แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 540
ครั้งที่ ๕๔๐
จะเห็นได้ว่า สำหรับปานะ ๘ อีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ประเภทน้ำผลไม้ แต่เป็นประเภทโภชนะ เพราะว่าแม้น้ำมันของพืช ก็จัดเป็นโภชนะ แต่เป็นโภชนะที่เป็นปานะ คือ เป็นโภชนะที่เป็นน้ำ
ด้วยเหตุนี้ ข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส อธิบายคำว่า น้ำ จึงได้แก่ น้ำปานะ ๘ อย่าง ตามที่ทรงแสดงไว้ใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค เภสัชชขันธกะ และปานะ ๘ อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งควรจะเป็นโภชนะที่เป็นปานะทั้งสิ้น เพราะได้แก่ โกสัมพปานะ น้ำผลสะคร้อ ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกับน้ำมันของผลสะคร้อ ซึ่ง เหมือนกับมะพร้าวที่ก็มีน้ำมัน เป็นน้ำมันมะพร้าว มะพร้าวก็เป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง แต่น้ำมันของมะพร้าวเป็นประเภทโภชนะ
น้ำผลเล็บเหยี่ยว คือ โกลปานะ ก็เช่นเดียวกัน น้ำผลพุทรา ตามที่แปลเป็นภาษาไทย แต่ภาษาบาลีเป็น พทรปานํ
พทรา แปลว่า ฝ้ายก็ได้ แปลว่า พุทราก็ได้ สำหรับฝ้ายนั้น สามารถที่จะมีน้ำมัน เป็นน้ำมันเมล็ดฝ้ายด้วย
ปานะที่ทำด้วยเปรียง ภาษาบาลีใช้คำว่า ฆฏปานํ เปรียงเกิดจากน้ำนม
น้ำมัน คือ เตลปานํ น้ำข้าวยาคู คือ ยาคุปานํ น้ำนม คือ ปโยปานํ ปานะที่ทำด้วยรส คือ รสปานํ
นี่เป็นปานะ ๘ อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงรวมเป็นปานะ ๑๖ แต่แยกเป็นปานะ ๘ สองประเภท เพราะว่าประเภทหลังเป็นเรื่องของโภชนะที่เป็นปานะ ตั้งแต่น้ำผลสะคร้อ น้ำผลเล็บเหยี่ยว น้ำมันเมล็ดฝ้าย ที่ภาษาไทยแปลว่า น้ำผลพุทรา นี่แล้วแต่การวินิจฉัย เพราะถ้าเป็นน้ำผลพุทราจริง ก็จะต้องเป็นในประเภทต้นที่ทรงอนุญาตไว้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก
นอกจากนั้น มีน้ำปานะที่ทำด้วยเปรียง น้ำมัน น้ำข้าวยาคู น้ำนม ปโยปานํ และรสปานํ คือ ปานะที่ทำด้วยรสต่างๆ
ท่านผู้ฟังควรจะสังเกตในเรื่องของปานะ ๘ อีกอย่างหนึ่ง ปานะที่ทำด้วยเปรียง ฆฏปานํ ปานะที่ทำด้วยน้ำมัน เตลปานํ ปานะที่ทำด้วยข้าวต้ม ยาคุปานํ ปานะที่ทำด้วยน้ำนม ปโยปานํ ไม่ใช่ขีรํ ไม่ใช่น้ำนมสด ปานะที่ทำด้วยเปรียง ฆฏปานํ ปานะที่ทำด้วยน้ำมัน ใช้คำว่า เตลปานํ ไม่ใช่เปลํ ปานะที่ทำด้วยข้าวต้ม ใช้คำว่า ยาคุปานํ ปานะที่ทำด้วยน้ำนม ไม่ได้ใช้คำว่า ขีรํ ซึ่งเป็นนมสด แต่ใช้คำว่า ปโยปานํ ส่วนปานะที่ทำด้วยรส คือ รสปานํ ก็มีคำอธิบายใน สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถา สุตตนิบาต ซึ่งมีข้อความว่า
น้ำแห่งรส ได้แก่ น้ำรสแห่งผักกาดดอง เป็นต้น สากาทิรสปานํ ซึ่งคำว่า สาโก หมายความถึงผักที่ใช้ดอง หรือว่าใช้ปรุงอาหาร สากาทิ หมายถึงผักดอง
ตามที่ท่านผู้ฟังก็เคยได้ยินได้ฟังว่า เวลาที่ท่านอนาถบิณฑิกท่านขัดสน ไม่สามารถที่จะถวายอาหารที่ประณีตเหมือนเช่นเคยได้ ท่านก็ถวายข้าวปลายเกรียน กับน้ำผักดองเป็นโภชนะ เป็นอาหาร
