แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 480
ครั้งที่ ๔๘๐
ถ. ที่อาจารย์จะเคยบรรยายไว้ว่า ผู้เจริญสติปัฏฐานนั้นเปรียบเหมือนนายขมังธนู ยืนอยู่ ๔ ทิศ มีความชำนาญ ยิงมาพร้อมๆ กัน คนที่ยืนอยู่นั้นต้องสามารถรับลูกธนูได้โดยไม่ให้ถูกตัว และไม่ให้ตกถึงพื้นดินด้วย ธนูทั้ง ๔ อัน คงเปรียบเหมือนกับการเห็นในขณะนี้ กำลังสังเกตพิจารณาอยู่ บางครั้งเสียงก็เกิดขึ้นปรากฏทางหู ก็ละทิ้งทางตาไปพิจารณาทางหูทันที เป็นอย่างนี้ใช่ไหม
สุ. เรื่องวุ่นวายของคนที่จะทำวิปัสสนามีมากเหลือเกิน บางทีก็สงสัยว่า ทิ้งอันนั้นมารู้อันนี้ ทิ้งอันนี้ไปรู้อันนั้น เพราะว่าอันนั้นกำลังปรากฏ ถูกไหม ก็เป็นเรื่องที่พยายามจะทำ ไม่ใช่เป็นการที่จะให้สติเกิดระลึกรู้ เป็นธรรมดาของสติที่จะเป็นไป เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ แต่จะรู้เมื่อไร จะรู้วันไหน จะระลึกรู้หรือไม่ระลึกรู้ในวันนั้น ก็เป็นเรื่องของสติ
ถ้ากำลังระลึกรู้ทางตา ถ้าเสียงปรากฏ หมดไป ก็ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องหวั่นไหว ที่จะรีบทิ้งทางตาไปคว้าทางหู ถ้าเป็นอย่างนั้น คงจะสับสนวุ่นวาย ยุ่งยาก เดือดร้อน เพราะว่ามีแต่ตัวตน ผละทางนั้น ไปรับทางนี้ ไปคว้าทางโน้น ก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก แต่ว่าการเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่สติเกิดเพื่อระลึกรู้ในขณะนั้น ไม่ต้องมีความกังวลว่า จะรีบทิ้งทางนี้ไปรู้ทางโน้น ถ้ากำลังระลึกรู้ทางตา ก็ระลึกรู้ทางตา ถ้าเกิดจะระลึกรู้ทางหู ก็ระลึกรู้ทางหู ตามปกติ เป็นเรื่องละ ไม่ใช่เรื่องวุ่นวาย ไม่ใช่เรื่องสับสน
สำหรับพระสูตรที่ท่านผู้ฟังยกขึ้นมากล่าวเมื่อครู่นี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเกิดดับของสภาพธรรมอย่างรวดเร็วมากนั่นเอง แม้ขณะที่กำลังเห็นอยู่ในขณะนี้ สภาพธรรมก็เกิดดับสืบต่อกัน กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้โผฏฐัพพะ กำลังคิดนึก สภาพธรรมเป็นสภาพที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมาก แต่สติก็ยังสามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้
ถ. การรู้สึกตัวและรู้อารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นบ่อยเหลือเกิน เกิดขึ้นครั้งใดก็รู้ เช่น เสียงก็ดี สีก็ดี เย็น ร้อน อ่อน แข็งก็ดี เมื่อรู้แล้ว ขณะที่รู้นั้น ก็ไม่ได้สังเกต ไม่ได้สำเหนียก ขณะนั้นจะชื่อว่า พิจารณาหรือไม่ และการพิจารณาควรจะพิจารณาอย่างไร
สุ. สำหรับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานตามความเป็นจริงแล้วจะรู้สึกว่า ท่านจะต้องตั้งต้นใหม่อยู่บ่อยๆ อยู่เรื่อยๆ ใช่ไหม บางทีเข้าใจว่ารู้แล้ว ต่อไปอีกสักหน่อย ก็ไม่ใช่เสียแล้ว สงสัยอีกแล้วว่าเป็นอะไร
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า ท่านต้องปรารภสติที่เคยสังเกตแล้ว สำเหนียกแล้ว รู้แล้วเพียงนิดเดียว และก็มีการหลงลืมสติ การไม่ได้พิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมอีกมากมาย พร้อมทั้งกิเลสที่ครอบงำ จนกระทั่งความรู้ที่เพิ่งศึกษามาหน่อยหนึ่ง สังเกตสำเหนียกมานิดหนึ่งนี้ไม่ปรากฏ ก็จะต้องตั้งต้นใหม่อีก ปรารภอีกว่า ที่กำลังเห็นนี้ สภาพรู้เป็นอย่างไร สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นอย่างไร แต่ว่าจะรวดเร็วขึ้นกว่าผู้ที่ไม่เคยอบรมเจริญสติปัฏฐานเลย จนกว่าจะเป็นปัญญาที่คมกล้า ถึงขั้นที่ไม่จำเป็นที่จะต้องปรารภใหม่ สังเกตหรือสำเหนียกใหม่
