แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 423


    ครั้งที่ ๔๒๓


    เพราะฉะนั้น ทางที่จะอดทนต่อคำพูดของบุคคลอื่น คือ สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดปรากฏแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นกุศลวิบากบ้าง อกุศลวิบากบ้าง กุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง

    ท่านคงอยากจะทราบวิธีระงับความโกรธ บรรเทาความโกรธ เวลาที่มีอนิฏฐารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ด้วยเหตุนี้พระสูตรต่างๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ถ้าท่านพิจารณามากๆ บ่อยๆ ใคร่ครวญให้เห็นประโยชน์จริงๆ ของการที่จะละความโกรธ ท่านก็จะเจริญหนทางที่จะทำให้ละคลายความโกรธลงได้บ้าง

    ถ้าท่านผู้ใดกำลังโกรธ หรือกำลังผูกโกรธใครอยู่ก็ตาม ก็ควรพิจารณาธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท โกธวรรคที่ ๑๗ ซึ่ง มีข้อความว่า

    บุคคลพึงละความโกรธเสีย พึงละมานะเสีย พึงก้าวล่วงสังโยชน์เสียทั้งหมด ทุกข์ทั้งหลาย ย่อมไม่ตกตามบุคคลนั้น ผู้ไม่ข้องอยู่ในนามรูป ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล

    ขณะใดที่ความโกรธเกิดขึ้น เป็นการแสดงการปรากฏให้รู้ถึงกิเลสที่มีอยู่ในใจว่า เป็นสังโยชน์ เป็นสิ่งที่ผูกพันท่านไว้ในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น ลักษณะของความโกรธที่เกิด เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ถ้าสติระลึกรู้ เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ขณะนั้นเป็นประโยชน์ เพราะท่านได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่สะสมมาว่า ยังมีกิเลสอะไรอีกมากน้อยเท่าไรที่ปรากฏให้รู้ เพื่อที่จะได้ละเสีย ด้วยการที่สติระลึกรู้ในขณะนั้น ผู้ไม่ข้องอยู่ในนามรูป จึงจะไม่มีกิเลสเครื่องกังวล

    บุคคลใดแล พึงห้ามความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วไว้ได้ ดุจบุคคลห้ามรถซึ่งกำลังแล่นไปได้ ฉะนั้น เรากล่าวบุคคลนั้นว่าเป็นสารถี คนนอกนี้เป็นคนถือเชือก

    ถ้าจะเป็นสารถีจริงๆ จะต้องอบรมเจริญปัญญา รู้ชัดในสภาพธรรมจนสามารถที่จะระงับดับกิเลสได้ แต่ผู้ที่กำลังขัดเกลา ปัญญายังไม่ถึงขั้นที่สามารถดับความโกรธได้ เป็นผู้ที่กำลังอบรมเจริญหนทางที่จะดับกิเลส แต่ยังไม่ใช่สารถี เป็นผู้ที่กำลังฝึกหัดอยู่ ก็เป็นคนที่ถือเชือก

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนมักกล่าวคำเหลาะแหละด้วยคำสัตย์

    พึงกล่าวคำสัตย์ ไม่พึงโกรธ แม้เมื่อมีของน้อย ถูกขอแล้วก็พึงให้ บุคคลพึงไปในสำนักแห่งเทวดาทั้งหลาย เพราะเหตุ ๓ ประการนี้

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่จะตอบแทนผรุสวาจาด้วยผรุสวาจา และข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนมักกล่าวคำเหลาะแหละด้วยคำสัตย์

    ดูเหมือนว่าทำยาก บางท่านอาจจะบอกว่า ทำไม่ได้แน่ ยังเป็นคนที่มีกิเลสมากเหลือเกิน จะชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธนี่ยากจริงๆ แต่ขอให้ทราบว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่จะชนะบุคคลอื่น การชนะความโกรธที่ท่านมี เป็นกุศลจิตของท่านเองที่เกิดขึ้นชนะความโกรธ ชนะความไม่ดีด้วยความดี คือ ในขณะนั้นเป็นกุศลของท่าน ที่เจริญอบรมเพื่อชนะความไม่ดีที่มีอยู่ในตัวท่านเอง

