วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 18


    ม้าทั้งหลายก็วิ่งควบไปด้วยความเร็ว

    และตั้งแต่นั้นมา ม้าเหล่านั้นพอถึงที่ตรงนั้นก็วิ่งควบไปโดยเร็ว ทั้งขาไป พระราชอุทยานก็ดี ขามาจากพระราชอุทยานก็ดี เพราะว่าม้าเหล่านั้นคิดว่า ที่ตรงนั้นมีภัย นายสารถีจึงได้ให้สัญญาณด้วยปฏักในคราวนั้น นายสารถีก็มีความคิดดังนี้ว่า ถึงพระราชาจะเปียกฝนหรือไม่เปียกฝนก็ตาม เราย่อมไม่มีโทษ ไม่มีภัย แต่เราได้ให้สัญญาณปฏักแก่ม้าที่ฝึกหัดมาดีแล้วในสถานที่อันไม่ควร ด้วยเหตุนั้น ม้าเหล่านั้นจึงวิ่งควบทั้งไป และมาลำบากอยู่จนเดี๋ยวนี้ ฉะนั้น ศีลของเราคงจะ แตกทำลายแล้ว

    นายสารถีได้เล่าเรื่องนั้นให้ทูตเหล่านั้นฟัง แล้วได้กล่าวว่า

    ด้วยเหตุนี้เราจึงมีความละอายในกุรุธรรม เราจึงไม่อาจให้กุรุธรรมแก่ พวกท่านได้

    ทูตทั้งหลายจึงกล่าวกะนายสารถีว่า

    ท่านไม่มีจิตคิดว่า ม้าทั้งหลายจงลำบาก กรรมที่ไม่มีเจตนาคือความจงใจ ไม่จัดว่าเป็นกรรม อนึ่ง ท่านกระทำความละอายด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ จักกระทำความล่วงละเมิดได้อย่างไร

    แล้วพวกฑูตเหล่านั้นก็ได้รับเอาศีลในสำนักของนายสารถีจดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

    นายสารถีกล่าวว่า

    เมื่อเป็นอย่างนั้น ศีลก็มิได้ทำให้เราปลื้มใจได้ แต่ท่านเศรษฐีรักษาได้ดี พวกท่านจงรับเอากุรุธรรมในสำนักของท่านเศรษฐีเถิด

    พวกทูตจึงเข้าไปหาท่านเศรษฐีนั้นแล้วได้ขอกุรุธรรม

    ซึ่งเศรษฐีในครั้งนั้นก็คือท่านพระสารีบุตรในครั้งนี้นั่นเอง

    วันหนึ่งท่านเศรษฐีได้ไปตรวจข้าวสาลีที่นาของท่าน ตอนจะกลับก็ให้คน ผูกรวงข้าวสาลีกำหนึ่งทำเป็นพุ่มข้าวเปลือกให้ท่าน ภายหลังท่านก็คิดว่า เราจะต้องให้ค่าภาคหลวงจากนานี้ แต่เราก็ได้ให้คนถือเอารวงข้าวสาลีกำหนึ่งจากนาที่ยังไม่ได้ให้ค่าภาคหลวง ก็เรารักษากุรุธรรม เพราะเหตุนั้นศีลของเราคงจะขาดแล้ว

    ท่านเศรษฐีได้เล่าเรื่องนั้นให้ทูตเหล่านั้นฟัง แล้วได้กล่าวว่า

    เรามีความละอายในกุรุธรรมด้วยเหตุนี้ เพราะเหตุนั้นเราไม่อาจให้กุรุธรรมแก่พวกท่าน

    ทูตเหล่านั้นได้กล่าวกะท่านเศรษฐีว่า

    ท่านไม่มีไถยจิตที่คิดจะลัก เมื่อไม่มีไถยจิต ใครๆ ก็ไม่อาจบัญญัติอทินนาทานได้ ก็ท่านกระทำความละอายแม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จักถือเอาของ ของคนอื่นได้อย่างไร

    แล้วได้รับเอาศีลในสำนักของเศรษฐี จารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

