วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 06
ปัญญาที่เห็นโทษของอกุศลของตนเองที่สะสมมา จะทำให้ท่านละคลายการที่เป็นบุคคลผู้ดีแต่พูด
เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดไม่ใช่ว่าจะมีอยู่ภายในบุคคลอื่นเท่านั้น แม้มีอยู่ในตัวของท่านเอง สติก็สามารถที่จะเกิดขึ้น ระลึกรู้ตามความเป็นจริง เป็นผู้ตรงต่ออกุศลธรรมที่สะสมมา เห็นอกุศลธรรมที่มีในตนว่า บุคคลอื่นไม่สามารถจะละให้ได้ และเห็นว่าอกุศลธรรมนั้นเป็นโทษจริงๆ เป็นอกุศลที่ควรดับให้หมด การที่เห็นโทษของอกุศลในขณะนั้นจะเป็นปัจจัยทำให้สภาพของกุศลจิตเกิดขึ้นแทนอกุศลในขณะนั้น
บางคนผู้ที่เป็นคนไม่ใช่มิตร แต่เป็นคนเทียมมิตร ที่ดีแต่พูด บางคนก็สงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์ไม่ได้
ข้อความในอรรถกถาอธิบายความหมายของพยัญชนะที่ว่า สงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์มิได้ว่า
ไม่ใช่อ้างถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว หรือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ว่าพูดในสิ่งซึ่งให้ไม่ได้ เป็นที่รู้อยู่ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ให้ไม่ได้ แต่ว่าดีแต่พูดคือปากหวาน ว่าจะให้ หรือเห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับคนนั้น แต่โดยความเป็นจริงแล้ว สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะให้ได้ จะโดยกฎหมาย หรือโดยประการใดก็ตาม แต่แม้กระนั้นการที่เป็นผู้สะสมมาในการที่เป็นผู้ที่ดีแต่พูด ก็ทำให้เกิดอกุศลจิต แล้วก็กล่าวคำพูดที่ไม่จริง ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ให้ไม่ได้ ก็กล่าวว่าเป็นสิ่งที่จะให้
นอกจากนั้นก็คือ เมื่อกิจเกิดขึ้นแสดงความขัดข้อง คือออกปากพึ่งไม่ได้
นั่นก็เป็นลักษณะของคนที่ดีแต่พูด เพราะเหตุว่าเวลาที่ยังไม่มีความจำเป็นเกิดขึ้น ทำอะไรๆ ก็ทำให้ได้ทุกอย่างโดยคำพูด แต่เมื่อมีกิจจำเป็นเกิดขึ้นจริงๆ แล้วก็ขอร้องให้ทำ ไม่สามารถทำให้ได้ โดยอ้างความจำเป็นต่างๆ ไม่สามารถจะทำให้ได้ นั่นก็เป็นลักษณะของคนเทียมมิตร
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
[๑๘๙] ดูกรคฤหบดีบุตร คนหัวประจบ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ ตามใจเพื่อนให้ทำความชั่ว [จะทำชั่วก็คล้อยตาม] ๑ ตามใจเพื่อนให้ทำความดี [จะทำดีก็คล้อยตาม] ๑ ต่อหน้าสรรเสริญ ๑ ลับหลังนินทา ๑
ดูกรคฤหบดีบุตร คนหัวประจบ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ
อกุศลที่เกิดขึ้นวิจิตรมาก แม้แต่ในการคบหาสมาคมกันโดยที่ไม่ใช่มิตรแท้ ก็ทำให้ลักษณะของคนเทียมมิตรมีประการต่างๆ แม้จะไม่ใช่คนที่ปอกลอก หรือคนดีแต่พูด แต่ก็มีอีกลักษณะหนึ่งคือคนหัวประจบ เพื่อจะให้เป็นที่รัก เพื่อที่จะให้เพื่อนรัก หรือว่าเห็นว่าตนเองรักเพื่อน เพราะฉะนั้น ก็มีแต่คำพูดซึ่งคล้อยตาม ไม่ว่าเพื่อนจะทำความชั่วก็คล้อยตาม ไม่เห็น หรือไม่ห้าม หรือว่าไม่เตือน ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ถ้าท่านมีเพื่อนที่จะฆ่าสัตว์ จะทำยังไงคล้อยตามไหม
ผู้ฟัง ผมไม่เคยพูดให้ใครฟังเลย คนนั้นเขาก็มานั่งใกล้ๆ ผม เขาก็สะกิด คุณสังเกตอะไรบ้าง ผมนั่งแล้วสังเกต ไม่รู้จะถามใคร เป็นยังไง สังเกตช้าง ช้างตั้ง ๕ ตัวก่อนจะขึ้นกระได ใหญ่เหลือเกิน แล้วอีก ๒ ตัว โอ้โห ตัวใหญ่เชียว ตัวละตั้งหมื่น แล้ว ๒ ตัวใหญ่ เอาไว้ข้างในหน่อย กันแดดกันฝน เขาก็อวดบอกว่า อ้ายตัวใหญ่นั่นแหละ ของดิฉันล่ะ คุณรู้ไหมราคาตัวละเท่าไร ราคาตั้งเป็นหมื่นๆ แล้วยังงี้ผมก็อยากจะถามอาจารย์ เขาอวดผมหรือไม่อวด เขาได้มาอย่างไร เขาเอาเงินที่ไหนมาซื้อตั้งหมื่น เขาต้องได้มาโดยอะไรอย่างหนึ่ง ไม่ยังงั้น ใครจะไปมีเงินตั้งหมื่นตั้งแสน เดี๋ยวนี้ก็ไปดูซิ ยังตั้งอยู่ ตัวละตั้งหมื่นๆ มีอยู่ ๖ ตัว อีก ๕ ตัว นั่นเล็กน้อย อ้าย ๒ ตัวนั่นเอาไว้ข้างใน อาจารย์ก็บอกว่า คนพูดมากกับคนอวดที่ว่า ได้มาแล้ว แล้วก็ยังไม่ได้ มันจะตรงกับที่ผมเล่าไหม ถามตรงนี้เท่านั้นแหละ
