วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 07


    มิตรมีอุปการะ ท่านพึงทราบว่า เป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้

    พระธรรมทั้งหมด ถ้าคิดพิจารณาจะมีแง่มุมต่างๆ ละเอียดมากทีเดียว แต่ส่วนมากในพระสูตรนี้เป็นเรื่องที่ปรากฏทั่วไป ซึ่งไม่ยากแก่การที่จะพิจารณา

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสถึงมิตรแท้อีกประเภทหนึ่ง มีข้อความว่า

    [๑๙๔] ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ คือ

    เพราะเหตุว่าจะเป็นมิตรแท้ด้วยกัน แต่ก็มีลักษณะต่างกัน บางท่านเป็นผู้ที่อุปการะ ถ้ามีภัย มีธุระ ขอความช่วยเหลือได้ทันที เป็นผู้ที่มีอุปการะจริงๆ แต่ไม่สนิทสนม ไม่คุ้นเคย ไม่ใช่มิตรที่ร่วมสุขร่วมทุกข์ แต่บางท่านนั้นเป็นมิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ คือ บอกความลับ ของตนแก่เพื่อน ๑ ปิดความลับของเพื่อน ๑ ไม่ละทิ้งในเหตุอันตราย ๑ แม้ชีวิตก็อาจสละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ ๑

    ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ

    ถาม ที่อาจารย์พูดมาน่าชื่นชมมากที่สุด แต่ผมอยากจะถามว่า หาได้ที่ไหน เท่าที่ผมเกิดมายังไม่เคยเจอมิตรประเภทนี้เลย บางครั้งไปช่วยคนอื่น ก็ยังโดนเขาสับเอาเลย แทบแย่เหมือนกัน กลายเป็นเขามีความสามารถต้มเราต่างหาก เราเป็นมิตรแท้ของเขา แต่เขาคิดไปอีกแง่หนึ่ง พูดยากลำบาก

    ท่านอาจารย์ หาที่คนอื่นไม่ได้ แต่หาที่ตัวเองได้ โดยการที่เป็นมิตรแท้ของคนอื่น ก็ยังน่าชื่นชมยินดีแล้วนี่คะ คือถึงแม้คนอื่นจะไม่ใช่มิตรแท้ของท่าน แต่ก็ไม่ทำให้หมดกำลังใจที่ตัวท่านเป็นมิตรแท้สำหรับคนอื่น ก็ยังหาได้คนหนึ่งล่ะค่ะ คือตัวของท่านเอง เป็นมิตรแท้สำหรับคนอื่นก็ยังดี แต่สักวันหนึ่งหรือต่อๆ ไป เมื่อกระทำความดีมากขึ้นๆ ผลของความดีนั้นย่อมจะทำให้มิตรแท้ประเภทต่างๆ มากขึ้น เพราะขณะใดที่ได้พบกับมิตรเทียม หรือว่าคนเทียมมิตร ก็ให้ทราบว่านั่นเป็นผลของอกุศลกรรม ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ว่าผลของกุศล เมื่อให้ผลในขณะใด ก็ทำให้ได้มีเพื่อนแท้ คือ ผู้ที่เป็นมิตรที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขบ้าง หรือว่ามิตรมีอุปการะบ้าง เป็นผลของกุศลค่ะ ถ้าได้มิตรอย่างนั้น เพราะฉะนั้น คนที่มีกุศลมาก จะเห็นได้ว่า เขาช่างมีมิตรดีทั้งนั้นเลย ส่วนคนที่มีผลของอกุศล ปรากฏว่าถึงจะมีเพื่อนมากก็จริง แต่ว่าเป็นคนเทียมมิตรเสียมาก

    ผู้ฟัง พูดยากนะ สมมติว่าเรานี้เป็นมิตรแท้ของเขานะ แต่เขากลับไม่รู้ว่าเราเป็นมิตรแท้ กลับมาว่าเราว่าเรานี่ชั่ว อย่างเช่นเพื่อนมีอยู่คนหนึ่ง ก่อนจะไปติดคุกผมก็ได้เตือนแล้ว บอกว่าลักษณะนี้ไม่ควรทำ เพื่อนบอกว่าเพื่อนแค่นี้ไม่ควรคบ แต่เขากลับว่าผมเป็นคนไม่ยอมเข้าสังคม

