แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 518


    ครั้งที่ ๕๑๘


    สุ. ในห้องนี้มีหลายอย่าง แต่การที่จะรู้ รู้แต่ละอย่าง ทีละอย่าง เพราะว่าขณะนั้นกำลังตรึกหรือระลึกถึงลักษณะของสิ่งนั้น จึงรู้ในสิ่งนั้นว่าเป็นอะไร เช่น ในห้องนี้มีทั้งเสา พัดลม ไฟฟ้า เก้าอี้ โต๊ะ เศษกระดาษ ถ้าไม่ตรึกนึกถึงลักษณะของเศษกระดาษ จะไม่รู้เลยว่านั่นเป็นเศษกระดาษ ถ้าไม่ตรึกนึกถึงลักษณะรูปพรรณสัณฐานของเก้าอี้ ก็ไม่รู้ว่าเป็นเก้าอี้ ถ้าไม่มีการตรึกนึกถึงสัณฐานรูปร่างของโต๊ะ ก็ไม่รู้ว่าเป็นโต๊ะ หรือแม้ถุงกระดาษ ถ้าไม่ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานที่เป็นถุงกระดาษ ก็จะไม่รู้ว่าเป็นถุงกระดาษ

    ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมาก เฉพาะการเห็น ต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แต่เวลาที่จะรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จะต้องเป็นนามธรรมที่ไม่ใช่การเห็น ไม่ใช่สภาพเห็น แต่เป็นนามธรรมที่ตรึก นึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งนั้น จึงเกิดความรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร หลังจากที่มีการเห็นแล้ว

    สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ เวลาที่มีการเห็นปรากฏ สภาพรู้แต่ละขณะก็ทำกิจต่างๆ กันไป บางขณะก็ทำกิจเห็น บางขณะก็ทำกิจตรึก นึกถึงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และก็รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร

    จากคำถามของท่านผู้ฟังที่ถามว่า สมมติว่ากระผมมองเห็นเก้าอี้ แต่ใจกระผมไม่รู้ว่าเป็นเก้าอี้ อย่างนี้กระผมจะระลึกว่า นี้เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เกิดขึ้นทางตาหรือปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางหูและทางอื่นๆ อย่างนี้ถูกหรือเปล่า

    การคิดนึกอย่างนี้ ก็เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่งแล้ว ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่การตรึกถึงลักษณะรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ แต่เป็นการนึกถึงคำต่างๆ เช่นนึกว่า นี่เป็นรูปธรรม ขณะนั้นก็ไม่ใช่การเห็น ไม่ใช่การตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าขณะนั้นเป็นจิตที่นึกถึงคำ เป็นความคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงสภาพรู้คำ ในขณะที่กำลังคิด และก็ดับไป นึกถึงคำหนึ่ง รู้คำนั้น และก็ดับไป และจิตก็นึกถึงอีกคำหนึ่ง รู้คำนั้น และก็ดับไป ก็เป็นสภาพของนามธรรมแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่า สภาพนามธรรมหรือรูปธรรมก็ตามที่ปรากฏไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ ต้องเป็นเพราะระลึกรู้ สังเกต สำเหนียกในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมนั้นๆ

