แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 556
ครั้งที่ ๕๕๖
ข้อความต่อไปในจดหมายมีว่า
ผมขอพูดเรื่องโลก ตามที่ได้พบเห็นมา
คำถามข้อ ๑ ผมพบว่า ท่านอาจารย์ตอบปัญหาของท่านนักปฏิบัติคงมีความยากใจในการตอบมากอยู่ ตามที่ผมที่ได้พบมา ท่านพระอาจารย์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ร้องขอลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดของท่าน รวมทั้งมีการปลูกฝังในเรื่องคำถามที่จะถามอาจารย์มาก คือ ท่านสอนตามพระไตรปิฎกเล่ม ๓๐ ข้อ ๑๖๖๑, ๑๖๖๒, ๑๖๖๓ ไว้มาก เผอิญท่านทำได้ผล จึงไม่มีลูกศิษย์ถามเรื่องเหตุโลก ผลโลกมากนัก ผมเห็นอย่างโลกๆ ว่า ทำให้หัดง่าย สอนง่าย ก็ขอนำมาเล่าสู่
สุ. แสดงว่าควรจะจำกัดคำถามของท่านผู้ฟัง และควรจะปลูกฝังท่านผู้ฟังให้เป็นผู้ที่หัดง่ายสอนง่าย ไม่ให้ถามเรื่องที่ไม่เป็นสาระในความเห็นของท่าน แต่ท่านก็ไม่ได้บอกมาว่า ข้อความในพระไตรปิฎกเล่ม ๓๐ ข้อ ๑๖๖๑ – ๑๖๖๓ นั้น มีข้อความประการใด แต่พระไตรปิฎกทั้งหมดมีคุณประโยชน์มากที่จะต้องเข้าใจให้สอดคล้องทั้ง ๓ ปิฎก ไม่ใช่เฉพาะเล่ม ๓๐ ข้อ ๑๖๖๑ – ๑๖๖๓ เท่านั้น เพราะว่าบางทีท่านอาจจะไปอ่านเอง และคิดเข้าใจเอาเองก็ได้
ก่อนที่ดิฉันจะได้ศึกษาพระอภิธรรม ได้เคยอ่านธรรม และไม่เข้าใจข้อความในธรรมที่ได้อ่านชัดเจนเลย และก็มีหลายท่านทีเดียวที่อ่านธรรมจากพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม โดยไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรม ก็กล่าวว่า ไม่ค่อยเข้าใจความหมายที่แท้จริงที่ได้อ่านเลย แต่บางท่านก็บอกว่า ท่านเข้าใจว่าอย่างนี้ๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้ที่เข้าใจในอรรถ เพราะผู้นั้นได้ศึกษาพระอภิธรรมด้วย พระสูตรด้วย พระวินัยด้วย
เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งคิดว่า ท่านเข้าใจข้อความในพระไตรปิฎกโดยถูกต้อง ผู้ที่ศึกษาจริงๆ จะเข้าใจได้ว่า ที่ท่านอ่านแล้ว จะเข้าใจจะถูกผิดประการใด ต้องสอบทานกับอรรถกถาด้วย เพราะว่าพระอรรถกถาจารย์ท่านได้ศึกษาธรรมมาก่อน ใกล้ชิดกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในยุคโน้นหลังจากที่พระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานไปไม่นานเลย
แต่ว่าบุคคลในครั้งนี้ ไกลมาก การศึกษาก็น้อยมาก ห่างมาก เพราะฉะนั้น เพียงอ่านและคิดว่า ท่านเข้าใจความหมายในพระไตรปิฎกว่าเป็นอย่างนี้ๆ ตามความคิดความเข้าใจของท่าน ซึ่งอาจจะผิดได้มาก เพราะฉะนั้น ควรที่จะศึกษาโดยตลอด พร้อมทั้งสอบทานในอรรถกถาด้วย
คำถามข้อ ๒ ผมได้มาพบท่านอาจารย์ด้วยเหตุบังเอิญ คือ มีผู้มาบอกผมว่า ท่าน อาจารย์เป็นพระอริยบุคคล กล่าวว่า บรรยายธรรมได้ดีที่สุด เข้าใจชัดที่สุด ขอให้ผมเลิกเปลี่ยนครูบาอาจารย์เสียที ก็อธิบายต่อว่า ถ้าไปพบอาจารย์ ก็ดูกาลเทศะให้ดี สอนให้ระวังในการพบอาจารย์ให้มาก ผมระลึกอะไรอยู่สักครู่ แล้วก็ลองไปหาท่านอาจารย์เป็นครั้งแรก
สุ. นี่ไม่ใช่เป็นการบังเอิญ แต่มีเจตนา ตั้งใจจะมาหาทีเดียว
คำถามข้อ ๒ (ต่อ)
เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๑๘ ตอนบ่าย ได้พบ และก็เข้าใจอะไรต่างๆ ได้เป็นอย่างดี คือ กลุ่มที่เป็นอย่างนี้ก็คงมีอยู่หลายๆ คนด้วยกัน ผมก็คงไม่ว่ากระไร แต่ถ้าจะลองคิดดูเล่นๆ เหมือนกับว่า ถ่ายภาพหลังดวงจันทร์ออกมาดูให้เห็นได้ก็น่าจะดี คือ อยากจะลองเสนอแนะ ให้ลองสอนโดยแยบคายดูสักเล็กน้อย ถ้าทิฏฐิบางประการลดลงไปได้ ก็คงเป็นนักปฏิบัติที่ดีไม่น้อย ผมเห็นว่า มีการตีความคำสอนของท่านอาจารย์ไปในทางตรงข้ามกับวัตถุประสงค์ของพระผู้มีพระภาคก็คงมีมาก ผมก็เลยร้องขอท่านอาจารย์ ได้กรุณาลองอย่างประณีต โดยไม่ให้กระทบกระเทือนไรๆ เลย ถ้าสอนได้ ก็จะเป็นคุณอย่างยิ่ง