    เลย หาความเจริญยาก อันนี้เราเป็นมิตรแท้ แต่เขาเป็นมิตรอะไรกับเรา เปล่าเลยไม่ได้เห็นความเป็นมิตรแท้ของเราเลย

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นผลของกรรมไงคะ ถ้าทำความดีต่อไปอีกเรื่อยๆ เวลามีธุรกิจเดือดร้อน มีความจำเป็นก็จะต้องมีมิตรแท้แน่นอนที่ให้ความช่วยเหลือ เวลาที่เป็นผลของกุศล

    ผู้ฟัง เรื่องมันต่อไปทีนี้ว่า เรื่องลูกเมียเขา ผมก็พอช่วยเหลือได้บ้าง แต่ก็ไม่มากเท่าที่ควร ผมถามเขาว่าอยู่ในตะรางมีใครมาเยี่ยมบ้างหรือเปล่า พรรคพวกที่เคยไปกินเหล้ากันสนุก ไม่มีใครมา น้อยมากเหลือเกิน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า คนเทียมมิตรมีมากกว่ามิตรแท้ เพราะเหตุว่าอกุศลย่อมมีมากกว่ากุศล ถ้าทุกท่านอบรมเจริญกุศลมากขึ้นนะคะ ก็จะมีมิตรแท้มากกว่าคนเทียมมิตร เพราะฉะนั้น ก็ช่วยกันศึกษาพระธรรมให้มากขึ้น และชักชวนชี้แจงให้เห็นโทษของอกุศลกรรม แล้วก็เจริญกุศลกรรม แล้วต่างคนก็จะมีมิตรแท้เพิ่มขึ้น

    สำหรับเรื่องของความลับ มีกันทุกคนหรือเปล่าคะ มี เพราะฉะนั้น เคยบอกความลับกับเพื่อนบ้างไหมคะ หรือเก็บไว้สนิท ไม่บอกใครเลย อายเขา เพราะฉะนั้น ที่ว่าท่านพึงทราบว่ามิตรแท้โดยสถาน ๔ คือ บอกความลับของตนแก่เพื่อน

    สิ่งที่เป็นความลับนี้ หมายถึงเรื่องที่ท่านคิดว่า ควรปกปิด หรือว่าควรอับอาย ซึ่งจะเกี่ยวกับประเพณี หรือธรรมเนียมของโลก หรือธรรมเนียมประเพณีของโลก หรือจะเกี่ยวกับการเสียชื่อเสียงในสิ่งที่ได้กระทำไปก็เป็นได้ หรือว่าบางครั้งความลับนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอุบาย เรื่องที่ยังไม่ควรเปิดเผย หมายความว่า เป็นสิ่งที่ดำเนินงานนั้นให้สำเร็จ โดยที่ว่าถ้าเปิดเผยแล้ว ก็อาจจะยังไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ควรจะทราบว่าใครเป็นมิตรแท้ หรือผู้ที่ท่านเลือกแล้วว่าเป็นมิตรแท้ของท่าน คือ ผู้ที่บอกความลับของท่านแก่เพื่อนคนนั้น โดยที่ท่านพิจารณาเห็นว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ที่บอกความลับได้

    เรื่องของความลับที่จะบอกใครนี่นะคะ ขอกล่าวถึงเมื่อครั้งพระผู้มีพระภาคเสวยพระชาติเป็นมโหสถ ซึ่งในครั้งนั้นพระเจ้าแผ่นดินได้ตรัสถามนักปราชญ์ทั้ง ๕ ว่า ควรไว้ใจ หรือควรที่จะบอกหรือเปิดเผยความลับแก่ใคร เสนกะก็ได้กราบทูลขอให้พระเจ้าวิเทหราชแสดงความเห็นของพระองค์ก่อน แล้วอำมาตย์ทั้งหลายจะได้ทูลเหตุผลของตนต่อภายหลัง

