แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 437
ครั้งที่ ๔๓๗
ถ. อาจารย์กล่าวว่า ถ้าไม่มีสติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงปัญญาก็เกิดยาก และการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงก็ยาก แต่เท่าที่ผมปฏิบัติมาตามที่อาจารย์บรรยายนี้ ขณะที่สติเกิดขึ้น หรือว่ามีความรู้สึกตัวแล้ว ก็ยังรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงยากอีกเหมือนกัน
ยากตรงที่ว่า ขณะที่เห็น เมื่อเห็นแล้วมีความรู้สึกตัวว่า การเห็นนี้ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ขณะที่เห็นก็นึกในใจอย่างนั้น ซึ่งขณะที่รู้นั้น รู้ตรงจริงๆ ที่ขณะที่เห็นนั่นหรือไม่ เราก็ยังไม่รู้อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผมว่าก็เดากันไป บางครั้งก็ตรง บางครั้งก็ไม่ตรง สำหรับทวารอื่นๆ การได้ยินก็เหมือนกัน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสถูกต้องอะไรต่างๆ ผมก็เดาอีก แต่ก็รู้ว่าไม่ตรงเสมอทุกครั้ง
เท่าที่ผมปฏิบัติมา จะถูกหรือผิด อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า ขณะที่ผมเห็นนั้นก็รู้ว่า ลักษณะที่เห็นเป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง และตรึกในใจว่า การเห็นนี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน การเห็นนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ผมก็ตรึกในใจ
อย่างนี้จะเป็นความเพียรตามที่อาจารย์บรรยายว่า เพียรพิจารณาๆ ลักษณะของความเพียรจะเป็นอย่างนี้หรือไม่
สุ. ขออนุโมทนาท่านผู้ฟังที่ท่านกล่าวว่า ยาก ถ้าท่านผู้ใดกล่าวว่า ง่าย ไม่ควรแก่การอนุโมทนาเลย เพราะว่าไม่จริง ถ้ายากก็จริง อย่างที่ท่านผู้ฟังได้เรียนให้ทราบว่า ไม่แน่ใจว่าสติระลึกรู้ตรงลักษณะหรือเปล่า นี่เป็นขั้นเริ่มต้นที่จะต้องเป็นอย่างนี้ เพราะถ้าแน่ใจจริงๆ ก็เป็นวิปัสสนาญาณ ที่สามารถจะประจักษ์ในอริยสัจธรรมได้ แต่กว่าจะถึง หรือก่อนจะถึง ก็ต้องเต็มไปด้วยความไม่รู้บ้าง ความสงสัยบ้าง แม้สติจะเริ่มเกิดแล้วก็ตาม
เมื่อเป็นผู้ตรงอย่างนี้ ก็จะรู้ว่า ถ้ายังไม่ใช่ปัญญาจริง ก็ต้องยังไม่ใช่ปัญญาจริง และการที่จะระลึกตรงขึ้น หรือว่าบางครั้งก็ตรง บางครั้งก็ไม่ตรง แต่ตรงเป็นส่วนน้อย ก็ต้องตามขั้นของปัญญาที่เกิดขึ้น และบุคคลนั้นเองก็รู้ตามความเป็นจริงด้วย ซึ่งการรู้แม้เพียงขั้นนี้ก็เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง ที่จะประคับประคองให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมถูกต้องยิ่งขึ้น
จากการที่รู้ว่าบางครั้งก็ตรง บางครั้งก็ไม่ตรง ก็สำเหนียก สังเกตเพิ่มขึ้นจนกระทั่งตรงขึ้น และเมื่อตรงขึ้น ปัญญาก็รู้ความต่างกันของในครั้งที่ยังไม่ตรงกับครั้งที่ตรงว่าต่างกันอย่างไร ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และก็เริ่มอบรมเพิ่มขึ้น แต่จะเป็นไปอย่างช้าๆ ไม่ได้เป็นไปอย่างรวดเร็วเลย จนกระทั่งปัญญารู้ตามความเป็นจริง ไม่หลอกตัวเอง จึงจะเป็นการอบรมปัญญาที่แท้จริง
ถ. ขณะที่กำลังตรึกว่า เห็นไม่เที่ยง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นและดับไป ขณะนั้นเป็นความเพียรหรือเปล่า
สุ. วิริยเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เว้นอเหตุกจิต ๑๖ ดวง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องความเพียร โลภมูลจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งก็มีวิริยเจตสิก เพียรเป็นโลภะเกิดขึ้น คือ ขณะที่โลภะเกิดขึ้นก็มีความเพียรเกิดร่วมด้วยแล้ว หรือว่ากุศลจิตก็ตามที่เกิด ก็มีความเพียรเกิดร่วมด้วย เพียงแต่ว่าจะเพียรในทางใด และลักษณะอาการของความเพียรจะปรากฏหรือไม่
สำหรับผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน แม้ความเพียรเกิดขึ้น บางครั้งก็ไม่รู้ แต่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมละเอียดขึ้น สภาพของเจตสิกที่ทรงแสดงไว้ ย่อมปรากฏแก่บุคคลนั้นได้ตามขั้นของปัญญา ตามขั้นของการศึกษา ซึ่งจะเกื้อกูลประกอบทำให้ปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน แต่ก็มีเพียงลักษณะหนึ่งเท่านั้นที่สติกำลังระลึกรู้เป็นอารมณ์ในขณะนั้นได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะสงสัยว่า เป็นความเพียรหรือเปล่า
เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นตัวตนหรือเปล่าที่คิดอย่างนั้น เป็น หรือไม่เป็น ที่คิดว่า สภาพธรรมในขณะนี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ที่กำลังคิดอย่างนั้น เป็นตัวตนหรือเปล่า ก็เป็น
เพราะฉะนั้น สติจะต้องระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพที่ตรึก หรือคิดนึกเท่านั้น ไม่ว่าจะคิดนึกเรื่องอะไรทั้งสิ้น ถ้าสติเกิดก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงลักษณะที่ตรึก เป็นสภาพที่คิด ไม่ใช่สภาพที่เห็น ที่ได้ยิน
เป็นเรื่องที่ต้องอบรมจริงๆ จนกว่าจะละ จะคลาย จะรู้ชัดขึ้น และผู้นั้นเอง จะเป็นผู้ที่ตอบได้ตรงตามสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งการตอบได้ การรู้ตามความเป็นจริงก็เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง ที่เนื่องมาจากสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น แม้ว่าจะยังไม่ประจักษ์ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่สติก็เกิดและรู้ว่า ขณะนั้นยังเป็นตัวตนอยู่ ถ้ารู้อย่างนี้ สติก็จะระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมละเอียดขึ้น เพื่อละการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน จนกว่าจะดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท
เป็นชีวิตปกติธรรมดาจริงๆ ธรรม คือธรรมดา เป็นธรรมดา ทุกขณะที่เกิดขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น
ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งสงสัยว่า ปกติในชีวิตประจำวัน คืออย่างไร
ถ้าปกติท่านเคยดื่มสุรา ท่านเกิดจะไม่ดื่มขึ้นมา ก็ไม่ใช่ปกติของท่านแล้ว ท่านคิดว่าเป็นอย่างนั้น แต่ความจริง คือ สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ขณะที่กำลังจะดื่ม ยับยั้งชั่งใจไม่ได้ ห้ามใจไม่ได้ ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรม รูปธรรม หรือขณะใดที่เกิดหิริโอตตัปปะ มีศรัทธาที่จะไม่ดื่มเหล้า ขณะนั้นเกิดไม่ดื่มจริงๆ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ปัจจัยสะสมมาเป็นปกติที่จะเกิดสภาพธรรมนั้น สภาพธรรมนั้นก็เกิด ไม่มีสภาพธรรมใดเลยที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ โดยไม่มีเหตุปัจจัยที่สะสมมา