    อย่างท่านที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า เป็นเพียงสภาพที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เมื่อระลึกรู้ชินขึ้น ก็จะรู้ว่า การที่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น เป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ หรือว่าเป็นวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ จะต้องมีการตรึก หรือคิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ จึงเกิดความรู้ว่าเป็นบุคคลนั้น หรือว่าเป็นวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้น ซึ่งเป็นนามธรรมที่ต่างจากการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะเหตุว่าขณะที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตานั้น ไม่ได้ตรึก หรือนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏเลย นี่คือความต่างกัน เพียงเห็นเท่านั้น ยังไม่ใช่การที่จะตรึกหรือนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะสังเกต สำเหนียก รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่กำลังเห็นละเอียดยิ่งขึ้นว่า ขณะที่กำลังรู้ว่าเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ วัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ ขณะนั้นจะต้องมีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งนั้นด้วย ซึ่งต่างกับนามธรรมที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น หรือการที่กำลังได้ยิน กำลังฟังในขณะนี้ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจะรู้ว่า การระลึกรู้ลักษณะของเสียง สภาพที่กำลังปรากฏเป็นลักษณะที่มีจริงที่ปรากฏทางหู เป็นสภาพธรรมของจริงอย่างหนึ่ง แต่เสียงนั้นจะปรากฏไม่ได้เลยถ้าไม่มีสภาพที่กำลังรู้เสียงในขณะนั้น เพราะฉะนั้น สภาพรู้เสียงไม่ใช่เสียงที่ปรากฏ ปัญญาจะต้องสำเหนียก รู้ความต่างกันของสภาพรู้เสียงกับเสียงที่ปรากฏ และเวลาที่กำลังรู้ว่าหมายความว่าอะไร ซึ่งแต่ก่อนนี้ท่านอาจจะไม่ได้ระลึกรู้ว่า ขณะที่กำลังรู้เรื่องจะเป็นนามธรรมอย่างไร แต่เมื่อเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็จะรู้ว่า ขณะที่กำลังเข้าใจความหมายที่ได้ยิน จะต้องมีการตรึก นึกถึงความหมายนั้น มิฉะนั้นแล้วจะไม่รู้ความหมายนั้นเลย

    เช่น คำว่า เสียง รู้ใช่ไหมว่าหมายความถึงอะไร ที่รู้เพราะเหตุว่าต้องนึกถึงความหมายนั้นด้วย ถ้าไม่นึกถึงความหมายของเสียง จะไม่เข้าใจเลยว่า คำนั้นหมายถึงอะไร

    ท่านจะสังเกตได้เวลาที่กำลังสนทนากัน ถ้าท่านคิดถึงเรื่องอื่นไม่ทันฟัง ก็ไม่ทราบว่า พูดว่าอะไร เพราะขณะนั้นท่านไม่มีการตรึกนึกถึงคำ จึงไม่รู้ว่าเสียงที่ได้ยินนั้นมีความหมายว่าอย่างไร

    มีเสียงปรากฏ เพราะว่ามีการได้ยิน แต่ไม่รู้ เพราะว่าไม่ได้ตรึกถึงความหมายของคำนั้นแต่ละคำ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นทางตาก็ตาม ทางหูก็ตาม ทางจมูกก็ตาม ทางลิ้นก็ตาม ทางกายก็ตาม เมื่อมีลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏ และมีสภาพที่รู้ในปรมัตถธรรมนั้น ก็ยังมีการตรึกนึกถึง ซึ่งแล้วแต่ว่า ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็มีสภาพของนามธรรมที่ตรึกถึงรูปร่างสัณฐานนั้น และก็รู้ในความหมายว่า สิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไร ถ้าเป็นทางหู เสียงปรากฏเป็นปรมัตถธรรม ก็ยังมีนามธรรมที่ตรึกนึกถึงคำ จึงจะเข้าใจว่าหมายความว่าอะไร

    เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ท่านเข้าใจความหมาย สติจะต้องระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมที่ตรึกถึงความหมาย ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และนามธรรมที่ตรึกนึกถึงความหมายนั้น ก็ไม่ใช่สภาพรู้เสียง เป็นคนละขณะแล้ว

    ปัญญาจะต้องรู้ชัดในความต่างกันของนามธรรมแต่ละลักษณะ รูปธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจะต้องอาศัยการฟังให้เข้าใจว่า จะต้องศึกษา สังเกต สำเหนียก รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกัน พร้อมสติที่เกิดระลึกรู้ ในลักษณะของสภาพนั้นๆ ไม่ใช่เพียงแค่นึกเวลาที่เห็น นึกว่า นี่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ซึ่งขณะนั้นก็ยังเป็นตัวตนที่นึกอย่างนั้น จนกว่าปัญญาจะสังเกต และรู้จนทั่วจริงๆ ว่า ขณะใดที่นึกก็เป็นแต่เพียงนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง

    และที่ท่านถามว่า ถ้าหากกระผมมองเห็นเก้าอี้ แล้วรู้ว่าเป็นเก้าอี้ กระผมระลึกว่า นี่เป็นนามธรรมที่ปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางหู ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล อย่างนี้ถูกไหมครับ ถ้าไม่ถูกควรระลึกอย่างไร เพราะผมมีความสงสัยมากจริงๆ ว่า รูปเป็นอย่างไร นามเป็นอย่างไร

    รู้ยากไหม รูปธรรมกำลังปรากฏ และมีนามธรรมที่กำลังรู้รูปธรรมที่ปรากฏทางตาด้วย ต้องแยกออกจากกันได้ จึงจะไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ต้องฟังไป เรื่อยๆ และอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเป็นความรู้ชัด แม้ความรู้ชัดนั้นก็จะปรากฏสภาพของความเป็นอนัตตา คือ เป็นเพียงนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ ไม่ใช่ตัวตน แม้ในขณะที่รู้ นั่นจึงจะเป็นการประจักษ์ในลักษณะสภาพความเป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลาย

    ข้อ ๒ ท่านถามว่า การภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ เป็นสมถะหรือวิปัสสนา ถ้าเป็นวิปัสสนา เพราะอะไรครับ

    ถ้าท่านผู้ฟังศึกษาเรื่องการอบรมเจริญสมถภาวนา และการอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา ก็พอที่จะตัดสินได้ว่า การประพฤติปฏิบัติอย่างไรเป็นสมถภาวนา หรือไม่ใช่สมถภาวนา เป็นวิปัสสนาภาวนา หรือไม่ใช่วิปัสสนาภาวนา เพราะเหตุว่าบางทีก็ไม่ใช่ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาด้วย

    สำหรับสมถภาวนา เป็นการอบรมการระงับจิตไม่ให้ตกไปกับโลภะ โทสะ ผู้ที่เห็นโทษของความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และความไม่พอใจ ไม่ยินดีด้วยปฏิฆะ ความไม่แช่มชื่นของจิตในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็พยายามพากเพียรที่จะระงับไม่ให้เกิดโลภะ โทสะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งการพยายามที่จะไม่ให้เกิดความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แม้เพียงชั่วคราวนี้ ก็เป็นสิ่งที่ยากที่จะเกิดขึ้นได้

    ขณะนี้กำลังเห็น จะไม่ให้มีความยินดีพอใจ หรือไม่ให้เกิดความไม่ยินดี ไม่พอใจ เป็นสิ่งที่ยาก ซึ่งจะต้องอบรมด้วยปัญญาที่รู้หนทางที่จะระงับกิเลสว่า จะต้องตรึกระลึกถึงอารมณ์ใด จึงจะทำให้จิตสงบจากโลภะ โทสะ

    ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้มีผู้ที่พากเพียรที่จะไม่ให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะ แต่การที่จะดับกิเลสได้จริงๆ ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมทั้งปวง จึงสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ถ้ายังไม่มีการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะไม่มีอะไรที่สามารถจะดับกิเลสได้เลย

    เพราะฉะนั้น แม้ว่าท่านเหล่านั้นจะพากเพียรแสวงหาหนทางใดๆ ก็ตาม แต่เมื่อไม่ได้อบรมบารมีมาที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเหล่านั้นก็ไม่พบหนทางที่จะทำให้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ที่จะดับความไม่รู้ ความสงสัย การยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ แต่ว่าท่านเหล่านั้น ก็ได้เคยสะสมอบรมปัญญาที่จะรู้หนทางวิธีที่จะทำให้จิตสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ โดยการระลึกรู้อารมณ์ที่จะทำให้จิตสงบได้จากโลภะ โทสะ โมหะ เป็นขั้นๆ เป็นความสงบตามลำดับขั้น จนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ซึ่งใช้คำว่า ฌานจิต ซึ่งในขณะที่จิตเป็นฌาน จะไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะเลย

    เพราะเหตุว่ากิเลสยังมี เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นก็ต้องชอบหรือไม่ชอบ ถ้าได้ยินก็ต้องชอบหรือไม่ชอบ เพราะฉะนั้น หนทางที่จะไม่ให้เกิดความชอบไม่ชอบก็มีหนทางเดียว คือ อบรมให้จิตเป็นสมาธิ สงบระงับ จนกระทั่งในที่สุดเมื่อเป็นอัปปนาสมาธิแล้ว จะไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะใดๆ เลย ในระหว่างที่เป็นอัปปนาสมาธิ แต่ว่ากิเลสที่สะสมมาในจิต ยังเต็ม ยังไม่ได้ดับไปเลย ซึ่งขณะใดที่มีการเห็นอีก โลภะ โทสะ โมหะก็เกิดอีก มีความยินดียินร้ายในอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าด้วยกำลังของศีลก็ดี ของสมาธิก็ดี ไม่สามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้

    การที่จะให้จิตสงบระงับจากความติด ความพอใจ ความยินดียินร้ายในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะจนถึงขั้นอัปปนาสมาธิได้ เป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะจะต้องมีปัญญาที่รู้เหตุว่า อารมณ์ใดสามารถที่จะทำให้จิตสงบระงับจากโลภะ โทสะได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่สามารถทำให้จิตสงบระงับได้จริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา รู้หนทางวิธีที่จะให้จิตสงบระงับถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก ไม่ใช่เป็นสิ่งที่กระทำได้โดยง่าย

    ถ้าท่านผู้ฟังต้องการทราบความละเอียดในเรื่องนี้ ก็ศึกษาได้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค และท่านจะได้เห็นความยากลำบากจริงๆ ของการที่จะให้จิตสงบระงับจนถึงสมาธิขั้นต่างๆ จนเป็นฌานจิตที่เป็นอัปปนาสมาธิ

    ได้รับทราบจากพระคุณเจ้ารูปหนึ่ง ซึ่งท่านศึกษาที่ต่างประเทศ และที่ต่างประเทศนั้นก็มีความสนใจในการอบรมเจริญสมาธิ เพราะว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐานยังไม่แพร่หลายในต่างประเทศ แต่เท่าที่สามารถจะทำจิตให้เป็นสมาธิกันได้ด้วยวิธีต่างๆ ก็มีการปฏิบัติกันอยู่หลายวิธี ซึ่งท่านได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า

    ท่านไปสู่สำนักแห่งหนึ่ง วิธีอบรมเจริญสมาธิของสำนักแห่งนั้น ก็ให้นั่งเป็นคู่ๆ เผชิญหน้ากัน ให้จ้องตากัน ไม่ให้กระพริบ ก็เป็นวิธีหนึ่ง พยายามหาวิธีต่างๆ กันไป ตามความสามารถ จะสงบหรือไม่สงบอย่างไร จะตรงเหตุตรงผลหรือไม่อย่างไร เมื่อมีความไม่รู้เป็นพื้นฐาน ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความรู้ขึ้นเลย ผลก็คือ ตามประสบการณ์ของพระคุณเจ้าท่านนั้น ท่านเล่าให้ฟังว่า ถ้าท่านนั่งตรงกันข้ามกับเพศตรงข้าม คือ ฝ่ายอุบาสิกาแล้ว จิตไม่สงบ ไม่แน่วแน่ ซึ่งไม่ใช่เพราะว่าความเป็นเพศตรงข้าม แต่อุบาสิกานั้นมักจะเหลียวซ้ายแลขวา ไม่นั่งตรงๆ เดี๋ยวมองโน่น มองนี่ ตามวิสัยของอุบาสิกา ท่านว่าอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเป้าไม่นิ่ง ความแน่วแน่ของจิตก็ไม่มี แต่เวลาที่ท่านนั่งตรงกันข้ามกับบรรพชิตหรืออุบาสกซึ่งนั่งนิ่งๆ ท่านก็ใช้วิธีของท่านแทนที่จะทำตามวิธีของสำนักนั้น คือ ท่านจ้องตรงกลางหน้าผาก ก็คงจะเป็นวิธีหนึ่งของท่านที่คิดว่าจะทำให้จิตใจแน่วแน่ตั้งมั่นคงได้ และก็จ้องไป ก็ปรากฏเป็นแสงสว่าง ซึ่งขณะนั้นไม่รู้เลยว่าเป็นอะไร