    ซึ่งพระเจ้าวิเทหราชก็ได้ตรัสว่า ควรบอกความลับที่ควรติเตียนหรือควรสรรเสริญแก่ภรรยาที่ดี มีศีลาจารวัตรดี คือคงจะไม่มีใครเป็นที่ไว้ใจได้ยิ่งกว่าภรรยาที่ดี นี่เป็นความเห็นของพระเจ้าวิเทหราช

    อำมาตย์ผู้หนึ่ง คือ อำมาตย์เสนกะก็ได้กราบทูลว่า สหายใดเป็นที่พึ่งพาอาศัยในเวลาทุกข์ร้อน บุคคลควรเปิดเผยความลับที่ควรติเตียนหรือควรสรรเสริญแก่สหายนั้น

    บางท่านอาจจะคิดว่า ภรรยาก็ยังไม่เสมอกับเพื่อนที่พึ่งพาอาศัยได้ในเวลาทุกข์ร้อน เพราะฉะนั้น ถ้ามีความลับก็ควรที่จะเปิดเผยความลับนั้นแก่สหายเช่นนั้นได้

    ปุกุสะได้กราบทูลว่า พี่ชาย น้องชายคนใด เป็นคนมีศีล บุคคลควรเปิดเผยความลับที่ควรติเตียนหรือควรสรรเสริญแก่พี่ชาย น้องชายคนนั้น

    กาวินทะกราบทูลว่า บุตรคนใดทำตามบิดา มีปัญญา ไม่เลวกว่าบิดา บิดาควรเปิดเผยความลับที่ควรติเตียนหรือควรสรรเสริญแก่บุตรนั้น

    เพราะบุตรย่อมเคารพมารดาบิดาเสมอชีวิต หรือยิ่งกว่าชีวิตในฐานะที่เป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้ที่มีคุณสูงสุดในชาตินั้นๆ ทีเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าบุตรคนใดทำตามใจบิดา และเป็นผู้ที่มีปัญญา ไม่เลวกว่าบิดา ถ้าเป็นบุตรที่โง่ ก็จะไปเปิดเผยความลับนั้น หรือทำให้ได้รับความเสียหายขึ้นได้ แต่ถ้าบุตรนั้นเป็นผู้มีปัญญา ไม่เลวกว่าบิดา บิดาควรเปิดเผยความลับที่ควรติเตียนหรือควรสรรเสริญแก่บุตรนั้น

    เทวินทะกราบทูลว่า มารดาคนใดเลี้ยงดูบุตรด้วยความรักใคร่พอใจ บุตรควรเปิดเผยความลับที่ควรติเตียนหรือควรสรรเสริญแก่มารดาคนนั้น

    เพราะเหตุว่าคงจะไม่มีใครเป็นที่พึ่ง เป็นที่รัก เป็นที่ไว้ใจของบุตรยิ่งกว่ามารดาผู้ให้กำเนิดบุตร

    มโหสถกราบทูลว่า การปิดความลับไว้เป็นการดี การเปิดเผยความลับเป็นความไม่ดี ผู้มีปัญญาย่อมปิดความลับไว้ จนกว่าจะได้ทำให้สำเร็จไป จึงเปิดเผยต่อมาภายหลัง ดังนี้

