แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 443
ครั้งที่ ๔๔๓
ข้อความต่อไปมีว่า
ภิกษุทั้งหลาย ก็ข้ออื่นยังมีอีก อริยสาวกละอทินนาทานแล้ว ... ละกาเมสุมิจฉาจารแล้ว ... ละมุสาวาจาแล้ว ... ละเหตุอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ในเพราะดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยแล้ว ... ภิกษุทั้งหลาย ทาน ๕ เหล่านี้แลเป็นมหาทาน ... อันสมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูทั้งหลายไม่ลบล้างแล้ว ... ดังนี้แล้ว กล่าวอีกว่า ก็ศีล ๕ นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ยัญ เพราะความเป็นศีลที่ พระอริยสาวกสมาทานแล้ว ด้วยตั้งจิตว่า เราจักสละความรักตนและความรักชีวิตแล้ว รักษา
เพราะฉะนั้น ศีล ๕ นี้เป็นยัญ เพราะเหตุว่าสละความรักตนและความรักชีวิต แล้วรักษา สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า
ส่วนข้อค้านก็มี ใน ข้อ ๒๓๙
พระอาจารย์ผู้โจทย์พึงทักท้วงว่า เบญจศีลเป็นไปในกาลทั้งปวง อนึ่ง เบญจศีลนั้น ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งวิมุตติโดยส่วนเดียว ส่วนสรณคมน์มีการอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าเป็นเหตุ เป็นบ่อเกิดแห่งวิมุตติโดยส่วนเดียวเทียว มิใช่หรือ
เป็นข้อค้านว่า ระหว่างศีล ๕ กับการถึงสรณคมน์ ศีล ๕ นั้นไม่เป็นบ่อเกิดแห่งวิมุตติ คือ เพียงศีล ๕ เท่านั้น ไม่น่าจะประเสริฐกว่าการถึงสรณคมน์
ข้อความต่อไปมีว่า
อย่างไรพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เบญจศีลมีผลมากกว่าสรณคมน์ไว้ใน กูฏทันตสูตร นั้น ข้าพเจ้าจักเฉลย ความที่เบญจศีลมีผลมากกว่าสรณคมน์นั้น พระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสหมายเอาเพียงเบญจศีลอย่างเดียว แต่พระองค์ตรัสหมายเอาเบญจศีลที่บุคคลตั้งอยู่ในสรณะแล้วจึงรักษา
เพราะฉะนั้น การรักษาศีล ๕ นี้ต่างกัน ศีล ๕ นอกพระพุทธศาสนาก็มี แต่บุคคลนั้นไม่ได้ถึงสรณคมน์ ซึ่งการเว้นจากการฆ่าสัตว์ การถือเอาทรัพย์ที่ผู้อื่นไม่ได้ให้ เหล่านี้ แม้ในคำสอนอื่นก็มี แต่ศีล ๕ ที่ผู้ประพฤติปฏิบัติไม่ใช่เป็นผู้ที่ถึงสรณคมน์ด้วย จึงไม่ประเสริฐเท่ากับการถึงสรณคมน์ หรือศีล ๕ ของผู้ที่ถึงสรณคมน์แล้ว
ด้วยเหตุนี้พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวไว้ใน อรรถกถากูฏทันตสูตร ใน สุมังคลวิลาสินี ข้อ ๒๓๙ ว่า สรณคมน์นั้นแล ประเสริฐกว่าเบญจศีลก็จริง ถึงดังนั้นเบญจศีลนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีผลมาก ด้วยอำนาจศีลที่บุคคลตั้งอยู่ในสรณะแล้วจึงรักษา
ขอกล่าวถึงเรื่องคำพูดของผู้ที่เป็นพาลและบัณฑิต ซึ่งจะรู้ได้จากคำพูด ใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ธัมมัฏฐวรรคที่ ๑๙ ข้อ ๒๙ มีข้อความว่า
บุคคลไม่ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม ด้วยเหตุที่วินิจฉัยอรรถคดีโดยผลุนผลัน
ไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรม การที่จะเป็นผู้ที่ชื่อว่า ตั้งอยู่ในธรรมนั้น ด้วยเหตุที่วินิจฉัยอรรถคดีโดยไม่ผลุนผลัน พิจารณาเหตุและผลให้ตรงจริงๆ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผลเป็นอย่างไรก็ย่อมมาจากเหตุของผลนั้น ถ้าเหตุกับผลไม่ตรงกันก็ไม่ชื่อว่า เป็นธรรมที่ถูกต้อง
ข้อความต่อไปมีว่า
ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิต วินิจฉัยอรรถคดีและความอันไม่เป็นอรรถคดีทั้งสอง วินิจฉัยบุคคลเหล่าอื่นโดยความไม่ผลุนผลัน โดยธรรมสม่ำเสมอ ผู้นั้นชื่อว่าคุ้มครองกฎหมาย เป็นนักปราชญ์ เรากล่าวว่า ตั้งอยู่ในธรรม
ธรรมที่ได้ยินได้ฟังอยู่ หรือที่จะได้ยินต่อไป หรือว่าที่ได้ยินมาแล้วก็ตาม ท่านจะต้องไตร่ตรองจริงๆ ให้ได้ความเข้าใจที่แท้จริง จึงจะได้ประโยชน์ที่เกิดจากธรรมที่ได้ฟัง มิฉะนั้นแล้วท่านอาจหลงผิด เชื่อผิด ปฏิบัติผิดได้โดยง่าย แต่ถ้าท่านพิจารณาไตร่ตรองในเหตุผลโดยรอบคอบ ก็ย่อมเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ข้อความต่อไปมีว่า
บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิต ด้วยเหตุเพียงที่พูดมาก บุคคลผู้มีความเกษม ไม่มีเวร ไม่มีภัย เราเรียกว่า เป็นบัณฑิต
