วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 03
มีความเมตตาเสมอหน้ากัน โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง นั่นก็จะเป็นกุศลธรรมโดยแท้จริง เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นกุศลธรรม เป็นเมตตาแล้ว ย่อมไม่มีการลำเอียงด้วยความรัก หรือความชังใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้ายังเป็นความลำเอียงด้วยความรัก หรือความชัง โดยไม่เป็นธรรม ขณะนั้นจะเป็นกุศลไม่ได้
ผู้ฟัง ขอสนับสนุนอาจารย์ที่ว่าเมื่อกี้นี้ ผมก็บังเอิญไปจำบาลีได้ อคติ ๔ อคตินี้แปลว่า ทางที่ไม่ควรเดิน “คติ” แปลว่า “ที่ไป” “อ” แปลว่า “ไม่” ทางที่ไม่ควรเดิน บาลีว่ายังงี้ครับ ฉนฺทา โทสา ภยา โมหา โย ธมฺมํ อติ วตฺตติ นิหียาติ ติสฺส ยโส กาฬปกฺเขว จนฺทิมาติ อีกบทหนึ่งว่า ฉนฺทา โทสา ภยา โมหา โยธมฺมํ นาติวตฺตติ อาปูรติ ตสฺส ยโส สุกฺกปกฺเขว จนฺทีมาติ มี ๒ บท คือว่า ฉันทะ โทสะ ภัย และโมหะ ๔ อย่างนี้ ผู้ใดประพฤติก็เหมือนกับพระจันทร์ข้างแรม ครึ่งๆ กลางๆ บางทีก็มืดไปเลย ส่วนผู้ที่ประพฤติธรรม ไม่มีฉันทะ ไม่มีโทสะ ไม่มีภยา ไม่มีโมหะ ประพฤติอยู่ในธรรมดีแล้ว เหมือนพระจันทร์พ้นจากกลีบเมฆ พระจันทร์ข้างสุกปักษ์ ข้างขึ้นน่ะสว่างดี อันนี้พวกตุลาการถือเป็นชีวิตจิตใจ ว่าจะปฏิบัติไม่ล่วงในอคติทั้ง ๔ นี้ นี่เป็นธรรมของผู้พิพากษาตุลาการควรจะต้องปฏิบัติ
ท่านอาจารย์ ขอบพระคุณท่านผู้ฟังค่ะ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้นะค่ะว่า “อคติ” นี้ไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่ท่านคิด เพราะตราบใดที่ท่านเป็นผู้ไม่ตรง คือ เอียงๆ อยู่เรื่อยๆ จะตรงได้อย่างไรต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าแม้อกุศลธรรมเกิดขึ้นก็ไม่เห็น ก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ยิ่งกระทำกรรม สะสมอกุศลธรรมคือความเอียงนั้นมากขึ้น ถ้ายังเป็นผู้ที่ยังเอียงอยู่ ก็ไม่สามารถที่จะระลึกรู้พิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ แต่ถ้าสติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ความโกรธเกิดขึ้น ไม่มีชื่อนะคะ ใครเคยชื่ออะไร เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของความโกรธ ที่เป็นสภาพที่ร้อน ที่เผาไหม้ ที่ไม่แช่มชื่นเลย ในขณะนั้นสาธารณะกับทุกคนเวลาที่สภาพนั้นเกิดขึ้นกับบุคคลใด โดยไม่มีชื่อจำกัดเฉพาะ แต่เป็นลักษณะอาการของสภาพธรรมอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น ถ้าจะบัญญัติก็ชื่อว่า ความโกรธ ไม่มีชื่อเรียกกันว่า เป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าสติเกิดขึ้นนี่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ความโกรธเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ความโกรธของเรา หรือของใคร ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะให้ความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธจะไม่เกิด แต่เมื่อมีปัจจัยแล้ว โกรธเกิดขึ้นปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าผู้นั้นอบรมเจริญสติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตรงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ก็จะทำให้ปราศจากอคติ คือทำสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะฉันทะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรือความกลัวภัยได้ เพราะเหตุว่ารู้ว่าสภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เมื่อเป็นอกุศล ปัญญาย่อมเห็นชัดในสภาพธรรมที่เป็นอกุศล
เพราะฉะนั้น ปัญญาที่เกิดขึ้นย่อมทำกิจละอกุศลทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทำให้ท่านระลึกรู้สภาพธรรมซึ่งเป็นอกุศล แม้ว่าเป็นบาปกรรม หรือ
