วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 19
แล้วเข้าไปหาบุรุษผู้นั้นขอซื้อข้าวนั้น ๑ กหาปนะ ซึ่งเท่ากับ ๑ ตำลึง บุรุษผู้นั้นคิดว่า ข้าวห่อนี้ราคาไม่ถึง ๑ มาสก แต่ว่าทารุภัณฑกมหาติสสะขอซื้อถึง ๑ ตำลึง คงจะต้องมีเหตุอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นแน่ เขาจึงไม่ยอมขายให้ แต่ทารุภัณฑกมหาติสสะก็ขอซื้อเพิ่มขึ้น ทวีราคาขึ้นไปจนกระทั่งถึง ๑๒ ตำลึง บุรุษ ผู้นั้นก็ยังไม่ยอมขายให้ ทารุภัณฑกมหาติสสะก็บอกว่า เขามีกหาปนะอยู่เท่านั้นเอง ถ้ามีกหาปนะมากกว่านั้นก็จะให้มากกว่านั้นอีก แล้วบอกว่า ข้าวห่อนี้ไม่ใช่ว่าเขาจะบริโภคเอง แต่เขาได้นิมนต์พระคุณเจ้ารูปหนึ่งให้นั่งใต้ต้นไม้นั้น ขอจงให้ข้าวนั้นไปทำบุญด้วยกันเถิด
เมื่อบุรุษผู้นั้นทราบ ก็รับเงิน ๑๒ ตำลึง และให้ข้าวทารุภัณฑกมหาติสสะไป ทารุภัณฑกมหาติสสะก็ล้างมือสะอาด นำอาหารใส่บาตรพระมหาเถระ พอเขา ใส่บาตรได้ครึ่งหนึ่ง พระมหาเถระก็ปิดบาตร แต่เขาก็กราบเรียนท่านว่า อาหารนี้ พออิ่มสำหรับคนเดียว ขอให้ท่านรับไว้ทั้งหมด พระมหาเถระก็รับไว้ทั้งหมด
เมื่อท่านกระทำภัตตกิจเสร็จแล้ว ก็ได้ออกเดินไปกับทารุภัณฑกมหาติสสะ และเมื่อท่านถาม ทารุภัณฑกมหาติสสะก็ได้เล่าเรื่องราวของเขาทั้งหมดให้ท่านฟัง ตั้งแต่ออกจากบ้านไปจนกระทั่งถึงซื้อข้าวห่อด้วยเงิน ๑๒ ตำลึง
ท่านพระเถระได้ฟังก็สลดใจ และรู้คุณของอุบาสก เมื่อถึงติสสมหาวิหารแล้ว ท่านก็เพียรกระทำสมณธรรมจนบรรลุพระอรหันต์ เมื่อท่านจะปรินิพพานก็มีผู้ถามท่านว่า อะไรเป็นเหตุให้ท่านเกิดธรรมสังเวช ท่านก็ได้เล่าเรื่องศรัทธาของ ทารุภัณฑกมหาติสสะที่ถวายข้าวห่อแก่ท่านให้ผู้ที่อยู่ในที่นั้นฟัง ซึ่งบริษัททั้ง ๔ นั้น ก็ให้สาธุการโดยทั่วกัน
ก่อนปรินิพพานท่านอธิษฐานว่า ที่ประดิษฐานสรีระของท่านนั้น ขออย่าให้ ใครๆ ยกได้ นอกจากทารุภัณฑกมหาติสสะเท่านั้น
เมื่อพระราชาทรงทราบว่า พระมหาเถระปรินิพพานแล้ว ได้เสด็จไปสักการะ และเมื่อทรงให้ตกแต่งเชิงตะกอน และให้เชิญพระศพของพระมหาเถระไปสู่เชิงตะกอน แต่ใครๆ ก็ยกไม่ขึ้น ต่อเมื่อพระราชารับสั่งให้หาตัวทารุภัณฑกมหาติสสะมาสอบถาม และได้พระราชทานเครื่องประดับอันมีราคามากให้ทารุภัณฑกมหาติสสะอาบน้ำชำระร่างกาย ตกแต่งด้วยเครื่องประดับ แล้วไปถวายนมัสการสรีระของพระมหาเถระ
เมื่อทารุภัณฑกมหาติสสะยกเท้าของท่านพระมหาเถระขึ้นทูนบนศีรษะนั้น ที่ประดิษฐานศพของท่าน ก็ลอยไปประดิษฐานเหนือเชิงตะกอนได้
แสดงให้เห็นถึงการที่อุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธา ต้องขวนขวายด้วยความยากลำบากในการที่จะบำรุงพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งท่านยังเป็นผู้ที่ยังติดในรส จนกว่าจะเกิดธรรมสังเวช ความสลดใจว่า ผู้อื่นต้องหามาให้ท่านด้วยความเหนื่อยยากลำบากเพียงใด ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะในสมัยนี้ แม้ในกาลสมัยที่ผ่านมาแล้วก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าเหตุการณ์ และสถานที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยเท่านั้น
