แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 498
ครั้งที่ ๔๙๘
ท่านเจ้าของจดหมายกล่าวว่า
เมื่อถ้าเป็นเช่นนั้น พระบรมศาสดาทรงสอนให้ไปเจริญและปฏิบัติตามป่า โคนไม้ ที่ว่างเปล่า ก็ผิดไปอย่างนั้นหรือ
นี่เป็นการขาดความละเอียดในการศึกษาธรรม แม้ในมหาสติปัฏฐานสูตรเพียงสูตรเดียว ซึ่งเป็นพระสูตรที่ประมวลเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ไว้ ท่านเจ้าของจดหมายลองอ่านอีก ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต ของเวทนา ของกาย ของธรรมในขณะไหนบ้าง นั่ง นอน ยืน เดิน พูด นิ่ง คิด เหลียว คู้ เหยียด ประกอบกิจการงานต่างๆ ไม่ได้มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสสอนให้ไปเจริญและปฏิบัติธรรมตามป่า โคนไม้ ที่ว่างเปล่าเลย
แต่ถ้าเป็นเรื่องของสมถภาวนา จะมีข้อความอย่างนี้ และถ้าอ่านไปโดยตลอด จะพบว่า ผลคือบรรลุฌานจิตเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงอรูปฌาน นั่นเป็นเรื่องของการอบรมเจริญสมถภาวนา ถ้าท่านพบข้อความในเรื่องของป่า โคนไม้ เรือนว่าง แม้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ถ้าเป็นการระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจตามที่เคยอบรมมาจนกระทั่งฌานจิตเกิด เมื่อเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว สติจะต้องเกิดระลึกรู้สภาพของลมหายใจที่กำลังปรากฏให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ถ้าเป็นสมถภาวนา เป็นการเจริญอานาปานสติสมาธิ ก็จะต้องให้มีความสะดวกสบายในการที่จะให้จิตสงบถึงขั้นฌานจิตได้
ท่านผู้ฟังยกตัวอย่างพระธัมมทินนาเถรีภิกษุณี เมื่อท่านบวชเป็นภิกษุณีแล้ว ยังมีเพื่อนที่เคยเป็นพรรคพวกและญาติพี่น้องได้พากันมาเยี่ยมเยียนกันอยู่เสมอๆ มิได้ว่างเว้นเลย ทำให้ท่านคิดว่า ไม่ได้ประโยชน์ในการปฏิบัติเลย ครั้นจะห้ามเขาไม่ให้มา ก็ไม่ใช่ที่ เพราะผู้ที่มาเยี่ยม ก็มาเพื่อหวังดีทั้งนั้น ท่านจึงตัดสินใจทูลลาพระศาสดาไปเจริญสมณธรรมในป่า จนได้บรรลุมรรคผลในไม่ช้าเลย
ท่านกล่าวเฉพาะได้บรรลุมรรคผลในไม่ช้า ซึ่งความจริงท่านธัมมทินนาเถรีไม่ได้บรรลุเฉพาะมรรคผลเท่านั้น ยังได้ฌานสมาบัติด้วย เพราะว่าท่านมีอุปนิสัยปัจจัยสะสมมาที่จะได้บรรลุทั้งฌานและมรรคผล และทำไมท่านยกเฉพาะท่านธัมมทินนาเถรี ทำไมท่านไม่คิดถึงวิสาขอุบาสก ซึ่งเคยเป็นสามีของท่านธัมมทินนาเถรีในขณะที่ท่านยังเป็นฆราวาส ท่านวิสาขอุบาสกบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคลก่อนพระธัมมทินนาเถรี ท่านวิสาขอุบาสกท่านอยู่ที่ไหนเมื่อท่านบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล ท่านไม่ได้ไปสู่ป่า ท่านไม่ได้ไปสู่โคนไม้ ท่านไม่ได้ไปสู่เรือนว่าง แต่ท่านบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล
พุทธบริษัทมี ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงจำกัดการบรรลุมรรคผลเฉพาะภิกษุ ภิกษุณี หรือเพศบรรพชิต ซึ่งตัวอย่างในพระไตรปิฎกก็มีอุบาสก อุบาสิกาที่บรรลุมรรคผลเป็นจำนวนมาก ถ้าท่านเจ้าของจดหมายใคร่ที่จะหลีกเร้น ก็ไม่มีใครขัดขวาง ท่านก็ไปบวชเสียเท่านั้น ก็เป็นพุทธบริษัทที่เป็นภิกษุ ท่านมีอุปนิสัยที่จะหลีกเร้น ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของท่าน แต่พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงห้ามพุทธบริษัทอื่นไม่ให้เจริญสติปัฏฐาน และไม่ได้กั้นมรรคผลที่จะเกิดกับอุบาสกอุบาสิกาด้วย เพราะพระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งว่า ไม่ว่าบุคคลใดก็ตามที่อบรมเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว ผลคือปัญญาย่อมเกิดขึ้นตามลำดับขั้นที่จะรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้
