แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 525
ครั้งที่ ๕๒๕
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ศาสดาใดเป็นผู้หนักในอามิส รับมรดกแต่ส่วนที่เป็นอามิส ข้องอยู่ด้วยอามิส แม้ศาสดานั้น ย่อมไม่มีคุณสมบัติ เหมือนดังของตลาดซึ่งมีราคาขึ้นๆ ลงๆ เห็นปานนี้ว่า ก็เมื่อเหตุอย่างนี้พึงมีแก่เรา เราพึงทำเหตุนั้น ก็เมื่อเหตุอย่างนี้ไม่พึงมีแก่เรา เราไม่พึงทำเหตุนั้น ดังนี้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ทำไมเล่า ตถาคตจึงไม่ข้องด้วยอามิสโดยประการทั้งปวงอยู่
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สภาพนี้ย่อมมีแก่สาวกผู้มีศรัทธา ผู้หยั่งลงในคำสอนของพระศาสดา แล้วประพฤติด้วยตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดา เราเป็นสาวก พระผู้มีพระภาคย่อมทรงรู้ เราไม่รู้ คำสอนของพระศาสดาย่อมงอกงาม มีโอชาแก่สาวกผู้มีศรัทธา ผู้หยั่งลงในคำสอนของพระศาสดาแล้วประพฤติ สภาพนี้ย่อมมีแก่สาวกผู้มีศรัทธา ผู้หยั่งลงในคำสอนของพระศาสดาแล้วประพฤติ ด้วยตั้งใจว่า เนื้อและเลือดในสรีระของเราจงเหือดแห้งไป จะเหลืออยู่แต่หนังและเอ็นและกระดูกก็ตามที เมื่อเรายังไม่บรรลุถึงอิฐผลที่จะพึงบรรลุด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักคลายความเพียรนั้นเสีย จักไม่มีเลย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผลสองอย่างคือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อขันธปัญจกที่กรรมกิเลสเข้าไปยึดถือเป็นส่วนเหลือยังมีอยู่ ความเป็นพระอนาคามีอย่างใดอย่างหนึ่ง อันสาวกผู้มีศรัทธาผู้หยั่งลงในคำสอนของพระศาสดาแล้วประพฤติ พึงหวังได้
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
จบ กีฏาคิริสูตรที่ ๑๐
ถ้าไม่อบรมเจริญธรรมด้วย ก็ยากเหลือเกินที่จะมีศรัทธาพากเพียรขัดเกลากิเลสตามพระวินัยบัญญัติได้ เขาก็จะต้องเห็นว่า เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์อย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง ผลก็คือว่า เมื่ออุปสมบทนั้นมุ่งหวังที่จะได้ขัดเกลากิเลสจนถึงการบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่เมื่อไม่ได้ประพฤติธรรมที่ถูกต้องตามลำดับ การขัดเกลากิเลสไม่มี ก็ไม่สามารถที่จะประพฤติตามได้ เพราะฉะนั้น ก็ย่อมไม่สามารถบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นอรหัตตามที่ได้มุ่งหวังไว้
การที่ฆราวาสไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจ จะทำให้เป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสในผู้ที่ไม่ประพฤติในธรรมวินัย ไม่เลื่อมใสในผู้ที่ประพฤติตามพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น การเข้าใจธรรมเป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่งที่จะให้ทราบว่า ผู้ใดเป็นผู้ที่ควรแก่ความเลื่อมใส และผู้ใดไม่ควรแก่การเลื่อมใส
ขอกล่าวถึง พระวินัยปิฎก จุลวรรค ปัพพาชนียกรรมที่ ๓ เรื่องการลงโทษไล่ออกเสียจากหมู่ ซึ่งกระทำโดยสงฆ์ ข้อความในปัพพาชนียกรรมที่ ๓ มีว่า
เรื่องภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุพพสุกะเป็นเจ้าถิ่นในชนบทกิฏาคีรี เป็นภิกษุอลัชชีเลวทราม ภิกษุพวกนั้นประพฤติอนาจารเห็นปานดังนี้ คือ ปลูกต้นไม้ดอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นรดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อยกรองดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นร้อยกรองบ้าง ทำมาลัยต่อก้านเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำมาลัยเรียงก้านเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้ช่อเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้พุ่มเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้เทริดเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้พวงเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้แผงสำหรับประดับอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ภิกษุพวกนั้นนำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งมาลัยต่อก้าน นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งมาลัยเรียงก้าน นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้างซึ่งดอกไม้ช่อ นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้พุ่ม นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้เทริด นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้พวง นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้แผงสำหรับประดับอก เพื่อกุลสตรี เพื่อกุลธิดา เพื่อกุมารีแห่งตระกูล เพื่อสะใภ้แห่งตระกูล เพื่อกุลทาสี
ภิกษุพวกนั้น ฉันอาหารในภาชนะอันเดียวกันบ้าง ดื่มน้ำในขันใบเดียวกันบ้าง นั่งบนอาสนะอันเดียวกันบ้าง นอนบนเตียงอันเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาดอันเดียวกันบ้าง นอนคลุมผ้าห่มผืนเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาดและคลุมผ้าห่มร่วมกันบ้างกับกุลสตรี กุลธิดา กุมารีแห่งตระกูล สะใภ้แห่งตระกูล กุลทาสี ฉันอาหารในเวลาวิกาลบ้าง ดื่มน้ำเมาบ้าง ทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้บ้าง ฟ้อนรำบ้าง ขับร้องบ้าง ประโคมบ้าง เต้นรำบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ขับร้องกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ประโคมกับหญิงฟ้อนรำบ้าง เต้นรำกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงขับร้องบ้าง ขับร้องกับหญิงขับร้องบ้าง ประโคมกับหญิงขับร้องบ้าง เต้นรำกับหญิงขับร้องบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงประโคมบ้าง ขับร้องกับหญิงประโคมบ้าง ประโคมกับหญิงประโคมบ้าง เต้นรำกับหญิงประโคมบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงเต้นรำบ้าง ขับร้องกับหญิงเต้นรำบ้าง ประโคมกับหญิงเต้นรำบ้าง เต้นรำกับหญิงเต้นรำบ้าง
ท่านผู้ฟังจะเห็นความละเอียดของพระวินัย ซึ่งไม่เว้นเลย เพราะถ้าเว้น ท่านผู้ฟังจะคิดว่าอย่างนั้นทำได้ เพราะว่าไม่ได้กล่าวไว้โดยละเอียด เพราะฉะนั้น ข้อความในพระวินัยเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ
ข้อความต่อไปกล่าวถึงภิกษุพวกอัสสชิว่า
เล่นหมากรุกแถวละแปดตาบ้าง เล่นหมากรุกแถวละสิบตาบ้าง เล่นหมากเก็บบ้าง เล่นชิงนางบ้าง เล่นหมากไหวบ้าง เล่นโยนบ่วงบ้าง เล่นไม้หึ่งบ้าง เล่นฟาดให้เป็นรูปต่างๆ บ้าง เล่นสกาบ้าง เล่นเป่าใบไม้บ้าง เล่นไถน้อยๆ บ้าง เล่นหกคะเมนบ้าง เล่นไม้กังหันบ้าง เล่นตวงทรายด้วยใบไม้บ้าง เล่นรถน้อยๆ บ้าง เล่นธนูน้อยๆ บ้าง เล่นเขียนทายบ้าง เล่นทายใจบ้าง เล่นเลียนคนพิการบ้าง หัดขี่ช้างบ้าง หัดขี่ม้าบ้าง หัดขี่รถบ้าง หัดยิงธนูบ้าง หัดเพลงอาวุธบ้าง วิ่งผลัดช้างบ้าง วิ่งผลัดม้าบ้าง วิ่งผลัดรถบ้าง วิ่งขับกันบ้าง วิ่งเปี้ยวกันบ้าง ผิวปากบ้าง ปรบมือบ้าง ปล้ำกันบ้าง ชกมวยกันบ้าง ปูลาดผ้าสังฆาฏิ ณ กลางสถานเต้นรำ แล้วพูดกับหญิงฟ้อนรำอย่างนี้ว่า น้องหญิง เธอจงฟ้อนรำ ณ ที่นี้ ดังนี้บ้าง ให้การคำนับบ้าง ประพฤติอนาจารมีอย่างต่างๆ บ้าง ฯ
อุบาสกเล่าเรื่องให้พระฟัง
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาในแคว้นกาสี เดินทางไปพระนคร สาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงชนบทกิฏาคีรีแล้ว ครั้นเวลาเช้า ภิกษุนั้นครองอันตรวาสก ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังชนบทกิฏาคีรี มีอาการเดินไป ถอยกลับ แลเหลียว คู้แขน เหยียดแขน น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ
ท่านเป็นพระภิกษุตามพระวินัยที่น่าเลื่อมใส แต่ว่าฆราวาสซึ่งไม่รู้ธรรม ไม่เข้าใจธรรม กลับเห็นตรงกันข้าม ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า
คนทั้งหลายเห็นภิกษุรูปนั้น แล้วพูดอย่างนี้ว่า
ภิกษุรูปนี้เป็นใคร ดูคล้ายคนไม่ค่อยมีกำลัง เหมือนคนอ่อนแอ เหมือนคนมีหน้าสยิ้ว ใครเล่าจักถวายบิณฑะแก่ท่านผู้เข้าไปเที่ยวบิณฑบาตรูปนี้ ส่วนพระผู้เป็นเจ้าเหล่าพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะของพวกเรา เป็นผู้อ่อนโยน พูดจาไพเราะ อ่อนหวาน ยิ้มแย้มก่อน มักพูดว่า มาเถิด มาดีแล้ว มีหน้าไม่สยิ้ว มีหน้าชื่นบาน มักพูดก่อน ใครๆ ก็ต้องถวายบิณฑะแก่ท่านเหล่านั้น