ในเรื่องของรส การสะสมความติด ความพอใจ ความต้องการ ในอดีตก็มีมามาก เพราะว่าในปัจจุบันชาตินี้ ทุกท่านสามารถรู้ได้ถึงความติดในรสของท่านเองว่า มีมากน้อยแค่ไหน บางท่านอาจจะไม่ติดในรสมาก คือ รับประทานอะไรก็ได้ แต่ บางท่านไม่ได้ อาหารชนิดนี้ต้องสุกมากๆ ชนิดนั้นต้องเป็นรสอย่างนั้น เป็นรสอย่างนี้ มิฉะนั้นแล้ว ก็บริโภคไม่ได้
แสดงให้เห็นถึงความติด ความพอใจในรส ซึ่งในสังสารวัฏฏ์ที่เนิ่นนานมาแล้ว ไม่มีใครสามารถรู้อดีตชาติได้ว่า เคยมีการแสวงหา เคยมีความพอใจในรสมากน้อย แค่ไหน แต่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงถึงอดีตชาติของแม้พระสาวก เพื่อให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท จะต้องมีความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่แต่ละคนสะสมมา ทำให้วิถีชีวิตในชาติหนึ่ง ภพหนึ่ง ของสังสารวัฏฏ์หนึ่งต่างๆ กันไป
ขอกล่าวถึงศรัทธาของอุบาสิกาท่านหนึ่ง ซึ่งสามารถสละสิ่งที่เป็นที่พอใจ ของตนเพื่อจะได้ถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์
ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เมื่อพระเจ้าจัณฑปัชโชตผู้ครอง พระนครอุชเชนีทรงทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงบังเกิดในโลกแล้ว พระองค์ได้รับสั่งให้ท่านอาจารย์กัจจายนพราหมณ์ไปเชิญเสด็จพระผู้มีพระภาคมาสู่พระนครอุชเชนี เมื่อท่านกัจจายนพราหมณ์กับบุรุษอีก ๗ คนได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และได้ฟัง พระธรรมแล้ว ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๘ ท่าน
ท่านพระมหากัจจายนะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค พรรณนาหนทางไปสู่ นครอุชเชนี
นี่เป็นการเชิญเสด็จ แต่ไม่ควรเชิญเสด็จด้วยคำพูดอย่างอื่น นอกจากพรรณนาถึงหนทางไปสู่พระนครอุชเชนี เพื่อที่พระผู้มีพระภาคจะทรงพระมหากรุณาเสด็จไป ถ้าพระองค์เห็นว่าสมควร
แต่ ธรรมดาว่า พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยเหตุใดเหตุหนึ่งแล้ว ย่อมมิได้เสด็จไปสู่ที่อันไม่ควรเพื่อจะเสด็จ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระมหากัจจายนะว่า
ดูกร ภิกษุ ท่านจงไปแต่ผู้เดียวเถิด ในกาลเมื่อท่านไปแล้ว พระราชาจะทรงเลื่อมใสในท่าน
พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น และพระราชานั้น จะทรงเลื่อมใสท่านพระมหากัจจายนะ โดยที่พระองค์เองไม่จำเป็นต้องเสด็จไป
ท่านพระมหากัจจายนะก็ดำริว่า ขึ้นชื่อว่าพระพุทธดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายจะเป็นสองนั้น ไม่มีเลย ท่านก็ถวายนมัสการพระผู้มีพระภาค แล้วเดินทางกลับไปสู่นครอุชเชนี พร้อมด้วยภิกษุอีก ๗ รูปที่มาด้วยกัน
ระหว่างทางนั้น มีนิคมตำบลหนึ่งชื่อว่าปนารนิคม ในนิคมนั้นมีธิดาเศรษฐี ๒ คน คนหนึ่งเป็นธิดาเศรษฐีเก่าตกยาก เข็ญใจ ไร้ทรัพย์ เมื่อมารดาบิดาสิ้นชีวิตแล้วแม่นมก็ได้ดูแลรับใช้ต่อมา เศรษฐีธิดาผู้นี้งามมาก มีผมยาวสวยที่หาผู้เสมอ ได้ยาก ส่วนเศรษฐีธิดาอีกคนหนึ่งนั้นก็มั่งมี แต่ว่าอาภัพผม ก่อนที่ท่าน พระมหากัจจายนะจะไปถึงนิคมนั้น ธิดาเศรษฐีผู้อาภัพผมก็ได้ส่งคนไปขอซื้อผมของเศรษฐีธิดาเข็ญใจ ๑๐๐ กหาปนะบ้าง ๑,๐๐๐ กหาปนะบ้าง เศรษฐีธิดาเข็ญใจ ก็ไม่ขายให้