ถ. ความเพียรที่อาจารย์เคยบรรยาย ผมฟังๆ ไป ก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจ คือ อาจารย์บรรยายว่า ขณะที่รู้สึกตัว มีสติเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ขณะที่กำลังสังเกต สำเหนียก ขณะนั้นวิริยเจตสิกก็ประกอบกับจิตแล้ว ผมก็พิจารณาลักษณะของ วิริยเจตสิกหรือลักษณะของความเพียร แค่นี้พอแล้วหรือ
สุ. รู้ความเพียร หรือรู้อะไร ขณะที่กำลังรู้สภาพที่ปรากฏทางตา กับสภาพที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าทางหูระลึกรู้ในเสียง ไม่ต่อเชื่อมโยงกับทวารอื่นเลย ไม่มีอะไรนอกจากเสียง เพราะฉะนั้น เป็นลักษณะของเสียงจริงๆ ไม่ทันที่จะคิดหรือที่จะรู้ว่าเป็นเสียงอะไร เสียงใคร มีความหมายว่าอะไร อยู่ทางซ้าย หรืออยู่ทางขวา เพราะว่าขณะนั้นสติระลึกรู้ตรงเสียง ไม่เชื่อมโยงกับนามอื่น รูปอื่น หรือความยึดถือว่าเป็นตัวตนเลย ขณะนั้นรู้วิริยะ หรือรู้เสียง หรือรู้สภาพที่กำลังรู้เสียงที่กำลังปรากฏเพราะขณะนั้นก็มีสภาพรู้ แต่ขณะนั้นเป็นการรู้เสียง
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่รู้วิริยะ แต่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าเป็นทางใจ รู้มากกว่าทางทวารอื่น เพราะเหตุว่าทางตารู้เฉพาะสี ทางหูรู้เฉพาะเสียง ทางจมูกรู้กลิ่น ทางลิ้นรู้รส ทางกายรู้โผฏฐัพพะ แต่ทางใจรู้มากกว่านั้น เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า รู้วิริยะ ก็จะต้องให้ตรงลักษณะจริงๆ ว่า รู้เมื่อไร ขณะไหนที่เป็นวิริยะ
ในคราวก่อน เป็นเรื่องของอุโบสถศีลองค์ที่ ๓ คือ การละเว้นอพรหมจรรย์ ซึ่งในพระไตรปิฎกก็มีเรื่องที่จะให้พุทธบริษัทได้เห็นประโยชน์ของการละเว้น อพรหมจรรย์ สำหรับข้อความต่างๆ ที่ท่านได้ยินได้ฟัง แม้ในยุคนี้สมัยนี้ บางทีท่านอาจไม่ทราบว่า เป็นข้อความที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก
ใน ขุททกนิกาย ชาดก อัฏฐกนิบาตชาดก อัฏฐานชาดก มีข้อความที่ได้กล่าวถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งคนในครั้งโน้นได้กล่าวเป็นการเปรียบเทียบ ข้อความมีว่า
เมื่อใดแม่น้ำคงคาดาดาษด้วยดอกบัวก็ดี นกดุเหว่าสีขาวเหมือนสังข์ก็ดี ต้นหว้าพึงให้ผลเป็นผลตาลก็ดี เมื่อนั้นเราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่
เป็นข้อความที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เช่น การที่นกดุเหว่าจะมีสีขาวเหมือนสังข์ หรือว่าแม่น้ำคงคาดาดาษด้วยดอกบัว หรือว่าต้นหว้าพึงให้ผลเป็นผลตาล
ข้อความต่อไปมีว่า
เมื่อใด ผ้าสามชนิดจะพึงสำเร็จได้ด้วยขนเต่า ใช้เป็นเครื่องกันหนาวในคราวน้ำค้างตกได้ เมื่อนั้นเราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่
เมื่อใด เท้ายุงทั้งหลายจะพึงทำเป็นป้อม มั่นคงดีไม่หวั่นไหว อาจจะทนบุรุษผู้ขึ้นรบได้ตั้งร้อย เมื่อนั้นเราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่
เมื่อใด เขากระต่ายจะพึงทำเป็นบันไดเพื่อขึ้นไปสวรรค์ได้ เมื่อนั้นเราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่
เมื่อใด หนูทั้งหลายจะพึงไต่บันไดขึ้นไปกัดพระจันทร์ และขับไล่ราหูให้หนีไปได้ เมื่อนั้นเราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่
เมื่อใด แมลงวันทั้งหลายเที่ยวไปเป็นหมู่ๆ ดื่มเหล้าหมดหม้อ เมาแล้ว จะพึงเข้าไปอยู่ในโรงถ่านเพลิง เมื่อนั้นเราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่
เมื่อใด ลาพึงมีริมฝีปากงาม สีเหมือนผลมะพลับ มีหน้างามเหมือนแว่นทอง จะเป็นสัตว์ฉลาดในการฟ้อนรำขับร้องได้ เมื่อนั้นเราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่
