แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 550


    ครั้งที่ ๕๕๐


    ข้อความต่อไปมีว่า

    เครื่องประดับของคฤหัสถ์เป็นไฉน ผม หนวด ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เครื่องประดับ เครื่องแต่งตัว ผ้า เครื่องประดับศีรษะ ผ้าโพก เครื่องอบ เครื่องนวด เครื่องอาบน้ำ เครื่องตัด กระจกเงา เครื่องหยอดตา ดอกไม้ เครื่องไล้ทา เครื่องทาปาก เครื่องผัดหน้า เครื่องผูกข้อมือ เครื่องผูกมวยผม ไม้เท้า กล้องยา ดาบ ร่ม รองเท้า กรอบหน้า พัดขนสัตว์ ผ้าขาว ผ้ามีชายยาว เครื่องประดับดังกล่าวมานี้ เป็นเครื่องประดับของคฤหัสถ์

    ลองดูสิ่งของที่ท่านมีว่า สิ่งใดเป็นเครื่องประดับบ้าง ไม่ว่าท่านจะใช้อะไรก็ตาม ลองพิจารณาดูว่า ท่านใช้ที่เป็นลักษณะของใช้เท่านั้น หรือว่าท่านใช้ในลักษณะที่เป็นเครื่องประดับด้วย ปากกามีหลายชนิด ชนิดไหนเป็นเครื่องประดับด้วย นาฬิกามีหลายชนิด ชนิดไหนเป็นเครื่องประดับด้วย ช้อน ส้อม ถ้วย จาน ชาม ทุกอย่างที่ท่านมี ลองพิจารณาจริงๆ ว่า เป็นเพียงการใช้ในฐานะเป็นเครื่องใช้ที่จำเป็น หรือว่าเป็นเครื่องประดับด้วย ในบ้านหนึ่งๆ ก็คงจะมีเครื่องประดับหลายชิ้น เครื่องตบแต่งไม่ได้ใช้สำหรับทำอะไรเลย นอกจากประดับ

    สำหรับเครื่องแต่งตัวก็มีมาก ผ้า เครื่องประดับศีรษะ ผ้าโพก เครื่องอบ เครื่องนวด เครื่องอาบน้ำ เครื่องตัด กระจกเงา เครื่องหยอดตา ดอกไม้ เครื่องไล้ทา เครื่องทาปาก เครื่องผัดหน้า เครื่องผูกข้อมือ เครื่องผูกมวยผม ไม้เท้าก็ยังเป็นเครื่องประดับได้ กล้องยาก็ยังเป็นเครื่องประดับได้ แม้ดาบ ร่ม รองเท้า กรอบหน้า พัดขนสัตว์ ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ท่านลองสำรวจดูเครื่องประดับของท่าน น้อยชิ้นหรือมากชิ้น และถ้าได้พิจารณาบ่อยๆ จะเห็นได้จริงๆ ว่า กว่าจะดับกิเลสเป็น พระอรหันต์จะยาก หรือจะง่ายอย่างไร

    สิ่งที่มีอยู่ตามปกติประจำวัน จนเกือบไม่รู้เลยว่า เป็นไปด้วยกิเลส แม้ในการตบแต่งประดับร่างกายของท่าน ท่านก็จะเห็นว่า ยังมีความยึดติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมากเพียงไร

    ข้อความต่อไป

    เครื่องประดับของบรรพชิตเป็นไฉน การประดับจีวร การประดับบาตร การประดับเสนาสนะ การประดับ การตกแต่ง การเล่น การเล่นรอบ ความกำหนัด ความพลิกแพลง ความเป็นผู้พลิกแพลงซึ่งกายอันเปื่อยเน่านี้ หรือซึ่งบริขารอันเป็นภายนอก การประดับนี้ เป็นการประดับของบรรพชิต

