แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 497
ครั้งที่ ๔๙๗
จดหมายจากท่านผู้ฟัง (ต่อ)
คำว่า สติ แปลว่า การระลึกได้ การระลึกนี้ก็ได้แก่ การคิดนึกนั่นเอง เพราะเมื่อเราจะทำอะไรก็ต้องคิดนึกเสียก่อนแล้วจึงทำ อย่างนี้เป็นการถูกต้อง ทีนี้การคิดนึกมาจากไหน ก็มาจากจิตใจนั่น ปัญญาเกิดมาด้วยอะไร ปัญญาก็เกิดมาจากการนึกและคิดนี้เองเป็นตัวปัญญา ตามหลักแล้ว พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงสอนเน้นหนักไปในทางให้ฝึกฝนอบรมจิตใจให้สะอาด เพราะเหตุนี้พระองค์จึงสอนให้กำหนดที่กายและที่ใจที่ยาววาหนาคืบนี้เอง ไม่ต้องไปกำหนดที่ไหน
คำว่า เอกายนมรรค มีคำแปลและอธิบาย ๔ อย่าง คือ แปลว่า ทางไปผู้เดียว อธิบายว่า ต้องละการคลุกคลีด้วยหมู่ แล้วไปอยู่ปฏิบัติแต่ผู้เดียว ๑ แปลว่า ทางไปแห่งพระผู้มีพระภาคพระองค์เดียว ไม่เกี่ยวกัน (ท่านเขียนไม่ชัด จะว่าไม่เกี่ยวกับอาจารย์) ความรู้ของใคร ๑ ทางไปในที่เดียว ได้มีอยู่เฉพาะในพระพุทธศาสนา ๑ ทางไปสู่ที่แห่งเดียว ได้แก่ ไปสู่พระนิพพานแห่งเดียว ๑
รู้สึกว่าเขียนมามายมาย คงจะเบื่อในการอ่าน หวังว่าอาจารย์คงไม่ยึดมั่น ถือมั่นในตัวตนจนเกินไป ช่วยนำมาออกอากาศให้ผู้รับฟังได้ฟังบ้าง เพราะจะได้รู้ในข้อผิดถูกอย่างไรในที่เขียนมานี้
โดยเคารพอย่างสูง
สุ. ไม่ทราบท่านผู้ฟังมีความเห็นอย่างไรบ้าง ในเรื่องนี้
ผู้ฟัง ท่านเจ้าของจดหมายที่เขียนมานี้ กระผมฟังดูแล้ว มีความรู้สึกว่า ผู้เขียนมีความรู้ในธรรมดี แต่ว่าข้อปฏิบัติของท่านยังไม่ตรงนัก และที่ว่าได้ฟังคำบรรยายของอาจารย์ ผมเดาว่า ท่านฟังไม่ตลอด เพราะว่าข้อความในจดหมายทั้งหมดที่เขียนมานี้ส่วนมากอาจารย์ได้บรรยายไปแล้ว และที่ในจดหมายกล่าวว่า พระพุทธองค์จะทรงตรัสรู้ก็ต้องไปหาที่วิเวก นั่นก็จริงอยู่ แต่ว่าก่อนตรัสรู้ก็ได้เสด็จไปทรมานกายอดอาหาร ภายหลังจึงได้ตรัสรู้ แต่พระองค์ก็ไม่ทรงสอนให้ใครไปทรมานกาย เพราะว่าการทรมานกายนี้ผิด สำหรับการออกป่านั้น อาจารย์ก็บรรยายไปแล้ว หลายครั้งหลายคราวเหลือเกินว่า เป็นอุปนิสัยของคนแต่ละคนที่อินทรีย์สั่งสมมาต่างกัน บางคนก็บรรลุในป่า บางคนก็บรรลุในเมือง บางคนเช่นพระพาหิยะก็บรรลุกลางถนน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมนิดเดียวเท่านั้น ท่านก็สามารถบรรลุได้ ซึ่งถ้าท่านเจ้าของจดหมายได้ฟังโดยตลอดแล้ว จะไม่กล่าวว่า อาจารย์มีความรู้เก่งกว่าพระพุทธเจ้า
และที่เขียนว่า การพิจารณาโพชฌงค์ต้องใช้สติ ใช้ปัญญา ผมเห็นว่า ถ้าสติและปัญญาของผู้ใดมีก็ใช้ได้ ถ้าผู้ใดไม่มี จะเอาอะไรมาใช้ และสติเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ถ้าสติไม่เกิด จะไปใช้ได้อย่างไร ที่ผู้เขียนเขียนมาเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า ยังไม่รู้จักความเป็นอนัตตาของสติ ผมมีความเห็นเท่านี้เอง
สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟัง เพราะฉะนั้น เท่าที่ได้บรรยายไปแล้วก็เป็นการตอบข้อสงสัยของทั้งท่านผู้เป็นเจ้าของจดหมายฉบับนี้และผู้ฟังบางท่าน
ท่านที่เขียนมาหลายท่าน มีความสงสัยคล้ายๆ กันอย่างนี้ ก็ได้เรียนชี้แจงให้ทราบโดยตลอดทั้งหมด ไม่ทราบว่า ทำไมท่านเจ้าของจดหมายจึงได้ยังข้องใจอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ขอเรียนชี้แจงท่านเจ้าของจดหมายนี้เพิ่มเติมบางประการ
ที่ท่านกล่าวว่า
ผมเห็นว่า การที่เราเจริญในบ้าน ก็เท่ากับเป็นการคลุกคลีไปด้วยหมู่ ด้วยคณะ คือ คลุกคลีด้วยตัณหากามารมณ์ต่างๆ ที่คอยยั่วยุให้เกิดอารมณ์อยู่เสมอ เรื่องนี้จะเอาอะไรมาพิสูจน์ตัดสินว่า ข้อปฏิบัติอย่างไหนผิด อย่างไหนถูก เพราะข้อตัดสินธรรมวินัยได้บ่งไว้ว่า อันธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่ ด้วยคณะนั้น ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา
ขอเรียนว่า
นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้องแน่นอนที่สุด ที่ควรจะได้พิจารณาว่า ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่ ด้วยคณะนั้น ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา นี่ถูกที่สุด และทำอย่างไรจึงจะไม่คลุกคลี ถ้าไม่อบรมสติปัฏฐาน ชีวิตตามความเป็นจริงก็ต้องอยู่ร่วมกันในโลก แล้วแต่ฐานะ เพศบรรพชิต หรือฆราวาส บรรพชิตที่คลุกคลีกันกับหมู่คณะกับพวกพ้องมิตรสหายก็ยังมีอยู่ ตราบใดที่ยังมีกิเลส และตัดเยื่อใยที่ยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ยังไม่ได้
เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่จะไม่คลุกคลีจริงๆ ก็ด้วยการระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงในสภาพธรรมที่เป็นเพียงนามธรรม เป็นเพียงรูปธรรม ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ซึ่งชีวิตที่เกิดมาต่างกันไปตามเหตุตามปัจจัยของแต่ละบุคคลนั้น แต่ละบุคคลก็ต้องอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมาตาความเป็นจริง จึงจะละการคลุกคลีได้ แต่ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่มีหนทางที่จะละการคลุกคลีได้
