แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 492


    ครั้งที่ ๔๙๒


    ถ. ผมยังไม่ค่อยจะเข้าใจ สมมติว่า อย่างเรา ก็ยังยึดถืออยู่ว่า เป็นเรา เป็นเขา เป็นสัตว์ เป็นบุคคลอยู่ จะเห็นครั้งใด ได้ยินครั้งใด ก็คือเราได้ยินเสมอ ที่จะให้เป็นสภาพของธรรม รู้สึกว่าจะเป็นไปได้ยาก คือไม่ว่าอะไร เราต้องมีวิธีการที่จะหัด ถ้าเราจะหัดให้มีสติระลึกรู้ว่า สิ่งที่ได้ยิน ได้เห็นนั้น เป็นเพียงสภาพของธรรมเท่านั้นเอง อย่างนี้จะมีอะไรเป็นข้อกำหนดนึกในใจได้บ้าง ที่จะให้พ้นจากความรู้สึกว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือเป็นเราที่ได้ยิน หรือเป็นเราที่เห็น จะมีการมนสิการอย่างไร เพื่อที่จะให้มีความเห็นว่า การเห็น การได้ยินนั้น ไม่ใช่เรา หรือไม่ใช่สัตว์บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมเท่านั้น

    สุ. คือ ขณะนี้ระลึก เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจริงๆ ซึ่งไม่ปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางจมูก เริ่มระลึกอย่างนี้ คราวหลังก็จะทราบว่า ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นอย่างนี้จริงๆ เท่านั้น หาเป็นอย่างอื่นไปได้ไม่ แต่ถ้าไม่ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ความเป็นตัวตนก็มีทุกครั้งที่เห็น ความเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ก็เกิดขึ้นทุกครั้งที่สติไม่เกิดระลึกรู้อย่างนี้

    และการที่จะรู้แจ้งจริงๆ ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ ก็ไม่ใช่เพียงทวารเดียวหรืออย่างเดียว แต่สติจะต้องระลึกรู้ ไม่ว่าจะตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อที่จะให้รู้จริงๆ ว่า ลักษณะของสภาพรู้แต่ละทาง เป็นเพียงแต่ลักษณะของสภาพรู้จริงๆ ซึ่งรู้แต่ละทาง ส่วนลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ก็เป็นเพียงลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏแต่ละทางเท่านั้น

    อย่างเช่น เสียง เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ ต่างกับสีสันวัณณะที่ปรากฏ ไม่ต้องใช้คำว่า เสียง ไม่ต้องใช้คำว่า สี แต่ลักษณะที่กำลังปรากฏนั้นต่างสภาพกันจริงๆ และทางตาหรือทางหูก็ตามที่มีลักษณะต่างๆ ปรากฏ ก็จะต้องมีสภาพรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏด้วย

    เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมนาน ถ้าศึกษาประวัติของพระอริยสาวก จะเห็นได้ว่า ท่านอบรมกันนับชาติไม่ถ้วน ไม่ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากี่พระองค์จะปรินิพพานไป ถ้าการอบรมปัญญาของท่านยังไม่บริบูรณ์ ยังไม่สมบูรณ์ ก็จะยังไม่รู้แจ้งว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ทางตา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏแล้วดับไปจริงๆ หรือสภาพที่กำลังรู้ในสีสันวัณณะ คือ กำลังเห็นสีสันวัณณะต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ต่างจากสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ซึ่งปรากฏเกิดขึ้นและดับไปจริงๆ ด้วย แต่ละทวาร แต่ละทาง ต้องมีการอบรมจนกว่าจะประจักษ์แจ้งอย่างนี้ได้

    อย่าคิดถึงเฉพาะชาตินี้ชาติเดียว โดยหวังว่า ชาตินี้ท่านจะประจักษ์สภาพธรรมรู้แจ้งแทงตลอดเป็นพระอริยเจ้า ดังเช่น วิสาขามิคารมารดาก็ดี หรือท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ดี หรือท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งท่านนำชาติสุดท้ายของพระอริยสาวกมาเปรียบเทียบกับการที่ท่านพยายามจะประจักษ์สภาพธรรมเพียงในชาตินี้ชาติเดียว แต่ว่าการอบรมนั้นต้องมากกว่านี้

    ถ. ผมเรียนถามว่า เราควรจะทำใจอย่างไร ระลึกรู้อย่างไร ในสิ่งที่เราได้เห็นอยู่นี้ หรือว่าเราไม่มีทางทำใจอย่างไรได้ แต่เราก็จะต้องรู้ในเรื่องของปริยัติว่า สิ่งที่เห็นนั้น ก็สักแต่ว่าเห็น คือ ไม่ใช่เราที่เห็น หรือไม่ใช่เราเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่เป็นธรรมเท่านั้น ที่เราเห็นนี้ เห็นรูป คือ รูปก็เป็นธรรม เสียงก็เป็นธรรม

