แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 488
ครั้งที่ ๔๘๘
สุ. การที่จะรู้ชัดในนามธรรม ในรูปธรรมทางตา จะอบรมเจริญปัญญาอย่างไร แยกออกไปเป็นแต่ละทาง
ถ. นี่แหละปัญญาเพื่อรู้พระไตรลักษณ์ เมื่อมองเห็น อย่างคนนี้อายุ ๒๐ กว่า แต่ถ้าอายุ ๘๐ ต้องเป็นอย่างคนนั้น นั่นจะเข้ามาฝังในจิตใจ เพื่อจะถอนอัตตา
สุ. ไม่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า ให้รู้ชัดอายุ ๓๐ ให้รู้ชัดอายุ ๕๐ ให้รู้ชัดอายุ ๘๐
ถ. นั่นเปรียบเทียบ
สุ. ไม่เปรียบเทียบ เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ตามความเป็นจริงโดยไม่ใช่การเปรียบ เพราะฉะนั้น ขอการรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า จะรู้ได้อย่างไรในลักษณะของรูป ในลักษณะของนามทางตา จะรู้ได้อย่างไร
ถ. รูปเมื่อเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ส่วนนามเกิดแล้วดับไป ทั้งรูปทั้งนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่ออะไร เพื่อถอนอัตตานุทิฏฐิ
สุ. หมายความว่า ขณะนี้รูปทางตาดับใช่ไหม
ถ. แล้วแต่อาจารย์ว่า
สุ. ไม่ใช่แล้วแต่ผู้ใดว่า ต้องตามความเป็นจริง พระไตรลักษณ์มีอะไรบ้าง อนิจจัง ไม่ได้แปลว่า ดับหรือ
ถ. เปลี่ยนไป
สุ. เวลานี้เปลี่ยนแล้วหรือ กำลังเห็นอยู่นี่ เปลี่ยนแล้วหรือ เปลี่ยนไหม เปลี่ยน เพราะฉะนั้น จากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่ง ที่ว่าเปลี่ยนนั้น คือ ดับใช่ไหม จึงได้เปลี่ยนไป ถ้าหมายความชั่วขณะหนึ่งเปลี่ยนไปๆ ก็หมายความว่า ดับไปๆ ถ้าไม่ดับ ก็เปลี่ยนไม่ได้ใช่ไหม
เพราะฉะนั้น หมายความว่า จะต้องประจักษ์สภาพที่ดับไปในขณะนี้เอง ทำอย่างไรจึงจะประจักษ์ได้ในลักษณะที่ดับของนามธรรมและรูปธรรม ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ระลึกว่าไม่เที่ยง จะต้องมีลักษณะของรูปที่ดับ ลักษณะของนามที่ดับ
ถ. อนิจจัง จะว่าดับก็ได้ เปลี่ยนก็ได้ เคลื่อนไป ย้ายไปก็ได้ ไม่คงที่ก็ได้ แต่ลักษณะนี้เพื่อเอามาใส่ใจเรา เพื่อจับเอาไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาว่า สภาพไม่คงที่ เกิดมา แม้ว่าจะเป็นคนสวยก็ต้องเปลี่ยนไป และต้องตาย ลักษณะที่ว่ามีอยู่แล้วก็ดับนี้ เพื่อเอามาใช้กับตัวเรา เพื่อให้เกิดวิราคธรรม คือ เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความคลาย อันนี้แหละ
สุ. ขณะนี้มีการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นคนนั้น อายุเท่านั้น ต่อไปจะแก่ อายุเท่านี้ นั่นคือ ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นตัวตน ซึ่งการดับกิเลสต้องดับเป็นขั้นๆ เพราะฉะนั้น ขั้นแรกจะดับอะไร ก็ต้องดับความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นพระโสดาบันบุคคลก่อน จึงจะละคลายดับกิเลสขั้นต้นนั้น จากนั้นเป็นพระสกทาคามีบุคคล และจึงจะดับกามราคะเป็นพระอนาคามีบุคคล จนกระทั่งถึงดับกิเลสหมดสิ้นเป็นพระอรหันต์ ต้องตามลำดับขั้น
เพราะฉะนั้น ขั้นแรกดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคลก่อน และที่เห็นว่า คนนี้สวย ต่อไปจะต้องแก่ จะต้องตาย เห็นว่าคนนี้อายุ ๓๐ ต่อไปก็จะต้องอายุ ๔๐ ๕๐ ๖๐ ๗๐ ๘๐ นั่นก็เป็นการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
ถ. ตามสภาพความเป็นจริง มุ่งเอาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่มุ่งนี้ มีเหตุผลว่า ในอนัตตลักขณสูตร ให้พิจารณาขันธ์ ๕ ให้รู้ตามสภาพความเป็นจริง คือ รูปํ อนิจฺจา รูปไม่เที่ยง เวทนา อนิจฺจา เวทนาไม่เที่ยง สญฺญา อนิจฺจา สัญญาไม่เที่ยง สงฺขารา อนิจฺจา สังขารไม่เที่ยง วิญญาณํ อนิจฺจํ วิญญาณไม่เที่ยง รูปํ อนตฺตา นี้เพื่ออะไร ให้รู้ว่าสภาพของรูปก็ดี สภาพของนามก็ดี ไม่มีสภาพที่คงทนอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อรู้รูป ต้องเบื่อหน่ายในรูป เบื่อหน่ายในเวทนา เบื่อหน่ายในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ก็คลายการติด เพราะคลายการติด จิตก็พ้น เมื่อจิตพ้น ก็เกิดญาณรู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกย่อมทราบชัดแล้วว่า จิตพ้นแล้ว สิ้นแล้ว สิ่งนี้ไม่มีไม่ต้องเกิดอีกแล้ว