เมื่อท่านพระมหากัจจายนะมาถึงปนารนิคมนั้นแล้ว เศรษฐีธิดานั้นเห็นท่านแวดล้อมด้วยภิกษุ ๗ รูป ถือบาตรเปล่าเดินไป นางใคร่ที่จะถวายไทยธรรมแก่ ท่านพระเถระ แต่เมื่อไม่มีทรัพย์ก็คิดที่จะขายผม จึงได้ให้แม่นมอาราธนา ท่านพระภิกษุทั้ง ๘ รูปเข้ามานั่งในบ้าน แล้วให้แม่นมเอาตะไกรตัดผมไปขายให้ ธิดาเศรษฐีผู้อาภัพผม และสั่งให้เอาเงินที่ได้มานั้นจัดถวายบิณฑบาตแก่ภิกษุสงฆ์
ฝ่ายแม่นมนั้นไม่อาจที่จะกลั้นน้ำตาได้ ยกมือขึ้นเช็ดน้ำตา พลางทุบอกด้วยมือข้างหนึ่ง แล้วเอาผมนั้นซ่อนไม่ให้พระมหาเถระทั้งหลายเห็น แล้วก็ไปยังสำนักแห่งเศรษฐีธิดาคนมีทรัพย์นั้น
ธรรมดาว่า วัตถุอันประณีตมีแก่นสารเป็นของมีราคามากนั้น ถ้าบุคคล น้อมนำไปเที่ยวขายด้วยตนเองแล้ว ถึงว่าจะดีมีราคามาก ก็จะกลายเป็นของไม่สู้ดี ไม่สู้มีราคาได้ ชื่อว่ายังราคาให้ตกไป มิได้ยังความเคารพคารวะในวัตถุ และบุคคล ให้เกิดขึ้น
นี่เป็นของธรรมดา เวลาที่มีใครต้องการ และพยายามขอซื้อ เจ้าของไม่ขาย ก็เพิ่มราคาให้ แต่ถ้าเจ้าของคิดจะขาย และถึงกับเอาไปขายด้วยตัวเอง ราคาก็ต้อง ตกลงเป็นของธรรมดา เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะเอาของอะไรไปขายเอง ก็จะทราบได้ว่า ราคาต้องลดลง
เพราะฉะนั้น เศรษฐีธิดาซึ่งเป็นคนที่อาภัพผมนั้นก็คิดว่า แต่ก่อนนี้ขอซื้อด้วยราคาเท่าไรๆ ก็ไม่ยอมขาย แต่ว่าบัดนี้เมื่อตัดออกจากศีรษะแล้ว ราคาผมก็ย่อมลดลง ขึ้นชื่อว่า ผมของตนที่คนเอาไปขายในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ย่อมควรแก่ราคาเพียง ๘ กหาปนะเท่านั้นแหละ ว่าแล้วก็ให้ทรัพย์เพียง ๘ กหาปนะแก่แม่นมนั้น
แต่ก่อนนี้เคยขอซื้อถึง ๑,๐๐๐ กหาปนะ แต่เมื่อตัดผมไปขายให้ ก็ได้ ราคาเพียง ๘ กหาปนะเท่านั้น
เศรษฐีธิดานั้นได้เอากหาปนะทั้ง ๘ นั้น ทำภัตตาหาร ตกแต่งบิณฑบาตถวายพระมหาเถระทั้ง ๘ องค์ องค์ละกหาปนะ
ท่านพระมหากัจจายนะพิจารณาเห็นอุปนิสัยสมบัติแห่งเศรษฐีธิดา ก็ได้ถาม แม่นมว่า เศรษฐีธิดานั้นอยู่ที่ไหน ทำไมไม่เห็น แม่นมก็กราบเรียนว่า อยู่ในห้อง พระมหากัจจายนะเถระก็ให้เรียกเศรษฐีธิดานั้นมา
ฝ่ายธิดาเศรษฐีธิดานั้น ครั้นแม่นมเรียกด้วยวาจาคำเดียวเท่านั้น นางก็ออกมาจากห้องด้วยความเคารพในพระมหาเถระทั้งหลาย แล้วถวายนมัสการพระมหาเถระทั้งหลายอย่างนอบน้อมด้วยศรัทธายิ่ง บิณฑบาตที่บุคคลตั้งไว้ในเนื้อนาอันดี คือ ทักขิไณยบุคคล ย่อมให้ผลในทิฏฐธรรมทันตาในอัตภาพชาตินี้แท้จริง ด้วยเหตุนั้น ผมของเศรษฐีธิดานั้น ก็ยาวสวยเหมือนเดิม ในขณะที่นางถวายนมัสการ พระมหาเถระทั้งปวงนั่นเอง
ส่วนพระมหาเถระทั้ง ๘ องค์นั้น เมื่อได้รับอาหารบิณฑบาตนั้นแล้ว ในขณะที่เศรษฐีธิดาแลดูอยู่นั่นเอง พระผู้เป็นเจ้าก็พากันเหาะไปสู่กาญจนอุทยานแห่ง พระเจ้าจัณฑปัชโชตในนครอุชเชนี
เมื่อผู้รักษาอุทยานเห็นพระมหากัจจายนเถระก็จำได้ จึงได้เข้าไปกราบทูลพระราชาว่า ท่านพระมหากัจจายนปุโรหิตบวชแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ในพระราชอุทยาน พระเจ้าจันฑปัตโชตก็เสด็จไปสู่พระราชอุทยาน และเมื่อถวายนมัสการพระมหาเถระแล้วก็ตรัสว่า พระผู้มีพระภาคประทับที่ไหน
