แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 526


    ครั้งที่ ๕๒๖


    ถ. กระผมขออภัยท่านผู้ฟัง ที่อาจจะทำให้หลายๆ ท่านเกิดความรำคาญใจ แต่กระผมจำเป็นต้องพูด อย่างคราวที่แล้ว ที่ผมท้วงติงเรื่องพุทธวัจนะกับที่คำแปลภาษาไทยไม่ตรงกัน จำเป็นต้องพูด ถ้าไม่พูด ผู้ที่ไปอ่านภาษาไทยจะเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ เพราะว่าคำแปลภาษาไทยนี้ไม่ตรงตามที่บาลีเขียนไว้

    คำว่า เอกาสนโภชนํ ภุญชามิ คราวที่แล้วผมก็เรียนให้ทราบแล้วว่า ใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ท่านแปลว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราบริโภคอาหารอาสนะเดียว แต่ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ท่านแปลอีกอย่างหนึ่ง แปลว่า เราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว

    ท่านเอามาจากไหน กระผมไปตรวจดูใน อรรถกถา ปปัญจสูทนี ท่านอธิบายอย่างนี้ ท่านบอกว่า ตตฺถ เอกาสนโภชนํ ปิ เอกสฺมึ ปุเรภตฺเต อาสนโภชนํ ภุญฺชิตพฺพ ภตฺตนฺติ อกฺโข แปลเป็นภาษาไทยว่า การฉันอาหารโภชนะที่อาสนะเดียว อาสนะเดียวนี้แปลว่า ครั้งเดียวก็ได้ แต่คำว่า ปุเรภตฺเต ท่านแปลว่า ในเวลาก่อนภัต

    คำนี้ผมเองก็สะดุดใจว่า เวลาก่อนภัตนี้เป็นอย่างไร พยายามเท่าไรก็คิดไม่ออก ก็เทียบกับอีกคำว่า ปจฺฉาภตฺ ฉะนั้น ปุเรภัต ก็มีความหมายเพียงแต่ว่าฉันครั้งแรก ถ้าปัจฉาภัต ก็ฉันครั้งหลัง ไม่ใช่เรื่องกาล ไม่ใช่เรื่องวิกาล แต่ท่านแปลว่า เป็นเวลาก่อนภัต ผมเดาว่า ปุเรภัต ฉันครั้งแรก ปัจฉาภัต ฉันครั้งหลัง

    อีกตอนหนึ่งที่กระผมเรียนว่า ในพระไตรปิฎกท่านแปลว่า ดูกร ภัททาลิ ถ้าอย่างนั้น เธอรับนิมนต์ ณ ที่ใดแล้ว พึงฉัน ณ ที่นั้นเสียส่วนหนึ่ง แล้วนำอีกส่วนหนึ่งมาฉันอีกก็ได้ เมื่อเธอฉันได้แม้อย่างนี้ ก็จักยังชีวิตให้เป็นไปได้

    เมื่อคราวที่แล้ว ผมก็ได้เรียนให้ทราบว่า สำหรับพุทธวจนะบทนี้ กระผมเข้าใจว่า พระพุทธองค์ทรงเตือนพระภัททาลิว่า การฉันอาหารนั้น ไม่ใช่จะฉันมากมายอะไร แม้ฉันส่วนหนึ่ง ทิ้งเสียส่วนหนึ่ง ก็ยังชีวิตให้เป็นไปได้ ผมเข้าใจอย่างนี้ และวันนี้เองกระผมก็ได้มีโอกาสได้พบท่านพระเถระผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นเปรียญ ๘ ประโยค ดูเหมือนสำเร็จ M.A. มาจากอินเดียด้วย ผมก็เอาข้อความนี้ไปถามท่านว่า ข้อความอย่างนี้ ท่านแปลว่าอะไร ท่านดูๆ แล้ว ก็แปลว่า ฉันอาหารส่วนหนึ่ง เอาออกเสียส่วนหนึ่ง แล้ว ก็ยังชีวิตให้เป็นไปได้ ท่านแปลว่าอย่างนี้

    กระผมก็ถามท่านว่า ถ้าจะแปลอย่างนี้ จะผิดจะถูกประการใด ถ้าแปลว่า การฉันอาหารนี้ ฉันเสียส่วนหนึ่ง แม้ทิ้งเสียส่วนหนึ่ง ก็ยังมีชีวิตให้เป็นไปได้ ท่านก็บอกว่า อย่างนั้นถูกทีเดียว อย่างนี้ถูกต้อง