สุ. คงจะต้องปฏิบัติกันอีกนาน เพราะฉะนั้น จุดประสงค์เพื่อที่จะได้สอบทานธรรมเพื่อความเข้าใจที่แจ่มแจ้ง ถ้าข้อปฏิบัติใดไม่ทำให้เกิดปัญญาที่รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ จะได้ทิ้งข้อปฏิบัตินั้นไปเสีย และเทียบเคียงหาหนทางข้อปฏิบัติที่จะทำให้เกิดความรู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ จุดประสงค์เพื่ออย่างนี้ ถ้าจุดประสงค์เป็นอย่างนี้ ก็จะได้อบรมเจริญปัญญาเป็นขั้นๆ เพราะว่าการอบรมเจริญปัญญานี้ ต้องเป็นขั้นๆ จริงๆ ใช่ไหม ซึ่งถ้ายังไม่เริ่มอบรมเจริญปัญญาให้เกิดขึ้น จะไปบรรลุถึงปัญญาขั้นสูง ก็เป็นไปไม่ได้
ก่อนที่จะรู้ในลักษณะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะต้องมีความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม โดยปรากฏในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลก่อน ซึ่งการศึกษาต้องเป็นไปตามลำดับขั้น ความเข้าใจต้องเป็นไปตามลำดับขั้น และการปฏิบัติก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น
ถ. ธรรมแต่ละแง่แต่ละมุม ธรรมมีหลายขั้น แต่พอสรุปลงแล้วก็ถูกด้วยกัน ของท่านอาจารย์ท่านก็ถูก เหมือนเดินขึ้นมาข้างบน บางท่านขึ้นบันไดนั้น บางท่านขึ้นบันไดนี้ ในที่สุดก็เข้าถึงลักษณะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาด้วยกัน แต่การดำเนินการก็อาศัยท่านอาจารย์ในเรื่องสติปัฏฐาน
เรื่องสติปัฏฐาน เห็นด้วยที่ท่านอาจารย์พูดว่า เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค ทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เป็นที่ไปของบุคคลผู้เดียว เป็นไปในที่แห่งเดียว เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เป็นอัสดงดับไปแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุ ญายธรรม ธรรมเครื่องรู้ คือ อริยสัจ กระทำพระนิพพานให้แจ้ง แต่ว่าทางใดๆ ก็แล้วแต่ ผลที่สุดถ้าหากว่าผู้ใดจับพระไตรลักษณ์เข้าไปซึ้งในใจได้ นั่นแหละจะเป็นทางที่จะทำให้เกิดวิราคธรรมเกิดขึ้นในใจ
สุ. ท่านผู้ฟังก็เป็นผู้ที่ใคร่ในการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งท่านก็ทราบว่า การอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นไปโดยลำดับจริงๆ อย่าคิดว่า จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือจะประจักษ์ลักษณะของไตรลักษณ์ คือ การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมได้โดยง่าย
เพราะฉะนั้น ขอเริ่มปัญญาเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐาน มีการยึดถือว่า มีตัวตน มีสัตว์ มีบุคคล เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคน เป็นสัตว์ เมื่อเจริญสติอบรมเจริญปัญญา จึงเพิ่มความรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยสามารถที่จะรู้ในลักษณะที่เป็นรูปธรรมว่าเป็นรูปธรรม รู้ในลักษณะของนามธรรมว่าเป็นนามธรรม แยกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก่อน จึงจะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามแต่ละชนิด รูปแต่ละชนิดได้
ขณะนี้ท่านผู้ฟังเป็นผู้เริ่มต้นที่จะศึกษา สำเหนียก สังเกตด้วยสติที่ระลึกในขณะที่กำลังเห็นว่า สภาพของนามธรรมเป็นอย่างไร สภาพของรูปธรรมเป็นอย่างไร ในขณะที่กำลังเห็น ที่ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นรูปธรรมอย่างไร เป็นนามธรรมอย่างไร ในขณะที่กำลังได้ยินก็เช่นเดียวกัน