เป็นอคติทั้งหลายที่ยังมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ก็จะทำให้ลดน้อยลง จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท เมื่อบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสกับสิงคาลกคฤหบดีบุตรว่า
อริยสาวกละกรรมกิเลสทั้ง ๔ ได้แล้ว ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ คือ ไม่ถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ และไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖
นี่เป็นชีวิตประจำวันของคฤหัสถ์ ซึ่งยังไม่ใช่บรรพชิต ยังมีกิเลสอยู่มากทีเดียวค่ะ ที่จะทำให้ยังคงเป็นเพศคฤหัสถ์อยู่ แต่แม้กระนั้นคฤหัสถ์ผู้ซึ่งจะขัดเกลากิเลสให้เบาบางลง ก็จะต้องอบรมปัญญาที่จะรู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าพระอริยเจ้าขั้นพระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล ยังเป็นผู้ที่ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังไม่สามารถที่จะดับความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ ดังเช่นพระอนาคามีบุคคล แต่ท่านก็รู้ว่า สิ่งใดควรเจริญ สิ่งใดควรเว้น เพราะฉะนั้น พระอริยเจ้าทั้งหลายไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ ซึ่งเป็นวินัยของคฤหัสถ์ ซึ่งท่านผู้ฟังก็ควรที่จะได้ทราบเพื่อที่ท่านจะได้ไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ นี้ด้วย
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ว่าด้วยอบายมุข ๖
[๑๗๘] อริยสาวกย่อมไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ เป็นไฉน
ดูกรคฤหบดีบุตร การประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมาคือสุรา และเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในกลางคืน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การเที่ยวดูมหรสพ เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้าน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ ฯ
ท่านผู้ฟังผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานก็จะพิจารณาได้ว่า เมื่อท่านเริ่มสนใจในการเจริญสติปัฏฐาน อัธยาศัยของท่านก็เริ่มที่จะคล้อยไปตามทางของพระอริยเจ้าทั้งหลาย อย่างบุคคลผู้ที่เคยเป็นผู้ดื่มน้ำเมา เวลาที่เห็นโทษ และรู้ว่าเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านงดเว้น แม้ว่าชีวิตของท่านยังต้องมีการเกี่ยวข้องกับการดื่มน้ำเมา แต่ท่านก็ยังเห็นว่า ควรที่จะงดเว้น ส่วนที่จะงดเว้นเมื่อไรนั้นก็ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย แต่ต้องเริ่มจากการเห็นโทษเสียก่อน ถ้ายังคงไม่เห็นโทษ คิดว่าไม่เป็นไร ท่านก็ยังคงเสพสุราต่อไป แต่ถ้าเสพแล้ว รู้ว่าการเสพสุรานั้นไม่เป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เช่นขณะที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ และไม่เมา เพราะฉะนั้น ก็จะทำให้ท่านเว้นการดื่มสุราได้ และอาจจะยังคงเกี่ยวข้องกับการดื่มสุราเมื่อจำเป็น ตามควรแก่หน้าที่กิจการงานหรือในวงสังคมของท่าน แต่ว่าอัธยาศัยจริงๆ ของท่านก็เริ่มน้อมไปสู่การที่จะละเว้นการดื่มสุราเมรัยทุกประการซึ่งเป็นทางเสื่อม ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า อัธยาศัยของท่านเริ่มที่จะคล้อยตามไปสู่ผู้ที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า
สำหรับการประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในกลางคืน ซึ่งเป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการหนึ่ง ท่านที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็เริ่มจะรู้ว่า ย่อมละคลายการที่จะเป็นผู้ที่แสวงหาการเที่ยวไปในที่ต่างๆ ซึ่งอาจจะเคยมีอัธยาศัยอย่างนั้น แต่ว่าเพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็จะทำให้อัธยาศัยของท่านน้อมไปสู่อัธยาศัยของพระอริยเจ้าซึ่งละเว้นการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในกลางคืน อันเป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการหนึ่ง
