แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 461
ครั้งที่ ๔๖๑
สำหรับการขออารักขาจากบ้านเมืองที่เป็นธรรม ใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล อรรถกถาพระวินัยปิฎก ว่าด้วยเรื่องภิกษุณีเป็นโจทก์ฟ้องคดีในโรงศาล มีว่า
แต่เมื่อเขาถามว่า ใครทำ ภิกษุณีควรกล่าวว่า การที่จะพูดว่า คนชื่อโน้น ไม่สมควรแก่เรา ท่านรู้เอาเองเถิด เพราะพวกเราเพียงแต่ขออารักขาอย่างเดียว ท่านโปรดให้อารักขานั้นแก่พวกเรา และให้นำของที่ถูกลักไปกลับคืนมา
การขออารักขาไม่เจาะตัวย่อมเป็นอย่างนี้ การขออารักขาไม่เจาะตัวนั้น ควรอยู่
นี่เป็นคำพูดที่มาจากจิตใจที่ต่างกัน เพราะว่าถ้าพูดอย่างนี้ ก็เพียงแต่ขออารักขาโดยที่ไม่มุ่งร้าย ไม่หวังร้ายต่อบุคคลที่ได้กระทำกรรมนั้น
ข้อความต่อไปมีว่า
เมื่อภิกษุณีกล่าวอย่างนั้นแล้ว ถ้าแม้พวกเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายเหล่านั้นสืบสวนหาตัวผู้ทำแล้ว ทำการปรับไหมแก่คนผู้ทำเหล่านั้น แม้สมบัติทุกอย่างที่ถูกเจ้าหน้าที่ปรับไหมไม่เป็นสินใช้ ทั้งไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุณีเลย
แม้เห็นพวกขโมยลักบริขารไป จะกล่าวว่า ขโมยๆ เพราะต้องการความพินาศแก่ขโมยเหล่านั้น ก็ไม่ควร
เป็นการขาดเมตตาที่จะกล่าวว่า ขโมยๆ หรือที่จะร้องว่า ขโมยๆ
จริงอยู่ แม้เมื่อภิกษุณีกล่าวอย่างนั้น ทรัพย์สมบัติที่เจ้าหน้าที่ทำการปรับไหมแก่ขโมยเหล่านั้นแม้ทั้งหมด เป็นสินใช้แก่ภิกษุณี
แต่จะกล่าวแก่ผู้ที่เชื่อฟังคำของตนว่า ผู้นี้ลักเอาบริขารของเราไป จงให้นำบริขารนั้นกลับคืนมา และอย่าลงโทษเขา ดังนี้ ควรอยู่
เจตนาผิดกันไหม จิตใจที่ประกอบด้วยเมตตา ก็เพียงแต่กล่าวว่า ผู้นี้ลักเอาบริขารของเราไป จงให้นำบริขารนั้นกลับคืนมา และอย่าลงโทษเขา
ข้อความต่อไปมีว่า
พวกภิกษุณีทำการฟ้องร้องคดี เพื่อประโยชน์แก่ทาสชาย ทาสหญิงและ หนองบึงเป็นต้น คดีนี้ ชื่อว่า อกัปปิยคดี ไม่สมควร
สำหรับการบอกเจาะตัว ปรารภอนาคตนั้น มีข้อความว่า
การบอกเจาะตัว ปรารภอนาคตเป็นอย่างไร คือ เมื่อชนเหล่าอื่นทำอนาจารเป็นต้น โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ ภิกษุณีพูดกับพวกเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายอย่างนี้ว่า พวกชาวบ้านทำกรรมนี้ และกรรมนี้ในสำนักของพวกเรา ขอจงให้อารักขาแก่พวกเรา เพื่อต้องการไม่ให้ทำต่อไป
เมื่อเขาถามว่า ใครทำอย่างนี้ บอกว่าคนโน้นและคนโน้น อย่างนี้ จักเป็นการบอกเจาะตัว ปรารภอนาคต แม้การบอกเจาะตัวนั้น ก็ไม่ควร เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายทำการปรับไหมแก่คนเหล่านั้น ทรัพย์ที่ถูกปรับทั้งหมดเป็นสินใช้แก่ภิกษุณี โดยนัยก่อนเหมือนกัน คำที่เหลือเป็นเช่นคำก่อนๆ นั้นแล
แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย ให้ตีกลองป่าวประกาศว่า จะทำโทษชื่อนี้ แก่คนผู้ทำอนาจารเห็นปานนี้ในสำนักของภิกษุณี แล้วสืบเสาะหาผู้ที่ไม่ตั้งอยู่ในข้อบังคับมาลงโทษ ไม่เป็นสินใช้ ทั้งไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุณีเลย และแม้พวกภิกษุ ก็มีแนวดำเนินการ ดังแนวดำเนินการที่กล่าวไว้สำหรับภิกษุณีนี้เหมือนกัน
แสดงให้เห็นว่า ถ้ามีเจตนาที่ประกอบด้วยกุศลจิต เป็นเมตตา ซึ่งก็มีวิธีที่จะไม่เป็นโทษ เป็นภัย และไม่เป็นอาบัติ ถ้าเป็นคำพูดที่ประกอบด้วยเมตตาจริงๆ
