แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 516


    ครั้งที่ ๕๑๖


    เมื่อเมณฑกะคหบดีอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต และด้วยน้ำนมสดอันรีดใหม่ด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จ ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรให้ห้ามภัตรแล้ว ได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมณฑกะคหบดีนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า

    มีอยู่ พระพุทธเจ้าข้า หนทางกันดาร อัตคัดน้ำ อัตคัดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงจะเดินทางไป ทำไม่ได้ง่าย ขอประทานพระวโรกาส ขอพระองค์โปรดทรงอนุญาตเสบียงเดินทางแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า

    เมณฑกานุญาต

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เมณฑกะคหบดีเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับไป

    หลังจากนั้นพระองค์ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโครส ๕ คือ นมสด นมส้ม เปรียง เนยข้น เนยใส

    มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย หนทางกันดาร อัตคัดน้ำ อัตคัดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงจะเดินทางไป ทำไม่ได้ง่าย เราอนุญาตให้แสวงหาเสบียงได้ คือ ภิกษุต้องการข้าวสาร พึงแสวงหาข้าวสาร ต้องการถั่วเขียว พึงแสวงหาถั่วเขียว ต้องการถั่วราชมาส พึงแสวงหาถั่วราชมาส ต้องการเกลือ พึงแสวงหาเกลือ ต้องการน้ำอ้อย พึงแสวงหาน้ำอ้อย ต้องการน้ำมัน พึงแสวงหาน้ำมัน ต้องการเนยใส ก็พึงแสวงหาเนยใส

    มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านที่มีศรัทธาเลื่อมใส เขามอบเงินทองไว้ในมือ กัปปิยการก สั่งว่า สิ่งใดควรแก่พระผู้เป็นเจ้า ขอท่านจงถวายสิ่งนั้นด้วยกัปปิยภัณฑ์นี้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีของอันเป็นกัปปิยะจากกัปปิยภัณฑ์นั้นได้ แต่เรามิได้กล่าวว่า พึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายไรๆ เลย

    ผู้ฟัง ตามที่อาจารย์กล่าวมานี้ มีศัพท์อยู่หลายศัพท์ ซึ่งผมเข้าใจว่า มีผู้ฟังเป็นจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจ เช่นคำว่า โภชนียะ ขาทนียะ และกัปปิยภัณฑ์ ศัพท์เหล่านี้ บางทีเข้าใจไม่ตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงจำแนกไว้ในสิกขาบทวิภังค์

    อย่างคำว่า โภชนียะ ท่านจำกัดความลงไปว่า เป็นพวกข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ ท่านจำกัดลงไปว่าเป็นโภชนียะ ท่านใช้ศัพท์คำบาลีว่า โภชโน มาโส สตฺตุ คำว่า สัตตุ เราจะคุ้นหูกันว่าขนม มัจโฉ ก็ปลา มังสะ ก็เนื้อ นี่ท่านอนุญาตไว้สำหรับที่เป็นโภชนียะ

    สำหรับคำว่า ขาทนียะ นอกจาก ๕ อย่างนั้นแล้วเป็นขาทนียะทั้งหมด ไม่ว่าอะไรๆ เป็นขาทนียะทั้งนั้น ท่านจำแนกไว้อย่างนี้

    กัปปิยภัณฑ์ บางทีมีกล่าวว่า มังสะอันเป็นกัปปิยะ เนื้ออันเป็นกัปปิยะ ซึ่งหมายความถึงเป็นสิ่งที่สมควร สมควรอย่างไร สมควรก็มีหลายอย่าง เช่น เนื้อเสือ เนื้ออะไรต่ออะไรที่ท่านห้ามไว้ อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นกัปปิยะ แต่เป็นอกัปปิยะ

    กัปปิยะยังมีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า สิ่งที่ไม่ได้เห็น สิ่งที่ไม่ได้ยิน สิ่งที่ไม่รังเกียจ ที่เขานำมาถวายนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นกัปปิยะได้เหมือนกัน ถ้ารังเกียจขึ้นมาก็เป็นอกัปปิยะไป มีศัพท์หลายๆ อย่างที่ท่านจำแนกเอาไว้ ไม่ใช่ไม่จำแนก ท่านจำแนกไว้ในพระธรรมวินัยทั้งหมด

    อาหารก็เหมือนกัน ที่ชื่อว่าอาหารนี้ อะไรๆ ที่รับประทานได้เป็นอาหารทั้งนั้น เว้นแต่น้ำกับไม้สีฟัน ท่านจำแนกไว้อย่างนี้

    ที่นำมาพูดๆ กัน บางทีก็เดา อย่างผมบางทีก็เดาเหมือนกัน อย่างโภชนียะก็เดา ขาทนียะก็นึกว่า ฝรั่งดองหรือมะยมดอง ของที่เคี้ยวอะไรอย่างนี้ เดาผิดทั้งนั้น ถ้าไปดูที่ท่านจำแนกไว้ ไม่ใช่อย่างนั้น

