วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 08
นี่ก็เป็นสิ่งที่มิตรแนะประโยชน์จะกระทำต่อมิตร นอกจากนั้นก็ยังให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ซึ่งได้แก่เหตุผลของธรรมทั้งหลายที่ละเอียดยิ่งขึ้นของพระธรรมซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ นอกจากนั้นก็ยังบอกทางสวรรค์ให้ว่าสิ่งใดจะเป็นปัจจัยให้ได้รับผล คือการเกิดในสุคติภูมิ เพราะเหตุว่าส่วนมากนี้นะคะ เท่าที่ทุกท่านมักจะนึกถึง นึกถึงแต่เฉพาะชาตินี้ ไม่ได้นึกไกลไปจนถึงชาติหน้า วันนี้ทั้งหมดเป็นเรื่องของชาตินี้ทั้งนั้น และการคิด การเตรียมต่างๆ ในวันพรุ่งนี้ หรือว่าในวันต่อๆ ไป ก็เป็นเรื่องของชาตินี้เป็นส่วนใหญ่ทีเดียว น้อยนักที่จะคิดตระเตรียมถึงชาติหน้า ถ้าคิดตระเตรียมถึงชาติหน้าจริงๆ ก็จะเว้นอกุศลกรรม แล้วก็จะตั้งอยู่ในกุศลกรรมยิ่งขึ้น เพราะเหตุว่าสำหรับทางที่จะไปสวรรค์ ก็ต้องเป็นทางที่เป็นกุศล
ข้อความต่อไปก็เป็นลักษณะของมิตรแท้ ประการที่ ๔ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
[๑๙๖] ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ คือ ไม่ยินดีด้วยความเสื่อมของเพื่อน ๑ ยินดีด้วยความเจริญของเพื่อน ๑ ห้ามคนที่กล่าวโทษเพื่อน ๑ สรรเสริญคนที่สรรเสริญเพื่อน ๑
ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ
ที่บอกว่ารักมาก รักกันมากทีเดียว รักเพื่อนคนนี้เหลือเกิน ก็จะทราบได้ว่า มิตรรักใคร่ที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร คือ ผู้นั้นไม่ยินดีเลยกับความเสื่อมของเพื่อน พอเพื่อนเสื่อมแล้วก็ดีใจ นั่นไม่ใช่ลักษณะของเพื่อนที่มีความรักใคร่อย่างแท้จริง แต่เวลาที่เพื่อนมีภัยพิบัติต่างๆ หรือได้ประสบกับความไม่เจริญต่างๆ ผู้ที่เป็นมิตรที่มีความรักใคร่แล้ว จะไม่รู้สึกยินดีเลยในสภาพที่ไม่เจริญ ในสภาพที่ไม่ก้าวหน้า หรือในความเสื่อมของเพื่อน แต่มิตรที่มีความรักใคร่จะยินดีด้วยในความเจริญของเพื่อน เวลาที่เพื่อนได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข ผู้นั้นจะมีความสุขด้วยจริงๆ ไม่ได้มีความริษยา ไม่ได้มีความปรารถนาที่จะให้เพื่อนต้องขาดลาภ หรือขาดยศ หรือขาดสรรเสริญ หรือขาดสุข หรือไม่ได้คิดน้อยอกน้อยใจว่าทำไมตัวท่านไม่ได้ แต่เพื่อนได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ยังไม่ใช่เพื่อนที่มีความรักใคร่จริงๆ ถ้าเป็นเพื่อนที่มีความรักใคร่จริงๆ แล้วละก็จะมีความยินดีด้วยในความเจริญของเพื่อน ทั้งในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
นอกจากนั้นนะคะ ห้ามคนที่กล่าวโทษเพื่อน บางคนเพื่อนถูกติเตียน ก็อาจจะยินดีนะคะ หรือไม่ถึงกับยินดี ก็เฉยๆ ไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรที่คนอื่นจะกล่าวโทษเพื่อนโดยที่ไม่เป็นความจริง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของชาติตระกูล สมบัติ ความประพฤติ หรือแม้แต่รูปร่างลักษณะ