จริงอยู่ การบอกเจาะตัว ไม่สมควรแม้แก่ภิกษุ เมื่อภิกษุบอกเจาะตัวอย่างนั้น ทรัพย์ที่ถูกเจ้าหน้าที่ปรับไหม เป็นภาคหลวงทั้งหมด เป็นสินใช้แก่ภิกษุ เป็นปาราชิกแก่ภิกษุผู้ให้เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายปรับสินไหม โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล
ฝ่ายภิกษุใดบอกไม่เจาะตัว ทั้งที่รู้อยู่ว่า เจ้าหน้าที่เขาจะทำโทษ และเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายเหล่านั้น สืบหาตัวมาลงโทษจนได้ ไม่มีโทษแก่ภิกษุนั้น
เพราะรู้ว่าถ้าจับได้เขาก็จะถูกทำโทษ ฝ่ายภิกษุก็บอกไม่เจาะตัว เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีโทษแก่ภิกษุนั้น
ข้อความต่อไป ขอให้ท่านผู้ฟังสังเกตถึงผู้ที่จะขัดเกลากิเลสจนถึงการดับกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทว่า ควรจะกระทำอย่างไร
การที่ภิกษุจะเอามีดและขวานเป็นต้น ของพวกชาวบ้านผู้ลอบตัดต้นไม้เป็นต้น ในเขตแดนวัดมาแล้วเอาก้อนหินทุบ ไม่ควร ถ้าคมบิ่นไป ภิกษุพึงซ่อมแล้วคืนให้
พวกภิกษุวิ่งเข้ามายึดเอาบริขารของคนเหล่านั้นไว้ แม้การยึดเอาบริขารนั้นไว้ ก็ไม่ควรทำ เพราะจิตเป็นธรรมชาติกลับกลอกเร็ว เมื่อเกิดไถยยจิตขึ้น จะพึงถึงความเป็นผู้ขาดมูลก็ได้
บทที่เหลือตื้นทั้งนั้น
ถ้าพวกภิกษุวิ่งไปยึดเอาบริขารของคนเหล่านั้นไว้ ใครจะรู้จิตของภิกษุซึ่งกลับกลอกเร็วว่า อาจจะต้องการในวัตถุที่ยึดไว้ก็เป็นได้ เมื่อต้องการที่จะยึดไว้โดยที่เจ้าของไม่ได้ให้ก็เป็นอทินนาทาน เพราะฉะนั้น ก็เป็นอกุศลจิต เป็นอกุศลกรรม
เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังจะเทียบเคียงได้กับชีวิตประจำวันของท่านว่า ท่านจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของท่าน เป็นการปฏิบัติด้วยกุศลจิตที่ประกอบด้วยเมตตา หรือว่าเป็นไปด้วยอกุศลจิต ถ้าท่านต้องการที่จะขัดเกลากิเลส ท่านก็ควรที่จะให้จิตน้อมไปในการที่จะปฏิบัติด้วยเมตตา ด้วยกุศลจิต เท่าที่ท่านสามารถจะกระทำได้
ถ. ของที่ถูกขโมยไป อยากได้คืนมา แต่บอกว่า อย่าไปลงโทษผู้ขโมยเลย ดูเหมือนว่าเมตตาจะมีอยู่ครึ่งเดียว เขาขโมยไปแล้ว ก็ให้ขโมยไปเลย หมดเรื่องหมดราวไป แผ่เมตตาให้เขาเลย ให้เป็นสุข เป็นสุข อย่างนี้จะไม่ดีกว่าหรือ
สุ. ให้ขโมยไป หรือให้ ที่เขากระทำเป็นอกุศลกรรม การเอาของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการให้ ก็เป็นเรื่องของเมตตาที่จะให้ เมื่อมีกุศลจิตคิดเมตตาที่จะให้ เป็นทาน การให้ แต่นี่ไม่ใช่การให้ แต่ว่าไม่เอาโทษ เป็นเมตตาที่จะไม่ให้ลงโทษ และเป็นเมตตา ๒ ชั้น คือ นอกจากจะไม่ให้ลงโทษแล้ว ยังให้ทานด้วย
ชีวิตจริงของบางท่าน ใครเอาสิ่งของของเขาไป เขาเอาคืนมา และให้ทีหลัง เพื่อจะได้ไม่เป็นโทษเป็นภัย
ถ. เรื่องปาราชิกของภิกษุ เท่าที่ผมได้ฟังมา ภิกษุที่จะปาราชิกมี ๔ เท่านั้น ที่อาจารย์บรรยายเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ใน ๔ กลายเป็นปาราชิกมี ๕ แล้วหรืออย่างไร
สุ. ปาราชิก ๔ ถ้าจะให้จำได้ง่าย ก็มี เม อะ มะ อุ
เม คือ เมถุนธรรม ภิกษุมีภรรยา เป็นเรื่องของการครองเรือนในเพศบรรพชิตซึ่งไม่สมควร
อะ คือ อทินนาทาน การถือเอาวัตถุซึ่งคนอื่นไม่ได้ให้
มะ คือ การฆ่ามนุษย์
อุ คือ การอวดอุตริมนุษยธรรม ซึ่งไม่มีจริง
การที่จะเป็นปาราชิก แล้วแต่ว่าจะเป็นข้อปลีกย่อยของปาราชิกข้อใด โดยมากถ้าเกี่ยวกับเรื่องเงินทอง ก็เป็นเรื่องของอทินนาทาน
ถ. หนังสือของนักธรรมผู้หนึ่งมีข้อความว่า บุคคลที่ไม่รู้จักโกรธ คือ ผู้ฉลาด แต่บุคคลที่ไม่รู้จักความโกรธ คือ คนโง่ ข้อความนี้จะเป็นจริงเท็จอย่างไร และหมายความว่าอย่างไร
