แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 436
ครั้งที่ ๔๓๖
สุ. ในขณะที่นั่งอยู่นี้ มีรูปที่เกิดจากกรรม รูปที่เกิดจากจิต รูปที่เกิดจากอุตุ รูปที่เกิดจากอาหาร
รูปที่เกิดจากจิตเป็นวิการรูปได้ รูปที่เกิดจากอุตุเป็นวิการรูปได้ รูปที่เกิดจากอาหารเป็นวิการรูปได้ เพราะว่าสามารถเป็นรูปที่พิเศษ คือ เบา อ่อน ควรแก่การงานได้ แต่ไม่ใช่ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน
ถ. อีกท่านหนึ่งบอกว่า ในขณะที่นั่งอยู่นี้ รูปก็ดี นามก็ดี ที่เกิดในขณะนั่งนั้น ก็ดับแล้วในขณะนั่ง หรือรูปก็ดี นามก็ดี เกิดในขณะยืน ก็ดับแล้วในขณะที่ยืนนั่น ยังไม่ทันที่จะยกเท้าก้าวย่างไป รูปก็ดี นามก็ดี ที่เกิดในขณะที่ย่างหรือเดินนั้นก็ดับแล้วในขณะที่เดิน ยังไม่ทันหยุด อย่างนี้ท่านอาจารย์มีความเห็นว่าอย่างไรครับ
สุ. ถูกต้อง แต่ไม่ใช่ท่าทาง
ถ. ขอให้ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างอธิบายว่า ในขณะที่นั่งอยู่นี้ รูปเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นอย่างไร หรือว่านามที่เกิดขึ้นในขณะนั่งแล้วก็ดับในขณะนั่งนั้น เป็นอย่างไรครับ
สุ. ก่อนที่จะดับ ลักษณะของรูปต้องปรากฏก่อน ถ้าลักษณะของรูปไม่ปรากฏ หรือว่าไม่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ ดับไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะประจักษ์ว่าดับ จะต้องมีลักษณะที่กำลังปรากฏ
ถ. สมมติว่า ในขณะที่นั่งอยู่นี้ ได้ยินเสียงท่านอาจารย์บรรยายธรรม เสียงเป็นรูป ได้ยินนั้นก็ดับไปแล้ว อย่างนี้ชื่อว่า รูปดับใช่ไหมครับ
สุ. รูปก็ดับ นามธรรมที่ได้ยินก็ดับ แต่ปัญญาไม่ได้รู้ตรงลักษณะของเสียงที่ดับ ตรงลักษณะของได้ยินที่ดับจริงๆ
เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ยังไม่สมบูรณ์ถึงขั้นที่จะประจักษ์จริงๆ ในลักษณะของรูปธรรมที่ไม่ใช่นามธรรม ในลักษณะของนามธรรมที่ไม่ใช่รูปธรรม จึงยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของทั้งนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกิดดับจริงๆ อย่างรวดเร็ว เพียงแต่เข้าใจตามท่านที่ได้ตรัสรู้ความจริงแล้วว่า เสียงก็ดับ ได้ยินก็ดับ แต่ว่าไม่ใช่ความรู้ของท่านผู้ฟังเอง ไม่ใช่การประจักษ์ของท่านผู้ฟังเอง
สำหรับท่านผู้ฟังเองนั้น ยังจะต้องอาศัยกาลเวลาที่สติจะระลึกรู้ในลักษณะของเสียงที่ปรากฏ ในสภาพที่ปรากฏว่า เป็นสภาพที่ต่างกับสภาพที่รู้เสียง และสติจะต้องระลึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตรงต่อความเป็นจริงว่า เป็นปัญญาที่เพิ่มขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้น อย่าไปรีบรวบรัดว่า ดับหมดแล้ว ทั้งนาม ทั้งรูป รู้แล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องเจริญสติปัฏฐานเลย
ถ. ที่ท่านผู้ฟังได้ซักถามท่านอาจารย์เมื่อสักครู่นี้ ผมขออนุญาตสรุปว่าอย่างนี้ จะถูกต้องหรือเปล่าก็ไม่ทราบ คือ การเจริญอิริยาบถนี้ ถ้าเจริญทางกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะเป็นเพียงความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว อย่างนี้เท่านั้นเอง ไม่มีอย่างอื่น นี่เฉพาะกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเท่านั้น แต่อิริยาบถก็มี ๔ ประเภท นั่งอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี ไม่ใช่เฉพาะจะมาระลึกถึงทาง กายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างเดียว อาจจะไปนึกถึงรูปนามทางตา รูปนามทางหู รูปนามทางจมูก รูปนามทางลิ้น รูปนามทางกาย การระลึกอย่างนี้ ไม่ใช่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่กลายเป็นระลึกในฐานะที่เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน กระผมเข้าใจว่าอย่างนี้ ถ้าจะเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ระลึกแค่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เท่านี้เอง นอกจากนั้น เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งนั้น
