แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 469


    ครั้งที่ ๔๖๙


    สำหรับเรื่องการประเคนนี้ ถ้าท่านมีความจำเป็นโดยประการใดๆ ก็ควรที่จะได้ทราบวิธีของการประเคน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    แม้ทายกผู้หาบภัตตาหารไป ถ้าน้อมหาบลงถวาย สมควรอยู่ ถ้าแม้นมีไม้ไผ่ยาว ๓๐ ศอก ที่ปลายข้างหนึ่งผูกหม้อน้ำอ้อยแขวนไว้ ที่ปลายข้างหนึ่งผูกหม้อเนยใสแขวนไว้ ถ้าภิกษุรับประเคนลำไม้ไผ่นั้น เป็นอันรับประเคนของทั้งหมดเหมือนกัน

    ถ้าทายกกล่าวว่า นิมนต์ท่านรับน้ำอ้อยสดซึ่งกำลังไหลออกจากรางหีบอ้อย การน้อมเข้ามาถวายยังไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงไม่สมควรรับ แต่ถ้าเขาเอากากทิ้งแล้วเอามือวักขึ้นถวาย ควรอยู่

    บาตรมากใบเขาวางไว้บนเตียงก็ดี บนตั่งก็ดี บนเสื่อลำแพนก็ดี บนรางไม้ก็ดี บนแผ่นกระดานก็ดี ทายก (ผู้ให้) อยู่ในหัตถบาสแห่งภิกษุผู้อยู่ในที่ใด ของที่เขาให้ในบาตรเหล่านั้น อันภิกษุผู้อยู่ในที่นั้น แม้เอานิ้วแตะเตียงเป็นต้น ด้วยความหมายว่ารับประเคน จะยืนอยู่ก็ตาม นั่งอยู่ก็ตาม นอนอยู่ก็ตาม เป็นอันรับประเคนแล้วทั้งหมด

    ถ้าแม้นภิกษุขึ้นนั่งเตียงเป็นต้น ด้วยหมายใจว่า เราจักรับประเคน ก็ควรเหมือนกัน

    ก็ถ้าแม้นเขาวางบาตรทั้งหลายไว้บนแผ่นดิน เอากระพุ้งกับกระพุ้งจดกัน ของที่เขาถวายในบาตรใบที่ภิกษุนั่งเอานิ้วมือหรือเข็มแตะไว้เท่านั้น เป็นอันรับประเคนแล้ว

    ท่านกล่าวไว้ในที่บางแห่งว่า การรับประเคนในบาตรที่เขาตั้งไว้บนเสื่อลำแพนผืนใหญ่ และเครื่องลาดหลังช้างเป็นต้น ย่อมไม่ขึ้น

    คำนั้นพึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายเอาการล่วงเลยหัตถบาสไป แต่เมื่อมี หัตถบาสในที่ใดที่หนึ่งก็ควร นอกจากของซึ่งเกิดอยู่กับที่นั้น

    ก็การรับประเคนบนใบปทุม (ใบบัว) หรือบนใบทองกวาวเป็นต้น ซึ่งเกิดอยู่กับที่นั้นย่อมไม่ควร เพราะใบปทุมเป็นต้นนั้น ไม่ถึงการนับว่าของเนื่องด้วยกาย เหมือนอย่างว่าในของเกิดกับที่นั้น การรับประเคนไม่ขึ้น ฉันใด ในเตียงที่ตั้งตรึงไว้ที่ตอเป็นต้น ในแผ่นกระดาน หรือในหินที่เป็นอสังหาริมะ การรับประเคนก็ไม่ขึ้นเหมือนกัน ฉันนั้น

    จริงอยู่ เตียงที่ตั้งตรึงไว้ที่ตอเป็นต้นแม้นั้น เป็นของควรสงเคราะห์เข้ากับของที่เกิดอยู่กับที่นั้น

    บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมพระวินัยช่างละเอียดไปหมดทุกอย่างเลย ก็เพราะเหตุว่ากิเลสมีมาก ฉะนั้นการขัดเกลาจึงต้องละเอียด โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีศรัทธาถึงกับละอาคารบ้านเรือนมาสู่เพศของบรรพชิต ว่าจะต้องอาศัยกายอย่างไร วาจาอย่างไร ที่จะเป็นการเกื้อกูลในการที่จะขัดเกลา ละคลาย เพื่อที่จะให้ถึงการดับกิเลสนั้นได้จริงๆ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เมื่อชาวบ้านวางข้าวยาคู หรือแกงไว้ข้างหน้าแล้วคน หยดแกงกระเซ็นขึ้นจากภาชนะตกลงในบาตร ภิกษุพึงรับประเคนบาตรใหม่