สุ. ที่ว่าไม่รู้จักความโกรธ ก็คงมีหลายท่าน และบางท่านอาจสงสัยว่า ทำไมเป็นอย่างนี้ เพราะความโกรธใครๆ ก็น่าจะรู้จัก แต่ความจริงแล้ว รู้จักโดยความไม่รู้ โดยความยึดถือว่า ความโกรธเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
ถ้าใครรู้จักว่า ความโกรธที่กำลังปรากฏ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เมื่อมีปัจจัยของความโกรธ ความโกรธก็เกิดขึ้น ยับยั้ง บังคับบัญชาไม่ได้ นี่คือผู้ที่รู้จักความโกรธตามความเป็นจริง มีมากไหมผู้ที่รู้จักความโกรธตามความเป็นจริงอย่างนี้ คือ โดยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
ถ. ขอเล่าถึงการปฏิบัติที่ผ่านมา คือ ปฏิบัติไปๆ บางครั้งก็รู้ไม่ตรงกับปริยัติเสียแล้ว คือ ตามที่อาจารย์บรรยายว่า สติเป็นโสภณเจตสิกที่เกิดร่วมกับกุศลจิตเท่านั้น จะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย แต่ว่าจิตที่เป็นอกุศลนั้นเป็นอารมณ์ให้สติรู้ได้
แต่การปฏิบัติ ขณะที่บางครั้งความโกรธเกิดขึ้นเป็นอารมณ์ให้สติรู้ได้ และรู้ว่าขณะที่โกรธนั้น เวทนาเป็นทุกขเวทนาทุกครั้ง ขณะที่ความโกรธก็ตั้งอยู่ สติก็ตั้งอยู่ ดูคล้ายๆ กับว่า จิตขณะนั้นมีความโกรธเป็นอารมณ์ หรือว่ามีสติร่วมกับจิตที่เป็นความโกรธด้วย ทำให้เข้าใจว่า จิตขณะนั้นมีทั้งความโกรธด้วย มีทั้งสติด้วย เมื่อขัดกับปริยัติอย่างนี้แล้ว ผมก็มีความเห็นว่า ความรู้ของเรายังคลาดเคลื่อนอยู่ ไม่ได้ประณามว่าปริยัติผิด แต่เรายังรู้ไม่จริง
เรื่องนี้อาจารย์ก็เคยบรรยายไปว่า จิตเกิดดับรวดเร็วเหลือเกิน เวลาที่ฟังเสียงดนตรี เสียงของแซกโซโฟนก็ดี เสียงของทรัมเป็ตก็ดี เสียงปี่ เสียงกลองแต๊ก เสียงไวโอลินก็ดี รู้สึกคล้ายๆ กับว่า ได้ยินพร้อมๆ กัน แต่ความจริงแล้ว ไม่พร้อมกัน คนละขณะ เพราะฉะนั้น ความเห็นของผมคงจะผิด
สุ. เวลาที่โกรธ และมีสติ แต่ว่ายังรู้สึกเสมือนว่า สติเกิดร่วมกับความโกรธได้ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะปัญญายังไม่คมกล้าที่จะรู้ว่า สติไม่ใช่ความโกรธ
ท่านที่เจริญสติปัฏฐานต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ และสามารถรู้ความต่างกัน บางครั้งมีแต่ความโกรธเท่านั้น สติไม่มีเลย มีไหมอย่างนี้ มี ซึ่งขณะนั้นโกรธและหลงลืมสติ
บางครั้งโกรธ สติระลึกรู้ในอาการที่โกรธ แต่ปัญญายังไม่คมกล้า ก็ไม่สามารถที่จะแยกลักษณะของนามธรรมที่ต่างกันที่เกิดสืบต่อกันว่า เป็นนามธรรมแต่ละชนิดได้ แต่ถ้าเป็นปัญญาที่อบรมสมบูรณ์คมกล้าจริงๆ จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม คือ ลักษณะของความโกรธก็อย่างหนึ่ง ลักษณะของสติก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สติเกิดร่วมกับความโกรธ ถ้าโดยลักษณะนั้น ก็ยังคงมีตัวตน เพราะว่ายังไม่สามารถที่จะแยกรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมต่างชนิดกันได้
ด้วยเหตุนี้การอบรมเจริญสติปัฏฐานจึงต้องอบรมเนืองๆ บ่อยๆ และละเอียดขึ้น จึงจะรู้ได้จริงๆ ว่า เวลาที่อบรมเจริญปัญญาจนถึงความสมบูรณ์คมกล้าแล้ว จะประจักษ์ในลักษณะของนามธรรมโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน และนามธรรมแต่ละชนิดก็ไม่ปะปนกัน
ถ้าเวทนากำลังปรากฏ ลักษณะของเวทนาเท่านั้นที่ปรากฏ และขณะที่กำลังโกรธ บางทีลักษณะสภาพของโทมนัสเวทนาจะปรากฏ หรือว่าลักษณะของปฏิฆะจะปรากฏ สติก็สามารถที่จะรู้ความต่างกันว่า ขณะนั้นอะไรเป็นอารมณ์ สภาพ ความรู้สึกโทมนัสเป็นอารมณ์ หรือว่าลักษณะของปฏิฆะ ความหยาบกระด้างของจิตเป็นอารมณ์ หรือถ้าจะมีนามธรรมอื่นเกิดดับสลับแทรกอย่างรวดเร็ว สติก็สามารถที่จะรู้ว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่ความโกรธ เป็นลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิดซึ่งต่างกันจริงๆ
