แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 527


    ครั้งที่ ๕๒๗


    คามิกะ อย่างอาจารย์ ผมไม่ได้ยกย่อง ท่านเอาใจใส่และระมัดระวังในเรื่องภาษาบาลีจริงๆ ถ้าไม่รู้อาจารย์ไม่ปิดหรอก ไม่ใช่ว่าฉันเป็นอาจารย์ อย่าไปถามคนโน้นคนนี้ อย่างผมบางทีท่านก็ถาม ถามศัพท์ แต่อย่างอื่นผมอาศัยท่าน ศัพท์บางอย่างท่านสงสัยท่านก็ถาม แต่บางคน ฉันใหญ่โตแล้ว จะถามก็เกรงว่า คนจะว่าอย่างนั้นอย่างนี้

    สุ. ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังที่ถามเรื่องวิกาลโภชนา

    ผู้ฟัง ที่ท่านถามเรื่องศีล ๘ ข้อกินข้าว ตามพระวินัยท่านว่าอย่างนี้ ท่านบอกว่า ในเวลาวิกาล ภิกษุสำคัญว่าเป็นเวลาวิกาล ฉัน ต้องอาบัติ ในเวลาวิกาล ภิกษุสงสัย ฉัน ต้องอาบัติ ในเวลาวิกาล ภิกษุสำคัญว่าในกาล ฉัน ต้องอาบัติ

    สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟัง ที่ให้ความละเอียดในเรื่องของพระวินัยสำหรับท่านเจ้าของจดหมาย ซึ่งจะได้ตัดสินว่า ศีลของท่านขาดแน่นอน

    ข้อสำคัญ เรื่องของศีลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ หรือศีล ๘ จุดประสงค์เพื่ออะไร การกระทำทุกอย่างถ้ารู้จุดประสงค์ จะเป็นเหตุให้สำเร็จตามความประสงค์ แต่ถ้าไม่รู้จุดประสงค์ เพียงแต่กระทำไปๆ ผลคือว่า รักษาศีล ๘ แต่บริโภคอาหารหลังเที่ยง และยังเข้าใจว่าศีลไม่ขาด เพราะไม่มีเจตนาที่จะละเมิด ซึ่งเป็นเพราะเหตุว่า ไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการรักษาศีล

    จุดประสงค์ของการรักษาศีล ก็เพื่อขัดเกลากิเลส ท่านที่ทราบว่ามีกิเลสมาก การที่จะขัดเกลา ละคลายจนถึงดับกิเลสได้ ต้องอาศัยการอบรมเจริญกุศลมากมายหลายประการ ซึ่งแต่ละท่านก็ต่างอัธยาศัยตามการสะสม เพราะฉะนั้น ท่านที่ขวนขวายในการขัดเกลาละคลายดับกิเลส ท่านก็พากเพียรที่จะเจริญกุศลเท่าที่ท่านสามารถจะกระทำได้

    เพราะฉะนั้น ท่านที่จะรักษาอุโบสถศีล ต้องทราบจุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีลว่า เป็นการขัดเกลากว่าศีล ๕ ท่านสามารถจะประพฤติปฏิบัติตามได้ไหม จะขัดเกลา ไม่ใช่เพื่อจะเอาบุญมามากๆ หากท่านคิดว่า ศีล ๕ นั้น ได้บุญน้อยกว่าศีล ๘ ท่านก็จะรักษาศีล ๘ เพื่อที่จะได้บุญมากๆ นั่นก็ไม่ใช่การขัดเกลา

