แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 535


    ครั้งที่ ๕๓๕


    ถ. ผมเองก้าวขึ้นบ้าน ผมก็ไม่กล้าใส่รองเท้าขึ้น ก็เป็นบ้านที่เราอยู่ มีความสุข ความสบาย อย่างสถานที่นี้ เป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ในทางพระพุทธศาสนา เราใส่รองเท้าขึ้นมาย่ำยี ไม่เป็นการสมควร

    สุ. นี่เพราะความเคยชินของเรา ซึ่งความเคยชินของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน พอที่จะอภัยให้ได้ไหมในความเคยชินที่ต่างกัน ความเคยชินของเราทำอย่างนี้เสมอมา เพราะฉะนั้น เราชินที่จะทำอย่างนี้ แต่ว่าอีกคนหนึ่งไม่เคยชินอย่างนี้ เขามีความเคยชินอย่างอื่น ซึ่งก็น่าเห็นใจใช่ไหม

    ที่ว่าความเคยชิน เป็นสิ่งที่ถูกต้อง พูดถึงเรื่องพระพุทธศาสนา เราควรจะเคารพสถานที่ด้วย เรายังทำกันไม่ได้แล้วเราจะไปไหวหรือ

    สุ. พิจารณาตนเอง หรือว่าพิจารณาคนอื่นดี

    ถ. ก็คงจะพิจารณาตนเองก่อน

    สุ. พิจารณาตนเอง ก็ไม่ใส่ใจในคนอื่น ได้ไหม

    ถ. เราอยู่ด้วยกันในสังคม ก็ควรจะทำให้ถูกต้อง ให้สังคมเราไปในหนทางที่ดี ที่ควร จึงจะถูก

    สุ. มีวิธีเกื้อกูล ถ้าเราอยากจะให้ใครเป็นอย่างที่เราเห็นว่างาม เราก็อาจจะหาโอกาสอธิบายถึงประโยชน์ หรือการกระทำที่ควรได้ แต่ในขณะเดียวกันอย่าให้ใจของเราเศร้าหมองเป็นอกุศล ควรเจริญเมตตา และหาโอกาสที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่นให้เห็นว่า อย่างไรเหมาะสม นี่เป็นการปฏิบัติตามพระธรรม คือ เป็นกุศลจิตอยู่เสมอ

    ถ. เบื้องต้นเราควรจะทำให้ถูกต้องเสียก่อนที่จะก้าวไปในบั้นปลาย ก้าวแรกเรายังก้าวผิด ต่อไปเราจะก้าวถูกหรือ

    สุ. เกื้อกูลกันได้ ทุกคนต้องมีผิดมีถูก เราจะไม่มีวันถูกตลอดคนเดียว และคนอื่นก็ไม่มีวันจะผิดตลอดเหมือนกัน สิ่งใดที่เราผิด ก็ขอให้คนอื่นช่วยเกื้อกูลแก้ไข คนอื่นผิด ก็ขอให้เราสามารถที่จะอนุเคราะห์เกื้อกูลแก้ไขด้วยกุศลจิตเช่นเดียวกัน

    ถ. พระเจ้าพิมพิสารท่านบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ท่านยังให้อำมาตย์ไปพยายามเสาะแสวงหาหญิง ตั้งขึ้นมาเป็นหญิงงามเมืองในพระนครราชคฤห์ แสดงว่าหญิงงามเมืองที่ตั้งขึ้นมานี้ ไม่ผิดศีล ๕ หรือ

    สุ. เป็นปัญหาสังคม ทุกกาลสมัย และปัญหาชีวิตตามความเป็นจริงด้วย คนที่ยังมีกิเลสอยู่ กาย วาจาจะประพฤติเป็นไปอย่างไร ก็ตามกำลังของกิเลส พระอริยเจ้าในยุคใดสมัยใด ท่านเกิดมาร่วมกาลสมัยกับชาวโลกที่จะเป็นไปอย่างไร ท่านก็มีชีวิตดำเนินไปตามที่สะสมมาอย่างนั้นๆ

    สำหรับการที่ว่า จะเป็นการขัดต่อศีล ๕ หรือไม่นั้น ก็ต้องแล้วแต่การวินิจฉัยของแต่ละท่าน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากและยากเรื่องหนึ่งทีเดียว เพราะว่านอกจากจะเป็นเรื่องของกิเลส ก็ยังเป็นปัญหาของชีวิตและสังคมด้วยที่จะแก้ไขกัน แต่ข้อสำคัญ คือ ทุกท่านที่มีเจตนาที่จะรักษาศีล ๕ ก็ควรที่จะรักษาศีล ๕ ได้

