แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 473
ครั้งที่ ๔๗๓
ใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ขัคควิสาณสุตตนิทเทส ข้อ ๗๑๗ มีข้อความว่า
ข้อมือ ท่านกล่าวว่า ภุชะ ในอุเทศว่า สงฺฆฏฺฏยนฺตานิ ทุเว ภุชสฺมึ ดังนี้
กำไลมือสองวงในมือข้างหนึ่ง ย่อมเสียดสีกัน ฉันใด สัตว์ทั้งหลายย่อมกระทบกระทั่งกันด้วยสามารถแห่งตัณหา สืบต่อในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย ในมนุษยโลก ในเทวโลก สืบต่อคติด้วยคติ สืบต่ออุปบัติด้วยอุปบัติ สืบต่อปฏิสนธิด้วยปฏิสนธิ สืบต่อภพด้วยภพ สืบต่อสังสารด้วยสังสาร สืบต่อวัฏฏะด้วยวัฏฏะ เที่ยวไป อยู่ ผลัดเปลี่ยน เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สองวงในข้อมือข้างหนึ่ง เสียดสีกันอยู่ พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น
เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
บุคคลเห็นซึ่งกำไลทองสองวงอันสุกปลั่ง ที่นายช่างทองให้สำเร็จดีแล้ว เสียดสีกันที่มือ พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น
สภาพธรรมที่ปรากฏทุกขณะ สามารถที่จะเตือนสติให้ระลึกรู้ความจริงได้ แม้แต่กำไล ๒ วงในมือข้างหนึ่งซึ่งกระทบกันเสมอ ก็เหมือนกับการกระทบของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอยู่เรื่อยๆ ซึ่งจะไม่ให้เกิดความยินดีพอใจนั้น เป็นไปไม่ได้
หลีกเลี่ยงได้ไหม ในภพหนึ่งในชาติหนึ่งที่จะไม่ให้เกิดตัณหา คือ โลภะ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งแล้วแต่ว่าจะมีกำลังมากน้อยประการใด พร้อมทั้งเหตุปัจจัยและสิ่งแวดล้อมในภพนั้นในชาตินั้น และแสดงให้เห็นถึงสังสารวัฏฏ์ในอดีตซึ่งยาวนานมากจนถึงเดี๋ยวนี้ อีกทั้งไม่ทราบว่าจะยาวนานไปอีกสักเท่าไร ถ้ายังไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการในสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็ต้องแล้วแต่อัธยาศัยและการสะสมของแต่ละบุคคล
สำหรับบุคคลที่มีอัธยาศัย มีอุปนิสัยที่ได้สะสมการพิจารณาธรรมมาแล้ว ย่อมสามารถที่จะระลึก พิจารณา เปรียบเทียบให้เป็นธรรมที่เกื้อกูลในการที่จะให้กุศลเจริญยิ่งขึ้นได้ ซึ่งแต่ละบุคคลก็ต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาสก็ตาม
สำหรับความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือในการที่จะรักษาอุโบสถศีลองค์ที่ ๓ จะรักษาได้บริสุทธิ์หมดจดประการใด ก็ย่อมแล้วแต่แต่ละบุคคล แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นเพศบรรพชิตก็ตาม ทั้งๆ ที่มีเจตนาที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิตก็จริง แต่ตามี หูมี จมูกมี ลิ้นมี กายมี เพราะฉะนั้น ก็มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส มีการรู้โผฏฐัพพะ ซึ่งถ้าการอบรมเจริญปัญญายังไม่สมบูรณ์ถึงขั้นที่จะดับกิเลสได้จริงๆ สภาพธรรมที่เป็นอกุศลที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา จะมากน้อยประการใด ก็ย่อมเกิดขึ้นกับบุคคลนั้น โดยประการนั้น ไม่เว้นแม้แต่บรรพชิต
ข้อความใน อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต อินทรียวรรค ข้อ ๑๕๙ มีว่า
สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ครั้งนั้นแลภิกษุณีรูปหนึ่งเรียกบุรุษคนหนึ่งมาว่า
บุรุษผู้เจริญ ท่านจงมา ท่านจงเข้าไปหาพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ จงไหว้เท้าพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ด้วยเศียรเกล้า ตามคำของเราว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ภิกษุณีชื่อนี้กำลังอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก นางย่อมไหว้เท้าของพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ด้วยเศียรเกล้า และพ่อจงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส ขอพระผู้เป็นเจ้าอานนท์จงอาศัยความอนุเคราะห์ เข้าไปหาภิกษุณีนั้นยังสำนักของภิกษุณีนั้นด้วยเถิด
ซึ่งข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา (ภาค ๒ หน้า ๔๔๐) มีข้อความอธิบายว่า
๒ บทว่า เอหิ ตวํ ความว่า ภิกษุณีนั้นมีจิตปฏิพัทธ์ในท่านพระเถร จึงกล่าวขึ้นอย่างนี้ เพื่อนิมนต์ท่านพระอานนท์เถระมา
ข้อความต่อไปในพระไตรปิฎกมีว่า
