แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 432
ครั้งที่ ๔๓๒
ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ กล่าวไม่ถูกกาล กล่าวไม่จริง กล่าวไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม ไม่อิงวินัย กล่าววาจาไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ไม่มีที่สิ้นสุด
คือ ไม่ยอมที่จะยุติด้วยเหตุและผล บ่ายเบี่ยง เลี่ยงไปด้วยประการต่างๆ ถ้าว่าอย่างนี้ ก็บอกว่าอย่างนั้น ถ้าว่าอย่างนั้น ก็บอกว่าอย่างนี้ ไม่มีการที่จะปรับเหตุกับผลให้ตรงกัน และให้ยุติลงด้วยเหตุและผลจริงๆ แต่ถ้ายังต้องการที่จะให้ธรรมเป็นไปตามความเชื่อของตนเอง ตามความคิดของตนเอง ก็ย่อมจะมีการขัดแย้ง มีการหลบเลี่ยง มีการหลีกไป ไม่ยอมที่จะรับฟังเหตุผลจริงๆ และยุติลง สิ้นสุดลงด้วยเหตุและผล เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่พูดเพ้อเจ้อ เพราะไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีการยุติด้วยเหตุผล ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่ควร
ส่วนความสะอาดทางวาจา ที่เป็นการเว้นจากสัมผัปปลาปวาจานั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาละ พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร
ท่านผู้ฟังยังมีสัมผัปปลาปวาจาไหม มี เพราะผู้ที่จะละสัมผัปปลาปวาจาได้คือพระอรหันต์
เพราะฉะนั้น ชีวิตจริงเป็นอย่างไร ยอมรับสภาพธรรมตามความเป็นจริง ระลึกรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น เพื่อจะไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะว่าการละกิเลสต้องละเป็นลำดับขั้น
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร จุนทะ บุคคลผู้ประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ คือ กายทุจริต ๓ วาจาทุจริต ๔ มโนทุจริต ๓ เมื่อลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้าตรู่ ถึงแม้จับต้องแผ่นดินก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้ไม่จับต้องแผ่นดินก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้จับต้องโคมัยสดก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้ไม่จับต้องโคมัยสดก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้จับต้องหญ้าอันเขียวสดก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้ไม่จับต้องหญ้าอันเขียวสดก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้จะบำเรอไฟก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้จะไม่บำเรอไฟก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้เป็นผู้ประนมอัญชลีนอบน้อมพระอาทิตย์ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้จะเป็นผู้ไม่ประนมอัญชลีนอบน้อมพระอาทิตย์ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้จะลงน้ำ ๓ ครั้งทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้จะไม่ลงน้ำ ๓ ครั้งทั้งเวลาเย็นเวลาเช้าก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เป็นความไม่สะอาดด้วย เป็นตัวกระทำความไม่สะอาดด้วย ดูกร จุนทะ ก็เพราะเหตุแห่งการประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ นรกจึงปรากฏ กำเนิดดิรัจฉานจึงปรากฏ เปรตวิสัยจึงปรากฏ หรือว่าทุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่นจึงมี ฯ
เวลานี้มนุษย์ภูมิปรากฏ นรกยังไม่ปรากฏ ดิรัจฉานปรากฏแล้ว เปรตวิสัยหรือทุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่นจึงมี ก็เพราะเหตุแห่งการประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้
ท่านที่สงสัยว่า นรกจะมีไหม เปรตจะมีไหม ทุคติจะมีไหม ซึ่งถ้าท่านทำอกุศลกรรมมากๆ ภพภูมิเหล่านี้จะปรากฏเป็นแน่นอน
สำหรับกุศลกรรมบถ ๑๐ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้ามกับอกุศลกรรมบถ ๑๐
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
... ก็เพราะเหตุแห่งการประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เทวดาทั้งหลายย่อมปรากฏ มนุษย์ทั้งหลายย่อมปรากฏ หรือว่าสุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่น จึงมี ฯ