    ถ. ผมเป็นฆราวาส เรื่องศีล ๕ ผมก็มีความสนใจ อย่างคนที่มีครอบครัวแล้ว คำว่ารักษาศีล ๕ เรามีการร่วมประเวณีกับภรรยาของเรา จะผิดศีล ๕ ไหม

    สุ. ไม่ผิดศีล ๕ ศีล ๕ ต่างกับอุโบสถศีล ถ้าอุโบสถศีล อพรหฺมจริยา เวรมณี แต่ศีล ๕ เป็น กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี ฉะนั้น ศีล ๕ ไม่ผิดแน่นอน

    ถ. สมมติว่า ไม่ใช่ภรรยาที่ถูกต้องตามประเพณี คล้ายๆ กับหลอกลวงเขามา ก็ไม่ผิดหรือ

    สุ. ไปหลอกลวงเขา อะไรที่ผิดก็ผิด หลอกลวงก็บอกอยู่แล้วว่า ไม่สุจริต

    ถ. แล้วมาร่วมประเวณี ไม่ผิดศีล ๕ หรือ

    สุ. ต้องแล้วแต่ความละเอียดของชีวิตแต่ละชีวิตว่า ทำถูกต้องตามประเพณีก่อนหลังมากน้อยอย่างไร ก็เป็นความวิจิตรของจิต ของเหตุการณ์ ซึ่งผู้ที่ต้องการจะรักษาศีล ๕ จะต้องศึกษาว่าศีล ๕ นั้นเป็นอย่างไร จะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามศีล ๕ ถ้าไม่ศึกษา ก็ย่อมจะกระทำผิดได้

    ถ. ผมมีความเห็นว่า ฆราวาสรักษาเพียงศีล ๕ ก็ดีแล้ว แต่ขอให้ได้จริงๆ

    สุ. แน่นอน

    ถ. ไม่ต้องถึงศีล ๘

    สุ. แล้วแต่กำลังความสามารถ ถ้าศีล ๘ ก็ยิ่งดี ไม่ได้ ๘ เป็น ๖ เป็น ๗ ก็ยังดี ถ้าไม่ครบ ก็เท่าที่กำลังความสามารถจะประพฤติได้

    ถ. ผมสงสัยเรื่องอาหารที่ท่านพระสารีบุตรท่านกล่าวว่า ก่อนอิ่มสัก ๔ – ๕ คำแล้วดื่มน้ำ ก็อิ่มพอดี เรื่องอาหารที่อาจารย์บรรยายมา ผมว่า มีทั้งคุณทั้งโทษ ถ้ากินพอดีๆ เป็นคุณ ถ้ากินมากไปเป็นโทษ ปัญหาคือว่า ภิกษุท่านเว้นในเวลาวิกาล ซึ่งความหิวเวลาเกิดขึ้นอาจทำให้เป็นโรคได้ เพราะฉะนั้น เวลาท่านฉันอิ่มแล้ว ก็ยังพยายามฉันเข้าไปอีก เผื่อว่าเย็นนี้หรือพรุ่งนี้จะได้ไม่หิว เพราะถ้าหิวก็อาจจะเป็นโรคได้ ตอนเช้าท่านฉันพอดีๆ ก็สบายอยู่ ถ้าฉันมากไป อิ่มเกินไป ก็อาจจะอึดอัด แต่จะสบายตอนเย็น คือ ท่านไม่หิว ลำบากตอนเช้า ไปสบายตอนเย็น หรือว่าสบายตอนเช้า แต่หิวตอนเย็น อย่างไหนดีกว่า

    สุ. รับประทานน้ำได้ไหม รับประทานมากๆ ให้หายหิว และเมื่อชินเข้าๆ คงจะไม่หิว

    ตอนที่ฝึกหัดอบรม ต้องหิวแน่ๆ แต่ว่าต่อไปก็อาจจะชินขึ้นๆ หรือว่าท่านที่มีศรัทธามั่นคง ท่านเห็นประโยชน์ที่ท่านจะละเว้น ขัดเกลากิเลส ท่านรู้ว่าฝึกได้ อบรมได้ ท่านก็อาจจะรักษาอุโบสถศีลได้อย่างมั่นคง ก็มีน้อยรายที่จะถึงกับสิ้นชีวิตลง อย่างคนรับจ้างของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

    ถ. เรื่องรับประทานอาหารนี้ ตอนกลางคืนก่อนนอน กลัวว่าพรุ่งนี้จะหิว ก็เลยกินให้อิ่ม แต่พออิ่มแล้ว ไปนอน พรุ่งนี้เช้าตื่นขึ้นมาหิวมาก ถ้าอิ่มมากแล้วจะหิวมาก นี่เป็นความจริง แต่ถ้าตอนเย็นหิว ไปนอน พรุ่งนี้เช้าตื่นขึ้นมาจะไม่หิว เรื่องนี้เป็นอย่างไรไม่รู้ แต่เป็นความจริงที่แปลก

