แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 481


    ครั้งที่ ๔๘๑


    ถ. เรื่องวิรตีเจตสิก ขณะที่มีสติพิจารณารูปหนึ่งรูปใด หรือนามหนึ่งนามใด ขณะนั้นมีมรรค ๕ องค์ เว้นวิรตีเจตสิก ๓ อยากทราบว่า ขณะที่วิรัติทุจริตต่างๆ นั้นวิรตีเจตสิกเกิดขึ้น และถ้าขณะนั้นมีสติระลึกรู้พิจารณาจะชื่อว่า มรรค ๖ หรืออย่างไร

    สุ. ต้องเป็นอย่างนั้น แต่ว่ายังไม่ครบ ๘ จนกว่าจะถึงโลกุตตรจิต นี่เป็นความต่างกันของแต่ละขณะของการที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ในเรื่องของมุสาวาท ได้กล่าวถึงแล้วในศีล ๕ สำหรับในวันนี้จะขอกล่าวถึงข้อความบางตอนในพระไตรปิฎก เพื่อจะให้เห็นว่า พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านพิจารณาคำพูดที่เป็นอกุศลอย่างไร

    ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต คูถภาณีสูตร ข้อ ๔๖๗ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลที่พูดถ้อยคำเหม็นเหมือนคูถ ๑ บุคคลที่พูดถ้อยคำหอมเหมือนดอกไม้ ๑ บุคคลที่พูดถ้อยคำหวานปานน้ำผึ้ง ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้พูดถ้อยคำเหม็นเหมือนคูถเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปในสภาก็ดี ไปในบริษัทก็ดี ไปในท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี ไปในท่ามกลางเสนาก็ดี ไปในท่ามกลางราชสกุลก็ดี ถูกเขาอ้างเป็นพยาน ถามว่า แน่ะ บุรุษผู้เจริญ ท่านรู้อย่างใดจงกล่าวอย่างนั้น เขาไม่รู้ก็กล่าวว่ารู้ หรือรู้ก็กล่าวว่าไม่รู้ ไม่เห็นกล่าวว่าเห็น หรือเห็นกล่าวว่าไม่เห็น แกล้งกล่าวเท็จทั้งที่รู้ เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งคนอื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อย ด้วยประการฉะนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า บุคคลผู้พูดด้วยถ้อยคำเหม็นเหมือนคูถ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้พูดด้วยถ้อยคำหอมเหมือนดอกไม้เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปในสภาก็ดี ไปในบริษัทก็ดี ไปในท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี ไปในท่ามกลางเสนาก็ดี ไปในท่ามกลางราชสกุลก็ดี ถูกเขาอ้างเป็นพยาน ถามว่า แน่ะ บุรุษผู้เจริญ ท่านรู้อย่างใด จงกล่าวอย่างนั้น เขาเมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่าไม่รู้ หรือเมื่อรู้ก็กล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น หรือเมื่อเห็นก็กล่าวว่าเห็น ย่อมไม่แกล้งกล่าวเท็จทั้งที่รู้ เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งคนอื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อย ด้วยประการฉะนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าบุคคลผู้พูดถ้อยคำหอมเหมือนดอกไม้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้พูดถ้อยคำหวานปานน้ำผึ้งเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ พูดแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เสนาะโสต เป็นที่รัก จับหัวใจ เป็นวาจาชาวเมือง เป็นถ้อยคำที่ชนเป็นอันมากพอใจชอบใจดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าบุคคลผู้พูดถ้อยคำหวานปานน้ำผึ้ง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ

