วยกัน
วันหนึ่ง ภิกษุ ๒ สหายนั้นไปอาบน้ำยังแม่น้ำอจิรวดี เมื่อนั่งผิงแดด และสนทนากันอยู่ที่เนินทราย ขณะนั้นหงส์ ๒ ตัวบินมาทางนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง จับก้อนกรวดแล้วกล่าวว่า จะดีดลูกตาของหงส์ตัวหนึ่ง ภิกษุอีกรูปหนึ่งก็บอกว่า ไม่เชื่อที่จะทำอย่างนั้นได้ ภิกษุรูปนั้นกล่าวว่า จะดีดนัยน์ตาทั้ง ๒ ข้าง
ถ้าไม่เชื่อว่าทำได้ข้างหนึ่งครั้งหนึ่ง ก็จะทำให้เห็นเลยว่า สามารถดีดลูกตาได้ทั้ง ๒ ข้าง
ภิกษุรูปนั้นก็ให้ภิกษุอีกรูปหนึ่งคอยดู แล้วหยิบก้อนกรวด ๓ เหลี่ยมขึ้นมา ดีดไปทางเบื้องหลังของหงส์ตัวนั้น เมื่อหงส์ได้ยินเสียงกรวดจึงเหลียวมองดู ลำดับนั้นภิกษุนั้นก็เอาก้อนกรวดอีกก้อนหนึ่ง ดีดหงส์นั้นที่นัยน์ตาด้านนอก ทะลุออกทางนัยน์ตาด้านใน
คือ ก้อนที่ ๑ ดีดไปข้างหลัง เมื่อหงส์หันกลับมา ก็เอาอีกก้อนหนึ่งดีดไปที่นัยน์ตาด้านหนึ่งทะลุออกอีกด้านหนึ่ง
หงส์ร้องแล้วตกลงมาแทบเท้าของภิกษุทั้งสองนั้น ภิกษุทั้งหลายที่ยืนอยู่ ในที่นั้นเห็นเข้า ก็พากันมาแล้วกล่าวว่า ท่านบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ทำปาณาติบาต ชื่อว่ากระทำกรรมอันไม่สมควร แล้วพาภิกษุผู้ดีดหงส์นั้นไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถาม ภิกษุนั้นทูลรับว่าจริง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ เพราะเหตุไร เธอบวชในศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ เห็นปานนี้ จึงได้กระทำอย่างนี้ แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลายเมื่อพระพุทธเจ้า ยังไม่อุบัติขึ้น อยู่อย่างเศร้าหมองในท่ามกลางเรือน ยังกระทำความรังเกียจในฐานะทั้งหลาย แม้มีประมาณน้อย ส่วนเธอบวชในศาสนาเห็นปานนี้ ไม่ได้กระทำแม้ มาตรว่าความรังเกียจ ธรรมดาภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมกาย วาจา และใจ มิใช่หรือ
และได้ทรงแสดงเรื่องในอดีต เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายเห็นความละเอียดของอกุศลแม้ผู้ไม่ใช่พระภิกษุ แต่เป็นบัณฑิต ก็ยังไม่กระทำสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างนั้น แต่พระภิกษุที่บวชในพระศาสนาแม้ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็ยังกระทำสิ่งที่ควรรังเกียจถึงเช่นนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องในอดีต เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายได้เห็นความละเอียดของอกุศลที่จะต้องขัดเกลาจริงๆ อย่างละเอียดมาก มิฉะนั้นไม่สามารถ ที่วันหนึ่งจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
เรื่องมีว่า
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เป็นโอรสของพระราชาชื่อว่าธนัญชัยโกรัพย์ ผู้ครองราชสมบัติอยู่ในพระนครอินทปัฏฏ์ ในแคว้นกุรุ เมื่อพระบิดาสวรรคตแล้ว พระโพธิสัตว์ก็ทรงครองราชสมบัติ ทรงประพฤติในกุรุธรรมอยู่
น่าสนใจไหมว่า ธรรมของกุรุหรือกุรุธรรมนั้นคืออะไร
ศีลห้า ชื่อว่ากุรุธรรม
พระโพธิสัตว์ทรงรักษาศีลห้านั้นให้บริสุทธิ์ พระมารดาของพระโพธิสัตว์ พระอัครมเหสีของพระโพธิสัตว์ พระอุปราชผู้เป็นพระอนุชา พราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิต อำมาตย์ผู้รังวัดนา สารถี (คนขับยาน) เศรษฐี มหาอำมาตย์ผู้ตวงข้าว นายประตู นางวรรณทาสีผู้เป็นนครโสเภณี ก็เหมือนพระโพธิสัตว์ รวมความว่า ชนเหล่านี้รักษาศีลห้าเหมือนดังพระโพธิสัตว์