เพราะฉะนั้น แม้พยัญชนะที่ต่างกัน อย่างเภสัช ๕ มีคำว่า สัปปิ ซึ่งได้แก่ เนยใส นวนีตํ ได้แก่ เนยข้น เตลํ ได้แก่ น้ำมัน มธุ ได้แก่ น้ำผึ้ง ผาณิตํ ได้แก่ น้ำอ้อย ไม่มีคำว่า ปานะ หรือ ปานํ ซึ่งเป็นโภชนะประเภทน้ำ คือ เป็นอาหารประเภทน้ำที่ทำด้วยเปรียง ซึ่งในอรรถกถาอธิบายว่า ได้แก่ เนยใส คือ สปฺปิปานํ และสำหรับปานะที่ทำด้วยน้ำมัน ก็มีคำว่า เตลปานํ
เพราะฉะนั้น อย่าเข้าใจว่า ข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส ตุวฏกสุตตนิทเทส ที่ ๑๔ ข้อ ๗๔๒ ที่กล่าวถึงปานะ ๘ อีกอย่างหนึ่งนั้น จะหมายถึงนมสดซึ่งเป็นขีรํ แต่ควรจะเข้าใจให้ถูกต้องว่า หมายความถึงปานะที่ทำด้วยน้ำนม คือ ที่ปรุงแล้ว เพราะฉะนั้น ขีรํ ไม่ใช่น้ำปานะ นมสดไม่ใช่น้ำปานะ
ข้อที่ควรสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ ในพระไตรปิฎกใช้พยัญชนะหลายคำในภาษาบาลี ซึ่งภาษาไทยแปลออกมาเป็นน้ำนม แต่ว่าภาษาบาลีใช้คำต่างออกไป ไม่ใช่ ขีรํ ซึ่งหมายถึงน้ำนมสด อย่างข้อความในปทานุกรมบาลี – ไทย – อังกฤษ จะมีคำแปลศัพท์หลายคำว่า เป็นนมสด เช่น คำว่า ปกฺกํ หมายถึงเปรียง น้ำเปรียงส้ม น้ำนมวัว ซึ่งท่านอาจจะคิดว่า ปกฺกํ เป็นนมสด หรือ ขีรํ แต่ว่าภาษาบาลีแยกใช้คำต่างกัน คือ ปกฺกํ ไม่ใช่ขีรํ
ปโย ปยํ หมายถึงน้ำนม นมสด น้ำ เวลาที่ท่านเห็นภาษาไทยว่า นมสด ท่านอาจจะคิดว่าเป็นขีรํ แต่ความจริงไม่ใช่ ต้องดูคำเดิมในพระไตรปิฎกว่า ท่านใช้ศัพท์อะไร เพื่อที่จะได้เข้าใจความหมายได้ชัดเจน เช่น ในข้อของปานะ ๘ อย่างหลัง ไม่ได้ใช้คำว่า ขีรํ แต่ใช้คำว่า ปโยปานํ
สำหรับที่จะพิจารณาวินิจฉัยว่า นมสดเป็นปานะ หรือว่าเป็นโภชนะ ขอกล่าวถึงข้อความใน มหาวิภังค์ทุติยภาค โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๙ พระปฐมบัญญัติ เรื่องพระฉัพพัคคีย์ ข้อ ๕๑๖ ซึ่งมีข้อความว่า
โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์ขอโภชนะอันประณีตเพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน ประชาชนพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ขอโภชนะอันประณีตเพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน โภชนะที่ดีใครจะไม่พอใจ ของที่อร่อยใครจะไม่ชอบ ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้ขอโภชนะอันประณีตเพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉันเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอขอโภชนะอันประณีตเพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉันจริงหรือ
พระพระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า
จริง พระพุทธเจ้าข้า
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า
ดูกร โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้ขอโภชนะอันประณีตเพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉันเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้
พระปฐมบัญญัติ
ข้อ ๘๘. ๙. ก.