ท่านอาจารย์ เขาใช่ไหมคะ ก็เรื่องของเขาซิคะ ใครจะเป็นยังไง ก็เป็นไปเถอะ ตามเหตุตามปัจจัยที่เขาได้สะสมมา แต่เรื่องของเรา นอกจากจะพิจารณาคนที่คบหาสมาคม เพื่อที่จะรู้ความจริงว่า ใครเป็นอย่างไร เพราะเหตุว่าในการคบหาสมาคมนี่ ถ้าไม่รู้ความจริงว่าใครเป็นอย่างไร เราก็จะคบคนผิดได้ หรืออาจจะเข้าใจว่า คนขี้หัวประจบนี้เป็นเพื่อนแท้ แต่ว่าความจริงไม่ใช่
เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง นอกจากจะให้พิจารณาถึงบุคคลซึ่งคบหาสมาคม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะชักนำให้เกิดกุศลจิต และอกุศลจิตในทางเจริญหรือในทางเสื่อมแล้ว พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงยังควรน้อมนำมาพิจารณาตนเองด้วย ว่าตนเองมีลักษณะประการใดประการหนึ่งอย่างนั้นบ้างไหม เพราะเหตุว่าผู้ที่เป็นปุถุชนเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลสจริงๆ แล้วกิเลสก็แสนที่จะวิจิตร กิเลสของคนอื่นวิจิตรมาก ปรากฏให้คนอื่นเห็นได้ ฉันใด ตัวของท่านเองแต่ละคนซึ่งยังเป็นปุถุชนก็ไม่พ้นไปจากการสะสมที่วิจิตรมากของกิเลส ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างบุคคลนั้น ซึ่งอาจจะน้อยกว่าหรืออาจจะมากกว่า แต่ถ้าท่านไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้นนะคะ อกุศลธรรมที่อาจจะทำให้เป็นคนคด ก็ยังจะคดต่อไป แต่ถ้าปัญญาเกิดขึ้นตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เห็นว่าอกุศลไม่ใช่ของใคร ไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีของท่าน ไม่มีของใคร เป็นแต่เพียงสภาพของอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเพราะการสะสม ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะทำให้ความคดนั้นตรงขึ้น และแทนที่จะเป็นอกุศลก็เป็นกุศลขึ้น
ถาม ลูกสาวถามว่า หนูเกิดจากอะไร สัตว์ต่างๆ และคนต่างเกิดจากอะไร ดิฉันขอให้อาจารย์ตอบค่ะ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วเป็นปัจจัย จะไม่มีการเกิดเลย การเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม แต่ละท่านเกิดมาต่างกันเพราะกรรมที่ได้กระทำไว้ต่างกัน ในชาตินี้ก็มีกรรมต่างๆ แต่กรรมต่างๆ ที่ต่างกันไปในชาตินี้ ย่อมมาจากเหตุ คือ การสะสมในอดีต สะสมอัธยาศัยมาต่างๆ กันในชาติก่อนๆ แล้วก็ได้ทำกรรมต่างๆ กันในชาติก่อนๆ เป็นเหตุให้อัธยาศัยในปัจจุบันชาตินี้ต่างกัน และกรรมในชาตินี้ก็ต่างกัน เพราะฉะนั้น การเกิดเป็นผลของกรรมหนึ่งเท่านั้นในบรรดากรรมทั้งหลายที่ได้กระทำแล้ว โดยที่ว่าไม่มีใครสามารถที่จะเลือกเกิดได้ ไม่สามารถที่จะเลือกตระกูล สมบัติ หรือวงศาคณาญาติ ย่อมเป็นไปตามกรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผลของกุศลกรรมหนึ่งในบรรดากุศลกรรมทั้งหลายที่ได้กระทำไว้ และถ้าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็เป็นผลของอกุศลกรรมหนึ่งในบรรดาอกุศลกรรมทั้งหลายที่ได้กระทำไว้แล้ว แต่เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ยังไม่พ้นกรรม มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรม สำหรับให้เห็นสิ่งที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ถ้าเป็นผลของกุศล ก็จะทำให้เห็นสิ่งต่างๆ ที่ดี ที่น่าพอใจ ถ้าเป็นผลของอกุศล ก็เห็นสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดี ที่ไม่น่าพอใจ ทางหูก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ทำให้ได้ยินเสียงต่างๆ ที่ไม่ดี ไม่น่าพอใจ ถ้าเป็นผลของกุศล ก็จะทำให้ได้ยินเสียงต่างๆ ที่น่ายินดี น่าพอใจ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็โดยนัยเดียวกัน