    ผมก็เอาอรรถกถาให้ท่านดู อรรถกถาท่านก็ว่าของท่านไปอีกนัยหนึ่ง อรรถกถา ปปัญจสูทนี ท่านก็อธิบายเรื่อง เอกเทสํ ภุญฺชิตฺวา ท่านดูแล้วก็ว่า ที่อรรถกถาอธิบายอย่างนี้ไม่ตรงตามพุทธวจนะ พุทธวจนะไม่ได้ว่าอย่างนี้ อรรถกถาท่านอธิบายว่า เมื่อบิณฑบาต สมมติว่าได้อาหารมาแล้ว บิณฑบาตนี้เขาใส่เนยใสร้อนๆ มาในบาตรนั้นด้วยพร้อมทั้งข้าว อรรถกถาท่านก็บอกว่า เนยใสนั้นดื่มได้ ส่วนอาหารนั้นก็นำไปสู่ที่อยู่ ที่มีน้ำ มีร่มเงา เป็นที่สุขสบาย แล้วไปนั่งฉันอาหารที่นั่นก็ได้

    เราจะสังเกตได้ในพระไตรปิฎก พระภิกษุท่านบิณฑบาตแล้ว ท่านไม่ได้กลับมาฉันอาหารที่วัด ท่านพบที่ไหนสุขสบาย สะดวก ท่านก็ฉัน ณ ที่นั้น

    นี่ท่านอนุญาตถึง การฉันสัปปิ คือ เนยใสๆ ไม่ใช่อาหาร เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ ฉันได้ แต่ในบทนี้ ท่านอธิบายความต่อไปอีกว่า แต่ท่านภัททาลิคิดอย่างนี้ว่า ฉันอาหารนี้อิ่มแล้ว เอาอาหารไปฉันที่อื่นอีกก็ยังได้ นี่เป็นความคิดของท่านภัททาลิ ในอรรถกถาท่านว่านะครับ กระผมก็นำมาให้ท่านผู้ฟังฟังอย่างนี้ แต่ท่านจะพิจารณาเป็นประการใด หรืออย่างไร ก็สุดแล้วแต่ความคิดเห็นของท่าน

    สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟัง ที่มีความสนใจในธรรม และศึกษาค้นคว้าโดยละเอียด เพื่อต้องการความแจ่มแจ้งจริงๆ ในเหตุผล ในข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง การจะรับฟังความคิดเห็นของท่านผู้หนึ่งผู้ใดเป็นประโยชน์มาก เป็นการเกื้อกูลการพิจารณาของท่านว่า ธรรมที่ถูกต้องจริงๆ นั้นควรเป็นอย่างไร เพราะว่าท่านหนึ่งคิดอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ ท่านอื่นก็มีเหตุผลอย่างอื่น คิดอย่างอื่น เข้าใจอย่างอื่น เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้นำความเห็นต่างๆ มาพิจารณาประกอบกัน เพื่อที่จะได้พิจารณาว่า ที่ถูกต้องจริงๆ นั้น ควรจะเป็นอย่างไร

    เท่าที่ทราบ ความหมายของปุเรภัต กับปัจฉาภัต อย่างปัจฉาภัต จะมีข้อความบ่อยๆ ในพระไตรปิฎก ที่ท่านสนทนาธรรมกัน หรือท่านพักผ่อน หรือท่านไปมาหากันในเวลาปัจฉาภัต คือ หลังจากบริโภคแล้ว ซึ่งคงจะเป็นเวลาบ่าย เป็นเวลาว่าง เวลาพักผ่อนของบรรพชิต ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังท่านอื่น ท่านจะศึกษาค้นคว้ามา และมีความเข้าใจเรื่องปุเรภัตกับปัจฉาภัตอย่างไร แต่เท่าที่ทราบ เท่าที่ศึกษามาแล้วปัจฉาภัต หมายความถึงหลังภัต คือ เวลาที่ท่านบริโภคแล้ว ท่านฉันแล้ว ท่านก็มักจะพักผ่อน หรือว่าไปมาหาสู่กัน หรือว่าสนทนากัน หรือว่าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ในเวลาปัจฉาภัต คือ หลังภัต หลังการฉันอาหาร หลังจากบริโภคแล้ว

