แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 448


    ครั้งที่ ๔๔๘


    ถ. ความรู้สึก กับความรู้สึกตัว ความรู้สึก องค์ธรรมได้แก่ เวทนา ความรู้สึกตัว องค์ธรรมได้แก่ สติ แต่ก็คือ รู้สึกๆ ด้วยกัน

    องค์ธรรม ๒ องค์นี้ใกล้ชิดกันเหลือเกิน บางครั้งแยกไม่ค่อยออก ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยอธิบายองค์ธรรมทั้ง ๒ นี้ว่า ต่างกันอย่างไร ตรงไหน

    สุ. ความรู้สึกที่เป็นเวทนาเจตสิก หมายความถึงสภาพความรู้สึกดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุข ซึ่งได้แก่ อุเบกขาเวทนา ไม่เกี่ยวกับความรู้สึกตัวที่เป็นสติ ซึ่งเป็นการระลึกได้ การระลึกรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    อรรถที่ใกล้เคียงมากกับสภาพลักษณะของสติ คือ การระลึกรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ระลึก หมายความว่า ไม่หลงลืมที่จะรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง และสำเหนียก สังเกต จนเป็นความรู้ทันทีที่สติเกิดได้ว่า เป็นสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเป็นเพียงสภาพที่กำลังรู้ทางตา หรือว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น

    ต้องอบรมมาก จนเป็นความรู้จริงๆ อย่าข้าม ข้อสำคัญคืออย่าข้าม ถ้าไม่รู้ ก็ไม่รู้ และก็ค่อยๆ รู้ขึ้น

    ทางตา เมื่อวันก่อนไม่รู้ ก็ไม่รู้ แต่วันนี้ค่อยๆ ระลึก ค่อยๆ รู้ขึ้น เพิ่มขึ้น แต่ว่าจะไม่เป็นไปอย่างรวดเร็ว

    ผลที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ยังไม่ทราบเลย แต่เดา ใช่ไหม

    คาดคะเนว่า ผลคงจะประจักษ์ลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างนั้น เวลาประจักษ์ลักษณะของรูปธรรม ก็ต้องเป็นอย่างนี้ นี่คือผลที่นึกคาดคะเน ตราบใดที่ผลยังไม่เกิด และก็อดหวังว่าผลอย่างนั้นๆ จะเกิดไม่ได้

    แต่ถึงจะหวังสักเท่าไรก็ไม่ถูก ยังไม่ใช่ผลจริงๆ ที่เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุสมควรแก่ผลนั้น ขณะนี้ถ้าจะนึกถึงผล ก็เพียงแต่การเดา นึกคาดคะเน และหวังว่าเวลาที่ผลอย่างนั้นจะเกิด ก็คงจะเป็นในลักษณะอย่างนั้นๆ

    เพราะฉะนั้น ทางที่ดี อย่าเดาผล อย่าหวังผล อย่าคาดคะเนว่า ผลจะเป็นอย่างไร แต่อบรมเจริญเหตุเท่านั้น เมื่อเหตุสมควรแก่ผลเมื่อไร ผลนั้นจะปรากฏให้รู้แจ้ง ให้รู้ชัด ธรรมย่อมปรากฏแก่ผู้ที่รู้แล้ว แต่ผู้ใดที่ยังไม่ได้รู้ ธรรมจะปรากฏในลักษณะนั้นไม่ได้

    ในคราวก่อน มีท่านที่สงสัยว่า เวลาที่ท่านฟังเทปรายการแนวทางเจริญสติปัฏฐาน เป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้บ่อย แต่เวลาที่ท่านไปรักษาศีลอุโบสถที่วัด สติไม่ค่อยจะเกิด เพราะฉะนั้น ท่านก็มีความสงสัยว่า ท่านควรจะเลือกอย่างไหน คือ เลือกที่จะฟังเทปรายการแนวทางเจริญสติปัฏฐานที่ท่านอัดไว้ หรือว่าท่านจะไปรักษาศีลอุโบสถดี

    แต่ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เรื่องของความต้องการ และเรื่องของความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนนั้นละเอียดมาก เป็นเหตุให้เกิดการคิดที่จะเลือกว่า ควรจะฟังเทปซึ่งเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม หรือจะรักษาศีลอุโบสถ ถ้าเกิดสงสัยอย่างนี้ขึ้นมา ก็ทราบได้ทีเดียวว่า เป็นเพราะความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ซึ่งถ้าเป็นการขัดเกลากิเลส ตัดสินไม่ยากใช่ไหม และวิธีเดียวที่จะละคลาย ขัดเกลาอกุศล ก็ด้วยการอบรมเจริญกุศลทุกประการที่สามารถจะกระทำได้

    ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ทั้ง ๒ ก็ไม่ขัดกันใช่ไหม เพราะว่าจุดประสงค์ของการอบรม เจริญสติปัฏฐาน ก็เพื่อที่จะระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏให้ปัญญารู้ และละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน ส่วนการรักษาศีลอุโบสถนั้น ก็เพราะว่าเป็นกาลที่สามารถจะกระทำ เป็นการอบรมขัดเกลาให้ยิ่งขึ้น ให้ถึงการที่วันหนึ่งก็จะมีอุปนิสสยปัจจัยที่จะทำให้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ได้

    เมื่อเป็นอย่างนี้ ทั้ง ๒ ประการนี้ไม่ขัดกันเลย คือ จุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐานและการรักษาศีลอุโบสถนั้น เพื่อการขัดเกลา

    สำหรับท่านที่รักษาศีล ๕ แต่ยังไม่ได้รักษาศีลอุโบสถ ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตก็ทราบว่า ที่จิตเป็นอย่างนั้นๆ แม้ในการวิรัติทุจริตในเรื่องของศีล ๕ ก็เป็นเพราะมีอุปนิสสยปัจจัยที่จะรักษาศีล ๕ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้สะสมอุปนิสสยปัจจัยมาเลย แม้ศีล ๕ ก็รักษาไม่ได้

    คนเราไม่เหมือนกัน ที่จะให้ทุกคนสามารถที่จะรักษาศีล ๕ ได้เสมอกันหมด เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือว่าที่จะให้บุคคลทั้งหลายรักษาศีลอุโบสถเสมอกันทั้งหมด ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่สภาพธรรมใดที่เกิดแล้วเท่านั้น จึงจะเป็นการพิสูจน์ให้รู้ว่า เพราะมีอุปนิสัยปัจจัยสะสมมาที่จะทำให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นได้ สภาพธรรมนั้นจึงเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลย

    แม้ว่าบางท่านจะยังคงยึดถือว่า เป็นตัวท่านที่เลือก หรือที่สามารถจะบังคับได้ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว การตัดสินใจ หรือการที่จะเลือกกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น ก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่สะสมมาเป็นปัจจัยให้เลือกอย่างนั้น ให้คิดอย่างนั้น ให้ทำอย่างนั้น

    อีกปัญหาหนึ่ง ท่านผู้ฟังถามว่า ได้อ่านพบในพระไตรปิฎกมีข้อความว่า ให้ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาละคลายกิเลส พากเพียรอย่างมาก ถึงแม้ว่าเลือด เนื้อ เอ็น กระดูกจะเหือดแห้งไป ก็ไม่ควรที่จะละความเพียรในการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ถ้าท่านผู้ใดได้ผ่านพยัญชนะนี้แล้วไม่พิจารณา ท่านจะมีความเข้าใจผิดว่า จะต้องนั่งในอิริยาบถที่เป็นการขัดสมาธิหรืออะไรก็ตามแต่ และไม่ลุกขึ้นเลยจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เหมือนเมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคจะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งในพระสูตรนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุจบแล้ว ก็ไม่ได้มีภิกษุที่อินทรีย์ยังไม่แก่กล้าไปนั่งและก็รอที่จะให้ตรัสรู้ แม้เลือด เนื้อ เอ็น กระดูกจะเหือดแห้งเลย แต่พระภิกษุทั้งหลายท่านก็ดำเนินชีวิตเป็นปกติ มีการบิณฑบาต มีการประกอบกิจตามปกติ ท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง และเมื่ออินทรีย์แก่กล้าเมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ซึ่งก็ไม่สามารถที่จะรู้ตนเองได้ว่า การสะสมอบรมมาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้นจะแก่กล้าถึงความสมบูรณ์ในขณะใด

    แต่ใครก็ตามที่กิเลสยังมากเหลือเกิน แม้นามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ยังไม่รู้เลยว่า ขณะที่กำลังเห็นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมอย่างไร เป็นแต่เพียงรูปธรรมอย่างไร กำลังได้ยินในขณะนี้ ก็ยังไม่ได้รู้ชัดจริงๆ ว่า สภาพของนามธรรมที่ไม่ใช่เสียง และสภาพของเสียงซึ่งไม่ใช่นามธรรมต่างกันอย่างไร ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้ายังไม่เป็นการรู้ชัดในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริงอย่างนี้ และจะไปนั่งไม่ลุกขึ้นเลย จนเลือด เนื้อ กระดูกแห้งเหือดไป ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งอริยสัจธรรมได้

