แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 515
ครั้งที่ ๕๑๕
ข้อความต่อไปมีว่า
ก็โดยสมัยนั้นแล ประชาชนทั้งหลายได้จัดตั้งลำดับภัตตาหารอันประณีตไว้ที่พระนครนครกุสินารา ครั้นโรชะมัลลกษัตริย์ไม่ได้ลำดับที่จะถวายภัตตาหารจึงได้ทรงดำริว่า ไฉนหนอ เราพึงตรวจดูโรงอาหาร สิ่งใดไม่มีในโรงอาหาร เราพึงตกแต่งสิ่งนั้นถวาย ครั้นแล้วทรงตรวจดูในโรงอาหาร ไม่ทอดพระเนตรเห็นของ ๒ อย่าง คือ ผักสด ๑ ของขบฉันที่ทำด้วยแป้ง ๑ จึงเสด็จเข้าไปหาท่านพระอานนท์ ครั้นแล้วได้ทูลหารือว่า
ท่านพระอานนท์เจ้าข้า เมื่อข้าพเจ้าไม่ได้ลำดับที่จะถวายภัตตาหาร ณ สถานที่แห่งนี้ ได้มีความดำริว่า ไฉนหนอ เราพึงตรวจดูโรงอาหาร สิ่งใดไม่มีในโรงอาหาร เราพึงตกแต่งสิ่งนั้นถวาย ท่านพระอานนท์เจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นเมื่อตรวจดูโรงอาหาร ไม่ได้เห็นของ ๒ อย่าง คือ ผักสด ๑ ของขบฉันที่ทำด้วยแป้ง ๑ หากข้าพเจ้าพึงตกแต่งผักสดและของขบฉันที่ทำด้วยแป้งถวาย พระผู้มีพระภาคจะพึงทรงรับของข้าพเจ้าหรือไม่เจ้าข้า
ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า
ท่านโรชะ ถ้ากระนั้นอาตมาจะทูลถามพระผู้มีพระภาคดู
แล้วได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อานนท์ ถ้าเช่นนั้นจงให้เขาตกแต่งเถิด
ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า
ท่านโรชะ ถ้ากระนั้นท่านจงตกแต่งถวาย
โรชะมัลลกษัตริย์จึงสั่งให้ตกแต่งผักสด และของขบเคี้ยวที่ทำด้วยแป้งเป็นอันมาก โดยผ่านราตรีนั้นแล้ว น้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคพลางกราบทูลว่า
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงโปรดรับผักสด และของขบฉันที่ทำด้วยแป้งของข้าพระพุทธเจ้าเถิด พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร โรชะ ถ้าเช่นนั้นจงถวายภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ ไม่รับประเคน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด
ขณะนั้นโรชะมัลลกษัตริย์ทรงอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยผักสดและของขบฉันที่ทำด้วยแป้งมากมายด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ จนยังพระผู้มีพระภาคผู้ล้างพระหัตถ์แล้ว ทรงนำพระหัตถ์จากบาตร ให้ห้ามภัตแล้ว ได้ประทับเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้โรชะมัลลกษัตริย์ผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ทรงเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ
พระพุทธานุญาตผักและแป้ง
ภายหลังพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผักสดทุกชนิดและของขบฉันที่ทำด้วยแป้งทุกชนิด
ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระภิกษุ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต ทรงจำกัดเฉพาะกาล คือ เวลาของการบริโภคเท่านั้น เพราะว่าสำหรับเพศบรรพชิต ไม่ควรที่จะประพฤติอย่างฆราวาส คือ ไม่ควรที่จะบริโภคในเวลาที่วิกาล คือ หลังจากเที่ยงแล้ว ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่เหมาะ ไม่ควรสำหรับผู้ที่เป็นบรรพชิต ผู้ฟัง ตามที่อาจารย์กล่าวมาแล้วนั้น อาจารย์กล่าวใน มหาวิภังค์ ซึ่งเป็นเรื่องของพระวินัยทั้งนั้น วินัยต่างๆ เหล่านี้จะมีขึ้นได้เนื่องจากมีเหตุ พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติพระวินัย ผมเองก็อ่านมหาวิภังค์นี้เหมือนกัน เมื่ออ่านแล้วผมก็ดูในโภชนวรรค โภชนวรรคทั้งหมดกล่าวถึงเรื่องอาหารทั้งนั้น อาหารที่อนุญาตนี้ ท่านก็ทรงอนุญาตเฉพาะกาลเพียงครั้งหนึ่งหรือสองครั้งเป็นอย่างมาก เพียงครั้งหนึ่งนี้เป็นประจำ แต่ ๒ ครั้งก็ไม่ใช่ที่ภิกษุจะรับอาหารนี้ได้ตามชอบใจ อาจจะเป็นกาลที่ว่า พวกทายกเขาเอาจีวรมาถวาย และมีอาหารมาถวายด้วย ภิกษุทั้งหลายก็ไม่รับอาหาร และเขาก็ไปทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็บัญญัติสิกขาบทขยายเพิ่มเติมว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ในกาลที่ถวายจีวรอย่างนี้ ถ้ามีอาหารมาด้วยก็ให้รับได้ ในโภชนวรรคนี้ ถ้าดูคำจำกัดความในนั้นแล้ว จะเห็นได้ว่า เป็นผู้ที่มีปกติบริโภคหนเดียวทั้งนั้น