สำหรับคนที่เป็นมิตรรักใคร่นั้น ย่อมสรรเสริญคนที่สรรเสริญเพื่อน บางคนเวลาที่ใครสรรเสริญเพื่อน ก็ไม่รักใคร่ถึงขึ้นจะสรรเสริญด้วย แต่ว่าเพียงแต่เฉยๆ บ้าง อาจจะไม่รู้สึกสรรเสริญด้วย แต่ถ้าเป็นบุคคลที่ควรสรรเสริญจริงๆ แล้วคนอื่นก็สรรเสริญเพื่อน ก็จะทำให้เพื่อนที่มีความรักใคร่ อดไม่ได้ที่จะสรรเสริญเพื่อนที่ควรสรรเสริญนั้นด้วย นั่นเป็นลักษณะของเพื่อนที่รักใคร่ มิตรที่มีความรักใคร่ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๑๙๗] บัณฑิตรู้แจ้งมิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรมีอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ มิตรแนะประโยชน์ ๑ มิตรมีความรักใคร่ ๑ ว่าเป็นมิตรแท้ ฉะนี้แล้ว พึงเข้าไปนั่งใกล้โดยเคารพเหมือนมารดากับบุตร ฉะนั้น บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมรุ่งเรืองส่องสว่างเพียงดังไฟ เมื่อบุคคลออมโภคสมบัติอยู่เหมือนแมลงผึ้งผนวกรัง โภคสมบัติย่อมถึงความสั่งสมดุจจอมปลวกอันตัวปลวกก่อขึ้น ฉะนั้น
คฤหัสถ์ในตระกูลผู้สามารถ ครั้นสะสมโภคสมบัติได้อย่างนี้แล้ว พึงแบ่งโภคสมบัติออกเป็นสี่ส่วน เขาย่อมสมานมิตรไว้ได้ พึงใช้สอยโภคสมบัติด้วยส่วนหนึ่ง พึงประกอบการงานด้วยสองส่วน พึงเก็บส่วนที่สี่ไว้ด้วย หมายว่าจักมีไว้ในยามอันตราย ดังนี้ ฯ
นี่คือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับคฤหัสถ์ในการที่จะทรงอนุเคราะห์ให้เป็นคฤหัสถ์ผู้ที่เจริญยิ่งขึ้นในทางโลก เพื่อที่จะได้เจริญยิ่งขึ้นในทางธรรม
ถาม อยากจะถามอาจารย์ว่า ผมได้อ่านเจอในพระไตรปิฎกว่า โทษของผู้บริโภคกามนั้น อย่างเช่นผมเป็นต้นอย่างนี้ บริโภคกาม หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเหมือนงูพิษบ้าง เหมือนยาพิษบ้าง เหมือนสัตว์ป่าบ้าง อยากให้ขยายความละเอียดว่า โทษของผู้บริโภคกามเป็นอย่างไรบ้าง
ท่านอาจารย์ การเห็นโทษนะคะ มีหลายขั้น เพียงฟัง พิจารณาตาม แล้วเห็นเท่านั้น ไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งจนถึงขั้นที่จะละได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ชื่อว่าเข้าใจโทษ พิจารณาเห็นเหตุผลของโทษเท่านั้น แต่ยังไม่ประจักษ์ในโทษที่แท้จริง ถึงกับสามารถที่จะละคลาย และเว้นขาดได้เป็นสมุจเฉท เพราะเหตุว่าสภาพสิ่งที่ปรากฏทั้งหลายจะไม่พ้นจากนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมีจริง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมีจริง เกิดแล้วกำลังปรากฏ จะเห็นโทษได้อย่างไรคะ ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน
เพราะเหตุว่าความพอใจในสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏเพราะไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ จึงพอใจ เพราะฉะนั้น การที่จะละความยินดีพอใจ และเห็นว่าเป็นโทษได้ต้องรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงเสียก่อนว่า สิ่งที่เคยเข้าใจผิด หลงผิดยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล เป็นวัตถุต่างๆ ที่พอใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะที่ปรากฏทางตา หาความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน วัตถุที่น่าพอใจไม่ได้ เป็นแต่เพียงสิ่งที่สามารถปรากฏทางตาเท่านั้นเอง ต้องประจักษ์ธรรมตามความเป็นจริงอย่างนี้ก่อนนะคะ แล้วจึงจะเห็นโทษจริงๆ ของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และแม้ความพอใจว่าไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ประจักษ์ความเกิดดับของสภาพธรรม ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ย่อมไม่สามารถจะกล่าวได้ว่า ได้ประจักษ์แจ้งในโทษของสภาพธรรมนั้นๆ แล้ว
