แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 493


    ครั้งที่ ๔๙๓


    ถ. (ต่อ) คำว่า สติ เป็นนามธรรมหนึ่ง เป็นเจตสิกธรรม มีสภาพที่ระลึกได้ ระลึกรู้ แต่การที่เราจะระลึกรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้น ผมคิดว่าทำได้ยาก เว้นแต่ว่าจะรู้ในขั้นที่เกิดขึ้นเอง คือ ปัญญาจะรู้เอง อย่างนั้นใช่ไหม เราไม่ต้องไปนึกว่า เรารู้ ถ้าเป็นเรารู้ ก็จะเป็นเรารู้อยู่เรื่อย เราได้ยินอยู่เรื่อย รู้อย่างที่อาจารย์ว่า ไม่ให้มีเรา หมายความว่า ถ้าจะรู้ ก็จะรู้ขึ้นเองว่า ไม่ใช่เรา อย่างนั้นใช่ไหม และความรู้ซึ่งเราไม่เคยรู้มาเลยนี้ เมื่อรู้ขึ้น ก็จะรู้ชัดว่า ไม่ใช่เรารู้ นี่เป็นภาษาใจ ภาษาธรรม หรือว่าอย่างไร ผมขอคำอธิบาย

    สุ. ตัวตนนี่เหนียวแน่นเหลือเกิน ยิ่งฟังยิ่งเห็นชัดว่า เหนียวแน่นจริงๆ ซึ่งตราบใดที่สติระลึกรู้ไม่ทั่ว ตัวตนหมดไม่ได้ แม้สติที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเมื่อยังไม่ระลึกรู้ ก็เป็นเราอีกนั่นแหละที่รู้ เหมือนที่กำลังเห็น ก็เป็นเราอีกนั่นแหละที่เห็น การที่จะละกิเลสต้องเป็นปัญญาที่อบรมรู้ทั่วจริงๆ ถ้ายังไม่ทั่ว ก็ยังเป็นเราอยู่ตรงนั้น เป็นเราอยู่ตรงนี้ สติก็เป็นเรานั่นเอง ยังคงมีเราอยู่ตลอดเวลา เพราะเหตุว่าระลึกรู้ยังไม่ทั่ว

    ด้วยเหตุนี้การที่พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกขันธ์ ๕ เป็นรูปขันธ์ เป็นเวทนาขันธ์ เป็นสัญญาขันธ์ เป็นสังขารขันธ์ เป็นวิญญาณขันธ์ ก็เพื่อเกื้อกูลให้ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาได้ระลึกและรู้ว่า ยังมีเราแฝงอยู่ หรือว่ายึดมั่นเต็มที่อยู่ในขันธ์ใดบ้าง เช่น ความรู้สึก ทรงจำแนกเป็นเวทนาขันธ์ บางทีเสียใจ บางทีดีใจ บางทีแช่มชื่นใจ บางทีปีติ บางทีเป็นสุข โสมนัสปราโมทย์ เราทั้งนั้น ถ้าสติไม่ระลึก ปัญญาไม่รู้จริงๆ ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และที่จะรู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยไม่ใช่เรา ก็ต้องรู้ในขณะที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏ ระลึกรู้ในลักษณะนั้นแล้วก็หมดไป ลักษณะนั้นก็ไม่เที่ยง เวทนาความรู้สึกเปลี่ยนไปอีกแล้ว เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไปจริงๆ แต่ถ้าเป็นเราที่รู้ เกิดดีใจขึ้นมา ความดีใจนั้นก็ต้องเป็นเราต่อไปอีก เรื่องของเรานี้ทั่วไปหมดในขันธ์ทั้ง ๕

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องทราบจุดประสงค์ที่ทรงแสดงธรรมโดยละเอียด แม้แต่ที่ทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ต้องไม่เว้นจริงๆ แม้สติก็เป็นอนัตตา เป็นสภาพที่ระลึกรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้นแล้ว ความเป็นเรา ความเป็นตัวตนจะยึดถือสตินั้นว่าเป็นเรา ความสุขเกิดขึ้น ก็ยึดถือความสุขนั้นว่าเป็นเรา กำลังเห็น ก็ยึดถือสภาพที่กำลังเห็นว่าเป็นเรา ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็มีแต่เรา เป็นการยากเหลือเกินที่จะให้ท่านผู้ฟังแจ่มแจ้งประจักษ์ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ข้อสำคัญที่สุด คือ ปัญญาเกิดได้ แต่ต้องอบรมจริงๆ และต้องรู้ด้วยว่า เป็นปัญญาหรือไม่ใช่ปัญญา ถ้าเป็นเราที่จะเอาสติไปตั้งไว้ที่นั่นที่นี่ ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะไม่รู้ว่า สติเป็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ระลึกทันที ไม่ใช่มีตัวตนไปบังคับ หรือว่าไปสั่ง ไปสร้างได้เลย

