แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 451
ครั้งที่ ๔๕๑
ข้อความต่อไปใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อุโปสถสูตร มีว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นางวิสาขา ก็อริยอุโบสถเป็นอย่างไร
ดูกร นางวิสาขา จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ก็จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร
ดูกร นางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม เมื่อเธอหมั่นนึกถึงพระตถาคตอยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้
ดูกร นางวิสาขา เปรียบเหมือนศีรษะที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียร ก็ศีรษะที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างไร จะทำให้สะอาดได้เพราะอาศัยขี้ตะกรัน ดินเหนียว น้ำ และความพยายามอันเกิดแต่เหตุนั้นของบุรุษ ดูกร นางวิสาขา ศีรษะที่เปื้อนย่อมทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ฉันนั้นเหมือนกัน จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร ดูกร นางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ฯลฯ
ดูกร นางวิสาขา อริยสาวกนี้เรียกว่า เข้าจำพรหมอุโบสถ อยู่ร่วมกับพรหม และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภพรหม เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้
นี่เป็นธรรมดาของพระอริยเจ้า เมื่อถึงกาลที่จะเพียรขัดเกลากิเลสเป็นพิเศษในวันอุโบสถ จิตก็ย่อมจะน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณ และกุศลประการต่างๆ และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง
เคยเป็นอย่างนี้บ้างไหมในขณะที่รักษาศีลอุโบสถ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เป็นอริยอุโบสถศีล บางท่านคิดว่าจะต้องบังคับจิตให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ แต่ความจริงแล้ว ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าย่อมน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณเนืองๆ บ่อยๆ พร้อมกับการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ
ถ. ในศีลอุโบสถ ข้อที่เพิ่มขึ้นมาในเรื่องละของหอม ละดอกไม้หอม ขับร้อง บรรเลง ข้อละที่เพิ่มขึ้น เพื่อทำจิตหรือชำระจิตให้พ้นจากความเป็นเพศหญิงเพศชาย หรือว่าอย่างไร
สุ. ในคราวที่แล้ว ได้กล่าวถึงมูลเหตุของการที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติวันอุโบสถและอุโบสถศีล ซึ่งการที่จะกล่าวถึงศีลอุโบสถนี้ ก็จะเป็นไปตามลำดับขั้น ยังไม่ได้กล่าวถึงองค์ของอุโบสถศีลเลยว่า องค์ ๘ นั้นคืออะไรบ้าง
ที่ยังไม่ได้กล่าว เป็นเพราะว่าหลายท่านทราบแล้วว่าเป็นอะไร ส่วนท่านที่ยังไม่ทราบ ก็ควรเข้าใจความมุ่งหมายของการที่จะรักษาอุโบสถศีลก่อน อย่าเพิ่งรีบร้อนไปรักษา และก็รักษาไม่ถูก คือ ไม่รู้จุดประสงค์ว่ารักษาทำไม หรือว่าจะรักษาอย่างไร จึงจะเป็นอุโบสถศีลที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ถ้าทราบว่า อุโบสถศีลมีองค์ ๘ คืออะไร แต่ไม่ได้ทราบเกินกว่านั้น หรือไม่ได้รู้แม้จุดประสงค์ว่า ทำไมจึงต้องรักษาศีลอุโบสถ เพราะว่าต้องการที่จะได้บุญมาก ได้ผลของบุญมากอย่างนั้นหรือ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ถูกต้อง เพราะนั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของอุโบสถศีล
อุโบสถศีลนั้นมีถึง ๓ ประการ คือ โคปาลกอุโบสถศีล นิคันฐอุโบสถศีล และอริยอุโบสถศีล ถ้ารู้แล้วจะทำอย่างไร หรือว่ายังคงเป็นโคปาลกอุโบสถ คือ รู้ว่ามี ๘ ข้อเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าจะขัดเกลาอย่างไรให้ยิ่งขึ้น
ข้อสำคัญ คือ ต้องรู้จุดประสงค์ก่อน จึงจะขัดเกลาให้ยิ่งขึ้นได้ ไม่ใช่ว่า มี ๘ ข้อ ก็รักษาศีล ๘ ข้อ แต่เป็นโคปาลกอุโบสถศีล เพราะว่าขณะที่เว้นการรับประทานอาหารในเวลาวิกาลก็ดี หรือว่าไม่นอนบนที่นอนสูงใหญ่ก็ดี แต่ว่าไม่ได้ขัดเกลาอะไรเลย เว้น แต่ว่านึกไป กระทำไปด้วยเรื่องต่างๆ เช่นปกติ หรือว่านอนในที่นอนไม่สูงไม่ใหญ่ก็จริง แต่ก็ยังฟุ้งซ่านไปในเรื่องต่างๆ ไม่มีการขัดเกลาให้ยิ่งขึ้น นั่นก็ไม่ใช่จุดประสงค์ของอุโบสถศีล
ถ. เรื่องของการละกิเลสที่เข้าใจกันโดยทั่วๆ ไป ก็มุ่งหมายว่า ผู้นั้นจะต้องละราคะ โทสะ โมหะ ให้หมดเกลี้ยงเลย โดยมากเข้าใจกันอย่างนี้ พูดถึงละกิเลส ก็เอากิเลสตัวใหญ่ๆ เหล่านี้มาตั้งเป็นหลัก
อาจารย์พูดถึงนางวิสาขา นางวิสาขานี้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็อยู่ครองเรือน การอยู่ครองเรือนของนางวิสาขานี้ ราคะ โทสะของนางวิสาขาก็ยังมี แม้ท่านเป็น พระอริยบุคคล ก็ไม่ใช่ว่ากิเลสตัวใหญ่ๆ จะหมดสิ้นทีเดียว แต่หมดไปทีละเล็กทีละน้อย กิเลสเล็กน้อยต้องหมดไปก่อน กิเลสของนางวิสาขาซึ่งตัดได้เป็นสมุจเฉท คือ วิจิกิจฉาไม่มีแล้ว สักกายทิฏฐิของท่านไม่มีแล้ว แต่ราคะ โทสะ ไม่ใช่ตัดไปหมด แม้สกทาคามีก็ยังตัดไม่หมด ผู้ที่เป็นพระอริยะและหมดกิเลส ต้องหมายถึง พระอรหันต์อย่างเดียว ลำดับขั้นต่ำๆ ลงมานี้ยังไม่หมด ยังมีอะไรอีกมากที่จะต้องเจริญสติเพื่อกำจัดพวกนี้เรื่อยๆ ไป แต่ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป พอเจริญสติจะให้หมดกิเลสทันที โดยมากเป็นอย่างนี้ ผมเข้าใจอย่างนี้
สุ. ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของการละกิเลสที่แสนละเอียดจริงๆ ว่า เป็นปกติ เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติอย่างนี้ มุ่งไปคิดว่าจะมีอัศจรรย์เกิดขึ้น ไม่รู้อะไรก็บรรลุมรรคผลเป็นพระอริยเจ้าได้ นั่นผิด
ปกติธรรมดาอย่างนี้ๆ ทุกวันๆ อย่างนี้ ยังไม่รู้อะไรเลย ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้จริงๆ ว่า การที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอริยะแม้เพียง พระโสดาบันบุคคลนั้น จะต้องรู้อย่างไร ชัดเจนอย่างไร ประจักษ์แจ้งอย่างไร แทงตลอดอย่างไร ซึ่งถ้าข้ามอย่างนี้และไม่ศึกษาตามลำดับ มุ่งคิดว่า ละทีเดียว คือ ละโลภะ โทสะ โมหะได้ทีเดียว เป็นไปไม่ได้เลย การที่จะละกิเลสได้ ต้องเป็นไป ทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ตามปกติ ตามธรรมดาจริงๆ
อย่างในขณะนี้ อินทรีย์แก่กล้าพอที่จะระลึกแล้วละได้ไหม ที่จะไม่ยึดถือในนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏได้ไหม ถ้ายังไม่ได้ ก็เป็นความจริงที่จะต้องอบรมเจริญไปจนกว่าความรู้จะเพิ่มขึ้น และความรู้นั้น ไม่พ้นจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติเลย และผู้ที่อบรมตามปกติจะรู้ว่า กว่าที่จะเข้าถึงการปฏิบัติที่เป็นการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ต้องผ่านการปฏิบัติผิดกว่าจะเข้าใจว่า ข้อปฏิบัติที่ถูกจริงๆ นั้น คืออย่างไร
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งได้ฟังปริยัติธรรมเรื่องของจิต เจตสิก รูป และก็ได้ฟังเรื่องของการปฏิบัติธรรมจากหลายๆ แห่ง หลายๆ ครูอาจารย์ ท่านเข้าใจว่า ถ้านำคำอธิบายต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังมาประมวลกัน ก็คงจะช่วยทำให้ได้ผลเร็วขึ้น