ที่ท่านกล่าวว่า
ลำพังปัญญาอย่างเดียว ย่อมไม่สามารถที่จะตัดสินอารมณ์ให้เด็ดขาดลงไปได้ว่า ไม่ใช่สัตว์ หรือบุคคล ตัวตนได้ เพราะขาดวิตก วิจาร การพิจารณาให้ละเอียดจนเห็นแจ้งสัจธรรมโดยทุกๆ ประการ ตามธรรมดาเมื่อเราดูของ เมื่อเห็นด้วยตาเปล่าอย่างเดียวยังไม่พอ และยังไม่แน่ชัด อย่างน้อยเราจะต้องจับต้อง ลูบคลำ พลิกดูข้างโน้น ข้างนี้ ดูให้ชัดเสียก่อน จึงจะถูกต้องดี การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็ยังอยู่ในขั้น โลกียะอยู่ ยังไม่ใช่โลกุตตระ ถ้าถึงขั้นโลกุตตระแล้ว ก็มีนิพพานเป็นอารมณ์อย่างเดียว
ที่ท่านเจ้าของจดหมายเขียนข้อความตอนนี้มา คงจะมีจุดประสงค์ให้พิจารณาธรรมเพื่อที่จะให้เกิดปัญญาที่รู้ชัด และท่านกล่าวถึงวิตก วิจาร ซึ่งเป็นการพิจารณาสภาพธรรม แต่ว่าโดยสภาพตามความเป็นจริงของปรมัตถธรรมแล้ว ถ้าท่านศึกษาโดยละเอียดจะทราบว่า มีจิตกี่ดวงที่ไม่ประกอบด้วยวิตกเจตสิกและวิจารเจตสิก
เฉพาะทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงเท่านั้น ในกามาวจรจิต ๕๔ ดวง ที่ไม่มีวิตกเจตสิก และวิจารเจตสิก ซึ่งทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ได้แก่ จักขุวิญญาณ ๒ ดวง โสตวิญญาณ ๒ ดวง ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง กายวิญญาณ ๒ ดวง จิต ๑๐ ดวงนี้ไม่ประกอบด้วยวิตก วิจารเจตสิก คือ ไม่ประกอบด้วยเจตสิกอื่น นอกจากเจตสิกเพียง ๗ ดวงเท่านั้น เพราะฉะนั้น วิตก วิจารย่อมมีอยู่เป็นประจำในกามาวจรจิต ซึ่งในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน มีไหมที่ปัญญาจะเกิดได้โดยสติไม่ระลึก และสัมมาสังกัปปะไม่ตรึก ไม่จรดในลักษณะของอารมณ์ที่ต่างกัน เพื่อให้ปัญญาได้เห็นชัดว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม และรูปธรรมไม่ใช่นามธรรม
เพราะฉะนั้น ท่านที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าจะมีเฉพาะปัญญาเจตสิกเท่านั้นที่เกิดขึ้น แต่สติจะต้องเกิดระลึกรู้ และวิตกเจตสิกซึ่งเป็นสัมมาสังกัปปะจะต้องตรึกหรือจรดตรงอารมณ์ที่ต่างกัน เพื่อที่จะให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏนั้นว่า ลักษณะของรูปธรรมไม่ใช่นามธรรม ลักษณะของนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม
นี่คือหน้าที่ของเจตสิกซึ่งเป็นองค์ของมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น ท่านที่อบรมเจริญสติปัฏฐานทราบว่า ไม่ใช่จะมีแต่ปัญญาที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการระลึกรู้ พิจารณาเทียบเคียง ค้นคว้าให้รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ และไม่ใช่หมายความว่า ไปนั่งคิดนึก เพราะว่าท่านเจ้าของจดหมายท่านกล่าวว่า คำว่า สติ แปลว่า ความระลึกได้ การระลึกนี้ ก็ได้แก่การคิดนึกนั่นเอง เพราะเมื่อเราจะทำอะไร ก็ต้องคิดนึกเสียก่อนแล้วจึงทำ อย่างนี้เป็นการถูกต้อง ทีนี้การคิดนึกมาจากไหน ก็มาจากจิตใจนั่น ปัญญาเกิดมาด้วยอะไร ปัญญาก็เกิดมาจากความนึกคิดนี้เอง
เพราะฉะนั้น ท่านก็กล่าวเฉพาะขั้นของปัญญาที่เป็นเพียงขั้นการพิจารณา แต่ไม่ใช่ขั้นของการอบรมเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘
การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ๔ จะพ้นไปจากนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจไม่ได้ ซึ่งการที่ท่านมีสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็จะเป็นการอบรมจิตใจให้บริสุทธิ์หมดจดจากความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้ และที่กำลังบรรยายเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนา ก็เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้อบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ผิดจากข้อความที่ท่านเจ้าของจดหมายกล่าวว่า ตามหลักแล้ว พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงสอนเน้นหนักไปในทางให้ฝึกฝนอบรมจิตใจให้สะอาด เพราะเหตุนี้พระองค์จึงสอนให้กำหนดที่กายและที่ใจที่ยาววาหนาคืบนี้เอง ไม่ต้องไปกำหนดที่ไหนซึ่งก็ต้องด้วยปัญญา และสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนเป็นความรู้ชัด ความรู้ถ่องแท้ แจ่มแจ้งแทงตลอดสัจธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเจ้าของจดหมายยังไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็ยังคงมีวิจิกิจฉา คือ ความสงสัย
และที่ท่านเขียนมาว่า คำว่า เห็นชัด คำว่า เห็นแจ้งแทงตลอดสัจธรรมนั้น เห็นอย่างเดียวกัน หรือเห็นต่างกันอย่างไร
นั่นก็เพราะท่านเพียงแต่ครุ่นคิดพิจารณา เป็นปัญญาที่เกิดจากเพียงขั้นการคิดนึกเท่านั้น
ข้อความต่อไป ท่านกล่าวว่า
