แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 523
ครั้งที่ ๕๒๓
สุ. การเปลี่ยนเพศจากฆราวาสสู่เพศบรรพชิตเป็นเรื่องที่ต้องกระทำด้วยศรัทธา เพราะเหตุว่าเปลี่ยนหลายประการทีเดียว นับตั้งแต่เรื่องของการบริโภค หรือความเป็นอยู่ เปลี่ยนจากชีวิตฆราวาสไปสู่อีกเพศหนึ่งจริงๆ
เพราะฉะนั้น สำหรับอาหารก็เกี่ยวเนื่องกับร่างกายด้วย ถ้ามีผู้ที่มีศรัทธาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ แต่เป็นผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ไม่แข็งแรง จำเป็นที่จะต้องบริโภคอาหารซึ่งอาจจะบ่อยครั้ง แต่ครั้งละน้อยๆ ไม่สามารถที่จะบริโภคได้ทีเดียวทั้งหมดก็เป็นได้
มีเรื่องหลายประการที่ควรจะได้พิจารณา เพื่อความเป็นอยู่ที่เหมาะที่สมควรแก่เพศภิกษุ มิฉะนั้นแล้ว ทั้งๆ ที่มีศรัทธา ก็ไม่สามารถที่จะดำรงเพศของความเป็นภิกษุได้ ซึ่งจะเป็นการตัดประโยชน์อย่างใหญ่หลวงในภพหนึ่งชาติหนึ่งของบุคคลนั้น ที่จะสะสมเหตุปัจจัยของการที่จะได้บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ในวันหนึ่ง ด้วยการที่ในชาตินั้นมีศรัทธาที่จะประพฤติพรหมจรรย์ในเพศของบรรพชิต
ดิฉันอยากที่จะให้ได้ประโยชน์จริงๆ
ผู้ฟัง ผมอ่านพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ทั้ง ๒ เล่ม เฉพาะอย่างยิ่งในโภชนวรรค บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องของการฉันอาหารทั้งนั้น การฉันอาหารอย่างที่ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ส่วนมากจะบัญญัติว่า ฉันอาหารหนเดียวเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีอนุบัญญัติเพิ่มเติมบ้าง เช่น ภิกษุอาพาธ ท่านก็อนุญาตให้ฉันได้ หรือว่าในกาลบางกาลซึ่งพระภิกษุมัวทำกิจบางสิ่งบางอย่าง ท่านก็อนุญาตให้ฉันได้ แต่ไม่ใช่ พร่ำเพรื่อ หรือในบางกาล เช่น เขาเอาจีวรมาถวายกัน ทายกเขาก็เอาอาหารมาด้วย ท่านก็บอกว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นก็อนุญาตให้ฉันได้ เพื่อไม่ให้เสียศรัทธาของชาวบ้าน แต่ที่ท่านจะบอกว่า อาหารที่มีอยู่แล้ว ฉันเหลือแล้ว เก็บไว้ไปฉันได้อีก ไม่มีเด็ดขาด แม้แต่อาหารที่เหลือท่านก็บอกว่า เอาไปทิ้งเสีย ไม่มีให้เอาไปฉันอีก
สุ. ในเวลาวิกาล ฉันไม่ได้แน่ ถ้าทายกมีศรัทธาและภายในกาล คือภายในก่อนเที่ยง มีอะไรที่อยากจะถวาย ก็ถวายได้
ผู้ฟัง ผมพยายามตรวจดูในโภชนวรรค หรือในจีวรวรรค หรือวรรคต่างๆ นี้ จีวรนี้ถวายจริง แต่จะเอาไปเก็บไว้ ก็มีกำหนดว่า เก็บไว้ได้เท่านั้นเท่านี้ บัญญัติไว้หมด ละเอียดลออมาก
สุ. จากเพศฆราวาสสู่เพศบรรพชิตเป็นการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น บางท่านอาจจะคุ้นเคยกับรสอาหาร และเป็นผู้ที่มีศรัทธาที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ การขัดเกลากิเลสจะต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ถ้าพระวินัยเคร่งครัดตึงนัก ท่านก็ไม่สามารถจะดำรงเพศบรรพชิตได้
