แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 500
ครั้งที่ ๕๐๐
ขอตอบจดหมายของพระคุณเจ้ารูปหนึ่ง ขอความกรุณาท่านผู้ฟังช่วยอ่านด้วย
๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘
เจริญพร อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่นับถือ
อาตมาขอถามปัญหาท่านอาจารย์ ขอให้ท่านอาจารย์ได้โปรดตอบทางวิทยุที่ท่านบรรยายอยู่ และขอถามปัญหาท่านอาจารย์ดังต่อไปนี้
๑. ในนวโกวาท เรียง ปัญญา ศีล สมาธิ (ในมรรค ๘) ส่วนในพุทธประวัติเรียง ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งสองอย่างนี้ อย่างไหนถูก อย่างไหนผิด เพราะเหตุไร และจะยึดถือหลักไหน
๒. คำว่า ได้ยินหนอ พอได้ยินหรือได้ฟัง ก็ให้กำหนดว่า ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ เป็นอะไร (หมายถึงสมถะหรือวิปัสสนา) และถ้าในขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาอยู่ หรือแสดงธรรมจักร หรืออนัตตลักขณสูตรอยู่ เพื่อให้ปัญจวัคคีย์ฟัง ถ้าท่านเหล่านี้กำหนดว่า ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ อยากทราบว่าพระปัญจวัคคีย์เหล่านั้นจะได้บรรลุมรรคผลหรือไม่ เพราะเหตุไร
๓. กาเมสุมิจฉาจารเป็นอย่างไร พระโสดาบันที่เป็นเพศฆราวาสยังมั่วสุมอยู่ตามซ่องโสเภณีไหม เพราะเหตุไร โปรดอธิบายให้เข้าใจ
๔. คำว่า สักกายทิฏฐิ คือ เห็นผิดในขันธ์ ๕ นั้นทราบแล้ว แต่อยากทราบว่า ถ้าใครมาด่า มาว่าตัวเรา หรือพวกพ้องโคตรเหง้าของเรา เป็นต้น เราก็ไม่โกรธใช่ไหม จึงเรียกว่า ละสักกายทิฏฐิได้
๕. สีลัพพตปรามาส มีอธิบายอย่างไร คนที่ยังละในเรื่องเวทมนต์ของขลังไม่ได้ เรียกว่า ยังละสีลัพพตปรามาสไม่ได้ใช่ไหม
๖. พระที่ยังลงเลขลงยันต์ ตะกรุด พิสมร แจกพระ แจกเหรียญ หรือขายพระ ขายเหรียญให้กับชาวบ้านนั้น จะเป็นการทำให้คนโง่หลงงมงาย หรือว่าหลอกลวงชาวบ้านหรือไม่ เพราะเหตุไร
๗. ถ้าเราพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก เป็นต้น เรื่อยไปจนจบธาตุ ๔ พิจารณาทีละอย่างๆ จะเป็นสมถะหรือวิปัสสนา และจะได้บรรลุมรรคผลอะไรหรือไม่
๘. พระก็ดี ชาวบ้านก็ดี ที่เขียนจดหมายมาคัดค้านการบรรยายแนวทางเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานของอาจารย์สุจินต์ อาตมาขอคัดค้านบุคคลเหล่านั้น เพราะเหตุว่าอาจารย์สุจินต์อธิบายดีกว่าใครทั้งหมดเท่าที่ฟังมา อธิบายตรงจุด ไม่เลอะเทอะเหมือนอาจารย์อื่นๆ แล้วก็ไม่อธิบายขอไปทีเหมือนอาจารย์อื่น แล้วอาจารย์สุจินต์ก็ไม่มีโมโห โทโสในเมื่อถูกโจมตี หรือถูกยั่วยุ ฟังแล้วได้ประโยชน์ เกิดความสบายใจ นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ
เจริญพรมาด้วยความนับถือ
จากพระรูปหนึ่ง
สุ. ปัญหาของพระคุณเจ้ามีหลายข้อ ขอตอบตามลำดับ
ข้อ ๑ ถามว่า ในนวโกวาท เรียง ปัญญา ศีล สมาธิ (ในมรรค ๘) ส่วนในพุทธประวัติเรียง ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งสองอย่างนี้ อย่างไหนถูก อย่างไหนผิด เพราะเหตุไร และจะยึดถือหลักไหน
ก็เป็นที่น่าสงสัย แม้แต่มรรคมีองค์ ๘ จะเรียงอะไรไว้ก่อนหลังอย่างไร แต่ว่าตามความเป็นจริง ย่อมเป็นไปตามเหตุผลพร้อมทั้งพยัญชนะและอรรถ
สำหรับในองค์ของมรรค ๘ เมื่อกล่าวถึงองค์ของมรรค ๘ จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยลำดับของปัญญา ศีล สมาธิ คือ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ สงเคราะห์เป็นปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สงเคราะห์เป็นศีล สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สงเคราะห์เป็นสมาธิ
โดยองค์ของมรรค ๘ จะเห็นได้ว่า ในองค์ของมรรค ๘ ทั้ง ๘ องค์ ย่อมต้องอาศัยกันเป็นลำดับ เพราะว่าในการอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ปัญญานี้จะต้องค่อยๆ เจริญขึ้นเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นของการฟัง ไม่มีใครสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยไม่ฟัง นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาติที่จะบรรลุความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนั้นแล้วจะต้องฟัง เพราะฉะนั้น ปัญญาขั้นต้นที่สุดจะต้องเกิดจากการฟัง และเข้าใจในสิ่งที่ฟัง