สุ. นี่คือความเห็นของท่าน ซึ่งกัลยาณมิตรของท่านเป็นผู้ที่อยู่ป่า และท่านก็ได้ฟังธรรม เมื่อท่านได้มาพบด้วยตัวเอง ท่านก็กล่าวว่า ท่านเข้าใจอะไรๆ ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี คือ กลุ่มที่เป็นอย่างนี้ก็คงมีอยู่หลายๆ คนด้วยกัน ท่านบอกว่า ท่านไม่ว่าอะไร แต่ถ้าจะลองคิดดูเล่นๆ เหมือนกับว่า ถ่ายภาพหลังดวงจันทร์ออกมาดูให้เห็นได้ก็น่าจะดี หมายความว่า เมื่อได้พบแล้ว ก็ตรงกันข้ามกับที่ท่านเคยได้ทราบมาจากบุคคลอื่น ถ้าเหมือนกับที่ทราบมาจากบุคคลอื่น ก็คงจะเหมือนดวงจันทร์ด้านหน้า เมื่อท่านเห็นแล้ว ท่านก็อยากจะลองเสนอแนะ ให้ลองสอนโดยแยบคายดูสักเล็กน้อย หมายความว่า ที่บรรยายมานี้ทั้งหมดไม่แยบคาย เพราะฉะนั้น ท่านใคร่ที่จะลองเสนอแนะให้ลองสอนโดยแยบคายดูสักเล็กน้อย
ท่านกล่าวว่า ถ้าทิฏฐิบางประการลดลงไปได้ ก็คงเป็นนักปฏิบัติที่ดีไม่น้อย ทิฏฐิอะไร และที่จะให้ลองสอนโดยแยบคาย ทำอย่างไร ขอความกรุณาชี้แจงให้ทราบด้วย
ท่านกล่าวว่า ผมเห็นว่า มีการตีคำสอนของท่านอาจารย์ไปในทางตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์ของพระผู้มีพระภาคก็คงมีมาก
ถ้าท่านศึกษาพระไตรปิฎก ขอเรียนถามจริงๆ ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมให้พุทธบริษัทอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หรือว่าเพื่อไม่ให้รู้ หรือว่าเพื่อให้เลือกรู้บางรูปบางนามเท่านั้น ท่านลองพิสูจน์ว่า ถ้าท่านรู้เพียงบางรูปบางนาม ไม่รู้ทั่วในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ท่านละคลายความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ไหม
ในขณะนี้ กำลังเห็น จะเจริญอบรมปัญญาอย่างไรที่จะละคลายความไม่รู้ในการเห็น ซึ่งเห็นอยู่เรื่อย เมื่อวานนี้ วันนี้ ต่อไปทุกภพ ทุกชาติ ทำอย่างไรจึงจะละคลายความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ที่กำลังเห็นอยู่ในขณะนี้ได้
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ให้เจริญสติปัฏฐาน ให้อบรมปัญญา ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือไม่ ซึ่งถ้าดิฉันเข้าใจอย่างนี้ อบรมเจริญอย่างนี้ และท่านผู้ฟังเข้าใจอย่างนี้ อบรมเจริญอย่างนี้ จะว่าตีความคำสอนไปในทางตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์ของพระผู้มีพระภาคได้หรือไม่
เรื่องความเห็น เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ก่อนปัญญาจะเจริญขึ้นได้ จะต้องเข้าใจสภาพธรรมให้ถูกต้องพร้อมทั้งเหตุผลเสียก่อน มิฉะนั้นแล้ว ก็ไม่เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมที่จะดับกิเลสได้เลย
ท่านกล่าวว่า ผมก็เลยร้องขอท่านอาจารย์ ได้กรุณาลองอย่างประณีต โดยไม่ให้กระทบกระเทือนไรๆ เลย ถ้าสอนได้ก็จะเป็นคุณอย่างยิ่ง
จะให้สอนอย่างไรก็ไม่ทราบ ถ้าไม่ให้กล่าวถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ให้เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