เพราะว่าพระเจ้าจัณฑปัชโชตให้พราหมณ์กัจจายนะไปกราบทูลเชิญเสด็จมา
ท่านพระมหากัจจายนะได้ถวายพระพรว่า พระผู้มีพระภาคไม่เสด็จมาด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงส่งท่านให้มาแทน
พระราชาตรัสถามว่า วันนี้พระผู้เป็นเจ้าได้จังหันที่ไหนฉัน
เมื่อท่านพระมหากัจจายนะได้ถวายพระพรเล่าเรื่องที่เศรษฐีธิดากระทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่จะทำได้ พระราชาจึงตรัสให้จัดแจงถวายที่พำนักแก่พระมหาเถระ และ ได้อาราธนาพระมหาเถระให้อยู่ที่นั่น แล้วได้เสด็จกลับไปสู่พระราชนิเวศน์ รับสั่งให้ คนไปนำเศรษฐีธิดาผู้นั้นมา และตั้งไว้ในตำแหน่งพระมเหสีผู้เลิศ
สำหรับท่านพระมหากัจจายนะ ท่านได้แสดงธรรมให้ชาวอุชเชนีมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ท่านเป็นเอตทัคคะในการอธิบายขยายความพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อ เพราะบางท่านแม้ว่าพระธรรมจะมีอยู่เพียงสั้นๆ แต่เป็นผู้ที่สะสมมาที่จะพิจารณาไตร่ตรองธรรมนั้นโดยละเอียด สุขุม จึงทำให้สามารถเข้าใจในอรรถที่ลึกซึ้งของธรรมนั้น และยังสามารถอธิบายขยายความธรรมนั้น ให้ละเอียด จนกระทั่งผู้อื่นสามารถเข้าใจได้
ก็เป็นชีวิตในสังสารวัฏฏ์ แต่ละภพ แต่ละชาติ ซึ่งเหตุการณ์ก็ต่างกันไป เพราะว่าอดีตชาติของท่านทั้งหลาย เมื่อ ๒๐๐๐ ปีได้ทำบุญกุศลอย่างไรบ้าง ก็ไม่สามารถระลึกได้ แต่ว่าชาตินี้ทำอย่างไร อีก ๒๐๐๐ ปี ๓๐๐๐ ปี อีกแสนกัป ถ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์หนึ่งจะทรงพยากรณ์ว่า ในอดีตชาติท่านผู้นี้ได้กระทำกุศลอย่างนี้ ก็คือในขณะนี้กำลังเป็นชาติปัจจุบันของแต่ละท่านเองก็ได้
วันมาฆบูชา เป็นวันที่ท่านพระสารีบุตรบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ในขณะที่ถวายอยู่งานพัดพระผู้มีพระภาคที่ถ้ำสูกรขาตา ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม แก่ทีฆนขปริพาชกซึ่งเป็นหลานของท่าน เพราะฉะนั้น ในวันสำคัญทางศาสนา จะเป็นอนุสสติได้หลายอย่าง คือ นอกจากระลึกถึงความสำคัญของวันมาฆบูชาแล้ว ก็ยังระลึกถึงเหตุการณ์ในตอนบ่าย ตอนเย็น ซึ่งขณะนั้นทีฆนขปริพาชกได้ไปหา ท่านพระสารีบุตร เพื่อไต่ถามทุกข์สุขที่ท่านได้อุปสมบทในพระธรรมวินัยของ พระผู้มีพระภาค และท่านพระสารีบุตรได้พาท่านซึ่งเป็นหลานไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งในขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ท่านพระสารีบุตรก็ถวายอยู่งานพัด ในขณะที่ฟังพระธรรมนั่นเองท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ และกาลเวลาก็ล่วงผ่านไป หลังจากที่ท่านได้เป็นพระอรหันต์แล้วประมาณ ๔๕ ปี
ชีวิตของพระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีทุกข์ใจ แต่ว่ามีทุกข์กาย แม้พระผู้มีพระภาคพระอัครสาวก และพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ไม่พ้นจากอดีตอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้ เพราะว่าอกุศลกรรมย่อมมีปัจจัยที่จะให้ผลได้ตราบที่ยังไม่ปรินิพพาน