ทุกครั้งที่ท่านจะระลึกรู้ลักษณะของได้ยิน ท่านจะต้องเอาสติมาตั้งไว้ตรงหู ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่การระลึกรู้ในสภาพรู้ แต่มีความเป็นตัวตนที่คอยจะเอาสติตั้งไว้ตรงนั้น คือ ตรงหู เพราะฉะนั้น ก็ยังมีหูอยู่ใช่ไหม ในความรู้สึกของคนนั้นยังมีหูอยู่ และจะไม่ใช่ตัวตนได้อย่างไร ความรู้สึกยังเป็นหู เป็นลักษณะของความเป็นตัวตน ไม่ใช่การที่จะระลึกรู้จริงๆ ในสภาพรู้ โดยที่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็ตาม ไม่มีตัวตนไปจัดแจง เจาะจง เอาวางไว้ตรงนั้น เพราะว่าเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพรู้ในอาการรู้
ขณะนี้กำลังได้ยิน หูอยู่ที่ไหนไม่สนใจ เสียงอะไรอยู่ที่ไหนไม่สนใจ ถ้าสติจะระลึกรู้ในสภาพรู้ที่กำลังรู้เสียงที่ปรากฏ ขณะนั้นจึงจะคลายการที่มีตัวตนที่กำลังจัดแจง จงใจจะเอาสติตั้งไว้ตรงนั้น รอไว้ตรงนี้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น หูก็ยังมีในความรู้สึก ความเป็นตัวตนนี้ยังอยู่ หูก็ต้องอยู่ที่ร่างกายใช่ไหม เพราะฉะนั้น ตัวร่างกายนี้ก็ยังอยู่ และมีหูอยู่ตรงนั้น และมีการไปจัดแจงรู้ได้ยินตรงหู ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่การสำเหนียก สังเกต ที่จะรู้ตรงสภาพรู้เสียงว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงอาการที่รู้เสียงเท่านั้น
เพราะฉะนั้น กว่าจะทิ้งความเป็นตัวตน เยื่อใยที่คอยจัดแจงที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แทนที่จะระลึกรู้เท่านั้น ซึ่งสภาพธรรมเป็นของจริง เมื่อรู้ชัดแล้ว จะหยั่งรู้ถึงเหตุปัจจัยที่เกิดตรงตามความเป็นจริง โดยไม่มีตัวตนไปรอที่จะให้รู้ตรงนั้น
ถ้ายังมีเยื่อใย มีตัวตนไปรอไว้ที่ตรงหู ก็จะต้องมีร่างกาย และจะต้องมีหูอยู่ที่ร่างกายตรงนั้น ซึ่งขณะนั้นสภาพได้ยินก็ผ่านไปแล้ว ดับไปแล้ว ไม่มีการที่จะรู้ว่า เพียงการรู้เสียงเท่านั้นที่เสียงปรากฏได้ในขณะนี้ เพราะว่ามีสภาพที่กำลังรู้เสียง และการรู้เสียงก็เป็นแต่เพียงอาการรู้เท่านั้นเอง
ยากไหมที่จะแยกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมด้วยความรู้จริงๆ ซึ่งจะต้องอบรมจนกระทั่งเป็นความรู้จริงแต่ละทาง เป็นนามธรรมแต่ละทาง เป็นรูปธรรมแต่ละทางด้วย แต่ไม่ใช่มีตัวตนอยู่ในความทรงจำ และไปรอไว้ตรงนั้น ไปรอไว้ตรงนี้ ถ้าเป็นในลักษณะนั้น ตัวตนก็ยังอยู่เต็มที่ และขณะนั้นสภาพรู้ก็ดับไป ผ่านไป ความเป็นตัวตนก็ยังรอไว้ตรงหู ก็เลยไม่รู้ว่า เป็นเพียงแต่อาการรู้เสียง และสภาพที่รู้เสียงนั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร
แต่ก็ยากที่จะเอาการยึดถือนามธรรมและรูปธรรม การแฝงความรู้สึกว่าเป็นตัวตนซึ่งยังมีอยู่มากเหลือเกินออกได้หมด ต้องอาศัยการสังเกต สำเหนียก มนสิการจริงๆ เมื่อรู้ว่ายังแฝงอยู่ ยังเป็นตัวตนอยู่ จึงค่อยๆ ละ ค่อยๆ คลายออกได้ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะดับเป็นสมุจเฉท
เรื่องของการที่จะต้องรู้นี้มากจริงๆ จึงจะประจักษ์ในสภาพของธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเป็นลำดับขั้น และปัญญาเท่านั้นจึงจะเริ่มละความไม่รู้ ความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมออกได้เป็นลำดับขั้น จนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลเมื่อไร เมื่อนั้นก็จะดับวิจิกิจฉานุสัย ความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน และการลูบคลำข้อปฏิบัติที่ผิดได้เป็นสมุจเฉท