    สำหรับข้อความใน ภัททาลิสูตร นี้ ก็เป็นการดีที่ท่านผู้ฟังพยายามที่จะหาเหตุผลว่า ความจริงนั้นควรเป็นอย่างไร

    ถ้าจะพิจารณาจริงๆ เมื่อท่านพระภัททาลิกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านไม่สามารถจะประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นได้ พระผู้มีพระภาคก็จะทรงอนุญาตผ่อนผันว่า จะทำอย่างนั้นก็ได้ หรืออย่างข้อความในอรรถกถาที่ว่า ให้บริโภคเนยใสได้ ก็ถ้าบริโภคเสียจนอิ่มเท่ากับอาหาร การบริโภคครั้งที่ ๒ จะยังชื่อว่าเป็นการบริโภค ๒ ครั้งไหม แต่ว่าเป็นไปในกาล

    ข้อสำคัญที่สุด ที่ควรจะพินิจพิจารณา คือ เรื่องกาล เพราะศีลข้อนี้มีว่า วิกาลโภชนา เวรมณี เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ควรจะมุ่งที่กาล

    ส่วนท่านผู้ใดจะประพฤติปฏิบัติขัดเกลาได้เพียงใด ก็เป็นเรื่องความสามารถของแต่ละท่าน ถ้าคิดถึงใจจริงๆ ของกุลบุตรผู้มีศรัทธา และข้อปฏิบัติขัดเกลาในเพศของบรรพชิตนั้นก็มาก สำหรับผู้ที่มีศรัทธาสามารถที่จะดำรงเพศบรรพชิตได้จริงๆ

    การอาบัติ ก็มีตั้งแต่อาบัติหนัก และก็ยิ่งหย่อนลงไปจนถึงอย่างเบา ซึ่งถ้าเป็นอาบัติเบาก็แก้ไขได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องทิ้งเพศบรรพชิตสู่เพศฆราวาส

    ถ้าคิดถึงเรื่องของอาหาร ตามความเป็นจริง ทุกท่านติดมากไหม แม้ว่าจะมีศรัทธาที่จะเป็นบรรพชิตที่จะอุปสมบท แต่กิเลสไม่ได้หมดไปเพราะการอุปสมบท จะต้องมีการขัดเกลาอบรมเจริญปัญญา ระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง และพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงบัญญัติกาลที่ควรบริโภคไว้แล้ว ซึ่งพระภิกษุท่านก็คงจะไม่ฉวยโอกาสบริโภคเอาๆ หรือว่ามากมายพร่ำเพรื่อ จนกระทั่งเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ แม้ว่าจะเป็นภายในกาล และมัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่เป็นสายกลาง สำหรับการประพฤติปฏิบัติในธรรมวินัยนั้น ควรจะเป็นอย่างไร นี่เป็นข้อที่ควรพิจารณา

    สำหรับการนั่งฉันที่เดียว เป็นองค์หนึ่งของธุดงค์ ๑๓ ข้อ คือ เอกาสนิกังคะ

    ธุดงค์ทั้งหมดมี ๑๓ ข้อ เป็นเรื่องของจีวร ๒ ข้อ เป็นเรื่องอาหารบิณฑบาต ๕ ข้อ เป็นเรื่องที่อยู่ คือ เสนาสนะ ๕ ข้อ และในเรื่องของความเพียร ๑ ข้อ

    ในเรื่องของบิณฑบาต ๕ คือ

    ๑. ปิณฑปาติกังคะ คือ ฉันเฉพาะอาหารที่บิณฑบาตมาเท่านั้น ไม่รับอาหารอื่น นอกจากอาหารที่บิณฑบาต

    ๒. สปทานจาริกังคะ คือ บิณฑบาตตามลำดับบ้าน

    เป็นการขัดเกลาการติดในรส คือ ไม่เลือกบ้าน แล้วแต่ว่าบ้านไหนจะถวายอาหารบิณฑบาตประณีตไม่ประณีตอย่างไร ก็มีศรัทธาที่จะรับอาหารบิณฑบาตตามลำดับบ้าน เพื่อบริโภคตามมีตามได้จริงๆ

