แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 533
ครั้งที่ ๕๓๓
ข้อความต่อไปมีว่า
ก็ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า เจ้าชายอภัยกำลังเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ได้ทอดพระเนตรเห็นทารกนั้น อันฝูงกาห้อมล้อมอยู่ ครั้นแล้วได้ถามมหาดเล็กว่า
พนาย นั่นอะไร ฝูงการุมกันตอม
มหาดเล็กทูลว่า
ทารก พ่ะย่ะค่ะ
เจ้าชายรับสั่งว่า
ยังเป็นอยู่หรือ พนาย
มหาดเล็กทูลว่า
ยังเป็นอยู่ พ่ะย่ะค่ะ
เจ้าชายรับสั่งว่า
พนาย ถ้าเช่นนั้น จงนำทารกนั้นไปที่วังของเรา ให้นางนมเลี้ยงไว้
คนเหล่านั้น รับสนองพระบัญชาว่า
อย่างนั้น พ่ะย่ะค่ะ
แล้วนำทารกนั้นไปวังเจ้าชายอภัยมอบแก่นางนมว่า
โปรดเลี้ยงไว้ด้วย
อาศัยคำว่า ยังเป็นอยู่ เขาจึงขนานนามทารกนั้นว่า ชีวก ชีวกนั้น อันเจ้าชายรับสั่งให้เลี้ยงไว้ เขาจึงได้ตั้งนามสกุลว่า โกมารภัจจ์ ต่อมาไม่นานนัก ชีวกโกมารภัจจ์ก็รู้เดียงสา จึงเข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้แด่เจ้าชายอภัยว่า
ใครเป็นมารดาของเกล้ากระหม่อม ใครเป็นบิดาของเกล้ากระหม่อม พ่ะย่ะค่ะ
เจ้าชายรับสั่งว่า
พ่อนายชีวก แม้ถึงตัวเรา ก็ไม่รู้จักมารดาของเจ้า ก็แต่ว่าเราเป็นบิดาของเจ้า เพราะเราได้ให้เลี้ยงเจ้าไว้
มีความลับหลายอย่างในโลกซึ่งดูเหมือนว่าไม่เป็นที่เปิดเผย อย่างประวัติของท่านชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งท่านเองไม่ทราบว่า ใครเป็นมารดาบิดาของท่าน แต่ว่าเหตุการณ์อย่างนี้ก็คงมีอยู่ทุกกาลสมัย ดูเสมือนเป็นสิ่งที่ไม่เปิดเผย เป็นความลับ
ข้อความต่อไป
จึงชีวกโกมารภัจจ์มีความคิดเห็นว่า ราชสกุลเหล่านี้แล คนที่ไม่มีศิลปะจะเข้าพึ่งพระบารมีทำไม่ได้ง่าย ถ้ากระไร เราควรเรียนวิชาแพทย์ไว้
เรียนศิลปะทางแพทย์
ก็โดยสมัยนั้นแล นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ตั้งสำนักอยู่ ณ เมืองตักกสิลา จึง ชีวกโกมารภัจจ์ไม่ทูลลาเจ้าชายอภัย ลอบเดินทางไปเมืองตักกสิลา เดินรอนแรมไปโดยลำดับถึงเมืองตักกสิลา แล้วเข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้น ครั้นแล้วได้กราบเรียนคำนี้แก่นายแพทย์ว่า
ท่านอาจารย์ กระผมประสงค์จะศึกษาศิลปะ
นายแพทย์สั่งว่า
พ่อนายชีวก ถ้าเช่นนั้น จึงศึกษาเถิด
พระอริยบุคคลเป็นนายแพทย์ได้ไหม ชีวิตปกติประจำวัน ไม่มีใครจะยับยั้งท่านชีวกโกมารภัจจ์ไม่ให้ศึกษาวิชาแพทย์ และถึงแม้ว่าท่านจะเป็นแพทย์ ก็ไม่ได้ขัดขวางต่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า ที่แล้วแต่การสะสม
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังไม่ต้องเป็นห่วงว่า ขณะนี้ท่านมีอาชีพอะไร จะยุ่งยาก มีธุรกิจการงานมากมายอย่างไร ก็ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงตามที่สะสมมา ซึ่งปัญญาสามารถจะรู้แจ้งสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ทั้งสิ้น
ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์เรียนวิชาได้มาก เรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย และวิชาที่เรียนได้แล้วก็ไม่ลืม ครั้นล่วงมาได้ ๗ ปี ชีวกโกมารภัจจ์คิดว่า ตัวเราเรียนวิชาได้มาก เรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย ทั้งวิชาที่เรียนได้ก็ไม่ลืม และเราเรียนมาได้ ๗ ปีแล้ว ยังไม่สำเร็จศิลปะนี้ เมื่อไรจักสำเร็จสักที จึงเข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้น แล้วได้เรียนถามว่า