แต่ถ้าท่านประพฤติปฏิบัติธรรมตามพระวินัยบัญญัติ ปัญญาที่เกิดขึ้น จะละคลายการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส โผฏฐัพพะลงได้เอง จากการที่ท่านเป็นผู้ฉันภายในกาล คือ ก่อนเที่ยง หลายๆ ครั้ง ท่านก็จะเริ่มมีอุปนิสัยในการที่จะลดลงๆ จนอาจจะถึงเพียงบริโภคครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นการรักษาธุดงค์ แต่ว่าจะต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป จะให้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทีเดียวในชีวิต เป็นการยากเกินไปสำหรับบางท่านที่มีศรัทธาจริง แต่ว่าอาจจะไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ ต่อเมื่อได้ค่อยๆ ประพฤติปฏิบัติไปในเพศของบรรพชิตทีละเล็กทีละน้อย ความคุ้นเคยกับการบริโภคอาหารลดลง น้อยลง ปัญญาเกิดขึ้น ละคลายการบริโภค เพราะความติดในรสลงไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นเหตุหนึ่งซึ่งทำให้การบริโภคลดน้อยลง แม้ว่าจะเป็นในกาล คือ ภายในก่อนเที่ยงก็ตาม จนกระทั่งท่านสามารถที่จะบริโภคได้เพียงครั้งเดียว
ผู้ฟัง ผมเองเมื่ออายุครบบวช ก็ไปบวช ท่านก็ให้ฉันอาหารในระหว่างเวลา รุ่งอรุณถึงเที่ยง นอกจากนั้นผมไม่ได้ฉันเลย ซึ่งตอนปกติหลังเที่ยงแล้ว กี่มื้อๆ ผมก็ไม่ได้นับ แต่ทำไมผมถึงอดได้ ตั้งแต่เที่ยงล่วงแล้วจนถึงพรุ่งนี้เช้า ทำไมผมถึงอดได้ หิวก็แสนจะหิว แต่เพื่อรักษาพระวินัยของพระพุทธองค์ ผมต้องอด ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปฉันในเวลาที่ท่านอนุญาต ๘ หน ๙ หน อย่างนั้น และระหว่างเวลาที่ไม่อนุญาต ทำไมผมอดได้
สุ. ท่านผู้ฟังกล่าวว่า ระหว่างที่ท่านบวชอยู่ ท่านเว้นการบริโภคในเวลาวิกาลได้ ภายในกาลท่านบริโภคกี่ครั้ง
ผู้ฟัง ๒ ครั้ง
สุ. ๒ ครั้ง ก็มากกว่า ๑ แล้ว
ผู้ฟัง ผมไม่รู้
สุ. ถ้ารู้อาจจะทำตามไม่ได้เลย ท่านผู้ฟังกล่าวว่า ถ้ารู้ก็คงจะมีศรัทธาทำตามได้ เห็นด้วยว่าทำตามได้จริงเพราะศรัทธา แต่ศรัทธานั้นจะดำรงอยู่ได้นานสักเท่าไร นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เพราะฉะนั้น การที่พระผู้มีพระภาคจะทรงบัญญัติพระวินัย ก็เพื่อให้พระภิกษุสามารถจะประพฤติปฏิบัติตามได้กาลนาน ไม่เพียงเฉพาะชั่วขณะที่กำลังมีศรัทธาเท่านั้น ขณะที่มีศรัทธา ๑๕ วันทำได้ ขณะที่มีศรัทธา ๑ เดือนทำได้ ขณะที่มีศรัทธา ๓ เดือนทำได้ แต่ศรัทธานั้นจะตั้งอยู่ได้นานเท่าไร อาจจะหมดศรัทธาเสียแล้วก็ได้ที่จะประพฤติต่อไป เนื่องจากอุปนิสัยของแต่ละท่านสะสมกันมาต่างๆ กันจริงๆ เพราะฉะนั้น พระบัญญัติจึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทาจริงๆ ด้วย
คามิกะ พระผู้มีพระภาคท่านเป็นสัพพัญญู ท่านบัญญัติอะไร อย่างวิกาลโภชนา วิกาโล วิกาล ในกาลไม่ห้าม วิกาลห้าม ในกาลท่านก็ไม่ได้บอกว่าฉันได้กี่หน ผู้แปลอรรถกถาที่ฉันมาก ก็แปลว่า ฉันได้หลายหน แล้วก็แต่งบาลีไป ผู้ที่ฉันหนเดียวก็ว่า เอกาสน นี่ต้องหนเดียว ท่านก็แปลของท่านไป เรามานั่งอ่านแล้วทะเลาะกันอย่างนี้ แต่บาลีมีว่า วิกาล คือว่าห้ามเกินเวลา ก่อนนั้นสักกี่หนๆ ท่านก็ไม่ได้ว่ากะไร
