แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 478
ครั้งที่ ๔๗๘
สำหรับอุโบสถศีลองค์ที่ ๓ ถ้าท่านได้สะสมอบรมเป็นอุปนิสัยปัจจัยอย่างมั่นคง ก็จะปรากฏว่า ท่านเป็นผู้ที่มั่นคงอย่างยิ่งในอุโบสถศีลข้อที่ ๓ ดังเช่นพระเถรีรูปหนึ่ง ใน ขุททกนิกาย เถรีคาถา มหานิบาต สุเมธาเถรีคาถา ซึ่งมีข้อความว่า
เราเป็นธิดาของพระอัครมเหสีแห่งพระเจ้าโกญจะ ในนครมันตาวดี ชื่อว่า สุเมธา เป็นผู้อันพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้กระทำตามคำสั่งสอนให้เลื่อมใสแล้ว เป็นผู้มีศีล มีถ้อยคำไพเราะ เป็นพหูสูต ได้รับแนะนำดีแล้วในพระพุทธศาสนา เข้าไปเฝ้าพระชนกและพระชนนี แล้วกราบทูลว่า
ขอพระชนกพระชนนีทั้งสองโปรดฟังคำของหม่อมฉัน หม่อมฉันยินดีในนิพพาน เพราะว่าภพ ถึงแม้เป็นทิพย์ก็เป็นของไม่ยั่งยืน จะป่วยกล่าวไปไยถึงกามทั้งหลายอันเป็นของเปล่า มีความยินดีน้อย มีความคับแค้นมาก กามทั้งหลายเผ็ดร้อนเปรียบด้วยอสรพิษ เป็นที่ทำให้คนพาลหลงหมกมุ่นอยู่ คนพาลเหล่านั้นต้องถึงทุกข์ เดือดร้อน ยัดเยียดอยู่ในนรกตลอดกาลนาน และเป็นเหตุทำให้คนพาล ผู้มีความรู้ชั่ว ไม่สำรวมด้วยกาย วาจา และใจ ทำความชั่วต่างๆ ย่อมเศร้าโศกในอบาย ในกาลทุกเมื่อ เป็นเหตุทำให้คนพาล ผู้มีปัญญาทราม ไม่มีความคิด ยินดีแล้วในทุกข์ และเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักธรรมอันพระอริยเจ้าแสดงอยู่ ทั้งไม่รู้จักอริยสัจ
เวลาฟังข้อความที่พระเถรีกล่าวนี้ บางทีท่านอาจจะลืมน้อมมาถึงบุคคลที่ท่านพระเถรีท่านกล่าว คือ ตัวท่าน เช่นข้อความที่ว่า กามทั้งหลายเป็นของว่างเปล่า มีความยินดีน้อย มีความคับแค้นมาก กามทั้งหลายเผ็ดร้อนเปรียบด้วยอสรพิษ เป็นที่ทำให้คนพาลหลงหมกมุ่นอยู่
นี่เป็นความจริง ตราบใดที่ยังหลง ยังหมกมุ่นอยู่ ก็ยังเป็นคนพาล บุคคลใดที่ไม่ได้สะสมบารมีมาอย่างมั่นคงในการที่จะละกาม ไม่สามารถที่จะมีสติระลึกรู้ความจริงของกาม และของโทษของกามได้ถึงเพียงนี้ แต่สำหรับผู้ที่ได้สะสมบารมีมามั่นคงแล้วในการที่จะละกาม ย่อมจะเห็นโทษของกามนานาประการทีเดียว
ข้อความต่อไป
พระเถรีกล่าวว่า
ข้าแต่เสด็จแม่ คนเหล่าใดไม่รู้จักสัจจะอันพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงแสดงแล้ว พากันชื่นชมภพ ปรารถนาการเกิดในเทวดา ชนเหล่านั้นมีอยู่เป็นอันมากในโลกนี้
แม้แต่ท่านที่อบรมเจริญธรรม บางครั้งก็ยังปรารภว่า ท่านปรารถนาภูมิเทวดาดุสิต หรือดาวดึงส์ ซึ่งก็ยังต้องเกิดอีก แต่ก็เป็นการดี ถ้ามุ่งหวังภพภูมิที่เป็นสุคติที่จะมีโอกาสได้ฟังธรรมและอบรมเจริญธรรมโดยสะดวก
ข้อความต่อไป
พระเถรีกล่าวว่า
การเกิดแม้ในพวกทิพย์ ในภพอันไม่เที่ยง ก็เป็นของไม่ยั่งยืน
ถึงจะเป็นเทพ ภพต่างๆ เหล่านั้นก็ไม่ยั่งยืน
