แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 472
ครั้งที่ ๔๗๒
สำหรับกิเลสที่ทำให้มีความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นเหตุให้ประพฤติอพรหมจรรย์ ท่านผู้ฟังก็ควรที่จะได้ทราบถึงมูลเหตุว่าเกิดขึ้นอย่างไร เพื่อการหลีกเลี่ยงด้วยความไม่ประมาท
ใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ขัคควิสาณสุตตนิทเทส ข้อ ๖๖๙ มีข้อความแสดงให้เห็นว่า การประพฤติอพรหมจรรย์ที่เกิดขึ้นได้นั้นเพราะความเกี่ยวข้อง ๒ อย่าง ข้อความมีว่า
ความเกี่ยวข้องมี ๒ อย่าง คือ ความเกี่ยวข้องเพราะได้เห็น ๑ ความเกี่ยวข้องเพราะได้ฟัง ๑ ชื่อว่าสังสัคคะ ในอุเทศว่า สํสคฺคชาตสฺส ภวนฺติ เสฺนหา ดังนี้
ความเกี่ยวข้องเพราะได้เห็นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เห็นสตรีหรือกุมารีที่มีรูปสวย น่าดู น่าชม ประกอบด้วยความเป็นผู้มีผิวพรรณงามอย่างยิ่ง ครั้นพบเห็นแล้ว ก็ถือนิมิตเฉพาะส่วนๆ ว่า ผมงาม หน้างาม นัยน์ตางาม หูงาม จมูกงาม ริมฝีปากงาม ฟันงาม ปากงาม คิ้วงาม ถันงาม อกงาม ท้องงาม เอวงาม ขางาม มืองาม แข้งงาม นิ้วงาม เล็บงาม
ครั้นพบเห็นเข้าแล้ว ย่อมพอใจ รำพันถึง ปรารถนา ติดใจ ผูกพันด้วยอำนาจความรัก นี้ชื่อว่าความเกี่ยวข้องเพราะได้เห็น
จริงไหม ถ้าเห็นเฉยๆ ไม่เกี่ยวข้องมากนัก ก็ไม่ต้องรำพันถึง หรือปรารถนา ติดใจ ผูกพัน แต่เพราะความที่เห็นแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่เห็น ถือนิมิตเฉพาะส่วนๆ ละเอียดด้วย ตั้งแต่ผมงาม หน้างาม นัยน์ตางาม หูงาม จมูกงาม ท่านผู้ฟังเคยสังเกตมิตรสหายของท่านบ้างไหม บางทีเห็นกันบ่อยๆ ไม่ทราบจะดูอะไร ดูหู บางท่านก็หูงามจริงๆ ถ้าท่านเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านจะเห็นความจริงของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ แม้แต่หูใครจะสวย ความพอใจ ความนิยมชมชื่นก็เกิดขึ้นได้ในขณะนั้น แม้ในหู กิเลสเกิดแล้ว ธรรมดาที่สุดในวันหนึ่งๆ และกิเลสนั้นก็ดับไปเห็นอื่นอีก ก็อาจจะไปดูเล็บบ้าง นิ้วบ้าง ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็สามารถที่จะส่องให้เห็นถึงการขัดเกลากิเลสว่า เบาบาง หรือยังไม่ได้ขัดเกลากิเลสให้เบาบางเลย ยังมากมาย หนาแน่น เหนียวแน่นเหลือเกิน
เพราะฉะนั้น การที่ท่านระลึก และศึกษาพระธรรมวินัยมากๆ จะเป็นปัจจัยที่เกื้อกูลไม่ให้ท่านเป็นผู้ที่ประมาท หลงลืมสติ หรือว่าเพลินไปนัก พอใจมากนัก รำพันถึง หรือว่าติดใจผูกพัน จนกระทั่งล่วงศีลประการต่างๆ ได้
ข้อความต่อไปมีว่า
ความเกี่ยวข้องเพราะได้ฟังเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมได้ฟังว่า ในบ้านหรือในนิคมโน้น มีสตรีหรือกุมารีรูปสวย น่าดู น่าชม ประกอบด้วยความเป็นผู้มีผิวพรรณงามอย่างยิ่ง ครั้นได้ยินได้ฟังแล้ว ย่อมชอบใจ รำพันถึง ปรารถนา ติดใจ ผูกพันด้วยอำนาจความรัก นี้ชื่อว่าความเกี่ยวข้องเพราะได้ฟัง
กิเลสแรงไหม ยังไม่เห็นเลย เพียงแต่ได้ยิน สัญญา ความทรงจำซึ่งเคยมีในผม ในนิ้ว ในเล็บ ในหน้า ก็ประมวลขึ้นมา ทำให้เกิดความคิดนึกตรึกไปต่างๆ ด้วยอำนาจความพอใจตามที่เพียงได้ยินได้ฟังเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นความลึก ความเหนียวแน่นของกิเลสที่เป็นไปใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะว่ามากและเหนียวแน่นจริงๆ ถ้าปัญญายังไม่ได้อบรมจนถึงขั้นการบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล ไม่มีอะไรสามารถที่จะดับกิเลส คือ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้เป็นสมุจเฉท ซึ่งในพระไตรปิฎก ในครั้งก่อน ในอดีตแสดงให้เห็นชัดทีเดียวว่า แม้ว่าจะสะสมอบรมอุปนิสัยมาถึงขั้นที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่เมื่อยังไม่เป็น พระอริยเจ้า ก็ย่อมหลงเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงจะทำให้ท่านผู้ฟังไม่ประมาท ซึ่งการไม่ประมาทจะทำให้ท่านไม่ดำเนินชีวิตในทางที่ผิดพลาด ที่จะทำให้เกิดความทุกข์อย่างมากมายในชีวิตได้
ใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ มหายัญญวรรคที่ ๕ สังโยคสูตร ข้อ ๔๘ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความลึกของความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยายอันเป็นสังโยคะ ทั้งวิสังโยคะ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมบรรยายอันเป็นสังโยคะทั้งวิสังโยคะเป็นไฉน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็หญิงย่อมสนใจสภาพแห่งหญิงในภายใน
คือ ในตัวเอง เพราะฉะนั้น ท่านที่เป็นหญิงเริ่มพิจารณาได้ว่า ข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสจะเป็นความจริงประการใด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็หญิงย่อมสนใจสภาพแห่งหญิงในภายใน กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียง และเครื่องประดับของหญิง เขาย่อมยินดี พอใจในสภาพของตนนั้นๆ เขายินดีพอใจในสภาพของตนนั้นๆ แล้ว ย่อมสนใจถึงสภาพของชายในภายนอก กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียง และเครื่องประดับของชาย ย่อมยินดี พอใจในสภาพของชายนั้นๆ เขายินดี พอใจในสภาพของชายนั้นๆ แล้ว ย่อมมุ่งหวังการสมาคมกับชาย และสุขโสมนัสที่เกิดเพราะการสมาคมกับชายเป็นเหตุ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้พอใจในภาวะแห่งหญิง ก็ถึงความเกี่ยวข้องในชาย ด้วยอาการอย่างนี้แล หญิงจึงไม่ล่วงพ้นภาวะแห่งหญิงไปได้
เป็นชีวิตจริงหรือเปล่า มีผู้หญิงคนไหนบ้างที่ไม่สนใจในตัวเอง ผมจะเรียบร้อยสวยงามไหม หน้าตาจะเป็นอย่างไร เล็บมือเล็บเท้าจะเป็นอย่างไร เสื้อผ้า เครื่องแต่งตัว รองเท้า เป็นไปตามสมัยนิยม สีสัน เสื้อผ้าต่างๆ เป็นอย่างไร คือ สนใจในสภาพแห่งหญิงของตน แต่ว่าจะมีมาก มีน้อย ก็ต้องแล้วแต่การสะสมมานั้นว่า จะมากถึงขั้นใด จะถึงขั้นที่ย่อมยินดีพอใจในสภาพของชาย ย่อมมุ่งหวังการสมาคมกับชาย และสุขโสมนัสที่เกิดเพราะการสมาคมกับชายหรือไม่ นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งของแต่ละบุคคล ซึ่งก็ต้องมีมากน้อยต่างกันตามความเป็นจริง
เวลาที่ดูละคร ดูหนัง ไม่ได้มีแต่นางเอก พระเอกก็มี ชอบหรือไม่ชอบพระเอกคนนี้ ถึงแม้ในชีวิตจริง ท่านไม่ได้สะสมกิเลสมาที่จะเกี่ยวข้อง แต่ว่ากิเลส ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมี มีสัญญา ความจำว่า นี่เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ ที่บัญญัติว่าเป็นชาย หรือบัญญัติว่าเป็นหญิง และหญิงควรจะมีกิริยาท่าทางอย่างไร ชายควรจะมีกิริยาท่าทางอย่างไร แม้ความพอใจที่รู้ในอาการนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งแล้วของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งในขณะนั้นจะเป็นกุศลไม่ได้ แต่เป็นโลภมูลจิต ซึ่งมากน้อยแล้วแต่การสะสมมา และการที่จะสะสมต่อไป ถ้าท่านไม่เห็นโทษ ท่านก็จะสะสมต่อไปมากๆ เพราะไม่เห็นว่าเป็นโทษ ไม่เห็นว่าเป็นอันตราย
ตราบใดที่ท่านยังมีความสนใจในสภาพแห่งหญิงในภายใน ถ้าท่านเป็นหญิง ก็เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องอบรม ขัดเกลากิเลส ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าจะดับกิเลสถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งปวงจะไม่เกิดแน่นอน ดับเป็นสมุจเฉทจริงๆ
แต่ถ้าคุณธรรมยังไม่ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคลแล้ว ชีวิตในพระไตรปิฎก หรือชีวิตในปัจจุบันของบุคคลทั้งหลายก็ดี ย่อมแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอน ความที่ยังเปลี่ยนแปลง แปรปรวนได้ของสภาพของจิต สภาพของสิ่งแวดล้อม สภาพของเหตุปัจจัย ซึ่งจะทำให้กิเลสมีกำลัง
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชายย่อมสนใจในสภาพแห่งชายในภายใน กิริยา ท่าทางความไว้ตัว ความพอใจ เสียงและเครื่องประดับของชาย เขาย่อมยินดี พอใจในสภาพของตน เขายินดีพอใจในสภาพของตนนั้นๆ แล้ว ย่อมสนใจถึงสภาพของหญิงในภายนอก กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียง และเครื่องประดับของหญิง ย่อมยินดี พอใจในสภาพของหญิงนั้นๆ แล้ว ย่อมมุ่งหวังการสมาคมกับหญิง และสุขโสมนัสที่เกิดเพราะการสมาคมกับหญิงเป็นเหตุ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้พอใจในภาวะแห่งชายก็ถึงความเกี่ยวข้องในหญิง ด้วยอาการอย่างนี้แล ชายจึงไม่ล่วงพ้นภาวะแห่งชายไปได้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเกี่ยวข้องย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้แล ฯ