เรื่องของความสะอาดไม่ใช่อย่างอื่นเลย นอกจากกาย วาจา ใจ ถ้าเป็นสุจริตก็สะอาด ถ้าเป็นทุจริตก็ไม่สะอาด
ถ. ในอรรถกถาที่ท่านอธิบายเรื่องศีล ท่านอธิบายว่า สำหรับปาณาติบาตหรืออทินนาทาน ๒ ประเภทนี้ กระทำเองบ้าง หรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำบ้าง ก็นับว่าผิดศีลทั้ง ๒ อย่าง ทำเองก็ผิดศีล ใช้ให้ผู้อื่นทำก็ผิดศีล แต่มุสาวาทท่านบอกว่า เป็นการผิดศีลเฉพาะตนเองเท่านั้น ผมสงสัยว่า มุสาวาทนี้ใช้ให้คนอื่นมุสาวาทไม่ได้หรือ อย่างเช่น มีเจ้าหนี้มาทวงหนี้ ก็ให้เด็กไปบอกว่าไม่อยู่
สุ. เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ถ้าท่านเป็นผู้ที่ใคร่ต่อการที่จะละเว้นทุจริต ขัดเกลาดับกิเลส ท่านก็จะระลึกรู้ในขณะนั้นได้ว่าเป็นมุสาวาทหรือ ไม่เป็นมุสาวาท เพราะว่าบางคนอาจจะไม่รู้ว่าเป็นมุสาวาท ได้ยิน ได้ฟังมา อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องจริง พูดไป และคิดว่าตัวเองไม่ได้มุสาวาท ไม่มีเจตนาที่จะมุสาวาท ถ้าผู้ใหญ่เล่าเรื่องให้ฟัง และบอกเด็กคนนี้ให้ไปบอกอีกคนหนึ่ง เด็กก็ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า ไม่มีเจตนาที่จะมุสาวาท แต่คนที่รู้ว่าไม่จริง ขณะนั้นจะรู้ถึงสภาพของจิตที่กล่าว อย่างบางคนรับฟังเรื่องอะไรมา เขาก็บอกให้ไปเล่าให้คนอื่นฟัง คนนั้นไม่รู้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่จริง ก็ไม่รู้ว่าเป็นมุสาวาท เพราะตัวเองไม่มีเจตนามุสาวาท แต่คนที่มีเจตนาที่จะพูดไม่จริงนั้น เป็นมุสาวาทแล้ว และผู้ที่จะขัดเกลากิเลส ถ้ารู้ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร เรื่องไม่จริงเป็นอย่างไร ขณะนั้นสติเกิดจะรู้สภาพของจิตว่า สติมีกำลังพอที่จะเว้นวจีทุจริต หรือว่าไม่มีกำลังที่จะเว้นวจีทุจริตในขณะนั้น เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ทำให้กระทำทุจริตกรรมที่เป็นมุสาวาทได้
ใน สัทธัมมปกาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค สีลมยญาณนิทเทสวรรณนา แสดงองค์ของสัมผัปปลาปวาจาว่า มีองค์ ๒ คือ
๑. ภารตยุทธสีตาหรณาทินรตฺถกกถาปุเรกขารตา การมุ่งที่จะพูดเรื่องไร้สาระ มีเรื่องภารตยุทธ และเรื่องการลักพานางสีดา เป็นต้น
๒. ตถารูปิกถา กถนญฺจ การพูดเช่นนั้น แต่เมื่อบุคคลอื่นไม่ได้ถือเอาคำพูดนั้น กรรมบถก็ไม่ขาด ต่อเมื่อบุคคลอื่นถือเอาคำพูดอันเพ้อเจ้อนั้นแล กรรมบถจึงขาด
สำหรับโทษน้อย หรือโทษมาก คือ ถ้าเสพน้อย หมายความว่า ไม่ได้พูดเพ้อเจ้อมาก โทษก็น้อย แต่ถ้าเสพมาก คือ เสพจนคุ้น มีปกติอาจิณที่จะพูดเพ้อเจ้อ นั่นก็โทษมาก
ถ. มุสาวาทแปลว่าพูดเท็จ ส่วนสัมผัปปลาปวาจา อาจารย์กล่าวว่า พูดอะไรที่เป็นเท็จ มีคำว่า เท็จอยู่ด้วย ซึ่งควรจะอยู่ในมุสาวาท ทำไมเป็นสัมผัปปลาปะ
สุ. สัมผัปปลาปวาจา เป็นคำพูดเกินจริง รำพันต่างๆ เกินความจริงไป ก็เป็นสัมผัปปลาปวาจา
ความจริงวจีทุจริตนี้ โดยมากแล้วจะเป็นไปหลายประการในเรื่องๆ หนึ่ง อย่างเวลาที่โกรธพูดเรื่องที่ไม่จริง เป็นมุสาวาท ก็อาจจะมีการส่อเสียดที่เป็นปิสุณาวาจา และอาจจะมีผรุสวาจาด้วยในขณะนั้น สำหรับสัมผัปปลาปวาจา ก็เป็นส่วนเกินที่ไม่จริง คือ เกินจริงไป เป็นสัมผัปปลาปวาจา
อย่างองค์ของสัมผัปปลาปวาจา คือ ภารตยุทธสีตาหรณาทินรตฺถกกถาปุเรกขารตา การมุ่งที่จะพูดเรื่องไร้สาระ มีเรื่องภารตยุทธ และเรื่องการลักพานางสีดา เป็นต้น จริงหรือไม่จริง ไม่เกี่ยวกับมุสาวาทที่จะหลอกลวงบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ว่า เป็นคำที่เล่าสืบต่อกันมาเนิ่นนาน เป็นเรื่องยืดยาวจริงๆ และก็มีการแทรกบทต่างๆ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ เพราะว่าผู้ฟังอาจจะหวั่นไหวไปด้วยกิเลสตามข้อความ ตามเนื้อเรื่องที่ถูกชักพาให้มีความรู้สึกนานาประการเกิดขึ้น ซึ่งในขณะนั้นไม่ใช่เรื่องการเจริญสติ ไม่ใช่เรื่องการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เรื่องการละคลาย จึงเป็นสัมผัปปลาปวาจา
ไม่จริงเหมือนกัน แต่ผู้พูดพูดในลักษณะของสัมผัปปลาปวาจา ไม่มีเจตนาที่จะมุสา แต่มีเจตนาที่จะกล่าวคำเพ้อเจ้อ คือ คำที่ไม่มีประโยชน์
