แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 495


    ครั้งที่ ๔๙๕


    ข้อความต่อไปมีว่า

    คำว่า นั้น ในคำว่า ภิกษุรู้ธรรมนั้นแล้ว คือ ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสบอก ทรงแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้น ประกาศแล้ว

    คำว่า รู้ธรรมนั้นแล้ว (ความหมายของคำว่ารู้) ความว่า รู้ พิจารณา เทียบเคียง ทำให้แจ่มแจ้ง ทำให้เป็นแจ่มแจ้งแล้ว แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่ารู้ธรรมนั้นแล้ว

    เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งกล่าวง่ายๆ ว่า รู้แล้ว เห็นเป็นนามธรรม รู้แล้ว สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปธรรม รู้แล้ว ได้ยินเป็นนามธรรม รู้แล้ว เสียงที่ปรากฏทางหูเป็นรูปธรรม รู้แล้ว อย่าเพิ่งกล่าวง่ายๆ อย่างนี้ว่า รู้แล้ว เพราะเหตุว่า คำว่า รู้ธรรมนั้นแล้ว ความว่า รู้ พิจารณา เทียบเคียง ทำให้แจ่มแจ้ง ทำให้เป็นแจ่มแจ้งแล้ว แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่ารู้ธรรมนั้นแล้ว

    ข้อความต่อไป

    อีกอย่างหนึ่ง รู้ ทราบ พิจารณา เทียบเคียง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วซึ่งธรรมอันเสมอ ธรรมอันไม่เสมอ ธรรมเป็นทาง ธรรมไม่เป็นทาง ธรรมมีโทษ ธรรมไม่มีโทษ ธรรมเลว ธรรมประณีต ธรรมดำ ธรรมขาว ธรรมที่วิญญูชนติเตียน ธรรมที่วิญญูชนสรรเสริญ แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่ารู้ธรรมนั้นแล้ว

    อย่างเช่น เวลาที่ความโอ้อวดเกิดขึ้น หรือว่ากิเลสประเภทใดก็ตามเกิดขึ้น ในลักษณะที่วิจิตรต่างๆ กันไป ถ้าสติไม่เกิดขึ้น จะรู้ไหมว่า น่ารังเกียจเหลือเกิน เป็นธรรมดำ เป็นธรรมที่วิญญูชนติเตียน ก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้ได้เลย แต่เมื่อสติเกิด จึงสามารถที่จะรู้ และขัดเกลาให้เบาบางลงได้

    ข้อความต่อไป

    อีกอย่างหนึ่ง รู้ ทราบ พิจารณา เทียบเคียง ทำให้แจ้ง ทำให้เป็นแจ้งแล้ว ซึ่งความปฏิบัติชอบ ความปฏิบัติสมควร ความปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ความปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ความปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ความเป็นผู้ทำความบริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ความหมั่นประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพาน ธรรมเป็นข้อปฏิบัติเครื่องให้ถึงนิพพาน แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่ารู้ธรรมนั้นแล้ว

    ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้ไหมว่า นี่เป็นหนทางให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ ซึ่งแต่ก่อนกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลัง ลิ้มรส กำลังรู้โผฏฐัพพะก็ไม่เคยระลึกได้ว่า จะต้องศึกษาค้นคว้า พิจารณา เทียบเคียง ให้เป็นความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ต่อเมื่อมีการเริ่มอบรมแล้ว ผลย่อมเกิด คือ ความรู้ค่อยๆ เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แม้ว่าจะน้อยมากก็จริง แต่ก็ยังมีสติที่เกิดระลึก มีการพิจารณาเพื่อจะรู้ และค่อยๆ รู้ขึ้น เพราะฉะนั้น วันหนึ่งก็จะต้องเป็นความรู้ชัด ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้ ตลอดจนถึงการรู้แจ้งแทงตลอด ประจักษ์ในสภาพของนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมที่ดับกิเลสได้ เพราะว่ามีการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    แต่ถ้าไม่มีการอบรมเจริญสติปัฏฐานเลย ปัญญาที่ไหนจะเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ทาง ไม่ใช่หนทางข้อปฏิบัติที่จะทำให้บรรลุผล แต่เมื่อเข้าใจในเรื่องเหตุ ก็ย่อมจะรู้ถึงผลได้ว่า เมื่อเหตุดำเนินไปอย่างนี้เรื่อยๆ ก็ย่อมจะทำให้บรรลุถึงผล คือ การประจักษ์แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่สติระลึกได้ และเริ่มรู้เพิ่มขึ้น มากขึ้น

    ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาเทียบเคียงชีวิตของสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว เช่น ท่านพระสารีบุตร หรือว่าท่านอนาถบิณฑิกะ ท่านวิสาขามิคารมารดาก็ตาม ท่านที่บรรลุความเป็นพระโสดาบัน เป็นการรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป และประจักษ์ชัดในสภาพของนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมที่ดับกิเลส แต่ว่าก่อนที่จะถึงชาตินั้น จะมีความรู้ชัดอย่างนั้นได้ไหม ถ้ามีความรู้ชัดอย่างนั้น ท่านก็เป็นพระอริยสาวกแล้วในชาติโน้นๆ

    เพราะฉะนั้น มีหลายท่านที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้สภาพธรรมในขณะที่สติเกิด และเห็นว่า เวลาที่สติเกิด มีการพิจารณา สำเหนียกที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง แต่ไม่ชัดเจนสักที ใช่ไหม ไม่ประจักษ์ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม ซึ่งการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็จะต้องเป็นโดยลักษณะนี้ เช่นเดียวกับในอดีตชาติก่อนๆ ของพระอริยเจ้า ก่อนที่ท่านจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะเหตุว่าสติเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเล็กน้อย ขณะนี้ ถ้าสติจะเกิด บางท่านอาจจะระลึกรู้แข็งที่กำลังปรากฏ ระลึกรู้เสียงที่กำลังปรากฏ หรือว่าระลึกรู้สภาพรู้ที่กำลังรู้สีสันวัณณะที่ปรากฏ ในขณะที่ฟังอย่างนี้ สติก็ตามระลึก รู้ทันที ชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นไปได้ แต่หลังจากนั้น กิเลสก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

    เพียงชั่วขณะเล็กน้อยที่สติเกิดขึ้น สังเกต สำเหนียกที่จะให้เป็นความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม กับขณะที่กิเลสมีปัจจัยเกิดขึ้นท่วมทับปิดบังไม่ให้ระลึกได้ และรู้ว่าได้เริ่มพิจารณา สังเกต สำเหนียกในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ้างแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เป็นการเหมือนไม่รู้ และไม่ได้สังเกตเห็นการที่ค่อยๆ เทียบเคียงพิจารณา แม้นิด แม้หน่อย แม้เล็ก แม้น้อย แต่ก็ได้สะสมแล้วเป็นอุปนิสัยที่ว่า ในกาลต่อไปสามารถที่จะเป็นความรู้อย่างรวดเร็วพร้อมสติที่เกิดได้ ซึ่งตามความเป็นจริง จะเห็นได้จริงๆ ว่า สติเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเล็กน้อย และก็อบรมอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่ละภพ แต่ละชาติ จนกว่าจะถึงภพชาติที่ประจักษ์แจ้งในอริยสัจธรรม เป็นพระอริยสาวก

    เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะท้อถอย พร้อมกันนั้นก็ไม่ควรหวังว่า ชาตินี้ของท่านจะเหมือนกับชาติสุดท้ายของท่านพระสารีบุตร ซึ่งจะเป็นไปได้ไหม เพราะว่าท่าน พระสารีบุตรท่านอบรมมามากเหลือเกิน

    สำหรับท่านผู้ฟังที่ได้ฟัง ก็กำลังเพียรระลึกรู้ในขณะที่สติเกิด ซึ่งจะต้องเป็นปัญญาที่ค่อยๆ เริ่มรู้ขึ้นๆ จนกว่าจะเป็นความรู้ชัด และสำหรับกิเลสซึ่งยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท เมื่อมีปัจจัยย่อมเกิดขึ้น ทำให้กระทำกรรมต่างๆ ที่วิจิตรในแต่ละภพ แต่ละชาติ ยังไม่ได้เป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมด้วยศีล ตราบใดที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ขอกล่าวถึงการที่จะล่วงศีล สำหรับบุคคลซึ่งสะสมปัจจัยเจริญสติปัญญามาพร้อมที่จะเป็นพระอริยเจ้า เช่น นางขุชชุตตรา สาวใช้ของพระนางสามาวดี มเหสีของพระเจ้าอุเทน ก่อนที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านก็ยักยอกค่าดอกไม้วันละ ๔ กหาปณะ ก็เป็นไปได้ สะสมเหตุปัจจัยมามากพร้อมที่จะเป็นอริยสาวกในชาตินั้น แต่เพราะว่าสติเกิดขึ้นและกิเลสก็ท่วมทับ สติเกิดขึ้น กิเลสก็ท่วมทับ ก็ต้องฟันฝ่า และอบรมเจริญไปจนกว่าจะถึงชาติสุดท้ายที่จะได้เป็นพระอริยสาวก แต่กิเลสที่สะสมมาก็มีปัจจัยทำให้ท่านยักยอกค่าดอกไม้วันละ ๔ กหาปณะ ก่อนที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    เป็นความวิจิตรของชีวิต แต่ละท่านที่ได้กระทำอกุศลกรรมมาพร้อมทั้งการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ในชาติสุดท้ายที่จะได้เป็นพระอริยเจ้า ชีวิตของท่านก็แตกต่างกันไปตามผลของกรรมที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่ได้กระทำแล้วในอดีต ทำให้ชีวิตของอริยสาวกทั้งหลายวิจิตรต่างกัน ทั้งในวิบากกรรม ทั้งในกิเลสที่ยังมีปัจจัยให้เกิดขึ้นก่อนที่จะได้เป็นพระอริยเจ้า

    หลานชายของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีคนหนึ่งชื่อเขมะ เป็นบุตรเศรษฐีในชาติก่อนโน้น ท่านได้เคยกระทำธงทอง บูชาเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของ พระมหากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้ตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ผลแห่งบุญนี้เป็นปัจจัยให้สตรีทั้งหลายเว้นจากญาติสาโลหิต เมื่อเห็นตนแล้วขอให้มีความรักใคร่

    ดูความวิจิตรของกิเลสของผู้ที่จะได้เป็นพระอริยสาวก มีความปรารถนาที่วิจิตรต่างๆ กัน ดังนั้น เมื่อเกิดเป็นเขมะบุตรเศรษฐี หลานของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เวลาที่สตรีทั้งหลายเห็นท่านก็เกิดรักใคร่ ซึ่งเขมะเศรษฐีบุตรก็ได้ล่วงศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารอยู่เนืองๆ จนกระทั่งถูกราชบุรุษจับได้ นำตัวไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถาม ก็ทรงทราบว่าเป็นหลานของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีซึ่งเป็นอุปัฏฐาก ผู้บำรุงพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียง เพราะฉะนั้น พระเจ้า ปเสนทิโกศลก็ให้ปล่อยตัวไป เพราะเห็นว่าถ้าลงโทษหลานชายแล้ว จะพลอยทำให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีต้องได้รับความอับอายขายหน้าจากมหาชนด้วย ซึ่งเขมะบุตรเศรษฐีก็ได้ล่วงศีลอีกเนืองๆ จนราชบุรุษจับตัวได้ถึง ๓ ครั้ง นำไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศลถึง ๓ ครั้ง พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ให้ปล่อยตัวไปถึง ๓ ครั้ง แต่ภายหลังท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้พาเขมะบุตรเศรษฐีไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงโทษของการล่วงศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร เมื่อเขมะบุตรเศรษฐีได้ฟังธรรม ก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน มิได้ล่วงศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารอีกต่อไป

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านจะรีบร้อนไปถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ไหม ตามความเป็นจริง กิเลสอะไรเกิดบ้างวันนี้ สติระลึกรู้บ้างหรือเปล่า ถ้าไม่ระลึก ไม่รู้สภาพธรรมที่เป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะๆ แล้ว ในวันหนึ่งๆ ก็วิจิตรต่างกันไป ในแต่ละภพ แต่ละชาติ ก็วิจิตรต่างกันไปอีก ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถจะดับกิเลสได้

    ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าชีวิตจริงของท่านจะยุ่งเหยิง ยุ่งยาก ซับซ้อนมากมายด้วยทุกข์ทับถมนานาประการอย่างไรก็ตาม ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ซึ่งสติจะต้องอบรมเจริญด้วยการระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตรงตามความเป็นจริงในขณะที่ปรากฏ และปัญญาก็จะต้องศึกษา สำเหนียก เทียบเคียง พิจารณา ค้นคว้าให้รู้ชัด ประจักษ์แจ้งจริงๆ ในสภาพที่เป็นนามธรรม ในสภาพที่เป็นรูปธรรม จนกระทั่งเป็นปัญญาที่เพิ่มขึ้นถึงความสมบูรณ์เป็นลำดับขั้น จึงสามารถที่จะรู้แจ้งเป็นพระอริยเจ้าได้

    ถ้าเข้าใจว่า กิเลสมีปัจจัยสะสมมามากพร้อมที่จะเกิดทุกโอกาส ก็จะเห็นเหตุผลว่า ด้วยเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงพร่ำสอน ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ในเรื่องของสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ในพระไตรปิฎกทั้งหมด เป็นเรื่องที่พระผู้มีพระภาคทรงพร่ำสอนจริงๆ เพื่อที่จะให้สติเกิด ในขณะฟัง ให้ระลึกได้ ให้รู้ในลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ถ้าประมาท ไม่เห็นโทษของกิเลส ก็จะไม่เห็นคุณประโยชน์เลยว่า ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงทรงพร่ำสอนอย่างนี้ ครั้งเดียวก็น่าจะพอ ใช่ไหม แต่พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ในขณะใดที่มีปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้ สติก็เกิดระลึกได้เพียงชั่วขณะ ต่อจากนั้นกิเลสก็มีกำลังพร้อมที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นเป็นอกุศลธรรมต่อไป ด้วยเหตุนี้ จึงได้ทรงพร่ำสอนไว้ทุกประการ