เมื่อใด กากับนกเค้าพึงปรารถนาสมบัติให้แก่กันและกัน ปรึกษาปรองดองกันอยู่ในที่ลับได้ เมื่อนั้นเราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่
เมื่อใด รากไม้และใบไม้อย่างละเอียด พึงเป็นร่มมั่นคงป้องกันฝนได้ เมื่อนั้นเราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่
เมื่อใด นกตัวเล็กๆ พึงเอาจะจะงอยปากคาบภูเขาคันธมาทน์บินไปได้ เมื่อนั้นเราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่
เมื่อใด เด็กๆ พึงจับเรือใหญ่อันประกอบด้วยเครื่องยนต์และใบพัดกำลังแล่นไปในสมุทรไว้ได้ เมื่อนั้นเราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่
จบ อัฏฐานชาดกที่ ๙
บางท่านอาจคิดว่า คนยุคนี้อาจเปรียบได้มากกว่านี้ ซึ่งความคิดความเห็น ต่างๆ กันของคนในยุคสมัยต่างๆ กันนั้น ก็ตามการสะสมของจิต จึงทำให้เปรียบเทียบในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ต่างๆ กัน
ขอต่ออุโบสถศีลองค์ที่ ๔ ซึ่งข้อความใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สังขิตตสูตร (อุโบสถวรรคที่ ๕) มีข้อความว่า
พระอรหันต์ทั้งหลายละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท พูดแต่คำสัตย์ ส่งเสริมคำจริง มั่นคง ควรเชื่อถือได้ ไม่กล่าวให้คลาดจากความจริงแก่โลกตลอดชีวิต ในวันนี้ แม้เราก็ละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท พูดแต่คำสัตย์ ส่งเสริมคำจริง มั่นคง ควรเชื่อถือได้ ไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความจริงแก่โลก ตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่าทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายแม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๔ นี้ ฯ
ท่านผู้ฟังจะเห็นความสำคัญของอุโบสถองค์ที่ ๔ ว่า เป็นเรื่องที่ควรเข้าจำ ซึ่งหมายความถึง รักษาไว้ได้นานพอสมควร เพื่อสะสมให้เป็นอุปนิสัยปัจจัย คือ ตลอดคืนและวันนี้
บางท่านสมาทานศีล ๕ แต่ว่าหลังจากที่สมาทานแล้ว ก็อาจจะมีเหตุการณ์เฉพาะหน้าเกิดขึ้นทำให้ท่านล่วงศีล ๕ ไป เพราะว่าในขณะที่ท่านมีเจตนาสมาทาน ก็เป็นแต่เพียงเจตนาที่จะงดเว้นอกุศลกรรม แต่ยังไม่มีเหตุการณ์ ยังไม่มีวัตถุที่จะก้าวล่วงมาเผชิญหน้า ข้อสำคัญ คือ ถึงแม้ว่าท่านได้สมาทานแล้ว มีเจตนาที่จะรักษาศีลแล้ว แต่เมื่อมีเหตุการณ์เฉพาะหน้าเกิดขึ้น มีวัตถุที่จะก้าวล่วง ก็ย่อมแล้วแต่ว่าขณะนั้น จะมีวิรตีเจตสิกเกิดขึ้นเป็นสัมปัตตวิรัติ คือ เว้นอกุศลกรรมในขณะนั้นทันทีหรือไม่ ซึ่งถ้าวีรติเจตสิกไม่เกิด ขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงว่า สภาพธรรมที่เป็นกุศลจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ถ้าวิรตีเจตสิกซึ่งเป็นโสภณเจตสิกไม่เกิดขึ้นวิรัติ ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตซึ่งเป็นปัจจัยให้ทำอกุศลกรรม ให้ก้าวล่วงอกุศลกรรม
สำหรับเรื่องของคำพูดนี้ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เป็นสิ่งที่สำคัญมาก นำมาให้ได้ทั้งความสุขและความทุกข์ และคำพูดอย่างไหนจะนำความทุกข์มาให้ คำพูดอย่างไหนจะนำความสุขมาให้ ถ้าเป็นคำจริงย่อมนำความสุขมาให้ แต่ถ้าเป็นคำเท็จ อาจจะเพียงปลอบใจได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ไม่สามารถจะนำความสุขที่แท้จริงมาให้ได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่คำจริง
