แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 524
ครั้งที่ ๕๒๔
สุ. เรื่องของธรรมเป็นการขัดเกลากิเลสจริงๆ เท่าที่จะสามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ แม้แต่อุบาสกอุบาสิกาที่รักษาศีล ๕ ก็ยังมีความประพฤติขัดเกลาพิเศษต่างกันออกไปตามอัธยาศัย ถึงแม้ว่าท่านยังไม่ได้สมาทานอุโบสถศีลมีองค์ ๘ ก็จริง แต่ก็พยายามที่จะอบรมขัดเกลาจนกว่าจะเป็นอุปนิสัยอันแท้จริงก็ได้ และบางท่านก็มีศรัทธาที่จะรักษาอุโบสถศีลในวันอุโบสถเป็นอุปนิสัย เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่แล้วแต่อัธยาศัยของแต่ละท่านจริงๆ
ผู้ฟัง ความเข้าใจของผมในเรื่องการฉันอาหารที่กล่าวไปแล้ว คือ ฉันเสียส่วนหนึ่ง ทิ้งไปเสียส่วนหนึ่ง ก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ หมายความถึงว่า พระพุทธองค์ทรงชี้ให้ท่านพระภัททาลิเห็นว่า การยังชีวิตอยู่นั้น ไม่ใช่เพราะกินข้าวมากๆ หรือว่าเจริญอาหารมากๆ ไม่ใช่อย่างนั้น แม้อาหารน้อยๆ ก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ นี่เป็นเรื่องที่พระพุทธองค์จะทรงชี้ให้ท่านพระภัททาลิเห็น แต่ที่แปลกันออกมา เป็นการส่งเสริมให้ฉันอาหารมากๆ เป็นคนละเรื่องกัน และอาจารย์ก็พูดอยู่เดี๋ยวนี้ว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ขัดเกลาอย่างยิ่ง ไม่ใช่ขัดเกลาเฉพาะพระองค์เอง ขัดเกลาพระภิกษุด้วย เพราะฉะนั้น จะขัดเกลาได้แค่ไหนเพียงไรนั้นก็สุดแล้วแต่ แต่ที่จะมาส่งเสริมนี้ พระพุทธองค์ไม่ส่งเสริม เว้นแต่มีเหตุ
สุ. ขัดเกลาตามลำดับ ท่านผู้ฟังก็เห็นแล้วในครั้งแรกทีเดียว บริโภคได้ทั้งเย็น ทั้งเช้า ทั้งในเวลาวิกาล ๓ มื้อทีเดียว แล้วแต่ท่านจะบริโภคกี่ครั้ง ก็มิได้ทรงบัญญัติเป็นวินัย นี่สำหรับในตอนแรก เพราะฉะนั้น ในการขัดเกลาเป็นลำดับ เพราะว่าเพียงเริ่มจะขัดเกลาให้เว้นขณะนั้น พระภิกษุท่านก็กล่าวว่า ไม่ได้ เพราะว่าท่านยังไม่ได้เริ่มอบรมอุปนิสัยที่จะให้เป็นอย่างนั้น จากความประพฤติที่ท่านเคยประพฤติมาแล้ว จะให้เปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่งเพราะเห็นว่าเหมาะควรแก่เพศบรรพชิต ก็จะต้องอาศัยกาล หรือว่าการอบรม ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เท่าที่สามารถจะกระทำตามได้
เมื่อท่านพระภัททาลิท่านกล่าวอย่างนี้ การขัดเกลาของพระผู้มีพระภาคก็ให้ดำเนินไปเป็นลำดับว่า ถ้าไม่สามารถจะกระทำได้ ท่านเป็นผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ หรือท่านจะอาพาธ หรืออะไรก็แล้วแต่ ในเมื่อท่านเห็นว่า ท่านเคยบริโภคอย่างนั้นแล้ว จะให้เปลี่ยนเป็นอย่างนี้ทันที ท่านไม่สามารถจะกระทำได้
พระผู้มีพระภาคได้ทรงให้กระทำเท่าที่สามารถจะกระทำได้ในกาล นี่เป็นการขัดเกลาตามลำดับ จนกว่าท่านผู้นั้นจะอบรมจนเป็นอุปนิสัย จาก ๕ มื้อมาเป็น ๒ มื้อได้ และจาก ๒ มื้อจะเหลือมื้อเดียวก็ได้ แล้วแต่บุคคล แต่ว่าจุดประสงค์ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ติดในรส และกระทำตามข้อขัดเกลาอย่างยิ่ง คือ ธุดงค์ในเรื่องของการบริโภคอาหารบิณฑบาต นั่นก็เป็นสิ่งซึ่งสมควรแก่การสรรเสริญอย่างยิ่ง
ผู้ฟัง ขัดเกลาตามลำดับอย่างที่อาจารย์ว่านั้น ทำไมผู้ที่เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในศาสนานี้ จึงสามารถเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาลได้ คือ เว้นได้ตั้ง ๑๘ ชั่วโมง ส่วนอีก ๖ ชั่วโมงนั้นก็จะฉันเอาๆ และก็เว้นไปอีก ๑๘ ชั่วโมง ก็มาฉันเอาๆ อีก ๖ ชั่วโมง การขัดเกลาอย่างนี้ ผมคิดว่า เป็นการขัดเกลาที่ไม่ถูกต้องและ ไม่เรียบร้อยด้วย
สุ. ขอประทานโทษ ยังไม่เคยเห็นพระภิกษุที่ท่านฉันเอาๆ เพราะว่าอาหารของท่านก็ไม่ได้มีมากมายอย่างฆราวาส แม้ฆราวาสเอง ก็ยังไม่ค่อยเห็นคนที่รับประทานเอาๆ แล้วแต่อาหารที่มี ยิ่งเป็นเพศบรรพชิต จะมีอาหารที่ไหนมา ฉันเอาๆ ได้