    ท่านเศรษฐีกล่าวว่า

    แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ศีลก็ยังมิได้ทำเราให้ปลื้มใจได้ แต่ท่านอำมาตย์ผู้ตวง ข้าวหลวงรักษาได้ดี พวกท่านจงถือเอาในสำนักของอำมาตย์ผู้ตวงข้าวนั้นเถิด

    ทูตเหล่านั้นก็ได้เข้าไปหาท่านอำมาตย์ผู้ตวงข้าวแล้วขอกุรุธรรม

    ซึ่งท่านอำมาตย์ผู้ตวงข้าวในครั้งนั้นก็คือท่านพระมหาโมคคัลลานะในครั้งนี้

    เมื่อมีใครกล่าวว่า ท่านผู้ใดมีศีลบริสุทธิ์ ผู้ที่ต้องการจะได้พบ ได้เห็น ได้ฟังเรื่องราวจากท่านผู้นั้น ก็ได้ไปหาท่านผู้นั้นเพื่อจะได้ฟังเรื่องราวของท่าน แต่อำมาตย์ท่านนี้กุรุธรรมไม่ได้ทำให้ท่านปลื้มใจ เพราะว่ามีเหตุบางประการที่ทำให้ท่านคิดว่า ท่านล่วงศีล

    วันหนึ่งอำมาตย์ผู้ตวงข้าวนั้น ให้คนนับข้าวเปลือกอันเป็นส่วนของหลวง ส่วนตนเอาข้าวเปลือกจากกองข้าวที่ยังไม่ได้นับใส่คะแนน ขณะนั้นฝนตก มหาอำมาตย์ก็ได้เพิ่มคะแนนข้าวเปลือกแล้วกล่าวว่า ข้าวเปลือกที่นับแล้วมีประมาณเท่านี้ แล้วได้โกยข้าวเปลือกที่เป็นคะแนนใส่ลงในกองข้าวเปลือกที่นับไว้แล้ว แล้วก็รีบไปยืนที่ซุ้มประตู แต่ก็คิดว่า เราใส่ข้าวเปลือกคะแนนในกองข้าวที่นับแล้ว หรือใส่ในกองข้าวที่ยังไม่ได้นับ

    ไม่แน่ใจ เพราะว่าทำด้วยความรีบร้อน

    ท่านมหาอำมาตย์คิดว่า ถ้าเราใส่ในกองข้าวเปลือกที่นับไว้แล้ว ของหลวงก็จะเพิ่มขึ้นโดยมิใช่เหตุ ของคฤหบดีทั้งหลายก็จะขาดไป และเราก็รักษากุรุธรรม ด้วยเหตุนั้นศีลของเราก็คงจะแตกทำลายแล้ว

    ท่านมหาอำมาตย์เล่าเรื่องนั้นให้พวกทูตฟัง แล้วได้กล่าวว่า

    เรามีความละอายในกุรุธรรม เพราะเหตุนั้นเราไม่อาจให้กุรุธรรมแก่พวกท่าน

    ทูตเหล่านั้นกล่าวว่า

    ท่านไม่มีไถยจิตคิดจะลัก เมื่อไม่มีไถยจิตที่คิดจะลัก ก็ไม่ใช่อทินนาทาน ก็ท่านมีความละอายด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ จักถือเอาสิ่งของของคนอื่น ได้อย่างไร

    แล้วได้รับเอาศีลในสำนักของมหาอำมาตย์ผู้ตวงข้าวนั้นจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

    นี่เป็นท่านที่ ๙ เหลืออีก ๒ ท่าน

    ท่านมหาอำมาตย์กล่าวว่า

    เมื่อเป็นอย่างนั้น ศีลก็มิได้ทำให้เราปลื้มใจยินดีได้ แต่นายประตูรักษาได้ดี ท่านทั้งหลายจงถือเอาในสำนักของนายประตูนั้นเถิด