    เพราะฉะนั้น ถ้าชื่อว่าเป็นความลับ ก็ควรที่จะเก็บเป็นความลับจริงๆ จึงจะชื่อว่าเป็นความลับ แต่ว่าเก็บได้ไหมคะ บางคนเก็บไม่ได้ เพราะฉะนั้น ควรจะคำนึงถึงประโยชน์ ถ้าเก็บไว้ไม่ได้จะเกิดโทษ หรือเกิดความเสียหายประการใดบ้าง เพราะเหตุว่าโดยมากเรื่องของความลับนั้น มักจะเป็นเรื่องที่ควรติเตียนหรือควรสรรเสริญ แล้วแต่เรื่อง ถ้าพูดถึงเรื่องที่ควรติเตียน เพื่ออะไร ถ้าเพียงพูดความลับของคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เสื่อมเสีย หรือว่าเป็นที่อับอายของบุคคลนั้น เพื่อประโยชน์อะไร ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์หรือเปล่า ถ้าเป็นความลับของคนอื่นก็ไม่ใช่เรื่องที่มีประโยชน์สำหรับคนอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่บุคคลนั้นจะพูดถึงเลย เพราะเหตุว่าไม่ทำให้เกิดประโยชน์อะไรขึ้น นอกจากว่าทำให้จิตใจของคนที่ได้รับฟังเป็นอกุศล อาจจะปราศจากความเห็นใจ ปราศจากความเข้าใจ แล้วก็ติเตียนบุคคลอื่น โดยที่ไม่พิจารณาเห็นว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น เรื่องทั้งหมดก็ควรจะพิจารณาว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งซึ่งไม่ควรเปิดเผย เป็นสิ่งที่ควรจะเก็บไว้เป็นความลับ เพราะเหตุว่าจะทำให้บุคคลอื่นเสียหาย แต่ถ้ารู้สึกว่าความลับของบุคคลอื่นสำคัญเหลือเกิน ถือว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่สำคัญมาก ไม่อาจทำให้ท่านเก็บความลับนั้นได้ แต่ถ้าไม่สนใจเสีย ไม่คิดว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด อกุศลกรรมอย่างไรก็ตามก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่สะสมมา เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นอย่างไรก็เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น ก็จะทำให้ท่านเป็นผู้ที่ไม่สนใจในความลับนั้น แล้วก็จะทำให้ไม่คิดที่จะเปิดเผยความลับของคนอื่นด้วย แล้วก็จะทำให้ท่านเลือกเฟ้นแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ แล้วก็พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เท่านั้น ถ้าพูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นที่สรรเสริญ ก็ไม่เป็นความลับสำหรับใคร เพราะเหตุว่าความลับก็มักจะเป็นเรื่องที่เสื่อมเสีย เป็นเรื่องที่ควรปกปิด

    มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ คือ บอกความลับของตนแก่เพื่อน ๑ ปิดความลับของเพื่อน ๑ ไม่ละทิ้งในเหตุอันตราย ๑ แม้ชีวิตก็อาจสละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ ๑

    สำหรับไม่ละทิ้งในเหตุอันตราย นอกจากในขณะที่มีภัย มีทุกข์ร้อน ก็รวมถึงในขณะที่มีกิเลส หรือว่ามีความเห็นผิด มีความประพฤติผิดทางหนึ่งทางใดด้วย เพราะเหตุว่านั่นก็เป็นอันตรายของชีวิตประการหนึ่ง

    สำหรับข้อที่ว่า แม้ชีวิตก็อาจสละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ ไม่มีใครสงสัยหรือคะ พร้อมที่จะสละชีวิตเพื่อเพื่อนหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง เพื่อนจะสละชีวิตในเมืองไทยจะหาได้สักกี่คน ยาก

    ท่านอาจารย์ ชีวิตเป็นที่รัก และชีวิตที่มีประโยชน์ก็ควรที่จะถนอมไว้ให้ดำรงอยู่ได้นานๆ เพื่อประโยชน์ โดยเฉพาะคือการสะสมบุญกุศล และการขัดเกลากิเลส ไม่ใช่หมายความว่าจะสละทิ้งชีวิตนั้นโดยง่าย โดยไม่รอบคอบ หมายความว่า ไม่ใช่กลัวเสียจนกระทั่งไม่ยอมช่วยเหลือใคร โดยที่ว่าเห็นแก่ชีวิตของตนเองเป็นสำคัญกว่าชีวิตของคนอื่น