ผู้ฟัง ข้อความที่ผมถามก็มุ่งหมายเอาที่ว่า พยายามให้เห็นด้วยการพิจารณาหรือด้วยการเจริญสติ ด้วยการพิจารณาเห็นโทษในกาม เพื่อละครอบครัวเป็นบรรพชิต อย่างนี้เป็นต้น ก็เลยอยากให้มีสะสมไว้ กระผมมาถามอาจารย์เพราะเหตุว่าผู้ที่เป็นภิกษุสงฆ์ในทุกวันนี้ ที่บวชเพราะเห็นโทษในกาม คิดว่าคงจะน้อย
ท่านอาจารย์ เราไม่คำนึงถึงบุคคลอื่นไงคะ พิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ตรงว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เวลาที่ท่านจะเกิดอกุศลมากขึ้น เพราะเห็นเป็นสัตว์ บุคคล ต่างๆ เพศต่างๆ กัน เห็นเป็นธรรมแล้ว ก็จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมตรงว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าโลภของใครเกิดปรากฏ เป็นการกระทำให้เห็น แทนที่จะเห็นเป็นบุคคลนั้น ก็เห็นสภาพธรรมคือเห็นโลภะ ไม่ใช่เห็นคนนั้นค่ะ ถ้าใครกำลังมีอาการปรากฏของโทสะ แทนที่จะเห็นว่าเป็นคนนั้นโกรธเหลือเกิน ก็ไม่เห็นเป็นคนนั้น แต่เห็นเป็นสภาพของโทสะ ที่มีกำลังที่มีอาการไม่ปรากฏทางกาย หรือทางวาจา เห็นเป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ก็จะไม่คำนึงในบุคคลอื่นที่จะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลจิต เพราะเหตุว่าให้ขณะนั้นปัญญาเกิดขึ้นเห็นเป็นธรรม
ถาม ที่อาจารย์กล่าวนี้ ผมก็ยังสับสนอยู่ว่า เห็นธรรมตามความเป็นจริง เช่น สมมติว่า สมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ ที่อาจารย์กล่าวย้อนไปย้อนมา จะให้เห็นสมมติสัจจะก่อน ถึงจะไปให้เห็นปรมัตถสัจจะอย่างนั้นหรือ จึงจะได้ อันนี้ผมสงสัยมาก วนไปวนมาตรงนี้แหละ ที่อาจารย์บอกว่าเห็นรูป ให้เห็นว่าไม่ใช่เราเห็น ถ้าเราไม่รู้สมมติสัจจะว่ามันเป็นอะไรแล้ว ถ้าพิจารณาแล้ว เอาตามหลักวิชาว่า มันเป็นปรมัตถ์ อันนี้อาจารย์อธิบายให้เข้าใจซิว่า อันไหนก่อนอันไหนหลัง สมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ ตัวนี่น่ะ
ท่านอาจารย์ เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ฟังเป็นเรื่องเป็นราวของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ โดยสมมติรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นสัตว์ บุคคล แล้วก็กล่าวว่าเห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตามความเป็นจริงเป็นแต่เพียงขั้นความเข้าใจ การฟัง การพิจารณา
โทษเหล่านั้น แต่ไม่ใช่การประจักษ์ในโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่จะกล่าวว่าประจักษ์ในโทษจริงๆ เพราะฉะนั้น เพียงขั้นของความเข้าใจ และเห็นโทษในเรื่องของกลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ยังไม่สามารถจะละความยินดี พอใจได้เป็นสมุจเฉท เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ประจักษ์ในโทษจริงๆ คือ การไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป โทษที่แท้จริงคือการเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม แต่ถ้าขั้นพิจารณาในเหตุผลก็ถือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ในสิงคาลกสูตรพระผู้มีพระภาคทรงกล่าวถึงเรื่องทรัพย์สมบัติไว้มาก ซึ่งก็ควรที่จะได้ทราบความหมายของทรัพย์ว่ามีความหมายว่าอย่างไรบ้าง ในภาษาบาลี “ทรัพย์” หมายถึง “ธนะ” ก็มี หรือ “วิตฺต” ก็มี หรือบางครั้งก็เรียกว่า “รัตนะ” ก็มี
ที่เรียกว่า “ธนะ” นั้น แปลว่า “ทรงไว้” ที่เรียกว่า “วิตฺต” แปลว่า “เครื่องปลื้มใจ” ที่เรียกว่า “รัตนะ” แปลว่า “เครื่องยินดี”
