แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 429


    ครั้งที่ ๔๒๙


    ถ. การกล่าววาจาที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ตามที่อาจารย์บรรยายมาแล้วนั้น การที่อาจารย์บรรยายธรรมมาหลายปี และก็กล่าวตรงตามพระไตรปิฎกบ้าง ตรงตามอรรถกถาบ้าง ซึ่งการกล่าวอย่างนี้ไม่เบียดเบียนอาจารย์เลย เพราะอาจารย์กล่าวตรงตามความเป็นจริง แต่ก็ไปเบียดเบียนผู้อื่น ที่ว่าไปเบียดเบียนผู้อื่นนี้ อาจารย์ไม่ได้เจตนาจะเบียดเบียน แต่ผู้อื่นเดือดร้อนเพราะวาทะของอาจารย์ จะเป็นการกล่าวที่ว่า เบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ครับ

    สุ. เพื่อประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์ การกล่าวคำจริง สำคัญที่ผล และก็เจตนาด้วย ซึ่งต่อไปท่านผู้ฟังก็จะได้ทราบจากพระไตรปิฎกในเรื่องที่เกี่ยวกับวาจาต่างๆ

    ถึงแม้ว่าจะเป็นคำจริง แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็ไม่ควรกล่าว แต่ท่านผู้ฟังเองเป็นผู้ที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ว่า ได้รับประโยชน์จากธรรมที่ได้กล่าว หรือว่าไม่เป็นประโยชน์เลย ถ้าท่านผู้ฟังได้รับประโยชน์ คือ ความเข้าใจธรรม เป็นประโยชน์ในการเข้าใจธรรมและในการประพฤติปฏิบัติธรรม นั่นก็เป็นจุดประสงค์ของการกล่าว

    และเป็นคำจริงหรือไม่จริง ซึ่งท่านผู้ฟังก็พิจารณาต่อไปได้ว่า เมื่อเป็นคำจริงและท่านได้รับประโยชน์ เป็นคำพูดที่ควรกล่าวหรือว่าไม่ควรกล่าว ท่านผู้ฟังเองก็เป็นผู้ที่พิจารณาวินิจฉัยได้ด้วย

    ถ. คำกล่าวที่จะเบียดเบียนใคร หรือไม่เบียดเบียนใคร อย่างอาจารย์สอนว่า วิปัสสนาทำที่ไหนก็ได้ เพราะนามรูปเกิดทุกขณะ ไม่ต้องไปเข้าห้อง ผมเชื่อ ผมก็ไม่ไปเข้าห้อง ๓ วัน ๗ วันที่ไหนๆ อย่างนี้จะไปตัดประโยชน์เขาไหม เพราะผมไม่ไป เพราะผมเชื่ออาจารย์

    สุ. ประโยชน์สูงสุดของการฟังธรรมและการปฏิบัติธรรม คือ ความเข้าใจสภาพธรรมถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ท่านต้องการประโยชน์อย่างไรในการที่จะไป หรือในการที่จะไม่ไป ประโยชน์อยู่ที่ไหน ประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง และการได้ประพฤติปฏิบัติธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง นี่คือประโยชน์สูงที่สุด

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะถามถึงประโยชน์ การที่ท่านได้ความเข้าใจธรรม ได้ความเข้าใจในข้อประพฤติปฏิบัติ และสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติ ได้พิสูจน์ธรรมตามความเป็นจริงด้วย จะขัดกับประโยชน์ไหมอย่างนี้

    สภาพธรรมในขณะนี้เป็นของจริงที่ปัญญาจะต้องระลึกรู้ และประจักษ์แจ้งแทงตลอดในการไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แต่ถ้าไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด เข้าใจว่าปัญญาเกิดมากเหลือเกิน แต่ปกติอย่างนี้สติเกิดไม่ได้ ก็เข้าใจผิด เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพของปัญญา ก็คิดว่าเป็นปัญญา เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้