    นี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากระทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เสมอทีเดียว แล้วแต่ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ที่สุด ก็กระทำสิ่งนั้น แต่ไม่ใช่ว่าให้สละโดยง่าย โดยไม่รอบคอบ เพียงเพื่อบุคคลซึ่งอาจจะได้ประโยชน์น้อยกว่า เพราะฉะนั้น การที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่น ก็ไม่ควรที่จะเพ่งเล็งถึงว่า เห็นแต่กับประโยชน์ของชีวิตของท่านเองเท่านั้น แต่ให้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ ทั้ง ๒ ฝ่าย

    ผู้ฟัง การที่เสียสละชีวิตให้กับเพื่อน ก็แล้วแต่บุคคลครับ คนที่เสียสละง่ายๆ แม้ไม่ใช่เพื่อนก็ยังสละได้ ก็ขึ้นอยู่กับบุคคลคนนั้น เช่นเมื่อครั้งพระผู้มีพระภาคยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ท่านสละชีวิตของท่านไม่รู้ว่าเท่าไร แม้กระทั่งเห็นเสืออยู่ในเหว เห็นว่ากำลังหิว เดี๋ยวจะกัดกินลูกของมัน ท่านมาพิจารณาตัวท่านว่า ตัวท่านไม่มีประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้น ร่างกายนี้ท่านเสียสละให้เสือกินเสีย ท่านก็สละเพื่อโพธิญาณของท่าน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพื่อนหรือเพื่อนมนุษย์อะไร ท่านก็เสียสละได้ เพราะฉะนั้น การที่จะเสียสละชีวิตก็ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นที่อบรมมาเรื่องของทานมามาก ก็จะเสียสละได้ง่ายๆ ไม่ใช่จะยากนักหรอก

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ กี่คนที่จะเป็นอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะเหตุว่าการเสียสละของผู้ที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัม

    พุทธเจ้านั้นต้องเป็นบารมีที่ยิ่งใหญ่ ที่จะไม่บรรลุคุณธรรมเพียงพระองค์เดียว แต่ว่าจะต้องทรงประกอบถึงการบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะช่วยบุคคลอื่นให้ดับกิเลสได้เช่นเดียวกับพระองค์ด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะกระทำได้อย่างนั้น กระทำได้ตามเหตุตามผล ตามสมควรที่ได้สะสมมา

    ผู้ฟัง พระผู้มีพระภาคท่านว่ามิตรดีที่สละชีวิตเพื่อเพื่อน นี่ก็เป็นคุณธรรมอันสูง แต่ผู้ที่จะกระทำนี่ก็ยาก เท่าที่ปรากฏในพระไตรปิฎกก็มีท่านพระอานนท์เท่านั้นที่เสียชีวิตให้ช้างนาฬาคีรีชน นอกจากนั้นก็ไม่เห็นมีที่ไหน แต่พระผู้มีพระภาคท่านตรัสว่าเพื่อนที่ดีที่สูงสุด ก็ถึงต้องสละชีวิตได้ หมายความว่าอย่างนั้น แล้วอีกอย่างที่ว่าให้เสือกิน ไม่ใช่เพื่อนตัวเอง มันคนละเรื่อง

    ท่านอาจารย์ จะว่าเพื่อตัวเองโดยตรงก็ไม่ได้นะคะ เพราะเหตุว่าการเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากที่พระองค์จะดับกิเลสแล้ว ก็ยังสามารถที่จะอนุเคราะห์บุคคลอื่นโดยทางแสดงธรรมให้บุคคลเหล่านั้นสามารถที่จะปฏิบัติตาม รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ด้วย

    ถาม ที่ว่า ความลับน่ะ จะรู้ได้ขนาดไหน คนเดียวจะเป็นความลับไหม ๓ คนจะเป็นความลับไหม

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ไม่อยากจะเปิดเผย เป็นความลับทั้งนั้นค่ะ

    ผู้ฟัง คนเดียวจึงจะเป็นความลับ

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่อยากเปิดเผยให้คนอื่นรู้ ก็ต้องเป็นความลับด้วย คือสิ่งที่ไม่อยากจะเปิดเผย เป็นความลับ คือไม่ให้คนอื่นล่วงรู้