ท่านอาจารย์ กระผมเรียนวิชาได้มาก เรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย ทั้งวิชาที่เรียนได้แล้วก็ไม่ลืม และกระผมได้เรียนมาเป็นเวลา ๗ ปี ก็ยังไม่สำเร็จ เมื่อไรจักสำเร็จสักทีเล่า ขอรับ
นายแพทย์ตอบว่า
พ่อนายชีวก ถ้าเช่นนั้น เธอจงถือเสียมเที่ยวไปรอบเมืองตักกสิลาระยะทาง ๑ โยชน์ ตรวจดูสิ่งใดไม่ใช่ตัวยา จงขุดสิ่งนั้นมา
ชีวกโกมารภัจจ์ รับคำนายแพทย์ว่า
เป็นเช่นนั้น ท่านอาจารย์
ดังนั้นแล้ว ถือเสียมเดินไปรอบเมืองตักกศิลาระยะทาง ๑ โยชน์ มิได้เห็นสิ่งใดที่ไม่ได้เป็นตัวยาสักอย่างหนึ่ง จึงเดินทางกลับไปหานายแพทย์ แล้วได้กราบเรียนคำนี้ต่อนายแพทย์ว่า
ท่านอาจารย์ กระผมเดินไปรอบเมืองตักกศิลาระยะทาง ๑ โยชน์แล้ว มิได้เห็นสิ่งที่ไม่เป็นตัวยาสักอย่างหนึ่ง
นายแพทย์บอกว่า
พ่อนายชีวก เธอสำเร็จแล้ว เท่านี้ก็พอที่เธอจะครองชีพได้
แล้วได้ให้เสบียงเดินทางเล็กน้อยแก่หมอชีวกโกมารภัจจ์
ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ถือเสบียงเล็กน้อยนั้นแล้ว ได้เดินทางมุ่งไปพระนครราชคฤห์ ครั้นเดินทางไปเสบียงเพียงเล็กน้อยนั้นได้หมดลงที่เมืองสาเกตในระหว่างทาง จึงเกิดความปริวิตกว่า หนทางเหล่านี้แลกันดาร อัตคัดน้ำ อัตคัดอาหาร คนไม่มีเสบียงจะเดินไปทำไม่ได้ง่าย จำเราจะต้องหาเสบียง
เป็นชีวิตปกติธรรมดาของทุกท่านที่จะต้องคิดถึงการเลี้ยงชีพ การดำรงชีวิต ประวัติของท่านชีวกโกมารภัจจ์เข้าใจว่า หลายท่านคงทราบแล้ว แต่ก็ใคร่ที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาชีวิตของท่านโดยตรงจากพระไตรปิฎก
ข้อความต่อไป
ภาคปฏิบัติงานแพทย์
ก็โดยสมัยนั้นแล ภรรยาเศรษฐีที่เมืองสาเกต เป็นโรคปวดศีรษะอยู่ ๗ ปี นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ได้ขนเงินไปเป็นอันมาก จึงชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปสู่เมืองสาเกต ถามคนทั้งหลายว่า
พนาย ใครเจ็บไข้บ้าง ฉันจะรักษา
คนทั้งหลายพากันบอกว่า
ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐีนั้นปวดศีรษะอยู่ ๗ ปี เชิญไปรักษาภรรยาเศรษฐีเถิดท่านอาจารย์
จึงชีวกโกมารภัจจ์เดินทางไปบ้านเศรษฐีคหบดี ครั้นถึงแล้วได้ถามคนเฝ้าประตูว่า
พ่อนาย ท่านจงไปกราบเรียนภรรยาเศรษฐีว่า คุณนายขอรับ หมอมาแล้ว เขามีความประสงค์จะเยี่ยมคุณนาย
คนเฝ้าประตูรับคำชีวกโกมารภัจจ์ว่า
เป็นอย่างนั้นขอรับ อาจารย์
ดังนั้นแล้ว เข้าไปหาภรรยาเศรษฐี แล้วได้กราบเรียนว่า
คุณนายขอรับ หมอมาแล้ว เขามีความประสงค์จะเยี่ยมคุณนาย
ภรรยาเศรษฐีถามว่า
พ่อนายเฝ้าประตูจ๋า หมอเป็นคนเช่นไร
คนเฝ้าประตูตอบว่า
เป็นหมอหนุ่มๆ ขอรับ
ภรรยาเศรษฐีกล่าวว่า
ไม่ละ พ่อนายเฝ้าประตู หมอหนุ่มๆ จักทำอะไรแก่ฉันได้ นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ได้ขนเงินไปเป็นอันมาก
นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดาใช่ไหม โดยมากทุกคนก็ต้องคิดถึงคนสำคัญก่อน เข้าใจว่า คนสำคัญทั้งหลายอาจจะให้ความรู้ หรือว่ามีความสามารถที่จะรักษาได้ดีกว่าผู้ที่เพิ่งศึกษา หรือเพิ่งจะเป็นนายแพทย์
นายประตูนั้น ก็ได้ไปบอกหมอชีวกตามที่ภรรยาของเศรษฐีกล่าว ซึ่งหมอชีวกก็ได้กล่าวกับนายเฝ้าประตูว่า