    เวลาที่สติเกิด ก็รู้สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ เวลาที่สติไม่เกิดก็เป็นตัวตน เป็นเราที่กำลังพากเพียรจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แม้ความจงใจ แม้ความตั้งใจ ก็เป็นสภาพธรรมจริงๆ แม้ความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรม ก็เป็นสภาพธรรมจริงๆ เป็นลักษณะของความเห็นผิด เป็นลักษณะของความจงใจ เป็นลักษณะของการลูบคลำยึดถือในข้อปฏิบัติที่ผิด

    เพราะฉะนั้น การที่จะละข้อปฏิบัติที่ผิดได้ ก็ด้วยการสำเหนียก สังเกต รู้ว่า ข้อปฏิบัตินั้นไม่ถูกจึงละได้ แต่ถ้ายังเป็นเราที่จะทำ ยังเป็นเราที่จะเอาสติไปไว้ตรงนั้นตรงนี้ ก็เป็นข้อปฏิบัติที่ผิด เมื่อรู้อย่างนี้ สำเหนียก สังเกต รู้ว่าอย่างนี้ผิด จึงละการมีตัวตนที่เป็นเราเอาสติไว้ตรงนั้นตรงนี้ และมีความรู้ขึ้นว่า สติเกิดหรือยังไม่เกิด ถ้าสติเกิด ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละลักษณะ ตามที่ทรงแสดงอุปมาไว้ซึ่งควรที่จะระลึกถึงเสมอ คือ การจับด้ามมีดจนกว่าจะสึก

    และเพียงสติเกิดนิดเดียว จะให้แทงตลอด สละความเป็นเราออกไปหมด ก็เป็นไปไม่ได้ แต่ที่จะสละได้ ก็โดยการที่ปัญญาเริ่มรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตรงตามความเป็นจริง นามธรรมเป็นสภาพรู้ รูปธรรมทางตาเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    เป็นเรื่องยาก แต่ว่าอบรมได้ อาศัยการฟังบ่อยๆ จนกระทั่งรู้ลักษณะของสติ ซึ่งเมื่อรู้ลักษณะของสติ เวลาที่สติเกิดก็รู้ว่า ขณะนั้นมีสติ ขณะใดที่สติไม่เกิดก็รู้ว่า ขณะนั้นหลงลืมสติ อบรมไปเรื่อยๆ สำเหนียก สังเกตที่จะให้เป็นความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แยกขาดออกจากกันจริงๆ คงจะต้องอาศัยกาลเวลาในการฟัง และในการไตร่ตรองพิจารณา เพื่อเกื้อกูลให้สติเกิด

    ถ. ผมเปิดฟังท่านอาจารย์ทุกคืนๆ เป็นเวลา ๒ – ๓ ปี สรุปว่า สุขกับทุกข์ทั้ง ๒ อย่างนี้ ถ้าเราใช้สติระลึกถึงสุขกับทุกข์ ๒ อย่างนี้ จะมีทางถึงนิพพานได้ไหม

    สุ. ๒ อย่างเท่านั้นหรือ ต้องมากกว่านั้นมาก เพียง ๒ อย่างเท่านั้นไม่ได้

    ถ. ก็ไหนว่า สุขเวทนาก็ตาม ทุกขเวทนาก็ตาม ที่มีอยู่ในปัญจขันธ์ทั้งหมดในโลกนี้ ก็มีแต่สุขเวทนาและทุกขเวทนา ส่วนอุเบกขาผมไม่ถาม คำว่า สุขเวทนาและทุกขเวทนาก็เกิดมาจากเหตุปัจจัยมากระทบกันขึ้น เหมือนอย่างเราเอาไม้ไปเคาะปี๊บ ก็เกิดเสียงดังขึ้นมา ฉะนั้น เมื่อมีเหตุปัจจัยมากระทบกัน ก็ทำให้เกิดความสุขและความทุกข์ทั้ง ๒ อย่างนี้ ซึ่งถ้าจะพิจารณา ๒ อย่างนี้โดยความเป็นภาวะ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา จะไม่มีผลบรรลุบ้างหรือ