พระบรมศาสดาผู้ทรงปัญญาอันเลิศ พร้อมทั้งสาวกสาวิกาทั้งหลายที่มีมาในพระสูตร พระองค์ท่านยังต้องหลีกเร้นหนีไปปฏิบัติธรรมตามในป่า หาที่สงบสงัด เป็นกายวิเวก ซึ่งเป็นการสอนตรงกันข้ามกับคำสอนของอาจารย์ที่ออกอากาศอยู่ทุกๆ วัน และอาจารย์ก็ยืนยันว่า ของอาจารย์ถูกฝ่ายเดียว
ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นของดิฉัน ทุกครั้งที่บรรยาย ท่านผู้ฟังจะได้ยินข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก จากอรรถกถา หลายๆ สูตร หลายๆ ตอน จากพระวินัยบ้าง พระอภิธรรมบ้าง ไม่เคยกล่าวว่าเป็นของดิฉัน และได้เรียนชี้แจงให้ท่านผู้ฟังพิจารณา ไตร่ตรอง เทียบเคียงเหตุผลอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะได้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๐ ตอนที่ ๔๙๑ – ๕๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 481
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 482
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 483
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 484
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 485
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 486
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 487
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 488
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 489
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 490
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 491
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 492
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 493
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 494
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 495
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 496
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 497
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 498
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 499
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 500
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 501
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 502
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 503
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 504
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 505
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 506
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 507
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 508
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 509
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 510
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 511
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 512
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 513
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 514
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 515
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 516
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 517
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 518
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 519
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 520
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 521
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 522
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 523
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 524
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 525
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 526
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 527
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 528
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 529
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 530
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 531
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 532
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 533
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 534
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 535
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 536
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 537
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 538
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 539
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 540