กลับเห็นว่า ภิกษุผู้มีความประพฤติไม่ดี ไม่ถูกต้องตามพระวินัย เป็นผู้ที่อ่อนโยน พูดจาไพเราะอ่อนหวาน และมักพูดก่อน เพราะฉะนั้น ก็ไม่ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระภิกษุผู้ที่ปฏิบัติตามพระวินัย แต่ถวายอาหารแก่ท่านเหล่านั้นซึ่งเป็นผู้ที่มีความประพฤติเช่นท่านพระอัสสชิและท่านพระปุนัพพสุกะ
อุบาสกคนหนึ่งได้แลเห็นภิกษุรูปนั้น กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในชนบทกิฏาคีรี ครั้นแล้วจึงเข้าไปหาภิกษุรูปนั้น กราบเรียนถามภิกษุรูปนั้นว่า
พระคุณเจ้า ได้บิณฑะบ้างไหม ขอรับ
ภิกษุรูปนั้นตอบว่า
ยังไม่ได้บิณฑะเลยจ้ะ
อุบาสกกล่าวอาราธนาว่า
นิมนต์ไปเรือนผมเถิด ขอรับ
แล้วนำภิกษุรูปนั้นไปเรือน นิมนต์ให้ฉัน แล้วเรียนถามว่า
พระคุณเจ้าจักไปที่ไหน ขอรับ
ภิกษุตอบว่า
อาตมาจักไปพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค
อุบาสกกล่าวว่า
ถ้าเช่นนั้น ขอพระคุณเจ้าจงกราบถวายบังคมพระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า และขอจงกราบทูลตามถ้อยคำของผมอย่างนี้ว่า
พระพุทธเจ้าข้า วัดในชนบทกิฏาคีรีโทรม ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะเป็นเจ้าถิ่นในชนบทกิฏาคีรี เป็นภิกษุอลัชชีเลวทราม พวกเธอประพฤติอนาจาร เห็นปานดังนี้ คือ ปลูกต้นไม้ดอกเองบ้าง ... (ข้อความซ้ำเหมือนตอนต้น)
เมื่อก่อนชาวบ้านยังมีศรัทธาเลื่อมใส แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่ศรัทธา ไม่เลื่อมใสแล้ว แม้ทานประจำของสงฆ์ก่อนๆ บัดนี้ทายกทายิกาได้ตัดขาดแล้ว ภิกษุมีศีลเป็นที่รักย่อมหลีกเลี่ยงไป ภิกษุเลวทรามอยู่ครอง พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระวโรกาส พระผู้มีพระภาคพึงส่งภิกษุทั้งหลายไปสู่ชนบทกิฏาคีรีเถิด เพื่อวัดในชนบทกิฏาคีรีนี้จะพึงตั้งมั่นอยู่
ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมและไม่เข้าใจพระธรรมวินัย จะเข้าใจผิด เห็นผิด คิดว่า พระภิกษุที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเป็นผู้ที่ไม่น่าเลื่อมใส แต่ก็มีพวกชาวบ้านที่เข้าใจธรรมวินัยและเคยมีศรัทธาเลื่อมใสในพระภิกษุที่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ภายหลังเมื่อภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักย่อมหลีกเลี่ยงไป ภิกษุเลวทรามอยู่ครอง ชาวบ้านเหล่านั้นก็ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส แม้ทานประจำของสงฆ์ก่อนๆ เขาก็ตัดขาดแล้ว ซึ่งเป็นการทำให้ชาวบ้านเสื่อมจากประโยชน์ คือ บุญกุศลเป็นอันมาก
ภิกษุรูปนั้น รับคำของอุบาสกนั้นแล้ว ลุกจากอาสนะ หลีกไปโดยทางพระนครสาวัตถี ถึงพระนครสาวัตถี พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี โดยลำดับ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
พุทธประเพณี
ก็การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี
ทรงปฏิสันถาร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามภิกษุรูปนั้นว่า
ดูกร ภิกษุ ร่างกายของเธอยังพอทนได้หรือ ยังพอให้เป็นไปได้หรือ เธอเดินทางมามีความลำบากน้อยหรือ และเธอมาจากไหน
ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า
ข้าพระพุทธเจ้ายังพอทนได้ พระพุทธเจ้าข้า ยังพอให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า และข้าพระพุทธเจ้าเดินทางมามีความลำบากเล็กน้อย ข้าพระพุทธเจ้าจำพรรษาในแคว้นกาสี เมื่อจะมายังพระนครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้ผ่านชนบทกิฏาคีรี
ต่อจากนั้น ท่านก็ได้กราบทูลเรื่องภิกษุในกิฏาคิริชนบทให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุพวกอัสสชิและปุนัพพสุกะเป็นเจ้าถิ่นในชนบทกิฏาคีรี เป็นภิกษุอลัชชีเลวทราม พวกเธอประพฤติอนาจารเห็นปานดังนี้ ... (ข้อความซ้ำเหมือนตอนต้น)