โดยศัพท์ที่ว่า “ธนะ” ที่แปลว่า ทรงไว้ มีอธิบายว่า ทรงไว้ซึ่งความสุขของคนทั้งหลาย หรือว่า ทรงไว้ซึ่งชีวิตของคนทั้งหลาย เพราะเหตุว่าลองพิจารณาถึงความจริง ถ้าไม่มีทรัพย์ย่อมไม่ได้ความสุขตามที่ปรารถนา
ความสุขที่จะเกิดจากความปรารถนาสิ่งใดๆ ก็ตามในวันนี้ในเรื่องที่เกี่ยวกับโภคสมบัติแล้ว ท่านจะเห็นได้ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีได้โดยทรัพย์ หรือทรงไว้ซึ่งชีวิตของคนทั้งหลาย ถ้าไม่มีทรัพย์ จะมีข้าวปลาอาหาร จะมีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม จะมีสิ่งที่จำเป็นต่อการที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ไหม ด้วยเหตุนี้นะคะ ทรัพย์จึงหมายถึง “ธนะ” คือ ทรงไว้ เพราะเหตุว่าทรัพย์เป็นเครื่องประคองความสุข และชีวิตของคนทั้งหลาย
ความหมายของทรัพย์ที่เรียกว่า “วิตฺต” ซึ่งแปลว่า ความปลื้มใจนั้น ก็เพราะเหตุว่าทรัพย์ทั้งสิ้นย่อมทำให้เกิดความปลาบปลื้มใจ ซึ่งเป็นความอุ่นใจของผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์นั้น ตราบใดที่ยังรู้ว่า ยังมีทรัพย์อยู่ ก็รู้สึกว่ามีความสบายใจ มีความอุ่นใจ ตัดความกังวลในเรื่องชีวิต ในเรื่องความเป็นอยู่ ในโภคสมบัติได้
ที่ชื่อว่า “รัตนะ” นั้น แปลว่า เครื่องยินดี ที่แปลว่าเครื่องยินดี ก็เพราะเหตุว่าทรัพย์ทั้งสิ้นล้วนให้เกิดความยินดีแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของทั้งนั้น
เวลาได้ทรัพย์ดีใจ ไหมคะ
ผู้ฟัง ตามที่อาจารย์อธิบายก็ถูกต้องแล้ว ธนะ ธน ธาตุ แปลว่า ทรง สิ่งที่ทรง ของมันในตัวเรียกว่า “ทรัพย์” หรือ วิตตะ เครื่องปลื้มใจ แต่บางทีพระผู้มีพระภาคท่านก็เรียกเหมือนกัน อย่างธรรม ๗ ประการ ท่านเรียกว่าเป็นทรัพย์ สัทธาธนํ ศีลธนํ หิริโอตฺตปฺปิธนํ สุตฺตธนํ จาคะ ปัญญา ธรรม ๗ อย่างท่านก็เรียกว่าทรัพย์เหมือนกัน แม้ปัญญาท่านก็เรียกว่าทรัพย์ ท่านจะหมายอะไรผมก็ไม่ได้ดูในอรรถกถา
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น “ทรัพย์” ที่กล่าวนะคะ ที่ว่าทรัพย์ทั้งสิ้นล้วนเป็นสิ่งที่ให้เกิดความยินดีแก่เจ้าของทั้งนั้น หมายเฉพาะผู้ที่ยังยินดีในโภคทรัพย์หรือในโภคสมบัติ ซึ่งยังเป็นฆราวาสหรือเป็นคฤหัสถ์อยู่ แต่สำหรับผู้ที่เห็นโทษว่าเป็นเครื่องกังวล แล้วก็ไม่ยินดีในทรัพย์ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ทรัพย์ที่แท้จริง และท่านสามารถจะดำรงชีวิตดำเนินไปได้ โดยที่ไม่ยินดีในทรัพย์อย่างผู้ที่ยังมีเพศคฤหัสถ์อยู่ก็มี
เพราะฉะนั้น ทรัพย์จึงมี ๒ อย่าง โลกียทรัพย์ และอริยทรัพย์
ทรัพย์ ๒ ประการ คือ โลกียทรัพย์ คือ ทรัพย์ของปุถุชนเป็นเครื่องปลื้มใจ เป็นเครื่องยินดีของปุถุชนที่ยังยินดีในโภคทรัพย์หรือโภคสมบัติอยู่ แต่สำหรับ “อริยทรัพย์” ๗ ประการ เป็นทรัพย์ของพระอริยเจ้า
ข้อความในอังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ข้อ ๕ ธนสูตรที่ ๑ และข้อ ๖ ธนสูตรที่ ๒ มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของอริยทรัพย์ ๗ ประการ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ธนสูตรที่ ๒
[๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้ ๗ ประการเป็นไฉน คือ ทรัพย์คือศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ สุตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือศรัทธาเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศรัทธา ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือศีลเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัย นี้ เป็นผู้เว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ จากการดื่มน้ำเมาคือสุรา และเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศีล ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือหิริเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความละอาย คือ ละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการถูกต้องอกุศลธรรมอันลามก นี้เรียกว่า ทรัพย์คือหิริ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือโอตตัปปะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความสะดุ้งกลัว คือ สะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการถูกต้องอกุศลธรรมอันลามก นี้เรียกว่าทรัพย์คือโอตตัปปะ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือสุตะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิซึ่งธรรมทั้งหลาย อันงามในเบื้องต้นงาม
ในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง นี้เรียกว่า ทรัพย์คือสุตะ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือจาคะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีใจอันปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอยินดีในทาน และการจำแนกทาน นี้เรียกว่า ทรัพย์คือจาคะ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือปัญญาเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาที่กำหนดความเกิด และความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่าทรัพย์คือปัญญา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล ฯ
ทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญาเป็นที่ ๗ ทรัพย์เหล่านี้มีแก่ผู้ใด เป็นหญิงหรือชายก็ตาม บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ยากจน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม ฯ
จบสูตรที่ ๖
ซึ่งความจริงแล้วนะคะ อริยทรัพย์ ๗ นี้ เป็นทรัพย์จริงๆ เพราะเหตุว่าเป็นธรรมที่เป็นกุศล ทรัพย์ทั้งหลายที่แต่ละท่านจะได้มานี้ ถ้าไม่มีกุศลกรรมที่ทำไว้ในอดีตแล้วละก็ ไม่มีปัจจัยที่จะได้ ไม่ใช่ว่าการกระทำทุจริตเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์ แต่ต้องเป็นกุศลกรรมเท่านั้นซึ่งนำมาซึ่งทรัพย์ทั้งปวง แต่ทรัพย์ซึ่งเป็นอริยทรัพย์ที่จะทำให้ผู้มีทรัพย์เหล่านี้บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอริยเจ้า ก็จะต้องประกอบด้วยทรัพย์ซึ่งเป็นศรัทธา ๑ศีล ๑หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ สุตะ ๑ จาคะ ๑ปัญญา ๑ ถ้าขาดศรัทธาแล้ว ย่อมไม่มีการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ซึ่งงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้มีมากทีเดียวนะคะ แต่ถ้าขาดศรัทธาก็ย่อมจะไม่มีการฟัง การศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด โดยอาจจะเห็นว่า เป็นเรื่องที่ยากไป บางท่านก็กล่าวว่าสูงไป ลึกซึ้งไป บางท่านก็กล่าวว่าละเอียดเกินไป และบางท่านก็ไม่เห็นประโยชน์ในการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่เข้าใจแล้ว แต่ผู้ที่ศึกษาแล้ว จะทราบได้ว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ท่านเคยคิด หรือเคยเข้าใจแล้ว แต่เป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ ศึกษาจนกว่าจะประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อ