    ทูตเหล่านั้นก็พากันเข้าไปหานายประตูแล้วขอกุรุธรรม

    ซึ่งนายประตูในครั้งนั้นก็คือท่านพระปุณณะในครั้งนี้

    ถ้ามาถามท่านผู้ฟังสมัยนี้ คงจะมีหลายเรื่องซึ่งทำให้ท่านรู้สึกได้จริงๆ ว่า ศีลของท่านขาดไปแล้วเมื่อไรๆ บ้าง

    วันหนึ่งเวลาที่นายประตูจะปิดประตูเมือง ก็ได้ออกเสียงประกาศขึ้น ๓ ครั้ง ครั้งนั้น มีคนเข็ญใจคนหนึ่งได้เข้าไปในป่าหาฟืน และหญ้ากับน้องสาว กำลังเดินกลับมา ได้ยินเสียงนายประตูนั้นประกาศ รีบพาน้องสาวมาทันเวลาพอดี

    นายประตูกล่าวกะคนเข็ญใจนั้นว่า

    ท่านไม่รู้หรือว่ามีพระราชาอยู่ในพระนครนี้ หรือท่านไม่รู้หรือว่าเขาจะต้องปิดประตูพระนครนี้ตั้งแต่ยังวัน ท่านพาภรรยาเที่ยวไปในป่า เที่ยวเล่นรื่นเริงตลอดวัน

    คนเข็ญใจกล่าวว่า

    หญิงคนนี้เป็นน้องสาวของฉันเอง ไม่ใช่ภรรยาของฉัน

    นายประตูนั้นจึงมีความปริวิตกว่า เราเอาน้องสาวเขามาพูดว่าเป็นภรรยา กระทำกรรมอันหาเหตุมิได้หนอ และเราก็รักษากุรุธรรม ศีลของเราคงจะแตกทำลายแล้ว

    คือ พูดไปโดยไม่คิด หรือไม่รู้ความจริง

    นายประตูเล่าเรื่องนั้นให้พวกทูตเหล่านั้นฟัง แล้วกล่าวว่า

    เรามีความละอายในกุรุธรรมด้วยเหตุนี้ ฉะนั้น เราจึงไม่อาจให้แก่พวกท่านได้

    ทูตเหล่านั้นได้กล่าวกะนายประตูว่า

    คำนั้นท่านกล่าวเพราะความสำคัญอย่างนั้น ในข้อนี้ความแตกทำลายแห่งศีลจึงไม่มีแก่ท่าน ก็ท่านละอายด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ จักกระทำสัมปชานมุสาวาท กล่าวเท็จทั้งรู้ในกุรุธรรมได้อย่างไร

    แล้วถือเอาศีลในสำนักของนายประตูแม้นั้น จดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

    น่าคิดที่จะต้องระวังแม้คำพูดที่ไม่ให้ผิดจากความจริง เพราะถ้าพูดผิดจากความจริง ขณะนั้นต้องเป็นมุสาวาท กล่าวคลาดเคลื่อนหรือผิดจากความจริง ด้วยเจตนา

    นายประตูกล่าวว่า

    เมื่อเป็นอย่างนั้น ศีลก็ยังไม่ทำให้เรายินดีปลื้มใจได้ แต่นางวรรณทาสีรักษา ได้ดี พวกท่านจงถือเอาในสำนักของนางวรรณทาสีแม้นั้นเถิด