    การศึกษาธรรม จะต้องศึกษา พิจารณา อบรม ปฏิบัติ สอบทาน และเทียบเคียง จนกระทั่งรู้จริงว่า หนทางใดเป็นหนทางปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะว่าไม้สดที่แช่น้ำอยู่ที่จะเป็นไม้แห้งได้ จะต้องเจริญอบรม หรือจะทำอย่างไร ไม้สดที่ชุ่มด้วยยางแช่อยู่ในน้ำจึงจะเป็นไม้แห้ง ที่สามารถจะเป็นปัจจัยให้เกิดไฟได้ เมื่อถึงกาลที่สมควร

    เพราะฉะนั้น การที่จะเปลี่ยนจากไม้สดเป็นไม้แห้ง ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น มากขึ้น ทั่วขึ้น ชินขึ้น ชัดขึ้น ละคลายมากขึ้น นี่เป็นหนทางที่จะทำให้เมื่อถึงกาลที่ปัญญาจะสมบูรณ์ถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม จึงจะรู้แจ้งอริยสัจได้

    แต่ไม่ใช่เพียงอ่าน และเข้าใจเองว่า ถ้าใช้ความพากเพียร นั่งไม่ลุกขึ้นเลย จะสามารถทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะว่าท่านเองเป็นผู้ที่ทราบว่า ท่านรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ้างหรือยัง หรือว่ายังไม่รู้เลย ยังจะต้องอบรมเจริญสติอีกมากกว่าจะเป็นความรู้จริงๆ ว่า นามธรรมเป็นอย่างไร รูปธรรมเป็นอย่างไร จึงจะสามารถประจักษ์ในความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมและรูปธรรมได้

    ขอกล่าวถึงข้อความใน พระไตรปิฎก ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต โลณผลวรรคที่ ๕ อัจจายิกสูตร ข้อ ๕๓๒ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรรีบด่วนทำของคฤหบดีชาวนา ๓ อย่างเหล่านี้ ๓ อย่างเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คฤหบดีชาวนาในโลกนี้ ต้องรีบเร่งไถนาให้ดี คราดนาให้เรียบร้อย ครั้นแล้วต้องรีบเร่งเพาะพืชลงไป ครั้นแล้วรีบเร่งไขเอาน้ำเข้าบ้าง ระบายเอาน้ำออกเสียบ้าง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรรีบด่วนทำของคฤหบดีชาวนา ๓ อย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คฤหบดีชาวนานั้น ไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพบันดาลว่า ข้าวเปลือกของเราจงเกิดในวันนี้ พรุ่งนี้จงมีท้อง มะรืนนี้จงหุงได้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ สมัยที่ข้าวเปลือกของคฤหบดีชาวนานั้นมีความแปรเพราะฤดู เกิดก็ดี มีท้องก็ดี หุงได้ก็ดี มีอยู่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล กิจที่ควรรีบทำของภิกษุ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ การสมาทานอธิศีลสิกขา ๑ การสมาทานอธิจิตสิกขา ๑ การสมาทานอธิปัญญาสิกขา ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรรีบด่วนทำของภิกษุ ๓ อย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพบันดาลว่า จิตของเราจงพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทานในวันนี้แหละ หรือมิฉะนั้นก็ในวันพรุ่งนี้ หรือในวันมะรืนนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ สมัยที่จิตของภิกษุนั้น ผู้ศึกษาอธิศีลอยู่ก็ดี ผู้ศึกษาอธิจิตอยู่ก็ดี ผู้ศึกษาอธิปัญญาอยู่ก็ดี หลุดพ้นจาก อาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นมีอยู่ เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักมีฉันทะอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิศีลสิกขา เราจักมีฉันทะอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิจิตสิกขา เราจักมีฉันทะอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิปัญญาสิกขา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