    บางทีศัพท์ต่างๆ เหล่านี้ หากทำความเข้าใจให้ว่าเป็นอะไรกันแน่ เราจะเข้าใจพระพุทธพจน์ได้ลึกซึ้งยิ่งกว่านี้ขึ้นอีกมาก ขอบพระคุณ

    สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟัง ที่ได้กรุณากล่าวถึงข้อความพยัญชนะในพระไตรปิฎก ซึ่งคงจะเป็นที่สนใจสำหรับท่านผู้ฟัง

    เรื่องของพระธรรมวินัย เป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ต้องศึกษาพิจารณาข้อความนั้นโดยรอบคอบจะทำให้เข้าใจยิ่งขึ้น อย่างข้อความที่ท่านผู้ฟังได้กล่าวถึง คำว่า ภัตตาหาร หรือว่าโภชนะ เป็นต้น ได้ยินคู่กันบ่อยๆ ภัตตาหารที่เข้าใจกัน หมายความว่า อาหารต่างๆ มีข้าวสุก เป็นต้น พอถึงโภชนะ ก็มีตามที่ทรงแสดงไว้ในคัมภีร์ พระวินัยปิฎก ปริวาร อุปาลิปัญจกะ โภชนะ ๕ ว่า โภชนะ ๕ นั้น ก็มีข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ จำกัดความว่าอย่างนี้ แต่จะรวมไปถึงอย่างอื่นด้วยหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ผักอีก อะไรอีก ของที่ทำด้วยแป้งบ้าง ของที่ทำด้วยอย่างอื่นบ้าง จะรวมอยู่ในโภชนะนี้ด้วยหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาให้ละเอียดจริงๆ ท่านที่สนใจในข้อความใด ส่วนใดในพระไตรปิฎก ควรที่จะได้ช่วยกันศึกษาค้นคว้าให้ยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้เกื้อกูลท่านผู้อื่นต่อๆ ไป อย่างภัตตาหาร ก็ได้แก่ ข้าวสุกและอาหารต่างๆ โภชนะก็มีข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ ไม่ได้ระบุไว้ว่า ผัก

    เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาค้นคว้าจริงๆ ให้เป็นความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น

    สำหรับเรื่องของโครส ๕ ซึ่งท่านได้ยินบ่อยๆ ก็ได้แก่ นมสด นมส้ม เปรียง เนยข้น เนยใส เป็นโครส ๕ แต่ไม่ใช่เภสัช ๕

    สำหรับเภสัช ๕ นั้น ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย

    เพราะฉะนั้น การวินิจฉัยธรรมแต่ละข้อว่า สิ่งใดควรบริโภคในกาลใด ก็ต้องแล้วแต่พระวินัยบัญญัติที่ได้วางไว้ว่า เภสัช ๕ ได้แก่อะไร

    เภสัช ๕ นั้น ก็ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ซึ่งเมื่อภิกษุรับประเคนของนั้นแล้ว พึงเก็บไว้ฉันได้ ๗ วันเป็นอย่างยิ่ง ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไป พึงปรับอาบัติตามธรรม

    เป็นเรื่องที่ถ้าท่านผู้ฟังสนใจ ก็ควรจะสอบถามพระภิกษุสงฆ์ หรือพระวินัยธร

    นี่เป็นความบกพร่องประการหนึ่งของฆราวาส อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งไม่ทราบจริงๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับพระธรรมวินัยอย่างละเอียดพอที่จะได้ถวายปัจจัยอย่างที่ควร ที่ได้ทรงอนุญาตไว้

    ในการที่จะศึกษาพระธรรมวินัยโดยละเอียด และพิจารณาในเหตุผลด้วย ขอกล่าวถึงอีกข้อหนึ่งใน มหาวิภังค์ ๑๖ มหาวาระ คำถามและคำตอบ โภชนวรรค ข้อ ๙๕

    ถามว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ทรงบัญญัติปาจิตตีย์ในเพราะโภชนะทีหลัง ณ ที่ไหน

    ตอบว่า ทรงบัญญัติ ณ พระนครเวสาลี

    ถามว่า ทรงปรารภใคร

    ตอบว่า ทรงปรารภภิกษุหลายรูป

    ถามว่า เพราะเรื่องอะไร

    ตอบว่า เพราะเรื่องที่ภิกษุหลายรูปรับนิมนต์ไว้ในที่แห่งหนึ่ง แล้วฉันในที่อื่น

    ข้อนี้ดูเผินๆ ก็เหมือนกับว่า จะห้ามไม่ให้บริโภคทีหลังอีก แต่ถ้าพิจารณาจากข้อความนี้จะเห็นได้ว่า เฉพาะภิกษุที่ได้รับนิมนต์ไว้ในที่แห่งหนึ่ง แล้วฉันในที่อื่น เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะว่าจะทำลายศรัทธาของชาวบ้าน ในเมื่อชาวบ้านผู้นั้นนิมนต์พระภิกษุนั้นแล้ว พระภิกษุนั้นก็ไม่ควรจะไปฉันที่อื่นก่อน หรือไปฉันที่อื่นทีหลัง เช่น ฉันที่นี่แล้วยังไปฉันที่อื่นอีก ไม่เป็นการสมควรสำหรับภิกษุที่ได้รับนิมนต์แล้ว