สุ. ข้อสำคัญ อย่าบริโภคในเวลาวิกาล ที่สำคัญที่สุด คือ วิกาลแล้วอย่าบริโภค ตามพระวินัยบัญญัติสำหรับบรรพชิต
ถ. เคยสงสัยว่า การฉันมื้อเพล ที่กำหนดไว้ว่า เวลาเที่ยง แต่ในฐานะที่เราอยู่ในเพศฆราวาส ถ้าจะถืออุโบสถศีล บางครั้งเรามีธุระมาก ก็ไม่สามารถที่จะให้ได้เที่ยงพอดี บางทีก็เลยไปตั้งบ่ายโมงแล้ว มีบ่อยครั้งที่เกิน ๑๐ นาที ๑๕ นาที เป็นของธรรมดา เท่าที่ผมมีประสบการณ์มา เกินไปสัก ๑๐ นาที ๑๕ นาที ก็คิดว่า แค่เกินไป ๑๐ - ๑๕ นาทีคงไม่เป็นไร แต่ผมก็มานึกดูว่า ถ้าจะให้เคร่งครัดจริงๆ ต้องแค่เที่ยงแน่ ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันอยู่ว่า เราทำไม่ได้แน่
ผมอยากทราบความคิดเห็นของท่านผู้ถืออุโบสถศีลว่า มีประสบการณ์อย่างไรบ้าง และทำใจอย่างไร
อีกอย่างหนึ่ง ผมได้ทราบว่า คำว่า เที่ยงวัน แต่ละประเทศ แต่ละท้องถิ่น แต่ละพื้นที่ เวลาก็ไม่เหมือนกัน เพราะคำว่าเที่ยงนี้ เราถือเอาเวลาในประเทศที่เส้นรุ้ง เส้นแวงที่เท่าไรไม่ทราบ แต่เวลาในเวียดนามเป็นเวลามาตรฐานของเรา ฉะนั้นประเทศเราถ้าเทียบจริง ก็ประมาณเที่ยงสิบนาที หรือเที่ยงสิบห้านาที เท่าที่เคยได้ยินมา มีคนเคยพูดว่า เรากินอาหารหรือพระฉันอาหารช้าไปสัก ๑๕ นาที ก็ยังอยู่ในกาล ยังไม่ผิดศีล ในพระวินัยบัญญัติ
อยากทราบความคิดเห็น ใครมีประสบการณ์ทางนี้บ้าง
สุ. ในครั้งโน้นใช้ไม้ปักไว้เป็นเครื่องกำหนดวิกาลโภชนา ได้ทราบว่า มีท่านผู้ฟังหลายท่านซึ่งรักษาอุโบสถศีล จะช่วยให้ความรู้ในด้านนี้กับท่านผู้ฟังที่สนใจในเรื่องวิกาลโภชนาเวรมณีด้วยได้ไหม ท่านอยากจะได้ฟังประสบการณ์เรื่องของการบริโภคอาหาร
ผู้ฟัง เรื่องเที่ยงนี้ เรารู้ๆ กันว่า ตะวันตรงหัวเป๋งเรียกว่าเที่ยง เงาไม่ไปทางโน้นทางนี้ เงาตรงเชียว แต่ถ้าเราไปอยู่นอร์เวย์ ไม่มีตะวันตรงหัว ไม่มีเที่ยงเสียกระมัง เพราะฉะนั้น แล้วแต่ประเทศ ของเราเมื่อก่อน เที่ยงกับสิบแปดนาที เดี๋ยวนี้ถึงจะเที่ยง ต่อมาเวลาสากลเขาเลื่อนมาอีกสิบแปดนาทีเที่ยง พระบางรูปท่านบอกว่า เที่ยงเป๋ง ไม่เป็นไร อีกสิบแปดนาทีเวลาเก่า คงเพื่อไม่เป็นอาบัติ ไม่ใช่จะอยากกินจนกระทั่งอีก สิบแปดนาที
สุ. สำหรับประสบการณ์ของท่านที่รักษาอุโบสถศีลมานานแล้ว มีไหมในเรื่องของวิกาลโภชนา ที่ท่านรู้สึกลำบากใจเกี่ยวกับเรื่องเวลา
ผู้ฟัง ไม่ลำบาก วันไหนผมเห็นท่าไม่ดี ผมก็ขอแค่เที่ยง เพราะบ่ายโมงเราจะต้องกินข้าว ก็แล้วแต่เรา อย่างนายปุณณะ รักษาอุโบสถเพียงครึ่งวันก็ยังไปสวรรค์เหมือนกัน ท่านเป็นทาสที่อยู่บ้านท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี คนอื่นเขารักษาอุโบสถกันทั้งวัน แต่นายปุณณะไม่รู้เรื่อง ไปทำงาน พอเที่ยงกลับมา ไม่เห็นมีคนมากินข้าว จึงรู้ว่าเขารักษาศีลอุโบสถกัน จึงรักษาบ้าง แต่เป็นเพียงครึ่งวัน แต่เพราะหิวมากก็เลยตาย และได้ไปเกิดในสวรรค์