ถ. ในขณะที่เห็น ตาเห็นรูป ไม่ปรุงแต่ง เรียกว่า เห็นสักแต่ว่าเห็น
สุ. ทำอย่างไร ไม่ใช่สักแต่ว่าเห็นโดยนึกเอา แต่หมายความถึงขณะนั้นปัญญารู้ในลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏทางตาว่า ไม่ใช่นามธรรม และนามธรรมที่กำลังเห็นก็ไม่ใช่นามธรรมที่ได้ยิน ไม่ใช่นามธรรมที่คิดนึก เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่จึงจะเป็นสักแต่ว่าได้ แต่ถ้าความรู้อย่างนี้ยังไม่เกิด สักแต่ว่าไม่ได้ เป็นการนึกเอาเฉยๆ
ถ. สักแต่ว่า ถ้าจะอ้างถึงที่มา จะต้องนำ อนัตตลักขณสูตรมาว่า
สุ. อนัตตลักขณสูตร เวลาที่ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะก็ดี หรือว่าพระปัญจวัคคีย์รูปอื่นก็ดี ฟังแล้วบรรลุความเป็นพระอรหันต์เมื่อจบเทศนา เพราะฉะนั้น จะเทศนาย่ออย่างไรท่านเหล่านั้นจึงจะประจักษ์ในความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เคยมีท่านผู้ฟังขอให้นำเอาอนัตตลักขณสูตรมาอ่าน ไม่ยากเลย ขอแต่เพียงว่า อ่านจบแล้ว ผู้ฟังบรรลุความเป็นอรหันต์หรือไม่ แต่ว่าท่านที่ฟังพระผู้มีพระภาคทรงแสดง บรรลุความเป็นอรหันต์ทั้ง ๕ รูป เมื่อจบอนัตตลักขณสูตร
สำหรับท่านเหล่านั้น ท่านมีปัจจัยที่จะแทงตลอด ประจักษ์ในความเกิดดับในความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมในขณะนั้นโดยรวดเร็ว ถึงการดับกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้ แต่สำหรับท่านผู้ฟัง ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่อุคฆฎิตัญญูอย่างนั้น เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งสักแต่ว่าเร็วนัก จะนำข้อความในอนัตตลักขณสูตรมาเทียบกับความเข้าใจของท่าน ในขณะนี้ ก็เร็วไป
ถ. ก็นำที่ได้เคยศึกษามาแล้ว มาอ่านเท่านั้น สพฺพํ รูปํ รูปสักแต่ว่ารูป นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา แล้วแต่ใครจะฟังออกหรือไม่
สุ. แต่ว่าพูดเท่านี้ ไม่ใช่ง่ายเท่านี้ พูดเท่านี้ แต่ว่ายากเหลือเกินที่จะแทงตลอดรู้ชัดในคำพูดนี้ได้ เพราะฉะนั้น อบรมเจริญอย่างไร นี่เป็นปัญหาว่าจะอบรมเจริญอย่างไร จึงจะเห็นว่า รูปไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา และก็ไม่ใช่นามธรรมด้วย รูปขันธ์ไม่ใช่เวทนาขันธ์ ไม่ใช่สัญญาขันธ์ ไม่ใช่สังขารขันธ์ ไม่ใช่วิญญาณขันธ์
ถ. ท่านอาจารย์ท่านบอกว่าจะทำอย่างไร ก็ต้องนำหลักเกณฑ์นั้นมาพูด ตัวเองยังเป็นผู้ปฏิบัติอยู่ แต่ศึกษามาอย่างนี้ ก็แปลได้อย่างนี้
อันข้าพเจ้าพระอานนท์ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี ในกาลนั้นได้ตรัสเตือนพระภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ...
สุ. ดิฉันเป็นผู้ช้า ไม่ใช่ผู้เร็วนัก ขอคำอธิบายเป็นตอนๆ ที่ว่า รูปเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล รูปอะไร รู้ได้ทางไหน
ถ. ตามที่ท่านว่าอย่างนี้ รูปํ ภิกฺขเว อนตฺตา รูปจะเป็นอัตตาแล้วไซร้ รูปก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ อนึ่ง สัตว์พึงได้ในรูปตามใจหวัง ให้รูปของเราเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าเป็นอย่างนี้เลย ไม่ได้สมความปรารถนา
สุ. เข้าใจที่พูด แต่จะรู้ชัดได้อย่างไรว่า รูปอะไรบ้าง รูปมีมากใช่ไหม หรือว่ามีรูปเดียว
ถ. นี่พูดตามอนัตตลักขณสูตร ถ้าจะแยกก็มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๘ รูปทั้งหมดเป็นอนัตตา
สุ. รูปทั้งหมดรู้ได้พร้อมกันทางเดียวไม่ได้ รู้รูปได้ทีละรูป ทีละทาง
ถ. รูป มหาภูตรูป ๔ หมายถึงดิน น้ำ ลม ไฟ
สุ. มหาภูตรูปที่ว่านี้ รู้ได้ทางไหน
ถ. รู้ได้ทางตา