    จบ สูตรที่ ๘

    ท่านเป็นคนประเภทไหน ผู้อื่นทราบได้ไหม หรือว่าตัวท่านเองทราบ เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหลายที่ได้ทรงแสดงไว้ เพื่อให้ท่านได้พิจารณา เพื่อประโยชน์แก่ตัวท่านเอง ถ้าพูดไม่จริง ก็เหม็นเหมือนคูถ ในสายตาในความคิดของพระอริยเจ้า ท่านเห็นว่า เป็นคำพูดที่เหม็นเหมือนคูถจริงๆ แต่ถ้าเป็นคำจริง ก็เป็นคำพูดที่หอมเหมือนดอกไม้ และถ้าเป็นคำที่เว้นขาดจากคำหยาบ พูดวาจาที่ไม่มีโทษ เสนาะโสต เป็นที่รัก จับหัวใจ ก็เป็นถ้อยคำที่หวานปานน้ำผึ้ง

    ในวันหนึ่งคืนหนึ่ง เว้นได้ไหม ถ้าปกติธรรมดายังล่วงบ้าง ไม่ว่าจะเป็นคำเหม็น หรือคำที่ไม่ไพเราะก็ตาม วันธรรมดาก็อาจจะยังมีบ้าง แต่ถ้าจะสะสมเป็นอุปนิสัยปัจจัย เว้นเสียคืนหนึ่งวันหนึ่งได้ไหม นี่คือการเข้าอยู่จำอุโบสถศีลองค์ที่ ๔ เป็นการฝึกอบรมจริงๆ ซึ่งถ้าไม่ฝึกอบรม วาจาก็ย่อมเหมือนเดิม เคยพูดไม่เพราะ ทำให้คนอื่นเจ็บใจ ทุกข์ร้อน เดือดร้อน ทุกวันๆ ก็ยังคงเหมือนเดิม

    แต่ถ้ารักษาอุโบสถศีลองค์ที่ ๔ ด้วยการอยู่จำเสีย ก็คือ ประพฤติตามศีลข้อนี้วันหนึ่งคืนหนึ่ง ก็จะสะสมเป็นอุปนิสัยปัจจัยที่ว่า คราวต่อๆ ไปจะทำให้ระลึกได้ว่า คำใดเป็นคำที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็เว้นเสีย โดยเฉพาะต้องเป็นเรื่องของคำจริง เป็นการค่อยๆ ขัดเกลาวจีทุจริต โดยเฉพาะเรื่องของมุสาวาท ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ โดยมากท่านมักจะกล่าวว่า มีเหตุการณ์จำเป็นที่จะต้องมุสา เพื่อประโยชน์ของคนอื่นบ้าง หรือเพื่อให้คนอื่นสบายใจ ซึ่งถ้าเป็นกุศลจริงๆ ไม่ควรที่จะมุสา แต่ควรจะใช้คำพูดซึ่งเป็นประโยชน์ ทำให้คนอื่นสบายใจที่ไม่ใช่มุสาวาท

    สำหรับเรื่องของคำจริง ผู้ที่อบรมเจริญสติปัญญา สามารถจะละเว้นคำไม่จริงได้เป็นสมุจเฉท ส่วนผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ย่อมมีการที่จะพูดคำที่ไม่จริง แม้ในเรื่องของธรรม เพราะว่าไม่ได้รู้สภาพธรรมนั้นๆ ถูกต้องตามความเป็นจริง จึงมีการกล่าวติเตียนพระอริยเจ้าบ้าง หรือว่ามีการกล่าวธรรมคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับคำจริงบ้าง

    ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต สรภสูตร มีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ปริพาชกชื่อสรภะ หลีกไปจากธรรมวินัยนี้ไม่นาน เขาพูดในบริษัท ณ พระนครราชคฤห์อย่างนี้ว่า ธรรมของพวกสมณศากยบุตร เรารู้ทั่วถึงแล้ว ก็แหละเพราะรู้ธรรมของพวกสมณศากยบุตรทั่วถึงแล้ว เราจึงได้หลีกมาเสีย ถ้ามิฉะนั้น เราก็จะไม่หลีกมาจากธรรมวินัยนั้นเลย