    พระผู้มีพระภาคทรงเปรียบเทียบการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ กับชาวนาในโลกนี้ คือ ต้องรีบเร่งไถนาให้ดี คราดนาให้เรียบร้อย ครั้นแล้วต้องรีบเร่งเพาะพืชลงไป ครั้นแล้วรีบเร่งไขเอาน้ำเข้าบ้าง ระบายน้ำออกเสียบ้าง นี่เป็นกิจของชาวนา แต่กิจที่ควรรีบทำของพระภิกษุ ๓ อย่าง คือ การสมาทานอธิศีลสิกขา การสมาทานอธิจิตสิกขา การสมาทานอธิปัญญาสิกขา ซึ่งก็ได้แก่ การอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง และเวลาที่อบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ นี้ ถ้าไม่มีความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีอะไรเลยที่สามารถจะไปรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    เพราะฉะนั้น ที่ชาวนารีบเร่งไถนาให้ดี คราดนาให้เรียบร้อย รีบเร่งเพาะพืชลงไป นี่เป็นการตระเตรียม กว่าจะได้ผลที่เกิดจากการทำนา ฉันใด การที่ปัญญาจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าจะรีบเร่ง คือ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทันที จึงจะเป็นการตระเตรียมเหมือนชาวนาที่ดำเนินการทำนาเป็นขั้นๆ

    ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม จะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าปัญญาจะคมกล้า สามารถที่จะแทงตลอดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริงได้

    ถ. ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายให้เร่งความเพียร จนกระทั่งเลือดเนื้อทั้งหมดเหือดแห้งไปก็ดี ให้เร่งความเพียร และอาจารย์ก็อธิบายว่า ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสสอนไว้อย่างนั้น คือ การไปนั่งทำความเพียรให้เลือดก็ดี เนื้อก็ดี ให้เหือดแห้งไปนั้น ถ้าอินทรีย์ยังไม่สมบูรณ์แล้ว ก็จะตายเสียเปล่า ไม่ได้บรรลุคุณธรรมอะไรทั้งนั้น

    ในเมื่อเป็นแบบนี้ คำสอนของพระพุทธองค์สูตรนี้ก็ไม่เป็นประโยชน์ ขัดกับความเข้าใจของเราว่า คำสอนของพระผู้มีพระภาคมีประโยชน์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ในเมื่อเป็นแบบนี้ สูตรนี้ก็ไม่เป็นประโยชน์เลย

    ความเพียรในที่นี้ ความเพียรในมรรคมีองค์ ๘ นั้น เป็นเจตสิกดวงหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต ถ้าขณะที่สังเกต สำเหนียกรูปหนึ่งรูปใด นามหนึ่งนามใด ขณะนั้นความเพียรมีอยู่แล้ว แต่ที่จะไปเพียรนั่งให้เนื้อหรือเลือดเหือดแห้งไปอย่างนั้น ลักษณะนั้นจะจัดว่าเป็นความเพียรหรือไม่

    สุ. ไม่ใช่ว่า พระภิกษุจะไม่ปฏิบัติตามที่พระผู้มีพระภาคทรงพร่ำสอน หรือทรงโอวาท แต่ปฏิบัติตามด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เพียรนั้น คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ขณะนี้เพียรได้แล้ว ถ้าจะกระทำตามคำสอนจริงๆ รีบเร่ง คือ ระลึกรู้ในขณะนี้

    ความเป็นอยู่จะยากลำบากสักเท่าไร อย่างไร ไม่มีใครจะรู้ชะตากรรมของชีวิต แม้แต่ของบรรดาพระภิกษุว่า จะเกิดทุพภิกขภัยเมื่อไร จะมีการเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไร ก็ตาม ไม่ควรที่จะละเว้นความเพียรในการที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ถ้าเข้าใจสูตรนี้ผิด ก็จะคิดว่า ทันทีที่ทรงแสดงพระธรรมสูตรนี้จบลง พระภิกษุทั้งหลายจะมีประมาณสักเท่าไรก็ตามที่กำลังฟังอยู่ ก็จะต้องนั่งอยู่ที่นั่นไม่ไปไหนเลย จนกว่าจะบรรลุอริยสัจธรรม แต่ไม่มีที่จะกล่าวว่าอย่างนั้น

    ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นทั้งนั้น ท่านก็ดำเนินชีวิตของท่านเป็นปกติตามพระวินัยบัญญัติ ในเมื่ออินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ยังต้องมีกิจที่จะต้องบริหารร่างกาย มีกิจของสงฆ์ที่ยังจะต้องกระทำ ท่านก็กระทำ พร้อมกับการรีบเร่ง ด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทันที



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๕ ตอนที่ ๔๔๑ – ๔๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564