ท่านผู้ฟังจะเห็นเหตุผลที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมว่า เพื่อประโยชน์เกื้อกูลให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่แต่ละท่านได้สะสมมา ซึ่งเป็นส่วนที่ลึก เป็นส่วนที่ละเอียด เพราะว่ายังไม่ปรากฏเป็นทุจริตกรรม เป็นแต่เพียงความยินดีพอใจซึ่งมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น แต่การเป็นผู้ที่สะสมกิเลสมานี้ ก็ไม่ใช่ว่าท่านจะหมดหนทางที่จะดับกิเลสเหล่านั้น ยังมีหนทางที่จะดับกิเลสที่ท่านไม่สามารถที่จะยับยั้งได้ คือ สติเริ่มระลึกรู้สภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง ก็ย่อมเป็นหนทางที่ท่านจะดับกิเลสที่ท่านจะเห็นด้วยหิริและโอตตัปปะว่า เป็นสิ่งที่น่าละอาย เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ให้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉทได้
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนความไม่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หญิงย่อมไม่สนใจในสภาพของหญิงในภายใน กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียง และเครื่องประดับของหญิง เขาไม่ยินดี ไม่พอใจในสภาพแห่งหญิง ย่อมไม่สนใจถึงสภาพแห่งชายในภายนอก กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียงและเครื่องประดับแห่งชาย เขาไม่ยินดี ไม่พอใจในสภาพแห่งชายนั้นๆ แล้ว ย่อมไม่มุ่งหวังการสมาคมกับชายในภายนอก และสุขโสมนัสที่เกิดเพราะการสมาคมกับชาย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้ไม่พอใจในสภาพแห่งหญิง ก็ถึงความไม่เกี่ยวข้องในชาย ด้วยอาการอย่างนี้แล หญิงจึงล่วงพ้นสภาพแห่งหญิงไปได้ ฯ
การที่จะพ้นจากสภาพของหญิงจริงๆ ก็ด้วยการเกิดในรูปพรหมภูมิ ถึงแม้ว่ายังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงขั้นพระอนาคามีบุคคลก็ตาม แต่เป็นผู้ที่เห็นโทษของกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และอบรมเจริญสมาธิ มีมหัคคตจิต คือ ฌานจิต สามารถยับยั้งไม่ให้จิตรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เกิดความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้ว่ายังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่ถ้าเกิดในพรหมโลก ก็จะพ้นจากสภาพของความเป็นหญิงได้ แต่ที่จะให้ดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทจริงๆ ต้องถึงการบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล ถ้ายังไม่ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงตราบใด จะไม่ถึงการบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีเลย
ข้อความต่อไป โดยนัยเดียวกัน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชายย่อมไม่สนใจในสภาพแห่งชาย กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียง และเครื่องประดับของชาย เขาไม่ยินดี ไม่พอใจในสภาพแห่งชายนั้นๆ แล้ว ย่อมไม่สนใจถึงสภาพแห่งหญิงในภายนอก กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียง และเครื่องประดับของหญิง เขาไม่ยินดี ไม่พอใจในสภาพแห่งหญิงนั้นๆ แล้ว ย่อมไม่มุ่งหวังการสมาคมกับหญิงในภายนอก และสุขโสมนัสที่เกิดเพราะการสมาคมนั้นเป็นเหตุ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้ไม่พอใจในสภาพแห่งชาย ก็ถึงความไม่เกี่ยวข้องในหญิง ด้วยอาการอย่างนี้แล ชายจึงล่วงพ้นภาวะแห่งชายไปได้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความไม่เกี่ยวข้องย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้แล
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้แล ชื่อว่า ธรรมบรรยายอันเป็นทั้งสังโยคะและวิสังโยคะ ฯ
จบ สูตรที่ ๘
ท่านผู้ฟังก็มีทั้งหญิงและชาย ท่านจะพิจารณาสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงในชีวิตจริงๆ ของท่านว่า เป็นความจริงอย่างนี้หรือไม่
ถ. สัตว์ที่ไปเกิดในพรหมโลกนั้น พ้นจากภาวะของหญิง ภาวะของชาย และที่อยู่บนพรหมโลกเป็นอะไรครับ