คามิกะ ตัวอย่างที่ว่าฉันเอาๆ นี้ ไม่มีความจริง พระที่ไหนจะมานั่งฉันเอาๆ ไม่มีหรอก แต่ความจริงเรื่องวิกาลโภชนา พระผู้มีพระภาคท่านก็รู้จักอัธยาศัย พระบางรูปท่านฉันไม่ได้ อย่างท่านพระภัททาลิ ก็อาจจะผ่อนอย่างอาจารย์ว่า แต่ก็อาจจะเป็นอย่างท่านที่กล่าวเมื่อสักครู่ก็ได้เหมือนกัน เพราะ นีหริตฺวา แปลว่า ให้นำออก นำออกจะเอาไปทิ้งหรือไปเก็บก็ไม่รู้ อรรถกถาจารย์เป็นพระอริยะก็มี เป็นพระชาวลังกาก็มาก ชาวลังกาทำอย่างไร ขอยกตัวอย่างสักอันหนึ่ง พระสงฆ์ไทยเราออกบิณฑบาตตั้งแต่ตีห้า แต่ของลังกา ๔ โมง ๕ โมง เขาถึงจะออก ไปฉันจวนๆ เที่ยง และเขาฉันหนเดียว พระลังกาผมติดต่อ เคยคบกัน กลับจากบิณฑบาตแล้วมาฉันเอา ๙ โมง ๑๐ โมง ๑๑ โมง ฉันหนเดียว ของเราท่านไปบิณฑบาตตั้งแต่ตีห้า ก็ต้องฉัน ๒ หน กลับมาไม่เกินโมงหนึ่งก็ฉัน ๑๑ โมงก็หิว
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ในพระปาติโมกข์ ให้รู้จักพอดี พอประมาณในการกิน กินเพื่อพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าทรงตรัส กินเพื่อพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ฤๅษีต้องผอม อ้วนไม่ได้ แต่ปศุสัตว์ต้องอ้วนไม่อย่างนั้นใช้งานไม่ได้ อย่างโบราณเขาว่า ฤๅษีผอม ปศุสัตว์ต้องอ้วน
อีกเรื่องหนึ่ง เก็บอาหารไว้ในกุฏิหลายๆ วัน ถ้าเกิดข้าวยากหมากแพง ถ้าไม่เก็บไว้ก็ไม่มีฉัน ก็อนุญาตเป็นครั้งคราว อย่างที่ท่านอาจารย์ว่า แล้วแต่อัธยาศัย แล้วแต่คน แล้วแต่สถานที่ แล้วแต่เหตุการณ์ พระผู้มีพระภาคนั้นท่านเป็นสัพพัญญู ท่านรู้
สุ. จากการศึกษาเรื่องอุโบสถศีล องค์ที่ ๖ คือ วิกาลโภชนา เวรมณี ท่านผู้ฟังก็จะเห็นถึงจุดประสงค์ของอุโบสถศีลองค์นี้ คือ บริโภคไม่ใช่เพราะติดในรส เพราะฉะนั้น ประโยชน์ที่ได้รับจากแม้การศึกษาเรื่องของอุโบสถศีลองค์นี้ ก็คือ การพิจารณาตัวเองว่า ท่านมีการติดในรสมากหรือน้อย และการติดในรสนี้จะเป็นมูลเหตุให้มีการบริโภคมากหรือน้อยด้วย แม้เป็นอาหารที่บริโภคอิ่มแล้ว แต่มีรสอร่อย รสประณีต ก็ยังรับประทานต่อไปอีก แต่เมื่อทราบว่า ควรจะขัดเกลาละคลายการติดในรส ถ้าท่านบริโภคอิ่มแล้ว ก็อิ่มจริง หมายความว่า ไม่บริโภคต่อไปอีก นี่คือประโยชน์ที่ได้ของการที่จะขัดเกลาการที่เคยติดในรส และท่านจะเห็นว่า การบริโภคของท่านจะลดน้อยลงด้วย ทั้งในปริมาณ และในเวลาบริโภค
จุดประสงค์สำคัญที่สุด คือ การละคลายการติดในรส
คามิกะ การฉันอาหาร ท่านให้พิจารณาอาหารไปด้วย ไม่ใช่ฉันเฉยๆ ท่านต้องพิจารณาไปด้วย พวกเราไม่พิจารณาหรอก อร่อยก็ว่ากันเต็มที่เลย เหมือนอย่างชูชก กินจนตายเลย
สุ. ลองสังเกตตัวท่านเอง เวลาที่รู้สึกอิ่มแล้ว เว้นไม่บริโภคอาหารที่ประณีตได้ไหม ถ้าขณะนั้นมีอาหารประณีต ถ้าขณะนั้นท่านเว้นได้ หมายความว่า ละคลายการติดในรส และลดปริมาณการบริโภคลงด้วย ซึ่งเมื่อลดปริมาณในการบริโภคแต่ละครั้ง ก็จะทำให้ท่านมีอุปนิสัยที่จะเว้นในเวลาที่ไม่หิว และเมื่อฝึกหัดอบรมจนเป็นอุปนิสัยแล้ว ก็อาจจะเป็นผู้ที่บริโภคในกาล ไม่บริโภคในเวลาวิกาลก็ได้
ต้องค่อยๆ เป็นไป ตามการอบรม ตามการขัดเกลา ตามความเป็นจริง แต่ประโยชน์ที่สุด คือ รู้ว่าควรจะมีการละคลายการติดในรส
เพราะฉะนั้น ประโยชน์สำหรับตัวท่าน คือ พิจารณาตัวท่านในขณะที่บริโภค อิ่มแล้ว ยังแสวงหาอาหารที่ประณีตอีกหรือเปล่า หรือว่าอิ่มแล้วก็อิ่มเลย ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็จะทำให้เป็นผู้ที่ละการติดในรส และจะทำให้บริโภคน้อยลง จนถึงกับงดเว้นการบริโภคในเวลาวิกาลได้ เป็นอัธยาศัยที่แท้จริง
เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้ มีพระภิกษุที่ไม่เห็นด้วย และท่านคิดว่า ท่านไม่สามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ แต่เมื่อท่านพิจารณาเห็นประโยชน์ และสามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ก็มี นั่นเป็นส่วนของพระภิกษุที่ท่านพิจารณาเหตุผลและเห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิ่งซึ่งเป็นคุณแก่ท่านจริงๆ
พระภิกษุท่านก็มีอัธยาศัยต่างๆ กัน สำหรับบางท่านนั้น นอกจากจะไม่เห็นประโยชน์แล้ว ก็ยังไม่ประพฤติปฏิบัติตามเลย
ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ กีฎาคิริสูตร มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวจาริกไปในกาสีชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราฉันโภชนะเว้นการฉันในราตรีเสียทีเดียว และเมื่อเราฉันโภชนะเว้นการฉันในราตรีเสีย ย่อมรู้คุณ คือ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ แม้ท่านทั้งหลาย ก็จงมาฉันโภชนะเว้นการฉันในราตรีเสียเถิด ก็เมื่อเธอทั้งหลายฉันโภชนะเว้นการฉันในราตรีเสีย จักรู้คุณ คือ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า
อย่างนั้น พระเจ้าข้า
ซึ่งก่อนที่จะทรงบัญญัติให้เว้นการฉันในราตรี พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติให้เว้นการฉันในเวลาวิกาลในกลางวันก่อนแล้ว
ข้อความต่อไปมีว่า
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสร็จเที่ยวจาริกไปในกาสีชนบทโดยลำดับ เสด็จถึงนิคมของชนชาวกาสีอันชื่อว่า กีฏาคิรี ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชนชาวกาสีอันชื่อว่า กีฏาคิรี ก็โดยสมัยนั้น มีภิกษุชื่ออัสสชิและภิกษุชื่อปุนัพพสุกะเป็นเจ้าอาวาสอยู่ในกีฏาคิรีนิคม
ครั้งนั้น ภิกษุเป็นอันมาก เข้าไปหาอัสสชิภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า
ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ ฉันโภชนะเว้นการฉันในราตรี ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ฉันโภชนะเว้นการฉันในราตรี ย่อมรู้คุณ คือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ
ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย แม้ท่านทั้งหลายก็จะมาฉันโภชนะเว้นการฉันในราตรีเสียเถิด เมื่อท่านทั้งหลายฉันโภชนะเว้นการฉันในราตรี ก็จักรู้คุณ คือ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ
เมื่อภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอัสสชิและภิกษุปุนัพพสุกะได้กล่าวว่า
ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาลในกลางวัน เมื่อเราเหล่านั้น ฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาลในกลางวัน ก็ย่อมรู้คุณ คือ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ
เราเหล่านั้น จักละคุณที่ตนเห็นเอง แล้ววิ่งไปตามคุณอันอ้างกาลทำไม เราทั้งหลายจักฉันทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาลในกลางวัน
นี่คือ ผู้ที่เห็นตรงกันข้ามกับพระสัพพัญญุตญาณของพระผู้มีพระภาค
ข้อความต่อไปมีว่า
เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่สามารถจะให้อัสสชิภิกษุและปุนัพพสุกะภิกษุยินยอมได้ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ... จึงกราบทูลเนื้อความนี้แด่พระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาว่า
ดูกร ภิกษุ เธอจงไปเรียกอัสสชิภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุตามคำของเราว่า พระศาสดาตรัสเรียกท่านทั้งหลาย
ภิกษุนั้นทูลรับต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาอัสสชิภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า
พระศาสดาตรัสเรียกท่านทั้งหลาย
อัสสชิภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุรับต่อภิกษุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามอัสสชิภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุ ตามที่ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบว่า ดังนี้ จริงหรือ ซึ่งอัสสชิภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุก็กราบทูลว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของการเสวยเวทนาต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุให้อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม หรือการเสวยเวทนาต่างๆ ซึ่งทำให้อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญ ข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวการตั้งอยู่ในอรหัตตผลด้วยการไปครั้งแรกเท่านั้นหามิได้ แต่การตั้งอยู่ในอรหัตตผลนั้น ย่อมมีได้ด้วยการศึกษาโดยลำดับ ด้วยการทำโดยลำดับ ด้วยความปฏิบัติโดยลำดับ
นี่คือการประพฤติปฏิบัติธรรมในพระธรรมวินัย จะต้องเป็นไปตามลำดับจริงๆ มิฉะนั้นแล้ว ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยที่สามารถจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ถ้าไม่อบรมประพฤติปฏิบัติเป็นลำดับจริงๆ
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็การตั้งอยู่ในอรหัตตผล ย่อมมีได้ด้วยการศึกษาโดยลำดับ ด้วยการทำโดยลำดับ ด้วยความปฏิบัติโดยลำดับอย่างไร
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ เกิดศรัทธาแล้วย่อมเข้าไปใกล้ เมื่อเข้าไปใกล้ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลง เมื่อเงี่ยโสตลงแล้วย่อมฟังธรรม ครั้นฟังธรรมย่อมทรงธรรมไว้ ย่อมพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงไว้แล้ว เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมทนได้ซึ่งความพินิจ เมื่อธรรมทนความพินิจได้อยู่ ฉันทะย่อมเกิด เมื่อเกิดฉันทะแล้ว ย่อมอุตสาหะ ครั้นอุตสาหะแล้ว ย่อมไตร่ตรอง ครั้นไตร่ตรองแล้ว ย่อมตั้งความเพียร เมื่อมีตนส่งไปแล้ว ย่อมทำให้แจ้งชัดซึ่งบรมสัจจะด้วยกาย และย่อมแทงตลอดเห็นแจ้งบรมสัจจะนั้นด้วยปัญญา
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาก็ดี การเข้าไปใกล้ก็ดี การนั่งใกล้ก็ดี การเงี่ยโสตลงก็ดี การฟังธรรมก็ดี ความพิจารณาเนื้อความก็ดี ธรรมอันทนได้ซึ่งความพินิจก็ดี ฉันทะก็ดี อุตสาหะก็ดี การไตร่ตรองก็ดี การตั้งความเพียรก็ดี นั้นๆ ไม่ได้มีแล้ว เธอทั้งหลายย่อมเป็นผู้ปฏิบัติพลาด ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติผิด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษเหล่านี้ ได้หลีกไปจากธรรมวินัยนี้ ไกลเพียงไร
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บทสี่อันยืนยันได้ที่เรายกขึ้นแสดงแล้ว อันวิญญูบุรุษจะพึงรู้เนื้อความได้ด้วยปัญญาไม่นานเลยมีอยู่ เราจักแสดงแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจักรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งบทสี่อันยืนยันได้ที่เรายกขึ้นแสดงแล้วนั้น
พระภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกไหนเป็นข้าพระองค์ทั้งหลาย และพวกไหนจะเป็นผู้รู้ทั่วถึงธรรมได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๕๒๑ – ๕๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 481
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 482
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 483
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 484
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 485
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 486
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 487
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 488
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 489
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 490
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 491
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 492
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 493
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 494
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 495
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 496
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 497
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 498
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 499
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 500
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 501
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 502
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 503
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 504
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 505
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 506
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 507
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 508
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 509
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 510
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 511
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 512
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 513
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 514
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 515
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 516
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 517
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 518
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 519
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 520
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 521
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 522
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 523
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 524
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 525
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 526
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 527
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 528
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 529
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 530
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 531
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 532
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 533
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 534
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 535
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 536
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 537
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 538
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 539
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 540