    ให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถึงการที่จะดับกิเลสว่ายาก อย่าคิดว่าง่าย สำหรับผู้ที่เป็นคฤหัสถ์นั้น ก็คงจะมีศรัทธารักษาอุโบสถศีลได้เป็นบางกาล แต่สำหรับผู้ที่ดับกิเลสหมดถึงความเป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่เฉพาะบางกาล แต่ว่าตลอดชีวิตทีเดียว แต่ถ้ายังเป็นบรรพชิตซึ่งยังมีกิเลสอยู่ ก็ย่อมจะมีการกระทำที่ไม่สมควรแก่เพศของบรรพชิตตามกำลังของกิเลสได้

    ขอกล่าวถึงเรื่องของการประดับตกแต่งของภิกษุณี ใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ภิกขุนีขันธกะ เรื่องการทาหน้าเป็นต้น

    ข้อ ๕๕๖

    สมัยต่อมา ภิกษุณีฉัพพัคคีย์ทาหน้า ถูหน้า ผัดหน้า เจิมหน้า ด้วยมโนศิลา ย้อมตัว ย้อมหน้า ย้อมทั้งตัวทั้งหน้า ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม

    ภิกษุทั้งหลาย ... กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีไม่พึงทาหน้า ไม่พึงถูหน้า ไม่พึงผัดหน้า ไม่พึงเจิมหน้าด้วยมโนศิลา ไม่พึงย้อมตัว ไม่พึงย้อมหน้า ไม่พึงย้อมทั้งตัวทั้งหน้า รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

    เป็นอาบัติอย่างเบาที่สุด เพราะว่าเป็นเรื่องของสภาพธรรมตามปกติที่ไม่สมควรสำหรบแก่เพศบรรพชิต แต่สำหรับฆราวาสก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีศรัทธาที่จะประพฤติขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต

    ข้อความต่อไปมีว่า

    สมัยนั้น ภิกษุณีฉัพพัคคีย์แต้มหน้า ทาแก้ม เยี่ยมหน้าต่าง ยืนแอบประตู ให้ผู้อื่นทำการฟ้อนรำ ตั้งสำนักหญิงแพศยา ตั้งร้านขายสุรา ขายเนื้อ ออกร้านขายของเบ็ดเตล็ด ประกอบการหากำไร ประกอบการค้าขาย ใช้ทาสให้บำรุง ใช้ทาสีให้บำรุง ใช้กรรมกรชายให้บำรุง ใช้กรรมกรหญิงให้บำรุง ใช้สัตว์เดียรัจฉานให้บำรุง ขายของสดและของสุก ใช้สันถัดขนเจียมหล่อ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม

    ภิกษุทั้งหลาย ... กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีไม่พึงแต้มหน้า ไม่พึงทาแก้ม ไม่พึงเยี่ยมหน้าต่าง ไม่พึงยืนแอบประตู ไม่พึงให้ผู้อื่นทำการฟ้อนรำ ไม่พึงตั้งสำนักหญิงแพศยา ไม่พึงตั้งร้านขายสุรา ไม่พึงขายเนื้อ ไม่พึงออกร้านขายของเบ็ดเตล็ด ไม่พึงประกอบการหากำไร ไม่พึงประกอบการค้าขาย ไม่พึงใช้ทาสให้บำรุง ไม่พึงใช้ทาสีให้บำรุง ไม่พึงใช้กรรมกรชายให้บำรุง ไม่พึงใช้กรรมกรหญิงให้บำรุง ไม่พึงใช้สัตว์เดียรัจฉานให้บำรุง ไม่พึงขายของสดและของสุก ไม่พึงใช้สันถัดขนเจียมหล่อ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

    เป็นเรื่องที่ให้เห็นความต่างกันของฆราวาส มีการค้าขาย มีการประกอบธุรกิจได้ แม้ว่าจะเป็นผู้ที่รักษาอุโบสถศีล เพียงแต่ว่าเป็นผู้ที่เว้นการประดับตบแต่ง แต่ถ้าไม่ใช่ผู้ที่จะมุ่งขัดเกลากิเลสจริงๆ ตามฐานะ ตามเพศ จะเห็นได้ว่า แม้ภิกษุณีก็ยังประพฤติเป็นไปตามกำลังของกิเลส เช่นเดียวกับคฤหัสถ์ทั้งหลายผู้บริโภคกาม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ใช้จีวรสีครามล้วนเป็นต้น