    ถือว่าไม่ได้ประเคน เพียงแต่ตกลงไปเท่านั้น

    เมื่อพวกเขาเอากระบวยตักมาถวาย หยาดสูปะเป็นต้น หยดออกจากกระบวยตกลงไปในบาตรก่อน เป็นอันตกลงไปด้วยดี ไม่มีโทษ เพราะเขาน้อมเข้ามาถวาย

    ถ้าตักถวายได้ แต่ถ้าข้าวก็ดี หรือยาคูก็ดีที่เขาคนแล้วกระเซ็นจากภาชนะลงในบาตร ซึ่งอาจจะมากก็ได้ ถือว่ายังไม่ได้ประเคน ต้องละความยินดี ความหวัง ความพอใจ และทำให้ถูกต้อง โดยต้องประเคนใหม่

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ภิกษุผู้นั่งถือบาตรหลับอยู่ที่หอฉัน เธอไม่รู้ว่า เขากำลังนำโภชนะมาเลย เขาถวายอยู่ก็ไม่รู้ โภชนะจัดว่า ยังไม่ได้รับประเคน

    แต่ถ้าเธอเป็นผู้นั่งใส่ใจไว้ (แต่ต้น) ควรอยู่ ถ้าแม้นเธอวางมือจากเชิงบาตร แล้วเอาเท้าหนีบไว้ม่อยหลับไป สมควรเหมือนกัน แต่เมื่อเธอเอาเท้าเหยียบเชิงบาตรไว้รับประเคน ถึงจะตื่นอยู่ ก็เป็นการรับประเคนโดยไม่เอื้อเฟื้อ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรทำ

    นี่เป็นชีวิตจริงๆ ที่เกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงบัญญัติเป็นพระวินัย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ในการหยิบเอาของตกฉันนั้น มีพระสูตรเป็นเครื่องสาธกดังต่อไปนี้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุหยิบเอาของตกที่เขากำลังถวาย ฉันเองได้

    กำลังถวาย ของตกลงไป ภิกษุหยิบขึ้นฉันเองได้

    ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะของนั้นพวกทายกเขาสละถวายแล้ว ก็แล พระสูตรนี้มีอรรถควรอธิบาย เพราะฉะนั้น ในพระสูตรนี้พึงทราบอธิบายอย่างนี้

    ของใดที่เขากำลังถวาย พลัดหลุดจากมือของผู้ถวาย ตกลงไปบนพื้นที่สะอาด หรือบนใบบัว ผ้า เสื่อลำแพนเป็นต้น ของนั้นจะหยิบขึ้นมาฉันเองก็ควร แต่ของใดตกลงไปบนพื้นที่มีฝุ่นละออง ของนั้นพึงเช็ด หรือล้างฝุ่นละอองออกแล้ว หรือรับประเคนแล้วฉันเถิด

    ถ้าของกลิ้งไปยังสำนักของภิกษุอื่น แม้ภิกษุเจ้าของๆ นั้นจะให้นำคืนมา ก็ควร ถ้าเธอกล่าวกะภิกษุนั้นว่า นิมนต์ท่านนั่นแหละฉันเถิด แม้ภิกษุนั้นจะฉัน ก็ควร แต่ภิกษุนั้นอันภิกษุเจ้าของสิ่งของไม่ได้สั่ง ไม่ควรรับ

    นี่เป็นมารยาทสากล เป็นมารยาททั่วๆ ไป แม้สำหรับฆราวาส เพราะถ้าของๆ คนอื่นกลิ้งมายังที่อยู่ของเรา เราก็ต้องคืนให้ แต่ถ้าเขาอนุญาตให้ จึงสมควรที่จะรับ แต่ถ้าเขาไม่อนุญาต ก็ไม่ควรที่จะรับ

    เป็นเรื่องการของขัดเกลา ซึ่งฆราวาสเมื่อทราบแล้ว ก็สมควรที่จะประพฤติปฏิบัติตาม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ใน กุรุนที กล่าวว่า (กุรุนที เป็นชื่อคัมภีร์อรรถกถาในครั้งอดีต) แม้จะไม่ได้รับคำสั่ง จะรับด้วยตั้งใจว่า จักถวายภิกษุเจ้าของสิ่งของนอกนี้ ก็ควร

    ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ของนั่นจึงไม่ควรที่ภิกษุนอกนี้จะรับ