    ๓. เอกาสนิกังคะ คือ นั่งฉันที่เดียว หมายความถึงบริโภคที่เดียว

    ๔. ปัตตปิณฑิกังคะ คือ ฉันแต่ในภาชนะเดียว หมายถึง ถ้าท่านบิณฑบาตมา ท่านก็ฉันแต่ในบาตรนั้น ไม่เปลี่ยนภาชนะ หรือว่าไม่ฉันอาหารในภาชนะอื่นด้วย

    ๕. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ คือ เมื่อห้ามภัตแล้วไม่ฉันอีก หมายความว่า เมื่ออิ่มแล้วก็อิ่ม ไม่มีการบริโภคอีก

    เป็นการขัดเกลากิเลสในเรื่องอาหารบิณฑบาต ที่เป็นธุดงค์ ๕ ข้อ เป็นข้อปฏิบัติขัดเกลาพิเศษ ยิ่งยวดอีกต่างหากจากพระวินัยบัญญัติ

    มีจดหมายของท่านผู้ฟังท่านถามเรื่องของวิกาลโภชนาดังต่อไปนี้

    ข้อ ๑. วันหนึ่งดิฉันรับศีล ๘ แต่วันนี้ต้องเรียนหนังสือ เลิกเวลาเที่ยง หลังอาหารกลางวันแล้ว ดิฉันไม่รับประทานอาหารอื่น (ยกเว้นน้ำ) โดยคิดว่าศีลข้อ ๖ ยังไม่ขาด เนื่องจากมีความจำเป็นและไม่มีเจตนาที่จะละเมิดศีล ความคิดเช่นนี้ คือ ถือเจตนาเป็นสำคัญ จะถูกหรือผิด ขอความกรุณาอาจารย์อธิบาย

    ข้อ ๒. ในหนังสือคู่มือคลังปริยัติธรรมของนายแพทย์เกิด ธนชาติ กล่าวว่า นม (สด) จัดเป็นน้ำปานะอย่างหนึ่ง แต่ผู้ใหญ่บางท่านบอกว่าไม่ใช่ เมื่อถือศีล ๘ เวลาหิวมาก ดิฉันดื่มนมสด จะถือว่าผิดศีลหรือไม่ (เจตนาเพื่อบรรเทาความหิว ไม่ใช่บริโภคเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา หรือเพื่อความสวยงาม)

    สุ. สำหรับคำถามข้อที่ ๑ ท่านผู้ฟังมีความคิดเห็นประการใดบ้างไหม

    คามิกะ เรื่องของธรรมนี้ต้องมีใจบริสุทธิ์ เจตนาหมายความแค่ไหน เจตนาของธรรมต่างกับเจตนาอย่างอื่นๆ และที่ว่าเที่ยงแล้ว แต่ฉันยังไม่ได้กินอะไร ก็จะกิน อย่างนั้นไม่ได้ เรื่องรักษาศีล ขาดเป็นขาด อดเป็นอด

    เรื่องกินนม มีอยู่ ๕ อย่างที่พระฉันได้ นมสดไม่ได้ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยได้ พระฉันได้เมื่อเที่ยงแล้ว ธรรมต้องแปลกันตามตัว

    อย่าง หริตฺวา แปลได้หลายอย่าง เอกํ อาสนโภชนํ ภุญฺชิตวา ... คือ ฉันเสียส่วนหนึ่ง หริตฺวา แปลตามศัพท์ คือ นำออกเสียส่วนหนึ่ง แต่ท่านก็ไม่ได้บอกว่า ให้เอาไปทิ้งไว้ที่ไหน หรือเอาไปเก็บไว้กินอีกที ท่านไม่ได้พูด

    สุ. สำหรับเรื่องศัพท์ของนำออก กับวิกาลโภชนา สำหรับการล่วงศีล ข้อ วิกาลโภชนา เป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่การบริโภค ๒ ครั้ง ในกาล คือ ก่อนเที่ยง ไม่ได้มีอาบัติข้อหนึ่งข้อใดเลย แต่ถ้าภิกษุใดบริโภคหลังเที่ยง เป็นวิกาลโภชนาแล้ว อาบัติปาจิตตีย์ ทรงวางโทษไว้ ในเมื่อเป็นพระวินัยบัญญัติ