สุ. ตรงกับพระไตรปิฎกไหม มหาภูตรูปรู้ได้ทางตา ตรงไหม ตาเห็นสี รูปารมณ์ วัณโณ เพราะฉะนั้น ไม่ตรง และจะประจักษ์ว่า รูปไม่ใช่ตัวตนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปได้อย่างไร อย่าเพิ่งรีบ รู้ให้ตรงสภาพธรรมตามความเป็นจริงเสียก่อน ที่กล่าวว่า ตรงสภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น มหาภูตรูปลักษณะหนึ่ง คือ ลักษณะที่แข้นแข็ง ปฐวีธาตุ ที่จะรู้แข็ง รู้ทางไหน
ถ. ก็รู้ได้ด้วยทางที่ได้ศึกษามา
สุ. อะไร ทางไหน
ถ. ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้
สุ. รู้มหาภูตรูปได้ทางตา ทางหูไม่ได้ ต้องทางกาย เฉพาะทางกายเท่านั้น หมายความว่า การที่จะรู้ว่าอะไรอ่อน หรืออะไรแข็ง จะต้องรู้ทางกาย โดยอาศัย กายปสาท ถ้าไม่กระทบกายปสาทแล้ว จะไม่รู้ในลักษณะที่อ่อน ในลักษณะที่แข็ง แต่ไม่ใช่รู้มหาภูตรูปได้ทางตา หรือทางหู
เพราะฉะนั้น รูปมีมาก การที่จะรู้ว่า รูปไม่ใช่ตัวตนนี้ ควรจะรู้ลักษณะของรูปแต่ละลักษณะ แต่ละทางด้วย ขอให้เป็นความรู้จริงๆ เป็นลำดับ อย่าเพิ่งรีบด่วนที่จะรู้ไปจนจบเป็นไตรลักษณ์ และก็หมดกิเลสตามพระสูตรแต่ละสูตรๆ
ดิฉันเป็นผู้ช้า เพราะฉะนั้น ก็ใคร่ที่จะได้ทราบว่า รูปที่จะรู้ มีมากหรือมีน้อย มีมาก เพราะฉะนั้น ทางตามีรูปไหม มี ควรรู้หรือไม่ควรรู้ ควรรู้ ทางหูมีรูปไหม มี ควรรู้หรือไม่ควรรู้ ควรรู้ ทางจมูกมีรูปที่ควรรู้ ทางลิ้นมีรูปที่ควรรู้ ทางกายมีรูปที่ควรรู้
เพราะฉะนั้น สติควรจะระลึกรู้รูปที่ปรากฏทางตาลักษณะหนึ่ง รูปที่ปรากฏทางหูลักษณะหนึ่ง รูปที่ปรากฏทางจมูกลักษณะหนึ่ง รูปที่ปรากฏทางลิ้นลักษณะหนึ่ง รูปที่ปรากฏทางกาย เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว แต่ละลักษณะ แต่ละทางก็แต่ละรูปไป เพราะฉะนั้น ถ้าสติไม่เกิดระลึกในขณะที่รูปนั้นๆ กำลังปรากฏ จะรู้ชัดได้ไหม
ถ. ถ้าหากว่าไม่ฝึก คือ ไม่มีสติ หรือวิปัสสนา ก็รู้ไม่ได้
สุ. เพราะฉะนั้น เห็นด้วยใช่ไหมว่า สติควรจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของรูปแต่ละรูป แต่ละทาง
ถ. ก็ต้องอาศัยสติที่ระลึกรู้
สุ. ถ้ารู้แต่เพียงรูป ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละลักษณะด้วย รู้แต่เพียงลักษณะของรูปธรรมเท่านั้น จะละการยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ไหม
ถ. นี่แหละการสนทนาธรรม ขอถามท่านอาจารย์ว่า สติปัฏฐาน ธรรมในธรรม มีนิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพชฌงค์ ๗ อริยสัจ ๔ ผมจะเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ผมจะเอาธรรมอะไรมาพิจารณา
สุ. ธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ที่ผ่านไปแล้ว ไม่สามารถจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป ที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ยังไม่สามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปได้ ในการอบรมเจริญสติปัฏฐานที่เป็นสัมมามรรค ไม่มีจิตเอื้อมไปถึงอารมณ์ที่ยังไม่เกิดปรากฏ ขณะนี้สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ ระลึก เพื่อที่จะรู้ตามความเป็นจริง
ถ. ขอสนับสนุนท่านอาจารย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า อดีต เป็นนิยาย คือ ล่วงไปแล้ว เราแก้ไขไม่ได้ อนาคต สิ่งที่ยังมาไม่ถึง เป็นความฝัน เพราะฉะนั้น ปัจจุบัน ถ้าใครรู้ปัจจุบันได้ ผู้นั้นแหละเป็นผู้ถึงธรรมได้มาก
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๙ ตอนที่ ๔๘๑ – ๔๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 481
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 482
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 483
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 484
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 485
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 486
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 487
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 488
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 489
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 490
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 491
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 492
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 493
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 494
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 495
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 496
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 497
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 498
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 499
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 500
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 501
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 502
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 503
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 504
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 505
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 506
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 507
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 508
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 509
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 510
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 511
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 512
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 513
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 514
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 515
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 516
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 517
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 518
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 519
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 520
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 521
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 522
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 523
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 524
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 525
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 526
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 527
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 528
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 529
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 530
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 531
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 532
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 533
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 534
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 535
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 536
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 537
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 538
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 539
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 540