    อย่างนี้เป็นสมถภาวนาหรือเปล่า เป็นปัญญาอะไรหรือเปล่า เริ่มจากความไม่รู้แม้แต่ในเหตุผล ทำไมจะต้องนั่งจ้องกันอย่างนี้ มีเหตุผลอะไร จะทำให้จิตสงบได้ขั้นไหน แต่เมื่อไม่มีวิธี แต่ละสำนักก็ใช้วิธีกันต่างๆ ที่จะให้เกิดประสบการณ์ที่แปลกประหลาด ไม่เป็นเหตุให้เกิดปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะนั้นคืออะไร เป็นความสงบ หรือไม่ใช่ความสงบ มีกิเลส หรือไม่มีกิเลสอะไร อย่างไร เพราะว่าขณะนั้นมีแต่แสงสว่าง

    และเวลาที่ท่านรู้สึกว่าแสงสว่างหายไป จางไป ก็เพราะเป้า คือ บุคคลที่นั่งตรงกันข้ามเอี้ยวไป เหลียวไป นั่นไม่ใช่อัปปนาสมาธิ ไม่ใช่สมาธิที่จะทำให้จิตสงบ ระงับเป็นสมถภาวนา แต่ก็กระทำกันไป ปฏิบัติกันไปด้วยวิธีต่างๆ ประโยชน์อะไร ไม่ใช่ความรู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงเลย เพราะฉะนั้น ถ้าท่านต้องการที่จะอบรมเจริญภาวนาอย่างใด ก็ควรที่จะได้ศึกษาในเหตุในผลอย่างแจ้งชัดจริงๆ

    ถ้าเป็นสมถภาวนา ต้องศึกษาแม้กระทั่งว่า เจริญอย่างไร มีอะไรเป็นอารมณ์ และจิตจะสงบระงับได้ถึงขั้นไหน

    อารมณ์ของสมถภาวนาหลังการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคแล้ว มีพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ อุปสมานุสติ ซึ่งแต่ก่อนนั้นไม่มี ด้วยเหตุนี้ในพระสูตรสูตรหนึ่ง พระเจ้ามหานามศากยะ ท่านเป็นพระอริยเจ้า เวลาที่ท่านทราบว่า พระผู้มีพระภาคจะเสด็จจาริกไปสู่ที่อื่น ท่านไปเฝ้าและกราบทูลถามว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายจะตรึกระลึกถึงอย่างไร เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปสู่ที่อื่นแล้ว

    พระผู้มีพระภาคตรัสให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เป็นต้น ซึ่งเป็นการระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย เป็นกุศล ทำให้จิตสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ สำหรับบรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลายเมื่อยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ย่อมจะมีกิเลสที่เป็นอกุศลด้วย แต่ว่าท่านเป็นผู้ที่มั่นคงในศีล เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญความสงบของจิต ก็ควรจะเป็นไปในการระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ พร้อมกับการอบรมเจริญสติปัฏฐานที่เป็นปกติของพระอริยเจ้าทั้งหลายด้วย

    ผู้ที่จะทราบว่า การปฏิบัติของท่านเป็นสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา หรือไม่ใช่ทั้งสมถะและวิปัสสนา จะต้องเป็นผู้ที่ศึกษาโดยละเอียดด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ว่า ไปทำอะไรตามที่ได้รับคำสั่งให้ทำโดยที่ไม่มีความรู้อะไรเลย ซึ่งอย่างนั้นจะไม่ใช่ทั้ง สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

    สำหรับวิปัสสนาภาวนานั้น จะต้องเกิดจากการอบรมเจริญสติปัฏฐานเพียงประการเดียวเท่านั้น เพราะว่าเป็นการระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าสติไม่ระลึก ไม่รู้ ก็ไม่ใช่วิปัสสนาภาวนา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๕๑๑ – ๕๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564