    ข้อ ๙๗

    ถามว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงบัญญัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว ฉันของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ที่ไม่เป็นเดน ณ ที่ไหน

    ตอบว่า ทรงบัญญัติ ณ พระนครสาวัตถี

    ถามว่า ทรงปรารภใคร

    ตอบว่า ทรงปรารภภิกษุหลายรูป

    ถามว่า เพราะเรื่องอะไร

    ตอบว่า เพราะเรื่องที่ภิกษุหลายรูปฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว ฉันในที่แห่งอื่น

    เรื่องนี้น่าจะมีข้อคิดที่ว่า ที่เป็นเดนฉันได้ แต่ถ้าที่ไม่เป็นเดนแล้ว เป็นอาบัติปาจิตตีย์

    คำอธิบายเรื่องของสิ่งที่ไม่เป็นเดน ใน พระวินัยปิฎก ปริวาร อุปาลิปัญจกะ มีข้อความว่า

    ท่านพระอุบาลีทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ของที่ไม่เป็นเดนมีเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อุบาลี ของที่ไม่เป็นเดนนี้มี ๕ อย่าง ๕ อย่างอะไรบ้าง คือ

    ๑. ภิกษุไม่ทำให้เป็นกัปปิยะ คือ ไม่ทำให้เป็นของควรแก่การบริโภค

    ๒. ไม่รับประเคน

    ๓. ไม่ยกส่งให้

    ๔. ทำนอกหัตถบาส

    ๕. มิได้กล่าวว่า ทั้งหมดนั่นพอแล้ว

    ดูกร อุบาลี ของที่ไม่เป็นเดนมี ๕ อย่างนี้แล

    ส่วนของที่เป็นเดนก็ตรงกันข้าม

    เวลาที่ศึกษาพระธรรมวินัย ต้องเข้าใจความหมายของพยัญชนะนั้นตามที่ได้ทรงบัญญัติไว้ว่า คำนั้นหมายความว่าอย่างไร

    ในพระไตรปิฎกมีอีกตอนหนึ่ง ท่านผู้ฟังคงจะจำได้เรื่องที่พราหมณ์ถวายยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวาน ซึ่งครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จพุทธดำเนินมุ่งไปทาง อันธกวินทชนบท พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป คราวนั้นประชาชนชาวชนบทบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของควรเคี้ยวบ้างเป็นอันมากมาในเกวียน เดินติดตามภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมาข้างหลังๆ ด้วยตั้งใจว่า ได้โอกาสเมื่อใดจักทำภัตตาหารถวายเมื่อนั้น

    อนึ่ง คนกินเดนประมาณ ๕๐๐ คน ก็พลอยเดินติดตามไปด้วย

    นี่คือ คนกินเดนที่เราเข้าใจกัน

    ข้อความในพระวินัยปิฎกตอนนี้ มีข้อความที่กล่าวถึงผู้ที่ถวายน้ำอ้อยแก่พระผู้มีพระภาค แก่พระภิกษุสงฆ์จนเหลือ จนพอแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้พราหมณ์นั้นให้งบน้ำอ้อยแก่พวกกินเดนด้วย และทั้งๆ ที่ให้แก่พวกกินเดนแล้ว ก็ยังเหลืออีก พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า เธอจงให้งบน้ำอ้อยแก่พวกคนกินเดนจนพอแก่ความต้องการ ซึ่งนั่นก็เป็นอีกความหมายหนึ่งของคนกินเดน แต่ไม่ใช่เป็นของที่เป็นเดนตามพระวินัย

    . เมื่อสักครู่ที่อาจารย์กล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุเดินทางเอาเสบียงไป มีถั่วบ้าง งาบ้าง ถั่วเขียวบ้าง ข้าวสารบ้าง จนกระทั่งตอนสุดท้าย มีอุบาสก อุบาสิกาถวายปัจจัย หรือว่าถวายเงินนั่นแหละ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตใช่ไหม

    ในพระวินัยที่อาจารย์กล่าวถึงเมื่อสักครู่ อนุญาตให้อุบาสกอุบาสิกาถวายเงินได้ ก็หมายความว่า อนุญาตให้จับเงินจับทองได้ใช่ไหม

