แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 503
ครั้งที่ ๕๐๓
ถ้าท่านศึกษาประวัติของพระสาวกทั้งหลายในอดีต จะเห็นได้ว่า ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่รู้ในเหตุและผล คือ ในเรื่องของกรรมและวิบาก อย่างท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านเป็นเอตทัคคะในการบรรลุอิทธิปาฏิหาริย์ แต่ท่านก็ปรินิพพานเนื่องมาจากการถูกโจรทุบ ซึ่งเป็นผลมาจากอดีตกรรมของท่าน แม้ท่านสามารถที่จะกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ยิ่งกว่าบุคคลสมัยนี้ แต่ท่านก็พิจารณาถึงกรรมอันเป็นเหตุให้ท่านต้องปรินิพพานในลักษณะนั้น
ถ้าสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดจะขลังขึ้น ขอให้ทราบเหตุผลว่า เป็นเพราะกุศลจิตที่มั่นคงเป็นสมาธิด้วยประการต่างๆ แต่ก็ย่อมจะไม่พ้นจากกรรมของบุคคลนั้นเองเป็นประการสำคัญที่สุด และไม่ควรที่จะติด ควรที่จะละด้วยการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง มิฉะนั้นแล้วก็ย่อมจะติด คิดว่าสิ่งอื่นสามารถที่จะช่วยท่านได้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว กุศลกรรมของท่านเองเท่านั้นที่สามารถช่วยได้ แต่ถ้าเป็นอกุศลกรรมก็ช่วยไม่ได้ ดังเช่นท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นตัวอย่าง
ผู้ฟัง1 ของแบบนี้ต้องมีประสบการณ์ เป็นเรื่องของสมาธิที่มั่นคง จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็พิจารณาดู ต้องมีเหตุผลอย่างที่อาจารย์บอก
ผู้ฟัง2 การใช้คาถา ถ้าใช้ไปในทางฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นบาป ถ้าใช้ไปในทางป้องกันตัวก็ย่อมดี พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วว่า กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ ผมเชื่อว่า คนเราถ้าทำดีจริงๆ ไปไหนไม่ต้องกลัว รักษาศีล ๕ ให้ได้เท่านั้น
สุ. ปัญหาของพระคุณเจ้า ทำให้การบรรยายนี้ต้องเป็นไปในอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน แต่ก็ไม่พ้นจากการเจริญสติปัฏฐาน เพราะทุกอย่างที่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ของแต่ละท่านที่สะสมมาวิจิตรต่างๆ กัน
เป็นเรื่องที่ท่านจะได้พิจารณาตัวของท่านตามความเป็นจริงว่า ท่านยังไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมในขณะไหน อย่างไร ถ้าเป็นความไม่รู้เกิดขึ้น ก็เป็นเพียงความเชื่อโดยที่ปราศจากเหตุผล ขณะนั้นเป็นการยึดมั่น การติดในสิ่งที่จะไม่ทำให้ท่านได้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง
สำหรับเรื่องของคาถา รู้สึกว่าเป็นกุศลจิตที่ระลึกถึง คาถาที่คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนา ทำให้ขณะนั้นคิดว่าสามารถจะช่วยให้พ้นจากภัยได้ แต่การระลึกถึงสิ่งใดก็ไม่ประเสริฐเท่ากับการระลึกถึงสิ่งที่ทำให้กุศลจิตเกิด ถ้าขณะนั้นท่านผู้ฟังไปนึกถึงเรื่องอื่นก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
ในขณะที่มีเหตุการณ์คับขันเกิดขึ้น และสามารถระลึกถึงสิ่งที่จะทำให้จิตเป็นกุศลเกิดขึ้นได้ ก็จะกั้นอุปสรรคต่างๆ ซึ่งก็ต้องแล้วแต่กรรมของท่านด้วย
หลายท่านถ้าอยู่ในที่คับขัน ท่านจะถูกประทุษร้าย หรือว่าถูกโจรผู้ร้ายเบียดเบียนใดๆ ก็ตาม บางท่านพูดสัจจะ จริงๆ ตรงๆ ก็ผ่านพ้นภัยไปได้ หรือว่าบางท่านก็ท่องพระพุทธคุณ อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมา คนฟังได้ยินเท่านั้น ก็ละอายใจในการที่จะกระทำอกุศลกรรมกับบุคคลที่มั่นคงในกุศล ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยประกอบกันหลายประการที่จะทำให้ชีวิตของท่านในขณะนั้นเป็นไปอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะต้องไม่พ้นจากกรรมที่ท่านได้กระทำแล้ว แต่ไม่ควรประมาทปัจจัยอื่น เช่น กุศลจิตที่ควรจะเกิดขึ้นในขณะนั้นด้วย
สำหรับคำถามข้อ ๕ ที่ถามว่า สีลัพพตปรามาส มีอธิบายอย่างไร คนที่ยังละเรื่องเวทมนต์ของขลังไม่ได้ เรียกว่า ยังละสีลัพพตปรามาสไม่ได้ใช่ไหม