    การขัดเกลาจริงๆ ต้องเห็นโทษของกิเลส เช่น การติดในรส ถ้าท่านเห็นโทษของการติดในรส รู้ว่าการที่จะละคลายกิเลสทั้งหลายได้ ต้องอบรมเจริญธรรม คือ สติปัฏฐาน เพื่อที่จะได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และละคลายกิเลสให้เบาบางลงตามควรแก่ปัญญาที่เกิดขึ้น ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้น ศีลก็ขาดกันไปเรื่อยๆ เพราะเหตุว่ากิเลสมีกำลังแรง ถึงแม้ว่ามีเจตนาที่จะรักษา แต่เมื่อกิเลสยังมีอยู่ ก็ทำให้ล่วงศีลข้อต่างๆ ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านแน่ใจ หรือว่ามีศรัทธามั่นคง รู้ว่า อุโบสถศีลมีองค์ ๘ ประการนั้นคืออะไรบ้าง และท่านมีศรัทธาที่จะรักษาอุโบสถศีลมีองค์ ๘ จริงๆ ท่านก็จะเว้นได้จริงๆ คือ หลังเที่ยงแล้วไม่บริโภค ด้วยศรัทธาที่ต้องการจะสะสมการรักษาอุโบสถศีลไว้เป็นอุปนิสัยปัจจัยให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าพระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล ก็ยังเป็นผู้ที่สมบูรณ์ในศีล ๕ หมายความว่า ผู้ที่รักษาศีล ๕ ก็มีโอกาสที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยที่ไม่ใช่เป็นผู้รักษาศีล ๘

    เมื่อท่านมีศรัทธาอย่างนั้น ท่านก็ควรจะศึกษาเรื่องของศีล ๘ ให้เข้าใจชัดเจนว่า ศีล ๘ คืออย่างไร และถ้าล่วงศีล ศีลขาดแล้ว ย่อมหมายความว่า ท่านไม่ได้รักษาอุโบสถศีลมีองค์ ๘

    ถ้าท่านจะขัดเกลากิเลส บางท่านรู้ว่า ท่านยังรักษาอุโบสถศีลมีองค์ ๘ ไม่ได้ ท่านก็เพียรที่จะรักษาศีล ๕ ให้ครบถ้วน แต่ท่านไม่สามารถที่จะรักษาอุโบสถศีลมีองค์ ๘ ได้ทันที ท่านก็รักษาบ้าง ขัดเกลาไปทีละเล็กทีละน้อย โดยไม่ครบอุโบสถศีลมีองค์ ๘ เช่น บางท่านรับประทานอาหารเพียง ๒ มื้อ แต่ว่ามื้อที่ ๒ ของท่านอาจจะเป็นหลังเที่ยง ซึ่งท่านก็ลดความติดในรส และพยายามที่จะเว้นการบริโภคโดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นการบริโภคพร่ำเพรื่อ

    เพราะฉะนั้น การขัดเกลาโดยวิธีนี้ ผู้นั้นรู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า ยังไม่สามารถที่จะรักษาอุโบสถศีลมีองค์ ๘ ได้ เป็นผู้ที่รักษาศีล ๕ แต่พร้อมกันนั้นก็ฝึกอบรมตนที่จะเป็นผู้ไม่บริโภคในเวลาวิกาล เมื่อยังไม่สามารถจะทำได้ ท่านก็ลดการบริโภคให้น้อยลง ก็เป็นการขัดเกลาไปตามความเป็นจริง จะได้ศีลเท่าไร ก็เท่านั้นตามความเป็นจริง แต่ก็ยังดีที่มีเจตนาที่จะรักษา และควรที่จะให้เจตนานั้นมั่นคง โดยที่เมื่อตั้งใจที่จะรักษาแล้ว ก็ขอให้รักษาไปให้ตลอดในวันนั้น แทนที่จะอ้างความจำเป็นว่า ท่านเรียนหนังสือเลิกเวลาเที่ยง หลังอาหารกลางวันแล้ว ก็ไม่รับประทานอาหารอื่น แต่นั่นเป็นการละเมิดวิกาลโภชนา เวรมณี อุโบสถศีลองค์ที่ ๖ แล้ว

    ถ้าท่านจะอาศัยเจตนาเป็นสำคัญว่า เนื่องจากมีความจำเป็น และไม่มีเจตนาที่จะละเมิดศีล ก็ละเมิดกันไปทั้งนั้น อุโบสถศีลองค์นี้ก็จะไม่มีความหมายอะไร เพราะว่าทุกท่านก็มีความจำเป็น และก็คงไม่มีเจตนาที่จะละเมิดศีลกันทั้งนั้น