สุ. ไม่มีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะเห็นโทษ จึงได้อบรมเจริญสมาธิถึงขั้นที่มั่นคงเป็นมหัคคตจิต ซึ่งขณะนั้นจิตไม่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ถ้าผู้นั้นยังไม่ใช่พระอริยเจ้าขั้นพระอนาคามีบุคคล ถ้าได้เห็น ถ้าได้ยิน ถ้าได้กลิ่น ถ้าได้ลิ้มรส ถ้าได้รู้โผฏฐัพพะ ก็ยังมีเชื้อของกิเลสเป็นปัจจัยทำให้เกิดความยินดีพอใจได้ เพราะฉะนั้น ด้วยกำลังของสมาธิที่มั่นคงเป็นมหัคคตจิต จึงเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิในพรหมโลก และการระงับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วยมหัคคตจิต คือ ฌานจิต ก็ทำให้ไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดอิตถีภาวรูป หรือปุริสภาวรูปในพรหมโลก
สบายไหม ถ้าเว้นได้ ก็ไม่ต้องเหมือนกับเด็กที่เล่นมูตรคูถ ซึ่งเป็นความสุขที่เจือปนด้วยอุจจาระ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้
แต่ก็ยาก แม้การที่จะให้จิตมั่นคงเป็นมหัคคตจิต เป็นฌานจิต ก็แสนยาก และการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง กว่าที่จะได้บรรลุถึงความเป็นพระอนาคามี ก็ยาก
ด้วยเหตุนี้ ชีวิตของพระสาวกในครั้งอดีตจึงได้มีตามการสะสมที่วิจิตรต่างๆ กัน บางท่านเป็นฆราวาส บางท่านเป็นบรรพชิต บางท่านประพฤติพรหมจรรย์ บางท่านก็เป็นผู้ที่ครองเรือน ก็แล้วแต่การสะสมปัจจัยของแต่ละบุคคลอย่างวิจิตร อย่างละเอียดจริงๆ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๘ ตอนที่ ๔๗๑ – ๔๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 440
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 441
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 442
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 443
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 444
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 445
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 446
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 447
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 448
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 449
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 450
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 451
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 452
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 453
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 454
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 455
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 456
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 457
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 458
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 459
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 460
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 461
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 462
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 463
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 464
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 465
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 466
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 467
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 468
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 469
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 470
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 471
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 472
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 473
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 474
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 475
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 476
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 477
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 478
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 479
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 480