เรื่องของอาหารวันหนึ่งและคืนหนึ่ง เราต้องเข้มแข็ง ไหนๆ จะรักษาแล้ว จะเป็นวัวเห็นแก่หญ้า ถ้าเราจะรักษาศีล อดสักวันหนึ่งจะเป็นอะไรไป ถ้าอยากได้บุญ
สุ. สำหรับท่านผู้ฟังท่านนี้ หลังเที่ยงแล้ว ไม่บริโภคเลยใช่ไหม เพราะมีความตั้งใจมั่นที่จะรักษาอุโบสถศีล ไม่ขอเลื่อนเวลาไปอีก ๑๘ นาทีด้วย
ผู้ฟัง เรื่อง ๑๘ นาทีนี้ ทุกวันนี้ พระก็ยังใช้อยู่ ถ้าเป็นตะวันออกแถวปราจีน ท่านถือว่า ดวงอาทิตย์ขึ้นก่อน เพราะฉะนั้น เลยเที่ยงไป ๑๘ นาที ท่านก็ยังฉัน ขึ้นอยู่กับภาค แล้วแต่ภาคไหน ถ้าในกรุงเทพ เขาถือเที่ยงครับ
ผมมีประสบการณ์ทุกอย่างเลยเรื่องอาหาร ผมกินตั้งแต่วันละ ๕ มื้อก็เคย ๔ มื้อ ๓ มื้อ ๒ มื้อ ๑ มื้อ ผมผ่านมาหมด
๕ มื้อ คือ เช้า กลางวัน บ่าย เย็น ดึก ถ้า ๔ มื้อ คือ เช้า กลางวัน บ่าย เย็น ดึกไม่มี ถ้า ๓ มื้อ คือ เช้า กลางวัน เย็น
หลังจากผมเข้าวัดไปรักษาอุโบสถศีล ผมไปวัดนี่ ตรงกันข้ามกับผู้ที่รักษาอุโบสถศีลจริงๆ ผมรักษาเล่นๆ ผู้ที่รักษาจริงๆ เขาไปวัดอาทิตย์ละครั้งวันอุโบสถ แต่ผมไปวัดอาทิตย์ละ ๖ ครั้ง หลังจากวันอุโบสถผมเว้นเพราะยุงเยอะ ไม่ไป นอกจากวันอุโบสถแล้ว ผมไปที่วัดทุกคืน ไปนอนที่ศาลา เย็นสบายดี เอาน้ำชาไปชงด้วย การกินอาหารของผมตอนหลังนี้ กินแค่ ๒ มื้อ ทุกวันนี้ก็ยังเหลือ ๒ มื้อ อาหารเย็นผมไม่ได้กิน แต่ไม่ได้สมาทานอุโบสถศีล ผมถือว่าแค่ ๒ มื้อ คือ ผมกินตอนบ่ายโมงก็มี เที่ยงก็มี เลยเที่ยงไปแล้วก็มี แต่ถือแค่ ๒ มื้อ เพราะไม่ได้สมาทานอุโบสถศีล
ตอนแรกๆ ๒ มื้อ ร่างกายทรุดไป ๘ กิโล ปีหนึ่ง จาก ๖๖ เหลือ ๕๘ เพื่อนๆ ก็ถามว่า พักนี้เป็นอะไร ผอมไป ระวังนะ เป็นเบาหวานหรือเปล่า ไปหาหมอหรือเปล่า อะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่เรารู้ตัวของเราเอง ผอมจริง แต่ร่างกายยังสดชื่นอยู่ ไม่มีโรคอะไร ก็บอกไปว่า ไม่ได้ไปหาหมอ เพื่อนก็เตือนให้ไปหาหมอ อาจจะเป็นอะไร ก็รับปากไป แต่เราไม่ได้บอกความจริงแก่เขา ถ้าบอกความจริง เดี๋ยวเขาจะว่า อ้ายนี่บ้าไปเสียแล้ว ทำไมอยู่ดีๆ ไม่กิน
จนกระทั่งเดี๋ยวนี้อยู่ตัว เดี๋ยวนี้ถึงจะกิน ก็กินไม่ลง บางทีก็หิว แต่ถ้ากินก็กินไม่กี่คำ วันหนึ่งๆ เดี๋ยวนี้ก็แค่ ๒ มื้อเท่านั้นเอง ก็อยู่ได้ไม่ลำบาก และถ้าผมออกต่างจังหวัด เดี๋ยวนี้ผมไม่ได้ไปพักโรงแรม ส่วนมากจะไปอยู่ในวัด และวัดที่ผมไปอยู่ มักจะฉันหนเดียว ตอนเช้าเราหาอาหารต่างๆ ไปใส่บาตร เมื่อใส่บาตรแล้ว พระฉัน เราก็กิน พอพระเสร็จ เราก็เสร็จ ทั้งวันก็เหมือนกัน ไม่ได้กินอะไรต่อไปอีกเหมือนกัน และก็ไม่หิวเหมือนกัน นี่เป็นประสบการณ์ของผม
ถ. ผมมีเรื่องสงสัย ในปัจจุบันนี้เราก็รู้ว่า เราใช้นาฬิกาเครื่องบอกเวลาเที่ยง เที่ยงตี ๑๒ ครั้ง สมมติว่า เป็นผู้ปฏิบัติทางพระวินัย อยากจะไม่ให้ขาดเลย เพราะในพระวินัยว่า ถ้าเที่ยงแล้วก็เป็นวิกาล ทีนี้เป็นปัญหา ถ้าเราคิดกันเล่นๆ ว่า ตีครั้งไหนที่เป็นเที่ยง ในการตี ๑๒ ครั้ง ปกติเราไม่ค่อยคิดกัน ถ้าเราคิดว่า ครั้งที่ ๑ หรือครั้งที่ ๖ หรือครั้งที่ ๑๒ จึงเป็นเที่ยง พระจะได้หยุดฉันให้ถูกต้อง อย่างนี้จะมีทางไหม