    ผู้ฟัง ก็รู้คนเดียวเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ค่ะ ถ้ามีความสนิทสนม คิดว่าคนอื่นไว้ใจเก็บไว้ได้

    ผู้ฟัง ผมเคยอ่านหนังสือ แต่จำไม่ได้เพราะมันนานแล้ว แล้วผมก็อายุมากแล้ว คือความลับจะต้องรู้เฉพาะ ๒ คน ถ้า ๓ คนก็ไม่เป็นความลับ ท่านว่าอย่างนั้นนะครับ

    ท่านอาจารย์ มีความลับที่สุดที่ยังไม่เคยบอกใครเลยหรือนี่

    ผู้ฟัง เรื่องของความลับ ผมก็เคยอ่านหนังสือเหมือนกัน เขาว่าความลับมันอยู่ที่ตัวเรา ตกไป ๔ หูละไม่ลับแล้ว มันเป็นสอง ลับมันต้องอยู่ที่เราคนเดียว ไปเปิดให้คนอื่น จะชื่อว่าลับยังไง มันเปิดแล้ว ถ้าเปิดคนอื่นมันไม่ลับแล้ว มันต้องอยู่ที่ตัวเราคนเดียว

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่มีการเปิดความลับ เพราะเหตุว่าความลับต้องไม่เปิด อย่างนั้นหรือคะ

    ถาม พูดถึงความลับ ความลับนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้ว่า ความลับไม่มีในโลก ความหมายของคำนี้หมายความว่าอย่างไร ตัวเองรู้ หรือว่าเทวดาก็รู้ด้วย อะไรอย่างนี้ ที่ว่า ความลับไม่มีในโลก หมายความว่าอะไรครับ

    ท่านอาจารย์ ที่คิดว่าลับนั่นน่ะคะ เพราะเหตุว่าไม่รู้ไม่เห็นว่าบุคคลอื่นร่วมรู้เห็นด้วย เช่น อมนุษย์ เป็นต้น เทวดาเห็นแน่ค่ะ แล้วแต่จะเป็นเรื่องลับขนาดไหน ถ้าเป็นการกระทำที่ปรากฏ ภายนอก คนอื่นก็เห็นได้ แต่ถ้าไม่ล่วงออกมาภายนอก ก็ต้องอาศัยผู้ที่รู้วาระจิตของคนอื่นได้ จึงสามารถที่จะรู้ได้

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของมิตรแท้ที่เป็นมิตรแนะนำประโยชน์

    [๑๙๕] ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรแนะประโยชน์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ คือ ห้ามจากความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑ บอกทางสวรรค์ให้ ๑

    ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรแนะประโยชน์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ

    บางท่านเป็นมิตรมีอุปการะ คอยช่วยเหลือเวลามีภัยอันตรายต่างๆ บางท่านเป็นมิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีความรักใคร่สนิทสนม พร้อมที่จะสุขด้วยทุกข์ด้วย ไม่ทอดทิ้งขณะที่มีอันตราย บางท่านก็เป็นมิตรที่แนะประโยชน์ สำหรับประโยชน์ที่นี่ก็ต้องเป็นประโยชน์ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า คือ ทั้งในชาตินี้ และในชาติหน้าด้วย