    การที่เราจะเบนความรู้สึกของเราให้พ้นไปจากการเห็น การได้ยินอย่างธรรมดา เราไม่ได้กำหนดนึกอะไรไว้บ้างเลยในขณะที่เราเจริญสติว่า สิ่งที่เห็นนั้นก็สักแต่ว่าเห็น หรือว่าสิ่งที่ได้ยินนั้นก็สักแต่ว่าได้ยิน เราไม่เอาใจใส่อะไรทั้งหมด ไม่ว่าจะเห็นอะไรก็คล้ายๆ กับว่า สักแต่ว่าเห็นไปอย่างนั้นเอง สักแต่ว่าได้ยินไปอย่างนั้นเอง ซึ่งการกระทำอย่างนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เราหลงในรูป ไม่ให้หลงในเสียงอย่างนั้น หรือว่าเรามีความมุ่งหมายอื่นอย่างไร

    สุ. ไม่ใช่ให้เบนไปจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อย่าเบนไป กำลังเห็นอย่างนี้ ปกติธรรมดาอย่างนี้ ระลึก และค่อยๆ รู้ขึ้นได้ไหม อย่าเพิ่งรู้ทันทีว่า เป็นแต่เพียงสภาพรู้ที่กำลังเห็น หรือว่าเป็นแต่เพียงสีสันวัณณะที่ปรากฏ ถ้าทันทีอย่างนี้ เป็นขั้นนึกเท่านั้นเอง ไม่ใช่ขั้นที่สำเหนียก สังเกต จนประจักษ์จริงๆ ว่า สภาพรู้เป็นอย่างไร ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็เป็นแต่เพียงรูปธรรมที่ปรากฏเท่านั้น เพราะว่าเมื่อเห็นแล้ว เกิดความพอใจ ไม่พอใจ สภาพที่พอใจ ไม่พอใจ ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่สีสันวัณณะ เป็นลักษณะของสภาพธรรมอื่นที่เกิดสืบต่ออย่างรวดเร็ว เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งสติจะต้องระลึกทันทีที่เกิดพอใจหรือไม่พอใจ อย่าเบนไปที่อื่น ต้องระลึกรู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกตินี่เอง

    ถ. หมายถึงว่า ขณะที่ตาเห็นรูป คือ ตาเป็นสภาพธรรมที่รับเท่านั้นเอง ไม่มีความรู้ ส่วนรู้นั้นเป็นสภาพของจิตใจ เมื่อตาเห็นรูปแล้ว ใจก็จะต้องรู้ จะต้องเข้าไปถึงบัญญัติทุกครั้งว่า นี่เป็นอะไร ถ้าหากว่าเราจะมีวิธีการที่จะไม่ให้ใจของเราคิดว่ามันเป็นอย่างนั้น แต่ให้เรานึกว่า นี่เป็นสภาพของรูป หรือธรรมเท่านั้นเอง อย่างนี้เราจะทำใจอย่างไร หรือว่าจะปล่อยให้เห็นอยู่อย่างนี้ เห็นกี่ครั้งก็ไม่พ้นไปจากสัตว์ ไม่พ้นไปจากโต๊ะ เก้าอี้ หรือว่าได้ยินเสียง ก็คงจะเช่นเดียวกัน

    ผมอยากจะเรียนถามว่า จะมีวิธีการอะไรสักอย่างหนึ่งไหม ที่เราอาจจะเรียกว่า อะไรดี คือ คล้ายๆ กับว่า เราจะสอนใจของเราเสียใหม่ว่า อย่าไปหลงผิดนะ อะไรอย่างนี้ จะต้องมีบ้างไหมว่า ที่เห็นนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล คือ นึกว่าที่เห็นนี้ก็สักแต่ว่าเห็น หรือว่าอย่างไร ผมยังข้องใจ

    สุ. ถ้าจะสอน ขณะที่กำลังสอนนี่ ก็ยังคงเป็นเราสอนใจเราเองใช่ไหม

    ถ. ใช่

    ส. เพราะฉะนั้น จะเอาเราตัวนี้ออกได้อย่างไร ถ้ายังเป็นเราที่สอนใจเราเอง ก็พร่ำแต่สอนไป ก็ยังคงเป็นเราที่สอนใจเราเอง แต่การที่จะรู้ว่า ไม่มีเราตลอดวันตลอดคืน ตลอดชาติ ตลอดสังสารวัฏฏ์ คือ รู้ว่ามีแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม และนี่ไม่ใช่ปริยัติ แต่สภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ เป็นอย่างนั้น เมื่อปัญญายังไม่ได้อบรม จะเป็นความรู้ชัดอย่างขั้นที่แทงตลอดแล้วไม่ได้