แม้แต่การเที่ยวดูมหรสพซึ่งเป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการหนึ่ง ท่านก็จะเห็นได้ว่า แม้ไม่ดับหมดเป็นสมุจเฉท ญาติมิตรสหายผู้ใดจะชักชวนไป ก็ไปตามควรแก่เหตุการณ์ ตามปัจจัย แต่ว่าการที่จะเป็นผู้ขวนขวายหรือพากเพียรหรือมุ่งที่จะไปดูมหรสพซึ่งเป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ ก็จะเริ่มละคลายเบาบางลง บางท่านอาจจะไม่เว้นการดูหนัง ก็ยังคงดูต่อไป แต่ว่าอย่างอื่นนอกเหนือจากหนัง ซึ่งเป็นมหรสพประการหนึ่ง แต่เป็นโทษมากกว่า เป็นอันตรายมากกว่า ท่านก็จะเห็นได้ว่า ท่านเริ่มละคลาย และมีอัธยาศัยที่น้อมไปสู่พระอริยเจ้าเพิ่มขึ้น เพราะเหตุว่าบางท่านก็ยังสงสัยนะคะ ว่า ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะไปไนต์คลับบ้างหรือเปล่า ถ้าจะไปก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้ไป บังคับบัญชาไม่ได้ แต่สติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ตามขั้นของปัญญาที่ท่านได้สะสมอบรมแล้ว เพราะเหตุว่าถ้าเป็นปัญญาจริงๆ จะไม่หวั่นเกรงต่อสถานที่ หรือบุคคล หรือเหตุการณ์ใดๆ เลย เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นปัญญาที่อบรมแล้ว สติเกิดขึ้นขณะใด ปัญญานั้นสามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ในขณะนั้น ขณะที่นั่งฟังธรรม ถ้าสติเกิดขึ้น แล้วก็ปัญญารู้ชัดในการได้ยิน ในเสียง ในการคิดถึงคำ ซึ่งแต่ก่อนที่สติจะเกิดขึ้นแล้วปัญญายังไม่คมกล้า ท่านมีความคิดว่าท่านกำลังฟัง ใครกำลังพูด มีสัตว์ มีบุคคลที่กำลังพูด และมีตัวตนที่กำลังฟัง แต่เวลาที่สติเกิดขึ้น และการสะสมปัญญาเพิ่มขึ้น ระลึกรู้ทันทีถึงความต่างกันของสภาพรู้เสียง ซึ่งเป็นแต่เพียงธาตุรู้ชนิดหนึ่ง ขณะนี้เป็นธาตุรู้เสียง เสียงจึงได้ปรากฏ แต่เวลาระลึกรู้ถึงสภาพรู้หรือธาตุรู้ รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุรู้ที่กำลังรู้เสียง ความเป็นตัวตนออกไปแล้วค่ะจากการได้ยิน เพราะเหตุว่ารู้ว่าเป็นธาตุรู้เสียง ธาตุรู้เสียงไม่สามารถจะเห็น ไม่สามารถที่จะคิดนึก ขณะนี้กำลังรู้เสียง เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ชนิดหนึ่ง และเสียงเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าจะเป็นการศึกษาโดยปริยัติ ก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางหู ลักษณะของเสียงไม่ปรากฏทางตาอย่างสีสันวัณณะต่างๆ ไม่ปรากฏทางจมูกอย่างกลิ่นต่างๆ เพราะฉะนั้น เสียงไม่ใช่กลิ่น เป็นของจริงชนิดหนึ่ง กำลังปรากฏ แล้วก็ไม่ใช่มีแต่เสียงเท่านั้นที่ปรากฏ เพราะเหตุว่ามีการนึกถึงคำ หรือความหมายทีละคำๆ ๆ ขณะที่กำลังนึกถึงความหมาย ไม่ใช่ได้ยินเสียง ไม่ใช่ธาตุได้ยินเสียง ไม่ใช่สภาพรู้เสียง และก็ไม่ใช่เสียง แต่เป็นสภาพหรือธาตุรู้ที่รู้คำ ขณะนี้ ขณะ เป็นธาตุรู้คำ ข - ณะ - นี้
เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น ไม่ว่าท่านจะได้ยินเสียงใคร จะเป็นเสียงเพลงที่ไนต์คลับ หรือว่าจะเป็นเสียงคนคุยกัน หรือจะเป็นเสียงอะไรก็ตาม แต่ถ้าสติเกิด ระลึกรู้ถึงสภาพที่ตรึก คือ นึก คือคิดถึงคำ ก็จะรู้ได้ว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเลยในขณะนั้น เป็นแต่เพียงสภาพคิด ธาตุคิด ธาตุรู้คำที่เกิดขึ้นคิดทีละคำๆ ถ้าสติรู้ชัดในสภาพคิด เพราะเหตุว่าระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ไม่ได้ยินเสียงเลย ก็ยังคิดได้ คิดซิคะ ทีละคำๆ ก็เป็นลักษณะคิด เพราะฉะนั้น