ขอกล่าวถึงการปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร หลังจากที่ท่านบรรลุ พระอรหันต์ในวันมาฆบูชา ล่วงเลยไปประมาณ ๔๕ ปี ข้อความใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อรรถกถาจุนทสูตร มีว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี ก็ในสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ บ้าน นาฬกคาม ในแคว้นมคธ อาพาธเป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านสามเณรจุนทะเป็นอุปัฏฐากของท่าน ครั้งนั้นท่านพระสารีบุตรปรินิพพานด้วยอาพาธนั่นแหละ
ถ้าย้อนระลึกไปถึงแคว้นมคธ หรือเมืองสาวัตถี แม้บ้านนาฬกคามในอดีตก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้น แม้เพียงใน ๔๕ ปีนั้น มีทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งกุศลธรรม อกุศลธรรม มีเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งแต่ละขณะที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่ย้อนกลับมาเกิดอีกเลย ไม่ว่า ใครจะเกิดในสถานที่นั้น ก็เกิดเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
ข้อความในอรรถกถามีว่า
ตำบลนาฬกะเป็นที่อยู่ของสกุลของท่านพระสารีบุตร ท่านสามเณรจุนทะเป็นน้องชายของท่านพระสารีบุตร เวลาที่ท่านยังไม่ได้อุปสมบท ภิกษุทั้งหลายเรียกท่านว่า สามเณรจุนทะ แม้ว่าเวลาที่ท่านเป็นพระเถระแล้ว ก็ยังเรียกอย่างนั้นเหมือนกัน เหตุนั้นจึงกล่าวว่าสามเณรจุนทะ ท่านสามเณรจุนทะเป็นผู้อุปัฏฐากท่านพระสารีบุตรด้วยน้ำล้างหน้า ไม้สีฟัน และน้ำฉัน กวาดบริเวณ นวดหลัง และรับบาตรจีวร
ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานในปีที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน แต่ปรินิพพานก่อนท่านพระมหาโมคคัลลานะ และก่อนพระผู้มีพระภาค
ข้อความในอรรถกถาโดยย่อมีว่า
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอยู่จำพรรษาแล้ว เสด็จออกจากหมู่บ้าน เวฬุวะไปเมืองสาวัตถี แล้วประทับ ณ พระวิหารเชตวัน
เมื่อท่านพระสารีบุตรแสดงวัตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วไปที่พักกลางวัน เพื่อนเหล่าอันเตวาสิกในที่นั้นแสดงวัตรแล้วหลีกไป ท่านจึงกวาดที่พักกลางวัน ปูแผ่นหนัง ล้างเท้า แล้วนั่งคู้บัลลังก์เข้าผลสมาบัติ
ลำดับนั้น เมื่อท่านออกจากผลสมาบัตินั้นตามกำหนดแล้ว เกิดความปริวิตกว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายจักปรินิพพานก่อนหรือหนอ หรือว่าพระอัครสาวกปรินิพพานก่อน แต่นั้นท่านก็รู้ว่าพระอัครสาวกปรินิพพานก่อน ท่านจึงตรวจดูอายุสังขารของท่าน แล้วรู้ว่าอายุสังขารของเราจักเป็นไปได้เพียง ๗ วันเท่านั้น จึงคิดว่า เราจะปรินิพพานที่ไหน
ลำดับนั้น จึงคิดแล้วคิดอีกว่า ท่านพระราหุลปรินิพพานในดาวดึงส์พิภพ พระอัญญาโกณฑัญญเถระปรินิพพานที่สระฉัททันต์ เราจะปรินิพพานที่ไหน ดังนี้ จึงเกิดความสังเวชปรารภมารดาว่า มารดาของเราก็เป็นมารดาของพระอรหันต์ถึง ๗ องค์ ยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เลย ท่านมีอุปนิสัยหรือไม่หนอ เมื่อท่านได้เห็นอุปนิสัยแห่งพระโสดาปัตติมรรคของมารดาของท่าน จึงตรวจดูว่า มารดาของท่านจักบรรลุด้วยเทศนาของใคร ทราบว่า จักบรรลุด้วยธรรมเทศนาของท่านเท่านั้น มิใช่ของใครอื่น