และพวกคนโง่เขลาย่อมไม่สะดุ้งกลัวต่อการเกิดร่ำไป พวกเขาจึงประสบวินิบาต ๔ คติ ๒ ในกาลทุกเมื่อ และการบวชของคนที่ตกอยู่ในวินิบาตทั้งหลาย ย่อมไม่มีในนรก ขอพระชนกชนนีทั้งสองทรงโปรดอนุญาตให้หม่อมฉันบวชใน พระศาสนาของพระทศพลเถิด หม่อมฉันจักเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย พยายามเพื่อละการเกิดการตาย จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยภพ อันพวกคนพาลพากันเพลิดเพลิน เป็นโทษทางกาย ไม่เป็นแก่นสาร ขอพระชนกชนนีทรงโปรดอนุญาตเถิด หม่อมฉันจะบวชเพื่อดับตัณหาในภพ การเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หม่อมฉันไม่ได้พบแล้ว ขณะอันเป็นขณะไม่ควร หม่อมฉันก็ได้แล้ว หม่อมฉันไม่พึงประทุษร้ายศีลและพรหมจรรย์ตลอดชีวิต
เมื่อนางสุเมธาราชกัญญากราบทูลอย่างนี้ ลำดับนั้น พระชนกชนนีได้ตรัสกะนางสุเมธาราชกัญญาว่า
มารดาบิดาเป็นคฤหัสถ์ ถึงจะตกอยู่ในอำนาจของความตาย ก็จักไม่ยอมละทิ้งมารดาเป็นทุกข์ร้องไห้ และบิดาก็เป็นทุกข์ ถูกความโศกครอบงำแล้วเหมือนกัน พยายามปลอบโยนนางสุเมธาซึ่งฟุบอยู่ที่แผ่นดินที่พื้นปราสาทว่า
ลุกขึ้นเถิดลูกรัก จะเศร้าโศกไปทำไม มารดาบิดาได้ยกเจ้าให้พระนครวารณวดีแล้ว คือ ได้ยกเจ้าให้พระเจ้าอนิกรัตต์ผู้มีรูปงาม เจ้าจักเป็นพระอัครมเหสีของ พระเจ้าอนิกรัตต์ ลูกรักเอ๋ย ศีล พรหมจรรย์ และการบวชกระทำได้ยาก อำนาจในแว่นแคว้นของพระเจ้าอนิกรัตต์ ทรัพย์ ความเป็นอิสสระ โภคะ ความสุขถึงสกุลนี้และสกุลของพระราชสามีทั้งหมด ลูกปรารถนาแล้ว ก็จักอยู่ในเงื้อมมือของลูก
เป็นเรื่องที่จะต้องตัดสินใจ ระหว่างภพหนึ่งชาติหนึ่งไม่มีใครทราบว่า ชีวิตของใครจะต้องเผชิญกับภาวะที่จะต้องตัดสินใจอย่างนี้ หรือว่าอาจจะอยู่ในลักษณะที่ต่างกันก็ได้ แต่สำหรับท่านพระสุเมธาเถรี จะเห็นได้ว่า เป็นความปรารถนาอย่างสูงสุดของมารดาบิดาผู้เป็นคฤหัสถ์ ผู้ยังไม่เห็นคุณค่าของการที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น ก็มีความหวังดีต่อลูก ที่จะให้ลูกได้ทุกอย่างที่จะเป็นอิสระ เป็นโภคะ เป็นทรัพย์ เป็นความสุข
ข้อความต่อไป
พระชนกชนนีได้ตรัสว่า
แม้ลูกก็ยังเป็นสาว จงบริโภคกามทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นมารดาบิดาจึงขอร้องไว้ ขอลูกจงอยู่เถิด
ลำดับนั้น นางสุเมธาราชกัญญาจึงกราบทูลพระชนกชนนีว่า
อำนาจเป็นต้นเช่นนี้ขอจงอย่ามีเลย เพราะภพไม่เป็นแก่นสาร หม่อมฉันจักบวช หรือถ้าทรงขอร้องไว้ ก็จักตายเท่านั้น หม่อมฉันรู้อยู่ว่า ร่างกายนี้เป็นของเปื่อยเน่า ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป เป็นของน่ากลัว ตัวเป็นดุจกระสอบหนังอันเต็มด้วยซากศพ เต็มด้วยของไม่สะอาด ไหลออกมาอยู่เนืองๆ
พิจารณาได้ในขณะนี้ทันที กระสอบหนังอันเต็มไปด้วยซากศพ ตัวของท่าน จริงๆ เป็นอย่างนั้น เต็มไปด้วยของไม่สะอาด เพียงแต่ลอกผิวหนังออกชั้นเดียว ก็จะปรากฏความเป็นปฏิกูลทั้งหมดทีเดียว จะหาเพชรนิลจินดาแก้วมณีสักนิดเดียวภายในก็ไม่มีที่ควรจะเป็นที่ชื่นชมยินดี แต่ว่าเมื่อไม่ได้ระลึกถึงความเปื่อยเน่า ความไม่สะอาดที่มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไปของร่างกาย ก็ทำให้ไม่ประจักษ์ในความจริงของร่างกาย