และท่านเจ้าของจดหมาย ก็ไม่ได้กล่าวถึงข้อปฏิบัติที่ท่านจะปฏิบัติเมื่อท่าน หลีกหลีกเร้นไป ซึ่งถ้าท่านแสดงข้อปฏิบัติอื่นที่นอกจากการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะสามารถทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ ก็จะได้นำมาเทียบเคียงเหตุผล พิจารณา ไตร่ตรองในข้อปฏิบัติที่ท่านปฏิบัติอยู่ หรือที่คิดว่าถูก ว่าจะถูกต้องประการใด แต่ท่านก็ไม่ได้กล่าวถึงข้อปฏิบัติเลย ว่าไปแล้วท่านจะปฏิบัติอย่างไร
สำหรับการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่มีบุคคลใดปฏิเสธเลยว่า ปัญญานั้น คือ ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ต้องมีปัญญาขั้นนี้เสียก่อนจึงจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ถ้าสภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้ แต่ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ ก็ไม่ใช่ปัญญา และถ้าปัญญาอย่างนี้ยังไม่เกิด ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน วิธีอื่นจะยังมีอีกไหมที่สามารถจะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริงในขณะนี้ได้
ท่านผู้ฟังซึ่งมีความข้องใจในเรื่องที่กำลังบรรยายอยู่ และใคร่ที่จะเกื้อกูลอนุเคราะห์ท่านผู้อื่น ก็ขอให้ท่านได้กล่าวถึงข้อปฏิบัติที่ท่านจะปฏิบัติเมื่อท่านหลีกเร้นไป หรือว่าข้อปฏิบัติอื่นที่ท่านเข้าใจว่าถูกต้องกว่าการที่จะเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐาน
สำหรับการที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งกำลังเกิดดับอยู่ทุกขณะ ไม่มีท่านผู้ใดคัดค้านใช่ไหม ตามที่ได้ศึกษามาว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้กำลังเกิดดับอยู่ และการที่ปัญญาสามารถที่จะรู้แจ้งหรือว่าแทงตลอดในลักษณะที่เกิดดับสืบต่อกันตามความเป็นจริง จะต้องเป็นปัญญาขั้น ตีรณปริญญา คือ เป็นปัญญาที่พิจารณารู้ทั่วในสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่มีการสงสัยว่า ลักษณะนี้นามธรรมหรือรูปธรรม ทางตาที่กำลังเห็น นามธรรมเป็นอย่างไร รูปธรรมเป็นอย่างไร ทางหูที่กำลังได้ยิน นามธรรมเป็นอย่างไร รูปธรรมเป็นอย่างไร จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนถึงขั้นที่เป็นการรู้ทั่วจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรม จึงจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมได้
ขณะนี้ นามธรรมเกิดดับสืบต่อกันมากมายหลายประเภท เวทนา ความรู้สึก ซึ่งเป็นเวทนาขันธ์ ไม่ใช่วิญญาณขันธ์ ไม่ใช่สังขารขันธ์ ไม่ใช่สัญญาขันธ์ สติเคยเกิดระลึกรู้บ้างไหมในลักษณะของความรู้สึกซึ่งมีจริงๆ ซึ่งไม่ใช่การเห็น ไม่ใช่สภาพที่ได้ยินเสียง แต่เป็นความรู้สึกนานาชนิด นานาประการที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าสติยังไม่เคยเกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ ก็แยกไม่ออก แม้ในลักษณะของนามธรรมต่างๆ ที่เคยยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา
เป็นเรื่องที่ละเอียด และปัญญาจะต้องอบรมเจริญจนกระทั่งรู้ และก็ละความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นามธรรมและรูปธรรมเกิดดับสืบต่อกันมากมายหลายประเภททั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นามธรรมที่รู้อารมณ์ทางตา ก็ไม่ใช่นามธรรมที่รู้อารมณ์ทางหู เพียงแค่นี้แยกขาดออกจากกันหรือยัง ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีการที่จะรู้ชัดได้ว่า สภาพที่กำลังรู้ทางตาไม่ใช่สภาพที่กำลังรู้ทางหู ซึ่งการที่จะประจักษ์ว่า นามใดเกิดแล้วดับ รูปใดเกิดแล้วดับ ย่อมประจักษ์ไม่ได้เลย ถ้าปัญญายังไม่ได้เกิดขึ้นรู้ความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เพราะฉะนั้น สติต้องเริ่มระลึกในลักษณะของรูปธรรมบ้าง นามธรรมบ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง เฉพาะทางตาทวารเดียว ปัญญาก็จะต้องอบรมจนประจักษ์จริงๆ ว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรมในขณะที่กำลังเห็น ทางหูทางเดียว ปัญญาก็จะต้องรู้ชัดจริงๆ ว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม
ชีวิตในวันหนึ่งๆ ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะเห็นได้ว่า มีสภาพธรรมทั้งที่เป็นกุศล ทั้งที่เป็นอกุศล ทั้งที่เป็นวิบาก คือ ผลของกรรม เกิดปรากฏต่างๆ กัน สภาพธรรมที่สะสมมานี้มีความวิจิตรมาก ไม่มีท่านผู้ใดสามารถที่จะคาดคะเนรู้ได้ล่วงหน้าว่า อารมณ์ชนิดใดจะเกิดปรากฏ ความรู้สึกชนิดใดจะเกิดปรากฏ โลภะจะเกิด หรือว่าอโลภะจะเกิด ความตระหนี่หวงแหนจะเกิด หรือว่าความริษยาจะเกิด ไม่มีใครสามารถที่จะรู้สภาพของจิตใจซึ่งแต่ละท่านสะสมมาอย่างวิจิตร และสภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดแล้ว เกิดได้เพราะมีเหตุปัจจัยสะสมมาจึงได้เกิดขึ้น บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดแล้วเพราะมีปัจจัยสะสมมาที่จะให้เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้น
นี่เป็นการอบรมปัญญาที่จะให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดปรากฏตามความเป็นจริง ปัญญาต้องอบรมรู้ชัดในสภาพธรรมจริงๆ จึงจะสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
ผู้ฟัง ข้อสงสัยในการเจริญสติ อย่างที่ท่านผู้ฟังท่านนี้เขียนมา เรื่องอย่างนี้ไม่ได้มีเฉพาะท่านผู้ฟังท่านนี้ท่านเดียว ยังมีอีกหลายๆ ท่านที่ยังไม่เข้าใจว่า การเจริญสติเจริญอย่างไร ไปยึดอะไรต่ออะไรก็ไม่ทราบ และก็เขียนออกมาว่าอย่างนี้ ที่จริงดถ้าท่านอ่านหรือค้นคว้าในพระไตรปิฎก ท่านจะเห็นอะไรต่ออะไรอีกมากมาย ที่ท่านตั้งหลักไว้ว่า จะต้องไปอยู่ตรงนั้นตรงนี้ ซึ่งความจริงพระพุทธองค์ไม่เคยตรัสอย่างนี้ อยู่ที่ไหนก็ได้ บรรลุที่ไหนก็ได้ ไม่จำกัดอะไร ที่จริงพุทธประสงค์นั้น คือ เมื่อไปอยู่ที่นั้นๆ แล้ว อย่าลืมการเจริญสติ แต่ถ้าเกี่ยวกับการเจริญสมาธิหรือการเจริญสมถะแล้ว สมควรจะไปอยู่ในที่สงบสงัดอย่างนั้น เพื่อให้สมาธินั้นตั้งมั่น แต่การเจริญสตินั้นอยู่ที่ไหนก็ได้ ถ้าท่านไปพักผ่อนอยู่ที่ป่า พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า อย่าลืมเจริญสติด้วย อย่าไปอยู่เฉยๆ แต่ไม่ใช่ท่านไล่ให้ไปอยู่ที่ป่า ไปเจริญสติที่นั่น ไม่ใช่อย่างนั้น อย่าเข้าใจคลาดเคลื่อนเป็นอันขาด ถ้าเข้าใจคลาดเคลื่อนแล้ว ธรรมของพระพุทธองค์จะไม่เกื้อกูลเลย อย่างที่พระองค์ใช้คำว่า สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา สตินี้จำปรารถนาในที่ทั้งปวง ต้องเข้าใจความข้อนี้ให้ชัดด้วย
อีกประการหนึ่ง การเจริญสตินี้ ท่านอาจารย์ได้ย้ำตอนสุดท้าย ถ้าท่านผู้ใดยังไม่สามารถจะแยกรูปแยกนามออกแต่ละทาง แต่ละทวารแล้ว ผู้นั้นไม่มีโอกาสที่จะสละความเป็นตัวตนออกไปได้ อย่างขณะนี้ เห็น ถามว่าเห็นอะไร เห็นคน ที่เห็นนี้ โดยหลักการแล้ว เห็นคนไม่ได้ แต่เห็นสิ่งที่สมมติกันเรียกว่า สี หรือจะเรียกอะไรก็สุดแล้วแต่ แต่ว่าตาเห็นได้แค่นี้ แต่ที่เห็นคนนั้น เป็นเรื่องความจำ จำเอาไว้ว่า อย่างนี้แหละเขาเรียกว่าคน เพราะจำเอาไว้ นี่คือการไม่ได้แยก ต้องแยกให้ออก คือ เห็นทางตากับสัญญาจำทางใจ คนละที่ คนละแห่ง ถ้าแยกอย่างนี้ยังไม่ได้ ความเป็นตัวตนก็แยกไม่ออก สลัดไม่ออก ก็เป็นตัวตนอยู่อย่างนั้นเอง อภิชฌาและโทมนัสก็เกิดอยู่อย่างนั้นเอง
ถ้าเห็นตามสภาวะจริงๆ แล้ว เห็นขณะนี้ เป็นสีจริงๆ มีแค่นั้นเอง ไม่มีอะไรอื่น และที่เกิดความชอบใจ หรือความไม่ชอบใจขึ้น เพราะมีอย่างอื่นเข้ามารวมด้วย ที่จริงตามสภาวะที่เห็นจริงๆ เป็นรูปจริงๆ เป็นนามจริงๆ นั้น ไม่มีอะไรอื่น เกิดขึ้นและก็ดับไปเท่านั้นเอง หมดเรื่องกัน อย่างอื่นไม่มี แต่ที่แทรกแซงเข้ามา เพราะว่าเราจำอะไรต่อมิอะไรไว้มากมายเหลือเกิน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งทางใจนี้ก็เก็บอะไรต่ออะไรไว้สารพัด โดยมากเป็นเรื่องของสัญญาทั้งนั้น ถ้าสัญญาไม่เก็บไว้ เราไม่รู้หรอกว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้จริงๆ แต่สัญญาเก็บเอาไว้ เราจึงรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้น เรารู้เรื่องรู้ราว