แต่ทีนั่งอยู่นี้ จะระลึกรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวเพียงอย่างเดียวไม่ได้หรอก ทางอื่น ทางตาก็เห็น ทางหูก็ได้ยิน ทางจมูกก็ได้กลิ่น ทางลิ้นก็รู้รส กระผมขออนุญาตสรุปว่าอย่างนี้ จะตรงหรือไม่ตรงก็สุดแล้วแต่ท่านอาจารย์
อีกอย่างหนึ่ง ผมได้ยินมาว่า การนั่ง ยืน นอน เดินนี้อาศัยจิตตชวาโยธาตุ วาโยธาตุที่เกิดจากจิตนี้ทำให้อิริยาบถเป็นไป คือ ให้อยู่ในอาการที่สมมติเรียกกันว่านั่ง หรือยืน หรือนอน หรือเดิน บางท่านก็บอกว่า เมื่อเกิดจากจิตตชวาโยธาตุ เกิดจากธาตุลมอย่างนี้ เราก็ระลึกรู้ที่ตึงไหวอย่างเดียวไม่ได้หรือ รู้ที่ลมอย่างเดียว คือ ที่ตึง ที่ไหวอย่างเดียวไม่ได้หรือ ผมก็บอกว่า ที่ปรากฏนั่น ปรากฏธาตุลมอย่างเดียวหรือเปล่า หรือว่าปรากฏอย่างอื่นด้วย เช่น ร้อนก็ปรากฏ เย็นก็ปรากฏ ถ้าเป็นอย่างนี้ เราจะไม่ระลึกรู้หรือ จะระลึกรู้ลมอย่างเดียว จะระลึกรู้ได้อย่างไร
สุ. ข้อสำคัญที่ปัญญาจะรู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริงประการหนึ่ง ก็คือ เลือกรู้ตามความต้องการไม่ได้ ถ้าท่านผู้ฟังท่านใดยังเจาะจงที่จะรู้ลักษณะนั้นลักษณะนี้ จะไม่เป็นปัญญาที่สมบูรณ์ที่จะประจักษ์ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา และสภาพธรรมใดจะปรากฏ ก็เลือกไม่ได้จริงๆ
สำหรับจิตตชวาโยธาตุ ยกขึ้นมาเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า มีเฉพาะจิตตชวาโยธาตุ แต่ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ อาโปธาตุก็มีด้วย ซึ่งลักษณะของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมนี้ แล้วแต่ว่าลักษณะใดจะปรากฏขณะที่นั่ง ขณะที่นอน ขณะที่ยืน ขณะที่เดิน ซึ่งแม้ขณะที่เดิน เตโชธาตุปรากฏก็ได้ แม้ขณะที่นั่ง วาโยธาตุ หรือปฐวีธาตุ หรือเตโชธาตุก็ปรากฏได้ และสำหรับท่านผู้มีปัญญาบารมีอบรมไว้ อาโปธาตุก็ปรากฏได้
เพราะฉะนั้น แล้วแต่แต่ละบุคคลแต่ละท่านจริงๆ ที่ท่านจะมีปัญญาที่สะสมมามากน้อยเท่าไร แต่ให้ทราบว่า ถ้าสภาพธรรมปรากฏ แต่เลือกที่จะไม่รู้ ผิดไหม ก็ยังคงเป็นความไม่รู้อยู่นั่นเอง
กำลังนั่ง เห็น กำลังยืน เห็น กำลังเดิน ได้ยินเสียง กำลังนอน อาจจะมีกลิ่นปรากฏกระทบ แล้วแต่ว่าอะไรจะปรากฏ เมื่อสภาพธรรมใดปรากฏ จะละความยึดถือการติดข้องในสภาพธรรมนั้นได้อย่างไร มีทางเดียวจริงๆ คือ สติระลึกรู้ทันทีที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ แม้ในความจำ แม้ในปัญญา แม้ในสติ แม้ในมานะ แม้ในอิสสา แม้ในมัจฉริยะ แม้ในสภาพธรรมใดๆ ทั้งหมดที่สะสมมา เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดปรากฏตามความเป็นจริง ผู้อบรมสติปัฏฐานเป็นผู้ที่อบรมเหตุ คือ การรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์เป็นวิปัสสนาญาณที่จะประจักษ์ว่า สภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลทั้งสิ้น นี่เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสด้วยการรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้น
ไม่ใช่ไปนั่งเลือกว่า จะไม่รู้เห็น ไม่รู้ได้ยิน จะระลึกรู้แต่เฉพาะกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเท่านั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ไม่สามารถที่จะทำให้ละวิจิกิจฉานุสัย ความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้เลย
ถ้าท่านเพียงแต่เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองตามความเป็นจริง และเริ่มเห็นกิเลสของตัวเองตามความเป็นจริงว่า มากจริงๆ หนาแน่นเหลือเกิน เหนียวแน่นมาก และก็มีหนทางเดียวจริงๆ คือ สติเกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะตามความเป็นจริงเท่านั้น จึงจะสามารถละความสงสัย ละความไม่รู้ ละความเห็นผิดในนามธรรมและรูปธรรมได้ ถ้าไม่ตรงอย่างนี้ ก็ไม่มีโอกาสที่จะดับกิเลสได้เลย
มีจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง เขียนที่บ้านเลขที่ ๙๒ หมู่ที่ ๑ แขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง กทม. วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ มีข้อความว่า
กราบเรียนท่านอาจารย์สุจินต์ที่เคารพ