คำถามข้อ ๓ มีเรื่องที่น่าสงสาร ขอกล่าวเฉพาะนักปฏิบัติที่น่าสงสารเท่านั้น คือ นักปฏิบัติกลุ่มพระสูตรและกลุ่มพระอภิธรรม ๙ ปริจเฉท ไม่ค่อยถูกกัน ไม่มีเมตตาสงเคราะห์กันเลย ดูอีกด้านหนึ่งก็คงอยู่ไกลพระอริยเจ้ามาก ไกลจากการฝึกฝนธรรมของพระอริยะมาก ในเรื่องที่กล่าวถึงนี้ ทำให้เกิดความยากลำบากและเป็นตัวอย่างไม่ดี เป็นจุดโตๆ ผมพบมากที่บริเวณลานอโศกวัดมหาธาตุเท่านั้น มีอาการแข็งๆ สอนธรรมไม่เข้าสู่ใจ แต่ก็โล่งใจไปมาก เพราะพบที่ลานอโศกเพียงแห่งเดียว เคยไปทางภาคอีสานพบว่า ที่นั่นเปิดวิทยุ แล้วชวนกันมานั่งพับเพียบฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บางรายการวิทยุบอกบุญมากเกินไป เขายกมือไหว้ลาเสียก่อน แล้วจึงค่อยๆ จากที่นั้นไป ก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่ผมเห็นมา ผมสนใจโอวาทปาติโมกข์ ๓ คาถากึ่ง เพราะเห็นว่าสั้นและจำง่าย และคลุมพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ผมจำเรื่องนี้ก่อน และดูว่าจะง่ายทั้งการเรียนปริยัติ และทำการปฏิบัติ
ก็ครั้งหนึ่ง เคยมีผู้ถาม ถามเรื่องธรรม แต่กระเดียดจะเป็นเรื่องวิ่งเข้าไปหากิเลส ก็พบว่าไม่มีคำตอบจากพระอาจารย์ บางแห่งเขียนหัวข้อไว้ว่า เราเข้าไปสู่กุฏิเพื่อประโยชน์อันใด เมื่อเราแสวงหาวิชาและวิมุติ ได้ถอนขึ้นซึ่งมานานุสัย ความดำริของเราเหล่านั้นสำเร็จแล้ว ก็มีแนวโน้มไปในทางไม่พูดโลกมากไป ผมสังเกตดูท่านอาจารย์ ดูละเอียดก็ว่า คงไม่อยากพูดอธิบายในเรื่องนั้นๆ อยู่เหมือนกัน คือ ดูคำตอบน้อย คำหรือ ๒ คำ พอให้เรื่องผ่านๆ ไป เช่นว่า มาลัยหรือดอกไม้ร้อยเป็นพวง หรือดอกไม้ดอกเดียว ก็ไปเก็บเอามาถาม
ในสำนักปฏิบัติธรรมบางแห่ง เช่น ที่เขาสวนหลวง ก็พบว่า มีการชี้ถึงคุณโทษ และได้มีการพยายามฝึกจิตไม่ให้นักปฏิบัติพูดอะไรๆ ตามความพอใจ ผมก็อยากให้ คือ อยากร้องขอให้ท่านอาจารย์ค่อยๆ แสดง อธิบาย เพื่อเว้นเรื่องดังกล่าว เท่าที่ผมทราบก็ทำให้มรรคไม่สมังคี เสมือนว่าก้อนกรวดตกลงไปในเครื่องยนต์ อย่างไรก็ตาม ผมก็เขียนมาด้วยปรารถนาดี อย่างไรก็ดี เขียนมาเป็นเรื่องโลก ก็คงต้องมีการขออภัยเป็นอย่างยิ่ง ที่อาจทำให้ขาดประโยชน์ธรรมไปบ้าง
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
สุ. ท่านก็มีความปรารถนาดี ถึงกับแสดงความคิดเห็นว่า อยากร้องขอให้ค่อยๆ แสดง อธิบาย เพื่อเว้นเรื่องดังกล่าว
ต้องขออภัยท่านผู้ฟัง ที่อ่านจดหมายฉบับนี้ให้ท่านฟัง เพราะบางท่านอาจจะไม่พอใจ และคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ แต่ความจริงแล้ว ท่านมีโอกาสที่จะได้ฟัง ได้เห็นสภาพของจิต พร้อมทั้งการสะสมมาต่างๆ กัน ตามข้อความในจดหมายของแต่ละท่านซึ่งเขียนมา นี่ก็เป็นธรรม เมื่อสะสมมาอย่างนี้ ก็คิดอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ มีความปรารถนาดีอย่างนี้ และหวังอย่างนี้
แต่ท่านผู้ฟังก็ควรที่จะได้ไตร่ตรองธรรมที่ได้ยินได้ฟัง และอบรมเจริญปัญญาให้รู้ทั่วในสภาพธรรมที่ปรากฏ เพื่อละคลายการยึดถือนามรูปว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล นี่เป็นจุดประสงค์ของการฟังธรรม
แต่ถ้าท่านผู้อื่นจะไม่มีจุดประสงค์อย่างนี้ ก็เป็นเรื่องของท่าน รู้สึกว่าการบรรยายธรรม ไม่เป็นที่พอใจของบางท่านในเรื่องนั้นบ้าง ในเรื่องนี้บ้าง ซึ่งก็คงจะเป็นการยากที่จะให้เป็นที่พอใจของทุกท่าน เพราะว่าทุกท่านก็มีอัธยาศัยที่สะสมมาต่างกัน และประการสำคัญ คือ มีความเห็นต่างกันด้วย
การที่จะให้ทุกท่านมีความเห็นเหมือนกัน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลใดมีความเห็นอย่างไร แสดงความคิดเห็นอย่างไร ก็ควรที่จะได้กล่าวถึงเหตุผลที่ท่านเชื่ออย่างนั้น ที่ท่านเห็นอย่างนั้นด้วย และบุคคลอื่นซึ่งมีความเห็นอย่างอื่น ก็ควรที่จะได้แสดงถึงเหตุผลในการที่ท่านมีความคิดอย่างอื่น มีความเชื่ออย่างอื่น มีการปฏิบัติอย่างอื่น ให้บุคคลอื่นได้เทียบเคียง ได้พิจารณาด้วยว่า เหตุผลที่แท้จริง ประโยชน์ที่แท้จริงนั้น คืออย่างไร เพราะว่าความเห็นเปลี่ยนแปลงได้