แม้แต่ว่ารับอาราธนาจากที่ใดที่หนึ่งไว้แล้ว คือ ภิกษุรับอาราธนาไว้แล้ว แต่เวลาเช้าก็ออกไปบิณฑบาตก่อน ฉันเสร็จแล้ว พอถึงเวลาที่ทายกอาราธนาไว้ ภิกษุนั้นก็ไป แต่บอกกับเขาว่า ถวายน้อยๆ ทายกนั้นเขาก็เอาไปนินทาว่า ทำไมของฉันไม่ดีหรืออย่างไร ทำไมให้ถวายน้อยๆ จนความนี้ทราบไปถึงพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า อย่างนี้ไม่ถูก รับอาราธนาเขาไว้แล้ว ทำไมจึงไปเที่ยวบิณฑบาตเสียก่อนเล่า มีเรื่องต่างๆ เหล่านี้มากมาย ที่เป็นข้อยกเว้นมีเพียงเล็กน้อยนิดหน่อยเท่านั้น ในกาลที่จะให้ฉันอาหาร
ที่นำมาพูดนี้ เกี่ยวเนื่องไปถึงคำขยายความของท่านอรรถกถาจารย์ที่ท่านว่า รับอาหารตั้ง ๑๐ ครั้ง ก็เรียกว่ารับอาหารครั้งเดียว ถือว่าเป็นการรับครั้งเดียว ผมติดใจตรงนั้น แต่ว่าโดยปกติทั่วๆ ไป พระภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ที่มีปกติฉันอาหารมื้อเดียวมื้อหนึ่ง ไม่ใช่หมายความว่าคำเดียว แต่อิ่มหนึ่งนั่นแหละ ในบางที่ท่านก็ใช้คำว่า เอกาสนโภชนํ ภุญฺชามิ คือ ฉันอาหารที่อาสนะเดียว อาสนะเดียวท่านอาจจะนั่งฉันตั้งแต่รุ่งอรุณจนถึงเที่ยงก็ได้ สุดแล้วแต่ท่าน แต่ถ้าลุกจากอาสนะแล้ว ฉันอีกไม่ได้
ถ้าจะดูในพระวินัย ที่ท่านอาจารย์อ่านเมื่อสักครู่นี้ ผมก็ยังเข้าใจว่า พระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้ที่เคารพพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ถ้ามีอะไรแปลกปลอมเข้ามา เช่นว่า อาหารจะเกินมา ก็ถือว่าไม่ถูก ผิดพระวินัยเสียแล้ว บางครั้งถึงกับพลาดพลั้ง กะเวลาผิดไป อดอาหารก็ยังมีเลย รังเกียจอาหารที่เขานำมาถวายนอกเวลาบ้าง หรือในเวลา แต่ ๒ ครั้งบ้าง ๓ ครั้งบ้าง ท่านก็รังเกียจอาหารนั้น
ส่วนใหญ่เท่าที่ผมตรวจดูจริงๆ ผมเข้าใจว่าอย่างนี้ แม้พระพุทธองค์เองก็ทรงตักเตือนภิกษุทั้งหลาย พระองค์เองก็ฉัน เอกาสนโภชนํ ฉันที่นั่งเดียว และบอกว่าการฉันที่นั่งเดียวนี้ทำให้มีอาพาธน้อย ทำให้มีความสุขสบาย อะไรหลายอย่าง แนะนำภิกษุทั้งหลายก็ควรจะฉันอย่างนี้เหมือนกัน
นี่เป็นคำที่พระพุทธองค์ท่านตรัสอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ที่ผมเอามาเรียนนี้ ข้องใจเรื่องคำของอรรถกถาเท่านั้นเอง ทำไมจึงไปขยายความว่า ฉันตั้ง ๑๐ ครั้งก็ยังถือว่าครั้งเดียว ที่อรรถกถาท่านอธิบายอย่างนี้นั้น ท่านได้ตรวจดูแล้วหรือว่า พระพุทธองค์ท่านตรัสไว้อย่างไร แต่ว่าถ้าตรวจดูจริงๆ ด้วยความพินิจพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์มีพระประสงค์จะให้พระภิกษุลดกิเลสลงมากๆ จึงให้ฉันอาหารเพียงครั้งเดียว นอกจากจำเป็นจริงๆ ในบางครั้งบางโอกาส เช่น อาพาธ เป็นต้น ก็ทรงอนุญาตเป็นพิเศษ ท่านก็บัญญัติสิกขาบทเพิ่มเติมขึ้นมานิดๆ หน่อยๆ
สุ. การปฏิบัติธรรมต้องเป็นไปตามกำลังของแต่ละบุคคลที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ ไม่ว่าในครั้งโน้น หรือในครั้งนี้ก็ตาม พระภิกษุสงฆ์ที่มีเจตนาที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติเพื่อขัดเกลากิเลส แต่ละท่านก็มีการสะสมมา ต่างๆ กัน ไม่เฉพาะแต่ในเรื่องของจิตใจ ในเรื่องกำลังของร่างกายที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้มากน้อยเคร่งครัดก็ต่างกันด้วย ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงทราบถึงเหตุนี้และเห็นว่า การเป็นเพศภิกษุเป็นคุณอย่างใหญ่หลวงที่จะสะสมปัจจัยที่จะเป็นบารมีสืบต่อไปในการที่จะให้บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ เท่าที่สิ่งแวดล้อมหรือว่าโอกาสจะอำนวยในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ
แม้แต่ทุกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ ก็คงจะไม่สามารถทราบว่า ในอดีตชาติเนิ่นนานผ่านมาแล้ว ท่านได้เคยเป็นพระภิกษุสามเณรมาหรือเปล่า ปัจจุบันนี้มีชีวิตเป็นฆราวาสอย่างนี้ ในภพนี้ ในชาตินี้ แต่ในชาติก่อนๆ จะมีการสะสมอุปนิสัยปัจจัยที่จะเป็นบรรพชิต หรือจะเป็นผู้ที่ฝักใฝ่ในธรรมในการที่จะขัดเกลากิเลสบ้างไหม ซึ่งแต่ละภพ แต่ละชาติ ก็เปลี่ยนไปตามปัจจัย สิ่งแวดล้อมต่างๆ