ท่านอาจจะเป็นผู้ที่อบรมในเรื่องของศีลในอดีตชาติ และในปัจจุบันชาติท่านก็เป็นผู้ที่ละเว้นทุจริตกรรม เป็นผู้ที่มีศีล แต่ไม่ใช่เป็นผู้ที่อบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ถ้าไม่ฟังให้เข้าใจเสียก่อนว่า มรรคมีองค์ ๘ นั้นคืออย่างไร ปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้นคืออย่างไร รู้แจ้งอะไร และจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยปัญญาขั้นการฟังเป็นเบื้องต้นจริงๆ ที่จะให้เข้าใจเสียก่อนว่า ปัญญาที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ นั้นคืออย่างไร เมื่อเข้าใจแล้ว ก็จะเกื้อกูลให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เห็นคุณ เห็นโทษของการมีสติและการหลงลืมสติ พร้อมทั้งรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่อเป็นอกุศล ก็ตรงต่อความเป็นจริงว่า สภาพธรรมนั้นเป็นอกุศล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เมื่อสภาพธรรมที่เป็นกุศลเกิดปรากฏ ก็ตรงต่อลักษณะของกุศลธรรม โดยที่ไม่ยึดถือว่ากุศลธรรมนั้นเป็นตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ
เมื่อมีการเห็นสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง บุคคลนั้นย่อมมีการขัดเกลา ละคลายอกุศลกรรม และเป็นผู้ที่ประพฤติตนในศีล ด้วยเหตุนี้ ในชีวิตประจำวันของ ผู้ที่เข้าใจเรื่องการอบรมมรรคมีองค์ ๘ จะเห็นได้ว่า ประกอบด้วยศีลและสมาธิ คือความสงบของจิต เพราะว่าสติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ่อยขึ้น ซึ่งขณะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ย่อมทำให้จิตสงบขึ้น แม้ว่าจะเป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า เมื่อท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว จิตของท่านสงบจากการที่จะเป็นอกุศลกรรมและอกุศลธรรม
เพราะฉะนั้น การที่เรียง ปัญญา ศีล สมาธิ ในมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเมื่อกล่าวถึงเฉพาะองค์ของมรรค จะเห็นได้ว่า จะต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เริ่มจากปัญญาที่รู้ว่า การรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้นปัญญาจะต้องรู้อะไร และหนทางที่จะอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ นั้นคืออย่างไร แต่ผู้ที่จะอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ก็คือปุถุชน ซึ่งเป็นผู้ที่มีกิเลส เพราะฉะนั้น เมื่ออบรมแล้ว ก็เกื้อกูลให้บุคคลนั้นมีศีล สมาธิ ปัญญาเพิ่มขึ้น
เพราะฉะนั้น ที่กล่าวถึงปัญญา ศีล สมาธิ ก็เป็นเรื่องที่กล่าวถึงธรรมที่เกื้อกูลกันในมรรค ๘ เป็นองค์ของมรรค ๘ และที่กล่าวถึงศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นเรื่องการอบรมเจริญขัดเกลากิเลส ซึ่งจะทำให้ชีวิตประกอบด้วยศีล สมาธิ และปัญญายิ่งขึ้น
ถ. ผมสงสัยอยู่ข้อหนึ่ง ศีล ๕ บัญญัติข้อแรก ห้ามฆ่าสัตว์ ทำไมในที่นี้จึงมีปลาตายเข้ามาวางขาย
สุ. ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถ้าบังคับได้ก็เป็นอัตตา และพระผู้มีพระภาคก็คงจะทรงบังคับให้ทุกคนหมดกิเลส ไม่มีการล่วงศีลเลย แต่เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา จึงได้ทรงแสดงคุณและโทษของธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง ให้ผู้ศึกษาผู้ปฏิบัติธรรมได้พิจารณา และอบรมเจริญธรรมฝ่ายกุศลยิ่งขึ้นเท่าที่สติปัญญาสามารถที่จะกระทำได้ ตามระดับขั้นของแต่ละบุคคล
เพราะฉะนั้น โลกย่อมปรากฏตามความเป็นจริงอย่างที่ทรงแสดงไว้ทุกประการว่า ตราบใดที่ยังมีอกุศล ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็ย่อมมีการเบียดเบียน มีการล่วงศีล ๕ ผู้ใดที่เห็นโทษแล้ว ผู้นั้นก็ย่อมพากเพียรที่จะอบรม ที่จะละเว้นทุจริตกรรม มีเจตนาที่จะสมาทาน หรือว่ามีการวิรัติเกิดขึ้น แต่ว่าบังคับคนอื่นไม่ได้ ไม่ใช่ห้าม เพราะว่าไม่มีผู้ยิ่งใหญ่ที่เป็นอัตตาตัวตนที่จะไปบังคับคนอื่นได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงได้ทรงแสดงคุณและโทษของธรรมทั้งหลายไว้โดยละเอียดให้พิจารณาเอง และผู้ใดที่พิจารณาเห็นควรจะประพฤติอย่างไร ก็ประพฤติอย่างนั้น แต่ว่าบังคับคนอื่นไม่ได้แน่นอน
ข้อที่ ๒ พระคุณเจ้าถามว่า คำว่า ได้ยินหนอ พอได้ยินหรือได้ฟัง ก็ให้กำหนดว่า ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ เป็นอะไร (หมายถึงสมถะหรือวิปัสสนา) และถ้าในขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาอยู่ หรือแสดงธรรมจักร หรืออนัตตลักขณสูตรอยู่ เพื่อให้ปัญจวัคคีย์ฟัง ถ้าท่านเหล่านี้กำหนดว่า ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ อยากทราบว่าพระปัญจวัคคีย์เหล่านั้นจะได้บรรลุมรรคผลหรือไม่ เพราะเหตุไร