    สำหรับคำถามข้อ ๒ ที่ว่า ในหนังสือคู่มือคลังปริยัติธรรมของนายแพทย์เกิด ธนชาติ กล่าวว่า นม (สด) จัดเป็นน้ำปานะอย่างหนึ่ง แต่ผู้ใหญ่บางท่านบอกว่า ไม่ใช่ เมื่อถือศีล ๘ เวลาหิวมาก ดิฉันดื่มนมสด จะถือว่าผิดศีลหรือไม่ (เจตนาเพื่อบรรเทาความหิว ไม่ใช่บริโภคเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา หรือเพื่อความสวยงาม)

    ในข้อนี้ ท่านผู้ฟังมีความเห็นอะไรบ้างไหม

    ผู้ฟัง ปานะ มีอยู่เพียง ๘ อย่าง ถ้าว่ากันให้เคร่งครัด ว่ากันอย่างไม่เกรงใจ ผมก็ละเมิดมานานเหมือนกัน

    บุหรี่ก็เหมือนกัน ไปว่าเป็นคิลานเภสัช ก็อยากสูบ เป็นยาเสพติดเหมือนกัน ผมบวชเป็นพระก็สูบ รู้ว่าผิด แต่ก็ติด เมื่อผิดก็ผิด จะไปว่าเป็นคิลานเภสัชได้อย่างไร พระพุทธพจน์ก็ต้องเป็นพระพุทธพจน์ ส่วนเราประพฤติผิด ก็ยอมผิดเสีย จะปฏิเสธอย่างนั้นก็ไม่สมควร

    ปานะ มีอยู่ ๘ อย่าง ๘ อย่างนี้ ฉันได้ในเวลาวิกาล เวลาไหนๆ ฉันได้ทั้งนั้น ไม่จำกัดเวลา แต่อาหารที่เป็นขาทนียโภชนียะ ท่านจำกัดเวลาไว้

    ผู้แต่งตำราสมัยนี้ ว่าอย่างนั้นไม่ผิด อย่างนี้ไม่ผิด ก็ว่าของท่านไป แต่ผมด้วยความสัตย์จริง ถ้าเป็นพุทธพจน์ เป็นบาลี ผมเทิดทูน และอรรถกถา ถ้าเป็นพระอริยะแต่งหรืออธิบาย ผมเทิดทูน แต่ถ้าปุถุชนธรรมดา ยังสงสัย เพราะว่าคนอย่างเราๆ ก็มีกิเลส มีโง่ มีฉลาด มีรู้เท่าไม่ถึงการณ์

    สุ. ต้องขออภัยท่านเจ้าของจดหมาย ที่ดิฉันไม่ได้อ่านหนังสือคู่มือคลังปริยัติธรรมเล่มนี้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ทราบข้อความโดยตรงว่า ในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงเรื่องนมสดว่าอย่างไร แต่ตามที่ท่านเจ้าของจดหมายกล่าวว่า นมสดจัดเป็นน้ำปานะอย่างหนึ่งนั้น ไม่ถูกต้อง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ท่านก็บริโภคกันได้ในเวลาวิกาล เพราะเหตุว่าน้ำปานะนั้นบริโภคได้ในเวลาวิกาล เพราะฉะนั้น ถ้านมสดเป็นน้ำปานะ ก็ย่อมบริโภคได้ในเวลาวิกาล แต่นมสดไม่ใช่น้ำปานะแน่นอน

    เพราะฉะนั้น ท่านเจ้าของจดหมายก็เหมือนข้อที่ ๑ คือ ผิดศีล และก็เข้าใจว่า ไม่มีเจตนาที่จะบริโภคเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา หรือเพื่อความสวยงาม เจตนาเพียงเพื่อบรรเทาความหิวเท่านั้น ถ้าหิวแล้ว รักษาอุโบสถศีลองค์ที่ ๖ นี้ลำบากใช่ไหม ก็เป็นข้อที่รักษายาก จนกว่าจะฝึกหัดอบรม และเป็นผู้ที่มีศรัทธามั่นคงจริงๆ ที่จะละคลายการติดในรส ด้วยเจตนาที่มั่นคงที่จะรักษา จึงจะรักษาได้ มิฉะนั้นแล้ว ก็จะมีเหตุ ต่างๆ เช่น ความหิว ที่จะทำให้บริโภคอาหารที่ไม่ทรงอนุญาตไว้ เพราะเหตุว่านมสดไม่ใช่น้ำปานะ