ผู้ฟัง คือผมจำได้ บอกว่า อาศัยอะไรเกิด อาจารย์ก็ตอบว่า อาศัยกรรม ทีนี้ อาจารย์ก็ศึกษาปริจเฉท ๘ มาอย่างเชี่ยวชาญทีเดียว ผมรับรองว่าเชี่ยวชาญทีเดียว ลองไล่อวิชชาให้ฟังสักหน่อยซิครับ การเกิดนี้ มันไม่เข้ากับอวิชชาหรือการเกิดนี่ สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ปริจเฉท ๘ นี่น่ะ อาจารย์ลองไล่ดูซิ มาทบทวนว่า ที่อาจารย์ตอบว่ากรรมนี้มันขัดกันไหม ผมว่ามันขัดกันนะ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีอวิชชา จะมีกรรมไหมคะ
ผู้ฟัง ปริจเฉท ๘ เขาบอกไว้ชัดเลยว่า อวิชชาเป็นปัจจัย
ท่านอาจารย์ ให้เกิดอะไรคะ
ผู้ฟัง อวิชชาให้เกิดชาติ
ท่านอาจารย์ ให้เกิดสังขาร สังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิก เป็นกุศลกรรม และอกุศลกรรม ถ้าไม่มีอวิชชา ก็ไม่มีกรรม พระอรหันต์แล้วไม่เกิด เพราะเหตุว่าดับอวิชชา และดับกรรม
ผู้ฟัง และมีเปรียญ ๙ เขาก็บอกว่า เขาแปลมาจากภาษาบาลีเลย อย่าให้ผมพูดบาลีเลย ผมจำไม่ได้เสียแล้วครับ เขาบอกว่ายังงี้
ภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นของอวิชชาย่อมไม่ปรากฏ แม้จะกล่าวอย่างนี้ก็ตาม ภิกษุทั้งหลาย อวิชชาต้องมีอยู่ ลงท้ายเพราะเหตุนี้จึงมีอวิชชา ก็เกิดจะชกปากกัน เพราะเหตุนี้น่ะมันหมายความว่าอะไรกัน นี่เพราะเหตุนี้อวิชชาจึงมีอยู่ อยากจะฟังเปรียญบาลีของท่านเปรียญ ๖ ที่นั่งอยู่นี่สักหน่อยเถอะ คำๆ นี้ อวิชชาตัวนี้
ท่านอาจารย์ เวลานี้เห็นอวิชชาหรือยังคะ
ผู้ฟัง ถามผมหรือ กำลังเจริญสติ
ท่านอาจารย์ ถ้าเจริญสติ ไม่เห็นอวิชชา จะดับอวิชชาได้ยังไง มีอวิชชาไหม
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ไม่มี ก็เป็นพระอรหันต์ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ทั้งหมด แม้แต่อวิชชาให้เกิดสังขาร ไม่ใช่อยู่ในตำรา ไม่ใช่ว่าไม่สามารถจะรู้จริงตามนั้นได้ แต่ผู้ที่จะประจักษ์อริยสัจธรรม จะต้องรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าพระธรรมประการใดที่ทรงแสดงไว้ สำหรับผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ไม่สงสัย เพราะว่าได้ระลึกรู้ชัดในสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง เช่น ทางตาที่ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ รู้ไหมว่าเป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ และรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่ใช่สภาพรู้เสียง ไม่ใช่ธาตุรู้เสียง รู้ไหมอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเห็นอวิชชาว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้ ขณะใดที่สติไม่เกิด ไม่มีการระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นความไม่รู้ ถูกปิดบังไว้ด้วยอวิชชา ถูกครอบงำให้มืดสนิทด้วยอวิชชา ไม่เห็นสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของอวิชชาว่า เป็นสภาพธรรมที่ทำให้ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และขณะใดที่มีกุศลจิต อกุศลจิตเกิดขึ้น ผู้นั้นรู้ในสภาพของธรรมที่เป็นอกุศล รู้ว่ามีอวิชชา ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นยังมีอยู่ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเจริญกุศลขั้นอื่น