    สุ. ไม่มีแน่นอน เพราะว่าตลอดชีวิตไม่ใช่มีแต่สุขกับทุกข์ ๒ อย่าง แต่มีเห็นด้วย เห็นมีไหม ได้ยินมีไหม ได้กลิ่นมีไหม ลิ้มรสมีไหม รู้เรื่องราวต่างๆ มีไหม แล้วทำไมจะมีเฉพาะสุขกับทุกข์เท่านั้นหรือ

    ถ. ในอายตนะทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งที่จะเกิดสุขและทุกข์ ก็ต้องกระทบไปแล้วทั้งนั้น จึงจะเกิดสุข เกิดทุกข์ ถ้าเราจะสำเหนียก หรือว่าจะใช้สติรำลึกในจุดใหญ่ ๒ จุดนี้ ไม่ได้หรือ

    สุ. สักกายทิฏฐิมี ๒๐ ทางรูปขันธ์ ๔ เวทนาขันธ์ ๔ สัญญาขันธ์ ๔ สังขารขันธ์ ๔ วิญญาณขันธ์ ๔ สักกายทิฏฐิ ๒๐ เคยได้กล่าวถึงแล้ว เพราะฉะนั้น ขอให้อดทนที่จะฟังต่อไป และจากการฟังนั้นเอง จะทำให้ทราบว่า เพียงรู้สุขเวทนากับทุกขเวทนาเท่านั้นไม่พอ

    กำลังเห็นเป็นอวิชชา ขณะที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร และสภาพที่กำลังเห็นเป็นอะไร เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลส ต้องดับอวิชชาด้วย

    เรื่องการละกิเลสเป็นเรื่องละเอียดมาก ต้องสังเกต สำเหนียก สติระลึกเพิ่มความรู้ขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จึงจะเป็นการรู้ทั่ว รู้ชัด แต่ถ้าเป็นการไปบังคับไว้ สภาพธรรมตามปกติจะไม่เกิดขึ้นให้รู้เลย เพราะเหตุว่าไปบังคับไว้

    ถ. ผมได้ยินอาจารย์บรรยายเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผมฟังอาจารย์ก็พอเข้าใจบ้าง ที่พูดถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมายถึงว่า ตาเราเวลากระทบกับรูปแล้วหายไป ไม่ใช่ตัวตนใช่ไหม พูดถึงหู ในขณะที่ได้ยินเสียง ถ้าเป็นเสียงที่ดีเราก็ชอบ ถ้าเป็นเสียงหยาบคายเราก็ไม่ชอบใช่ไหม พูดถึงจมูก เวลาเราดมกลิ่นหอมเราก็ชอบ ถ้าดมกลิ่นเหม็นเราก็ไม่ชอบ ฉันใดก็ฉันนั้นใช่ไหม ลิ้นสัมผัสกับรสอาหาร อร่อยก็ชอบ ไม่อร่อยก็ไม่ชอบ ฉันใดก็ฉันนั้น จิตใจคนเราก็เหมือนกันใช่ไหม ในระหว่างที่คิด ถ้าคิดดีก็ดี ถ้าคิดไม่ดีก็ไม่ดีใช่ไหม

    สุ. แต่ต้องประจักษ์แจ้ง ถ้าจบอย่างนี้จริงๆ ก็ถึงความเป็นพระอรหันต์โดยรวดเร็วเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการเป็นผู้ตรงต่อตัวเองจริงๆ ว่า รู้จริงหรือว่าคิด ที่ว่าประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป เพียงแต่ว่าสิ่งนั้นหมดไป โดยที่ไม่ทันรู้ว่านามธรรมหมดไป หรือรูปธรรมหมดไป ลักษณะใดที่หมดไป ซึ่งจะต้องมีการอบรมอีกมากทีเดียว