    ท่านผู้ฟังกล่าวว่า ถ้าไม่มีกลวิธีใด ก็จะต้องเห็นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนอยู่ เรื่อยๆ กำลังได้ยินก็เหมือนกัน ทางทวารอื่นก็เหมือนกัน แต่อย่าลืมว่า สภาพธรรมที่ปรากฏนี้ต่างกัน ไม่เหมือนกัน กำลังเห็น กับขณะที่กำลังพอใจ ตื่นเต้น หรือว่าตกใจ สภาพที่ตื่นเต้น หรือว่าตกใจ กับกำลังเห็น เป็นลักษณะอาการเดียวกันหรือเปล่า

    ถ. ที่กำลังเห็น กับกำลังตื่นเต้นตกใจ ผมคิดว่า คงคนละขณะ แต่อาศัยเหตุของการเห็น จึงทำให้เกิดการตื่นเต้นและตกใจ

    สุ. เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ก่อนที่จะไปถึงว่า มีปัจจัยต่างกัน สำหรับปัญญาขั้นแรก สติจะต้องระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมต่างๆ ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมลักษณะต่างๆ กันเท่านั้น กำลังตกใจ ไม่ใช่เรา เป็นลักษณะอาการของสภาพธรรมลักษณะหนึ่งเท่านั้นเอง เช่นเดียวกับกำลังเห็น ถ้ากำลังตกใจไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงลักษณะสภาพอาการของธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น ทำไมกำลังเห็นจะเป็นเรา ก็ต้องเป็นแต่เพียงสภาพลักษณะของธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น เช่นเดียวกับกำลังตกใจ

    ถ. ในสำนึกของปุถุชน ซึ่งเรานี้สั่งสมสันดานมาไม่น้อย ถ้าพูดตามหลักพระพุทธศาสนา เราเคยเกิดมาแล้ว เราเกิดมาทุกชาติก็มีความเข้าใจอย่างนี้ว่า เรา ลูกเรา เมียเรา ของๆ เรา การเห็นก็เราเห็น เพราะเหตุนี้เองที่เราทะเลาะวิวาทกัน หรือว่าไม่พอใจกัน ก็เพราะคำว่า เรา

    การที่จะเอาเราออก เราควรจะมีธรรม หรือว่าจะมีปัญญาอะไรสักอย่างหนึ่งที่เข้ามาแทนคำว่า เรา เพราะฉะนั้น จะมีวิธีการอะไรสักอย่างหนึ่งที่จะเอาเราออกได้บ้างไหม และที่เพียงแต่กำหนดรู้ว่า เป็นสภาพของธรรมๆ ผมก็ยังไม่ค่อยมีความเข้าใจว่า จะทำอย่างไรจึงจะให้รู้อย่างนั้น เพราะว่าพอรู้ทีไร ก็ไปรู้เรื่องบัญญัติทุกที ที่ผมถามนี่ เพื่อที่จะได้นำไปปฏิบัติ และถ้าหากผู้ฟังท่านอื่นยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ หรือว่ายังไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ ก็จะได้มีความเข้าใจ ผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์

    สุ. ก็คงจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังมากทีเดียว เพราะว่าเป็นปัญหาที่ได้รับฟังบ่อยๆ ข้อสำคัญคือ ต้องมีการอบรมเจริญปัญญา นี่เป็นของที่แน่นอนที่สุด ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้ง ตรงกันข้ามกับอวิชชา ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้สภาพความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ลักษณะของปัญญากับลักษณะของอวิชชานี้ต้องต่างกันแน่นอน อวิชชามีเป็นพื้นอยู่ในจิต แต่ว่าปัญญาจะต้องอบรมสะสมให้เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย มีใครสามารถที่จะบังคับให้ปัญญาเกิดได้มากๆ ตามความต้องการไหมว่า พอเห็นก็ให้มีกลวิธีที่จะให้ละความยึดถือว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่มีใช่ไหม

    ถ. ใช่

    สุ. ต้องอบรมเจริญตั้งแต่เบื้องต้น คือ ความเข้าใจในลักษณะของสติ ถ้ายังไม่เข้าใจลักษณะของสติ อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้น เรื่องของการที่จะไปรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ต้องอาศัยปัจจัย คือ สติซึ่งเริ่มที่จะเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่กำลังปรากฏด้วย