เมื่อก่อนชาวบ้านยังมีศรัทธาเลื่อมใส แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่ศรัทธา ไม่เลื่อมใสแล้ว แม้ทานประจำของสงฆ์ก่อนๆ บัดนี้ทายกทายิกาได้ตัดขาดแล้ว ภิกษุมีศีลเป็นที่รักย่อมหลีกเลี่ยงไป ภิกษุเลวทรามอยู่ครอง ดังนี้ จริงหรือ
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า
จริง พระพุทธเจ้าข้า
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงได้ประพฤติอนาจารเห็นปานดังนี้ คือ … (ข้อความซ้ำเหมือนตอนต้น)
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ... ครั้นแล้ว ทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะว่า
ไปเถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะ พวกเธอไปถึงชนบทกิฏาคีรีแล้ว จงทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุพวกอัสสชิและปุนัพพสุกะจากชนบทกิฏาคีรี เพราะภิกษุพวกนั้นเป็นสัทธิวิหาริกของพวกเธอ
พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะกราบทูลถามว่า
พวกข้าพระพุทธเจ้าจะทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะจากชนบทกิฏาคีรีได้ด้วยวิธีไร เพราะภิกษุพวกนั้นดุร้าย หยาบคาย พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตรและโมคคัลลานะ ถ้าเช่นนั้น พวกเธอจงไปพร้อมด้วยภิกษุ หลายๆ รูป
พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะกราบทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคว่า
อย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า ฯ
ต่อจากนั้นก็เป็นข้อความเรื่องวิธีทำปัพพาชนียกรรม
ข้อความตอนท้ายมีว่า
ปัพพาชนียกรรม สงฆ์ทำแล้วแก่ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ จากชนบทกิฏาคิริว่า ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะไม่พึงอยู่ในชนบทกิฏาคิริ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้ ฯ
ถ. พระวินัยเกิดขึ้นเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ และพระภิกษุตามที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า เป็นภิกษุอลัชชีนั้น ภิกษุพวกนี้ก็คงจะเป็นภิกษุ เอหิภิกขุอุปสัมปทา ซึ่งก่อนจะเข้ามาอุปสมบท ก็คงจะเป็นผู้ที่มีศรัทธา แต่เหตุใดจึงกระทำอย่างนั้น
สุ. ไม่ใช่เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นอุปัชฌาย์
ถ. เข้าใจว่า คงจะมีเป็นจำนวนร้อยๆ รูป ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านคงหยั่งรู้อัธยาศัย แต่ทำไมจึงบวชให้พระภิกษุเหล่านั้น
สุ. รู้ก่อนไม่ได้ บวชเสียก่อนจึงจะรู้ว่า ใครประพฤติถูกผิดอย่างไร เมื่อมีศรัทธาขอที่จะบวช และถูกต้องตรงตามพระวินัย มีคุณสมบัติถูกต้อง ก็บวชให้
ถ. พระภิกษุอลัชชีเหล่านั้น คงมีศรัทธาไม่น้อย จึงเข้ามาบวชในศาสนานี้
สุ. ถ้าไม่ได้ขัดเกลากิเลส ด้วยการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ก็ไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยได้ เพราะว่ากำลังของกิเลสแรงมาก
ถ. ในสมัยนั้นเรียกว่า กาลสมบัติ ยังมีถึงขนาดนั้น แต่ผมเห็นว่า สมัยนี้ พระภิกษุเป็นจำนวนมากมีความน่าเคารพ น่าเลื่อมใสหลายรูปเหลือเกิน ผมไปตามวัดต่างๆ แม้เป็นภิกษุที่บวชเพียง ๓ เดือน ๗ วัน หรือ ๑๐ วัน ก็ยังน่าเลื่อมใสมากกว่าที่ได้กล่าวมามาก
สุ. หมายความว่า สมัยนี้มีพระภิกษุที่น่าเลื่อมใสมากกว่าที่ประพฤติไม่น่าเลื่อมใส หรืออย่างไร
ถ. เท่าที่เห็นด้วยตนเอง
สุ. ศรัทธาในบุคคลที่ควรศรัทธา อย่าศรัทธาในผู้ที่ไม่สมควรแก่การที่จะศรัทธา นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ถ้าไม่ศึกษาธรรมให้เข้าใจ ก็จะเข้าใจผิดได้ คือ อาจจะเห็นภิกษุอย่างท่านอัสสชิและท่านปุนัพพสุกะว่า เป็นผู้ที่ควรศรัทธา ก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น การเข้าใจธรรมจะช่วยให้รู้ว่า บุคคลใดควรแก่การศรัทธาเลื่อมใส
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๕๒๑ – ๕๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 481
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 482
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 483
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 484
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 485
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 486
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 487
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 488
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 489
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 490
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 491
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 492
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 493
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 494
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 495
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 496
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 497
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 498
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 499
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 500
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 501
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 502
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 503
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 504
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 505
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 506
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 507
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 508
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 509
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 510
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 511
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 512
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 513
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 514
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 515
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 516
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 517
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 518
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 519
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 520
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 521
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 522
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 523
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 524
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 525
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 526
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 527
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 528
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 529
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 530
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 531
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 532
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 533
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 534
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 535
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 536
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 537
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 538
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 539
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 540