สติจะต้องระลึกรู้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชิน จนกว่าจะชำนาญ จนกว่าจะรู้ชัด จนกว่าจะประจักษ์จริงๆ ในสภาพของนามธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ซึ่งขณะที่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด ไม่ใช่ประเภทเดียวกัน นั่นเป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรม
ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า ขณะที่แยกนามธรรมต่างชนิดยังไม่ออก ขณะนั้นยังเป็นตัวตน หมายความว่า ขณะที่มีสติพิจารณารูปหนึ่งรูปใด หรือว่านามหนึ่งนามใด ขณะนั้นยังแยกรูป แยกนามไม่ออก ทุกครั้งที่พิจารณา สังเกต สำเหนียก ขณะนั้นยังเป็นตัวตนอยู่ทุกครั้งหรือ
สุ. การอบรมเจริญสติ เวลาที่สติเกิดขึ้นแต่ละครั้ง แต่ละขณะ เป็นการน้อมไปสู่ความเห็นถูก คือ สัมมาทิฏฐิ เป็นการที่น้อมไปสู่ความสมบูรณ์ของความเห็นถูกจริงๆ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เมื่อปัญญายังไม่ถึงความสมบูรณ์ ยังไม่ถึงขั้นที่จะประจักษ์ ก็เป็นแต่เพียงการอบรมที่จะน้อมไปสู่ความเห็นถูกจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ ซึ่งเป็นการประจักษ์ในสภาพความเป็นอนัตตาของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณ
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงสติเกิดขึ้นระลึกรู้นิดเดียวเป็นวิปัสสนาญาณแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นการน้อมไปสู่การที่จะถึงความสมบูรณ์ของปัญญาซึ่งประจักษ์จริงๆ ได้ ตามควรแก่ขั้นความสมบูรณ์ของปัญญา ซึ่งจะต้องอบรมไปเรื่อยๆ
บางท่านกล่าวว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานของท่านเหมือนกับการย่ำเท้า ยังไม่ไปถึงไหนเลย ระลึกรู้ลักษณะของรูปนั้นบ้าง นามนี้บ้าง ระลึกรู้ลักษณะของรูปนี้อีก นามนั้นอีก แต่การย่ำเท้าอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้ ท่านไม่ทราบหรอกว่า เป็นการขยับไป ทีละนิด ไม่ใช่ว่าท่านจะสามารถข้ามไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยรวดเร็ว โดยที่กิเลสก็ยังเต็ม ความไม่รู้ในลักษณะของรูปขันธ์แต่ละชนิดก็ยังมี ความไม่รู้ในลักษณะของเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ก็ยังมีอยู่เต็ม แต่ท่านก็คิดว่า ท่านจะข้ามไปรู้อริยสัจธรรมโดยที่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ตามปกติตามความเป็นจริงเสียก่อน
เพราะฉะนั้น ในขั้นต้น ในขั้นอบรม ในขั้นเจริญสติปัฏฐาน ที่จะให้น้อมไปสู่การประจักษ์ในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็โดยที่สติระลึกรู้ลักษณะของรูปและนามที่กำลังปรากฏแม้เพียงชั่วเล็กน้อย ซึ่งมีข้อความในพระไตรปิฎกว่า เพียงชั่วไก่ปรบปีก พระผู้มีพระภาคยังตรัสว่า เป็นประโยชน์ เป็นคุณ เพราะเหตุว่าเป็นการสะสมให้สติจะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏและน้อมระลึกถึงสภาพความจริง เพื่อจะได้ประจักษ์ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นๆ ได้ แต่ต้องเป็นไปทีละเล็กทีละน้อย