    ถ. ผมขอพูดความจริง จะเป็นพระหรือฆราวาส หรือใครจะโกรธ จะเคือง จะว่าอะไร ผมไม่ถือหรอก ผมพูดจริงๆ เพราะเราก็ต้องการสัจธรรม อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ต้องไปไหนก็เจริญวิปัสสนาได้ ไม่ต้องไปเข้าห้องปฏิบัติ ไม่ต้องไปสมัคร เสียเงินค่าข้าว ค่าอะไร ไปถึงเกาะสมุย ขึ้นรถเมล์ไปอีกเท่าไร เสียเวลา แบบของอาจารย์ประหยัดทรัพย์ที่สุด อยู่กับบ้าน ระลึกรู้ปัจจุบันธรรม อะไรก็ตามที่ปรากฏ มีใครมาคุยด้วย ก็คุยไป และก็กลับมาระลึกอีก

    ที่เขาไปสำนักปฏิบัติ ต้องไปยื่นคำร้อง เสียค่าใช้จ่าย ปีหนึ่งไปอยู่สัก ๗ วัน อีก ๓๐๐ กว่าวันทำอะไร ไม่ได้ทำอะไร แบบของอาจารย์นี้ที่ผมเลื่อมใส เป็นความจริง คือ ตัวของเราจะไปนรก ไปสวรรค์ก็ตัวเรา ไม่ใช่คนอื่นจะจูงเราไปได้ ถ้าท่านเกิดผิดขึ้นมา ก็ตัวเรานั้นแหละลงนรก

    เพื่อนผมคนหนึ่งแปลบาลีอยู่ที่วัดมหาธาตุ วันหนึ่งเขาถามว่า มาทำไม ผมก็บอกว่า มาฟังอาจารย์สุจินต์ ผมถามว่า ฟังไหม เขาบอกว่า ไม่ฟังหรอกกลัวบาป ผมถามว่า ทำไม เขาตอบว่า ก็พูดไม่ถูก ถ้าเราตำหนิติเตียนไปก็บาป ก็จริงเหมือนกัน ฟังแล้วถ้าไม่ชอบใจก็บาปเหมือนกัน เขามีแง่อย่างนี้ ผมไม่ใช่อย่างนั้น ฟังแล้วอันไหนไม่ถูกใจ เราก็ไม่เอา อันไหนถูกใจ เราก็เอาไปปฏิบัติ ก็หมดเรื่อง

    สุ. มีท่านผู้ฟังซึ่งได้อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน และท่านก็เห็นประโยชน์ในการที่สติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมบางครั้งบางคราว ไม่ว่าขณะนั้นจะตกใจ จะดีใจ จะเสียใจ จะตื่นเต้น แล้วแต่สติสามารถจะเกิดได้หรือเกิดไม่ได้ ก็เป็นเรื่องของสติ ซึ่งเมื่อได้อบรมแล้ว ก็ย่อมจะมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นได้

    ท่านผู้นั้นก็เสียดายโอกาสของบุคคลทั้งหลายที่ไม่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐาน ท่านกล่าวว่า สำหรับท่านที่มีความสะดวกสบายในเรื่องของอาชีพพอสมควรไม่ต้องห่วงใย เพราะเหตุว่าเรื่องของอาชีพสมัยที่คับขันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งบุคคลทั้งหลายก็กล่าวว่า เป็นเรื่องกังวลใจ ไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมได้ เพราะฉะนั้น ท่านก็มีความเห็นว่า ถ้าบุคคลใดสะดวกสบายแล้วในการอาชีพ ก็น่าที่จะเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ซึ่งนั่นก็เป็นความหวังดี เป็นทัศนะหนึ่งของท่าน แต่ถ้าพิจารณาถึงความคับขันจริงๆ ในยุคนี้สมัยนี้แล้ว ทุกท่านควรเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าเป็นกุศลที่ประเสริฐที่สุด ที่สามารถจะกระทำได้ทุกขณะ ทุกกรณี ไม่ว่าท่านกำลังประกอบอาชีพ หรือไม่ว่าท่านกำลังมีมิตรสหาย กำลังมีการเห็น การได้ยินขณะใด ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ขณะที่กำลังกระทำกิจการงานอยู่ สติก็สามารถที่จะเกิดได้