อย่างคำพูดนี่ก็เหมือนกัน ทางหูที่ได้ยิน ก็แค่ได้ยินเท่านั้นเอง เสียงก็เป็นเสียงเท่านั้นเอง ซึ่งต่างกัน เสียงก็คือเสียง ได้ยินก็คือได้ยิน แค่นี้หมดแล้ว แต่ทำไมเราไปรู้ว่า นี่เป็นคำที่เขาชมเชยเรา นี่เป็นคำที่เขาด่าเรา นั่นก็เพราะสัญญาเก็บเอาไว้ และเราก็เอาสัญญานี้มาเป็นเดือดเป็นแค้นบ้าง ชอบอกชอบใจบ้าง ถ้าแยกให้ออกจริงๆ แล้ว ผมแน่ใจว่า ความเป็นตัวตนจะสามารถค่อยๆ หลุดไปได้ทีละเล็กทีละน้อยๆ แต่ว่าขั้นของปัญญาที่จะให้แจ่มแจ้งชัดเจนจริงๆ นั้น ต้องอบรมกันมาก ไม่ใช่ครั้งเดียว
ทางตานี้ก็ต้องอบรมกัน สมมติว่าสักหลายล้านครั้ง ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็อีกหลายล้านครั้ง จนกว่าจะชินจริงๆ อย่างที่อาจารย์ย้ำแล้วย้ำอีกว่า จนชินจริงๆ จนกล่าวว่า นี่แค่รูปเท่านั้นเอง นี่แค่นามเท่านั้นเอง ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ จริงๆ รับรองได้ว่าอัตตา ตัวตนเข้ามาไม่ได้ ไม่มีหนทางที่จะเข้ามา แต่ที่เข้ามาก็เพราะว่า เรารวมกัน แยกไม่ออก ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าแยกออกได้เมื่อไร เมื่อนั้นสติก็มีความเจริญมากขึ้น และจะเจริญมากขึ้นทุกทีๆ จนกลายเป็นความชำนาญ ซึ่งมรรคอาจจะเกิดขึ้นเมื่อไรเราก็ไม่รู้
นี่เป็นความเห็นของผม และผมได้เจริญตามแนวนี้ ซึ่งพอที่จะเรียนให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายเข้าใจได้ ไม่ใช่เรียนรู้มาแต่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจไม่ได้ ผมก็ไม่รู้ว่าจะเจริญสติไปทำไม ขอบคุณมาก
สุ. ขอบพระคุณ ข้อคิดประการหนึ่งจากจดหมายของท่านผู้ฟังท่านนี้ และสำหรับท่านที่ยังคิดว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานจะต้องไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด คือ ท่านคงจะลืมว่า ถ้าท่านคิดอย่างนั้น ท่านเชื่ออย่างนั้น ท่านเห็นอย่างนั้นแล้ว เป็นการปฏิเสธสัจธรรม เพราะถ้าเป็นผู้ที่รู้จริงแล้ว ต้องรู้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ถ้ารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา เป็นความรู้จริง อยู่ที่ไหนก็รู้ ในเมื่อรู้แล้ว และก็รู้จริงๆ ด้วย ก็ต้องไม่เกิดความลังเลสงสัยว่า ที่นี่รู้ได้ไหม ที่นั่นรู้ได้ไหม ถ้าท่านรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ
ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน
สัจจะ คือ ความจริง ย่อมจริงทุกสถานที่ ทุกกาล เห็นในขณะนี้เกิดดับ ต้องจริงโดยตลอด ไม่ว่าอดีต หรืออนาคต หรือ ณ สถานที่ใด ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส คิดนึก สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น สัจธรรมของสภาพธรรมนั้นๆ คือ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่ใช่ว่า อยู่ที่โน่นดับ อยู่ที่นี่ไม่ดับ หรือว่าอยู่ที่โน่นรู้ อยู่ที่นี่ไม่รู้ ถ้าอยู่ที่โน่นรู้ อยู่ที่นี่ไม่รู้ จะชื่อว่าเป็นความรู้จริงได้ไหม เพราะฉะนั้น ความรู้นั้นยังไม่จริง ถ้าเป็นความรู้จริง ต้องจริงเหมือนกันหมด เป็นความรู้จริงๆ ได้อบรม ได้เจริญ จนกระทั่งได้ประจักษ์แจ้ง และหมดความสงสัย เมื่อหมดความสงสัย จะไม่มีปัญหาเรื่องสถานที่เลย
แต่ถ้าท่านผู้ใดยังกล่าว ยังยืนยันเรื่องการจำกัดสถานที่ ก็หมายความว่า ยังไม่ใช่เป็นความรู้จริง ถ้าเป็นความรู้จริงๆ จะหมดความสงสัยในเรื่องสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม สัจธรรมก็คงเป็นสัจธรรมอยู่นั่นเอง ความรู้ที่ได้อบรมเจริญแล้วเป็นความรู้จริงในสภาพธรรมที่ปรากฏ จะหมดความสงสัยประการใดๆ ทั้งสิ้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๐ ตอนที่ ๔๙๑ – ๕๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 481
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 482
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 483
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 484
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 485
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 486
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 487
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 488
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 489
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 490
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 491
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 492
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 493
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 494
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 495
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 496
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 497
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 498
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 499
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 500
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 501
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 502
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 503
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 504
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 505
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 506
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 507
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 508
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 509
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 510
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 511
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 512
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 513
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 514
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 515
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 516
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 517
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 518
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 519
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 520
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 521
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 522
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 523
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 524
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 525
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 526
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 527
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 528
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 529
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 530
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 531
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 532
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 533
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 534
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 535
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 536
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 537
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 538
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 539
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 540