แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 446
ครั้งที่ ๔๔๖
ทุกคนอยากจะหมดบาป ไม่อยากมีอกุศลเครื่องเศร้าหมองเลย แต่ก็น่าคิด น่าพิจารณาอย่างลึกซึ้งจริงๆ ว่า การที่จะดับกิเลสได้จริงๆ นั้น ควรจะเป็นไปด้วยวิธีใด ซึ่งข้อความในพระสูตรต่อไปมีว่า
ชาณุสโสณีพราหมณ์ กราบทูลว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พราหมณ์ทั้งหลายในโลกนี้ ในวันอุโบสถ สนานเกล้านุ่งห่มผ้าไหมทั้งคู่อันใหม่ ทาแผ่นดินด้วยโคมัยสด ลาดด้วยหญ้าคาทั้งหลายที่เขียวสดแล้ว สำเร็จการนอนในระหว่างกองทรายและเรือนไฟ ในราตรีนั้น พราหมณ์เหล่านั้นย่อมลุกขึ้น ประนมอัญชลีนมัสการไฟ ๓ ครั้ง ด้วยการกล่าวว่า ข้าพเจ้าขอปลงบาปกะท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอปลงบาปกะท่านผู้เจริญ ดังนี้ และย่อมยังไฟให้อิ่มหนำด้วยเนยใส น้ำมัน และเนยข้นอันเพียงพอ พอล่วงราตรีนั้นไป ย่อมเลี้ยงพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พิธีปลงบาปของพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้แล ฯ
เอาบาปไปทิ้งเสียในไฟก็คงจะหมด ข้าพเจ้าขอปลงบาปกะท่านผู้เจริญ และ ย่อมยังไฟให้อิ่มหนำด้วยเนยใส น้ำมัน และเนยข้น และก็ปลงบาปไปเรื่อยๆ รุ่งเช้าก็ยังมีเลี้ยงพวกพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำสำราญด้วยขาทียโภชนียาหารอันประณีต ซึ่งเป็นกุศลขั้นทาน แต่ไม่ใช่การที่จะปลงบาปได้จริงๆ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ พิธีปลงบาปของพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมมีโดยประการอย่างอื่น ส่วนพิธีปลงบาปในวินัยของพระอริยะ ย่อมมีโดยประการอย่างอื่น ฯ
ชาณุสโสณีพราหมณ์กราบทูลว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พิธีปลงบาปในวินัยของพระอริยะย่อมมีโดยประการใดเล่า ขอประทานพระวโรกาส ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ตามพิธีปลงบาปในวินัยของพระอริยะด้วยเถิด ฯ
ท่านผู้ฟังคิดว่าจะปลงบาปได้อย่างไร พระธรรมมีมากทีเดียว ปลงเป็นขั้นๆ ตามควรแก่ความสามารถ ตามควรแก่ความรู้ความเข้าใจถูก
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ชาณุสโสณีพราหมณ์ทูลรับแด่พระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากของปาณาติบาต เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ อริยสาวกนั้นครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละปาณาติบาต ย่อมปลงบาปจากปาณาติบาต
เรื่องธรรมดา ใครๆ ก็ว่าควรละ แต่ว่าละง่ายหรือละยาก ต้องพิจารณาจริงๆ เห็นจริงๆ ว่า วิบากของปาณาติบาต เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ต้องเห็นจริงๆ อย่างนี้ก่อน ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละปาณาติบาต ย่อมปลงบาปจากปาณาติบาต
ข้อความต่อไปมีว่า
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งอทินนาทาน เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ อริยสาวกนั้นครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละอทินนาทาน ย่อมปลงบาปจากอทินนาทาน
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งกาเมสุมิจฉาจาร เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ อริยสาวกนั้นครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละกาเมสุมิจฉาจาร ย่อมปลงบาปจากกาเมสุมิจฉาจาร
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมุสาวาท เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ อริยสาวกนั้นครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมุสาวาท ย่อมปลงบาปจากมุสาวาท
ปลงบ้างหรือยังมุสาวาท ปลงให้มากเท่าที่สามารถจะกระทำได้ เพราะว่ากว่าจะดับหมดจริงๆ นี้ยาก แต่ก็ควรจะเพียร
ข้อความต่อไปมีว่า
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งปิสุณาวาจา เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ อริยสาวกนั้นครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละปิสุณาวาจา ย่อมปลงบาปจากปิสุณาวาจา
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งผรุสวาจา เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ อริยสาวกนั้นครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละผรุสวาจา ย่อมปลงบาปจากผรุสวาจา
เอาออกโดยวิธีอื่นไม่ได้ นอกจากวิธีละ ถ้าล่วงไป ก็งดเว้นไว้ทันที วิรัติไว้ทันที นั่นเป็นหนทางเดียวที่จะปลงบาปจากผรุสวาจาได้ จากกายทุจริตและวจีทุจริตทั้งหลายได้ ด้วยการวิรัติทันที สติเกิดขึ้นทันที ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จึงจะสามารถดับกิเลสเหล่านี้ได้เป็นสมุจเฉทจริงๆ แต่ต้องอาศัยสติที่ระลึกได้
ข้อความต่อไปมีว่า
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งสัมผัปปลาปวาจา เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ อริยสาวกนั้นครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละสัมผัปปลาปวาจา ย่อมปลงบาปจากสัมผัปปลาปวาจา
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งอภิชฌา เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ อริยสาวกนั้นครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละอภิชฌา ย่อมปลงบาปจากอภิชฌา
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งพยาบาท เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ อริยสาวกนั้นครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละพยาบาท ย่อมปลงบาปจากพยาบาท
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาทิฏฐิ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ อริยสาวกนั้นครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาทิฏฐิ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาทิฏฐิ
ดูกร พราหมณ์ พิธีปลงบาปในวินัยของพระอริยะ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้แล ฯ
ชาณุสโสณีพราหมณ์กราบทูลว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พิธีปลงบาปของพราหมณ์ทั้งหลายย่อมมีโดยประการอื่น ส่วนพิธีปลงบาปในวินัยของพระอริยะย่อมมีโดยประการอื่น ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็พิธีปลงบาปของพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งพิธีปลงบาปในวินัยของพระอริยะนี้
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก ฯลฯ ขอพระโคดม ผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
จบ สูตรที่ ๑
ฟังง่ายมากใช่ไหม แต่ว่าปฏิบัติตามยากที่สุด ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่
เรื่องง่ายๆ ธรรมดา พระผู้มีพระภาคไม่ได้ให้กระทำสิ่งอื่นที่ผิดไปจากการอบรมกาย วาจา ใจในชีวิตประจำวัน
ถ้าจะกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมไว้อย่างไรในเรื่องของการปลงบาป ก็เป็นเรื่องที่จำไม่ยาก แต่การประพฤติปฏิบัติตาม เป็นจุดประสงค์ของพระธรรม ไม่ใช่เพียงฟัง แต่จุดประสงค์ที่แท้จริง คือ การขัดเกลากิเลสจนสามารถประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ครบถ้วนจริงๆ ซึ่งถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่มีหนทางเลยที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้โดยครบถ้วนสมบูรณ์จริงๆ แม้แต่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่ใช่ว่าเป็นผู้ที่หมดกิเลสแล้ว จึงได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่เป็นผู้ที่มีกิเลสมาก และจะละกิเลสนั้นให้น้อยลงได้ด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น ซึ่งการละคลายกิเลสเป็นไปตามความเป็นจริง ตามกำลังของสติปัญญาที่ได้อบรมเจริญแล้ว ด้วยเหตุนี้ในพระธรรมวินัยจะไม่พ้นจากเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐานเลย
ใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปัจโจโรหณีวรรคที่ ๒ ปัจโจโรหณีสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๑๙ ข้อความตอนต้นเหมือนใน ชาณุสโสณีวรรคที่ ๒ คือ ชาณุสโสณีพราหมณ์ ก็ได้ทำอย่างนั้นในวันอุโบสถ และก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ชาณุสโสณีพราหมณ์กราบทูลถามว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พิธีปลงบาปในวินัยของพระอริยะย่อมมีอย่างไรเล่า ขอประทานพระวโรกาส ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดทรงแสดงธรรมโดยประการที่เป็นพิธีปลงบาปในวินัยของพระอริยะแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ฯ
ชาณุสโสณีพราหมณ์ทูลรับแด่พระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาทิฏฐิ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ อริยสาวกนั้นครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาทิฏฐิ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาทิฏฐิ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาสังกัปปะ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาสังกัปปะ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาสังกัปปะ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาวาจา เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาวาจา ย่อมปลงบาปจากมิจฉาวาจา
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉากัมมันตะ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉากัมมันตะ ย่อมปลงบาปจากมิจฉากัมมันตะ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาอาชีวะ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาอาชีวะ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาอาชีวะ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาวายามะ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาวายามะ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาวายามะ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาสติ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาสติ ย่อมปลงบาปจาก มิจฉาสติ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาสมาธิ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาสมาธิ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาสมาธิ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาญาณ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาญาณ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาญาณ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาวิมุตติ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาวิมุตติ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาวิมุตติ
ดูกร พราหมณ์ พิธีปลงบาปในวินัยแห่งพระอริยะ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้แล ฯ
ชาณุสโสณีพราหมณ์กราบทูลว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พิธีปลงบาปของพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมมีโดยประการอย่างอื่น ส่วนพิธีปลงบาปในวินัยของพระอริยะย่อมมีโดยประการอย่างอื่น ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ ก็พิธีปลงบาปของพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งพิธีปลงบาปในวินัยแห่งพระอริยะนี้
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก ฯลฯ ขอพระโคดม ผู้เจริญโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
จบ สูตรที่ ๗
ท่านผู้ฟังละมิจฉาอะไรแล้วบ้าง มิจฉาสมาธิละหรือยัง ในเมื่อติดเสียแล้ว จะละได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ต้องทราบด้วยสติที่ระลึกรู้ในสภาพธรรมว่า สภาพธรรมนั้นเป็นสัมมาหรือเป็นมิจฉา จึงจะสามารถละได้