ข้อความในพระสูตรนี้สั้น แต่ถ้าพิจารณาไตร่ตรองถึงชีวิตประจำวัน ในเรื่องของการพูด ในเรื่องของการฟัง ก็จะเห็นพยัญชนะในพระสูตรที่เตือนว่า บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิต ด้วยเหตุเพียงที่พูดมาก และถ้าเป็นในเรื่องของธรรม ก็ควรจะรวมไปถึงในเรื่องที่สอนมาก หรือว่าอธิบายมาก หรือว่าแสดงธรรมมาก แต่ว่าธรรมที่กล่าวจะต้องเป็นธรรมที่เป็นประโยชน์ เป็นเหตุผลจริงๆ ไม่ใช่ว่า ถ้าพูดมากได้ก็แสดงว่าถูก เพราะเหตุว่า บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิต ด้วยเหตุเพียงที่พูดมาก หรือถ้าจะกล่าวอ้างยกอรรถพยัญชนะมากก็จริง แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยเหตุผล ก็ยังจะต้องพิจารณาข้อความนั้นโดยไม่ผลุนผลัน
ข้อความที่ว่า บุคคลผู้มีความเกษม ไม่มีเวร ไม่มีภัย เราเรียกว่า เป็นบัณฑิต
ผู้ที่จะมีความเกษม ความสบาย ความไม่ขัดเคืองได้ ต้องเป็นผู้ที่ละคลาย ขัดเกลากิเลสของตนเองได้ จึงจะมีความเกษม มีความสบาย มีความไม่ขัดเคืองยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้น การกระทำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางกายและทางวาจานั้น ก็จะต้องไม่มีเวร ไม่มีภัย คือ ไม่เป็นไปในทุจริต ในอกุศลกรรม จึงจะเรียกว่าเป็นบัณฑิต
ข้อความต่อไปมีว่า
บุคคลไม่ชื่อว่าทรงธรรม ด้วยเหตุเพียงที่พูดมาก ส่วนผู้ใดฟังธรรมแม้น้อยแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นธรรมด้วยนามกาย (และ) ไม่ประมาทธรรม ผู้นั้นแลชื่อว่า เป็นผู้ทรงธรรม
ทรงเตือนเรื่องการพิจารณาธรรมโดยตลอด คือ ไม่ประมาทธรรมว่า ธรรมนั้นไม่ลึกซึ้ง ถ้าผู้ใดประมาทธรรมคิดว่า ธรรมไม่ลึกซึ้ง ไม่ต้องฟังมาก ไม่ต้องพิจารณามาก ปฏิบัติอย่างไรๆ เข้าใจอย่างไรๆ ก็ถูกทั้งนั้น นั่นคือผู้ที่ประมาทธรรม แต่ว่าผู้ที่ไม่ประมาทธรรมนั้น ย่อมพิจารณาเห็นธรรมนั้นด้วยนามกาย
ในขั้นของการฟัง เป็นนามธรรมที่กำลังได้ยิน ที่กำลังรู้เรื่องที่ได้ยิน ที่กำลัง พิจารณาในเหตุในผลที่ได้ยินได้ฟัง และเป็นนามธรรมที่อบรมเจริญปัญญาที่จะเห็นธรรมนั้นด้วยนามกาย คือ ด้วยสติด้วยปัญญาที่รู้ในสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง และก็เห็นว่า การปฏิบัติธรรมนั้น มีประโยชน์กว่าการที่จะเพียงรู้เรื่อง หรือว่าศึกษามากแต่ไม่ได้เห็นธรรมด้วยนามกาย เพราะว่าบางท่านอาจจะศึกษาธรรมมาก แต่ว่าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้เป็นการประจักษ์ชัดด้วยนามกายว่า สภาพธรรมที่ปรากฏนั้น ตรงกับที่ได้ยินได้ฟัง จึงจะเป็นการถูกต้อง
ข้อความต่อไปมีว่า
บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นเถระ เพราะเหตุที่มีผมหงอกบนศีรษะ วัยของบุคคลนั้นแก่หง่อมแล้ว บุคคลนั้นเรากล่าวว่า เป็นผู้แก่เปล่า สัจจะ ธรรมะ อหิงสา สัญญมะ (คือ การสำรวม ได้แก่ ศีล) และทมะ มีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นแลมีมลทินอันคายแล้ว เป็นนักปราชญ์ เราเรียกว่า เป็นเถระ
บางท่านอาจจะยึดถือความเป็นเถระเพียงโดยวัยว่า ท่านผู้นั้นเป็นผู้สูงวัย ก็คงจะเป็นพระเถระ ซึ่งไม่ตรงกับข้อความในพระไตรปิฎกข้างต้น เพราะความเป็นเถระไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัย แต่ว่าขึ้นอยู่กับคุณธรรมที่ละคลายกิเลส
ข้อความต่อไปมีว่า
นรชนผู้มักริษยา มีความตระหนี่ โอ้อวด ไม่เป็นผู้ชื่อว่ามีรูปงาม เพราะเหตุเพียงพูด หรือเพราะความเป็นผู้มีวรรณะงาม ส่วนผู้ใดตัดโทษมีความริษยาเป็นต้นนี้ ได้ขาด ถอนขึ้นให้รากขาดแล้ว ผู้นั้นมีโทษอันคายแล้ว มีปัญญา เราเรียกว่า ผู้มีรูปงาม
แม้แต่ลักษณะของผู้ที่มีชื่อว่า มีรูปงาม ก็ไม่ใช่ผู้ที่ริษยา ตระหนี่ โอ้อวด เพราะว่าคำพูดทำให้บุคคลนั้นดูน่าเกลียดไปได้ ทั้งๆ ที่รูปร่างภายนอกอาจจะน่าดู แต่ว่าเวลาพูดเต็มไปด้วยกิเลส มีการโอ้อวด หรือว่าเต็มไปด้วยความริษยา ผูกอาฆาตต่างๆ รูปงามนั้น ก็เป็นรูปที่ไม่งามเสียแล้ว เพราะว่าขณะนั้นมีกิเลสทำให้เกิดอกุศลจิตที่กล่าววาจาที่เป็นอกุศลได้
ข้อความต่อไปมีว่า
บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ เพราะศีรษะโล้น บุคคลผู้ไม่มีวัตร พูดเหลาะแหละ มากด้วยความอิจฉาและความโลภ จักเป็นสมณะอย่างไรได้ ส่วนผู้ใดสงบบาปน้อยใหญ่ได้โดยประการทั้งปวง ผู้นั้นเรากล่าวว่า เป็นสมณะ เพราะสงบบาปได้แล้ว
นี่คือความหมายของการประพฤติปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ไม่ได้มุ่งที่เพศบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ แต่อยู่ที่การขัดเกลา การดับกิเลส การสงบบาปน้อยใหญ่ได้โดยประการทั้งปวง
ข้อความต่อไปมีว่า
บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุ ด้วยเหตุเพียงที่ขอคนอื่น บุคคลสมาทานธรรมอันเป็นพิษ ไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุด้วยเหตุนั้น ผู้ใดในโลกนี้ลอยบุญและบาปแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ รู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เที่ยวไปในโลก ผู้นั้นแลเราเรียกว่า เป็นภิกษุ
บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นมุนี เพราะความนิ่ง บุคคลผู้หลงลืม ไม่รู้แจ้ง ไม่ชื่อว่าเป็นมุนี ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิต ถือธรรมอันประเสริฐ เป็นดุจบุคคลประคองตราชั่ง เว้นบาปทั้งหลาย ผู้นั้นชื่อว่าเป็นมุนี เพราะเหตุนั้นผู้นั้นชื่อว่ามุนี ผู้ใดรู้จักโลกทั้งสอง ผู้นั้นเราเรียกว่าเป็นมุนีเพราะเหตุนั้น
ข้อความนี้เป็นประโยชน์สำหรับท่านที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าบางท่านมีความเข้าใจผิด คิดว่าต้องนิ่ง พูดไม่ได้ แต่ข้อความในพระสูตรนี้มีว่า บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นมุนีเพราะความนิ่ง ที่นิ่งๆ อยู่นี้ หลงลืมสติได้ไหม บุคคลผู้หลงลืม ไม่รู้แจ้ง ไม่ชื่อว่าเป็นมุนี
ข้อความต่อไปมีว่า
บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นอริยะ เพราะเหตุที่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง บุคคลที่เราเรียกว่าเป็นอริยะ เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง
ดูกร ภิกษุ ภิกษุยังไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ อย่าถึงความชะล่าใจด้วยเหตุเพียงศีลและวัตร ด้วยความเป็นพหูสูต ด้วยการได้สมาธิ ด้วยการนอนในที่สงัด หรือด้วยเหตุเพียงความดำริเท่านี้ว่า เราถูกต้องสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ ซึ่งปุถุชนเสพไม่ได้
จบ ธัมมัฏฐวรรคที่ ๑๙
แม้ว่าจะเป็นผู้ที่เป็นพหูสูตร ได้สมาธิ นอนในที่สงัด แต่ก็อย่าถึงความชะล่าใจว่า เราถูกต้องสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะซึ่งปุถุชนเสพไม่ได้ เพราะเหตุว่ายังไม่พอ เพียงเท่านั้นยังไม่พอเลย
ถ. การที่เราไม่รู้เหตุที่จะชักนำอะไรมาให้ เราจึงต้องทุกข์กันอยู่ การเจริญสติปัฏฐานเป็นเหตุให้เรารู้ต้นเหตุ เป็นการดับกิเลสที่มีความไม่รู้เป็นเบื้องต้นหรืออย่างไร
สุ. กิเลสที่จะต้องดับก่อน คือ การไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งทำให้เกิดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ทำให้เกิดความเห็นผิด ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
การดับกิเลสต้องดับเป็นขั้นๆ ขั้นแรกทีเดียวไม่ใช่นึกถึงเหตุว่า กิเลสเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เป็นสติที่ระลึก สำเหนียก สังเกต ที่จะรู้ในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมใด รูปธรรมใด ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ สติก็จะต้องระลึกรู้จนทั่ว จึงจะละคลายความสงสัยว่า นามธรรมเป็นอย่างไร รูปธรรมเป็นอย่างไร
ถ. โดยการศึกษา เราก็ทราบกันอยู่ว่า จิตดวงหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นกุศลจิต มีทั้งประกอบด้วยสติ และมีทั้งประกอบด้วยปัญญา การระลึกรู้นามก็ดี รูปก็ดี เช่นสมมติว่า เสียง การระลึกรู้เสียง การระลึกรู้เช่นนี้ นิดเดียวก็ดับไปหมดแล้ว สติกับปัญญาประกอบกันอย่างไรจึงจะสามารถระลึกรู้ได้เช่นนี้