    สุ. ต้องถวายกับไวยาวัจกร

    ข้อความที่กล่าวถึงเมื่อสักครู่มีว่า

    มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านที่มีศรัทธาเลื่อมใส เขามอบเงินทองไว้ในมือ กัปปิยการก สั่งว่า สิ่งใดควรแก่พระผู้เป็นเจ้า ขอท่านจงถวายสิ่งนั้นด้วยกัปปิยภัณฑ์นี้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีของอันเป็นกัปปิยะจากกัปปิยภัณฑ์นั้นได้ แต่เรามิได้กล่าวว่า พึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายไรๆ เลย

    ไม่ใช่ให้ถวายโดยตรง แต่มอบไว้ในมือกัปปิยการก ผู้ที่ดูแล ผู้ที่สมควร ที่จะจัดของสำหรับถวาย พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ยินดีของอันเป็นกัปปิยะที่สมควร จากกัปปิยภัณฑ์ จากเงินทองที่เขาให้แก่กัปปิยการกนั้น แต่พระผู้มีพระภาคมิได้กล่าวว่า พึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายไรๆ เลย

    ไวยาวัจกรก็ได้ หรือใครก็ได้ ที่สามารถจะจัดหาของสำหรับถวายพระภิกษุได้

    สำหรับในศีลข้อที่ ๑๐ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงเน้นชัดในเรื่องที่ไม่ใช่จับ แต่เป็นเรื่องที่ยินดี คือ ไม่ให้ยินดีในเงินและทอง ถ้าเป็นของที่มีค่า หรือเงินทองของใครก็ตามซึ่งลืมทิ้งไว้ในพระวิหาร พระภิกษุเก็บรักษาไว้ให้ผู้นั้นได้ จับโดยไม่ยินดีได้ แต่แม้ไม่จับ แต่ยินดี ก็ไม่ควร

    จุดประสงค์ของพระธรรมวินัย เพื่อละ เพื่อขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น ก็มุ่งถึงการไม่ยินดีในเงินและทอง ไม่ใช่มุ่งเพียงแค่จับการจับต้องเงินทอง ฆราวาสก็อย่างหนึ่ง บรรพชิตก็อย่างหนึ่ง นี่เป็นข้อที่ต่างกันระหว่างบรรพชิตกับฆราวาส จิตที่ไม่ยินดีเป็นสิ่งที่สำคัญ ถึงไม่จับต้อง แต่ยินดี ก็ไม่สมควร

    ข้อความในพระไตรปิฎกที่เกี่ยวกับการบริโภคอาหารของพระภิกษุมีมาก ซึ่งท่านผู้ฟังที่สนใจสามารถที่จะศึกษาได้จากพระวินัยปิฎก มหาวรรค

    สำหรับเรื่องของการเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ลฑุกิโกปมสูตร ท่านผู้ฟังจะได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงให้ละการฉันโภชนะในเวลาวิกาลในกลางวัน และทรงให้ละเว้นการฉันโภชนะในเวลาวิกาลในราตรี ซึ่งมีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในอังคุตตราปชนบท ...

    ลำดับนั้น เวลาเย็น ท่านพระอุทายีออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    ท่านพระอุทายีนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อข้าพระองค์อยู่ในที่ลับเร้นอยู่ ได้เกิดความดำริแห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้หนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้หนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำกุศลธรรมเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเมื่อก่อนข้าพระองค์เคยฉันได้ทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาลในกลางวัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้มีสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลาย จงละการฉันโภชนะในเวลาวิกาล ในเวลากลางวันนั้นเสียเถิด ดังนี้

    ข้าพระองค์นั้น มีความน้อยใจ มีความเสียใจ คฤหบดีทั้งหลายผู้มีศรัทธาจะให้ของควรเคี้ยวของควรบริโภคอันประณีตในเวลาวิกาลในกลางวันแก่เราทั้งหลายแม้อันใด พระผู้มีพระภาคตรัสการละอันนั้นของเราทั้งหลายเสียแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้น เมื่อเห็นกะความรัก ความเคารพ ความละอาย และความเกรงกลัวในพระผู้มีพระภาค จึงละการฉันโภชนะในเวลาวิกาลในกลางวันนั้นเสีย ด้วยประการอย่างนี้

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้น ย่อมฉันในเวลาเย็น และเวลาเช้า

    แสดงให้เห็นว่า ในตอนแรกพระภิกษุทั้งหลายท่านอบรมเจริญสติปัฏฐานตามปกติ และท่านก็ฉันได้ทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาลในกลางวัน แต่เมื่อท่านฉันในเวลาวิกาลในกลางวัน ก็เป็นที่ติเตียนของชาวบ้านเป็นอันมากว่า เป็นเช่นเดียวกับคฤหบดี ไม่เหมาะ ไม่ควรแก่บรรพชิต



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๕๑๑ – ๕๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564