ท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังว่า ปกติท่านฟังธรรมเสมอ และท่านเป็นผู้ที่พยายามอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันด้วย เมื่อเร็วๆ นี้ ท่านฟังธรรม แต่ก่อนที่จะฟังธรรม มีการให้ศีล ท่านก็สมาทานศีลก่อนที่จะฟังธรรม ซึ่งปกติแล้วท่านเป็นผู้ที่มีเจตนาตั้งใจที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการตั้งใจมั่นคงที่จะไม่ล่วงอกุศลกรรมอยู่แล้ว แต่เฉพาะวันนั้น มีศรัทธาเป็นพิเศษที่จะสมาทานศีลในเวลาที่พระท่านให้ศีลก่อนแสดงธรรม ซึ่งภายในวันเดียวกันนั้นเอง หลังจากที่สมาทานได้ไม่นาน ก็มีเหตุจำเป็นเกิดขึ้นที่จะให้กล่าวมุสาวาท เพื่อที่จะให้คนอื่นสบายใจ ผลก็คือ เดือดร้อนกระสับกระส่าย กระวนกระวายนานมากทีเดียว ซึ่งถ้าสิ้นชีวิตลงในขณะนั้น ก็เต็มไปด้วยตัวตน และจะไปสู่ภพไหน ภูมิไหน
เมื่อได้สนทนากับท่านผู้นั้นในเรื่องนี้ ท่านก็ระลึกขึ้นได้ถึงบุคคลในครั้งพุทธกาล คือ พระนางมัลลิกา ซึ่งเป็นผู้ที่เจริญกุศลมาก แต่ก็ยังมีการติดข้องผูกพันในความเป็นตัวตน เมื่อระลึกถึงอดีตอกุศลกรรมที่ได้กระทำไปแล้ว เพราะฉะนั้น หลังจากที่ท่านสิ้นพระชนม์แล้ว ท่านก็เกิดในนรก
เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ไม่แน่ว่า การเยื่อใย การยึดถือในตัวตนจะทำให้กังวลในเรื่องใดบ้าง และในขณะใด ซึ่งถ้าเป็นในขณะก่อนจะสิ้นชีวิต ก็มีปัจจัยทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิได้
ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านจะเข้าใจพยัญชนะและข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก เพราะว่าไม่ใช่เป็นเพียงตัวหนังสือในพระไตรปิฎก แต่เป็นสภาพธรรมในชีวิตประจำวันที่มีปรากฏเกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีวงศ์ญาติใหญ่ มีธุรกิจมากหรือน้อยก็ตาม ซึ่งท่านเป็นผู้ที่ผูกพันในบุคคลเหล่านั้น เป็นมิตรสหาย เป็นพี่น้อง เป็นวงศาคณาญาติ เป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าที่พักอาศัยของท่านจะใหญ่โตกว้างขวางสักเท่าไรก็ตาม แต่เมื่อเข้าไปรวมอยู่ในจิตใจของท่าน ร้อยแปดพันเก้าเรื่อง ก็ปรากฏว่าในใจคับแคบเหลือเกิน อึดอัดเหลือเกินด้วยเรื่องราวต่างๆ ที่แสนจะเดือดร้อน ที่ยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายเป็นตัวตน ก็จะเข้าใจความหมายของคำว่า คับแคบ
คับแคบ ไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นการยึดถือในสัตว์ ในบุคคล ในตัวตน ในเรื่องราว ในสิ่งต่างๆ ที่รวบรวมไว้ในจิตใจ จนทำให้เป็นความรู้สึกคับแคบเหลือเกิน เดือดร้อนเหลือเกิน กระวนกระวาย กระสับกระส่ายเหลือเกิน เพราะฉะนั้น จะเข้าใจความหมายในพระไตรปิฎก เวลาที่สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน
ถ. ที่ท่านผู้ฟังผู้นั้น ท่านกล่าวมุสาด้วยกุศลจิต คือ มุสาเพื่อให้ผู้อื่นไม่มีความเดือดร้อน เพราะฉะนั้น มีกุศลจิตเป็นมูล ขณะที่มุสานั้น ยังเป็นอกุศลหรือไม่ อาจารย์ช่วยอธิบายเพิ่มเติมอีกนิด
สุ. คนละขณะกัน ถ้าท่านคิดว่าเป็นกุศล ท่านคงมุสาวันละมากๆ อยากจะได้กุศลมาก ก็เลยมุสาใหญ่ เพราะเข้าใจว่าเป็นกุศลจิตที่ทำให้มุสา นั่นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง
การหวังที่จะให้คนอื่นไม่เดือดร้อนเป็นกุศลจิต แต่ไม่จำเป็นต้องมุสา ท่านที่เป็นผู้ที่ฉลาดในการใช้คำพูด ท่านอาจจะเปลี่ยนคำพูดของท่านจากแทนที่จะมุสา เป็นคำพูดที่ไม่มุสา และทำให้คนอื่นสบายใจได้