ข้อความต่อไปมีว่า
เหมือนอะไร หม่อมฉันรู้ว่า ร่างกายนี้เป็นดุจซากศพอันปฏิกูลอย่างยิ่ง ฉาบทาไว้ด้วยเนื้อและเลือด เป็นที่อยู่แห่งหมู่หนอน เป็นเหยื่อเลือด พระชนกชนนีจะยกให้ใครทำไม กายนี้ไม่นานนัก มีวิญญาณไปปราศจากแล้ว อันหมู่ญาติเกลียดอยู่ ย่อมทิ้งถมป่าช้า เหมือนท่อนไม้ฉะนั้น มารดาบิดาของตนยังเกลียด พากันนำเอาซากศพนั้นไปทิ้งให้เป็นเหยื่อของสัตว์อื่นในป่าช้า แล้วกลับไปอาบน้ำ จะกล่าวไปใยถึงประชุมชนทั่วไป
นี่เป็นความจริง จะรักบุตรธิดามากสักเท่าไรก็ตราบเท่าที่ยังมีชีวิต แต่ขณะใดที่วิญญาณไปปราศจากแล้ว อันหมู่ญาติเกลียดอยู่ ย่อมทิ้งถมป่าช้า เหมือนท่อนไม้ ฉะนั้น
มารดาบิดาของตนที่ว่ารักลูกมากๆ ถ้าวิญญาณปราศจากไปแล้ว มารดาบิดาของตนยังเกลียด พากันนำซากศพนั้นไปทิ้งให้เป็นเหยื่อของสัตว์อื่นในป่าช้า แล้วกลับไปอาบน้ำ จะกล่าวไปใยถึงประชุมชนทั่วไป
ข้อความต่อไปมีว่า
ชนทั้งหลายยินดีแล้วในกายอันเปื่อยเน่า เป็นซากศพ ไม่มีแก่นสาร อันมีกระดูกมีเอ็นเป็นเครื่องผูกรัด เต็มด้วยน้ำลาย น้ำตา และเหงื่อไคล ผู้ใดมาแยกกายนั้น ทำให้เห็นทั้งภายในและภายนอก ผู้นั้นไม่อาจทนต่อกลิ่นกายได้ แม้มารดาของตนก็พึงเกลียด บัณฑิตทั้งหลายกล่าวไว้โดยอุบายอันแยบคายว่า ขันธ์ ธาตุ และอายตนะอันปัจจัยปรุงแต่ง มีชาติเป็นมูลเหตุ เป็นทุกข์ ไม่น่าชอบใจ
เพราะเหตุไรหม่อมฉันจะพึงปรารถนาพระดำรัสที่ขอร้องเล่า หอก ๓๐๐ เล่ม อันลับแล้วใหม่ๆ พึงตกลงในกายทุกวันๆ ความกระทบกระทั่ง แม้เป็นไปสิ้นร้อยปียังประเสริฐกว่า ฉันใด ความสิ้นไปแห่งทุกข์พึงมี ฉันนั้น
ผู้ใดเป็นผู้รู้แจ้งพระดำรัสของพระศาสดา โดยนัยตามที่กล่าวแล้ว พึงประสบความกระทบกระทั่ง แม้ความสิ้นทุกข์ของผู้นั้นพึงประเสริฐยิ่ง และสังสาระของคนพาลเหล่านั้น ผู้ถูกชรา พยาธิ และมรณะเบียดเบียนบ่อยๆ เป็นของยาว ความคับแค้นอันหาประมาณมิได้ บัณฑิตแสดงไว้ในเทวดา หมู่มนุษย์ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน อสุรกาย เปรต นรก ในนรกมีทุกข์เป็นอันมาก ความต้านทานในหมู่เทวดาทั้งหลายไม่มีแก่สัตว์ผู้ไปแล้วในวินิบาต ผู้เศร้าหมอง สุขอื่นจากสุข คือ นิพพาน ไม่มี ผู้ใดขวนขวายในคำสั่งสอนของพระทศพล เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย พยายามเพื่อละความเกิดและตาย ผู้นั้นชื่อว่าบรรลุนิพพาน
ข้าแต่เสด็จพ่อ วันนี้ หม่อมฉันจักออกบวชแน่นอน จะมีประโยชน์อะไรด้วยโภคสมบัติอันหาสาระมิได้ กามทั้งหลายอันเสมอด้วยอาเจียน หม่อมฉันเบื่อหน่ายแล้ว กระทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน
เมื่อไรจะเห็นกามทั้งหลายเสมอด้วยอาเจียน ยากเหลือเกินใช่ไหม ไม่มีใครต้องการแน่เวลาที่เห็นอย่างนั้น ซึ่งตราบใดที่ยังไม่เห็นว่าเป็นอย่างนั้น ก็ยังคงต้องการ แต่ไม่รู้หรอกว่าขณะใดที่ต้องการ เป็นการสะสมการติดไว้อีกแล้ว เพิ่มความเหนียวแน่น ยากเหลือเกินในการที่จะสละในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ข้อความต่อไป
นางสุเมธาราชธิดากราบทูลแด่พระชนกอย่างนี้ และนางสุเมธาราชธิดานั้น อันพระชนกชนนีประทานให้แก่พระเจ้าอนิกรัตต์ใด พระเจ้าอนิกรัตต์นั้น แวดล้อมด้วยคนหนุ่มๆ ตระเตรียมมาแล้ว เมื่อกาลจวนเข้ามาแล้ว ลำดับนั้น นางสุเมธาราชกัญญาได้ทรงสดับว่า พระเจ้าอนิกรัตต์เสด็จมา จึงเอาพระขรรค์ตัดพระเกศาอันดำสนิท อ่อนสลวย งดงาม ปิดปราสาท แล้วเข้าปฐมฌาน นางสุเมธาราชกัญญาเข้าสมาบัติเจริญอนิจจสัญญาอยู่ในปราสาทนั้นนั่นเอง และพระเจ้าอนิกรัตต์ได้เสด็จมาถึงพระนคร และนางสุเมธาราชกัญญากำลังมนสิการถึงอนิจจสัญญาอยู่ พระเจ้าอนิกรัตต์มีพระองค์อันประดับด้วยแก้วมณีและทองคำ ได้รีบเสด็จขึ้นสู่ปราสาท ทรงทำอัญชลี อ้อนวอนนางสุเมธาราชกัญญาว่า
อำนาจ ทรัพย์ อิสริยยศ โภคะ ความสุขในราชสมบัติ หม่อมฉันขอมอบให้พระน้องนาง พระน้องนางยังเป็นสาว ขอจงบริโภคกามสุขเถิด กามสุขเป็นของหาได้ยากในโลก ราชสมบัติหม่อมฉันยอมสละให้พระน้องนาง ขอพระน้องนางจงบริโภคโภคะทั้งหลาย จงให้ทานเถิด อย่าทรงโทมนัสเลย พระชนกชนนีของพระน้องนางทรงเป็นทุกข์
นางสุเมธาราชกัญญาผู้ไม่มีความต้องการด้วยกามทั้งหลาย ปราศจากโมหะ กราบทูลพระเจ้าอนิกรัตต์ว่า
พระองค์อย่าทรงเพลิดเพลินในกาม จงทรงเห็นโทษในกามทั้งหลาย พระเจ้ามันธาตุผู้เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ เป็นผู้เลิศกว่าบุรุษผู้บริโภคกามทั้งหลาย ยังไม่ทรงอิ่มด้วยกามทั้งหลายก็สวรรคตไป ความบริบูรณ์ของท้าวเธอก็ยังไม่ทันบริบูรณ์เลย เทวดาผู้เป็นเจ้าแห่งฝน พึงบันดาลรัตนะ ๗ ประการให้ตกโดยรอบทั่วทั้ง ๑๐ ทิศ ความอิ่มด้วยกามทั้งหลายมิได้มี นรชนทั้งหลายผู้ยังไม่อิ่มด้วยกามพากันตายไปหมด
กามทั้งหลายเปรียบด้วยดาบและหลาว เหมือนหัวงูเห่า เปรียบดังคบเพลิงเผาอยู่เนืองๆ เหมือนร่างกระดูก
กามทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีทุกข์มาก เหมือนงูที่มีพิษมาก เหมือนก้อนเหล็กอันไฟติดทั่ว เป็นรากเหง้าแห่งทุกข์ มีทุกข์เป็นผล
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนผลไม้อันเป็นพิษ เหมือนชิ้นเนื้อ นำมาซึ่งทุกข์
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนความฝัน เป็นของหลอกลวง เหมือนของที่ยืมเขามา เปรียบด้วยหอกและหลาว เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นความทุกข์ยาก เป็นความลำบาก เช่นดังหลุมถ่านเพลิง เป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์ เป็นภัย เป็นนายเพชฌฆาต
กามทั้งหลาย บัณฑิตกล่าวว่า มีทุกข์มาก มีอันตรายมากอย่างนี้ เชิญพระองค์เสด็จกลับเสียเถิด หม่อมฉันไม่มีความคุ้นเคยในสมบัติของตนเลย เมื่อไฟไหม้อยู่ที่ศีรษะของตน ผู้อื่นจักช่วยทำประโยชน์อะไรให้หม่อมฉัน เมื่อชราและมรณะติดตามแล้ว ควรจะพยายามเพื่อทำลายชราและมรณะนั้น
