แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 539


    ครั้งที่ ๕๓๙


    สุ. ขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ เป็นสภาพธรรมที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่สามารถจะรู้เสียง ไม่สามารถจะรู้กลิ่น ขณะที่กำลังได้ยินเสียง เป็นสภาพธรรมที่กำลังรู้เสียง ไม่สามารถเห็นสีสันวัณณะหรือรู้กลิ่นต่างๆ ได้ ขณะใดที่กลิ่นปรากฏ มีสภาพธรรมที่รู้กลิ่น กลิ่นนั้นจึงปรากฏ ในขณะที่คิดนึก คำก็เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังคิดนึกคำนั้น เรื่องนั้นเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง และก็หมดไป

    ควรจะอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งจะละคลายความกังวล ความเป็นทุกข์ถึงอดีตอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ถึงแม้ว่าจะห่วงใยสักเท่าไร ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเป็นสิ่งที่ได้กระทำไปแล้ว ขณะนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด มีประโยชน์ที่สุด ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ถ. เวลาที่ไหว้พระสวดมนต์ ตั้งใจจะไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้น แต่ก็ห้ามไม่ได้ คิดว่า การบังคับบัญชาความเกิดดับของรูปนามไม่ได้ จะทำให้ได้รับผลชั่ว ที่เห็นอย่างนี้ เป็นภัย หรือว่าเป็นโทษ

    สุ. เมื่อทราบว่า เป็นสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้ แทนที่จะบังคับ ก็สังเกต สำเหนียกให้รู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ และสภาพรู้ก็มีหลายอย่าง สภาพรู้ทางตาก็อย่างหนึ่ง สภาพรู้ทางหูในขณะที่กำลังได้ยินเสียงก็อย่างหนึ่ง สภาพคิดนึก รู้เรื่อง รู้คำก็อีกอย่างหนึ่ง แทนที่จะบังคับ ก็ควรที่จะให้เกิดปัญญา พิจารณารู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เพราะรู้แล้วว่า บังคับไม่ได้ อย่างไรก็บังคับไม่ได้ แต่สามารถที่จะสังเกต สำเหนียก รู้ความจริงได้ว่า ไม่ใช่ตัวตน

    การอบรมเจริญสติปัฏฐานมีประโยชน์ที่สุด เพราะไม่ว่าจิตจะเป็นกุศลหรืออกุศลประการใด ก็จะทำให้ไม่ยึดถือสภาพของอกุศลธรรมและกุศลธรรมในขณะนั้นว่า เป็นตัวตน เพราะเหตุว่าถ้ายึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน ก็เป็นความเห็นผิด ฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานก็จะเพิ่มกำลังขึ้น ทำให้ศรัทธาก็ดี หิริก็ดี โอตตัปปะก็ดี กุศลธรรมทั้งหลายก็ดี มีกำลังเพิ่มขึ้นในการที่จะวิรัติทุจริตต่างๆ

    ใน ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก วาโลทกชาดก มีข้อความว่า

    พระราชาตรัสถามว่า

    ความเมาย่อมเกิดแก่ลาทั้งหลาย เพราะดื่มกินน้ำหาง มีรสน้อย เป็นน้ำเลว แต่ความเมาย่อมไม่เกิดแก่ม้าสินธพ เพราะดื่มกินน้ำมีรสอร่อย ประณีต

    พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน สัตว์ผู้มีชาติอันเลวทราม ดื่มกินน้ำมีรสน้อย อันรสนั้นถูกต้องแล้ว ย่อมเมา ส่วนสัตว์ผู้มีปกติทำธุระให้สำเร็จได้ เกิดในตระกูลสูง ดื่มกินรสอันเลิศแล้ว ก็ไม่เมา

    จบ วาโลทกชาดกที่ ๓

    เป็นการแสดงให้เห็นว่า การอบรมเจริญธรรมฝ่ายกุศล ย่อมเพิ่มพูนเป็นกำลังที่ทำให้สามารถละธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลได้

    ใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส ตุวฏกสุตตนิทเทส ที่ ๑๔ ข้อ ๗๓๔ มีข้อความที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ติดในรส เพราะว่าตามความเป็นจริงแล้ว ทุกท่านยังเป็นผู้ที่ติดในรส เว้นพระอานาคามีบุคคล เพราะฉะนั้น การที่จะดับการติดในรสได้จริงๆ เป็นสมุจเฉท ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญา ดับกิเลสเป็นลำดับขั้น