    เป็นคำพูดที่ไม่จริง เพราะถ้ารู้จริง จะไม่หลีกจากธรรมวินัยของพวกสมณศากยบุตรเลย

    ครั้งนั้นแลเป็นเวลาเช้า ภิกษุมากรูปด้วยกัน นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์ ภิกษุเหล่านั้น ได้ยินสรภปริพาชกกำลังพูดอยู่ในบริษัท ณ พระนครราชคฤห์ อย่างนี้ว่า ธรรมของพวกสมณศากยบุตร เรารู้ทั่วถึงแล้ว ก็แหละ เพราะรู้ธรรมของพวกสมณศากยบุตรทั่วถึงแล้ว เราจึงได้หลีกไปเสีย ถ้ามิฉะนั้น เราก็จะไม่หลีกมาจากธรรมวินัยนั้นเลย

    ลำดับนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ เวลาหลังอาหารกลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปริพาชกชื่อสรภะ ได้หลีกไปจากธรรมวินัยนี้ไม่นาน เขาพูดในบริษัท ณ พระนครราชคฤห์อย่างนี้ว่า ธรรมของพวกสมณศากยบุตร เรารู้ทั่วถึงแล้ว ก็เพราะรู้ธรรมของพวกสมณศากยบุตรทั่วถึงแล้ว เราจึงได้หลีกมาเสีย ถ้ามิเช่นนั้น เราก็จะไม่หลีกมาจากธรรมวินัยนั้นเลย

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงพระกรุณา เสด็จไปหาสรภปริพาชกยังปริพาชการาม ฝั่งแม่น้ำสัปปินีเถิด

    พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ

    ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่พักผ่อน เสด็จไปหาสรภปริพาชกยังปริพาชการาม ฝั่งแม่น้ำสัปปินี ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ ครั้นแล้วตรัสถามสรภปริพาชกว่า

    ดูกร สรภะ ท่านพูดว่า ธรรมของพวกสมณศากยบุตรเรารู้ทั่วถึงแล้ว ก็แหละเพราะรู้ธรรมของพวกสมณศากยบุตรทั่วถึงแล้ว เราจึงได้หลีกมาเสีย ถ้ามิเช่นนั้น เราก็จะไม่หลีกมาจากธรรมวินัยนั้น ดังนี้ จริงหรือ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามเช่นนั้น สรภปริพาชกได้นิ่งเสีย พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะสรภปริพาชกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า

    จงพูดเถิดสรภะ ธรรมของพวกสมณศากยบุตร ท่านรู้ทั่วถึงแล้วว่าอย่างไร ถ้าความรู้ทั่วถึงของท่านจักยังไม่บริบูรณ์ เราก็จักช่วยทำให้บริบูรณ์ ถ้าความรู้ของท่านจักบริบูรณ์ เราก็จักอนุโมทนา

    แม้ครั้งที่ ๒ สรภปริพาชกก็ได้นิ่งเสีย

    แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สรภะ ธรรมของพวกสมณศากยบุตรเราบัญญัติไว้ จงพูดเถิดสรภะ ธรรมของพวกสมณศากยบุตร ท่านรู้ทั่วถึงแล้วว่าอย่างไร ถ้าความรู้ทั่วถึงของท่านจักยังไม่บริบูรณ์ เราก็จักช่วยทำให้บริบูรณ์ ถ้าความรู้ทั่วถึงของท่านจักบริบูรณ์ เราก็จักอนุโมทนา

    แม้ครั้งที่ ๓ สรภปริพาชกก็ได้นิ่งเสีย

    ครั้งนั้นแล ปริพาชกพวกนั้น ได้กล่าวกะสรภปริพาชกว่า

    ดูกร อาวุโสสรภะ พระสมณโคดมทรงประทานโอกาสแก่ท่าน ทุกคราวที่เธอขอพระองค์ท่าน จงพูดเถิดอาวุโสสรภะ ธรรมของพวกสมณศากยบุตร ท่านรู้ทั่วถึงแล้วอย่างไร ถ้าความรู้ทั่วถึงของท่านจักยังไม่บริบูรณ์ พระสมณโคดมก็จักช่วยทำให้บริบูรณ์ แต่ถ้าความรู้ทั่วถึงของท่านจักบริบูรณ์ พระสมณโคดมก็จักอนุโมทนา