หลังจากที่ได้ยินเสียงแล้ว ก็คือคิดนั่นเองเหมือนกัน คิดถึงคำทีละคำๆ เพราะฉะนั้น แม้แต่ตัวท่านก็ไม่มี แม้แต่คนที่กำลังร้องเพลง หรือกำลังพูด กำลังคุยก็ไม่มี เวลาที่สติเกิดขึ้น ปัญญาคมกล้า มีแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งได้แก่สภาพหรือธาตุที่รู้คำที่กำลังมีคำทีละคำเป็นอารมณ์ในขณะนั้นเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานทราบว่าท่านอยู่ที่ไหน สติก็สามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ปัญญาไม่ได้เกรงกลัวต่อสถานที่หรือเหตุการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าอบรมเจริญแล้ว ปัญญาย่อมสามารถที่จะเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้น การที่อัธยาศัยของท่านจะน้อมไปสู่อัธยาศัยของพระอริยเจ้า ไม่ใช่เป็นไปโดยฝืน หรือว่าโดยการบังคับ แต่เป็นเพราะปัญญาเกิดขึ้น และรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ สถานที่ใด ก็ย่อมเป็นชีวิตจริงของท่านซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมที่สะสมมาที่จะเป็นบุคคลนั้นในสถานที่นั้น แล้วสติก็สามารถจะเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้
สำหรับประการต่อไป คือการประกอบเนืองๆ ซึ่งการเล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการหนึ่ง
นี่ก็โดยนัยเดียวกันค่ะ สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ แต่ก่อนอาจจะเคยเล่นไพ่นะคะ สนุก ไม่มีอะไรทำ บรรดาท่านที่ไม่มีอะไรทำ อยู่ว่างๆ ไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่มีกิเลส เพราะฉะนั้น ก็จะต้องแสวงหาสิ่งที่กิเลสพอใจ บางท่านก็ไม่ไปดูหนัง แต่ว่าเล่นไพ่ เพราะเหตุว่าสะสมมาในการพอใจ มีกิเลสในการเล่นไพ่ ซึ่งสะสมมาพอใจที่จะเป็นอย่างนั้น แต่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะหยุดเล่นไพ่ไหมคะ จะหยุดหรือยัง หยุดหรือคะ เด็ดขาดเป็นสมุจเฉท หรือว่าบางครั้งก็เล่น บางครั้งก็ไม่เล่น แล้วแต่อัธยาศัยอีกเหมือนกัน บางครั้งอาจจะหยุดได้เลยทันที แต่บางท่านแล้วแต่ชีวิตของท่านว่า เป็นใคร อยู่ในสถานที่ใด อยู่กับบุคคลใด ถ้าอยู่กับมิตรสหาย เพื่อนฝูงซึ่งมีฉันทะ มีความพอใจในการที่จะเล่นไพ่ แล้วก็มีการชักชวนเกิดขึ้น ขณะนั้นล่ะค่ะ เป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้วจะทราบได้ว่า ท่านจะเล่นหรือท่านจะไม่เล่น เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถจะรู้สภาพธรรมในอนาคตว่าจะเกิดขึ้นประการใด คิดว่าจะไม่ไปดูหนัง แต่ไปไหม แต่พระโสดาบันบุคคลไปหรือเปล่า พระสกทาคามีบุคคลไปหรือเปล่า ดูการมหรสพต่างๆ ตามคุณธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ถ้าท่านเป็นพระอริยเจ้าขั้นพระโสดาบัน ท่านไม่เข้าใจผิดว่าท่านเป็นพระสกทาคามีบุคคล หรือพระอนาคามีบุคคล หรือพระอรหันต์ ถ้าท่านเป็นพระสกทาคามีบุคคล ท่านก็ไม่เข้าใจผิดว่า
ท่านเป็นพระอนาคามีบุคคล หรือพระอรหันต์ ท่านตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ชีวิตของแต่ละท่านที่สะสมมา โดยที่นอกจากบุคคลอื่นจะไม่ทราบว่า ชีวิตของคนอื่นจะเป็นอย่างไรแล้ว แม้แต่ตัวท่านเอง ในวันหนึ่งๆ นี้ ท่านก็ยังไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร แต่ผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทราบว่า ไม่ว่าสภาพธรรมใดจะเกิดขึ้นเป็นไป ย่อมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมา และถ้าสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง เมื่อปรากฏว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะตามความเป็นจริง จะทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ซึ่งเป็นขั้นต้นของการที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ เพราะตราบใดที่ยังมีตัวตนที่แสนดี ก็ยังไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะเหตุว่ามีความยึดติดในความดีนั้นว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวเรา ไม่รู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา
ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพของกิเลส ก็ย่อมจะไม่สามารถดับกิเลสได้ และกิเลสทั้งหลายจะปรากฏให้เห็นในชีวิตประจำวัน ถ้าผู้ใดยังมีกิเลสมาก แต่มุ่งเหลือเกินที่จะประพฤติดีประพฤติชอบโดยไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ก็จะเห็นได้ว่า ไม่สามารถที่จะต้านทานแรงของกิเลสได้ แต่เพราะเหตุที่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงทำให้ปัญญาละเอียดขึ้น แล้วก็รู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้น เป็นธรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ธรรมไม่ใช่อยู่ที่อื่น เพราะเหตุว่าบางท่านเข้าใจว่า ชีวิตประจำวันไม่ควรจะเป็นสภาพธรรม นั่นหมายความว่า ท่านไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมว่า แท้ที่จริงแล้วทุกขณะที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงเป็นสภาพธรรม ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมอื่นเลย ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ สภาพธรรมกำลังปรากฏ และถ้าสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน แต่สติจะต้องเกิดขึ้น แล้วก็ระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม หรือวิบาก ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น สภาพธรรมตามปกติในชีวิตประจำวันนี่เองที่สติจะต้องระลึกรู้ ศึกษาจนกว่าจะประจักษ์ชัดว่า สภาพธรรมนั้นไม่ใช่ตัวตน
ข้อความในสิงคาลกสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เห็นชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังมีกิเลสสะสมอยู่มากน้อยต่างกัน และข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า หรือผู้ที่ดำเนินหนทางไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้าที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อริยสาวกย่อมไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ เป็นไฉน
ชีวิตของคฤหัสถ์ทุกคนจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องมีโภคะ หรือโภคสมบัติโภคทรัพย์ จำเป็นที่จะต้องจับจ่ายใช้สอยเพื่อดำรงชีวิต ผู้ที่ไม่สามารถจะพิจารณารู้ว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ก็ย่อมจะเสพทางเสื่อมแห่งโภคะ แต่พระอริยเจ้าศึกษาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรง สภาพ
ธรรมใดเป็นอกุศล ลักษณะของอกุศลธรรมปรากฏในความเป็นอกุศลให้พระอริยเจ้าเว้นตามควรแก่สติ ตามควรแก่ปัญญาของพระอริยเจ้าขั้นต่างๆ ไม่เข้าใจผิดว่า อกุศลเป็นกุศล
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อริยสาวกย่อมไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ เป็นไฉน
ดูกรคฤหบดีบุตร การประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมาคือสุรา และเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในกลางคืน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การเที่ยวดูมหรสพ เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้าน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ ฯ
ผู้สนใจในการขัดเกลากิเลสก็จะทราบได้ว่า เป็นความจริงที่ท่านน้อมไปสู่ข้อปฏิบัติของผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า โดยท่านที่เคยดื่มสุราก็คงจะเริ่มงดเว้น ประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน ก็คงจะงดเว้น แล้วก็น้อยลง