กระผมรับฟังการบรรยายแนวทางเจริญวิปัสสนา มีบางครั้งที่ขาดการรับฟังไปบ้าง แต่ก็ทำให้กระผมได้รับความรู้ที่ตรงและถูกต้องตามธรรมเป็นอันมาก กระผมขอกราบขอบพระคุณและขออนุโมทนา ที่ท่านอาจารย์กรุณาให้ธรรมอันยิ่งแก่กระผม และท่านที่รับฟังอื่นๆ ได้มีปัญญาและความรู้ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นนิสัยปัจจัย และในการบรรลุธรรมอันเป็นทางเกษมได้ ในเมื่อมีเหตุปัจจัยให้เป็นเช่นนั้น กระผมขอซักซ้อมความเข้าใจในคำบรรยายของท่านอาจารย์ ตามที่กระผมรับฟังมาดังนี้
สิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง เช่น เวลาที่รับฟังคำบรรยายอยู่ขณะนี้ เสียงของท่านอาจารย์ปรากฏทางหู ทางตาก็มีสีสันต่างๆ ปรากฏ เย็น ร้อน อ่อน แข็งปรากฏทางกาย เมื่อมีสติพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ทางหู ก็มีเสียงของท่านอาจารย์เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้รับผล คือ การได้ยิน เมื่อขาดเสียงของท่านอาจารย์ หรือกระผมไม่ได้รับฟัง ผลคือ ความรู้ต่างๆ ที่ผมควรได้ก็ไม่เกิดขึ้น ธรรมต่างๆ ต้องอาศัยเหตุผลของกันและกันจึงเกิดขึ้น ไม่ควรยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
กระผมเข้าใจอย่างนี้ จะถูกหรือผิดอย่างไร ขอให้ท่านอาจารย์กรุณาอธิบายให้กระผมได้เข้าใจ เพื่อจะได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
สุ. ท่านผู้ฟังเข้าใจไม่ผิด แต่ว่าเรื่องของการอบรมปัญญาเป็นเรื่องละเอียด และจะรู้ชัดเพิ่มขึ้นจริงๆ อย่างคำที่ว่า ไม่ควรยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด จะทำอย่างไรกับการไม่ควร เรื่องไม่ควรนี่ ไม่ควรแน่ แต่ทำอย่างไรจึงจะไม่ยึดถือได้จริงๆ นี่เป็นเรื่องที่สำคัญ
เพราะฉะนั้น มีทางเดียวเท่านั้น คือ เข้าใจลักษณะของสติ ซึ่งเป็นสภาพที่ระลึกได้ ระลึกในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ต้องคิด หรือต้องนึก แต่ว่าแทนที่จะหลงลืมเป็นไปกับตัวตน สัตว์ บุคคลต่างๆ ก็ให้รู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏแต่ละลักษณะ อาจจะระลึกทางตา มีความระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น
วิริยะ คือ ความเพียรที่เป็นอาตาปีนั้น ไม่ใช่ให้เพียรไปทำอย่างอื่น แต่เป็นวิริยะที่เกิดพร้อมกับสติที่ระลึกได้ขณะนั้น เริ่มที่จะสังเกต สำเหนียก และรู้ว่า ที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ทางตา ไม่ใช่สภาพคิดนึก แต่เป็นสภาพรู้ที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา
ยาก แต่ว่าระลึกบ่อยๆ จนง่ายขึ้นได้ จนเป็นความชำนาญได้ ไม่ว่าจะเห็นในขณะใด แต่จะต้องระลึกรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจริงๆ เช่น กำลังเห็น
บางท่านบอกว่า ระลึกไม่ได้
ทั้งๆ ที่กำลังเห็น คิดถึงเรื่องอื่นได้ไหม ได้
ทำไมคิดถึงเรื่องอื่นได้ ในทางกลับกัน แทนที่จะคิดถึงเรื่องอื่น ก็รู้ในขณะที่กำลังเห็น รู้ตรงที่เห็นเดี๋ยวนี้ ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เอง คิดถึงอย่างอื่นยังคิดได้ ระลึกได้สารพัด กำลังเห็นอยู่ จะระลึกไปถึงเมื่อวานนี้ก็ได้ เดือนก่อนก็ได้ แล้วแต่ว่าจิตจะนึกไป ระลึกไป ก็ยังระลึกได้ แต่ทำไมที่กำลังเห็น แทนที่จะไประลึกถึงเมื่อวานนี้ หรือเรื่องอื่น ก็ให้รู้ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้จริงๆ ว่า เป็นแต่เพียงสภาพรู้อย่างหนึ่งเท่านั้น
เวลาที่ได้ยินก็เหมือนกัน กำลังได้ยินอยู่ ยังเคยนึกไปเรื่องอื่นได้หลายเรื่อง เพราะฉะนั้น การระลึกได้ที่เสียงก็ดี หรือว่าที่ได้ยินก็ดี ย่อมสามารถที่จะระลึกได้ ถ้าอบรม แต่ไม่ใช่ว่า ท่านจะชำนาญทันที พอท่านฟังแล้วสติก็สามารถที่จะเกิดระลึกได้ แต่ต้องอาศัยการฟังบ่อยๆ การฟังย่อมอุปการะเกื้อกูลแก่ปัญญา
ถ. ผมปฏิบัติแล้วดีใจ นึกว่า เรานี่วิเศษกระมัง ชักดีขึ้นแล้ว ก็ดีอกดีใจ มาคุยกับอาจารย์ มาถามอาจารย์ อาจารย์บอกว่าไม่ถูก ผมโมโหทันที ปฏิบัติมาตั้งนาน อาจารย์บอกว่าไม่ถูก ก็อารมณ์เสีย ไม่ปฏิบัติแล้ว เฉยๆ ไป ๒ เดือน ที่ถามท่าน คือ เห็นรูป ก็บอกตัวเองว่า ที่เห็นทางตาเป็นนามธรรม ที่ปรากฏเป็นรูปธรรม อาจารย์บอกว่าไม่ใช่ ผมก็บอกว่า ทำไม ถ้าเห็นทางตาแล้วเฉยๆ จะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นรูป เป็นนาม ผมบอกว่า อาจารย์เคยสอนอย่างนี้