    ยืนเฉยๆ สติไม่เกิด ก็ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะสติไม่เกิด จึงไม่รู้ แต่เวลาที่สติเกิด อกุศลธรรมก็ปรากฏลักษณะของอกุศลธรรม กุศลธรรมก็ปรากฏลักษณะของกุศลธรรม นั่นเป็นการที่จะศึกษา สำเหนียก รู้ลักษณะของสภาพจิตที่ต่างกัน ซึ่งจะต้องสามารถระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริงๆ

    ความคิดนึกที่ปรากฏเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ นั้น ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้เรื่องนั้น เรื่องนั้นจะมีได้ไหม เรื่องต่างๆ จะไม่มีเลยในโลกนี้ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้เรื่องนั้น เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นในขั้นของการฟัง จะต้องรู้ความจริงว่า ขณะคิดนึกจะต้องรู้ความจริงอะไร ไม่ใช่ไปรู้ เกิด แก่ เจ็บ ตาย และก็นั่งคิดไปว่า ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ขณะนั้นยังไม่ได้รู้ว่า ที่ความคิดอย่างนั้นมีได้ก็เพราะจิตกำลังรู้ กำลังคิด กำลังตรึกเป็นคำ เป็นเรื่องอย่างนั้นต่างหาก เรื่องอย่างนั้นจึงปรากฏในลักษณะนั้นได้ เพราะมีสภาพที่รู้ในเรื่องนั้น กำลังรู้เรื่องนั้นอยู่

    นี่คือการอบรมเจริญปัญญาให้รู้ว่า แม้ความคิดนึกก็ไม่ใช่ตัวตน ที่กำลังฟังรู้เรื่องในขณะนี้ ก็เป็นแต่เพียงสภาพรู้คำ รู้เรื่อง ไม่ใช่ตัวตน รู้เรื่องแล้ว หมดแล้ว ต่างกับการเห็น ต่างกับการได้ยิน เป็นเรื่องปกติที่จะต้องค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาด้วยสติที่ระลึกว่า ขณะนี้อะไรกำลังเป็นของจริง ทางตาอะไรเป็นของจริง เมื่อจริง ก็ระลึกจะได้รู้ ทางจมูกมีของจริงกำลังปรากฏไหม ทางลิ้นกำลังรับประทานอาหาร มีของจริงกำลังปรากฏไหม ไม่ใช่ว่าเบนไป เลี่ยงไปทำอย่างอื่น แต่ระลึกรู้ตรงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏแต่ละอย่าง แต่ละทางจริงๆ

    ถ. ถ้าอย่างนั้น คงจะต้องทำใจว่า หรือกำหนดว่า เห็น ก็ให้รู้ว่ากำลังเห็น ได้ยิน ก็ให้รู้ว่ากำลังได้ยิน โทสะเกิด ก็รู้ว่าโทสะเกิด หรือจะต้องรู้ว่า จิตกำลังเป็นโทสะ จิตกำลังเห็น จิตกำลังได้ยิน เพราะว่าการเห็น การได้ยิน หรือการนึกคิดต่างๆ ก็อาศัยจิตทั้งนั้น และจิตนี้ก็เป็นสภาพธรรม เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีคำว่า จิต คือต้องรู้ว่า ที่ได้ยินนี่จิต ที่เห็นนี่จิต ที่นึกคิดนี่ก็จิต เราจะต้องทำอย่างนี้ด้วยไหม

    สุ. ถ้าเป็นเราที่จะต้องทำอย่างนี้ไหม ก็ยังคงเป็นเราอยู่นั่นเองที่จะทำ และจะเอาตัวเราที่ทำออกได้อย่างไร นี่เป็นปัญหาที่ยากที่สุด คือ ตัวเราที่จะทำ จิตอย่างนี้ จะกำหนดอย่างนี้ จะเอาตัวเรานี้ออกได้อย่างไร

    แต่ถ้าเป็นสติเกิด ก็ระลึกได้ ขณะนี้สติเกิด ระลึกที่กาย ที่อ่อน ที่แข็ง ระลึกได้ แทนที่จะคิดไปในเรื่องที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน และเพราะอาศัยการฟังสติปัฏฐาน จึงระลึกที่อ่อน ที่แข็งที่กำลังปรากฏ รู้ตรงอ่อน ตรงแข็ง รู้เฉพาะตรงนั้นได้ไหม ถ้ารู้ได้ก็เป็นของจริง ซึ่งของจริงทั้งหมดเป็นสัจธรรม และสำหรับผู้ที่รู้แจ้งแทงตลอดก็เป็นอริยสัจธรรม