    ข้อความมีว่า

    ว่าด้วยรสต่างๆ

    ชื่อว่า รส ในคำว่า ไม่พึงติดใจในรส ได้แก่ รสที่ราก รสที่ลำต้น รสที่เปลือก รสที่ใบ รสที่ดอก รสที่ผล รสเปรี้ยว รสหวาน รสขม รสเผ็ดร้อน รสเค็ม รสปร่า รสเฝื่อน รสฝาด รสอร่อย รสไม่อร่อย รสเย็น รสร้อน

    พิจารณาตามไปจริงๆ ท่านติดในรสต่างๆ เหล่านี้ ในแกงชนิดหนึ่ง จะต้องมีรสที่รากบ้าง ที่ลำต้นบ้าง ที่เปลือกบ้าง ที่ใบบ้าง ที่ดอกบ้าง ที่ผลบ้าง นอกจากนั้นยังมีรสเปรี้ยว รสหวาน รสขม รสเผ็ดร้อน ทุกรส ติดหมดแล้ว

    มีสมณพราหมณ์บางพวกติดใจในรส เที่ยวแสวงหารสอันเลิศด้วยปลายลิ้น ได้รสเปรี้ยวแล้วก็แสวงหารสไม่เปรี้ยว ได้รสไม่เปรี้ยวแล้วก็แสวงหารสเปรี้ยว ฯลฯ ได้รสเย็นแล้วก็แสวงหารสร้อน ได้รสร้อนแล้วก็แสวงหารสเย็น

    จริงไหม ไม่ต้องสมณพราหมณ์ ในขณะที่ท่านรับประทานอาหาร แม้เพียงครั้งเดียว มีอาหารหลายชนิด บางชนิดรสเปรี้ยว บางชนิดรสไม่เปรี้ยว แม้ในการรับประทานอาหารครั้งหนึ่งๆ การรับประทานของท่านก็ยังจะต้องหมุนเวียนไปในอาหารที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ท่านจะไม่บริโภคเพียงอาหารรสเดียวแน่นอน เพราะเหตุว่าในแต่ละครั้งที่ท่านบริโภคนั้น ก็มีอาหารหลายชนิด ท่านก็แสวงหา บางครั้งรสเปรี้ยวคำหนึ่ง ต่อไปก็รสไม่เปรี้ยวอีกคำหนึ่ง ท่านก็แสวงหารสต่างๆ แม้ในการรับประทานแต่ละครั้ง

    สมณพราหมณ์เหล่านั้นได้รสใดๆ แล้ว ย่อมไม่พอใจด้วยรสนั้นๆ ย่อมเที่ยวแสวงหารสอื่นๆ เป็นผู้กำหนัด ปรารถนา ยินดี ติดใจ หลงใหล เกี่ยวข้อง พัวพัน ในรสที่ชอบใจ ความอยากในรสนั้น อันภิกษุใดละ ตัดขาด ฯลฯ เผาเสียแล้วด้วยไฟ คือ ญาณ

    จะดับได้จริงๆ ต้องเผาด้วยไฟ คือ ญาณ แต่ถึงแม้ว่ายังไม่ได้เผา ก็เห็นโทษได้ ขอให้เริ่มเห็นโทษของการติดของท่าน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพื่อที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้เพิ่มขึ้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ภิกษุนั้นพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ย่อมฉันอาหาร ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉันเพื่อเมา ไม่ฉันเพื่อตบแต่ง ไม่ฉันเพื่อประดับ ฉันเพื่อดำรงอยู่แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไป เพื่อกำจัดความลำบาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์อย่างเดียวเท่านั้น ฯลฯ

    นี่คือจุดประสงค์ที่สำคัญที่สุด เพราะว่าร่างกายจะดำรงอยู่ได้ เพื่อประโยชน์ คือ การอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘

    ข้อความต่อไป

    ความอยู่สบายของเราจักมีด้วยอุบายดังนี้ บุคคลทาแผลเพื่อให้แผลหาย หยอดน้ำมันเพลาเกวียนเพื่อจะขนภาระ กินเนื้อบุตรเพื่อจะออกจากทางกันดารอย่างเดียวเท่านั้น ฉันใด ภิกษุพิจารณาด้วยปัญญาแล้วจึงฉันอาหาร ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ฉันเพื่อเล่น ฯลฯ ความไม่มีโทษ และความอยู่สบาย จักมีด้วยอุบายดังนี้

    ภิกษุพึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีซึ่งความอยากในรส คือ เป็นผู้งด เว้น เว้นขาด ออก สละ พ้นไป ไม่เกี่ยวข้องด้วยความอยากในรส พึงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงติดใจในรส

    ก่อนที่จะละได้ ต้องรู้ตามความเป็นจริงเสียก่อนว่า ติดในรสมากไหม ต้องรู้ก่อน ถ้าติดมากๆ จะละได้ง่ายๆ ไหม ก็ต้องละได้ยากด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ไม่สามารถที่จะดับกิเลสอะไรได้เลย

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ไม่ว่าสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมจะมากมายสักเพียงไร ทางตาพอใจในรูป ทางหูพอใจในเสียง ทางจมูกพอใจในกลิ่น ทางลิ้นพอใจในรส ทางกายพอใจในโผฏฐัพพะ ปัญญาจะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมเหล่านั้นเป็นของจริงที่สติจะต้องระลึกรู้และเห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จึงจะค่อยๆ ละคลาย และดับกิเลสได้เป็นลำดับขั้น เพราะกิเลสมีมาก สติจะต้องระลึกรู้ในกิเลสมากๆ ที่มีโดยทั่วจริงๆ จึงจะประจักษ์แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้

    เรื่องของการละคลาย ขัดเกลา ดับกิเลส ต้องเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่เรื่องอื่น ไม่ใช่ขณะอื่น ไม่ใช่คอยหวังสิ่งอื่น แต่ต้องเป็นการอบรมปัญญาให้รู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทีละเล็กทีละน้อย

    ถ. พยัญชนะที่อาจารย์อ่านว่า ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉันเพื่อเมา ไม่ฉันเพื่อ ตบแต่ง พวกนี้พอจะรู้ แต่ไม่ฉันเพื่อประดับ ฉันอย่างไร ฉันเพื่อประดับ

    สุ. ถ้ารับประทานอาหารบางชนิด ผิวพรรณจะดี

    ถ. ในลักษณะนี้ผมเข้าใจว่า สงเคราะห์เข้าในฉันเพื่อตบแต่ง แต่ฉันเพื่อประดับ ผมคิดไม่ออก

    สุ. ก็เหมือนกัน ให้งดงามขึ้น ให้สวยขึ้น ให้ผ่องใสขึ้น

    ถ. เรื่องของรส ไม่ชอบรสชนิดหนึ่ง ไปหารสอื่นมาแก้ อย่างนี้จะชื่อว่า ติดในรสไหม คือ ผมเป็นคนติดบุหรี่ ผมสูบมาตั้ง ๒๐ – ๓๐ ปีแล้ว ทีนี้เกิดความรำคาญ อยากจะอด ไปไหนมาไหนต้องพก นั่งที่ไหน ต้องหากระโถนด้วย พกบุหรี่ด้วย รุงรังไปหมด ก็เกิดความรำคาญ คิดอยากจะอด เมื่ออดแล้ว ปรากฏว่า ที่ชาวบ้านเขาเรียกว่าเปรี้ยวปาก คือ ถ้าสูบบุหรี่แล้ว รสเปรี้ยวปากจะหาย เพราะฉะนั้น ก็สังเกตดูเรื่อยๆ รสเปรี้ยวปากทำไมเราไม่ชอบ ถ้าสูบบุหรี่แล้วจะหาย เพราะฉะนั้น เราหาบุหรี่มาแก้รสเปรี้ยวปาก แก้รสที่ไม่ชอบ อย่างนี้จะชื่อว่าติดในรสไหม

    สุ. ติดแน่ แสวงหารสนี้มาแก้รสนั้น ก็ยังคงเป็นผู้ปรารถนาในรสอยู่นั่นเอง

    อุโบสถศีลองค์ที่ ๖ คงจะไม่มีอะไรมากกว่านี้ แต่ก่อนที่จะจบอุโบสถศีลองค์ที่ ๖ คือ วิกาลโภชนา เวรมณี ขอกล่าวถึงข้อความที่เป็นปัญหาบางประการในเรื่องของน้ำปานะ หรืออัฏฐปานะ ที่มีพราหมณ์ผู้หนึ่งเห็นว่า พระภิกษุสงฆ์มีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุข เป็นผู้ที่เว้นการบริโคอาหารในเวลาวิกาล แต่ว่าสมณพราหมณ์เหล่าอื่น แม้ว่าเป็นผู้เว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล แต่ก็ยังยินดีในการบริโภคน้ำปานะ ซึ่งทำให้หายความหิวได้ เพราะฉะนั้น พราหมณ์นั้นก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค แล้วก็ถวายน้ำปานะ ซึ่งข้อความใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค เภสัชชขันธกะ ข้อ ๘๖ มีข้อความว่า