จริงๆ อาจารย์ท่านสอนถูก ผมยึดไปเอง เห็น นึกไปเลยว่า นี่เห็นทางตา ทางหู พอได้ยินเสียง ก็นึกไปเลยว่า รู้ทางหู อย่างนี้ทุกครั้งๆ พอมาบอกอาจารย์ ปฏิบัติมาตั้งนาน อาจารย์บอกว่ายังไม่ถูก ไม่ถูก ก็ไม่ปฏิบัติ เบื่อ ก็มาฟังอย่างนั้นแหละ ไม่ยินดียินร้าย เฉยๆ ฟังไปๆ ฟังๆ ท่านมาเรื่อย อยู่ๆ เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าไม่เก่ง แต่ว่าดีขึ้น
สุ. ขอบพระคุณที่ได้กรุณาเล่าเรื่องการปฏิบัติของท่านให้สหายธรรมฟัง ขอเรียนให้ท่านผู้ฟังทราบว่า ดิฉันทราบว่า ดิฉันถูกโกรธบ่อยๆ เพราะว่ามีความเห็นไม่ตรงกับท่านผู้ฟังที่กำลังพอใจอยู่ ท่านกำลังพอใจว่า ท่านรู้นาม รู้รูปมากเหลือเกิน และได้เรียนชี้แจงให้ท่านรู้ ให้ท่านได้เข้าใจว่า ยังมีตัวตนแฝงอยู่มากมายเหลือเกินในขณะใดบ้าง ซึ่งเมื่อเรียนชี้แจงครั้งแรก ท่านไม่พอใจกันเลยสักคนหนึ่ง เพราะสิ่งที่ท่านยึดถืออยู่ คิดว่าได้มาก กลายเป็นสิ่งที่ว่างเปล่าไป แต่ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ กิจของปัญญานั้น คือ ละ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก แม้ในขั้นต้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๔ ตอนที่ ๔๓๑ – ๔๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 440
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 441
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 442
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 443
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 444
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 445
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 446
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 447
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 448
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 449
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 450
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 451
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 452
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 453
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 454
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 455
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 456
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 457
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 458
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 459
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 460
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 461
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 462
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 463
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 464
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 465
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 466
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 467
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 468
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 469
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 470
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 471
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 472
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 473
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 474
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 475
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 476
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 477
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 478
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 479
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 480