เรื่องของสีลัพพตปรามาสนั้น เป็นการเชื่อและการปฏิบัติผิดๆ ด้วยความเห็นผิดที่ไม่รู้เหตุและผลของสภาพธรรมตามความเป็นจริง โดยปรมัตถธรรมสีลัพพตปรามาส ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก เป็นความเห็นผิด ซึ่งเมื่อความเห็นผิดเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้มีความเชื่อในสิ่งที่ผิดๆ และมีการปฏิบัติในสิ่งที่ผิดๆ ด้วย
ส่วนเรื่องของเวทมนต์ของขลัง เป็นเรื่องของความเชื่อในวัตถุที่คิดว่าสามารถทำให้เกิดผลตามที่ต้องการได้ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว สภาพธรรมที่เป็นผลย่อมเกิดมาจากเหตุ ด้วยเหตุนี้ จึงควรเชื่อในเรื่องกรรมของตนเอง
ผู้ฟัง เรื่องของคาถานี้ บางทีอาจารย์ก็ร้อยกรองมาจากบาลี อย่างคาถาธรรมมงคล คู่บ่าวสาวจะแต่งงาน ธรรมมงคลอันนี้ พุทฺธสํ มงฺคลํ โลเก แปลว่า พระพุทธเจ้าเป็นมงคลในโลก พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้าเป็นมงคลในโลก นำเอา พุทธพจน์มาเป็นมงคล
สุ. คาถาที่กล่าวในงานมงคล เมื่อแปลแล้วก็เป็นการเตือนให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ เป็นธรรมดาสำหรับการที่เป็นมงคล ก็ไม่ควรจะละเลยโอกาสที่จะเตือนสติให้บุคคลนั้น ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในเมื่อเป็นสิ่งที่เป็นมงคล ก็ควรที่จะระลึกถึงบ่อยๆ
ผู้ฟัง นี่เป็นเรื่องจริง เมื่อผมบวชเป็นพระ อายุสัก ๒๔ ปี กรมขุนวรพงศ์สร้างพุทธาภิเษกที่วัดอนงค์ ไปนิมนต์หลวงพ่อวัดมะขามเฒ่ามาอยู่ที่กุฏิสมเด็จเจ้าอาวาส เวลานั้นท่านอายุ ๗๐ ปี สมเด็จท่านก็สั่งให้คอยอุปัฏฐาก มีคนมาขอคาถาขายของ คาถาเมตตา
สุ. คาถาศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายนี้ ขึ้นอยู่กับกรรมที่ท่านผู้นั้นประพฤติปฏิบัติ ถึงแม้ว่าจะได้รับการปลุกเสกคาถาของขลังต่างๆ ก็ตาม แต่ประพฤติชั่ว ประพฤติทุจริต จะได้ผลเป็นกุศลวิบากย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจเรื่องของเหตุและผลตามความเป็นจริง ก็ย่อมจะเห็นว่า กุศลวิบากทั้งหลายนั้นเป็นผลของกุศลกรรม และมีผู้ที่ได้รับกุศลวิบากมากมายโดยที่ไม่ได้รับการปลุกเสกเวทมนต์คาถาจากใครเลยทุกยุคทุกสมัย แม้ในสมัยนี้ ก็ยังเห็นบรรดาผู้ที่ได้รับผลของกุศลที่ท่านได้กระทำไว้ ทั้งกุศลวิบากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้รับการปลุกเสกของขลังอะไรจากใครเลย ส่วนผู้ที่ไปได้รับการปลุกเสกมา หรือได้คาถาเวทมนต์ต่างๆ มา แต่ไม่ได้ประพฤติกุศลกรรม ก็ย่อมไม่มีหวังเลยว่าจะได้รับผลของกุศลกรรม เพราะไม่ได้กระทำเหตุไว้ แม้จะได้เวทมนต์คาถาต่างๆ แต่เมื่อการกระทำเป็นทุจริต เป็นอกุศลกรรม ก็ย่อมได้รับอกุศลวิบาก
คำถามข้อ ๖ ท่านถามว่า พระที่ยังลงเลข ลงยันต์ ตะกรุด พิสมร แจกพระ แจกเหรียญ หรือขายพระ ขายเหรียญให้กับชาวบ้าน จะเป็นการทำให้คนโง่หลง งมงาย หรือว่าหลอกลวงชาวบ้านหรือไม่ เพราะเหตุไร
ความจริงแล้ว ดิฉันเองไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจจริงๆ ว่า ลงเลขคืออย่างไร ลงยันต์ ตะกรุด พิสมร ไม่ทราบว่าเป็นอะไร แต่ว่าพระเครื่อง หรือว่าเหรียญต่างๆ เคยเห็นและทราบว่าโดยมากก็เป็นรูปของพระภิกษุผู้สร้าง บางครั้งก็เป็นพระพุทธรูป
ผู้ฟัง เมื่อครั้งผมบวชเป็นพระ ผมเป็นพระอุปัฏฐากหลวงพ่อวัดมะขามเฒ่า ใครต่อใครมาขอตะกรุด พิสมร ท่านก็ให้ผมลงคาถาโดยท่านเป็นผู้บอก แผ่นที่มาขอลงเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ เขาเรียกว่า ตะกรุด เป็นทองบ้าง เป็นนาคบ้าง เป็นเงินบ้าง ท่านก็ให้เราลง และก็ม้วน ท่านบอกว่า ความขลังอยู่ที่ท่านเสก
สุ. เป็นเรื่องของความเชื่อ ที่คิดว่าสิ่งนั้นๆ จะคุ้มครองป้องกัน หรือว่าจะทำให้เกิดผลได้ ก็เป็นชีวิตประจำวันของหลายท่านทีเดียวซึ่งจะประสบพบเห็น หรือว่าได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ แม้ในหมู่ชาวพุทธหรือในประเทศของชาวพุทธ ที่จะมีความเชื่อถือในเรื่องเครื่องรางของขลังต่างๆ
เพราะฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุด ไม่ใช่สอนให้บุคคลเชื่อ หรือพึ่งสิ่งอื่นที่เป็นวัตถุที่เข้าใจว่าเป็นของขลัง แต่ให้สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นกรรมและเป็นวิบากได้ถูกต้อง
ผู้ฟัง ในหนังสือพุทธเจดีย์สยามของสมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ท่านเล่าเรื่องพระเครื่องว่า คนไทยไปไหว้พระที่อินเดีย ขากลับอยากจะมีอะไรติดมือมาบ้าง พวกอินเดียก็เอาดินมาปั้นเป็นรูปพระมาขาย นี่เป็นที่มาของพระเครื่อง กรมพระยาดำรง ฯ ท่านเขียนไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔
อีกเรื่องหนึ่ง อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ท่านบอกว่า เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว มีลัทธิต่างๆ แยกเป็นเถรวาท มหายาน ประเทศไทยเป็นเถรวาท มหายานมีในหลายประเทศ เช่น จีน ญวน และมหายานยังแยกออกไปอีก เช่น มนตรยาน ซึ่ง พวกลัทธิมนตรยานทำตะกรุด พิสมร ไม่ใช่ลัทธิเถรวาท
สุ. การลงเลข ลงยันต์ ตะกรุด พิสมร แจกพระ แจกเหรียญ ขายพระ ขายเหรียญ ย่อมขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้กระทำว่า มีเจตนาอย่างไร ถ้าท่านเป็นผู้ที่ใคร่จะให้บุคคลอื่นน้อมระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย เพื่อที่จะยับยั้งอกุศลกรรม เพราะว่าโดยมากหลายท่านในสมัยนี้ต้องการสิ่งที่ง่ายๆ ลัดๆ ได้ผลรวดเร็ว ซึ่งถ้าจะให้ศึกษาธรรม ปฏิบัติตามธรรม ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลส ท่านรู้สึกว่า เป็นเรื่องช้า เป็นเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะไม่เกิดผลอะไร เพราะฉะนั้น ท่านก็อยากได้วิธีลัด ที่จะเตือนให้ท่านระลึกถึงพระรัตนตรัย และละเว้นทุจริต ซึ่งบางท่านก็อาจจะมีสิ่งที่เตือนให้ท่านระลึกถึงพระรัตนตรัย เช่น พระพุทธรูป ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลว่า ท่านมีศรัทธาทางใดที่จะทำให้ท่านละเว้นทุจริตได้ ท่านก็พากเพียรหาทางนั้น แต่ต้องแล้วแต่เจตนา
บางท่านกราบไหว้นมัสการพระพุทธรูป แต่เพื่ออะไร นี่ก็เป็นปัญหาต่อไปอีก กราบไหว้เคารพบูชา ระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย หรือว่ากราบไหว้บูชา เพื่อปรารถนาจะได้รับสิ่งตอบแทนที่ท่านหวัง โดยการอธิษฐานขอสิ่งนั้นบ้าง ขอสิ่งนี้บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องความละเอียดของจิตใจ และผลที่จะเกิดขึ้นก็เป็นความละเอียดขึ้น ที่ว่า แล้วแต่กุศลกรรมที่ได้กระทำ มีโอกาสที่จะให้ผลเมื่อไรก็ให้ผลเมื่อนั้น แต่บางท่านไม่ทราบ คิดว่าผลที่ได้รับนั้นมาจากการขอ ไม่ทราบว่ามาจากกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว
สำหรับในเรื่องของเครื่องรางของขลังต่างๆ หรือว่าอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ซึ่งอาจจะทำให้ท่านเห็นและเข้าใจว่า มีผลสำหรับท่าน แต่ว่าผลสุดท้ายสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ไม่สามารถที่จะช่วยให้ท่านพ้นจากสังสารวัฏฏ์ได้ ไม่สามารถที่จะทำให้ท่านพ้นจากการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายจริงๆ ได้ เพราะแม้ว่าท่านจะมีวัตถุสิ่งที่ท่านเชื่อถือสักเพียงไรก็ตาม ท่านก็ยังมีการเจ็บ มีการแก่ และมีการตายไป ซึ่งเป็นของที่แน่นอนที่สุดสำหรับทุกท่าน ไม่ว่าท่านจะได้ยินได้ฟังมาว่า บุคคลนั้น บุคคลนี้เป็นผู้ที่มี คุณวิเศษในทางอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ แต่บุคคลเหล่านั้น จะพ้นไปจากการแก่ เจ็บ ตายไม่ได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๑ ตอนที่ ๕๐๑ – ๕๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 481
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 482
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 483
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 484
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 485
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 486
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 487
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 488
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 489
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 490
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 491
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 492
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 493
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 494
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 495
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 496
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 497
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 498
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 499
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 500
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 501
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 502
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 503
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 504
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 505
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 506
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 507
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 508
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 509
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 510
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 511
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 512
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 513
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 514
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 515
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 516
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 517
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 518
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 519
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 520
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 521
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 522
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 523
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 524
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 525
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 526
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 527
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 528
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 529
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 530
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 531
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 532
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 533
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 534
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 535
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 536
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 537
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 538
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 539
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 540