    ทูตเหล่านั้นก็พากันเข้าไปหานางวรรณทาสีแม้นั้นแล้วขอกุรุธรรม

    ซึ่งนางวรรณทาสีในครั้งนั้นก็คือท่านพระอุบลวรรณาภิกษุณีในครั้งนี้นั่นเอง

    นางวรรณทาสี พูดถึงฐานะก็เป็นทาสี และเป็นหญิงโสเภณีด้วย แต่ก็รักษา กุรุธรรม

    ได้ยินว่า ท้าวสักกะจอมเทวดาทรงดำริว่า จักทดลองศีลของนางวรรณทาสี พระองค์ได้แปลงเพศเป็นหนุ่มน้อยมาหาแล้วพูดว่า ฉันจักมาหา แล้วให้ทรัพย์ไว้ พันหนึ่ง และกลับไปยังเทวโลก ไม่มาเลยถึง ๓ ปี นางวรรณทาสีนั้นไม่รับสิ่งของ แม้มาตรว่าหมากพลูจากมือชายอื่นถึง ๓ ปี เพราะกลัวศีลของตนขาด นางก็ ยากจนลงโดยลำดับ จึงได้คิดว่า เมื่อชายผู้ให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่เราแล้วไปเสีย ไม่มาถึง ๓ ปี เราจึงยากจน ไม่อาจเลี้ยงชีพต่อไปได้ ตั้งแต่บัดนี้ไป เราควรบอกแก่มหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัยความ แล้วรับเอาค่าใช้จ่าย

    นางได้ไปที่ศาล และกล่าวฟ้องว่า

    มีบุรุษผู้หนึ่งให้ค่าใช้จ่ายแก่ดิฉัน แล้วไปเสีย ๓ ปีแล้ว ดิฉันไม่ทราบว่า เขาตายแล้วหรือยังไม่ตาย แต่ดิฉันไม่อาจเลี้ยงชีวิตต่อไปได้ ดิฉันควรจะทำอย่างไร

    มหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัยอรรถคดีได้กล่าวตัดสินว่า

    เมื่อเขาไม่มาถึง ๓ ปี ตั้งแต่นี้นางจงรับค่าใช้จ่ายจากชายอื่นได้

    เมื่อนางวรรณทาสีได้รับการวินิจฉัยตัดสินแล้ว ก็ออกจากศาลที่วินิจฉัยนั้นไป แต่พอออกจากศาลที่วินิจฉัยเท่านั้น บุรุษคนหนึ่งก็ได้น้อมนำห่อทรัพย์พันหนึ่งเข้าไปให้ แต่ในขณะที่นางเหยียดมือเพื่อจะรับ ท้าวสักกะก็แสดงพระองค์ให้เห็น

    พอนางเห็นท้าวสักกะ ก็หดมือที่จะรับทรัพย์นั้นกลับ และกล่าวว่า

    บุรุษผู้ให้ทรัพย์แก่เราพันหนึ่งเมื่อ ๓ ปีได้กลับมาแล้ว เราไม่ต้องการกหาปณะของท่าน

    ท้าวสักกะได้แปลงร่างกายของพระองค์ทันที ประทับยืนในอากาศ ประทานโอวาทในท่ามกลางมหาชนว่า

    ในที่สุด ๓ ปีมาแล้ว เราได้ให้ทรัพย์พันหนึ่ง เนื่องด้วยจะทดลอง นางวรรณทาสีนี้ ท่านทั้งหลายชื่อว่า เมื่อจะรักษาศีล จงเป็นผู้เห็นปานนี้ รักษาเถิด

    คือ ขอให้รักษาให้ยิ่งขึ้น รักษาให้จริงๆ รักษาให้ได้

    แล้วได้ทรงบันดาลให้บ้านของนางวรรณทาสีเต็มด้วยรัตนะทั้ง ๗ แล้วได้ทรงพร่ำสอนนางวรรณทาสีนั้นว่า

    เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาทตั้งแต่บัดนี้ไป

    แล้วได้เสด็จไปยังเทวโลก

    ในครั้งนั้นนางวรรณทาสีก็ปฏิเสธที่จะให้กุรุธรรมแก่ทูตเหล่านั้น แล้วได้กล่าวว่า

    เรายังมิได้เปลื้องค่าจ้างที่รับไว้ ยื่นมือไปรับค่าจ้างที่ชายอื่นให้ ด้วยเหตุนี้ ศีลจึงทำเราให้ยินดีปลื้มใจไม่ได้ เหตุนั้นเราจึงไม่อาจจะให้กุรุธรรมแก่ท่านทั้งหลาย

    ทูตเหล่านั้นได้กล่าวกะนางวรรณทาสีนั้นว่า

    ศีลเภท คือ ศีลแตกทำลาย ย่อมไม่มีด้วยเหตุเพียงสักว่ายื่นมือออกไป ชื่อว่าศีล ย่อมบริสุทธิ์อย่างยิ่งด้วยประการอย่างนี้