    พระพุทธานุญาตน้ำอัฏฐบาน

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำปานะ ๘ ชนิด คือ น้ำปานะทำด้วยผลมะม่วง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลหว้า ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยไม่มีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะซาง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลจันทน์หรือองุ่น ๑ น้ำปานะทำด้วยเหง้าบัว ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะปรางหรือลิ้นจี่ ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยสด

    จะเห็นได้ว่า ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก ที่ไม่ทรงอนุญาตก็เพราะว่าน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือกนั้นเป็นโภชนะ เป็นประเภทอาหาร ซึ่งทำกิจของอาหารได้

    ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง ซึ่งก็เป็นอาหารเช่นเดียวกัน ในเวลาที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีท่านขาดแคลนอาหารที่จะถวายพระภิกษุสงฆ์ ท่านเคยถวายอาหารที่ประณีต แต่ก็ลดลงจนกระทั่งถึงถวายข้าวกับน้ำผักดอง ซึ่งน้ำผักดองก็เป็นโภชนะ

    เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่เป็นโภชนะ สิ่งนั้นไม่ใช่น้ำอัฏฐปานะ ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตที่จะให้บริโภคได้ในเวลาวิกาล

    ใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส ตุวฏกสุตตนิทเทส ที่ ๑๔ ข้อ ๗๔๒ มีข้อความว่า

    คำว่า ข้าว ในคำว่า ข้าวก็ดี น้ำก็ดี ของควรเคี้ยวก็ดี ผ้าก็ดี ได้แก่ข้าวสุก

    ขนมกุมมาส (ขนมสด) สัตตู (ขนมแห้ง) ปลา เนื้อ ๕ อย่างนี้ จัดเป็นโภชนะในคำ ว่า ข้าว

    คำว่า น้ำ ได้แก่ ปานะ ๘ อย่าง คือ น้ำผลมะม่วง น้ำผลหว้า น้ำผลกล้วยมีเมล็ด น้ำผลกล้วยไม่มีเมล็ด น้ำผลมะซาง น้ำผลจันทน์ น้ำรากบัว น้ำผลลิ้นจี่

    ปานะ ๘ อีกอย่างหนึ่ง คือ น้ำผลสะคร้อ น้ำผลเล็บเหยี่ยว น้ำผลพุทรา ปานะที่ทำด้วยเปรียง น้ำมัน น้ำข้าวยาคู น้ำนม ปานะที่ทำด้วยรส

    สำหรับปานะ ๘ อีกอย่างหนึ่ง ข้อความในภาษาบาลี คือ โกสมฺพปานํ ได้แก่ น้ำทำด้วยผลสะคร้อ โกลปานํ คือ น้ำทำด้วยผลเล็บเหยี่ยว พทรปานํ คือ น้ำผลพุทรา

    คำว่า พทรปานํ แปลว่า เมล็ดฝ้ายก็ได้ พุทราก็ได้ เพราะว่า พทรา แปลว่า ฝ้าย พุทรา พทโร แปลว่า พุทรา ไม้ปรุ จิงจ้อ สะเดา สลอด กระเบา

    ซึ่งท่านควรจะพิจารณาเหตุผลว่า เหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงจำแนกปานะ ๘ อย่างที่เป็นน้ำอัฏฐปานะ ไม่กล่าวรวมว่าเป็นปานะ ๑๖ แต่กล่าวว่า คำว่า น้ำ ได้แก่ ปานะ ๘ อย่าง คือ น้ำผลมะม่วง น้ำผลหว้า น้ำผลกล้วยมีเมล็ด น้ำผลกล้วยไม่มีเมล็ด น้ำผลมะซาง น้ำผลจันทน์ น้ำรากบัว น้ำผลลิ้นจี่ นี่ตามที่ทรงอนุญาตไว้ใน พระวินัยปิฎก

    สำหรับ ปานะ ๘ อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงรวมเป็นปานะ ๑๖ แต่ทรงแยกเป็นปานะ ๘ อีกอย่างหนึ่ง คือ โกสมฺพปานํ น้ำผลสะคร้อ ซึ่งใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล ติงสกกัณฑ์วรรณนา ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๓ อธิบายวิธีปฏิบัติในเภสัช คือ น้ำมัน เป็นต้น มีข้อความว่า

    อนึ่ง น้ำมันของผลไม้ มีมะพร้าว เมล็ดสะเดา สะคร้อ เล็บเหยี่ยว และสำโรง (บางแห่งว่า เมล็ดฝ้าย) เป็นต้น แม้เหล่าอื่นที่ไม่ได้มาในพระบาลี ยังมีอีก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๔ ตอนที่ ๕๓๑ – ๕๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564