    ขออ่านจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเขียนมาจากประจันตคาม เมืองปราจีนบุรี มีข้อความว่า

    เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ ที่เคารพทราบ

    ตั้งแต่ท่านอาจารย์ส่งหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปไปให้ผมแล้ว ผมก็มิได้ความขัดข้องอะไรอีก จึงมิได้ฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์มาจวบจนบัดนี้

    ท่านผู้เขียนจดหมายคงจะเห็นว่า พูดซ้ำไป ซ้ำมา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ พร่ำพูดแต่เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และมีความเข้าใจว่า ไม่มีการขัดข้องใดๆ อีก เข้าใจแล้ว จึงมิได้ฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์มาจวบจนบัดนี้

    ข้อความต่อไปในจดหมายมีว่า

    เพราะผมนั่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน และเกิดกระแสจิตออกจากร่างจนไม่รู้สติ ต้องไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎตั้ง ๓ เดือน จึงคืนสติสัมปชัญญะดังเดิม หมอได้ห้ามมิให้นั่งวิปัสสนา ผมเสียดาย จึงหันมานั่งกสิณ กสิณของกระผมไม่ใช่แบบนั่งเพ่งเทียน หรือวงกลม ลูกแก้ว เป็นการนั่งภาวนาแบบความว่าง เป็นลักษณะตามธรรมที่แท้จริง กสิณของผมได้ความตามปรารถนา จะออกอาการทางมือทางเท้า เป็นลักษณะแบบกายบริหาร แต่กระผมยังขัดข้องข้อความในกสิณซึ่งยังไม่ทราบว่า ได้แก่อะไร ผมจนใจ ไม่ทราบว่าจะไปถามผู้ใด จึงนึกถึงท่านอาจารย์ได้ จึงได้มีจดหมายมาเรียนถามท่านอาจารย์ ได้โปรดกรุณาอธิบายให้ผมได้ทราบด้วยเถิด หวังว่าท่านอาจารย์คงกรุณาทราบได้อย่างแน่นอน คงไม่ผิดหวัง

    จึงขอกราบขอบพระคุณอย่างสูงมาพร้อมจดหมายนี้ด้วย

    ข้อความที่ถาม มีดังนี้ ๑. นีละ ๒. ปีตะ ๓. โลหิตะ ๔. โอทาตะ ๕. อาโลกะ ทั้ง ๕ ข้อนี้เท่านั้น ข้อใดที่เป็นที่แจ้งชัดแล้ว ก็มิต้องอธิบาย ข้อใดเคลือบแคลงก็โปรดอธิบายด้วย จะเป็นพระคุณอย่างสูง

    สำหรับจดหมายฉบับนี้ ก็เป็นที่น่าเสียดาย ที่ท่านไม่ได้ฟังคำบรรยายมาจวบจนบัดนี้ และท่านคิดว่า ไม่มีอะไรขัดข้องอีกแล้ว และก็เป็นผู้ที่นั่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน เกิดกระแสจิตออกจากร่างจนไม่รู้สติ

    เพราะฉะนั้น นั่นไม่ใช่วิปัสสนากัมมัฏฐาน ถ้าเป็นวิปัสสนาจริงๆ ตามที่ได้บรรยายโดยลำดับ ผลจะไม่เป็นอย่างนี้ และอย่าเพิ่งคิดว่า ไม่มีความขัดข้อง รู้แล้ว เข้าใจแล้ว แต่การปฏิบัติ ปฏิบัติไม่ตรงกับการที่จะให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ผลจึงไม่ใช่วิปัสสนา ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ควรใช้คำว่า วิปัสสนา แต่ท่านผู้ฟังก็ใช้คำว่า นั่งวิปัสสนา เพราะฉะนั้น ก็คงจะเป็นแบบอื่น ไม่ใช่การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    สำหรับเรื่องของสมถภาวนานั้น จะกล่าวในโอกาสต่อไป แต่จะเป็นเฉพาะ สมถภาวนาที่เกื้อกูลแก่พระอริยสาวก หรือผู้ที่อบรมปฏิบัติเพื่อการเป็นพระอริยเจ้า



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๐ ตอนที่ ๔๙๑ – ๕๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564