พ่อนายเฝ้าประตู ท่านจงไปกราบเรียนภรรยาเศรษฐีว่า คุณนายขอรับ คุณหมอสั่งมาอย่างนี้ว่า ขอคุณนายอย่าเพิ่งให้อะไรๆ ต่อเมื่อหายโรคแล้ว คุณนายประสงค์จะให้สิ่งใด จึงค่อยให้สิ่งนั้นเถิด
นายประตูก็ได้เข้าไปหาภรรยาเศรษฐี และได้กราบเรียนภรรยาเศรษฐีตามนั้น
ภรรยาเศรษฐีสั่งว่า
พ่อนายเฝ้าประตู ถ้าเช่นนั้นเชิญคุณหมอมา
นายประตูก็เชิญชีวกโกมารภัจจ์ให้เข้าไปรักษาภรรยาเศรษฐี
เริ่มรักษาภรรยาเศรษฐี
ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปหาภรรยาเศรษฐี ครั้นแล้วตรวจดูความผันแปรของภรรยาเศรษฐี แล้วได้กล่าวคำนี้แก่ภรรยาเศรษฐีว่า
คุณนายขอรับ ผมต้องการเนยใสหนึ่งซองมือ
ครั้นภรรยาเศรษฐีสั่งให้หาเนยใสหนึ่งซองมือมาให้แก่ชีวกโกมารภัจจ์แล้ว ชีวกโกมารภัจจ์จึงหุงเนยใสหนึ่งซองมือนั้นกับยาต่างๆ ให้ภรรยาเศรษฐีนอนหงายบนเตียงแล้วให้นัตถุ์ ขณะนั้นเนยใสที่ให้นัตถุ์นั้นได้พุ่งออกจากปาก จึงภรรยาเศรษฐีถ่มเนยใสนั้นลงในกระโถน สั่งทาสีว่า
แม่สาวใช้ จงเอาสำลีซับเนยใสนี้ไว้
จึงชีวกโกมารภัจจ์ได้คิดว่า แปลกจริงพวกเรา แม่บ้านคนนี้ช่างสกปรก เนยใสนี้จำเป็นจะต้องทิ้ง ยังใช้ให้ทาสีเอาสำลีซับไว้ ส่วนยาของเรามีราคาแพงๆ มากกว่าปล่อยให้เสีย แม่บ้านคนนี้จักให้ขวัญข้าวอะไรแก่เราบ้าง
ท่านก็น่าจะตกใจ และคิดว่าคงจะไม่ได้อะไรจากการรักษาภรรยาท่านเศรษฐี เพราะว่าเพียงเนยใสที่ถ่มออกมา ภรรยาเศรษฐีก็ยังให้เอาสำลีซับไว้
ขณะนั้นภรรยาเศรษฐีสังเกตรู้อาการอันแปลกของชีวกโกมารภัจจ์ แล้วได้ถามคำนี้แก่ชีวกโกมารภัจจ์ว่า
อาจารย์ท่านแปลกใจอะไรหรือ
ชีวกโกมารภัจจ์กล่าวว่า
เวลานี้ผมกำลังคิดอยู่ว่า แปลกจริง แม่บ้านคนนี้ช่างสกปรกเหลือเกิน เนยใสนี้จำเป็นจะต้องทิ้ง ยังใช้ให้ทาสีเอาสำลีซับไว้ ส่วนยาของเรามีราคาแพงๆ มากกว่าปล่อยให้เสีย แม่บ้านคนนี้จักให้ขวัญข้าวอะไรแก่เราบ้าง
ภรรยาเศรษฐีกล่าวว่า
อาจารย์ พวกดิฉันชื่อว่า เป็นคนมีเหย้าเรือน จำเป็นจะต้องรู้จักสิ่งที่ควรสงวนเนยใสนี้ยังดีอยู่ จะใช้เป็นยาสำหรับทาเท้าพวกทาสหรือกรรมกรก็ได้ ใช้เป็นน้ำมันเติมตะเกียงก็ได้ อาจารย์ ท่านอย่าได้คิดวิตกไปเลย ค่าขวัญข้าวของท่านจักไม่ลดน้อย
คือรู้ว่า สิ่งใดที่ควรจ่าย สิ่งใดที่ควรสงวน หรือว่าประหยัด
คราวนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ได้กำจัดโรคปวดศีรษะของภรรยาเศรษฐี ซึ่งเป็นมา ๗ ปีให้หายด้วยวิธีนัตถุ์ยาคราวเดียวเท่านั้น ครั้นภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้ว ได้ให้รางวัลชีวกโกมารภัจจ์เป็นเงิน ๔,๐๐๐ กษาปณ์ บุตรเศรษฐีได้ทราบว่า มารดาของเราหายโรคแล้ว ได้ให้รางวัลเพิ่มอีก ๔,๐๐๐ กษาปณ์ บุตรสะใภ้ได้ทราบว่า แม่ผัวของเราหายโรคแล้ว ก็ได้ให้รางวัล ๔,๐๐๐ กษาปณ์ เศรษฐีคหบดีทราบว่า ภรรยาของเราหายโรคแล้ว ได้เพิ่มรางวัลให้อีก ๔,๐๐๐ กษาปณ์ และให้ทาส ทาสี รถม้าอีกด้วย จึงชีวกโกมารภัจจ์รับเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ กับทาส ทาสี และรถม้าเดินทางมุ่งไป พระนครราชคฤห์ ถึงพระนครราชคฤห์โดยลำดับ เข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า
เงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ กับทาส ทาสี และรถม้านี้ เป็นการกระทำครั้งแรกของเกล้ากระหม่อม ขอใต้ฝ่าพระบาทจงทรงพระกรุณาโปรดรับค่าเลี้ยงดูเกล้ากระหม่อมเถิด พระเจ้าข้า
พระราชกุมารรับสั่งว่า