สำหรับความหมายของคำว่า “เที่ยว” หมายถึง การไปสู่ที่ใดโดยไม่มีกิจธุระ และในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์
การเที่ยวดูมหรสพ แต่ก่อนท่านอาจจะเป็นผู้ติดมากในการดูมหรสพต่างๆ แต่เมื่อเป็นผู้ที่มีการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แม้ว่าท่านไม่สามารถจะงดเว้นการดูมหรสพได้โดยเด็ดขาด เพราะเหตุว่ายังเป็นวิสัยของคฤหัสถ์ แต่แม้กระนั้นท่านก็ยังจะสังเกตได้ว่า ท่านลดความติดลงไป ดูก็ได้ ไม่ดูก็ได้ ไม่ดูนานๆ ก็ยังได้ ก็เริ่มเป็นผู้ที่เปลี่ยนอัธยาศัย ซึ่งเคยเป็นผู้ที่ติดในการดูมหรสพ
สำหรับการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ก็โดยนัยเดียวกัน ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็จะสังเกตได้ว่า ตามปกติแต่ก่อนนี้ อาจจะเป็นผู้มีอัธยาศัยในการพนัน แต่ว่าเมื่อเป็นผู้อบรมเจริญสติปัฏฐาน เล่นก็ได้ ไม่เล่นก็ได้ แล้วก็ไม่ได้มีจิตฝักใฝ่ในเรื่องการพนัน แต่อาจจะเป็นเพียงในเรื่องของการเพลิดเพลินตามปกติวิสัยของผู้ที่เป็นคฤหัสถ์
สำหรับเรื่องการประกอบเนืองๆ ในการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นความเสื่อมแห่งโภคะ ซึ่งท่านก็จะทราบได้ว่า บุคคลที่ท่านคบหาสมาคมด้วย เป็นบุคคลเช่นไร โดยการเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่ากิเลสในตัวท่านมีเท่าไร สติจะสามารถระลึกรู้ตามความเป็นจริงได้รวดเร็วว่องไวยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ก่อนอาจจะเป็นผู้ที่มีกายวาจาที่ไม่ดีงาม แต่พอเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน สติมีความชำนาญขึ้น รู้ว่ากายอย่างนั้นไม่สมควร ทำให้ปัญญาที่ท่านได้อบรม แต่ไม่ใช่ว่าจะหมดทีเดียว ไม่เกิดอีกเลย แต่เมื่อท่านสามารถจะรู้ความจริงของความเป็นปุถุชนของตัวท่านได้ละเอียดขึ้น ฉันใด ก็ทำให้ท่านรู้จักคนอื่นชัดเจน ปรุโปร่งยิ่งขึ้น ฉันนั้น
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 01
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 02
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 03
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 04
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 05
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 06
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 07
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 08
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 09
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 10
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 11
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 12
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 13
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 14
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 15
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 16
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 17
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 18
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 19
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 20
- สมถภาวนา ตอนที่ 01
- สมถภาวนา ตอนที่ 02
- สมถภาวนา ตอนที่ 03
- สมถภาวนา ตอนที่ 04
- สมถภาวนา ตอนที่ 05
- สมถภาวนา ตอนที่ 06
- สมถภาวนา ตอนที่ 07
- สมถภาวนา ตอนที่ 08
- สมถภาวนา ตอนที่ 09
- สมถภาวนา ตอนที่ 10
- สมถภาวนา ตอนที่ 11
- สมถภาวนา ตอนที่ 12
- สมถภาวนา ตอนที่ 13
- สมถภาวนา ตอนที่ 14
- สมถภาวนา ตอนที่ 15
- สมถภาวนา ตอนที่ 16
- สมถภาวนา ตอนที่ 17
- สมถภาวนา ตอนที่ 18
- สมถภาวนา ตอนที่ 19
- สมถภาวนา ตอนที่ 20