อนึ่ง ภิกษุใดขอโภชนะอันประณีตเห็นปานนี้ คือ สปฺปิ เนยใส นวนีตํ เนยข้น เตลํ น้ำมัน มธุ น้ำผึ้ง ผาณิตํ น้ำอ้อย มจฺโฉ ปลา มํสํ เนื้อ ขีรํ นมสด ทธิ นมส้ม เพื่อประโยชน์แก่ตนแล้วฉัน เป็นปาจิตตีย์
ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้
อะไรเป็นโภชนะ หรือว่าโภชนะได้แก่อะไร มีข้อความที่ได้เคยกล่าวถึงแล้วว่า โภชนะ ๕ ได้แก่ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ แต่ในบรรดาโภชนะ ๕ ที่เป็นโภชนะประณีต มี ๒ คือ ปลาและเนื้อ
หมายความว่า อาหารธรรมดาๆ ที่จะยังชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ ก็มีข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่โภชนะที่ประณีต สำหรับปลากับเนื้อเป็นโภชนะ และเป็นโภชนะที่ประณีตด้วย เพราะฉะนั้น โภชนะที่ประณีตโดยนัยของพระวินัยข้อนี้ จึงมี ๙ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม
เพราะฉะนั้น นมสดเป็นโภชนะที่ประณีต และสำหรับเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นโภชนะที่ประณีตด้วย และเป็นเภสัช เพราะสามารถกระทำอาหารกิจ คือ กิจของการบริโภคเป็นอาหารได้ สำหรับภิกษุที่อาพาธ สามารถที่จะฉันเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นเภสัชได้ เมื่อมีเหตุอันควร
พระอนุบัญญัติ
ข้อ ๘๘. ๙. ข.
อนึ่ง ภิกษุใดมิใช่ผู้อาพาธ ขอโภชนะอันประณีตเห็นปานนี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม เพื่อประโยชน์แก่ตนแล้วฉัน เป็นปาจิตตีย์
สำหรับความหมายของใครจะเป็นผู้อาพาธ เป็นผู้ไม่อาพาธ มีคำอธิบายว่า
ที่ชื่อว่า มิใช่ผู้อาพาธ คือ ผู้ที่เว้นโภชนะอันประณีตก็ยังผาสุก ที่ชื่อว่า ผู้อาพาธ คือ ผู้ที่เว้นโภชนะอันประณีตไม่ผาสุก
สำหรับพระวินัยที่จะต้องประพฤติปฏิบัติในเรื่องของการขอโภชนะอันประณีตนั้น มีข้อความว่า
มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ผู้อาพาธ ขอโภชนะอันประณีตเพื่อประโยชน์แก่ตนแล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุสงสัย ขอโภชนะอันประณีตเพื่อประโยชน์แก่ตนแล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุสำคัญว่าอาพาธ ขอโภชนะอันประณีตเพื่อประโยชน์แก่ตนแล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
สำหรับบุคคลที่จะไม่อาบัติ
ข้อความต่อไปมีว่า
อนาปัตติวาร
ข้อ ๕๒๑
ภิกษุอาพาธ ๑ ภิกษุเป็นผู้อาพาธขอมา หายอาพาธแล้วฉัน ๑ ภิกษุฉันโภชนะที่เหลือของภิกษุอาพาธ ๑ ภิกษุขอต่อญาติ ๑ ภิกษุขอต่อคนปวารณา ๑ ภิกษุขอเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑ ภิกษุจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล
ข้อที่ว่า ภิกษุที่จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ไม่ได้หมายความว่า ภิกษุมีทรัพย์ แต่หมายความว่า อุบาสกอุบาสิกาปวารณาขอถวายปัจจัยมีมูลค่าจำนวนเท่านั้นแก่ภิกษุที่บุคคลนั้นหรือที่ร้านนั้นก็ได้ นั่นคือ ทรัพย์ของภิกษุนั้น ที่ภิกษุนั้นจ่ายมาเองด้วยทรัพย์ของตน คือ ไม่ได้ขอจากบุคคลอื่น เพราะว่าในพระวินัยบัญญัติข้อนี้ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติเพื่อไม่ให้ประชาชนพากันติเตียน เพ่งโทษว่า ภิกษุทั้งหลายขอโภชนะอันประณีต
ข้อความต่อไป ใน ภิกขุนีวิภังค์ ปาฏิเทสนียกัณฑ์ แสดงให้เห็นว่า นมสดเป็นโภชนะอันประณีต
ข้อความมีว่า
แม่เจ้าทั้งหลาย อนึ่ง ธรรม คือ ปาฏิเทสนียะ ๘ สิกขาบทเหล่านี้แลมาสู่อุเทศ
ปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๑
พระปฐมบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุณีใด ขอเนยใสมาฉัน ภิกษุณีนั้นพึงแสดงคืนว่า แม่เจ้า ดิฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นสัปปายะ ควรจะแสดงคืน ดิฉันแสดงคืนธรรมนั้น
ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้
สิกขาบทที่ ๒ เป็นเรื่องขอน้ำมัน สิกขาบทที่ ๓ เป็นเรื่องขอน้ำผึ้ง สิกขาบทที่ ๔ เป็นเรื่องขอน้ำอ้อย สิกขาบทที่ ๕ เป็นเรื่องขอปลา สิกขาบทที่ ๖ เป็นเรื่องขอเนื้อ สิกขาบทที่ ๗ เป็นเรื่องขอนมสด สิกขาบทที่ ๘ เป็นเรื่องขอนมส้ม
ความต่างกันของพระวินัยบัญญัติสำหรับภิกษุและภิกษุณี คือ สำหรับภิกษุ อาบัติปาจิตตีย์ แต่สำหรับภิกษุณี อาบัติปาฏิเทสนียะ ซึ่งอาบัติทั้งหมดมี ๗ กอง ตามความหนักเบา คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต
เพราะฉะนั้น ถ้าภิกษุขอโภชนะที่ประณีต ก็อาบัติปาจิตตีย์ แรงกว่าภิกษุณี เพราะว่าถ้าภิกษุณีขอ เป็นอาบัติปาฏิเทสนียะ นี่เป็นความต่างกัน
สำหรับพระอนุบัญญัติ ทรงอนุญาตให้ขอนมสดได้เมื่ออาพาธ
ปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๗ พระอนุบัญญัติ เรื่องภิกษุณีอาพาธ มีข้อความว่า
ต่อจากสมัยนั้นแล ภิกษุณีทั้งหลายอาพาธ เหล่าภิกษุณีผู้พยาบาลไข้ได้ถามภิกษุณีผู้อาพาธทั้งหลายว่า
แม่เจ้า ยังพออดทนอยู่หรือ ยังพอให้อัตภาพเป็นไปได้หรือ
ภิกษุณีอาพาธตอบว่า
แม่เจ้า เจ้าข้า เมื่อก่อนพวกดิฉันขอนมสดเขามาฉันได้ ด้วยเหตุที่ได้ฉันนมสดนั้น พวกดิฉันจึงมีความผาสุก แต่บัดนี้ พวกดิฉันรังเกียจอยู่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงห้ามเสียแล้ว จึงไม่กล้าขอ เพราะเหตุที่ไม่ได้ฉันนมสดนั้น ความผาสุกจึงไม่มีแก่พวกดิฉัน
ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ...
ทรงอนุญาตนมสด
พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณีผู้อาพาธขอนมสดเขามาฉันได้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลาย จงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่เป็นไข้ ขอนมสดมาฉัน ภิกษุณีนั้นพึงแสดงคืนว่า แม่เจ้า ดิฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นสัปปายะ ควรจะแสดงคืน ดิฉันแสดงคืนธรรมนั้น