    สุ. ก็อาจจะเป็นได้ที่ร่างกายหรือกระเพาะอาหารเคยชินกับปริมาณมาก เพราะฉะนั้น ถ้ารับประทานมาก เวลาตื่นขึ้น เคยรับประทานมากๆ เมื่อไม่ได้อาหารก็หิว แต่ถ้าเป็นผู้ที่ผ่อนการรับประทานน้อยลง ร่างกายหรือกระเพาะอาหารก็ชินต่อการรับประทานน้อย เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะหิว แต่เมื่อชินต่อการที่จะรับประทานน้อย ไม่รับประทานมาก ก็ปรากฏว่า ไม่หิวมากเท่ากับที่ไปพยายามที่จะรับประทานให้มากอยู่เรื่อยๆ เพราะถ้ายิ่งรับประทานมาก ร่างกายและกระเพาะอาหารก็ต้องชินกับอาหารมาก

    ฉะนั้น ระหว่างคนที่รับประทานน้อยจนชิน กับคนที่รับประทานมากจนชิน คนที่รับประทานมากจนชิน ก็ต้องหิวมากกว่า

    ถ. มีทางไหนบ้างที่จะอธิบายให้เพื่อนฟัง เพื่อที่จะไม่ให้กลัวผีโดยใช้ขันธ์ ๕ คราวหลังๆ ที่ผมพิจารณาขันธ์ ๕ เรื่องเห็นคนตาย ผมก็ไม่ค่อยนึกกลัวผี เพื่อนๆ พออธิบายให้ฟัง เขาขัดทุกอย่างเลย เขาไม่เข้าใจ

    สุ. ก่อนจะเจริญสติปัฏฐาน ก็คงจะกลัวผีกันทั้งนั้น มีใครบ้างไหมที่ไม่กลัว ความกลัวเป็นสภาพธรรมที่มีจริง กลัวสารพัด เห็นคนหน้าตาดุๆ กลัวไหม กลัว

    กลัวเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และเกิดขึ้นเวลาที่ประสบกับอารมณ์ที่ไม่ใช่อิฏฐารมณ์ ไม่ใช่อารมณ์ที่น่าพอใจ เพราะฉะนั้น เวลาที่นึกถึงผี หรือว่าศพก็ตาม ไม่ใช่อารมณ์ที่น่าพอใจ เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความกลัวขึ้น แต่ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะทราบว่า สภาพธรรมที่มีจริง คือ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมกับสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น แม้ตัวเรา ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นแต่เพียงรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แม้สิ่งอื่นที่เป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าพอใจ หรืออนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจทั้งหมด ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และก็ดับไป ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ที่ควรจะกลัวเลย เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และดับไปเท่านั้นเอง ต้องอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะหายกลัวแน่ๆ

    ถ. ผู้ที่เข้าใจยาก อธิบายเรื่องเหล่านี้ให้เขาฟัง เขาไม่ค่อยรู้เรื่อง จะอธิบายวิธีไหน

    สุ. วันสองวันจะเข้าใจไม่ได้ จะหายกลัวไม่ได้ เพราะว่าสะสมความกลัวมามากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้น การที่จะให้ค่อยๆ กลัวน้อยลง จนกระทั่งถึงหายกลัวจะต้องอาศัยกาลเวลาด้วย ต้องมีขันติ ความอดทน ในการที่จะอนุเคราะห์เกื้อกูลคนอื่นให้เกิดความเห็นถูก

    เรื่องของการกลัวผี เป็นความกลัวซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ตราบใดที่ยังมีการยึดถือในสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล จะมีความกลัวนานาประการทีเดียว นอกจากกลัวผี ยังกลัวอย่างอื่นอีกไหม ก็กลัวทุกอย่างไปหมด กลัวลำบาก กลัวโรคภัยไข้เจ็บ แม้แต่ในเรื่องของอาหาร กลัวว่าอาหารจะไม่มีพอรับประทานเวลาที่ท่านจะต้องเดินทางไปในที่ทุรกันดารต่างๆ หรือแม้ว่ามีอาหารแล้ว ยังกลัวว่าจะไม่อร่อย ก็เป็นเรื่องของความกลัว ตราบใดยังที่ยังมีการยึดถือในสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ก็จะต้องมีความกลัวหลายประการ

    เพราะฉะนั้น การที่จะละคลายความห่วง ความกังวล ความวิตก และความกลัวในสิ่งต่างๆ ได้ จะต้องเป็นเพราะปัญญาที่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติมากขึ้น