คนที่เคยเห็นผิดมาแล้ว ถ้าฟังจริงๆ เพื่อประโยชน์ คือ ให้ได้เหตุผล ให้เกิดความเห็นถูกขึ้น วันหนึ่งก็ย่อมเห็นถูก และย่อมมีเหตุผล ย่อมรู้เหตุผลตามความเป็นจริงด้วย แต่ถ้าท่านมีความเห็นอย่างอื่นต่างๆ กัน แต่ไม่ชี้แจงในเหตุในผลของความคิดความเห็นของท่านแต่ละคน คนอื่นจะทราบได้อย่างไรว่า ทำไมท่านเชื่ออย่างนั้น ทำไมท่านคิดเห็นอย่างนั้น ทำไมท่านประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น
ธรรมเป็นเรื่องเปิดเผย เพื่อความแจ่มแจ้ง ไม่ว่าท่านจะมีความคิดเห็นประการใด ก็ควรที่จะกล่าวถึงเหตุผลในการที่ท่านคิดอย่างนั้น เชื่ออย่างนั้น เพื่อให้คนอื่นพิจารณาว่า สมควร ถูกต้องในเหตุผลมากน้อยเพียงไร
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องโต้เถียง ไม่ใช่เรื่องโต้แย้ง แต่เป็นเรื่องการแสดงเหตุผลของความคิดเห็น และการประพฤติปฏิบัติตามของแต่ละท่าน ที่ควรจะรับฟัง เพื่อว่าถ้าท่านผู้ใดยังมีความเห็นผิดคลาดเคลื่อนอยู่ ก็จะได้สะสมเหตุผล การพิจารณาความถูกต้อง เพื่อที่จะได้ให้เกิดความเห็นถูกขึ้น เพราฉะนั้น ควรรับฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่น แต่อย่ากล่าวว่า ผิด ไม่ถูก โดยไม่ชี้แจงเหตุผล และเชื่อว่าความเห็นของท่านเท่านั้นที่ถูก เมื่อเห็นว่า ความเห็นอย่างไรผิด ก็ควรที่จะกล่าวออกมาให้ชัดเจนว่า ความคิดเห็นอย่างนี้ที่ผิดไป คลาดเคลื่อนไป ไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุผลอย่างไร
ผู้ฟัง ผมสึกว่า ท่านผู้ฟังผู้นี้ยังคงมีความปรารถนาดีอยู่ แต่ความปรารถนาดีของท่านจะดีจริงหรือไม่จริง ก็ยังไม่ค่อยจะแน่ใจนัก เพราะว่าผู้ที่ปรารถนาดี บางทีก็ทำให้ผู้อื่นหลงผิด ถ้าไปต่างจังหวัด หลงทาง และถ้าไปถามทางกับคนต่างจังหวัด เขาก็ไม่มีเจตนาที่จะหลอกให้เราผิดทาง แต่ด้วยคำถามที่ไม่เข้าใจ หรือว่าคำตอบของเขาทำให้เราไม่เข้าใจ อะไรก็แล้วแต่ มักจะไปทางผิดทุกที ผมประสบมา ถ้าจะไปถามทางคนต่างจังหวัด จะต้องถามให้ละเอียดทุกกระเบียดนิ้ว ไม่อย่างนั้น มีหวังไปหลงข้างหน้าอีกทุกที
เพราะฉะนั้น ท่านเจ้าของจดหมาย ก็เป็นคนที่มีความหวังดี เห็นว่าการบรรยายของอาจารย์สุจินต์เป็นการบรรยายที่ผิดกับจุดประสงค์ของพระพุทธเจ้า แต่การปฏิบัติถูกของท่าน ท่านก็ไม่ชี้แจงว่า ข้อปฏิบัติถูกของท่านเป็นอย่างไร ท่านบอกแต่ว่า กัลยาณมิตรของท่านเป็นผู้อยู่ในป่า หมายความว่า ผู้ที่จะปฏิบัติต้องอยู่ในป่า แต่ปฏิบัติอย่างไรก็ไม่บอก และที่ท่านบอกว่า คนทั่วๆ ไปที่อาจารย์บรรยาย มีกลุ่มๆ หนึ่ง ซึ่งหมายความว่า เชื่อคำบรรยายของอาจารย์สุจินต์ และที่ท่านเห็นว่า คนทั่ว ๆ ไปนั้นยังไกลจากพระอริยเจ้านัก ก็หมายความว่า ท่านใกล้แล้ว ซึ่งความที่ใกล้ของ พระอริยเจ้าหรือข้อปฏิบัติที่ถูกของท่านนั้น ท่านก็ไม่ได้บอกว่า ควรจะปฏิบัติอย่างไร
สุ. ท่านเจ้าของจดหมายก็คงจะรับฟังความคิดเห็นของท่านผู้อื่นด้วย เมื่อได้ทราบข้อความในจดหมายของท่านแล้ว ผู้ฟังท่านอื่นมีความคิดเห็นอย่างไร ท่านก็คงจะรับไว้พิจารณาด้วย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๖ ตอนที่ ๕๕๑ – ๕๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 541
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 542
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 543
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 544
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 545
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 546
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 547
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 548
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 549
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 550
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 551
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 552
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 553
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 554
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 555
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 556
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 557
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 558
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 559
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 560
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 561
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 562
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 563
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 564
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 565
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 566
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 567
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 568
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 569
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 570
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 571
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 572
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 573
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 574
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 575
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 576
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 577
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 578
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 579
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 580
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 581
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 582
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 583
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 584
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 585
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 586
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 587
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 588
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 589
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 590
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 591
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 592
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 593
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 594
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 595
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 596
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 597
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 598
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 599
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 600