ท่านผู้ฟังที่ได้ยินอยู่เป็นปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน มีท่านผู้ใดที่ต้องคิดว่า ได้ยินหนอหรือเปล่า ในชีวิตประจำวันจริงๆ พอได้ยินครั้งหนึ่ง มีใครที่จะต้องนึกว่า ได้ยินหนอหรือเปล่า ชีวิตธรรมดาปกติ เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ละขณะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในเรื่องของการเจริญมรรคมีองค์ ๘ การเจริญสติปัฏฐาน ทรงแสดงว่า เวลาที่ได้ยิน ให้นึกว่าได้ยินหนอหรือเปล่า หรือว่าให้สติเกิดระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยศึกษา คือ สังเกต สำเหนียก รู้ในสภาพที่เป็นสภาพรู้ เพื่อที่จะได้รู้ว่า สภาพรู้ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล หรือว่ารู้รูป คือ เสียงที่ปรากฏ ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีจริงในขณะนี้ เป็นปกติธรรมดา อย่าไปทำอะไรให้พิเศษ หรือว่าแปลกจากปกติ เพราะถ้าผิดปกติ ก็เป็นตัวตนที่กำลังทำ
ขณะนี้มีใครบ้างที่เสียงไม่ปรากฏ ตามปกติธรรมดา ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะกระทำขึ้นเลย เสียงกำลังปรากฏตามธรรมดา ขอให้ระลึกถึงคำว่าตามธรรมดาด้วย ขณะนี้เสียงปรากฏแล้ว และเมื่อเสียงปรากฏ ระลึก คือ รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนี้ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้น คือปรากฏแล้วหมดไป ปรากฏแล้วหมดไปอีก นี่คือสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเมื่อเกิดปรากฏแล้วก็หมดไป
ผู้ฟัง ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ ถ้าท่านอยากจะรู้ว่าใครเป็นผู้เริ่มต้น ดูหนังสือภาษาวัด เล่ม ๑ หน้า ๑๐๔
สุ. การอบรมเจริญปัญญามีหลายขั้น ซึ่งท่านผู้ฟังจะเป็นผู้ทราบด้วยตัวของท่านเองว่า การอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะให้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาที่รู้ชัดถึงขั้นแทงตลอดในสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังได้ยินอยู่ก็ดี หรือว่ากำลังเห็นอยู่ก็ดี ถ้าขณะนั้นเกิดนึกขึ้นว่า เห็นหนอ ก็ไม่ใช่เป็นการระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังรู้ทางตาว่า เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง และไม่ได้ระลึกรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล
เพียงหลับตาเท่านั้นเอง สภาพที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นเสา เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้เหล่านี้จะไม่ปรากฏเลย นี่คือสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาตามความเป็นจริง คือ ปรากฏเมื่อลืมตาขึ้น
ถ้าท่านไปนึกว่า เห็นหนอ ขณะนั้นจะไม่ระลึกรู้ในสภาพรู้ซึ่งกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า เป็นแต่เพียงลักษณะอาการรู้อย่างหนึ่ง หรือขณะที่กำลังได้ยิน ถ้าท่านเกิดคิดขึ้นมาว่า ได้ยินหนอ ขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกรู้ในสภาพรู้ ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่ รู้สีสันวัณณะแล้ว แต่เป็นการรู้เสียง ขณะที่เสียงปรากฏมีสภาพที่รู้ เสียงจึงได้ปรากฏให้รู้ได้
การอบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ ระลึกเพื่อที่จะรู้ว่า สภาพรู้ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และก็ไม่ใช่สภาพรู้ทางตา เพราะว่าสภาพรู้ทางหูก็รู้เสียง สภาพรู้ทางตาก็รู้สี ถ้ากลิ่นปรากฏ สภาพรู้กลิ่น ก็ไม่ใช่สภาพรู้สี ไม่ใช่สภาพรู้เสียง เป็นสภาพรู้จริงๆ แต่ละลักษณะ และถ้าขณะนั้นเกิดนึกขึ้นมา จะไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ในสภาพรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามความเป็นจริงที่ปรากฏ แต่เป็นการนึกขึ้นมาด้วยความเป็นตัวตน ซึ่งขณะนั้นจะไม่สามารถรู้ชัดในลักษณะของเห็น ของได้ยิน ของสี ของเสียงที่ปรากฏ เพราะว่าขณะนั้นมีการนึกคิดขึ้น สติจึงไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพรู้ทางตา ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ทางหู เป็นสภาพรู้แต่ละชนิดที่ต่างกัน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๐ ตอนที่ ๔๙๑ – ๕๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 481
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 482
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 483
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 484
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 485
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 486
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 487
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 488
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 489
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 490
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 491
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 492
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 493
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 494
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 495
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 496
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 497
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 498
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 499
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 500
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 501
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 502
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 503
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 504
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 505
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 506
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 507
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 508
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 509
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 510
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 511
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 512
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 513
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 514
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 515
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 516
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 517
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 518
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 519
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 520
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 521
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 522
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 523
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 524
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 525
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 526
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 527
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 528
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 529
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 530
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 531
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 532
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 533
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 534
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 535
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 536
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 537
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 538
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 539
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 540