    สมัยนั้น ภิกษุณีฉัพพัคคีย์ใช้จีวรสีครามล้วน ใช้จีวรสีเหลืองล้วน ใช้จีวรสีแดงล้วน ใช้จีวรสีบานเย็นล้วน ใช้จีวรสีดำล้วน ใช้จีวรสีแสดล้วน ใช้จีวรสีชมพูล้วน ใช้จีวรไม่ตัดชาย ใช้จีวรมีชายยาว ใช้จีวรมีชายเป็นลายดอกไม้ ใช้จีวรมีชายเป็นลายผลไม้ สวมเสื้อ สวมหมวก ประชาชนเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม

    ภิกษุทั้งหลาย ... กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีไม่พึงใช้จีวรสีครามล้วน ไม่พึงใช้จีวรสีเหลืองล้วน ไม่พึงใช้จีวรสีแดงล้วน ไม่พึงใช้จีวรสีบานเย็นล้วน ไม่พึงใช้จีวรสีดำล้วน ไม่พึงใช้จีวรสีแสดล้วน ไม่พึงใช้จีวรสีชมพูล้วน ไม่พึงใช้จีวรไม่ตัดชาย ไม่พึงใช้จีวรมีชายยาว ไม่พึงใช้จีวรมีชายเป็นลายดอกไม้ ไม่พึงใช้จีวรมีชายเป็นลายผลไม้ ไม่พึงสวมเสื้อ ไม่พึงสวมหมวก รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

    แม้แต่สี ก็เป็นไปตามความพอใจในการประดับตกแต่งได้ใช่ไหม

    . ผมขอถามพยัญชนะที่ว่า ดอกไม้ ของหอม เป็นสิ่งเดียว หรือเป็นสองอย่าง ของหอม คือ กลิ่นหอมในดอกไม้ ชื่อว่า ดอกไม้ของหอม หรือว่าดอกไม้อย่างหนึ่ง ของหอมก็อีกอย่างหนึ่ง

    สุ. ดอกไม้สีสวย ประดับแล้วก็สวยแม้ว่าไม่หอม ได้ไหม

    . หมายความว่า เป็นสองอย่าง และในเมื่อของหอมภิกษุใช้ไม่ได้ แต่ในครั้งพุทธกาลก็มีมาก ที่บุคคลนำดอกไม้ของหอมไปถวายพระผู้มีพระภาคบ้าง พระภิกษุสงฆ์บ้าง นั่นสมควรหรือ เมื่อเอาไปถวายแล้ว ท่านก็ใช้ไม่ได้

    สุ. ถวายเป็นการบูชาด้วยศรัทธา จะยับยั้งศรัทธาของคนอื่นได้ไหม

    . ก็สิ่งอื่นๆ ที่ดีๆ กว่านั้นน่าจะถวาย ในครั้งพระพุทธกาลเขาไม่น่าเข้าใจผิด เขาก็รู้ว่า ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นท่านใช้ของหอมเหล่านี้ไม่ได้ ทำไมยังจะนำไปถวายอีก

    สุ. แล้วแต่กำลัง ถ้าไม่มีของอื่นจะถวาย มีแต่ดอกไม้ หาอย่างอื่นก็ไม่ได้ กำลังทรัพย์ที่จะไปจัดหาวัตถุอื่นมาถวายก็ไม่มี แต่มีดอกไม้ใคร่ที่จะถวาย ก็ถวายได้ เป็นการบูชาด้วยดอกไม้ ทำไมจึงจะห้ามศรัทธาหรือกุศลจิตของคนอื่นไม่ให้กระทำ แต่ผู้รับไม่ใช่เป็นผู้ที่ติด เพราะเหตุว่าเพศของบรรพชิต เป็นเรื่องของการขัดเกลา ไม่ใช่เรื่องติด