    แล้วได้รับเอาศีลในสำนักของนางวรรณทาสีแม้นั้น จดจารึกลงใน แผ่นสุพรรณบัฏ

    ทูตเหล่านั้นจารึกศีลที่ชนทั้ง ๑๑ คนนั้นรักษาลงในแผ่นสุพรรณบัฏแล้ว ได้กลับไปยังทันตปุรนคร ถวายแผ่นสุพรรณบัฏแก่พระเจ้ากาลิงคราช แล้วกราบทูลเรื่องราวต่างๆ นั้น ให้ทรงทราบ

    พระเจ้ากาลิงคราชทรงประพฤติกุรุธรรมนั้น ทรงบำเพ็ญศีล ๕ ให้บริบูรณ์ ในกาลนั้นฝนก็ตกลงในแว่นแคว้นกาลิงครัฐทั้งสิ้น ภัยทั้ง ๓ ก็สงบระงับ และ แว่นแคว้นก็ได้มีความเกษมสำราญ มีภักษาหารบริบูรณ์

    พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศอริยสัจจ์ ในเวลาจบอริยสัจจ์ บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามี บางพวกได้เป็นพระอนาคามี บางพวกได้เป็นพระอรหันต์ และทรงประชุมชาดกว่า

    นางวรรณทาสีหญิงคณิกา ได้เป็นนางอุบลวรรณา นายประตูในครั้งนั้น ได้เป็นพระปุณณะ รัชชุคาหกะอำมาตย์ผู้รังวัด ได้เป็นพระกัจจายนะ โทณมาปกะอำมาตย์ผู้ตวงข้าว ได้เป็นพระมหาโมคคัลลานะ เศรษฐีในครั้งนั้นได้เป็นพระสารีบุตร นายสารถีได้เป็นพระอนุรุทธะ พราหมณ์ได้เป็นพระกัสสปเถระ พระมหาอุปราช ได้เป็นพระนันทะผู้บัณฑิต พระมเหสีในครั้งนั้นได้เป็นราหุลมารดา พระชนนีในครั้งนั้นได้เป็นพระมายาเทวี พระเจ้ากุรุราชโพธิสัตว์ได้เป็นเราตถาคต ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกด้วยประการฉะนี้

    จบ อรรถกถากุรุธรรมชาดกที่ ๖

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ แสดงความหมายใน อิติศัพท์ ว่า

    พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคนั้น มีความหมายที่ละเอียดด้วยนัยต่างๆ มีสมุฏฐานมาจากอัธยาศัยเป็นอเนก สมบูรณ์ด้วยอรรถ และพยัญชนะ มีปาฏิหาริย์ต่างๆ ลึกซึ้งด้วยธรรม อรรถ เทศนา และปฏิเวธ มากระทบคลองแห่งโสตปสาทของสรรพสัตว์ตามสมควรแก่ภาษาของตนๆ ใครเล่าจะสามารถเข้าใจได้ครบ ทุกประการ ข้าพเจ้า (คือ ท่านพระอานนท์) แม้ยังความเป็นผู้ประสงค์จะฟังให้เกิดขึ้นด้วยเรี่ยวแรงทั้งหมด ก็ฟังมาแล้วอย่างนี้ คือ แม้ข้าพเจ้าก็ฟังมาด้วยประการ อย่างหนึ่ง

    นี่คือข้อความที่ท่านพระอานนท์ได้ทรงจำด้วยความอุตสาหะจริงๆ และผล ของการฟังพระธรรมของแต่ละบุคคลย่อมต่างกันไปตามการสะสม ซึ่งความต่างกันนั้น มีตั้งแต่ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมด้วยพระองค์เอง จนกระทั่งแม้ในสมัยนี้ ก็จะเห็นอัธยาศัยที่ต่างๆ กันของผู้ฟัง ซึ่งทำให้เกิดผลต่างๆ กันด้วย