แต่ถ้าเรื่องราวต่างๆ ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้คนอื่นเข้าใจว่า สภาพชีวิตมีต่างๆ กันในโลก มุ่งที่จะกล่าวเพื่อประโยชน์ เพื่อจะให้เห็นสภาพของธรรมซึ่งวิจิตรมาก เป็นปัจจัยทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่วิจิตรจริงๆ ในชีวิต วันนี้เป็นอย่างนี้ วันต่อไปอาจจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง กลับหน้ามือเป็นหลังมือ เป็นชีวิตที่แปลกไปตามเหตุปัจจัย ตามเหตุการณ์ต่างๆ ถ้าผู้พูดมุ่งที่จะกล่าวเพื่อประโยชน์แก่ธรรม ก็ไม่เป็นสัมผัปปลาปวาจา
เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับเจตนาด้วย เจตนาของสัมผัปปลาปวาจานั้น คือ การมุ่งที่จะพูดเรื่องไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นการขัดเกลา ทำให้เกิดจิตที่หวั่นไหวไปด้วยกำลังของกิเลส
แต่ถ้าบุคคลอื่นไม่ถือเอาคำพูดนั้น กรรมบถก็ไม่ขาด ต่อเมื่อบุคคลอื่นถือเอาคำพูดเพ้อเจ้อนั้นแล กรรมบถจึงขาด
ส่วนโทษน้อยหรือโทษมาก ก็แล้วแต่เสพมากหรือเสพน้อย ถ้าประพฤติกระทำอยู่เสมอ มากๆ บ่อยๆ เนืองๆ โทษก็มาก แต่ถ้าไม่ได้ประพฤติ ไม่ได้กระทำมาก ก็เป็นโทษน้อย
มีท่านผู้ฟังเขียนคำถามมา ๒ ข้อ
ข้อ ๑ รูปกับนาม อะไรเกิดก่อน
ข้อ ๒ จิตกับเจตสิก เกิดดับพร้อมกัน แต่ทำไมมีดวงไม่เท่ากัน
สุ. ข้อ ๑ รูปกับนามอะไรเกิดก่อน
ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ รูปกับนามเกิดพร้อมกันในขณะปฏิสนธิ ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย กรรมไม่ได้เป็นปัจจัยให้เฉพาะปฏิสนธิจิตเท่านั้นเกิด แต่กรรมเป็นปัจจัยให้รูปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตในอุปาทขณะของปฏิสนธิจิตด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะปฏิสนธิ ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์เกิดพร้อมกัน จึงกล่าวว่า ภูมิที่มีขันธ์ ๕ รูปขันธ์และนามขันธ์เกิดพร้อมกันเพราะกรรมเป็นปัจจัย และที่รูปใดจะเกิดพร้อมปฏิสนธิจิตนั้น ก็แล้วแต่ว่า กรรมอะไรเป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิด แต่ว่ารูปดับช้ากว่าจิต จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปที่เกิดพร้อมกันกับจิตนั้นจึงดับ เพราะฉะนั้น ขณะนี้รูปเกิดพร้อมกับจิตดวงใด จิตดวงนั้นดับแล้ว แต่รูปนั้นยังไม่ดับ ยังคงมีอายุต่อไปอีก ๑๖ ขณะจึงจะดับ
สำหรับคำถามข้อ ๒ จิตกับเจตสิกเกิดดับพร้อมกัน แต่ทำไมจึงมีดวงไม่เท่ากัน
คงเข้าใจว่า จิตเจตสิกเป็นดวงๆ แต่ความจริงเป็นนามธรรม ถ้าพูดถึงดวง บางคนคิดถึงรูปกลมๆ เป็นดวงๆ แต่ที่ใช้คำว่าดวง เป็นภาษาที่ใช้กันมาแต่โบราณ หมายความถึงขณะหนึ่งๆ ของจิตซึ่งเร็วมาก และหมายความถึงประเภท คือ จิตทั้งหมดที่เกิดดับสืบต่อกัน ไม่ว่าจะในภพนี้โลกนี้ หรือว่าโลกอื่นภพอื่นก็ตาม จะจำแนกออกเป็นประเภทได้ ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภทโดยพิเศษ ซึ่งโบราณไม่ใช้คำว่าประเภท แต่ใช้คำว่าดวง ก็เลยสงสัยว่า ทำไมจิตและเจตสิกเกิดพร้อมกัน แต่ว่าดวงไม่เท่ากัน ตามคำถามข้างต้น
จิตแต่ละดวงหรือแต่ละประเภทจะเกิดขึ้นนั้น ต้องอาศัยปัจจัย คือ เจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดจิต
เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท และจิตดวงหนึ่งๆ คือ ประเภทหนึ่งๆ ที่เกิดนั้น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายดวง คือ หลายประเภท ซึ่งเจตสิก ๕๒ ประเภทนั้น แยกออกเป็นประเภทที่เป็นอกุศล และประเภทที่เป็นโสภณ
และในจิตขณะหนึ่ง คือ ดวงหนึ่งนั้น ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายประเภท หลายดวง ไม่ใช่จะต้องให้ตรงกันว่า จิตดวงหนึ่งเกิด ก็จะต้องมีเจตสิกดวงหนึ่งเกิดร่วมด้วย ไม่ใช่อย่างนั้น ในขณะที่จิตขณะหนึ่งเกิด มีเจตสิกหลายดวง คือ หลายประเภทเกิดร่วมกับจิตนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดจิตนั้น
ถ้าศึกษาปรมัตถธรรมโดยละเอียด ก็จะเข้าใจชัดเจนขึ้น แต่จุดประสงค์ของการบรรยายเรื่องสติปัฏฐานนั้น ก็เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้รับประโยชน์ทันทีที่ฟังธรรม เพราะว่ากล่าวถึงสภาพของธรรมที่ปรากฏให้พิสูจน์ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็จะหมดสงสัยในสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และถ้าท่านมีเวลาศึกษา ท่านก็ศึกษาเรื่องของปรมัตถธรรมประกอบด้วย แต่ต้องทราบว่า จุดประสงค์ของการศึกษาปรมัตถธรรมนั้น เพื่อเกื้อกูลการไม่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่สติระลึก