เช่น การให้ทาน แต่ไม่รู้ลักษณะของการเห็น ที่กำลังเห็น หรือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ยังมีอวิชชาเป็นปัจจัยอยู่ ขณะที่รักษาศีล วิรัติทุจริต แต่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนที่กำลังวิรัติทุจริตในขณะนั้น ยังมีอวิชชาอยู่ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นความไม่รู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง รู้ว่าอวิชชาเป็นสภาพธรรมที่ปกปิด ไม่ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ต่อเมื่อใดสติเกิดขึ้นศึกษา ซึ่งเป็นการเริ่มรู้ เพราะเหตุว่าความรู้ทั้งหลายย่อมมาจากการศึกษาไตรสิกขา คือ ศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา ไม่ใช่เป็นเรื่องซึ่งไม่ปฏิบัติ อ่านแล้วเข้าใจ แต่เป็นเรื่องซึ่งจะต้องอบรมให้เกิดขึ้น การอบรมให้เกิด คือการศึกษาลักษณะของสภาพธรรมเพื่อให้เกิดความรู้ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดขึ้น ขณะที่กำลังศึกษา ขณะนั้นเป็นการเริ่มรู้ของปัญญา ปัญญาคือธรรมซึ่งสามารถรู้แจ้งชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่การรู้แจ้งชัดจะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีการศึกษาเสียก่อน เพราะฉะนั้น บางท่านอาจจะคิดว่า การศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏอาจจะไม่ใช่ปัญญา แต่ความจริงถ้าขณะนั้นไม่ใช่การศึกษา จะไม่ใช่การเริ่มรู้ เพราะฉะนั้น ขณะที่สติเกิด แล้วก็มีการศึกษา คือ สังเกต สำเหนียก รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ คือ สภาพรู้ก็เป็นเพียงสภาพรู้ สิ่งที่ปรากฏก็เป็นลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ การศึกษาอย่างนี้ คือ ปัญญาที่เกิดขึ้นเริ่มรู้โดยศึกษาสภาพธรรมที่ปรากฏ
ในคราวก่อนเป็นเรื่องราวของคนเทียมมิตร ๔ จำพวก คือ คนที่ไม่ใช่มิตร แต่เป็นคนเทียมมิตร คือ คนที่นำของๆ เพื่อนไปถ่ายเดียว หรือคนปอกลอก ๑ คนดีแต่พูด ๑ คนหัวประจบ ๑ คนชักชวนในทางพินาศ ๑ ท่านพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร
เรื่องมิตรเป็นเรื่องสำคัญนะคะ ในชีวิต เพราะเหตุว่าในสังสารวัฏฏ์ที่จะบรรลุถึงมรรคผลนิพพาน ถึงความเป็นพระอรหันต์ผู้ดับกิเลส ซึ่งจะต้องไม่มีการเกิดอีกต่อไปนั้น แม้ในชาติสุดท้ายก็จะปราศจากมิตรไม่ได้
เพราะฉะนั้น เรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่ควรจะได้ทราบว่า มิตรเป็นผู้ที่มีความสำคัญ เป็นมิตรที่ดี เป็นกัลยาณมิตร หรือเป็นมิตรที่เป็นคนเทียมมิตร แต่ไม่ใช่มิตร พร้อมกันนั้นผู้ที่อบรมปัญญาที่จะดับกิเลส ก็จะต้องทราบด้วยว่า แม้ตัวท่านเองก็เป็นมิตรในลักษณะหนึ่งลักษณะใด แล้วแต่ว่ากิเลสที่มีนั้นจะทำให้ท่านเป็นคนเทียมมิตร ในบางกาล ในบางโอกาส หรือว่าในอดีต แต่ส่วนมากของผู้ที่อบรมปัญญาย่อมเป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลส แล้วก็เป็นผู้ที่อบรมคุณความดี เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นมิตรที่เป็นมิตรแท้ แต่ไม่ใช่คนเทียมมิตร แต่กิเลสก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมากนะคะ แล้วก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อนลึกซึ้งมาก ถ้าไม่พิจารณาข้อความโดยละเอียดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของมิตรต่างๆ บางท่านอาจจะไม่ทราบว่า กิเลสที่ท่านสะสมมาในบางครั้งบางขณะ หรือว่าในบางเหตุการณ์ อาจจะเกิดขึ้นในขณะนั้น แล้วก็ทำให้ท่านยังคงมีลักษณะของคนเทียมมิตรบางประการได้
ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงธรรมของผู้ที่ยังเป็นคฤหัสถ์ ซึ่งมิตรเป็นส่วนสำคัญมาก
ข้อ ๑๘๙ ได้กล่าวถึงลักษณะของคนเทียมมิตรประเภทหัวประจบ มีข้อความว่า
ดูกรคฤหบดีบุตร คนหัวประจบ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถานเดียว
มีใครไม่ชอบคนประจบบ้างไหมคะ รู้หรือเปล่าว่า ถูกประจบในบางครั้ง หรือรู้หรือเปล่าว่าในบางครั้งก็เป็นการประจบนิดๆ หน่อยๆ กับมิตรสหายของท่านที่ละเอียดมาก ที่จะต้องศึกษา และเป็นคนที่ตรงจริงๆ ที่จะระลึกได้ว่า ในขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรืออกุศลประการใด
ลักษณะของคนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ
ตามใจเพื่อนให้ทำความชั่ว [จะทำชั่วก็คล้อยตาม] ๑ ตามใจเพื่อนให้ทำความดี [จะทำดีก็คล้อยตาม] ๑ ต่อหน้าสรรเสริญ ๑ ลับหลังนินทา ๑
ดูกรคฤหบดีบุตร คนหัวประจบ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ
ถาม อยากจะให้อาจารย์อธิบายขยายความที่ว่า การทำดีก็ตามใจเพื่อนที่ทำดี ก็ยังเห็นหัวประจบ ขออาจารย์ช่วยอธิบายขยายความตรงนี้หน่อย
ท่านอาจารย์ ความดีมีหลายอย่างนะคะ แล้วก็ถ้าทำตามสมควร พอเหมาะ พอดี ก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ แต่ถ้าทำจนอาจจะทำให้เกิดความทุกข์ยาก หรือความเดือดร้อนขึ้นภายหลัง โดยที่ขาดความรอบคอบ อันนั้นก็ไม่เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้อย่างบางท่านจะกระทำบุญกุศล อาจจะมากไป หรือน้อยไป เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าใครเป็นผู้พิจารณาในเหตุผล ในประโยชน์ที่แท้จริง ซึ่งไม่มีการเสียประโยชน์เลย และแนะนำมิตรในสิ่งที่ควร คือ ในความพอดี ก็ย่อมจะได้รับประโยชน์เต็มที่ ไม่ทำให้เดือดร้อนในภายหลังได้ แต่ลักษณะของคนหัวประจบนั้นก็ไม่มีการขัดข้องเลย ไม่ว่าจะกระทำสิ่งใดทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าให้ตนเองเป็นที่รัก ที่พอใจของเพื่อน โดยที่ไม่ให้เหตุผล หรือไม่เตือน ไม่ท้วงติงในสิ่งที่เหมาะที่ควร
การฟังธรรมเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีคะ ดี การฟังธรรมมีมากนะคะ ถูกบ้าง ผิดบ้างก็มี ถ้าฟังธรรมที่ผิดๆ ดีไหม ควรที่จะทักท้วงหรือจะให้ฟัง เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา แม้แต่ในเรื่องที่คิดว่า เป็นเรื่องดี หรือเป็นเรื่องของการทำความดีแล้ว ก็จะต้องอาศัยการ พิจารณาให้ได้เหตุผล เพื่อที่จะได้ประโยชน์เต็มที่ เพราะเหตุว่าการฟังที่ไม่ถูก การฟังโดยไม่พิจารณาในเหตุผล ย่อมทำให้เข้าใจธรรมผิด และทำให้ยึดธรรมที่ผิดนั้นเป็นธรรมที่ถูกก็ได้
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของคนเทียมมิตรประเภทที่ ๔ มีข้อความว่า
[๑๙๐] ดูกรคฤหบดีบุตร คนชักชวนในทางพินาศ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ ชักชวนให้ดื่มน้ำเมา คือ สุรา และเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑ ชักชวนให้เที่ยวตามตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืน ๑ ชักชวนให้เที่ยวดูการมหรสพ ๑ ชักชวนให้เล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑
ดูกรคฤหบดีบุตร คนชักชวนในทางพินาศ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตรเป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ
ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ น่าสนุกไหมคะ มีเพื่อนอย่างนี้ คือ ชักชวนให้ดื่มน้ำเมา ในวงสังคมต่างๆ รู้สึกว่าเป็นเรื่องขาดไม่ได้ หรือว่าเป็นเรื่องนำมาซึ่งความเบิกบานใจ สนุกสนานรื่นเริง เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ท่านจะพิจารณาได้ว่า ใครจะเป็นคนเทียมมิตร หรือว่าใครจะเป็นมิตรแท้ ชักชวนให้เที่ยวตามตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืน ๑ ชักชวนให้เที่ยวดูการมหรสพ ๑ ชักชวนให้เล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑
ถาม ในพระไตรปิฎกก็พูดแต่ว่าถูกชักชวน ก็ให้รู้ว่าคนที่มาชักชวนนั้นน่ะไม่ใช่มิตร ผมก็เลยสงสัยว่า ถ้าเราไปชักชวนเขาล่ะ ก็เป็นไปได้นี่ครับ ถ้าเราชอบดื่มสุรา เราก็ไปชวนเพื่อน เราชอบเที่ยวในตรอก เราก็ไปชวนเพื่อน เราชอบดูมหรสพ เราก็ไปชวนเพื่อน อยากจะถามว่าเราเป็นมิตรแท้หรือไม่
ท่านอาจารย์ ไม่มีข้อข้องใจ เราหรือเขาเหมือนกันทั้งนั้น แต่ข้อสำคัญก็คือว่า ถ้าไม่พิจารณาธรรม จะไม่เห็นสภาพตามความเป็นจริงของชีวิตประจำวันของแต่ละคน เริ่มตั้งแต่ยังมีกิเลส ยังมีกิเลสมาก หนาแน่น เหนียวแน่น จนกระทั่งค่อยๆ ละคลาย แล้วก็เป็นผู้ที่มีกิเลสเบาบางลงไป ลักษณะต้องต่างกัน
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคไม่ใช่ว่าไม่ทรงทราบถึงอัธยาศัยของผู้ที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ แต่ทรงแสดงทางเสื่อมหรือทางพินาศ ถ้าเป็นการมัวเมาในสิ่งนั้นๆ แม้แต่ในเรื่องการดื่มสุรา ผู้ที่ละได้เป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย ไม่มีเจตนาที่จะดื่มอีกเลย ต้องเป็นพระโสดาบันบุคคล แต่ว่าแม้ว่ายังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล ก็ไม่ควรที่จะปล่อยตัวมัวเมาจนกระทั่งติด จนกระทั่งให้โทษแก่ร่างกายหรือว่าแก่ทรัพย์สมบัติ แต่ถ้าเป็นการกระทำตามวิสัยของผู้ที่ยังมีกิเลส ที่จะต้องคบหาสมาคมกับมิตรสหายในบางกาลก็เป็นสิ่งที่กระทำได้ เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล นี่เป็นเรื่องที่จะต้องคิดค่ะ สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร แล้วก็ไม่ใช่ฝืน เพราะฝืนไม่ได้ ไม่มีอัตตาที่จะไปบังคับได้ แต่มีการอบรมปัญญาที่จะละคลาย จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท แม้แต่ในการดูมหรสพ ไม่มีใครที่ไม่ดู ใช่ไหมคะ แล้วก็ตามความเป็นจริง พระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล ท่านก็ยังดู แต่ว่าไม่ใช่มัวเมา ในทางที่เสื่อมจากศีลธรรม
สำหรับผู้ที่ชักชวนในทางพินาศหรือในทางเสื่อม ก็ควรจะคิดรวมไปถึงในทางที่จะให้กระทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ ด้วย ซึ่งได้แก่ ปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ ทางกาย ถ้ามีเพื่อนที่ชักชวนให้กระทำอย่างนี้ ก็เป็นคนเทียมมิตร เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียงแต่จะให้เป็นอกุศลจิตตามวิสัยของผู้ที่ยังมีกิเลส แต่ถึงกับให้กระทำกรรม คือ การฆ่าสิ่งที่มีชีวิต หรือการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ซึ่งแม้แต่ในหน้าที่ราชการ หรือให้ทางส่วนตัว ก็อาจจะมีมิตรสหายในวงการงานชักชวนได้
นี่ก็จะมองเห็นได้ว่า ผู้มั่นคงในศีลธรรมก็จะไม่ปล่อยให้ถูกชักจูงไปในเรื่องถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ เพราะเหตุว่าจะต้องหมายความรวมไปถึงทุกอย่างที่เจ้าของไม่ได้ให้ แม้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย
นอกจากนั้นถ้าบุคคลใดมักชักชวนให้มุสา พูดสิ่งที่ไม่จริง ซึ่งแม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ ก็เป็นเรื่องที่จะพิจารณาให้ทราบได้ว่า ผู้นั้นเป็นคนเทียมมิตร หรือว่าเป็นมิตรแท้ เพราะเหตุว่าบางท่านไม่เห็นโทษเลยของการมุสา คิดว่าเป็นเรื่องเล็ก แล้วก็ยังชวนกันให้มุสาด้วยนิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ โดยที่ไม่เห็นว่าเป็นอกุศล เป็นโทษ เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตามที่เป็นอกุศลที่จะทำไปทีละเล็กทีละน้อย ก็จะเห็นได้ว่า จะทำให้ติดนิสัย และสามารถจะมุสาในเรื่องที่ใหญ่ได้ ซึ่งก็คงจะเริ่มตั้งแต่เด็ก ในวัยเด็กมีใครบ้างที่ไม่เคยมุสา เพราะเหตุว่าเด็กย่อมมีความกลัว เพราะฉะนั้น ความกลัวแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยของเด็ก ก็เป็นปัจจัยให้เด็กนั้นพูดสิ่งที่ไม่จริงได้ แต่ถ้าโตขึ้น และไม่มีการอบรมตัวเอง ไม่มีการเห็นโทษว่า เป็นอกุศล เรื่องเล็กก็จะเพิ่มเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้น และอาจจะทำให้ผู้นั้นเป็นผู้ที่ติดนิสัยที่จะมุสาไปจนตลอดชีวิตก็ได้ โดยที่ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เพราะเหตุว่าบางคนมุสาได้ทุกเรื่องจริงๆ โดยไม่จำเป็น อาจจะต้องการลาภ หรือยศ หรือสรรเสริญ หรือแม้ความจริงไม่ได้ทำความดีอะไร ก็ยังมุสาว่ากระทำได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่ทำให้เห็นว่า อำนาจของกิเลสอกุศลมีกำลัง จนกระทั่งสามารถที่จะทำอกุศลกรรมได้ แม้ว่าไม่มีความจำเป็นประการใด แต่เมื่อกิเลสมีกำลังแรง ก็ทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ที่กระทำอกุศลกรรม และนอกจากนั้นก็ยังชักชวนให้บุคคลอื่นกระทำด้วย
สำหรับอกุศลกรรมทางวาจา นอกจากมุสาวาท ก็มีปิสุนาวาท ผรุสวาท สัมผัปปลาปวาท ซึ่งแต่ละท่านต้องเป็นผู้ละเอียดจริงๆ นอกจากจะศึกษาตัวของท่านเอง ก็จะต้องศึกษาบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ด้วยว่า เป็นบุคคลประเภทใด ท่านจะชักชวนเขาให้เป็นผู้เบาบางจากอกุศล หรือว่าท่านจะพลอยตามเขาไป โดยที่เป็นอกุศลร่วมกัน นั่นก็แล้วแต่การสะสมของแต่ละท่าน
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๑๙๑] บัณฑิตรู้แจ้งมิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรปอกลอก ๑ มิตรดีแต่พูด ๑ มิตรหัวประจบ ๑ มิตรชักชวนในทางพินาศ ๑ ว่าไม่ใช่มิตรแท้ ดังนี้แล้ว พึงเว้นเสียให้ห่างไกล เหมือนคนเดินทางเว้นทางที่มีภัย ฉะนั้น ฯ
นอกจากที่จะเว้นคบคนเทียมมิตรในลักษณะต่างๆ เหล่านี้แล้ว ท่านก็ยังจะต้องเว้นที่จะไม่ให้กิเลสที่ยังมีอยู่ในจิตใจของท่านทำให้ท่านเป็นบุคคลประเภทคนเทียมมิตร ในบางกาล หรือในบางเหตุการณ์ด้วย
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของมิตรแท้ว่า มี ๔ จำพวก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
[๑๙๒] ดูกรคฤหบดีบุตร มิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรมีอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ มิตรแนะประโยชน์ ๑ มิตรมีความรักใคร่ ๑ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรมีใจดี เป็นมิตรแท้ ฯ
สำหรับความหมายของมิตร ข้อความในอรรถกถามีว่า
ผู้ที่เดินทางร่วมกันตั้งแต่ ๗ ก้าวขึ้นไป เรียกว่า “มิตร” ผู้ที่เดินทางด้วยกันตั้งแต่ ๑๒ ก้าวขึ้นไป เรียกว่า “สหาย” ผู้ที่เยี่ยมกันครึ่งเดือนต่อครั้งหรือเดือนละครั้ง เรียกว่า “ญาติ” ผู้ที่ร่วมสุขร่วมทุกข์ดีกว่ามิตร สหาย และญาติ
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะย่อยของมิตรแท้ ๔ จำพวกนี้ ซึ่งมีข้อความว่า
ว่าด้วยมิตรแท้
[๑๙๓] ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ คือ รักษาเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑ รักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑ เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้ ๑ เมื่อกิจที่จำต้องทำเกิดขึ้นเพิ่มทรัพย์ให้สองเท่า คือ เมื่อมีธุระช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก ๑
ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ
มิตรย่อมเป็นผู้ช่วยเหลือเกื้อกูลอุปการะกัน เพราะฉะนั้น ลักษณะของผู้ใดจะเป็นผู้ที่จะอุปการะเกื้อกูลเพื่อนได้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า รักษาเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑
ทุกท่านย่อมมีเวลาเผลอสติ ผิดบ้าง พลั้งบ้าง พลาดบ้าง ใครจะช่วยที่จะเตือน หรือจะบอก จะป้องกัน ในขณะที่ท่านอาจจะผิดไป พลั้งไป พลาดไป เผลอไป ผู้ที่กระทำอย่างนั้น คือ มิตรผู้ที่มีอุปการะ ไม่ว่าจะในเรื่องการงาน หรือว่าในเรื่องส่วนตัว หรือว่าในเรื่อความคิดเห็น หรือว่าในขณะที่มีภัยต่างๆ
นอกจากนั้นก็รักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว สำหรับพระธรรมที่เกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ส่วนมาก ก็จะมีเรื่องของทรัพย์ เรื่องของสมบัติเป็นส่วนมาก เพราะเหตุว่าชีวิตของคฤหัสถ์นั้นย่อมเป็นที่จะต้องมีชีวิตดำเนินไปอยู่ได้ด้วยทรัพย์
เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้ ซึ่งอาจจะให้กำลังใจ ปลอบใจหรือว่าช่วยเหลือ ในขณะที่เพื่อนต้องการความช่วยเหลือ
เมื่อมีกิจที่จำต้องทำเกิดขึ้น เพิ่มทรัพย์ให้ ๒ เท่า คือ เมื่อมีธุระช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก
นี่ก็เป็นเรื่องของเงินทอง ทรัพย์ ซึ่งอาจจะมีการขาดเหลือ หรือว่ามีการที่จะต้องใช้ในธุรกิจ ซึ่งผู้ที่เป็นมิตรซึ่งมีอุปการะ ถ้าเพื่อนต้องการช่วยเหลือ ไม่ใช่ปฏิเสธ และไม่ใช่เพียงแต่ช่วยอย่างเสียไม่ได้ แต่ว่ามีความเต็มใจที่จะให้ทรัพย์เกินกว่าที่ออกปากด้วย มิตรมีอุปการะ ท่านพึงทราบว่า เป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 01
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 02
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 03
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 04
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 05
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 06
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 07
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 08
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 09
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 10
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 11
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 12
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 13
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 14
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 15
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 16
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 17
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 18
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 19
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 20
- สมถภาวนา ตอนที่ 01
- สมถภาวนา ตอนที่ 02
- สมถภาวนา ตอนที่ 03
- สมถภาวนา ตอนที่ 04
- สมถภาวนา ตอนที่ 05
- สมถภาวนา ตอนที่ 06
- สมถภาวนา ตอนที่ 07
- สมถภาวนา ตอนที่ 08
- สมถภาวนา ตอนที่ 09
- สมถภาวนา ตอนที่ 10
- สมถภาวนา ตอนที่ 11
- สมถภาวนา ตอนที่ 12
- สมถภาวนา ตอนที่ 13
- สมถภาวนา ตอนที่ 14
- สมถภาวนา ตอนที่ 15
- สมถภาวนา ตอนที่ 16
- สมถภาวนา ตอนที่ 17
- สมถภาวนา ตอนที่ 18
- สมถภาวนา ตอนที่ 19
- สมถภาวนา ตอนที่ 20