แล้วคิดต่อไปว่า ถ้าท่านพึงขวนขวายน้อยก็จักมีคนกล่าวว่า พระสารีบุตรเถระเป็นที่พึ่งของคนที่เหลือทั้งหลาย แต่ไม่อาจจะเปลื้องแม้เพียงความเห็นผิดของมารดาของตนได้ ท่านจึงตกลงใจที่จะเปลื้องมารดาจากความเห็นผิด และจะปรินิพพาน ในห้องที่เกิดนั่นแหละ
ท่านให้สามเณรจุนทะไปบอกภิกษุบริษัท ๕๐๐ รูปของท่านให้ทราบว่า ท่านจะไปบ้านนาฬกะ
ภิกษุทั้งหลายจึงเก็บเสนาสนะถือบาตร และจีวร ไปสำนักของท่านพระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรเก็บเสนาสนะ กวาดที่พักกลางวัน และยืนที่ประตูที่พักกลางวัน ตรวจดูที่พักกลางวันคิดว่า บัดนี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย จะไม่มีการกลับมาอีกแล้ว
ท่านพระสารีบุตรพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูปแวดล้อม เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตข้าพระองค์ ขอ พระสุคตเจ้าทรงอนุญาต นี้เป็นกาลปรินิพพานของข้าพระองค์ อายุสังขารข้าพระองค์ปลงลงแล้ว
ก็เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายเมื่อตรัสว่า เธอจงปรินิพพาน ก็จะกลายเป็นสรรเสริญความตาย เมื่อตรัสว่า เธออย่าปรินิพพาน คนผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิก็จะยกโทษว่า กล่าวสรรเสริญคุณของวัฏฏะ ฉะนั้น จึงไม่ตรัสคำแม้ทั้งสอง
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เธอจักปรินิพพานที่ไหน สารีบุตรเมื่อพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักปรินิพพานในห้องที่ข้าพระองค์เกิด ในบ้านนาฬกะ แคว้นมคธนั้น จึงตรัสว่า สารีบุตร เธอจงสำคัญเวลาในบัดนี้ ก็การเห็นภิกษุเช่นเธอของภิกษุผู้เป็นทั้งพี่ และน้องของเธอจักหาได้ยาก ในบัดนี้ เธอจงแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น
ท่านพระสารีบุตรทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์ให้ท่านแสดงธรรม หลังจากที่แสดงอิทธิฤทธิ์แล้ว ท่านจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า และเหาะขึ้นไปแสดงปาฏิหาริย์หลายร้อยอย่าง แล้วปรารภธรรมกถา
ท่านพระสารีบุตรกล่าวธรรมกถาด้วยกายที่ปรากฏบ้าง ไม่ปรากฏบ้าง ด้วยกายเบื้องบน เบื้องล่าง หรือครึ่งกาย บางทีก็แสดงเป็นรูปพระจันทร์โดยไม่มีใครเห็น บางครั้งก็เป็นรูปพระอาทิตย์ บางครั้งก็เป็นรูปภูเขา บางทีก็เป็นรูปทะเล บางทีก็เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ บางทีก็เป็นเวสวัณมหาราช บางทีก็เป็นท้าวสักกมหาราช บางทีก็เป็นท้าวมหาพรหม เมื่อแสดงปาฏิหาริย์หลายร้อยอย่างอย่างนี้ ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวธรรมกถา ชาวพระนครทั้งสิ้นประชุมกันแล้ว ท่านเหาะลงแล้ว ได้ยืนถวายบังคมพระบาทพระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะพระเถระว่า
สารีบุตร ธรรมปริยายนี้ ชื่ออะไร
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า
ชื่อสีหนิกีฬิตะ พระเจ้าข้า