    เมื่อปริพาชกเหล่านั้นได้พูดเช่นนี้แล้ว สรภปริพาชกนั่งนิ่ง เก้อ คอตก หน้าคว่ำ ซบเซา หมดปฏิภาณ

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สรภปริพาชกนั่งนิ่ง เก้อ คอตก หน้าคว่ำ ซบเซา หมดปฏิภาณ จึงได้ตรัสกะปริพาชกเหล่านั้นว่า

    ดูกร ปริพาชกทั้งหลาย ผู้ใดแล พึงกล่าวกะเราอย่างนี้ว่า ท่านผู้ปฏิญาณตนว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังไม่ได้ตรัสรู้ธรรมเหล่านี้ เราพึงไต่ถามซักไซร้ไล่เลียงผู้นั้น ในธรรมนั้นได้เป็นอย่างดี ผู้นั้นแล เมื่อถูกเราไต่ถามซักไซร้ไล่เลียงเป็นอย่างดี จะไม่พึงถึงฐานะ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พูดกลบเกลื่อนเสีย หรือพูดนอกเรื่องนอกราว ๑ ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความเสียใจให้ปรากฏ ๑ นั่งนิ่ง เก้อ คอตก หน้าคว่ำ ซบเซา หมดปฏิภาณ เหมือนกับสรภปริพาชก ๑ ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส

    ดูกร ปริพาชกทั้งหลาย ผู้ใดแล พึงกล่าวกะเราเช่นนี้ว่า ท่านผู้ปฏิญาณตนว่าเป็นพระขีณาสพ มีอาสวะเหล่านี้ยังไม่สิ้นแล้ว เราพึงไต่ถามซักไซร้ไล่เลียงผู้นั้น ในเรื่องอาสวะนั้นได้เป็นอย่างดี ผู้นั้นแล เมื่อถูกเราไต่ถามซักไซร้ไล่เลียงเป็นอย่างดี เขาจะไม่พึงถึงฐานะ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พูดกลบเกลื่อนเสีย หรือพูดนอกเรื่องนอกราว ๑ ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความเสียใจให้ปรากฏ ๑ นั่งนิ่ง เก้อ คอตก หน้าคว่ำ ซบเซา หมดปฏิภาณ เหมือนกับสรภปริพาชก ๑ ข้อนี้มิใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส

    ดูกร ปริพาชกทั้งหลาย ผู้ใดแล พึงกล่าวกะเราเช่นนี้ว่า ก็ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อันใด ธรรมที่ท่านแสดงแล้วนั้น ไม่นำออกเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ทำ

    ตามได้จริง เราพึงไต่ถามซักไซร้ไล่เลียงผู้นั้น ในเรื่องนั้นได้เป็นอย่างดี ผู้นั้นแล เมื่อถูกเราไต่ถามซักไซ้ไล่เลียงเป็นอย่างดี จะไม่พึงถึงฐานะ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พูดกลบเกลื่อนเสีย หรือพูดนอกเรื่องนอกราว ๑ ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความเสียใจให้ปรากฏ ๑ นั่งนิ่ง เก้อ คอตก หน้าคว่ำ ซบเซา หมดปฏิภาณเหมือนกับสรภปริพาชก ๑ ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เรื่องของธรรมที่เป็นอริยสัจธรรม ที่เป็นความจริง เมื่อ ผู้หนึ่งผู้ใดรู้แล้ว จะไม่ต้องพูดกลบเกลื่อน ไม่ต้องพูดนอกเรื่องนอกราว หรือว่าไม่ต้องทำความโกรธ ความขัดเคือง ความเสียใจให้ปรากฏ และไม่ต้องนั่งนิ่ง เก้อ คอตก หน้าคว่ำ ซบเซา หมดปฏิภาณด้วย เพราะว่าผู้นั้นได้รู้ทั่วถึงธรรมตามความเป็นจริง