ไม่ว่าขณะใดจะดื่มสุรา จะไม่ดื่มสุรา ก็ไม่ใช่ตัวตนทั้งหมด เกิดแล้วเป็นปกติ ตามปกติของปัจจัยที่สะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น เฉพาะกาลนั้นๆ แต่ขอให้สติระลึกรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจึงไม่เดือดร้อนใจ ไม่เอื้อม ไม่หวังอนาคตกาลซึ่งยังไม่มาถึงว่า จะทำอย่างไร จะบังคับอย่างไร จะเป็นอย่างไร แต่เป็นผู้ที่ระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วเพราะมีเหตุปัจจัย เช่น กำลังเห็นอย่างนี้ เห็นแล้ว กำลังเห็น มีปัจจัยเกิดแล้ว สติก็ระลึกรู้ ไม่ต้องห่วงข้างหน้าว่าจะเห็นอะไร หรือว่าจะได้ยินอะไร หรือจะเป็นสุขเป็นทุกข์อย่างไร เพราะแม้แต่จะคิดเตรียมไว้ สภาพธรรมก็ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นไปตามที่คิดเตรียมไว้ แต่สภาพธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่สะสมมาที่จะเกิดขึ้น เป็นปกติของสภาพธรรม
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงเป็นการระลึกรู้สภาพธรรมตามปกติที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยที่สะสมมา
มีท่านผู้หนึ่งถามว่า ที่ว่าจิตบังคับไม่ได้นั้น ทำไมนักแสดงหัวเราะ ร้องไห้ก็ได้
ขณะที่กำลังหัวเราะ นักแสดงผู้นั้นมีจิตไหม ขณะที่กำลังร้องไห้ นักแสดงผู้นั้นมีจิตไหม ถ้าไม่มีจิตหัวเราะไม่ได้ ร้องไห้ไม่ได้ และจิตของนักแสดงในขณะที่กำลังหัวเราะก็ดี หรือกำลังร้องไห้ก็ดี จะต้องเป็นไปในเรื่องที่จะให้เกิดอาการหัวเราะขึ้น ในเรื่องที่จะให้เกิดการร้องไห้ขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่บังคับให้จิตทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยความเป็นตัวตน แต่เพราะสภาพที่กำลังระลึกถึงสิ่งที่จะให้เกิดอาการหัวเราะ หรือที่จะให้เกิดอาการร้องไห้ ซึ่งแม้ในขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยให้มีการหัวเราะเกิดขึ้น หรือให้มีการร้องไห้เกิดขึ้น
ถ้าไม่ระลึกไปในเรื่องที่จะให้หัวเราะ จะหัวเราะได้ไหม ถ้าไม่ระลึกไปในเรื่องที่จะให้เกิดการร้องไห้ จะเกิดการร้องไห้ได้ไหม ก็ไม่ได้ ต้องมีจิตที่กำลังคิดที่จะให้เป็นไปอย่างนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดการหัวเราะ เป็นปัจจัยให้เกิดร้องไห้ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และไม่ใช่เป็นการบังคับ แต่เพราะจิตกำลังเป็นสภาพที่คิดที่จะให้มีการร้องไห้ การร้องไห้จึงได้เกิดขึ้น เป็นสภาพของจิตที่คิดในเรื่องของการหัวเราะ การหัวเราะจึงเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่หมายความว่า ไปบังคับด้วยความเป็นตัวตน แต่จิตนั้นเองที่จะต้องเป็นไปในขณะนั้น ที่จะให้เกิดอาการหัวเราะ หรือให้เกิดอาการร้องไห้ขึ้น
นักแสดงบางครั้งก็แสดงไม่ได้ใช่ไหม เพราะอะไร เพราะจิตไม่น้อมไปอย่างนั้น การแสดงให้แนบเนียนอย่างนั้น ให้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น ก็เกิดไม่ได้ ต่อเมื่อจิตประเภทอย่างนั้นเกิดขึ้น ทำให้อาการของรูปอย่างนั้นเป็นไปได้ อาการของรูปอย่างนั้นจึงเป็นไปได้ แต่ถ้านักแสดงไม่สามารถที่จะน้อมจิตไปให้เป็นอย่างนั้น การหัวเราะก็หัวเราะไม่ออก การร้องไห้ก็ร้องไห้ไม่ได้ เมื่อจิตที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดการหัวเราะ หรือการร้องไห้นั้นไม่เกิดขึ้น
ถ. ผมเพิ่งได้ฟังคำบรรยายการเจริญวิปัสสนาของอาจารย์ประมาณสัก ๖ เดือนเท่านั้น อยากจะให้อาจารย์ตรวจทานความเข้าใจของผม ผมจะพูดถึงรูปก่อนว่ารูป หมายถึง สี เสียง กลิ่น รส สัมผัส และที่เรียกว่านามนั้น หมายถึง เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ได้สัมผัส เมื่อคืนนี้ผมฟังเรื่องท่านั่ง ผมมีความเห็นว่า ไม่มีท่านั่งเหมือนกัน เพราะว่าไม่ใช่สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ปรากฏ ผมคิดว่า ท่านั่ง คล้ายๆ กับจำมา ไม่ใช่การรู้ลักษณะที่ตรงต่อสภาพธรรม