ท่านพระสารีบุตรได้เหยียดมือที่มีสีดังครั่งสด แล้วจับที่ข้อพระบาทเช่นกับ ลายเต่าทองของพระผู้มีพระภาค พลางกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์บำเพ็ญบารมีมาหนึ่งอสงไขยแสนกัป ก็เพื่อถวายบังคมพระบาททั้งสองนี้ของพระองค์ มโนรถของข้าพระองค์ถึงที่สุดแล้ว บัดนี้ แต่นี้ไป การประชุมกันในที่เดียวกันด้วยอำนาจปฏิสนธิจะมิได้มีอีกแล้ว
คือ จะไม่มีการเกิดมาพบกันอีก
สมาคมก็จะมิได้มี ความคุ้นเคยกันได้ขาดแล้ว ข้าพระองค์จักเข้าสู่ พระนิพพานที่ไม่แก่ ไม่ตาย เกษม มีสุข เย็นสนิท ไม่มีภัย ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จไปแล้ว ถ้าว่าพระองค์ไม่ทรงชอบพระทัย โทษไรๆ ของข้าพระองค์ที่เป็นไปทางกายหรือทางวาจา ขอพระองค์ทรงอดโทษนั้นด้วย ข้าแต่พระผู้มีพระภาค นี้เป็นการไปของข้าพระองค์แล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
สารีบุตร เราอดโทษต่อเธอ ก็โทษไรๆ ของเธอที่เป็นไปทางกายหรือทางวาจา ที่ไม่ชอบใจเรา ไม่มีเลย สารีบุตร บัดนี้เธอจงสำคัญกาลอันควรเถิด
พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นจากที่ฟังธรรม เสด็จมุ่งหน้าต่อพระคันธกุฎี แล้วได้ประทับยืน ท่านพระสารีบุตรทำประทักษิณ ๓ ครั้งแล้วถวายบังคมในที่ ๔ แห่ง กราบทูลแล้วว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เลยไปหนึ่งอสงไขยกับแสนกัปแต่กัปนี้ ข้าพระองค์หมอบลงที่ใกล้พระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 01
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 02
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 03
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 04
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 05
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 06
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 07
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 08
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 09
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 10
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 11
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 12
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 13
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 14
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 15
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 16
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 17
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 18
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 19
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 20
- สมถภาวนา ตอนที่ 01
- สมถภาวนา ตอนที่ 02
- สมถภาวนา ตอนที่ 03
- สมถภาวนา ตอนที่ 04
- สมถภาวนา ตอนที่ 05
- สมถภาวนา ตอนที่ 06
- สมถภาวนา ตอนที่ 07
- สมถภาวนา ตอนที่ 08
- สมถภาวนา ตอนที่ 09
- สมถภาวนา ตอนที่ 10
- สมถภาวนา ตอนที่ 11
- สมถภาวนา ตอนที่ 12
- สมถภาวนา ตอนที่ 13
- สมถภาวนา ตอนที่ 14
- สมถภาวนา ตอนที่ 15
- สมถภาวนา ตอนที่ 16
- สมถภาวนา ตอนที่ 17
- สมถภาวนา ตอนที่ 18
- สมถภาวนา ตอนที่ 19
- สมถภาวนา ตอนที่ 20