แต่ไม่ใช่ว่า ท่านศึกษาปริยัติมาก มีความเข้าใจในปรมัตถธรรมมาก แต่ปฏิบัติผิด ไม่ตรงกับปรมัตถธรรมที่ศึกษา ถ้าเป็นอย่างนั้น การศึกษาปรมัตถธรรมไม่มีประโยชน์เลย
การศึกษาปรมัตถธรรม แต่เวลาที่จะพิสูจน์ธรรม ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องที่จะให้รู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง การศึกษานั้นก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้เกื้อกูลให้ รู้ว่า ปรมัตถธรรมที่ศึกษาถูกต้องตรงตามความเป็นจริงอย่างไร แต่ถ้าปฏิบัติถูก ก็พิสูจน์ธรรมที่ได้ศึกษาว่า ตรงตามความเป็นจริงทุกประการ
ถ. ในสูตรหลายๆ สูตรที่พระพุทธองค์ทรงเตือนพุทธบริษัททั้งหลายว่า ขณะที่ประชุมกันนี้ ถ้าไม่กล่าวธรรมีกถา ก็พึงดุษณี (นิ่ง) หลายๆ สูตรกล่าวไว้อย่างนี้ ซึ่งคงจะหมายถึงว่า ท่านทรงเตือนให้ระลึกถึงว่า ให้นิ่งเสียดีกว่าที่จะไปกล่าว วจีทุจริตต่างๆ ทั้ง ๔ ประเภทนี้ จะเป็นอย่างนี้หรือไม่ครับ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๔ ตอนที่ ๔๓๑ – ๔๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 440
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 441
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 442
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 443
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 444
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 445
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 446
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 447
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 448
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 449
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 450
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 451
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 452
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 453
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 454
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 455
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 456
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 457
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 458
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 459
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 460
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 461
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 462
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 463
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 464
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 465
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 466
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 467
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 468
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 469
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 470
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 471
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 472
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 473
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 474
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 475
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 476
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 477
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 478
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 479
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 480