    แก้ว่า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงอนุญาตไว้

    จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสว่า เราอนุญาตให้ภิกษุหยิบของฉันเองได้ ดังนี้ ก็ทรงอนุญาตแก่ภิกษุผู้ซึ่งเขากำลังถวายของที่พลัดตกไปนั้นเท่านั้น ให้หยิบเอาของนั้น แม้ไม่ได้รับประเคนฉันได้ แต่ด้วยคำว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะของนั้นพวกทายกสละให้แล้ว จึงเป็นอันทรงแสดงความไม่เป็นของคนอื่นในพระดำรัสนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุอื่นหยิบฉันเองจึงไม่ควร แต่สมควร เพราะการสั่งของภิกษุผู้เป็นเจ้าของแห่งสิ่งของนั้น

    นัยว่า นี้เป็นอธิบายในคำว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว เป็นต้นนี้

    . พระสูตรหนึ่งที่ท่านอาจารย์บรรยายถึงฆฏิการะช่างหม้อกับโชติปาลมาณพ ท่านเป็นสหายกัน และฆฏิการะช่างหม้อเป็นพุทธอุปัฏฐากของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีผู้สงสัยว่า ทำไมฆฏิการะช่างหม้อทำอาหารเสร็จ แบ่งอาหาร และปูอาสนะไว้เรียบร้อย พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะมาถึงก็ฉันเลย ไม่ต้องมีการประเคน ทำไมพระพุทธเจ้าทรงกระทำแบบนี้ จะสมควรหรือ แต่ทำไมภิกษุกระทำอย่างนี้ไม่ได้

    ผมก็แก้ว่า พระพุทธเจ้าท่านเป็นเจ้าของพระวินัย ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทำ ภิกษุจะทำตามก็ไม่ถูก คำแก้ของผมไม่ทราบว่าจะผิดหรือถูก

    สุ. คำตอบนั้นก็ถูก โดยเฉพาะพระผู้มีพระภาคผู้หมดจดจากกิเลส เป็น ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ฉะนั้น พระองค์จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ผิดเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การกระทำของพระองค์ทั้งหมดเป็นไปตามเหตุผลที่สมควรทุกประการ

    และสำหรับฆฏิการะช่างหม้อ ท่านเตรียมอาหารไว้และให้มารดาบิดาผู้ตาบอด ตั้งถวายพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เมื่อท่านทั้งสอง คือ มารดาบิดาเป็นผู้ตาบอด จะให้ท่านจัดอย่างไร ฉะนั้น เมื่อตั้งถวายแล้ว พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะก็หยิบฉันเอง คนที่ตาบอดทำอะไรก็ไม่ได้ ลำบากมาก และการกระทำของพระผู้มีพระภาคนั้น ก็ยังความปลาบปลื้มใจมาให้ทั้งมารดาบิดาและฆฏิการะช่างหม้อเป็นอย่างมากทีเดียว

    ผู้ฟัง เรื่องของธรรมนั้น พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ตรัสเหมือนกันหมด แต่พระวินัยนั้น แล้วแต่พระองค์ไหนจะบัญญัติอย่างไร ผมคิดเองอย่างนั้น แต่ละพระองค์จะทรงบัญญัติวินัยขึ้นเพื่อภิกษุ แล้วแต่เหตุที่เกิดขึ้น พระวินัยนั้นไม่เหมือนพระธรรม อย่างอริยสัจ ๔ พระพุทธเจ้าพระองค์ไหนก็ตรัสอย่างนี้ แต่พระวินัยไม่ใช่อย่างนั้น เหมือนอย่างกฎหมายของเรานี้ แล้วแต่สมัยรัฐบาลไหนจะเอาอย่างไร

    ถ. ที่ท่านตั้งหลักไว้ว่า ผู้ที่เป็นภิกษุที่จะรับประเคนต้องอยู่ในหัตถบาส ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านก็ได้ให้ความหมายของหัตถบาสว่า คือระหว่างผู้รับกับผู้ให้ยื่นมือถึงกันได้ ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น แต่ท่านอรรถกถาจารย์ท่านอธิบายขยายความไปถึงว่า เอาไม้ต่อยาวออกไป ๓๐ ศอก อย่างนี้จะเป็นหัตถบาสหรือเปล่า นี่ประการหนึ่ง