อย่าเลย พ่อนายชีวก ทรัพย์นี้จงเป็นของเจ้าคนเดียวเถิด และเจ้าจงสร้างบ้านอยู่ในวังของเราเถิด
ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับพระบัญชาเจ้าชายอภัยว่า
เป็นพระกรุณายิ่ง พระเจ้าข้า
แล้วได้สร้างบ้านอยู่ในวังของเจ้าชายอภัย
ถ้าท่านผู้ฟังได้เห็นสถานที่ซึ่งเคยเป็นบ้านของท่านชีวกโกมารภัจจ์ ก็จะได้ทราบว่า ณ สถานที่นั้น ก็เป็นบริเวณวังของเจ้าชายอภัยในครั้งโน้นด้วย
ข้อความต่อไป มีเรื่องที่พระเจ้าพิมพิสารทรงประชวรโรคริดสีดวงงอก ซึ่งพระองค์ก็รับสั่งให้เจ้าชายอภัยหาหมอมารักษา เจ้าชายอภัยก็ได้รับสั่งให้หมอชีวกโกมารภัจจ์ไปถวายการรักษาพระเจ้าพิมพิสาร
ครั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทรงหายประชวรจึงรับสั่งให้สตรี ๕๐๐ นาง ตกแต่งเครื่องประดับทั้งปวง ให้เปลื้องออกทำเป็นห่อแล้ว ได้มีพระราช-โองการแก่ชีวกโกมารภัจจ์ว่า
พ่อนายชีวก เครื่องประดับทั้งปวงของสตรี ๕๐๐ นางนี้ จงเป็นของเจ้า
ชีวกโกมารภัจจ์กล่าวว่า
อย่าเลย พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์จงทรงโปรดระลึกว่า เป็นหน้าที่ของข้าพระพุทธเจ้าเถิด
พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่า.
ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงบำรุงเรากับพวกฝ่ายใน และภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า
เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า
ต่อจากนั้น เป็นเรื่องที่ท่านได้รักษาเศรษฐีชาวพระนครราชคฤห์ ซึ่งแม้นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคน ก็ไม่สามารถที่จะรักษาให้หายได้ เป็นข้อความที่ยาว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแพทย์ในครั้งกระโน้นว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการรักษาโรค มีการผ่าตัดแม้ในครั้งโน้น ซึ่งการผ่าตัดก็ไม่ใช่ผ่าตัดเล็ก เพราะเปิดแนวประสานกะโหลกศีรษะ และก็เย็บหนังศีรษะ สามารถที่จะทำให้เศรษฐีเมืองราชคฤห์นั้นหายได้ อีกทั้งมีการผ่าตัดเนื้องอกที่ลำไส้ และรักษาพระเจ้าจัณฑปัชโชตผู้ทรงประชวรโรคผอมเหลืองให้หายได้
ถ้าท่านผู้ฟังสนใจ ก็สามารถอ่านรายละเอียดของการกระทำกิจของหมอชีวก-โกมารภัจจ์ในครั้งกระโน้นได้ใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค จีวรขันธกะ
สำหรับเรื่องของพระเจ้าจัณฑปัชโชต เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า พระเจ้าจัณฑ-ปัชโชตเป็นพระราชาที่เหี้ยมโหด ถึงแม้ว่าหมอชีวกจะรักษาพระองค์แล้ว แต่เมื่อพระองค์ทรงพระพิโรธ ก็พยายามที่จะให้คนจับตัวหมอชีวกไปลงโทษ แต่ว่าหมอชีวกก็หนีกลับไปก่อนได้ ซึ่งเมื่อพระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงหายประชวรแล้ว พระองค์ก็ระลึกถึงความดีของหมอชีวก จึงได้ทรงส่งราชทูตไปที่สำนักหมอชีวกโกมารภัจจ์เพื่อว่า เชิญหมอชีวกมา เราจักให้พร
ซึ่งหมอชีวกก็ได้กราบทูลตอบไปว่า
ไม่ต้องไปก็ได้ พระพุทธเจ้าข้า ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงทรงโปรดอนุสรณ์ถึงความดีของข้าพระพุทธเจ้า
ท่านไม่ได้ต้องการอะไรเป็นการตอบแทน เพราะฉะนั้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไป
ข้อความต่อไปใน พระวินัยปิฎก มีว่า
พระราชทานผ้าสิไวยกะ