    ถ. ถ้าอย่างนั้น คงจะต้องเอาสติไปกำหนดในขณะที่ร่างกายสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง อย่างนั้นใช่ไหม

    สุ. ข้อสำคัญอย่าลืมว่า จะเอาความเป็นตัวตนที่จะเอาสติไปรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็งออกได้อย่างไร ตัวตนกำลังอยู่ที่ เราจะเอาสติไปรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง

    ถ. ในขั้นของการศึกษา หรือในขั้นการวิจัย หรือในขั้นที่เราโต้ตอบกันนี้ ถ้าไม่ใช้คำว่า เรา ผมก็ไม่ทราบว่าจะเข้าใจกันได้อย่างไร ตอนนี้เราต้องอาศัยบัญญัติก่อน ถ้าไม่อาศัยบัญญัติ เราก็พูดปรมัตถ์ไม่ได้ ผมก็เลยต้องมีคำว่า เรา แต่ว่าเวลากำหนดจริงๆ ต้องการจะเอาเราออก ถ้าจะเอาเราออก จะต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่งเข้าไปแทน อาจจะเรียกว่าปัญญาได้ไหมที่เข้าไปแทน เมื่อเข้าไปแทน ก็อาจจะถอนเราออกไปได้ แต่การที่จะรู้สภาพธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ผมคิดว่า คงจะอีกขั้นหนึ่ง แต่จะเอาขั้นที่ว่า เราจะทำอย่างไรให้ถูกเท่านั้น เพื่อที่จะให้ญาณหรือปัญญาเกิดขึ้น คือ ในขั้นแรกถ้ามีความเข้าใจแล้ว ทำได้ถูกแล้ว ส่วนเราจะได้ประสบสภาพธรรมจริงอย่างไร หรือไม่ได้ประสบก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่า เรื่องการทำให้ถูกต้อง เป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างนี้ใช่ไหม

    สุ. การที่จะเป็นเราเอาสติไปรู้ที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง กับการที่จะรู้จริงๆ ว่า สติเป็นอนัตตาอาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น โดยที่ไม่ต้องมีเราเอาสติไปไว้ตรงนั้นตรงนี้ ลองไตร่ตรองพิจารณาเทียบเคียงว่า อันไหนจะเป็นปัญญาที่แท้จริง ที่จะถ่ายถอนความเป็นเราออกไปได้ ด้วยการที่รู้จริงๆ ว่า สติเกิด ขณะนี้กำลังระลึกรู้ทางกายที่กำลังอ่อน กำลังแข็ง ซึ่งการที่จะเพียรอบรมให้รู้อย่างนี้ ตรงกับสภาพความเป็นอนัตตาของธรรมทั้งปวง กับการที่จะมีเราเอาสติไปไว้ตรงนั้น อย่างไหนจะเป็นปัญญาที่ตรงสภาพธรรมว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาอาศัยเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น ไม่ใช่มีเราที่เอาสติไปไว้ตรงนั้น ตรงนี้ แต่สตินั่นเองเป็นอนัตตา อาศัยการฟังก็เกิด ขณะนี้กำลังระลึกทางกาย หรือว่าทางตา ก็แล้วแต่สติ โดยที่ยังไม่ทันจะมีเราเอาสติไปตั้งเลย สติก็เกิดแล้ว เพราะเป็นอนัตตา

    การที่อบรมให้รู้อย่างนี้จริงๆ จะถ่ายถอนการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลาย ไม่เห็นว่าเป็นตัวตนเลย แล้วแต่สติที่จะระลึกรู้ ก็ปรากฏเป็นลักษณะสภาพธรรมแต่ละชนิดต่างๆ กัน เพราะสติเกิดขึ้นระลึกรู้นั่นเอง เป็นการเอาเราออกไป ตรงตามความเป็นจริงในวันหนึ่ง ได้ไหม

    ถ. สติกับเรา ผมคิดว่า เราเอาสติมาเป็นเรา สตินี้เป็นของเรา ซึ่งผมก็ยังไม่เข้าใจว่า สติเกิดขึ้นระลึกรู้ ตัวระลึกรู้กับสติไม่ใช่อันเดียวกัน หรือว่าเป็นอันเดียวกัน สติ แปลว่า ระลึกได้ หรือระลึกรู้ สตินี้มีสภาพรู้หรือเปล่า หรือว่าใจเป็นคนรู้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๐ ตอนที่ ๔๙๑ – ๕๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564