    สำหรับเรื่องของความประมาท ซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ขณะใดที่สติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นเป็นการหลงลืม เป็นความประมาท ซึ่งการที่พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทให้เว้นการดื่มสุราก็ดี ให้เป็นผู้ที่หลับน้อย ตื่นมากก็ดี ก็เพื่อประโยชน์ คือ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ขณะนั้นเป็นผู้ประมาท และจะเห็นได้ว่า เป็นผู้ที่ประมาทกันมากๆ ทีเดียวในชีวิตประจำวัน ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกบางตอน จะช่วยเตือนให้ท่านผู้ฟังระลึกได้ว่า ขณะนั้นท่านประมาทแล้ว

    ถ. ปฏิบัติแบบไหนถึงจะพ้นทุกข์ได้เร็ว

    สุ. ถ้ากิเลสน้อย เบาบาง และปัญญาที่ได้อบรมมาแล้วมีมาก ก็พ้นทุกข์ได้เร็ว เป็นบุคคลประเภทอุคฆฏิตัญญู หรือวิปัญจิตัญญู แต่ถ้าปัญญายังไม่ได้อบรมมาเพียงพอที่จะรู้ธรรมได้เร็ว ก็จะต้องสะสมอบรมให้เกิดปัญญาที่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมถูกต้อง ชัดเจน ตรงตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น

    ถ. ที่ปฏิบัติอยู่ คือ ปฏิบัติรูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน ถูกไหม

    สุ. ปฏิบัติอย่างไร รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน

    ถ. เดินไป ก็ดูรูปเดิน

    สุ. สภาพธรรมที่ปรากฏให้รู้ในความเป็นอนัตตาตามความเป็นจริงนั้น รู้ได้แต่ละทาง แต่ละลักษณะ ทางตารู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ทางหู เสียงเท่านั้นปรากฏ สีสันวัณณะปรากฏไม่ได้

    ถ. สมมติว่า รูปนั่ง

    สุ. แต่สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้นคืออะไร รู้ได้ทางไหน ขณะที่ยืน สภาพที่อ่อนที่แข็งปรากฏ สภาพที่อ่อนที่แข็งที่ปรากฏมีลักษณะเพียงอ่อนเพียงแข็ง ทำไมจะต้องมีรูปสมมติ ทำไมไม่รู้รูปที่กำลังปรากฏ ซึ่งสามารถให้ความจริงได้

    ถ. ...

    สุ. ที่ปรากฏแล้ว คือ อ่อนหรือแข็งปรากฏทางกาย สีสันวัณณะปรากฏทางตา เสียงปรากฏทางหู กลิ่นปรากฏทางจมูก รสปรากฏทางลิ้น

    ถ. ...

    สุ. อะไรเป็นของจริง

    ถ. รูปที่ปรากฏ

    สุ. รูปอะไรปรากฏ

    ถ. ...

    สุ. เมื่อรูปแข็ง รูปอ่อนปรากฏ เป็นของจริง ก็ระลึกรู้แข็งหรืออ่อนที่ปรากฏ โดยความเป็นอนัตตา

    ทุกคนสามารถที่จะระลึกรู้สภาพที่อ่อนหรือแข็งที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ เวลานี้มีใครบ้างที่รูปอ่อนแข็งไม่ปรากฏ ซึ่งตามปกติธรรมดาแล้ว ทุกคนสามารถที่จะรู้ลักษณะของรูปอ่อนหรือแข็งที่ปรากฏได้ เพราะว่าเป็นของจริง เป็นสภาวธรรม เป็นปรมัตถธรรม แต่ว่าเคยยึดถือสภาพที่อ่อนที่แข็งนั้นว่า เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา ด้วยเหตุนี้จึงจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีลักษณะปรากฏจริงๆ ไม่ควรจะไปหารูปที่ไม่จริง

    ขณะที่ทางตากำลังเห็น ทางหูกำลังได้ยิน ทางจมูกกำลังรู้กลิ่น ทางลิ้นกำลังลิ้มรส ทางกายกำลังรู้โผฏฐัพพะ เป็นปรมัตถธรรม เป็นของที่ปรากฏจริงๆ ทำไมจึงไม่ระลึกรู้ แต่กลับไปนึกเป็นท่าทาง

    เวลาที่ท่านใช้คำว่า รูปนั่ง ท่านหมายความว่า เป็นท่านั่งใช่ไหม เวลานี้กำลังนั่งอยู่ สติเกิดได้ไหม ถ้าเกิดได้ ที่กล่าวว่า สติรู้รูปนั่งนั้น คือรูปอะไร

    ถ. รูปอ่อน

    สุ. รูปอ่อน ก็ไม่ใช่รูปนั่งแล้ว เวลาที่กำลังปฏิบัติ หมายความว่าสติเกิด ขณะนี้สติก็เกิดได้ ชื่อว่ากำลังปฏิบัติได้ไหม ถ้าสติเกิดขณะนี้

    . ...