สุ. เพียงเริ่มระลึก แยกไม่ออกใช่ไหม ไม่รู้ว่าขณะนั้นกำลังระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม หรือว่าระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรม
ดอกไม้ก็ดี ผลไม้ก็ดี ที่มีอยู่ในเมล็ดพืช หรือในลำต้น เมื่อถึงกาลเวลาที่จะปรากฏ ก็ย่อมปรากฏ เมื่อมีการบำรุง ทำให้เจริญเติบโตขึ้น ปัญญาที่จะรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็เช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ซึ่งผู้ที่สำเหนียก สังเกตโดยละเอียดถี่ถ้วนจะรู้ได้ว่า มีเยื่อใย ความเป็นตัวตนแอบแฝงอยู่มากหรือน้อย หรือว่าละคลายไปบ้างแล้ว เป็นเรื่องที่จะต้องอดทน เป็นผู้ที่ละเอียด เป็นผู้ที่สำเหนียก สังเกต จนกระทั่งสามารถเป็นปัญญาที่รู้ได้จริงในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม
เวลานี้ต้นไม้ยังไม่ถึงกาลเวลาที่จะปรากฏดอก ปรากฏผล จะไปเร่งรัดให้เกิด ก็ไม่ได้ แต่ถ้ามีปุ๋ย คือ การระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม อบรมเจริญเนืองๆ บ่อยๆ ปัญญาก็จะเริ่มปรากฏขึ้น ตั้งแต่น้อย จนกระทั่งถึงคมกล้า สามารถที่จะประจักษ์ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริงได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๕ ตอนที่ ๔๔๑ – ๔๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 440
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 441
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 442
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 443
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 444
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 445
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 446
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 447
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 448
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 449
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 450
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 451
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 452
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 453
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 454
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 455
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 456
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 457
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 458
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 459
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 460
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 461
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 462
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 463
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 464
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 465
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 466
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 467
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 468
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 469
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 470
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 471
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 472
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 473
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 474
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 475
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 476
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 477
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 478
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 479
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 480