    ความต่างกันของผู้ที่รับฟังพระธรรมเทศนา แม้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และสหาย ๕๐๐ คนของท่าน ก็ฟังธรรมต่างกัน

    อรรถกถา ขุททกนิกาย ชาดก เอกนิบาต อรรถกถา อปัณณกชาดก มีข้อความว่า

    อปัณณกะ หมายถึงข้อปฏิบัติที่เป็นไปอย่างแน่นอน คือ ไม่ผิด เป็นเครื่องที่นำออกจากทุกข์ได้

    ครั้นนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ตรัส อปัณณกธรรมเทศนา

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ถามว่า ก็เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะปรารภใคร

    ตอบว่า เพราะปรารภสาวกของเดียรถีย์ สหายของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

    พระธรรมที่ทรงแสดงมีมากที่ว่า พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคนั้น มีความหมายที่ละเอียดด้วยนัยต่างๆ มีสมุฏฐานมาจากอัธยาศัยเป็นอเนก เมื่อแต่ละคนมีอัธยาศัยที่สะสมมาต่างๆ กัน ก็เป็นเหตุให้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาต่างๆ กัน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เรื่องมีว่า วันหนึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีชักพาพวกสาวกของอัญญเดียรถีย์ ๕๐๐ คน ผู้เป็นสหายของท่าน ให้ถือระเบียบดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เป็นอันมาก และนํ้ามัน นํ้าผึ้ง นํ้าอ้อย และผ้า ไปยังพระวิหารเชตวัน ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค บูชาด้วยของหอม และดอกไม้เป็นต้น สละเภสัช และผ้าถวายแก่ ภิกษุสงฆ์ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    สาวกของอัญญเดียรถีย์แม้เหล่านั้น ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว แลดู พระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคอันงามดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญ แลดูพระวรกายดุจ กายพรหมอันประดับด้วยพระมหาปุริสลักษณะ และพระอนุพยัญชนะ แวดวงด้วย พระรัศมีด้านละวา แลดูพระพุทธรังสีอันเปล่งออกเป็นวงๆ (ดุจพวงอุบะ) เป็นคู่ๆ จึงนั่งใกล้ๆ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระธรรมกถาอันไพเราะวิจิตรด้วยนัย ต่างๆ ด้วยพระสุรเสียงประดุจเสียงพรหมน่าสดับฟังแก่สาวกของอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น สาวกของอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว มีจิตเลื่อมใส ลุกขึ้นถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำลายสรณะของอัญญเดียรถีย์แล้ว ได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ

    จำเดิมแต่นั้น พวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น มีมือถือของหอม และดอกไม้เป็นต้น ไปยังพระวิหาร ฟังธรรม ให้ทาน รักษาศีล กระทำอุโบสถกรรม พร้อมกับท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นนิตยกาล

    นี่คือผลของการที่มีมิตรดี มีสหายดี เมื่อมิตรสหายเป็นท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้เป็นอริยสาวก ก็สามารถชักจูงสหายของท่านซึ่งนับถือคำสอนอื่น มีผู้อื่นเป็นสรณะ ให้มาฟังพระผู้มีพระภาคได้ แต่จิตของแต่ละคน สะสมมาละเอียดลึกซึ้งมาก วันนี้เป็นอย่างนี้ วันอื่นก็เป็นอย่างอื่นได้ โดยไม่ได้คาดหมาย หรือโดย ไม่อาจที่จะคาดคิดได้ว่า ทำไมจึงได้เป็นอย่างนั้นๆ ได้ เพราะว่าการสะสมของจิต มีทั้งความเห็นถูก และความเห็นผิดในอดีตที่เคยเห็นผิดมาแล้ว เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่า จะมีปัจจัยฝ่ายใดที่ทำให้ความเห็นถูกเจริญงอกงามขึ้น หรือทำให้ความเห็นผิด ซึ่งเคยสะสมมานั้นงอกงามขึ้น

    สำหรับสหายของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งเป็นสาวกของอัญญเดียรถีย์ เมื่อได้ทิ้งพวกอัญญเดียรถีย์ และกลับมามีพระผู้มีพระภาคเป็นสรณะตามท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็ได้ฟังธรรม ให้ทาน รักษาศีล กระทำอุโบสถกรรมพร้อมกับ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นนิตยกาล

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จจากกรุงสาวัตถี กลับไปกรุงราชคฤห์ อีกแล ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้ว สาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นก็ได้ทำลายสรณะนั้นเสีย กลับไปถึงอัญญเดียรถีย์เป็นสรณะอีก ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นเค้ามูลเดิมของตนนั่นเอง

    ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยับยั้งอยู่ที่พระนครราชคฤห์ ๗ - ๘ เดือน ได้เสด็จกลับไปยังพระวิหารเชตวันเหมือนเดิมอีก ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็พาสาวก อัญญเดียรถีย์เหล่านั้นไปเฝ้าพระศาสดาแม้อีก บูชาพระศาสดาด้วยของหอม และดอกไม้เป็นต้น ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พวกสาวกอัญญเดียรถีย์ แม้เหล่านั้น ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    ลำดับนั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงความที่พวกสาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกจาริกไปแล้ว ได้ทำลายสรณะที่รับไว้ กลับไปถืออัญญเดียรถีย์เป็นสรณะ ดำรงอยู่ในฐานะเดิมอีก

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถาม พวกสาวกอัญญเดียรถีย์ก็กราบทูลรับว่า จริง พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    ดูกร อุบาสกทั้งหลาย ในโลกธาตุเบื้องล่างจดอเวจีมหานรก เบื้องบนจด ภวัคคพรหม ตามขวางหาประมาณมิได้ ชื่อว่าบุคคลเช่นกับพระพุทธเจ้า โดยคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้น ย่อมไม่มี บุคคลที่ยิ่งกว่า จักมีมาแต่ไหน

    แล้วทรงประกาศคุณของพระรัตนตรัย แล้วทรงแสดงพระธรรม คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ที่ย่อมให้ถึงโสตาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค แล้วตรัสว่า

    พวกท่านทำลายสรณะเห็นปานนี้ ชื่อว่ากระทำกรรมอันไม่สมควร แล้วตรัสว่า

    แม้ในกาลก่อน มนุษย์ทั้งหลายถือเอาสิ่งที่ไม่ใช่สรณะว่าเป็นสรณะ โดยการถือเอาด้วยการคาดคะเน โดยการถือเอาผิด

    เมื่อท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีได้ฟัง ท่านก็กราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคตรัสถึงเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสเล่าถึงเหตุการณ์แม้อันระหว่างภพปกปิดไว้ให้ปรากฏ ดุจทำลายกลุ่มหมอก นำพระจันทร์เพ็ญออกมาฉะนั้น

    ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่มีการพยากรณ์อดีตชาติได้เลยว่า แต่ละคนในชาตินี้ที่เป็นอย่างนี้ เพราะเคยสะสมมาแล้วในอดีตอย่างนั้นๆ จึงทำให้ แม้ความคิด ความเห็น หรือกาย วาจา เป็นไปตามการสะสม

    เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ถ้าผู้ใดมีโอกาสได้ฟังพระธรรม แต่ฟังเผิน ไม่พิจารณาให้รอบคอบโดยละเอียดจริงๆ เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงเกิดจาก การตรัสรู้ โพธิญาณ ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถแสดงได้อย่างพระผู้มีพระภาค

    บางคนอาจจะไม่ทราบว่า ความติดความพอใจในรสที่ตนต้องการ ทำให้คนอื่นต้องลำบากสักแค่ไหน เพราะบางครั้งอาหารทำเสร็จแล้ว ก็ยังต้องให้เอากลับไปปรุงใหม่ก็เป็นได้ สำหรับความติดในรสของพระภิกษุ ก็ทำให้ชาวบ้านลำบาก และบางครั้งถึงกับเปลี่ยนสภาพของชีวิตก็ได้ แต่ว่ายามใดที่กุศลให้ผล ยามนั้นย่อมได้รับความสุข