    . ดอกไม้ผมไม่สงสัย แต่ผมสงสัยของหอม เช่น น้ำอบไทย เมื่อเอาไปถวายแล้ว พระท่านก็ไม่ได้ใช้ และน้ำอบไทยนี่ก็ต้องซื้อ ไปซื้อสิ่งอื่นไม่ดีกว่าหรือ ที่ท่านใช้ได้

    สุ. แล้วแต่การพิจารณาของผู้ที่ท่านถวาย ถ้าท่านที่ถวายเห็นอย่างสิ่งอื่นที่เป็นประโยชน์กว่า ท่านมีศรัทธาที่จะถวายสิ่งอื่น ก็เป็นสิ่งที่ควร แล้วแต่ศรัทธาของท่าน โดยมากเท่าที่สังเกต ด้วยกำลังของศรัทธา ฆราวาสมีอะไร ก็ใคร่ที่จะถวาย คือ เทียบใจของท่านกับใจของพระภิกษุในเพศของบรรพชิต อย่างบางท่าน มีของเก่าโบราณ ซึ่งท่านเป็นผู้ที่พอใจและเห็นคุณค่าในศิลปะโบราณเหล่านั้น เมื่อท่านมีแล้ว ท่านมีอีก ท่านก็นำไปถวายพระภิกษุ โดยการเทียบว่า เมื่อท่านพอใจในการที่จะได้รับ บุคคลอื่นก็ควรที่จะเกิดความพอใจในการได้รับด้วย โดยที่ไม่ได้พิจารณาว่า เป็นของที่ควรหรือไม่ควรประการใด

    พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ เรื่องทรงห้ามนอนบนที่นอนดอกไม้ ข้อ ๑๐๔ มีข้อความว่า

    สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์นอนบนที่นอนอันเกลื่อนด้วยดอกไม้ ชาวบ้านเดินเที่ยวชมวิหารพบเห็นเข้า จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม

    ภิกษุทั้งหลาย ... กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนอนบนที่นอนอันเกลื่อนด้วยดอกไม้ รูปใดนอน ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

    มีใครบ้างไหมที่ไม่ชอบดอกไม้ ก็คงจะชอบกันทุกคน และคงรู้สึกสบายตา สบายใจ มีความรื่นรมย์ เวลาที่แวดล้อมไปด้วยดอกไม้ต่างๆ เพราะฉะนั้น สำหรับพระฉัพพัคคีย์ก็เช่นเดียวกัน เมื่อท่านไม่ได้ไปทำอกุศลกรรมบถอะไร แต่ท่านก็ยังมีจิตยินดีในการที่จะได้นอนบนที่นอนอันเกลื่อนด้วยดอกไม้ แต่ด้วยเหตุที่ไม่เหมาะไม่ควรแก่เพศของบรรพชิต พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติว่า ภิกษุไม่พึงนอนบนที่นอนอันเกลื่อนด้วยดอกไม้ รูปใดนอน ต้องอาบัติทุกกฏ

    พุทธานุญาตรับของหอม

    ข้อ ๑๐๕

    สมัยนั้น ชาวบ้านถือของหอมบ้าง ดอกไม้บ้างไปวัด ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่รับประเคน จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับของหอม แล้วเจิมไว้ที่บานประตูหน้าต่าง ให้รับดอกไม้ แล้ววางไว้ในส่วนข้างหนึ่งในวิหาร ฯ

    ไม่ปฏิเสธศรัทธาของบุคคลอื่น แต่ว่าเมื่อรับมาแล้ว ควรจะปฏิบัติอย่างไรที่เป็นการสมควรแก่เพศสมณะ คือ ไม่ติด หรือไม่บริโภคอย่างคฤหัสถ์ อย่างชาวบ้าน ถ้าเป็นของหอมก็เจิมไว้ ทาไว้ตามประตูหน้าต่าง ก็เป็นการใช้โดยที่ไม่ได้มาประดับตกแต่งร่างกายให้เกิดกลิ่นหอมดังเช่นคฤหัสถ์ สำหรับดอกไม้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อรับมา ก็เก็บไว้ วางไว้ในส่วนข้างหนึ่งในวิหาร