นางสุเมธาราชกัญญาทอดพระเนตรเห็นพระชนกชนนีและพระเจ้าอนิกรัตต์เสด็จมายังไม่ทันถึง ประตูปิด ประทับนั่งร้องไห้อยู่ที่แผ่นดิน จึงได้กราบทูลว่า
สังสาระของคนพาลทั้งหลายผู้ร้องไห้ถึงมารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย และตนเองซึ่งตายแล้วในสังสาระ เป็นสภาพยาว ขอพระองค์ทรงระลึกถึงน้ำตา น้ำนม เลือด และกองกระดูกของสัตว์ทั้งหลายผู้ท่องเที่ยวอยู่ไปมา เพราะความที่สังสาระมีที่สุดอันบุคคลรู้ไม่ได้
ขอจงทรงนึกถึงมหาสมุทรทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงน้อมเข้าไป เปรียบในน้ำตา น้ำนม และเลือด จงทรงนึกถึงกองกระดูกของคนหนึ่งในกัปหนึ่งเท่าภูเขาวิบุลบรรพต
จงทรงนึกถึงแผ่นดินใหญ่ คือ ชมพูทวีป ที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบด้วยมารดาบิดาของบุคคลผู้ท่องเที่ยวอยู่ในสังสาระ แผ่นดินใหญ่เมื่อแบ่งออกเป็นก้อนกลมๆ เท่าเมล็ดพุทรา ยังไม่เพียงพอในมารดาบิดาเลย
จงทรงนึกถึงหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเปรียบด้วยมารดาบิดาของบุคคลผู้ท่องเที่ยวอยู่ในสังสาระ เพราะสังสาระมีที่สุดอันรู้ไม่ได้ หญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ชิ้นหนึ่งประมาณเท่า ๔ นิ้ว ยังไม่เพียงพอในบิดาทั้งหลายเลย และชิ้นหนึ่งมีประมาณเท่านั้น ยังไม่เพียงพอในปู่ ย่า ตา ยาย
จงทรงนึกถึงเต่าตาบอด และช่องแอกอันหมุนวนไปในทิศบูรพา และทางอื่นๆ อีกในมหาสมุทร มาสวมศีรษะเต่าตาบอดตัวนั้น ข้อนี้อุปมาดังการได้อัตภาพเป็นมนุษย์
จงทรงนึกถึงรูปแห่งโทษ คือ กาย อันหาสาระมิได้ เปรียบเหมือนก้อนฟองน้ำ จงทรงพิจารณาเห็นขันธ์ทั้งหลายอันไม่เที่ยง
จงทรงคำนึงถึงนรก อันมีความคับแค้นมาก
จงทรงนึกถึงสัตว์ทั้งหลาย ผู้พอกพูนป่าช้าอยู่บ่อยๆ ในชาตินั้นๆ
จงทรงนึกถึงภัยอันเกิดแต่ท้อง
จงทรงนึกถึงอริยสัจ ๔ เมื่ออมตมหานิพพานมีอยู่ จะมีประโยชน์อะไร ด้วยของเผ็ดร้อน ๕ ประการที่พระองค์ทรงดื่มแล้ว เพราะว่าความยินดีในกามทั้งปวงมีความเผ็ดร้อนกว่าความเผ็ดร้อน ๕ ประการอีก
เมื่ออมตมหานิพพานมีอยู่ พระองค์จะต้องการอะไรด้วยกามทั้งหลายอันเป็นเหตุให้เร่าร้อนเล่า เพราะว่าความยินดีในกามทั้งปวง อันไฟ ๑๑ กองให้รุ่งเรืองแล้ว ให้เดือดพล่านแล้ว ให้กำเริบแล้ว ให้ร้อนพร้อมแล้ว
เมื่อการออกจากกามอันไม่มีข้าศึกมีอยู่ ไฉนพระองค์จึงทรงต้องการด้วยกามทั้งหลายอันมีข้าศึกมากเล่า กามทั้งหลายมีข้าศึกมาก ทั่วไปด้วยพระราชา ไฟ โจร น้ำ และบุคคลอันไม่เป็นที่รัก
เมื่อความพ้นมีอยู่ ไฉนพระองค์จึงต้องการด้วยกามทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้ถูกฆ่า ถูกจองจำเล่า เพราะว่าการถูกฆ่าและถูกจองจำ ก็เพราะกามทั้งหลาย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๘ ตอนที่ ๔๗๑ – ๔๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 440
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 441
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 442
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 443
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 444
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 445
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 446
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 447
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 448
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 449
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 450
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 451
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 452
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 453
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 454
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 455
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 456
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 457
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 458
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 459
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 460
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 461
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 462
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 463
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 464
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 465
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 466
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 467
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 468
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 469
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 470
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 471
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 472
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 473
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 474
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 475
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 476
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 477
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 478
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 479
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 480