    สุ. ยังไม่เกิดดับ เพราะว่าปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของนามธรรมที่ไม่ใช่รูปธรรมเสียก่อน เพราะฉะนั้น ยังประจักษ์การเกิดดับไม่ได้

    ปัญญาต้องเกิดขึ้นเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ ถ้านามรูปปริจเฉทญาณยังไม่เกิด จะเป็นปัญญาขั้นอุทยัพพยญาณที่ประจักษ์การเกิดดับไม่ได้

    เสียงกับได้ยินต่างกันอย่างไร ถ้าเสียงกับได้ยินไม่ต่างกัน ก็ยังไม่ใช่นามรูปปริจเฉทญาณ

    ถ้ายังไม่เข้าใจ หมายความว่า ต้องอบรมจนกระทั่งมีปัญญาที่รู้ในความต่างกันของเสียงกับได้ยินเสียก่อน

    เพราะฉะนั้น การที่จะอบรมปัญญาให้สามารถรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมและดับกิเลสได้ ต้องเป็นการอบรมปัญญาที่รู้ทั่ว ทั้งในลักษณะของรูปธรรมและนามธรรม ถ้ายังไม่รู้ทั่ว ก็ยังไม่ถึงการเกิดดับ

    เสียงต่างกับได้ยินอย่างไร ถ้าไม่ต่างกัน ก็ไม่ใช่ปัญญา เพราะว่าเสียงไม่ใช่ได้ยิน และได้ยินก็ไม่ใช่เสียง ที่กล่าวว่า ได้ยินไม่ใช่เสียง ก็เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นแต่เพียงธาตุรู้ อาการรู้ในเสียงที่กำลังปรากฏ และเสียงไม่ใช่ได้ยิน ก็เพราะว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีจริงและปรากฏทางหู แต่เสียงไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น เสียงไม่ใช่ได้ยินแน่นอน

    ถ. ...

    สุ. ไม่ใช่เข้าใจ แต่ต้องเป็นปัญญาที่รู้ชัด ถ้าปัญญาไม่รู้ชัดจะตอบว่า เสียงไม่ต่างกับได้ยิน

    อบรมเจริญอย่างไร จึงจะประจักษ์ลักษณะของรูปธรรมโดยความต่างกับ นามธรรมในขณะที่กำลังปรากฏ ถ้าเพียงเข้าใจว่า ลักษณะไหนเป็นนามธรรม ลักษณะไหนเป็นรูปธรรมโดยชื่อ และคิดว่าเป็นปัญญาแล้ว แต่ความจริงยังไม่ใช่ ยังไม่เป็นปัญญาที่เป็นขั้นภาวนาปัญญา ซึ่งจะต้องอบรมจนกว่าจะประจักษ์จริงๆ

    เรื่องของการอบรมอุปนิสัยปัจจัยที่จะงดเว้น ละเว้นการดื่มสุราเมรัย ของมึนเมาต่างๆ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงศีลอุโบสถข้อนี้ ก็เพื่อที่จะให้สติสามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และท่านผู้ฟังไม่ควรที่จะเห็นเฉพาะการขาดความรู้สึกตัวที่เกิดจากการดื่มสุราเมรัยและของมึนเมาต่างๆ เท่านั้น แต่ขณะใดก็ตามที่สติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นความเมา แต่ว่าเมาด้วยกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งการเมาด้วยโลภะ เมาด้วยโทสะ เมาด้วยโมหะ มีเป็นประจำอยู่แล้ว และบางท่านก็ยังเพิ่มการดื่มสุราให้เมายิ่งขึ้น ถึงกับขาดสติสัมปชัญญะที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๐ ตอนที่ ๔๙๑ – ๕๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564