    ของหอม เครื่องลูบไล้ บางครั้งก็จำเป็นสำหรับการรักษาโรคผิวหนัง ซึ่งถ้าไม่เป็นการลูบไล้เพื่อประดับตกแต่งแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงอนุญาต

    พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ เภสัชชขันธกะ ข้อ ๔๔ มีข้อความว่า

    สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคผิวหนัง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำการลูบไล้ด้วยของหอม

    สำหรับเรื่องของการติดการพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่ากิเลสยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ในส่วนของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นการที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมไปเรื่อยๆ ที่ลักษณะของนามนั้นบ้าง รูปนั้นบ้าง จนกว่าจะเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ในขณะนั้นๆ ที่เจริญสติปัฏฐาน ก็ยังมีเหตุปัจจัยที่จะให้กิเลสเกิดขึ้นเป็นไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ส่วนของกิเลสที่เกิดขึ้น ก็สะสมไปเป็นปัจจัยเพิ่มพูนขึ้น ส่วนของสติและปัญญาที่อบรม ก็ค่อยๆ เจริญขึ้น จนกว่าสามารถที่จะรู้แจ้งแม้ในลักษณะของกิเลส หรือธรรมทั้งหลายที่มีปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น จะต้องทราบว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นบุคคลใดก็ตามที่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่ขณะที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอรหันต์ ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้กิเลสเกิดขึ้นเป็นไปโดยประการต่างๆ แม้ในพระชาติสุดท้ายของการที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และในชาติสุดท้ายของพระสาวกทั้งหลายด้วย ซึ่งขอกล่าวถึงท่านพระนันทะ ใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ภิกขุสังยุต นันทสูตร มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระนันทะผู้เป็นบุตรของพระเจ้าแม่น้าแห่งพระผู้มีพระภาค ห่มจีวรที่ทุบและกลับทุบแล้ว หยอดนัยน์ตา ถือบาตรมีสีใส เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

    ท่านพระนันทะนั้นจะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่ก่อนที่ท่านจะได้ บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ยังมีการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และในการประดับตกแต่ง

    ครั้นท่านพระนันทะนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านดังนี้ว่า

    ดูกร นันทะ ข้อที่เธอห่มจีวรที่ทุบและกลับทุบแล้ว หยอดนัยน์ตา และถือบาตรมีสีใส ไม่สมควรแก่เธอผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา ข้อที่เธอถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และไม่พึงเป็นผู้เพ่งเล็งในกามทั้งหลายอยู่อย่างนี้ จึงสมควรแก่เธอผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา ฯ

    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

    เมื่อไร เราจะพึงได้เห็นนันทะถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโภชนะที่เจือปนกัน ผู้ไม่อาลัยในกามทั้งหลาย ดังนี้ ฯ

    ลำดับนั้น ท่านพระนันทะ โดยสมัยต่อมา ได้เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และไม่อาลัยในกามทั้งหลายอยู่ ฯ

    จบสูตรที่ ๘

    จะเห็นได้ว่า ต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ท่านผู้ฟังที่ยังติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในการประดับตกแต่ง บอกให้เลิก เลิกได้ไหม ถ้าท่านมีปัจจัยที่สะสมมาที่จะกระทำอย่างนั้นๆ จะประดับอย่างนั้น จะตบแต่งอย่างนั้น แต่ละบุคคลก็แต่ละอย่างต่างๆ กันไป แม้ท่านพระนันทะ ท่านก็ไม่ใช่ว่าจะเลิกได้ทันทีทันใดที่ท่านบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ แต่ว่าค่อยๆ เป็นไป จนกระทั่งสามารถบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ และก็เป็นผู้ที่อยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ไม่อาลัยในกามทั้งหลายอยู่

    ก็ต้องค่อยๆ เป็นไปตามความเป็นจริง ตามขั้นของปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วย ขอให้ระลึกอยู่เสมอว่า เป็นผู้ที่มีกิเลสมาก และกว่าจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ก็จะต้องอบรมเจริญกุศลทุกประการ ประการที่สำคัญที่สุด คือ การอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๕๔๑ – ๕๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564