ประจักษ์สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ก็จะทำให้หมดความสงสัยในสภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏแล้วในอดีต และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เพราะฉะนั้น “ศรัทธา” นี้เป็นขั้นต้นของอริยทรัพย์ แม้แต่การที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าสติยังไม่เกิด ก็หมายความว่า ศรัทธาที่จะระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏยังไม่มี แต่ถ้าตราบใดที่สติระลึกได้ ขณะนั้น ศรัทธาเกิดพร้อมกับสตินั้น ในการที่จะศึกษา สังเกต พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเพราะศึกษา ที่ได้ศึกษาพระธรรมจะเป็นเหตุให้ท่านน้อมไปสู่การเป็นผู้มั่นคงในศีล ซึ่งเป็นอริยทรัพย์หนึ่งในอริยทรัพย์ ๗ เพราะเหตุว่าอกุศลจิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ว่าถ้าไม่มีกำลังแรงแล้วละก็ จะไม่เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีการวิรัติจากทุจริต ขณะนั้นก็หมายความว่า มีศรัทธาในการที่จะวิรัติทุจริตในขณะนั้นด้วย แม้ในขณะที่วิรัตทุจริต บางท่านอาจจะไม่ทราบว่า เกิดศรัทธาพร้อมกับการวิรัติทุจริตในขณะนั้น การวิรัติทุจริตจึงเป็นไปได้ พร้อมกันนั้นในขณะนั้นก็มีหิริ และโอตตัปปะ คือ ความเห็นโทษภัย ความน่ากลัวของอกุศลจิต และอกุศลกรรม และมีความรังเกียจในอกุศลจิต ในอกุศลกรรม ในขณะที่กระทำทุจริต ที่ทุจริตกรรมจะสำเร็จลงไปได้ ขณะนั้นไม่มีหิริ ไม่มีความรังเกียจ ไม่มีความละอายในบาปในโทษของอกุศลกรรมนั้นเลย แล้วก็ไม่มีความหวั่นเกรงกลัวในโทษภัยของอกุศลธรรมอกุศลจิตในขณะนั้นด้วย แต่ถ้าไม่เจริญสติก็ไม่เห็นสภาพธรรมเหล่านี้เลย แต่ถ้าเจริญสติ แม้ลักษณะของหิริ ความรังเกียจ ความละอายในอกุศลธรรมนั้นก็ปรากฏได้ ในขณะที่วิรัติทุจริตนั้นๆ หรือแม้โอตตัปปะ ความเห็นภัย ความเห็นโทษ ความเห็นภัยอันตรายของอกุศลจิตในขณะนั้นก็เกิดพร้อมกับในขณะที่วิรัติทุจริตในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทำให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นได้ สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ ไม่มีผู้ใดสามารถจะไปบังคับว่า อย่ารู้หิริ หรืออย่ารู้โอตตัปปะ ที่กำลังมีในขณะนั้น เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสังขารขันธ์ แล้วสังขารขันธ์ก็มีมาก เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าขณะนั้นสภาพของสังขารขันธ์ใดปรากฏ สติก็ระลึกรู้ตรงลักษณะของสังขารขันธ์นั้น ของเจตสิกนั้น ซึ่งมีลักษณะอย่างนั้น มีกิจการงานอย่างนั้น อย่างความตระหนี่ บางท่านกล่าวว่าท่านคิดจะให้เพียงความคิด แต่มือไม่หยิบไปให้จริงๆ ยังอยู่เรื่อยๆ แต่ก็คิดที่จะให้ ขณะนั้นถ้าสติเกิด ระลึกรู้ลักษณะของมัจฉริยะ อะไรทำให้ยังไม่ให้ ความที่ยังตระหนี่ ยังยินดี ยังพอใจ ยังไม่สละ มีอยู่ในขณะนั้น ตรงกันข้ามกับในขณะที่หยิบยกขึ้นให้ ในขณะนั้นน่ะเป็นอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งหมายความถึงความสามารถที่จะสละวัตถุนั้นได้ แต่ขณะใดที่ยังไม่หยิบไม่ยก ยังไม่ยื่น ยังไม่ให้ ขณะนั้นถ้าสติเกิด ก็จะเห็นลักษณะของสภาพธรรมที่หยุดยั้งการหยิบยกยื่นให้ว่า เป็นสภาพธรรมที่ยังไม่อาจจะสละได้ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหลายสามารถที่จะปรากฏให้รู้ได้ว่า อริยทรัพย์ ๗ ประการ คือ ศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ นอกจากนั้นก็ยังมีสุตะ การเป็นผู้ที่ฟังมาก เป็นผู้ที่เป็นพหูสูต ทรงสุตะ