บุรุษนั้นรับคำภิกษุณีนั้นแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบเรียนท่านพระอานนท์ว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุณีชื่อนี้กำลังอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก นางไหว้เท้าของพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ด้วยเศียรเกล้า และกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส ขอพระผู้เป็นเจ้าอานนท์จงอาศัยความอนุเคราะห์ เข้าไปหาภิกษุณีนั้นยังสำนักของนางภิกษุณีด้วยเถิด
ท่านพระอานนท์รับคำด้วยดุษณีภาพ
กิเลสขั้นไหน แรงไหม เกิดขึ้นแล้ว เป็นความยินดี ความพอใจในท่านพระอานนท์ และก็มีกำลังถึงกับเป็นอุบาย ขอให้ท่านพระอานนท์ไปสู่สำนัก
ข้อความต่อไป
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ครองผ้าในเวลาเช้า ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังสำนักของนางภิกษุณี ภิกษุณีนั้นได้เห็นท่านพระอานนท์มาแต่ไกล แล้วจึงนอนคลุมผ้าตลอดศีรษะอยู่บนเตียง
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปหาภิกษุณีนั้น แล้วนั่งบนอาสนะที่แต่งตั้งไว้
ข้อความในอรรถกถามีว่า
๒ บทว่า เอตทโวจ ความว่า ท่านพระอานนท์เถระกำหนดอาการของ พระภิกษุณีรูปนั้น คือ รู้ว่าภิกษุณีนั้นมีความรู้สึกอย่างไร แล้วก็ได้กล่าวคำนี้ เพื่อกล่าวอสุภกถาด้วยคำอันไพเราะ ก็เพื่อจะละความโลภนั่นเอง
ท่านพระอานนท์ท่านทราบ แต่ท่านก็มีจิตเมตตากรุณาที่จะอนุเคราะห์ภิกษุณีรูปนั้น ด้วยการแสดงอสุภกถาที่ไพเราะ เพื่อจะให้ภิกษุณีนั้นละความรู้สึกอย่างนั้นลง
ข้อความต่อไป
ครั้นแล้วได้กล่าวกะภิกษุณีนั้นว่า
ดูกร น้องหญิง กายนี้เกิดขึ้นด้วยอาหาร อาศัยอาหารแล้วพึงละอาหารเสีย กายนี้เกิดขึ้นด้วยตัณหา อาศัยตัณหาแล้วพึงละตัณหาเสีย กายนี้เกิดขึ้นด้วยมานะ อาศัยมานะแล้วพึงละมานะเสีย กายนี้เกิดขึ้นด้วยเมถุน ควรละเมถุนเสีย การละเมถุน พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเสตุฆาต (การฆ่ากิเลสด้วยอริยมรรค)
ดูกร น้องหญิง ก็คำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยอาหาร อาศัยอาหารแล้วพึงละอาหารเสีย ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ดูกร น้องหญิง ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว บริโภคอาหาร ไม่บริโภคเพื่อเล่น ไม่บริโภคเพื่อมัวเมา ไม่บริโภคเพื่อประเทืองผิว ไม่บริโภคเพื่อประดับ บริโภคเพียงเพื่อความตั้งอยู่แห่งกายนี้ เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป เพื่อระงับความหิวกระหาย เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า ด้วยการบริโภคนี้เราจักกำจัดเวทนาเก่าได้ด้วย และจักไม่ยังเวทนาใหม่ให้เกิด ความดำเนินไปได้ ความไม่มีโทษ และความผาสุก จักมีแก่เรา สมัยต่อมา ภิกษุนั้นอาศัยอาหารแล้วละอาหารเสียได้
ดูกร น้องหญิง คำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยอาหาร อาศัยอาหารแล้วพึงละอาหารเสีย ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าว
ข้อความในอรรถกถามีว่า
คำว่า อาหารสมฺภูโต คือ ร่างกายนี้เกิดขึ้นเพราะอาหาร อาศัยอาหารจึงเจริญขึ้น
หลายบทว่า อาหารํ นิสฺสาย อาหารํ ปชหติ ความว่า ร่างกายนี้อาศัย กวฬิงการาหารที่เป็นปัจจุบัน เสพอยู่ซึ่งอาหารนั้นโดยแยบคายอย่างนี้ ย่อมละเสียได้ซึ่งอาหาร กล่าวคือ กรรมในกาลก่อน แต่ว่าสัตว์ทั้งหลายอาศัยอาหารที่เป็นคำๆ แม้ที่เป็นปัจจุบัน ก็พึงละตัณหาเสียได้เหมือนกัน
เป็นการแสดงเปรียบเทียบให้เห็นถึงสภาพความจริงของชีวิต ที่จะต้องอาศัยอาหาร ให้เห็นว่า ไม่น่าเป็นสิ่งที่ควรจะเพลิดเพลินหรือว่ายินดีพอใจเลย ชีวิตจะดำเนินต่อไปไม่ได้ถ้าไม่อาศัยอาหาร เพราะฉะนั้น ใครก็ตาม หรือภิกษุณีรูปนั้นก็ตาม ที่มีความยินดีพอใจในท่านพระอานนท์ ก็คือพอใจในสภาพธรรมที่ดำรงอยู่ได้ด้วยอาหารเท่านั้น เมื่อขาดอาหารเสียแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรจะเห็นสิ่งที่ต้องอาศัยอาหารนั้นว่า เป็นสิ่งที่ควรจะหลงเพลิดเพลิน ยินดี หรือมัวเมาเลย
ด้วยเหตุนี้ สมัยต่อมา ภิกษุนั้นอาศัยอาหารแล้ว ละอาหารเสียได้ ด้วยการอบรมเจริญสติ ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น คือ ในขณะที่กำลังบริโภคอาหารนั่นเอง เพราะว่าหลีกเลี่ยงที่จะไม่บริโภคอาหารไม่ได้ แต่ควรจะบริโภคด้วยสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง
เป็นการเกื้อกูลให้เห็นว่า การบริโภคอาหารซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น ย่อมเป็นปัจจัยให้ละอาหาร คือการที่จะต้องบริโภคอาหารนั้นต่อไปได้ เพราะว่าผู้ที่หมดกิเลสปรินิพพานแล้ว ไม่ต้องบริโภคอาหารอีกต่อไป แต่ก่อนที่จะถึงการดับกิเลสปรินิพพาน ก็จะต้องอาศัยการบริโภคอาหารนั้นเองละอาหาร ด้วยการอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง แม้ในขณะที่บริโภคอาหารนั้น
ข้อความต่อไป
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
ดูกร น้องหญิง ก็คำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยตัณหา อาศัยตัณหาแล้วพึงละตัณหาเสีย ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าว
ดูกร น้องหญิง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้ยินว่า ภิกษุชื่อนี้กระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดังนี้
เธอคิดอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ แม้เราจักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดังนี้ สมัยต่อมา เธออาศัยตัณหาแล้วละตัณหาเสียได้
ดูกร น้องหญิง คำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยตัณหา อาศัยตัณหาแล้วพึงละเสีย ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าว
ข้อความทั้งหมดจะต้องพิจารณาด้วยความแยบคาย แม้ที่ว่าอาศัยตัณหา แล้วละตัณหาเสียได้นั้น ก็จะต้องด้วยความแยบคายจริงๆ ว่า จะต้องด้วยการรู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงนั่นเองจึงจะละได้
ข้อความในอรรถกถามีว่า
๒ บทว่า ตณฺหํ ปชหติ ความว่า บุคคลอาศัยตัณหาที่เป็นปัจจุบันนี้ ที่เป็นไปแล้วอย่างนี้ในปัจจุบัน จึงละตัณหาในกาลก่อนอันเป็นมูลรากของวัฏฏะเสียได้
หมายความว่า ละตัณหา และละกิเลสที่มีในอดีตด้วย เพราะถ้ายังไม่ได้ละ ตัณหาและกิเลสในอดีต ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นอีกได้ เพราะฉะนั้น การละหมายความถึง ละแม้ตัณหาและกิเลสที่เกิดในอดีตไม่ให้เกิดอีกด้วย
ข้อความต่อไป
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
ดูกร น้องหญิง ก็คำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยมานะ อาศัยมานะแล้วพึงละมานะเสีย ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าว
ดูกร น้องหญิง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ได้ยินว่า ภิกษุชื่อนี้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดังนี้
เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ก็ท่านผู้มีอายุชื่อนั้นกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดังนี้ ไฉนเราจักกระทำไม่ได้ สมัยต่อมา เธออาศัยมานะแล้วย่อมละมานะเสียเอง
ดูกร น้องหญิง คำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยมานะ อาศัยมานะแล้วพึงละมานะเสีย ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าว
ดูกร น้องหญิง กายนี้เกิดขึ้นด้วยเมถุน ควรละเมถุนเสีย การละเมถุน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เสตุฆาต ดังนี้ ฯ
ท่านผู้ฟังมีมานะหรือเปล่า คนที่ไม่มีต้องเป็นพระอรหันต์ และมานะนี้อาจจะมีเป็นปกติจนชิน เพียงแต่ระลึกนึกถึงคนอื่นในทางที่เปรียบเทียบเพียงเล็กน้อย นั่นคือ ลักษณะของมานะแล้ว เพราะฉะนั้น พระภิกษุบางรูป เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ก็ท่านผู้มีอายุชื่อนั้นกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ อาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดังนี้ ไฉนเราจักกระทำไม่ได้
เคยคิดอย่างนี้บ้างไหม ท่านละกันได้ ทำไมเราจึงจะละไม่ได้ ถ้าพากเพียร ถ้าพยายาม ถ้าเจริญอบรมในหนทางที่ถูก เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดความคิดอย่างนี้ ในขณะนั้นไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของมานะ แม้เพียงระลึก คิดเปรียบเทียบ นึกถึงอย่างนี้ก็เป็นมานะ แต่ว่าด้วยความแยบคาย อาศัยมานะนั้น ย่อมละมานะเสียเอง ด้วยการอบรมเจริญปัญญาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง
นี่เป็นชีวิตจริงๆ ในปัจจุบัน ท่านจะมีมานะกับใคร ในขณะใด ถ้าสติไม่เกิด ก็ไม่รู้ แต่ถ้าสติเกิด ก็รู้บ่อยๆ ว่า มานะเกิดอีกแล้ว มานะกะใคร และมานะเรื่องอะไร
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทำให้รู้ว่า อาศัยมานะ ย่อมละมานะเสียเองได้ แต่ต้องด้วยการเข้าใจหนทางข้อปฏิบัติที่ถูก
ข้อความในอรรถกถามีว่า
๓ บทว่า เสตุฆาโต วุตฺโต ภควตา ความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสถึงการฆ่าบถ คือ การฆ่าปัจจัย