    และในยุคคับขันอย่างนี้ กุศลอื่นที่จะกระทำนั้น ดูเหมือนจะยากกว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เช่น ในเรื่องของทาน บางท่านอาจจะไม่มีปัจจัย แต่แม้ขณะนั้นสติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ เป็นกุศลที่สามารถจะทำขณะไหนก็ได้ อาชีพใดก็ได้ เมื่อไรก็ได้ และเป็นกุศลขั้นสูงที่สุด เพราะเหตุว่าทำให้ท่านรู้จักชีวิต รู้จักโลก รู้จักธรรมที่เกิดตามความเป็นจริง

    ไม่มีใครสามารถที่จะเลือกได้ว่า จะเกิดในยุคไหนสมัยไหน จะมีอาชีพอย่างไร จะมีกิจการงาน หรือชีวิตแต่ละขณะ แต่ละวันจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง วันนี้ก็ไม่ซ้ำกับเมื่อวานนี้ เรื่องราวต่างๆ ของเมื่อวานนี้ ก็เป็นเรื่องเมื่อวานนี้ที่หมดไปเมื่อวานนี้ แม้ว่าเรื่องวันนี้อาจจะต่อจากเรื่องของเมื่อวานนี้ แต่ก็เป็นเรื่องใหม่อีกแล้ว เปลี่ยนจากเมื่อวานนี้เป็นอีกอย่างหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจะเห็นได้ว่า นี่คือชีวิต ซึ่งแต่ละขณะแต่ละวันก็เปลี่ยนไป และก็มีเรื่องใหม่ มีเหตุการณ์ใหม่เกิดขึ้น เป็นธรรมดาของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของเศรษฐี ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของผู้ที่ขัดสนยากไร้ แต่นี่เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งเกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีผู้ใดสามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ละเอียดมากเหลือเกิน ซึ่งพร้อมที่จะให้ผลเมื่อไร ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น

    สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว แสดงให้เห็นว่า มีปัจจัยพร้อมแล้วจึงได้เกิดขึ้น ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ควรที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตรงตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น

    ท่านเลือกชีวิตที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ชีวิตของใครสะสมมาอย่างไร สติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในขณะนั้นอย่างนั้นสำหรับภพนี้ ชาตินี้ เป็นบุคคลนี้ ภพหน้า ชาติหน้าจะเป็นอย่างไร ก็จะต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานตามปัจจัยที่ได้สะสมมาที่จะเป็นบุคคลนั้นในภพหน้าในชาติหน้าต่อไป

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดก็ตาม อาชีพใดก็ตาม ในยุคคับขันอย่างนี้ ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นกุศลที่สามารถจะเจริญได้ และเป็นกุศลอย่างสูงสุด เพราะเหตุว่าสามารถที่จะทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะได้ลาภ ไม่ว่าจะเสื่อมลาภในวันหนึ่งวันใด ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ซึ่งถ้าสติระลึกรู้ตามความเป็นจริงในขณะนั้น ก็จะไม่ยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล

    และถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ จะไม่เลือกเวลาว่า เฉพาะแต่เวลาที่ว่าง แต่จะรู้ว่า ขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ และไม่จำกัดเวลาด้วย เป็นเหตุให้สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่เป็นโลภะอย่างแรง หรือว่าเป็นโทสะอย่างกล้าประการใดก็ตาม สติที่ได้อบรมแล้ว ก็สามารถที่จะระลึกรู้สภาพธรรมนั้นได้ตามความเป็นจริง

    อีกประการหนึ่ง ท่านที่ไปแสวงหาปัญญาที่จะดับกิเลส ก็ควรที่จะพิจารณาเหตุให้ตรงกับผลด้วย โดยมากท่านจะถูกตัณหาพาไปโดยไม่รู้สึกตัวว่า ท่านไปที่หนึ่งที่ใดก็เพราะหวังที่จะได้ แต่ไม่ระลึกรู้ว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็น ที่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นมิตรสหายมากหน้าหลายตา ท่านไม่ใช่อยู่คนเดียวเลย ทางตาขณะที่กำลังเห็น มีเพื่อนมากมาย มีสัตว์ มีบุคคล