    อีกเรื่องหนึ่งที่ว่า โยนให้ โยนให้นี่ใช่หัตถบาสหรือเปล่า ทำให้ผมกลุ้มใจ ขยายความไปจนอะไรๆ ก็ไม่รู้ จะบอกว่าอย่างนี้เป็นข้อยกเว้น ก็ว่ากันไป และที่ว่า ไม้ยาว ๓๐ ศอก แต่ตรงปลายนั่นเป็นไม้ต่างหากไม่ใช่มือ หัตถบาสต้องมือต่อมือ เอื้อมถึงกัน ผมเข้าใจว่าอย่างนี้ หัตถบาสควรจะเป็นอย่างนั้น คือ ระหว่างมือต่อมือเอื้อมถึงกันได้ ก็อยู่ในหัตถบาส จะทำอย่างไรกันดีครับ อาจารย์

    สุ. ขยายเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อเสียประโยชน์ ถ้าไม่ขยายแล้วจะถวายอย่างไร

    ผู้ฟัง กระผมขอเพิ่มเติมอีกนิด พระจะไปหยิบของคนอื่นโดยเขาจะให้หรือไม่ให้ ก็ไม่สมควร แต่ต้องปรากฏชัดเจนว่า เขาให้ ซึ่งวิธีให้จะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่กาลเทศะ ที่ว่าโยนให้ไม่สมควร แต่ถ้าคนหนึ่งอยู่ข้างบน อีกคนอยู่ข้างล่าง ไม่มีเครื่องบินจะไปส่งอาหาร พระบนโน้นก็จะอดตาย จะทำอย่างไร หัตถบาสหลักทั่วๆ ไป มีข้อยกเว้นอย่างนี้ แต่หลักสำคัญ คือ ถ้าพระไปหยิบเอง เกรงว่าจะเป็นอทินนาทาน ประเด็นอยู่ตรงนี้

    สุ. ขอยกเว้นก็มีอยู่แล้ว ที่ว่า การรับประเคนย่อมขึ้นอยู่กับองค์ ๕ คือ ของพอบุรุษมีกำลังปานกลางยกได้ ๑ หัตถบาสปรากฎ เขาอยู่ในหัตถบาส ๑ การน้อมถวายปรากฏ คือ เขาน้อมถวาย ๑ เทวดาก็ตาม มนุษย์ก็ตาม เดรัจฉานก็ตามถวาย คือ ประเคน ๑ และภิกษุรับประเคนของนั้นด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย ๑ การรับประเคนย่อมขึ้นอยู่ด้วยองค์ ๕ ด้วยประการอย่างนี้

    ก็ถ้าบรรดาผู้ให้และผู้รับประเคน ฝ่ายหนึ่งอยู่บนอากาศ ฝ่ายหนึ่งอยู่บนพื้น พึงกำหนดประมาณหัตถบาส ทางศีรษะของผู้ยืนอยู่บนพื้น และทางริมด้านในแห่งอวัยวะที่ใกล้กว่าของผู้ยืนอยู่บนอากาศ ยกเว้นมือที่เหยียดออก เพื่อให้หรือเพื่อรับเสียถ้าแม้นฝ่ายหนึ่งอยู่ในหลุม (บ่อ) อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ริมหลุม หรือฝ่ายหนึ่งอยู่บนต้นไม้ อีกฝ่ายหนึ่งอยู่บนแผ่นดิน ก็พึงกำหนดประมาณหัตถบาส โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ

    คือ ยังมีหัตถบาส แต่ยกเว้นให้สำหรับผู้ที่อยู่ในอากาศ กับผู้ที่อยู่บนพื้น ก็ยังสามารถที่จะน้อมถวายได้ เป็นการแสดงความเหมาะสมในการที่จะประเคน ในการที่จะถวายได้ โดยไม่ต้องมีปัญหาในภายหลัง ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะต้องมีปัญหาอีกว่า จะถวายกันอย่างไร

    สำหรับความละเอียด จะศึกษาได้จาก ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล ซึ่งเป็นอรรถกถาพระวินัย

    ที่ยกตัวอย่างก็เป็นเพียงบางประการ เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เห็นเรื่องของการดับกิเลสว่า เป็นเรื่องที่ละเอียดมากจริงๆ และเป็นเรื่องที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่สติจะต้องระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งการที่จะขัดเกลากิเลส ก็ต้องให้ละเอียดยิ่งขึ้นตามเพศของบุคคลที่จะขัดเกลากิเลสด้วย

    ถ้ามีศรัทธาที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต ก็จะกระทำเหมือนอย่างฆราวาสไม่ได้ คือ เพียงแต่เขากล่าวอนุญาตให้ ก็จะรับไม่ได้ ต้องเป็นการสละให้ด้วยการประเคน จึงเป็นการถวายวัตถุปัจจัยจริงๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๗ ตอนที่ ๔๖๑ – ๔๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564