    สำหรับมิตรโดยสถาน ๔ ที่เป็นมิตรแนะประโยชน์ คือ ห้ามจากความชั่ว ๑

    พึงตักเตือนห้ามกระทำอกุศลกรรม หรือที่จะให้เป็นอกุศลจิต เพราะเหตุว่าผลของอกุศลกรรมบถที่เห็นได้มีมากเหลือเกิน ในปัจจุบันนี้ก็อาจจะเห็นได้ เช่น การต้องได้รับโทษจองจำต่างๆ ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้เป็นทำอกุศลกรรมเลย ก็จะไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ได้รับโทษจองจำต่างๆ ตามกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งก็อาจจะร้ายแรงยิ่งกว่านั้นถึงขั้นที่ถูกตัดศีรษะ หรือว่าถูกประหารชีวิตก็ได้ หรือถึงแม้ว่าจะไม่เป็นไปตามกฎหมายของบ้านเมือง แต่ก็เป็นไปตามอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้ เพราะฉะนั้น มิตรที่ดีที่แนะนำประโยชน์ก็แนะนำมิตรสหายของตน ให้เห็นโทษของอกุศลกรมซึ่งมีนานาประการ ซึ่งนอกจากจะต้องโทษถูกจองจำตามกฎหมายของบ้านเมือง หรือว่าตามกรรมของตน มีการถูกตัดศีรษะหรือประหารชีวิต ก็อาจจะมีทุกข์เวทนา ซึ่งเกิดจากโรคต่างๆ โรคภัยต่างๆ ที่ปรากฏก็มากมายเหลือเกิน ถ้าไม่เกิดกับท่านหรือบุคคลใกล้ชิด หรือมิตรสหายของท่าน ท่านก็อาจจะลืมสภาพของทุกข์เวทนานั้นว่า เป็นทุกขเวทนาที่สาหัส และร้ายแรงจริงๆ เช่นโรคอัมพาต หรือโรคที่จะต้องเสียตา ง่อยเปลี้ยเสียขา โรคเรื้อน โรคมะเร็ง หรือโรคร้ายต่างๆ ซึ่งผู้ป่วยก็ได้รับทุกขเวทนามากทีเดียว เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏให้เห็น ซึ่งเหตุของทุกขเวทนาเหล่านั้นก็ต้องมาจากอกุศลกรรมทั้งหมด ไม่ใช่ผลของกุศลกรรม

    นอกจากนั้นถ้าเป็นผู้ที่สะสมอกุศลจิตไว้มาก ก็จะทำให้สภาพของจิตใจฟุ้งซ่านผิดปกติ เสียจริต เป็นบ้า

    นี่ก็เป็นผลของอกุศลทีละเล็กทีละน้อย ทีละนิดทีละหน่อย และเมื่อผลปรากฏขึ้น ถ้าพิจารณาถึงเหตุก็จะทราบได้ว่า เป็นผลของอกุศลทั้งสิ้น

    นอกจากเรื่องของชีวิตที่จะต้องลำบากเดือดร้อน หรือเป็นโรคภัยต่างๆ หรือฟุ้งซ่านเดือดร้อน ผลของอกุศลที่ปรากฏก็คือความพินาศของทรัพย์สมบัติ หรือการถูกทำร้ายร่างกาย ถูกริบยศออกจากตำแหน่งหน้าที่ หรือการเสื่อมเสียมัวหมอง ชื่อเสียงเกียรติยศ ถูกกล่าวตู่อย่างใหม่ หรือสิ้นญาติที่จะเป็นที่พึ่งของตนได้ นอกจากนั้นก็ยังมีภัยพิบัติต่างๆ จากไฟไหม้ น้ำท่วม หรือภัยพิบัติ ซึ่งเกิดจากสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ และตลอดจนถึงผลของอกุศลกรรมในชาติต่อไป ซึ่งพ้นจากการเป็นมนุษย์แล้ว คือทำให้เกิดในอบายภูมิได้

    เพราะฉะนั้น มิตรที่แนะนำประโยชน์ ก็จะคอยชี้คอยเตือนในสภาพของจิตใจที่เป็นอกุศล เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการกระทำถึงขั้นที่จะเป็นอกุศลกรรมได้ นอกจากห้ามจากความชั่ว ก็ให้ตั้งอยู่ในความดี เพราะเหตุว่าเพียงเว้นจากความชั่วก็ยังไม่พอ ต้องเจริญสะสมคุณความดีให้ยิ่งขึ้น ให้ตั้งอยู่ในไตรสรคมณ์ มีการถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ให้มีการประพฤติปฏิบัติสมาทานในศีล ๕ และกุศลกรรมบถ ๑๐


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 4
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