เพราะฉะนั้น การที่พระผู้มีพระภาคทรงเห็นประโยชน์ใหญ่ของการที่จะให้บุคคลผู้มีศรัทธา สามารถที่จะประพฤติดำรงอยู่ในพระธรรมวินัยได้ ก็ต้องทรงบัญญัติข้อประพฤติปฏิบัติที่กระทำได้ตามความสามารถของแต่ละบุคคล ถ้าบุคคลใดสามารถที่จะขัดเกลากิเลสอย่างยิ่งยวดด้วยการรักษาธุดงค์ ซึ่งเป็นข้อประพฤติปฏิบัติขัดเกลาเป็นพิเศษ ก็ทรงอนุโมทนา ทรงสรรเสริญพวกธุตวาท หรือว่าผู้ที่สรรเสริญธุดงค์ต่างๆ ซึ่งเป็นการขัดเกลาอย่างยิ่งยวด ที่ควรแก่การสรรเสริญจริงๆ แต่มิได้ทรงบังคับว่า จะต้องประพฤติปฏิบัติตามนั้นทุกรูป ผู้ใดมีศรัทธา มีกำลังที่จะสามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ ก็ประพฤติปฏิบัติตาม แต่ถ้าผู้ใดไม่สามารถจะประพฤติปฏิบัติตามได้ ก็ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่ได้ทรงบัญญัติไว้ ซึ่งเป็นเป็นข้อปฏิบัติที่เกื้อกูลและอนุเคราะห์ให้ที่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ตามกำลังของศรัทธา
ในเรื่องอาหารที่ประณีตก็ทรงอนุญาต ในเรื่องอาหารที่เป็นประโยชน์ก็ทรงอนุญาต ในเรื่องของขบเคี้ยวก็ทรงอนุญาต การบริโภคอาหารที่ควรแก่กาล คือ ภายในเที่ยง ก็ได้ทรงอนุญาต สำหรับท่านอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย ท่านก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยทั้ง ๓ ปิฎก ถ้าท่านผู้ฟังจะพิจารณาดูจากความเข้าใจในธรรมที่ท่านได้เกื้อกูลอธิบาย ถ่ายทอด จารึกไว้ นี่หมายความถึงท่านอรรถกถาจารย์รุ่นก่อนซึ่งใกล้ชิดกับพระธรรมวินัยในยุคต้นๆ ของพระศาสนา ท่านก็ประมวลเหตุผลต่างๆ ข้อความต่างๆ จากพระไตรปิฎกนั้นเอง เพื่อให้สะดวกแก่บุคคลรุ่นหลังจะได้เข้าใจเป็นเบื้องต้นก่อน และเมื่อได้พบข้อความนั้นในพระไตรปิฎก ก็จะได้เห็นว่า สอดคล้องกับข้อความที่ท่านได้กล่าวไว้ สำหรับข้อความที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระธรรมวินัย ท่านผู้ฟังก็สามารถที่จะสอบทานได้กับข้อความในพระไตรปิฎกว่าตรงกันหรือต่างกันอย่างไร
เรื่องของอาหารเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ แม้แต่ผู้ที่เป็นพระภิกษุก็ยังไม่พ้นไปจากเรื่องของการบริโภคอาหาร ด้วยเหตุนี้ข้อความในพระวินัยปิฎกก็มีมากที่เกี่ยวกับศรัทธาของพุทธบริษัทที่ใคร่จะได้ถวายอาหารที่เป็นประโยชน์แก่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งจะขอกล่าวถึงเรื่องเกี่ยวกับการบริโภคของพระภิกษุ ใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค เภสัชชขันธกะ เรื่องพระพุทธคุณ มีข้อความว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครเวสาลีตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จจาริกทางพระนครภัททิยะ พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จจาริกโดยลำดับ ได้เสด็จถึงพระนครภัททิยะแล้ว ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ ชาติยาวัน เขตพระนครภัททิยะนั้น
เมณฑกะคหบดีได้ทราบข่าวการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาค เมณฑกะคหบดีก็ได้จัดยวดยานหลายคันจากพระนครภัททิยะเพื่อที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ข้อความต่อไป ใน พระวินัยปิฎก มีว่า
พวกเดียรถีย์เป็นอันมาก ได้เห็นเมณฑกะคหบดีกำลังมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วได้ทักถามเมณฑกะคหบดีว่า
ท่านคหบดี ท่านจะไปที่ไหน
เมณฑกะคหบดีตอบว่า
ข้าพเจ้าจะไปเฝ้าพระสมณะโคดม เจ้าข้า
พวกเดียรถีย์กล่าวว่า
คหบดี ก็ท่านเป็นกิริยวาท จะไปเฝ้าสมณะโคดมผู้เป็นอกิริยวาททำไม เพราะพระสมณะโคดมเป็นอกิริยวาท แสดงธรรมเพื่อความไม่ทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น