    เรื่องของการละกิเลส จะต้องเป็นไปตามความรู้จริงๆ ถ้าความรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏยังไม่ได้อบรมให้เกิดขึ้น ท่านอาจจะคิด หรือเข้าใจว่า ท่านละกิเลสได้มากแล้ว แต่ความจริงยังไม่ได้ละกิเลสอะไรเลย เพียงแต่ว่าท่านอาจจะมีกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในความสงบ แต่ยังไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ท่านละคลายจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้จริงๆ เป็นสมุจเฉท เพราะว่าเรื่องของสภาพธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดและลึกซึ้งมาก ข้อสำคัญ คือ ปรากฏอยู่ทุกขณะโดยไม่รู้สภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง เมื่อไม่รู้จริง จะละกิเลสได้อย่างไร ก็ยังคงมีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    ทางตา กับทางหู แยกออกจากกันหรือยัง

    กำลังเห็นเป็นคนนั้นกำลังพูด สภาพเห็นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ว่า ณ ที่นี้ หรือ ณ ที่ไหน ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะที่ได้ยินเป็นสภาพธรรมที่รู้เสียง ซึ่งเป็นของจริงที่ปรากฏทางหู

    เพราะฉะนั้น ต่างกันมาก ลักษณะของสภาพธรรมที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตากับลักษณะของสภาพธรรมที่รู้เสียงที่ปรากฏทางหู เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน ปัญญาจะต้องเจริญอบรมจนสามารถที่จะแยกออกได้เป็นลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แต่ละอย่าง ไม่มารวมกันเป็นคนหนึ่งคนใดกำลังพูด เพราะเหตุว่าจะต้องเป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

    การประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น ย่อมจะต้องเป็นไปเป็นปกติ ตามควรแก่เพศของบรรพชิตและฆราวาส ไม่ต้องกล่าวถึงจิตใจที่ต่างกันของบุคคลอื่น ใจของท่านเองนี้ต่างกันไหม ก่อนที่จะได้ฟังธรรม กับเวลาที่เริ่มฟังธรรม กับเวลาที่ฟังนานๆ แล้ว ความเข้าใจก็ผิดกันแล้ว

    ก่อนฟังธรรม ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสภาพธรรมตามความเป็นจริง เวลาที่เริ่มฟังใหม่ๆ ก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจนักในเรื่องของสภาพธรรม แต่พอฟังนานๆ เข้า มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น ลักษณะของจิตใจหรือแม้แต่ความเข้าใจของบุคคลคนเดียว ก็ยังต่างกันไปตามเหตุตามปัจจัยแต่ละขณะเพราะฉะนั้น การที่จะอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ต้องเป็นปกติ รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย

    การขัดเกลากิเลสในการติดในรสอาหารของบรรพชิต ซึ่งเป็นผู้ที่อุปสมบทในพระธรรมวินัย ก็จะต้องเป็นไปตามความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่ว่า เมื่อท่านอุปสมบทแล้ว ท่านก็ละการติดในรสอาหารได้ทันที กิเลสทั้งหมดยังมีอยู่ แต่ว่าจะค่อยๆ ละคลาย ขัดเกลาบรรเทาตามปัญญาที่เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น สำหรับการขัดเกลากิเลสในการติดในรสอาหารของบรรพชิตนั้น ก็ด้วยการฉันอาหารบิณฑบาต ซึ่งเป็นสัมมาอาชีวะของท่าน คือ การบริโภคอาหารที่ได้จากบิณฑบาตที่บุคคลอื่นถวายด้วยศรัทธา ไม่ใช่ด้วยการแสวงหาตามความพอใจอย่างฆราวาส วันนี้ฆราวาสแสวงหาอาหารตามความพอใจ และเพศบรรพชิตท่านก็ฉันอาหารบิณฑบาตที่บุคคลอื่นถวายให้ด้วยศรัทธา นี่คือชีวิตตามความเป็นจริงของเพศที่ต่างกันของบรรพชิตกับฆราวาส ไม่ใช่เข้าใจผิดว่า การที่จะละกิเลสได้นั้น จะต้องด้วยการทรมานตัวโดยวิธีต่างๆ