    เพราะฉะนั้น สำหรับพยัญชนะที่ว่า นำออก ตามความหมายของภัททาลิสูตร และอรรถกถา จะต้องสอดคล้องกับพระวินัยบัญญัติด้วย นำออกจะเป็นโดยประการใดก็ตาม ต้องไม่ใช่วิกาลโภชนา ไม่ใช่การบริโภคในเวลาวิกาล เพราะว่าถ้าเป็นการบริโภคในเวลาวิกาล เป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่ถ้าบริโภคภายในกาล ไม่เป็นอาบัติ ไม่ได้วางอาบัติไว้ว่า เป็นอาบัติประการใดเลย

    สำหรับอรรถกถาทั้งหลายเท่าที่ได้ศึกษา ดิฉันรู้สึกซาบซึ้ง และเห็นพระคุณของท่านพระอรรถกถาจารย์ในส่วนของธรรมที่ท่านได้ขยายความ อธิบาย ให้ความชัดเจนในศัพท์ ในพยัญชนะ ส่วนปลีกย่อยซึ่งไม่ใช่เรื่องของธรรม เป็นเรื่องเล็กน้อยมาก ซึ่งไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดจะสามารถจะทราบได้ว่า เป็นส่วนจริงหรือว่าจะมีการต่อเติมคลาดเคลื่อนประการใด แต่ว่าเรื่องของธรรมแล้ว พระอรรถกถาจารย์ให้คำอธิบายและความหมายที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง เป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ศึกษาในรุ่นหลังนี้มาก แต่ต้องเป็นพระอรรถกาจารย์ในยุคที่ใกล้กับพระบาลี

    อรรถกถาของพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎก คือ อรรถกถาของพระวินัยปิฎก อรรถกถาของพระสุตตันตปิฎก อรรถกถาของพระอภิธรรมปิฎก

    ถ้าเป็นหนังสือที่บุคคลในยุคนี้เขียน จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องพิจารณาใคร่ครวญอย่างละเอียดยิ่งกว่าพระอรรถกถาจารย์ในรุ่นหลังโน้น

    คามิกะ ตำราที่แต่งหลังๆ นี้ ผมจะยกตัวอย่าง ที่เขาพิมพ์แจก ขอให้พิจารณา หลวงพ่อท่านไม่ได้ว่า แต่ลูกน้องว่า หลวงพ่อปานเข้าสมาธิขึ้นไปบนสวรรค์ ไปเจอพระพุทธเจ้านั่งอยู่ ได้ทักทายกัน ว่ากันไปอย่างนี้ เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่ใช่หลวงพ่อปานว่านะ แต่ลูกน้องหลวงพ่อปานมาว่า และเขาพิมพ์แจกในกฎแห่งกรรม

    เราเรียนธรรมถึงขนาดนี้แล้ว พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ยังจะนั่งอยู่ที่ พระจุฬามณีให้หลวงพ่อปานไปกราบไปไหว้ได้ไหม ดับหมดทุกอย่างแล้ว จะมีอะไรเหลืออยู่ นี่ก็อย่างหนึ่ง

    และหลวงพ่อแถวๆ ฝั่งธน พอเข้า เรียกว่าธรรมกาย พอเข้าฉับ ไปดูนรกสวรรค์ ใครไปเกิดที่ไหนรู้เลย เรื่องรู้ที่เกิดที่ตาย พระผู้มีพระภาคเท่านั้นที่ทรงทราบ คนอื่นไม่รู้หรอก ก็เป็นกันอย่างนี้แหละ อาจารย์หลังๆ นี้โปรดพิจารณา ถ้าเชื่อคนผิด เราก็ตกนรกไปด้วย เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีปัญญาของเรา นี่สำคัญที่สุด

    ที่กล่าวมานี้ ด้วยความจริงใจ ผมก็เรียนมามาก ฟังใครต่อใครพูด คัมภีร์ทีปนี หลังๆ ที่แต่งระหว่างนี้ก็มีมาก ฟังได้ไหม ก็พูดกันไปตามความเห็น

    ผมเองละเลยมาตั้ง ๕๐ ปี เรียนมาตั้งมาก แต่ไม่รู้เรื่องอภิธรรม มาฟังอาจารย์ผมเคารพนับถือ ทำให้เห็นหลักสัจธรรม ผมนับถือเลย อาจารย์อื่นๆ บางทีว่าส่งเดชไป เมื่อเช้ายังไปขัดคอเลย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๕๒๑ – ๕๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564