เมื่อพระเถระเปิดเผยเทศนาด้วยองค์ ๔ ประการนี้ ฉันทราคะที่เกิดขึ้น ปรารภพระเถระของภิกษุณีรูปนั้นก็หายไป (หมดไป) ด้วยประการฉะนี้
ข้อความต่อไป
ครั้งนั้นแล ภิกษุณีนั้นลุกขึ้นจากเตียง กระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบเท้าของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า แล้วกล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ดิฉันเป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ได้ล่วงเกินไปแล้ว ขอพระผู้เป็นเจ้าอานนท์จงยกโทษแก่ดิฉันซึ่งได้กระทำอย่างนี้ เพื่อสำรวมต่อไป
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
เอาเถอะน้องหญิง เธอเป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ได้ล่วงเกินไปแล้ว เมื่อเธอซึ่งได้ทำอย่างนี้ เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม เราย่อมยกโทษให้เธอ ดูกร น้องหญิง การเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ ฯ
ไม่ใช่แต่เฉพาะภิกษุณีที่ยังมีกิเลส มีความยินดีพอใจ แม้ว่าจะเป็นบรรพชิตแล้ว บรรดาท่านพระภิกษุทั้งหลายที่ท่านยังไม่หมดกิเลส ในพระไตรปิฎก จะแสดงให้เห็นถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า กิเลสที่ได้สะสมมา เมื่อมีปัจจัยก็ย่อมเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าท่านจะได้สะสมบุญบารมีถึงความที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ก็ตาม
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๘ ตอนที่ ๔๗๑ – ๔๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 440
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 441
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 442
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 443
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 444
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 445
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 446
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 447
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 448
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 449
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 450
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 451
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 452
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 453
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 454
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 455
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 456
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 457
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 458
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 459
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 460
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 461
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 462
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 463
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 464
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 465
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 466
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 467
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 468
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 469
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 470
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 471
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 472
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 473
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 474
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 475
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 476
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 477
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 478
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 479
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 480