ก็โดยสมัยนั้นแล ผ้าสิไวยกะคู่หนึ่งบังเกิดแก่พระเจ้าจัณฑปัชโชต เป็นผ้าเนื้อดีเลิศ ประเสริฐ มีชื่อเด่น อุดม และเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมาก ตั้งหลายคู่ ตั้งหลายร้อยคู่ หลายพันคู่ หลายแสนคู่
ครั้นนั้น พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงส่งผ้าสิไวยกะคู่นั้น ไปพระราชทานแก่ชีวก-โกมารภัจจ์ จึงชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความดำริว่า ผ้าสิไวยกะคู่นี้ พระเจ้าจัณฑปัชโชตส่งมาพระราชทาน เป็นผ้าเนื้อดีเลิศ ประเสริฐ มีชื่อเด่น อุดม และเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมาก ตั้งหลายคู่ ตั้งหลายร้อยคู่ หลายพันคู่ หลายแสนคู่ นอกจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น หรือพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชแล้ว ใครอื่นไม่ควรอย่างยิ่งเพื่อใช้ผ้าสิไวยกะคู่นี้
เมื่อท่านได้ของที่ประณีต ก็เห็นว่า ไม่เหมาะไม่ควรสำหรับท่าน เพราะผู้ที่เหมาะควรที่จะใช้ผ้านั้น ควรจะเป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าพระเจ้าพิมพิสารเท่านั้น ซึ่งต่อไปท่านผู้ฟังจะได้ทราบว่า หมอชีวกโกมารภัจจ์จะถวายผ้าสิไวยกะกับใคร
ข้อความต่อไปมีว่า
พระผู้มีพระภาคเสวยพระโอสถถ่าย
ก็โดยสมัยนั้นแล พระกายของพระผู้มีพระภาคหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จึงพระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า
ดูกร อานนท์ กายของตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ ตถาคตต้องการจะฉันยาถ่าย
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เดินไปหาชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นถึงแล้ว ได้กล่าวคำนี้กะชีวกโกมารภัจจ์ว่า
ท่านชีวก พระกายของพระตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ พระตถาคตต้องการจะเสวยพระโอสถถ่าย
ชีวกโกมารภัจจ์กล่าวว่า
พระคุณเจ้า ถ้าอย่างนั้น ขอท่านจงโปรดทำพระกายของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื่นสัก ๒ - ๓ วัน
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ทำพระกายของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื่น ๒ - ๓ วันแล้ว เดินไปหาชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นถึงแล้ว ได้กล่าวคำนี้กะชีวกโกมารภัจจ์ว่า
ท่านชีวก พระกายของพระตถาคตชุ่มชื่นแล้ว บัดนี้ ท่านรู้กาลอันควรเถิด
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๔ ตอนที่ ๕๓๑ – ๕๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 481
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 482
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 483
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 484
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 485
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 486
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 487
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 488
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 489
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 490
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 491
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 492
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 493
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 494
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 495
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 496
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 497
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 498
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 499
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 500
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 501
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 502
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 503
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 504
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 505
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 506
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 507
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 508
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 509
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 510
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 511
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 512
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 513
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 514
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 515
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 516
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 517
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 518
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 519
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 520
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 521
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 522
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 523
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 524
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 525
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 526
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 527
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 528
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 529
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 530
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 531
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 532
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 533
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 534
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 535
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 536
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 537
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 538
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 539
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 540