    มีท่านผู้ฟังที่ถามว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้น จะละสังโยชน์ได้อย่างไร คือ ท่านทราบความหมายของคำว่า สังโยชน์ ว่าเป็นสภาพธรรมที่ร้อยรัดสัตว์ทั้งหลายให้วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ไม่ให้ออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ แต่ท่านไม่เข้าใจว่า การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น จะละสังโยชน์ได้อย่างไร

    สังโยชน์นั้นมีหลายอย่าง ซึ่งการที่จะละ ต้องละตามลำดับขั้นด้วย เช่น ละสังโยชน์ คือ ความเห็นผิด ทิฏฐิสังโยชน์ ละสังโยชน์ คือ ความสงสัย วิจิกิจฉาสังโยชน์ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ละสังโยชน์ คือ ความไม่รู้ อวิชชาสังโยชน์ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    การละสังโยชน์ต้องละเป็นลำดับ ในขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นสังโยชน์ เพราะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สงสัยว่า ที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลนั้นคืออย่างไร และยังมีความยึดถือสภาพธรรมที่กำลังเห็นนี้ว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลด้วย เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ ระลึกรู้ในขณะกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องเปลี่ยน หรือหวังรอคอยขณะอื่น ซึ่งยังไม่มาถึงเลย ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ จะต้องอบรมเจริญปัญญาด้วยการระลึกได้ รู้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คือ การเห็นในขณะนี้ เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

    นี่คือการอบรมเจริญความรู้ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆ และเห็นชัดว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ต่างประเภท เช่น เวลาที่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไร ความรู้นั้นก็จริง แต่ว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่เห็น ต้องอาศัยการศึกษา การสำเหนียก การสังเกต พร้อมการระลึกรู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงจะละสังโยชน์ คือ ความไม่รู้ในนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ ความสงสัยในลักษณะของนามธรรมที่ไม่ใช่รูปธรรม และการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ปัญญาที่แท้จริงที่สามารถละกิเลสได้ จะต้องเป็นปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะนี้เอง

    ถ้าไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึก ไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของความจำ ไม่เคยระลึกรู้ลักษณะความยินดีบ้าง ความยินร้ายบ้าง ซึ่งมีเป็นปกติธรรมดา ย่อมไม่เกิดปัญญาที่จะรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น ไม่รอคอย ไม่หวัง ที่จะรู้สภาพธรรมที่ยังไม่ปรากฏ บางคนติดคำว่า ปัจจุบัน เพราะเคยได้ยินได้ฟังมาว่า ปัญญาหรือสติจะต้องรู้อารมณ์ปัจจุบัน นี่คือสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้น คอยอารมณ์ปัจจุบัน ทั้งที่สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นปัจจุบัน แต่เมื่อไม่เข้าใจ เพียงแต่ได้ยินได้ฟังมาว่า การอบรมเจริญวิปัสสนานั้น จะต้องรู้อารมณ์ปัจจุบัน ก็กลายเป็นไปนั่งคอยปัจจุบัน เพราะไม่รู้ว่าปัจจุบันนั้น คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่กำลังปรากฏ แต่คนนั้นกลับไปหาปัจจุบัน เพราะไม่เข้าใจ เมื่อหาไม่เจอ ก็คอย เมื่อไรปัจจุบันจะมาปรากฏ ปัจจุบันอะไรจะมาปรากฏ ในเมื่อกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ คือ ปัจจุบัน กำลังได้ยินในขณะนี้ คือ ปัจจุบัน

    นี่คือสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อปัญญารู้ชัด จึงสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นลำดับ

    สำหรับเรื่องของการยึดมั่นในตัวตน ในสัตว์ ในบุคคล ไม่ว่าจะกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส คือ กำลังบริโภคอาหาร กำลังรู้โผฏฐัพพะที่กระทบถูกต้อง กำลังคิดนึกเป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ ถ้าสติไม่เกิด จะไม่ทราบเลยว่า มากมายหนาแน่นและเหนียวแน่นเพียงไร แต่ถ้าสติเกิด แม้เพียงในขณะที่รับประทานอาหาร ก็ยังเห็นกิเลสมากมาย

    อยากรับประทานอะไรบ้างหรือเปล่าในวันหนึ่งๆ เช้า เที่ยง บ่าย เย็น นี่ก่อนจะรับประทาน แม้ขณะที่กำลังรับประทาน คือ กำลังบริโภคอยู่ ความพอใจในรสอาหารแต่ละคำที่บริโภคไป ก็แสดงถึงกิเลสที่สะสมมามากมายเหลือเกิน หนาแน่นเหลือเกิน ละยากเหลือเกิน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๔ ตอนที่ ๕๓๑ – ๕๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564