ลำดับนั้น เมณฑกะคหบดีคิดว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจักเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แท้ไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้น เดียรถีย์พวกนี้จึงพากันริษยา แล้วไปด้วยยวดยานตลอดภูมิภาคที่ยวดยานจะไปได้ ลงจากยวดยานแล้ว เดินเข้าไปในพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ถ้าจะเปรียบเทียบกับชีวิตประจำวันในสมัยนี้ ก็มีใช่ไหม ผู้ที่มีความเห็นต่างๆ กัน และไม่ได้พิจารณาจริงๆ ว่า ธรรมข้อใดถูกข้อใดผิด มีเหตุผลผิดถูกประการใด ก็เพียงแต่ตัดสินตามที่ได้สะสมมา สิ่งที่ถูกก็กลับเห็นเป็นผิดอย่างพวกเดียรถีย์เป็นต้น แต่ท่านเมณฑกะคหบดี ท่านเป็นผู้ที่สะสมมาที่จะพิจารณารู้ว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจักเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แท้ไม่ต้องสงสัย เดียรถีย์พวกนี้จึงพากันริษยา ไม่ได้กล่าวถึงข้อปฏิบัติที่ละเอียดถี่ถ้วน เพียงแต่ตัดสินด้วยคำง่ายๆ ว่า เพราะท่านคหบดีเป็นกิริยวาท แต่พระผู้มีพระภาคเป็นอกิริยวาทะเท่านั้น
ซึ่งเมื่อเมณฑกะคหบดีได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงแสดงธรรมเมณฑกะคหบดีก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ข้อความที่แสดงถึงศรัทธาของท่านเมณฑกะคหบดีถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์มีว่า
เมณฑกะคหบดีอังคาสพระสงฆ์
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครภัททิยะตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วไม่ได้ทรงลาเมณฑกะคหบดี เสด็จพระพุทธดำเนินไปทางชนบทอังคุตตราปะ พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เมณฑกะคหบดีได้ทราบข่าวแน่ชัดว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางชนบทอังคุตตราปะพร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป จึงสั่งทาสและกรรมกรว่า พนายทั้งหลาย ถ้ากระนั้นพวกเจ้าจงบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้าง ลงในเกวียนให้มากๆ และคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คน จงพาแม่โคนม ๑,๒๕๐ ตัวมาด้วย เราจักเลี้ยงพระสงฆ์ด้วยน้ำนมสดอันรีดใหม่ที่มีน้ำยังอุ่นๆ ณ สถานที่ที่เราได้พบพระผู้มีพระภาค
ครั้นเมณฑกะคหบดีตามไปพบพระผู้มีพระภาค ณ ระหว่างทางกันดาร จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลอาราธนาว่า
พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปีติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด
พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ ครั้นเมณฑกะคหบดีทราบการทรงรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคม ทำประทักษิณกลับไป แล้วสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีต โดยผ่านราตรีนั้น แล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า
ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเสด็จ พระพุทธดำเนินเข้าสถานที่อังคาสของเมณฑกะคหบดี ครั้นแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดถวายพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จึงเมณฑกะคหบดีสั่งคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คนว่า
พนายทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้นจงช่วยกันจับแม่โคนมคนละตัว แล้วยืนใกล้ๆ ภิกษุรูปละคนๆ เราจักเลี้ยงพระด้วยน้ำนมสดอันรีดใหม่ที่มีน้ำยังอุ่นๆ
ครั้นแล้วได้อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต และด้วยน้ำนมสดอันรีดใหม่ด้วยมือของตน จนให้ห้ามภัตแล้ว ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ ไม่ยอมรับประเคนน้ำนมสด พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จงรับประเคนฉันเถิด
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๕๑๑ – ๕๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 481
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 482
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 483
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 484
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 485
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 486
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 487
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 488
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 489
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 490
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 491
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 492
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 493
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 494
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 495
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 496
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 497
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 498
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 499
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 500
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 501
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 502
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 503
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 504
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 505
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 506
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 507
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 508
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 509
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 510
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 511
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 512
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 513
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 514
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 515
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 516
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 517
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 518
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 519
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 520
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 521
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 522
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 523
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 524
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 525
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 526
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 527
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 528
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 529
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 530
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 531
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 532
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 533
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 534
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 535
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 536
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 537
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 538
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 539
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 540