เรื่องภิกษุณีอาพาธ จบ
ท่านผู้ฟังจะต้องสังเกตพิจารณาข้อความนี้ด้วย คือ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ขอนมสดได้เมื่ออาพาธ แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้บริโภคได้ในเวลาวิกาล เพราะว่านมสดนั้นเป็นโภชนะประณีต เช่นเดียวกับเนื้อและปลา ซึ่งก็เป็นโภชนะที่ประณีต
เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้เห็นว่า ข้อความในพระไตรปิฎกภาษาไทย มีหลายตอนที่ใช้คำว่า นมสด แต่ว่าตามภาษาบาลีไม่ใช่ ขีรํ แต่เป็น ปโยปานํ คือ โภชนะที่เป็นปานะ คือ อาหารที่เป็นน้ำ
ขอกล่าวถึงข้อความใน พระวินัยปิฎก ปริวาร คาถาสังคณิกะ ข้อ ๑๐๑๘ ซึ่งท่านพระอุบาลีได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
สิกขาบทบัญญัติ
สิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ ณ พระนครเวสาลี มีเท่าไร ณ พระนครราชคฤห์ มีเท่าไร ณ พระนครสาวัตถี มีเท่าไร ณ พระนครอาฬวี มีเท่าไร ณ พระนครโกสัมพี มีเท่าไร ณ สักกชนบท มีเท่าไร ณ ภัคคชนบท มีเท่าไร พระองค์อันข้าพระพุทธเจ้าทูลถามแล้ว ขอได้โปรดตอบข้อนั้นแก่ข้าพระพุทธเจ้า
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๔ ตอนที่ ๕๓๑ – ๕๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 481
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 482
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 483
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 484
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 485
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 486
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 487
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 488
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 489
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 490
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 491
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 492
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 493
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 494
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 495
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 496
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 497
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 498
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 499
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 500
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 501
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 502
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 503
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 504
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 505
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 506
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 507
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 508
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 509
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 510
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 511
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 512
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 513
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 514
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 515
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 516
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 517
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 518
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 519
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 520
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 521
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 522
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 523
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 524
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 525
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 526
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 527
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 528
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 529
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 530
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 531
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 532
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 533
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 534
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 535
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 536
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 537
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 538
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 539
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 540