สุ. แล้วแต่อุกฤษฏ์ ใครอยากจะอุกฤษฏ์ครั้งที่ ๑ ก็พอแล้ว ไม่ต้องคอยถึง ครั้งที่ ๑๒
ถ. เรื่องการรักษาอุโบสถ ในเรื่องวิกาลโภชนาเวรมณีนี้ ผมคิดว่า ไม่เป็นของลำบาก ถ้าเรามีศรัทธาตั้งใจจริงแล้ว ก็ปฏิบัติได้อย่างสบายๆ ทีเดียว และในเรื่องเวลาเที่ยงจริงนี้ ผมขอเรียนว่า ที่มหามกุฏ หน้าวัดบวรนิเวศ ได้พิมพ์ปฏิทินไว้ว่า จังหวัดไหนบวกกี่นาที มีพร้อมเสร็จทีเดียว เราไปขอซื้อได้หน้าวัดบวรนิเวศ มหามกุฏมีเรียบร้อย
สุ. ขอบพระคุณค่ะ ยังมีท่านผู้ฟังท่านอื่นซึ่งมีประสบการณ์ในการรักษาศีลอุโบสถองค์นี้ไหม วิกาลโภชนา เวรมณี
อัธยาศัยต่างๆ กันจริงๆ มีหลายท่านที่ได้ศึกษาพระวินัย หรือแม้แต่เรื่องของอุโบสถศีลมีองค์ ๘ แต่ไม่ได้สมาทาน แต่พยายามที่จะขัดเกลาตามทีละเล็กทีละน้อย อย่างท่านที่ขณะนี้บริโภคเพียง ๒ ครั้ง แต่ว่าไม่ใช่ภายในเที่ยงจริงๆ
คามิกะ ผมไม่ได้อยากจะแก้คำว่า เที่ยง ที่คุณพูดเมื่อครู่นี้ จะตี ๑ ครั้งหรือ ๒ หรือ ๓ ไม่ได้ ต้องตี ๑๒ ต้องเอา ๑๒ ฉันจนกระทั่งตี ๑๒ ครบ ไม่อย่างนั้น จะเรียก ๑๒ ได้อย่างไร
สุ. แต่โดยมากท่านผู้มีศรัทธา ท่านก็ระมัดระวัง และฉันเสร็จก่อนนาฬิกาเสียทุกทีเหมือนกัน ไม่ค่อยจะเห็นท่านล่าช้าไปจนกระทั่งถึงเวลาอย่างนั้น
คามิกะ เรื่องปฏิบัติศาสนา เราไม่ได้เอาเกียรติ หรือเอาเล่ห์ เอาเหลี่ยม อย่างที่เป็นความกัน โกงเขามาแต่ชนะ ธรรมของพระผู้มีพระภาคไม่ใช่อย่างนั้น ต้องใจบริสุทธิ์ จะไปเอาเล่ห์เหลี่ยมกับศาสนาของพระพุทธเจ้า จะไปเอาเล่ห์เหลี่ยมไม่ได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๕๒๑ – ๕๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 481
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 482
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 483
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 484
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 485
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 486
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 487
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 488
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 489
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 490
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 491
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 492
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 493
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 494
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 495
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 496
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 497
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 498
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 499
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 500
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 501
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 502
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 503
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 504
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 505
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 506
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 507
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 508
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 509
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 510
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 511
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 512
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 513
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 514
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 515
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 516
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 517
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 518
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 519
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 520
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 521
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 522
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 523
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 524
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 525
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 526
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 527
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 528
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 529
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 530
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 531
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 532
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 533
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 534
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 535
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 536
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 537
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 538
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 539
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 540