    การที่จะละกิเลสได้นั้น ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาให้เกิดความรู้สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้น ถึงแม้จะทรมานตัวสักเท่าไร จะทรมานตา จะทรมานหู จะทรมานจมูก จะทรมานลิ้น จะทรมานกายด้วยวิธีใดก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะเหตุว่ากิเลส คือ การไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏนั้น เป็นสิ่งที่สะสมมาเนิ่นนาน เพราะฉะนั้น ก็เป็นสภาพธรรมที่ละยาก ดับยากทีเดียว

    ขอกล่าวถึงข้อปฏิบัติของพระภิกษุในธรรมวินัย ซึ่งไม่ใช่การทรมานตัว และต่างกับข้อปฏิบัติของผู้ที่ไม่เข้าใจว่า การที่จะดับกิเลสได้นั้นจะดับได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ก็พากเพียรที่จะทรมานตัวด้วยประการต่างๆ แม้แต่ในเรื่องของการบริโภคอาหาร

    ข้อความใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต มหาวรรค ข้อ ๑๙๘ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงบุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน ซึ่งไม่ใช่การขัดเกลาและดับกิเลสด้วยการอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรบุคคลชื่อว่า เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นชีเปลือย ไร้มารยาท เลียมือ เขาเชิญให้มารับภิกษาก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่ยินดีภิกษาที่เขานำมาเฉพาะ ไม่ยินดีภิกษาที่เขาทำเฉพาะ ไม่ยินดีการเชิญ ไม่รับภิกษาที่เขาแบ่งไว้ก่อน ไม่รับภิกษาจากปากหม้อข้าว ไม่รับภิกษาที่คนยืนคร่อมธรณีประตูให้ ไม่รับภิกษาที่คนยืนคร่อมท่อนไม้ให้ ไม่รับภิกษาที่คนยืนคร่อมสากให้ ไม่รับภิกษาของคนสองคนผู้กำลังบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิงผู้กำลังให้ลูกดูดนม ไม่รับภิกษาของหญิงผู้คลอเคลียบุรุษ ไม่รับภิกษาที่นัดแนะกันไว้ ไม่รับภิกษาในที่ซึ่งสุนัขได้รับเลี้ยงดู ไม่รับภิกษาในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง

    เขารับภิกษาที่เรือนหลังเดียว เยียวยาอัตภาพด้วยข้าวคำเดียวบ้าง รับภิกษาที่เรือนสองหลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าวสองคำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๗ คำบ้าง เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อยใบเดียวบ้าง ๒ ใบบ้าง ๗ ใบบ้าง กินอาหารที่เก็บค้างไว้วันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๗ วันบ้าง เป็นผู้ประกอบความขวนขวายในการบริโภคภัตที่เวียนมาตั้งกึ่งเดือนเช่นนี้บ้าง

    ชีเปลือยนั้น เป็นผู้มีผักดองเป็นภักษาบ้าง มีข้าวฟ่างเป็นภักษาบ้าง มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง มีกากข้าวเป็นภักษาบ้าง มียางเป็นภักษาบ้าง มีสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง มีรำเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีกำยานเป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเหง้าและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นเยียวยาอัตภาพ

    ผู้ที่ไม่รู้หนทางที่จะเจริญปัญญาให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็คงจะเข้าใจว่า เป็นการปฏิบัติขัดเกลาในเรื่องของการบริโภคอาหาร คิดว่าถ้ากระทำอย่างนี้แล้วจะละการติดในรสได้ ดูเสมือนเป็นข้อปฏิบัติที่เคร่งครัด ที่ควรจะกระทำตามได้ สำหรับผู้ที่เข้าใจว่า ถ้าจะไม่ให้มีกิเลสก็จะต้องกระทำอย่างนั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๕๒๑ – ๕๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564

    ซีดีแนะนำ