แต่ความชำนาญ ความว่องไวของการสะสมของจิตใจ แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะคล่องแคล่วชำนาญในทางอกุศล หรือในทางกุศล ถ้าเป็นผู้ที่คล่องแคล่วชำนาญในอกุศล เป็นคนที่ฉลาดในการพูดจริง แต่เพราะว่าสะสมอกุศลมามาก มีกำลัง เพราะฉะนั้น ก็ฉลาดคล่องแคล่วทำให้คนอื่นเชื่อในขณะนั้นทันทีโดยไม่สงสัย แต่ถ้าท่านจะค่อยๆ เปลี่ยนนิสัย เห็นโทษของมุสา รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิต และมีความชำนาญขึ้นในการอบรมเจริญกุศล วิรตีเจตสิกก็จะมีกำลัง และชำนาญคล่องแคล่วในการที่จะเกิดขึ้นวิรัติมุสาวาทในขณะนั้น ซึ่งกระทำได้โดยที่ให้คนอื่นสบายใจ และไม่ใช่มุสาวาทด้วย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๘ ตอนที่ ๔๗๑ – ๔๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 440
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 441
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 442
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 443
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 444
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 445
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 446
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 447
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 448
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 449
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 450
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 451
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 452
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 453
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 454
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 455
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 456
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 457
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 458
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 459
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 460
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 461
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 462
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 463
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 464
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 465
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 466
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 467
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 468
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 469
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 470
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 471
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 472
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 473
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 474
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 475
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 476
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 477
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 478
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 479
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 480