บางท่านใจร้อนจริงๆ อดทนไม่ได้ อยากจะได้ผลโดยรวดเร็ว ซึ่งท่านควรที่จะได้ศึกษาว่า กิเลสมีมากเพียงไร และถ้าตราบใดยังไม่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ปัญญายังไม่สามารถที่จะแยกรู้จริงๆ ในขณะที่กำลังเห็น ด้วยการสำเหนียก สังเกตว่า นามธรรมเป็นอย่างไร รูปธรรมเป็นอย่างไร จะไม่ประจักษ์ว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม รูปธรรมไม่ใช่นามธรรมอย่างไร
เพราะฉะนั้น ทุกขณะที่กำลังเห็นนี้ เจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญา ศึกษาด้วยการสำเหนียก ระลึกรู้ สังเกตในลักษณะที่เป็นนามธรรม ในลักษณะที่เป็นรูปธรรม
ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๗ ตอนที่ ๔๖๑ – ๔๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 440
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 441
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 442
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 443
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 444
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 445
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 446
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 447
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 448
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 449
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 450
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 451
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 452
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 453
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 454
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 455
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 456
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 457
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 458
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 459
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 460
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 461
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 462
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 463
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 464
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 465
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 466
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 467
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 468
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 469
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 470
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 471
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 472
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 473
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 474
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 475
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 476
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 477
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 478
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 479
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 480