ถ. เท่าที่อาจารย์อธิบายมาก็แจ่มแจ้งดี แต่มีคำหนึ่งที่ยังสงสัย คำว่า ปลงบาป คือทำอย่างไร
เรียกว่า ปลงบาป รู้สึกว่าเป็นคำโบราณเหลือเกิน ผมก็เรียนมาบ้าง แต่เขาไม่ได้แปลว่า ปลงบาป บาลีว่า ภารา หเว ปญฺขนฺธา ภารนิกฺเขปนํ สุขํ แปลว่า ขันธ์ ๕ เป็นภาระแล ภารนิกฺเขปนํ สุขํ ไม่ใช่ปลงบาป แต่ตามศัพท์แปลว่า ซัดมันออกไปเสียข้างนอก
คำว่าปลงนี้ จะเหมือนอย่างว่า เราแบกของหาบของแล้วปลง คือ เอาลงวางไว้ หรืออย่างไร
สุ. นี่เป็นเรื่องของภาษา ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาภาษาบาลี ไม่สามารถที่จะให้ความชัดเจนในศัพท์ที่คล้ายกัน หรืออาจจะมีอรรถคล้ายกัน แต่พยัญชนะต่างกัน
ถ. คำว่า งดเว้น ตามปกติที่เข้าใจในภาษาไทย งด คือ เว้น เว้น คือ งด แต่ตามที่กระผมฟังมา ภาษาบาลีแยกคำว่า งด เป็น อารตี แปลว่า งด ส่วนคำว่า เว้นนั้น เป็น วิรตี เขาอธิบายว่า งด คือ มีเจตนาที่จะไม่กระทำบาปเลย ส่วนเว้นหมายถึงว่า มีบาปที่จะให้กระทำต่อหน้า แต่เว้นเสียไม่ทำ มีสิทธิจะทำได้เหมือนกัน แต่เว้นเสียไม่ทำ ผมทราบมาอย่างนี้ จะถูกหรือไม่ถูกก็ไม่ทราบ
สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟังที่กรุณาให้ความหมายของอารตี วิรตี ซึ่งเป็นการถูกต้อง เพราะถ้ากล่าวถึงอภิธรรม ก็ได้แก่ วิรตีเจตสิก ไม่ใช่อารตีเจตสิก คือ สภาพของเจตสิกที่เกิดขึ้นกระทำกิจเว้นจากทุจริตกรรมในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะใช้ศัพท์อย่างไรก็ตาม ก็เป็นเรื่องความละเอียดของสภาพธรรมของจิตใจที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะ แต่ละครั้งด้วย
สำหรับฆราวาส มีศีลมากที่จะรักษาไหม หรือว่าจะมีประมาณสักเท่าไรดี ก็แล้วแต่อัธยาศัยและความสามารถของแต่ละบุคคล คือ แล้วแต่อุปนิสสยปัจจัย เพราะเหตุว่ากุศลธรรมทั้งหมดชื่อว่า สิกขา เพราะควรแก่การศึกษา การศึกษาในที่นี้ไม่ใช่หมายความว่า เอามาอ่าน แต่สิกขาหมายความถึงประพฤติปฏิบัติตาม
เพราะฉะนั้น กุศลธรรมทั้งหมดชื่อว่า สิกขา เพราะควรแก่การศึกษา ควรแก่การปฏิบัติ เพื่อที่จะได้ขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น
ข้อความใน สิกขาปทวิภังคนิทเทโส มีข้อความว่า
ส่วนศีล คือ สิกขาบท ๕, ๘, ๑๐ เป็นต้นนั้น ชื่อว่า ปทะ เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งมั่นแห่งสิกขาเหล่านั้น
เพราะฉะนั้น องค์เหล่านั้นของศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ เป็นต้น องค์อย่างใดอย่างหนึ่งจึงชื่อว่า สิกขาบท เพราะความเป็นบทแห่งสิกขา คือ บทที่ควรประพฤติปฏิบัติ
สำหรับศีลของอุบาสก อุบาสิกา ใน สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค สีลมยญาณนิทเทส มีข้อความว่า
มีสิกขาบทเป็นที่สุดนั้นอย่างไร สำหรับอุบาสก อุบาสิกา มีศีล ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๘, ๑๐ ตามที่สมาทาน สำหรับสิกขมานา สามเณร สามเณรี มีสิกขาบท ๑๐ นี้คือ มีสิกขาบทเป็นขอบเขต
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๕ ตอนที่ ๔๔๑ – ๔๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 440
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 441
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 442
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 443
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 444
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 445
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 446
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 447
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 448
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 449
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 450
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 451
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 452
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 453
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 454
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 455
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 456
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 457
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 458
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 459
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 460
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 461
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 462
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 463
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 464
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 465
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 466
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 467
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 468
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 469
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 470
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 471
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 472
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 473
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 474
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 475
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 476
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 477
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 478
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 479
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 480