สุ. ท่านผู้ฟังได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานในเวลาไม่นาน ประมาณ ๖ เดือน แต่ก็มีความเข้าใจถูกต้องในเรื่องของสภาพปรมัตถธรรมที่ปรากฏ
ในเรื่องของท่าทาง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สามารถจะให้ความจริงได้ เพราะว่ารูปที่จะปรากฏให้รู้ทางตา ได้แก่ สีสันวัณณะต่างๆ ทางหู ได้แก่ เสียง ทางจมูก ได้แก่ กลิ่น ทางลิ้น ได้แก่ รส ทางกาย ได้แก่ โผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ซึ่งมีลักษณะจริงๆ ปรากฏ
และรูปที่จะรู้ได้ทางใจในวันหนึ่งๆ ก็ไม่พ้นจากสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั่นเอง และถ้าอบรมเจริญปัญญา ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็จะประจักษ์ว่า ไม่ใช่มีแต่เฉพาะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะเท่านั้น ความนึกคิดก็เป็นนามธรรม ความสุข ความทุกข์ การจำได้ โลภะ โทสะ กุศล อกุศลทั้งหลายก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงลักษณะของธรรมแต่ละชนิด แต่ละลักษณะซึ่งมีจริง และเกิดขึ้นปรากฏให้สติสามารถที่จะระลึกจนรู้ชัดได้ว่า ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล
ธรรมทั้งหลายเป็นของที่มีจริงและปรากฏอยู่เสมอ พร้อมที่จะให้สติระลึกสำเหนียก รู้ จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ได้ว่า ลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างไร
ทั้งๆ ที่กำลังมีนามธรรมอยู่เดี๋ยวนี้ คือ กำลังเห็นอยู่เดี๋ยวนี้ กำลังได้ยินอยู่เดี๋ยวนี้ กำลังคิดนึกอยู่เดี๋ยวนี้ กำลังจำได้อยู่เดี๋ยวนี้ แต่ถ้าสติไม่เกิด ไม่สำเหนียก ไม่สังเกต จะไม่รู้เลยว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะของธรรมแต่ละชนิดเท่านั้น
ถ. ผมได้สนทนากับพระภิกษุรูปหนึ่งว่า สมัยนี้การบรรยายธรรมทางวิทยุนี้มากมายเหลือเกิน ส่วนมากเป็นการสอนปฏิบัติวิปัสสนาบ้าง หรือว่าปฏิบัติเพื่อรู้อริยสัจ ๔ บ้าง และข้อปฏิบัติก็แตกต่างกันไป อาจารย์นี้ก็สอนให้ปฏิบัติแบบนี้ อาจารย์โน้นให้ปฏิบัติแบบโน้น เมื่อข้อปฏิบัติมีหลายๆ อย่างแบบนี้ ก็ย่อมมีถูกบ้าง ผิดบ้าง เป็นแน่นอนที่สุด แต่ทำไมผู้ฟังไม่เลือก รู้ว่าอาจารย์นี้สอนข้อปฏิบัติที่ผิด เขาก็ฟัง อาจารย์โน้นสอนข้อปฏิบัติที่ถูก เขาก็ฟัง คือ ฟังทั้งหมด มีรายการอะไรเขาฟังหมดทั้งนั้น ผมว่าการฟังแบบนี้ไม่ดีนะ
พระรูปนั้นก็ตอบว่า เท่าที่ท่านได้ยินมา ก็ดีทั้งนั้น เพราะเขาไม่ได้สอนให้ใครไปกินเหล้า ลักขโมยของใคร ทำไมจะไปว่าของเขาไม่ดี
แบบนี้ก็น่าคิดอยู่ ฟังดูเผินๆ ก็ถูกของท่าน แต่ผมฟังพระสูตรสูตรหนึ่งที่อาจารย์บรรยายไปแล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ถ้าผู้ใดปฏิบัติมิจฉามรรคเป็นอสัตบุรุษ และผู้ที่ปฏิบัติมิจฉามรรคแล้ว ยังสั่งสอนชักชวนให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม เป็นอสัตบุรุษยิ่งกว่าอสัตบุรุษ เพราะฉะนั้น คำพูดของพระรูปนั้นจะผิดหรือถูกอย่างไร
สุ. ที่ท่านผู้ฟังถาม หมายความว่า ที่มีผู้ปรารภว่า ธรรมบรรยายที่ได้ฟังในรายการต่างๆ ถูกทั้งหมด จะเป็นการถูกต้องไหม
ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา จากคำพูดที่ได้ยินได้ฟังนี้ ถ้าพูดเรื่องจริงก็ถูก แต่ถ้าพูดเรื่องไม่จริงก็ไม่ถูก แล้วแต่ว่าจะพูดเรื่องอะไร
อย่างพูดเรื่องท่านั่งเป็นรูปปรมัตถ์ จริงหรือไม่จริง ถ้าไม่จริง จะว่าถูกได้ไหม เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องๆ ไป ซึ่งท่านจะพิจารณาธรรมที่ได้ยินได้ฟัง และจะมีความเห็นว่าถูกผิดอย่างไรนั้น ก็พิจารณาได้จากคำพูดนั้นๆ ถ้าพูดถึงเรื่องจริง สิ่งที่มีจริง สภาพธรรมที่มีจริง ก็ถูก แต่ถ้าเข้าใจผิดคิดว่า เป็นสภาพธรรมโดยไม่มีลักษณะจริงๆ นั่นก็เป็นความเข้าใจผิด
เป็นเรื่องที่ทุกท่านก็พิจารณาได้ ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็พิจารณาอีก ประกอบกับการศึกษาหลายๆ ด้าน ไตร่ตรองโดยถี่ถ้วนรอบคอบ เพื่อที่จะได้ทราบว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้น ตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ ตรงตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหรือไม่
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๔ ตอนที่ ๔๓๑ – ๔๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 440
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 441
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 442
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 443
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 444
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 445
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 446
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 447
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 448
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 449
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 450
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 451
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 452
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 453
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 454
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 455
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 456
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 457
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 458
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 459
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 460
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 461
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 462
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 463
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 464
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 465
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 466
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 467
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 468
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 469
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 470
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 471
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 472
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 473
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 474
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 475
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 476
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 477
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 478
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 479
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 480