    เวลาที่เปรียบเทียบกับบุคคลอื่น รู้สึกว่าแสนยาก ที่จะชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ หรือว่าจะชนะความไม่ดีของคนอื่นด้วยความดี แต่ถ้าคิดว่า ความไม่ดีที่กำลังมีนั้นเป็นของท่าน และจะหมดไปได้ จะชนะได้ ก็ด้วยความดีที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

    ท่านอยากจะชนะความไม่ดีของท่านไหม ไม่ต้องคิดเปรียบเทียบที่จะชนะคนอื่น เพราะถ้าเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้ว รู้สึกว่ายากเหลือเกิน เป็นไปไม่ได้ เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ถ้าเห็นว่า ความไม่ดีนั้นเป็นของท่านเอง ซึ่งจะชนะได้ก็ด้วยความดีเท่านั้น ถ้าระลึกได้อย่างนี้ในขณะนั้น ความดีก็จะเกิดทันที

    พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ การคิดจะให้ ก็คงจะมีบ้าง แต่ให้จริงหรือเปล่า หรือว่าเพียงคิด ถ้ายังให้จริงๆ ไม่ได้ ก็แสดงว่า ยังมีความตระหนี่อยู่ และจะชนะความตระหนี่ที่มีในขณะนั้นได้อย่างไร มีวิธีเดียว คือ พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ ให้ทันทีในขณะนั้น ชนะความตระหนี่ แต่ถ้ายังรีรอ ยังไม่ชนะ

    เป็นเรื่องของกิเลสทั้งหลาย ซึ่งเกิดปรากฏให้รู้ให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมขัดเกลาจริงๆ

    ข้อความต่อไป ที่ว่า พึงชนะคนมักกล่าวคำเหลาะแหละด้วยคำสัตย์ พึงกล่าวคำสัตย์ ไม่พึงโกรธ

    คำจริง บางท่านไม่กล้าพูด น่าจะพูดง่าย แต่คำจริงบางอย่างไม่กล้าที่จะพูดเลย โดยเฉพาะเรื่องไม่ดีของตนเอง ไม่กล้าที่จะกล่าวเลย เพราะฉะนั้น คนที่พูดคำสัตย์เป็นคนกล้า ที่จะพูดคำจริง และก็รู้ด้วยว่า ตัวของท่านเป็นคนกล้ามากน้อยแค่ไหน เป็นกุศลอกุศลมากน้อยแค่ไหน ซึ่งคนส่วนมากมักอยากให้บุคคลอื่นเห็นแต่ส่วนดีของตน ส่วนที่ไม่ดีก็มีมากเหมือนกัน แต่ไม่กล้าที่จะพูดตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลใดพูดได้ ผู้นั้นเป็นผู้กล้า ที่จะพูดความจริง

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    มุนีเหล่าใดผู้ไม่เบียดเบียน สำรวมแล้วด้วยกายเป็นนิตย์ มุนีเหล่านั้น ย่อมไปสู่สถานที่ไม่จุติ ที่คนทั้งหลายไปแล้วไม่เศร้าโศก

    อาสวะทั้งหลายของผู้ตื่นอยู่ทุกเมื่อ ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้น้อมไปแล้วสู่นิพพาน ย่อมถึงความไม่มี

    จะไปที่ไหนที่จะไม่เศร้าโศก ไปแล้วไม่เศร้าโศกจริงๆ เป็นสมุจเฉท มีที่เดียว คือ นิพพาน ซึ่งไม่มีการเกิดขึ้น จึงไม่เศร้าโศก แต่ถ้ามีการเกิดขึ้น ก็ต้องดับไป อย่างนี้แล้วจะไม่เศร้าโศกหรือ ในเมื่อมีแต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ ซึ่งการที่จะไปถึงได้ ก็ด้วยการศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน แล้วแต่สติจะเกิดขึ้นระลึก รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นกลางวันก็ได้ กลางคืนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ขณะใดที่สติเกิดขึ้นระลึก สำเหนียก สังเกต เพื่อรู้ชัดว่า เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรม

    ขณะที่ท่านอบรม ศึกษา สำเหนียก รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ขณะหนึ่งบ้าง สองขณะบ้าง หลายขณะบ้าง เป็นการสะสมปัญญา ซึ่งเมื่อสะสมแล้วไม่หายไปไหน ไม่มีใครสามารถจะไถ่ถอนการศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดพร้อมสติในขณะนี้ ที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไปจากท่านได้เลย

    เพราะฉะนั้น ชั่วแต่ละขณะที่สติเกิดระลึก สำเหนียก สังเกต เพื่อรู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง เป็นการสะสมที่จะทำให้วันหนึ่ง ปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง แต่ถ้าท่านไม่อบรมเจริญด้วยการศึกษา ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม หวังที่จะไปทำอย่างอื่น ไม่มีการสะสม คือ การศึกษา สำเหนียก รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเลย เพียงแต่มุ่งหวังจะไปรู้แจ้งอริยสัจธรรม จะไปประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม เป็นอุทยัพพยญาณ เป็นวิปัสสนาญาณต่างๆ จะหวังได้อย่างไร ในเมื่อสติไม่เคยเกิดขึ้น ไม่เคยศึกษา ไม่เคยสะสมการที่จะให้ปัญญาถึงความสมบูรณ์ที่จะประจักษ์ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมและรูปธรรมเลย

    เพราะฉะนั้น มีหนทางเดียวจริงๆ คือ สติเกิดขึ้น ศึกษา สำเหนียก เพื่อให้ปัญญารู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อตุละ การนินทาหรือการสรรเสริญนี้ มีมาแต่โบราณ มิใช่มีเพียงวันนี้ คนย่อมนินทาแม้ผู้นั่งนิ่ง แม้ผู้พูดมาก แม้พูดพอประมาณ ผู้ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก บุรุษผู้ถูกนินทาโดยส่วนเดียว หรือถูกสรรเสริญโดยส่วนเดียว ไม่มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีในบัดนี้

    ถ้าว่าผู้รู้ใคร่ครวญแล้วทุกวัน ย่อมสรรเสริญบุคคลใด ผู้มีความประพฤติไม่ขาด เป็นนักปราชญ์ ตั้งมั่นแล้วในปัญญาและศีล ใครย่อมควรเพื่อจะนินทาบุคคลนั้น ผู้เหมือนดังแท่งแห่งทองชมพูนุช แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ก็ย่อมสรรเสริญบุคคลนั้น แม้พรหมก็สรรเสริญบุคคลนั้น

    ท่านที่หวั่นไหวไป เพราะคำนินทาหรือการสรรเสริญก็ตาม ก็ควรที่จะได้ทราบว่า เป็นของธรรมดาประจำโลก และถ้าท่านจะสังเกตพิจารณาชีวิตของท่านเอง หรือว่าบุคคลอื่นซึ่งท่านนิยมเลื่อมใส หรือเป็นผู้ที่ท่านเห็นว่ามีคุณความดี ท่านก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า แม้บุคคลนั้น ก็ไม่พ้นจากนินทาและสรรเสริญด้วย เพราะว่าคนย่อมนินทาแม้ผู้นั่งนิ่ง แม้ผู้พูดมาก แม้พูดพอประมาณ

    นั่งนิ่ง ไม่กล่าววจีทุจริตก็ดี แต่แม้กระนั้นก็ยังถูกว่า ว่าไม่พูด พูดมากก็ถูกว่าอีก หรือแม้พูดพอประมาณ ก็ยังไม่ถูกใจอีก ก็ว่าได้เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ สำหรับคำนินทาและสรรเสริญ เมื่อเป็นเรื่องธรรมดาอย่างนี้ ใครเสียเวลาเร่าร้อนใจ หวั่นไหว ก็เป็นผู้ไม่ฉลาดเลย เพราะว่าไม่รู้สภาพธรรมที่เป็นธรรมดาของโลก