    ขอกล่าวถึงเรื่องของ ท่านพระปิณฑปาติยติสสเถระ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

    มีคนเข็ญใจคนหนึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยการขายฟืน จึงมีชื่อว่าทารุภัณฑกมหาติสสะ เมื่อเขาคิดถึงความยากจนของเขาก็เกิดความสังเวช เขากล่าวกับภรรยาว่า เพราะ เขาทั้งสองไม่ได้บำเพ็ญทานจึงยากจน พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญทานว่ามีผลมาก แต่เขาจะทำทานทุกวันไม่ได้ เขาจะถวายภัตแก่สงฆ์เฉพาะในวันข้างขึ้นครั้งหนึ่ง และวันข้างแรมครั้งหนึ่ง และถ้าได้ของสิ่งใดมาเป็นพิเศษ ก็จะกระทำสลากภัต

    นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันของพุทธบริษัท

    เขาถามภรรยาว่า ภรรยามีความคิดอย่างไร ซึ่งภรรยาก็เห็นด้วย ในวันรุ่งขึ้นภรรยาก็นำอาหารไปถวายพระภิกษุ ครั้งนั้นเป็นกาลที่พระภิกษุสงฆ์ฟุ่มเฟือยด้วยจตุปัจจัย ภิกษุหนุ่ม และสามเณรทั้งหลายเลือกฉันแต่จังหันที่ประณีตบรรจง จังหันที่ภรรยาของทารุภัณฑกมหาติสสะถวายนั้น เป็นจังหันที่เศร้าหมองไม่ประณีต ภิกษุหนุ่ม และสามเณรทั้งหลายเสียไม่ได้ก็จำเป็นจำรับไว้ แต่พอรับแล้วก็สาดเทเสีย ต่อหน้าต่อตา ภริยาของทารุภัณฑกมหาติสสะก็เล่าให้สามีฟัง แต่ไม่ได้เดือดร้อน กินแหนงใจประการใด ทารุภัณฑกมหาติสสะก็ปรึกษากับภรรยาว่า ทำอย่างไรจะได้มีอาหารที่ประณีตให้พระคุณเจ้าทั้งหลายฉันได้ ภรรยาก็แนะนำให้เอาลูกสาวไปขายฝากไว้ที่ตระกูลหนึ่งสัก ๑๒ ตำลึง และเอาเงินนั้นไปซื้อโคนมมาตัวหนึ่งจะได้ถวายสลากภัตด้วยนม และเนยได้ สามีก็กระทำตาม และด้วยบุญของคนทั้งสอง ทำให้รีดน้ำนมได้มากทั้งเช้า และเย็น สามารถหุงข้าวด้วยน้ำมันเนยอย่างดีถวายแก่พระภิกษุทั้งหลายได้

    ทารุภัณฑกมหาติสสะคิดที่จะเปลื้องธิดาให้พ้นจากการเป็นทาสี ก็ปรึกษากับภรรยาแล้วก็ไปรับจ้างหีบน้ำอ้อยถึง ๖ เดือน จึงได้เงิน ๑๒ ตำลึง ครบค่าตัวของ ลูกสาว จึงเดินทางกลับบ้าน

    ระหว่างทางเขาเห็นท่านพระปิณฑปาติยติสสะกำลังเดินจะไปนมัสการ พระเจดีย์ที่ติสสมหาวิหาร เขาใคร่ที่จะได้ฟังธรรม จึงรีบเดินตามท่านไปข้างหลัง พอถึงเวลาที่ใกล้จะกระทำภัตตกิจ เขาคิดว่าเมื่อถึงประตูเมืองจะซื้ออาหารถวาย ขณะนั้นมีคนถือห่อข้าวเดินมา ทารุภัณฑกมหาติสสะก็นิมนต์พระเถระให้นั่งที่ โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง แล้วเข้าไปหาบุรุษผู้นั้นขอซื้อข้าวนั้น ๑ กหาปนะ ซึ่งเท่ากับ ๑ ตำลึง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 4
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