ชน ๑๑ คน คือ พระราชา (พระโพธิสัตว์) ๑ พระชนนี ๑ พระอัครมเหสี ๑ พระอุปราช ๑ ปุโรหิต ๑ อำมาตย์ผู้รังวัด ๑ สารถี ๑ เศรษฐี ๑ อำมาตย์ผู้ตวงข้าว ๑ นายประตู ๑ และนางคณิกา ๑ ดำรงอยู่ในกุรุธรรม
คือ รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์
พระราชาคือพระโพธิสัตว์ให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือ ที่ประตูพระนครทั้ง ๔ ที่กลางเมือง และที่ประตูพระราชวัง พระองค์ทรงสละพระราชทรัพย์หกแสนทุกๆ วัน
ครั้งนั้น พระเจ้ากาลิงคราชครองราชสมบัติในทันตปุรนคร ในแคว้นกาลิงคะ ในแคว้นของพระเจ้ากาลิงคราชนั้น ฝนไม่ตก ทำให้ผู้คนอดอยากป่วยเจ็บไปทั่ว ทั้งแคว้น เพราะภัย ๓ ประการ คือ ฉาตกภัย ภัยคือความอดอยาก ๑ โรคภัย ภัยคือโรค ๑ ทุพภิกขภัย ภัยคือข้าวยากหมากแพง ๑
พวกชาวเมืองพากันเดินทางเร่ร่อนไปยังพระนครทันตปุระ และส่งเสียงร้องที่ประตูพระราชวัง พระราชาทรงสดับเสียงนั้นก็ตรัสถาม พวกอำมาตย์ก็กราบทูล ให้ทรงทราบ พระราชาตรัสถามว่า พระราชาสมัยก่อนๆ เมื่อฝนไม่ตก ทรงกระทำอย่างไร พวกอำมาตย์กราบทูลว่า พระราชาสมัยก่อนๆ นั้น เมื่อฝนไม่ตกก็ได้ทรงบริจาคทาน อธิษฐานอุโบสถ สมาทานศีล
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 01
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 02
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 03
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 04
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 05
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 06
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 07
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 08
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 09
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 10
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 11
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 12
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 13
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 14
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 15
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 16
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 17
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 18
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 19
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 20
- สมถภาวนา ตอนที่ 01
- สมถภาวนา ตอนที่ 02
- สมถภาวนา ตอนที่ 03
- สมถภาวนา ตอนที่ 04
- สมถภาวนา ตอนที่ 05
- สมถภาวนา ตอนที่ 06
- สมถภาวนา ตอนที่ 07
- สมถภาวนา ตอนที่ 08
- สมถภาวนา ตอนที่ 09
- สมถภาวนา ตอนที่ 10
- สมถภาวนา ตอนที่ 11
- สมถภาวนา ตอนที่ 12
- สมถภาวนา ตอนที่ 13
- สมถภาวนา ตอนที่ 14
- สมถภาวนา ตอนที่ 15
- สมถภาวนา ตอนที่ 16
- สมถภาวนา ตอนที่ 17
- สมถภาวนา ตอนที่ 18
- สมถภาวนา ตอนที่ 19
- สมถภาวนา ตอนที่ 20