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ภิกษุพึงรักษาความกำเริบทางกาย พึงเป็นผู้สำรวมด้วยกาย ละกายทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยกาย พึงรักษาความกำเริบทางวาจา พึงเป็นผู้สำรวมด้วยวาจา ละวจีทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยวาจา พึงรักษาความกำเริบทางใจ พึงเป็นผู้สำรวมด้วยใจ ละมโนทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยใจ นักปราชญ์ทั้งหลายสำรวมแล้วด้วยกาย สำรวมแล้วด้วยวาจา สำรวมแล้วด้วยใจ ท่านเหล่านั้นแล สำรวมเรียบร้อยแล้ว ฯ

    จบ โกธวรรคที่ ๑๗

    มีทางอื่นอีกไหมนอกจากทางกาย ทางวาจา ทางใจที่จะสำรวม กายก็ไม่ควรที่จะให้ประพฤติทุจริต พร้อมกันนั้นก็ควรประพฤติสุจริตด้วย วาจาก็ไม่ควรที่จะให้ล่วงไปเป็นวจีทุจริต และควรที่จะประพฤติสุจริตด้วยวาจา แม้ทางใจก็พึงรักษาความกำเริบทางใจ ขณะใดที่หวั่นไหวไปด้วยกิเลส ทางเดียวที่จะรักษาความกำเริบทางใจในขณะนั้นได้ คือ สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

    . ที่อาจารย์กล่าวว่า คนไม่กล้าพูดความจริง มีกล่าวกันอย่างนี้ว่า ความจริงเป็นคำไม่ตาย แต่คนพูดตาย เขาถึงไม่กล้าพูด

    สุ. จะตายครั้งเดียว หรือว่าจะตายอีกหลายครั้ง ถ้ากลัวตายชาตินี้ ก็เกิดอีกแล้วก็ตายอีกๆ เพราะพูดไม่จริง กับการที่จะพูดความจริง พร้อมกับอบรมขัดเกลากิเลส เพื่อจะได้ตายเป็นครั้งสุดท้าย และไม่ต้องมาพูดไม่จริงกันอีกต่อไป อย่างไหนจะดีกว่ากัน

    เพราะฉะนั้น แล้วแต่อัธยาศัย แล้วแต่การพิจารณาธรรม แล้วแต่ความเข้าใจว่า สิ่งใดเป็นกุศลควรเจริญควรประพฤติ และสิ่งใดเป็นอกุศลควรละควรเว้น แต่ก็จริงใช่ไหมที่ว่า ถ้าเป็นเรื่องไม่ดีของตนเอง ก็ไม่กล้าที่จะพูด

    สำหรับเรื่องของการถูกผรุสวาจา บริภาษต่างๆ แม้พระผู้มีพระภาคเอง ซึ่งในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงอดีตกรรมของพระองค์และของพระภิกษุไว้ด้วยว่า เพราะเหตุใดจึงได้ถูกกล่าวผรุสวาจา

    ข้อความใน ขุททกนิกาย อุทาน สุนทรีสูตร ว่าด้วยพระพุทธเจ้าถูกข้อกล่าวหาว่า ฆ่านางสุนทรี มีว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แม้ภิกษุสงฆ์ก็เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ส่วนพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นพวกที่มหาชนไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ฯ

    ครั้งนั้นแล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกอดกลั้นสักการะของพระผู้มีพระภาคและสักการะของภิกษุสงฆ์ไม่ได้ เข้าไปหานางสุนทรีปริพาชิกาถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะนางสุนทรีปริพาชิกาว่า

    ดูกร น้องหญิง เธอสามารถเพื่อจะทำประโยชน์แก่ญาติทั้งหลายได้หรือ

    นางสุนทรีปริพาชิกาถามว่า

    ดิฉันจะทำอะไร พระผู้เป็นเจ้า ดิฉันสามารถเพื่อจะทำอะไร แม้ชีวิตดิฉันก็สละเพื่อประโยชน์แก่ญาติทั้งหลายได้

    อัญญเดียรถีย์ปริพาชกกล่าว่า

    ดูกร น้องหญิง ถ้าเช่นนั้น เธอจงไปสู่พระวิหารเชตวันเนืองๆ เถิด

    นางสุนทรีปริพาชิการับคำของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นแล้ว ได้ไปยังพระวิหารเชตวันเนืองๆ เมื่อใดพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นได้ทราบว่า นางสุนทรีปริพาชิกาคนเห็นกันมากว่า ไปยังพระวิหารเชตวันเนืองๆ เมื่อนั้นได้จ้างพวกนักเลงให้ปลงชีวิตนางสุนทรีปริพาชิกานั้นเสีย แล้วหมกไว้ในคู รอบพระวิหารเชตวันนั้นเอง แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า

    ขอถวายพระพร นางสุนทรีปริพาชิกา อาตมภาพทั้งหลายมิได้เห็น

    พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามว่า

    พระคุณเจ้าทั้งหลายสงสัยในที่ไหนเล่า

    อัญญเดียรถีย์ปริพาชกกราบทลว่า

    ในพระวิหารเชตวัน ขอถวายพระพร ฯ

    พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า

    ถ้าอย่างนั้น พระคุณเจ้าทั้งหลายจงค้นพระวิหารเชตวัน

    ครั้งนั้น พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ค้นทั่วพระวิหารเชตวันแล้ว ขุดศพนางสุนทรีปริพาชิกาตามที่ตนสั่งให้หมกไว้ขึ้นจากคู ยกขึ้นสู่เตียง แล้วให้นำไปสู่พระนครสาวัตถี เดินทางจากถนนนี้ไปถนนโน้น จากตรอกนี้ไปตรอกโน้น แล้วให้พวกมนุษย์โพนทะนาว่า

    เชิญดูกรรมของเหล่าสมณศากยบุตรเถิดนาย สมณศากยบุตรเหล่านี้ ไม่มีความละอาย ทุศีล มีธรรมเลวทราม พูดเท็จ ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ก็สมณศากยบุตรเหล่านี้ ถึงจักปฏิญาณว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ ประพฤติพรหมจรรย์ พูดจริง มีศีล มีธรรมอันงาม ความเป็นสมณะของสมณศากยบุตรเหล่านี้หามีไม่ ความเป็นพรหมของสมณศากยบุตรเหล่านี้หามีไม่ ความเป็นสมณะของสมณศากยบุตรเหล่านี้เสื่อมเสียแล้ว พินาศเสียแล้ว ความเป็นพรหมของสมณศากยบุตรเหล่านี้พินาศเสียแล้ว ความเป็นสมณะของสมณศากยบุตรเหล่านี้จักมีแต่ไหน ความเป็นพรหมของสมณศากยบุตรเหล่านี้จักมีแต่ไหน สมณศากยบุตรเหล่านี้ปราศจากความเป็นสมณะ สมณศากยบุตรเหล่านี้ ปราศจากความเป็นพรหม ก็ไฉนเล่า บุรุษกระทำกิจของบุรุษแล้วจักปลงชีวิตหญิงเสีย

    ก็สมัยนั้นแล มนุษย์ทั้งหลายในพระนครสาวัตถี เห็นภิกษุทั้งหลายแล้ว ย่อมด่า ย่อมบริภาษ ขึ้งเคียด เบียดเบียนด้วยวาจาอันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษว่า

    สมณศากยบุตรเหล่านี้ ไม่มีความละอาย ... ก็ไฉนเล่า บุรุษกระทำกิจของบุรุษแล้วจะปลงชีวิตหญิงเสีย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๔๒๑ – ๔๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564