สั่งสมสุตะ เป็นผู้ที่ได้สดับมาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยทิฏฐิ คือ สัมมาทิฏฐิซึ่งธรรมทั้งหลาย
สิ่งที่จะพิสูจน์ว่าท่านเป็นพหูสูต คือ ผู้ที่ทรงสุตะ หรือว่าสั่งสมสุตะ เป็นผู้ที่สดับมามากน้อยเท่าไร ก็คือในขณะที่ฟังนี่ ถ้าฟังแล้วทรงไว้ จำได้ เข้าใจ แจ่มแจ้ง หรือว่าสามารถที่จะพิจารณามนสิการธรรมที่ได้ฟังได้กว้างขวางออกไปอีก ได้ไกล ได้ลึกลงไปอีก นั่นย่อมแสดงถึงการเป็นผู้ที่เคยสะสมสุตะมามาก
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แล้วผู้ฟังได้ฟังในครั้งที่ ๑ จะต่างกับครั้งที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และในครั้งต่อๆ ไป แม้ว่าจะเป็นข้อความเดียวกัน แต่ว่าอาศัยการสั่งสม ทรงไว้ซึ่งสุตะ การฟังแล้วไม่ลืม แล้วก็ทรงไว้ แล้วก็มนสิการ เคยพิจารณาข้อความนั้นๆ จนกระทั่งสามารถที่จะเกิดความเข้าใจกว้างขวาง แยบคายขึ้นอีก ไกลออกไปอีก และลึกซึ้งขึ้นไปอีก ก็จะทำให้เป็นผู้ได้ทราบว่า เป็นผู้ที่เป็นพหูสูต คือ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ที่สดับมามาก แล้วก็ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ จนถึงสามารถที่จะแทงตลอดด้วยดี ด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลาย
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 01
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 02
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 03
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 04
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 05
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 06
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 07
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 08
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 09
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 10
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 11
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 12
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 13
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 14
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 15
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 16
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 17
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 18
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 19
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 20
- สมถภาวนา ตอนที่ 01
- สมถภาวนา ตอนที่ 02
- สมถภาวนา ตอนที่ 03
- สมถภาวนา ตอนที่ 04
- สมถภาวนา ตอนที่ 05
- สมถภาวนา ตอนที่ 06
- สมถภาวนา ตอนที่ 07
- สมถภาวนา ตอนที่ 08
- สมถภาวนา ตอนที่ 09
- สมถภาวนา ตอนที่ 10
- สมถภาวนา ตอนที่ 11
- สมถภาวนา ตอนที่ 12
- สมถภาวนา ตอนที่ 13
- สมถภาวนา ตอนที่ 14
- สมถภาวนา ตอนที่ 15
- สมถภาวนา ตอนที่ 16
- สมถภาวนา ตอนที่ 17
- สมถภาวนา ตอนที่ 18
- สมถภาวนา ตอนที่ 19
- สมถภาวนา ตอนที่ 20