    และถ้าผู้ใดกล่าวว่า รู้ทั่วถึงธรรมตามความเป็นจริง แต่เวลาที่ใครไต่ถามซักไซร้ ไล่เลียง ก็พูดกลบเกลื่อนเสียบ้าง พูดนอกเรื่องนอกราวเสียบ้าง ทำความโกรธ ความขัดเคือง ความเสียใจให้ปรากฏ หรือว่านั่งนิ่ง เก้อ คอตก หน้าคว่ำ ซบเซา หมดปฏิภาณ ก็แสดงว่า ผู้นั้นไม่ได้รู้จริงในธรรม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ทรงบันลือสีหนาท ณ ปริพาชการาม ฝั่งแม่น้ำสัปปินี ๓ ครั้งแล้ว เสด็จไปสู่เวหาส ลำดับนั้น พวกปริพาชกนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้วไม่นาน ต่างช่วยกันเอาปฏัก คือ วาจาทิ่มแทงสรภปริพาชกรอบข้างว่า

    ดูกร สรภะ สุนัขจิ้งจอกแก่ในป่าใหญ่คิดว่า จักบันลือสีหนาท มันคงบันลือเป็นสุนัขจิ้งจอกอยู่นั่นเอง บันลือไม่ต่างสุนัขจิ้งจอกไปได้เลย แม้ฉันใด ตัวเธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน คิดว่า นอกจากพระสมณโคดม เราก็บันลือสีหนาทได้ บันลือได้เหมือนสุนัขจิ้งจอก บันลือไม่ต่างสุนัขจิ้งจอกไปได้เลย

    ดูกร สรภะ ลูกไก่ตัวเมียคิดว่า จักขันให้เหมือนพ่อไก่ มันคงขันได้อย่างลูกไก่ตัวเมียอยู่นั่นเอง แม้ฉันใด ตัวท่านก็ฉันนั้นเหมือนกันแล คิดว่านอกจากพระสมณโคดม เราจักขันได้เหมือนพ่อไก่ แต่ก็ขันได้เหมือนลูกไก่ตัวเมียอยู่นั้นเอง

    ดูกร สรภะ โคผู้ย่อมเข้าใจว่า ในโรงโคที่ว่างเปล่า ตนต้องบันลือได้อย่างลึกซึ้ง แม้ฉันใด ตัวท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเข้าใจว่า นอกจากพระสมณโคดม ตนต้องบันลือได้อย่างลึกซึ้ง

    ครั้งนั้นแล ปริพาชกเหล่านั้นต่างช่วยกันเอาปฏัก คือ วาจาทิ่มแทงสรภปริพาชกรอบข้าง ฯ

    เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงโอวาทในเรื่องการที่จะรู้จักบุคคลโดยคำพูดของบุคคลนั้นเองอย่างไรบ้าง ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อัปปเมยยสูตร ข้อ ๕๕๕ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ สุปปเมยยบุคคล ๑ ทุปปเมยยบุคคล ๑ อัปปเมยยบุคคล ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สุปปเมยยบุคคลเป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตไม่แน่นอน ไม่สำรวมอินทรีย์ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สุปปเมยยบุคคล ผู้พึงประมาณได้โดยง่าย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ทุปปเมยยบุคคลเป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่โลเล ปากไม่กล้า ไม่พูดพร่ำเพรื่อ ดำรงสติมั่น มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น มีจิตแน่วแน่ สำรวมอินทรีย์ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าทุปปเมยยบุคคล ผู้พึงประมาณได้โดยยาก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อัปปเมยยบุคคลเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันตขีณาสพ นี้เรียกว่าอัปปเมยยบุคคล ผู้พึงประมาณไม่ได้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ

    เป็นเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือไม่



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๙ ตอนที่ ๔๘๑ – ๔๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564