ถ. การละตัวตนนี้ยากจริงๆ แม้การรักษาศีลอุโบสถที่อาจารย์เคยบรรยายไว้แล้วที่ว่า อริยอุโบสถ คือ ในวันอุโบสถ ไปวัด และสมาทานศีลอุโบสถ เมื่อสมาทานแล้ว ก็สนทนาธรรมกัน พูดเรื่องธรรมกัน ถ้าไม่พูดเรื่องธรรม ก็ต้องนิ่งแบบพระอริยเจ้า ไม่ใช่นิ่งเฉยๆ คือ เจริญสติปัฏฐานนั่นเอง
เท่าที่ผมไปรักษาศีลอุโบสถ สมาทานศีล ก็สมาทานด้วยกัน พอสมาทานเสร็จแล้ว คุยธรรมกับใคร ไม่มีใครคุยด้วย หรือบางทีจะคุยก็คุยไม่ได้ ขัดกัน เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วจะทำอย่างไร เหลืออยู่วิธีเดียว คือ นิ่งแบบพระอริยเจ้า ทีนี้นิ่งแล้วก็ไม่เหมือนพระอริยเจ้า สติไม่เกิด เมื่อสติไม่เกิด ตัวตนก็เข้ามา เดือดร้อนครับ
พยายามมารักษาศีลอุโบสถแบบอริยอุโบสถ ก็ไม่เป็น รู้ว่าไม่เป็นก็เดือดร้อน คือ ตัวตนเข้ามาก็เดือดร้อน เวลานี้เห็นแล้วว่า ตัวตนทำให้เดือดร้อนทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่เฉพาะศีลอุโบสถ แม้ในชีวิตประจำวัน ได้ยินอะไรที่ไม่พอใจ เห็นอะไรที่ไม่พอใจ ขณะนั้นเป็นตัวตนทั้งนั้น ตัวตนทำให้เดือดร้อน มีความคิดว่าจะละ เมื่อไรจะละหมดสักทีก็ไม่รู้ เวลานี้รู้ตัวว่า ตัวตนยังเต็มอยู่
สุ. ไม่มีปาฏิหาริย์ ไม่มีฤทธิ์ที่จะบันดาลได้ว่า จะให้ละวันไหน วันนี้หรือพรุ่งนี้ เพราะฉะนั้น มีหนทางเดียวจริงๆ คือ อบรมเจริญเหตุ เมื่อยังไม่รู้ ก็มีทางเดียวที่จะรู้ คือ สติระลึกทันที
ทางตากำลังเห็น ระลึกเสียทันทีบ่อยๆ
ยิ่งมีศรัทธาที่จะรักษาศีลอุโบสถ ไปสู่สถานที่ที่มีโอกาสจะได้ฟังธรรม สนทนาธรรม หรือแม้ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้สนทนาธรรม ก็ยังระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ศีล กุศลใดๆ หรือเจริญสติปัฏฐานได้ในขณะนั้น ก็เป็นการสะสมที่จะให้ขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้นจากศีล ๕ ด้วยศีล ๘
ชีวิตของฆราวาส ปกติแล้วสามารถที่จะรักษาศีล ๕ ได้เป็นประจำวัน แต่ว่าที่จะให้รักษาได้ถึงศีล ๘ ศีล ๑๐ นั้น ต้องบรรลุคุณธรรมถึงขั้นที่จะรักษาได้จริงๆ จึงสามารถที่จะรักษาได้ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้ายังไม่บรรลุคุณธรรมถึงขั้นที่จะรักษา ศีล ๘ ศีล ๑๐ ได้เป็นปกติในชีวิตประจำวันแล้ว ก็ย่อมรักษาศีล ๕ ได้เป็นปกติ
เพราะฉะนั้น เมื่อมีศรัทธาที่จะอบรมสะสมในกาลที่เป็นวันอุโบสถ ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้เข้าใจจุดประสงค์ของการรักษาศีลอุโบสถ และก็ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งก็ไม่ใช่ตัวตนที่ไปรักษาศีลอุโบสถ แต่ต้องมีเหตุปัจจัยสะสมมาแล้วที่จะรักษาอุโบสถศีล จึงได้มีการรักษาอุโบสถศีล ต้องรู้ความจริงอย่างนี้ แม้ในขณะที่รักษาอุโบสถศีลก็ไม่ใช่ตัวตน ทำไมคนอื่นไม่รักษา ถ้าไม่มีการสะสมอุปนิสัยปัจจัยมาที่จะรักษา ก็รักษาไม่ได้ ไม่มีศรัทธาที่จะรักษา ไม่มีโอกาสที่จะรักษา
เพราะฉะนั้น แต่ละคนจึงระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏกับตนตามความเป็นจริงที่ได้สะสมมา เมื่อจะรักษาอุโบสถศีล ก็ไม่ใช่ตัวตนที่รักษา หรือเมื่อไม่รักษาอุโบสถศีล ก็ไม่ใช่ตัวตนที่ไม่รักษา เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ ซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมาอย่างนั้นๆ
และหนทางเดียวที่จะละ คือ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ หรืออุโบสถศีลก็ตาม สภาพธรรมใดเกิดขึ้นแล้ว ปรากฏแล้ว สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ว่า ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ แต่กว่าจะรู้จริงก็ต้องอบรมไปเรื่อยๆ อยากละแต่สติไม่เกิด ก็ละไม่ได้
อยากละด้วยกันทุกคน แต่ต้องมีความเพียร มีความอดทนที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไปเรื่อยๆ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๖ ตอนที่ ๔๕๑ – ๔๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 440
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 441
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 442
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 443
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 444
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 445
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 446
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 447
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 448
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 449
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 450
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 451
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 452
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 453
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 454
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 455
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 456
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 457
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 458
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 459
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 460
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 461
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 462
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 463
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 464
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 465
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 466
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 467
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 468
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 469
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 470
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 471
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 472
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 473
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 474
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 475
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 476
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 477
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 478
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 479
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 480