    ขณะที่ได้ยินทางหู ก็ไม่ใช่คนเดียวอีก ได้ยินเป็นเรื่องราว เป็นบุคคลต่างๆ มากหน้าหลายตา มีมิตรสหายเยอะแยะทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ยึดถือในความเป็นสัตว์เป็นบุคคลต่างๆ ไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละชนิดที่เกิดปรากฏ แล้วก็หมดไป

    เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้พิจารณาจริงๆ ว่า กิเลสทั้งหลายมาจากความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ในขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ลิ้มรส ในขณะที่รู้สิ่งซึ่งกระทบสัมผัส ในขณะที่คิดนึกเป็นสุขเป็นทุกข์ต่างๆ แต่ถ้าท่านจะไปสู่สถานที่หนึ่งที่ใด ท่านจะระลึกถึงเหตุและผลอย่างนี้หรือไม่ เพราะว่าในขณะนี้ท่านสามารถจะตอบตัวท่านเองตรงตามความเป็นจริงได้ว่า ท่านรู้ลักษณะของเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่รู้ ระลึกได้ไหมในขณะนี้ ทำไมจะต้องรอไปอีก ในพระสูตรทรงอุปมาไว้มากทีเดียวว่า การกระทำความเพียรนั้น ควรให้เหมือนกับไฟไหม้บนศีรษะ

    ขณะนี้ไฟกำลังไหม้อยู่ ขณะที่ไม่รู้ในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องไปวิ่งไปดับที่อื่น หรือว่าไม่ต้องคอยไปถึงที่อื่นเสียก่อนจึงจะดับ ในขณะนี้เองที่กำลังไม่รู้ อุปมาเหมือนไฟที่ไหม้บนศีรษะ เพราะฉะนั้น การที่จะดับ ก็ดับในขณะนี้ทันทีด้วยสติที่ระลึก และสำเหนียก สังเกต จนเป็นปัญญาที่รู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    ถ. ผมเชื่อว่า ที่อาจารย์บรรยายมามีเจตนา มีความมุ่งหวังเพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้รู้แจ้งสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง แต่การรู้แจ้งสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันนี้ รู้สึกว่ายาก ยากจริงๆ ทั้งๆ ที่เข้าใจแล้ว พิจารณาแล้ว บางครั้งก็ยังไม่รู้ เช่น วันนี้ผมก็ยังไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างหนึ่ง

    สมัยนี้พวกช่างทั้งหลาย จะเป็นช่างโทรทัศน์ ช่างวิทยุ ช่างรถยนต์ ช่างไฟฟ้า สมมติว่า ช่างไฟฟ้าคนหนึ่งเห็นว่า เปิดสวิตช์แล้วไฟไม่ติด เขาก็รู้ว่าหลอดไฟฟ้าขาด การรู้แบบนี้ผมเข้าใจว่าไม่ใช่ปัญญา แต่องค์ธรรมได้แก่อะไร ผมยังไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ผมก็ยังไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายด้วย

    สุ. ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก แต่เป็นเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมกับจิตในขณะนั้น เช่น มนสิการเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ใส่ใจ พิจารณา ศึกษาด้วยโลภะ เพราะเหตุว่าขณะใดที่จิตไม่เป็นไปในกุศล ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต

    ถ้าเป็นสภาพธรรมที่เป็นปัญญาเจตสิก ที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่รู้ความจริงของสิ่งที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจว่า สภาพธรรมนั้นเป็นแต่เพียงลักษณะที่ปรากฏ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ปรากฏแล้วหมดไป เป็นความไม่เที่ยง และความไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ นั่นคือปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น

    แต่ขณะใดที่เป็นเรา เป็นเขาที่เก่ง ที่สามารถ เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล นั่นไม่ใช่ปัญญาเจตสิก แต่ว่าเป็นเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมกับจิตอื่นๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๔๒๑ – ๔๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564