แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 563
ครั้งที่ ๕๖๓
ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังอีกฉบับหนึ่งเขียนมาจากบ้านเลขที่ ๔๖๖/๑ บางพลัด ต.บางพลัด อ.บางกอกน้อย จ.กรุงเทพ
วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๘
เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพ
ผมมีความรู้ในด้านกัมมัฏฐาน จะขอถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า ผมจะออกแสดงตัวจริงๆ ได้ในด้านไหนดี แต่ผมเรียนในด้านนี้ ทางขอพรจากพระพุทธองค์ และได้เดินธุดงค์ไปจังหวัดอยุธยา พักแรมข้างทางรถไฟและรถยนต์เป็นเวลา ๖ คืน และกลับมาสำเร็จวิชานี้ที่บ้าน ในตอนต้นเดือนที่แล้ว เพราะผมขอหูทิพย์ จนสำเร็จ และมีหูทิพย์เชื่อมโยง แต่มีคอยว่าแดก และขอให้ผมหยุดยั้ง ดังนั้นผมขอถามท่านอาจารย์ว่า ผมจะมีทางยุติได้หรือไม่ จะทำอย่างไรให้หูทิพย์หลุดไปจากการเชื่อมโยง แต่พระพุทธองค์ได้บอกผมไว้ตอนจากไปว่า อีกประมาณ ๔ ปีเศษ ผมจะได้พบกับท่านอีก
ตอนนี้ผมเป็นคนยากจน เพราะมีคนคอยกลั่นแกล้ง และยังไม่มีเงินที่จะสนับสนุนในด้านวิชาที่สำเร็จ แต่ในบางพลัดนั้น มีคนไม่ค่อยดีเลย เขาหาว่าผมหยิ่ง ไปสั่งสอนและให้วิชาแก่ผู้อื่น ให้การร่วมมือกับผู้อื่น ผู้อื่นจึงมีคนดึงจดหมายที่ส่งไปแล้วถึง ๒ ฉบับ ถ้าอาจารย์จะกรุณาเขียนจดหมายมาตอบผม ขอให้เขียนส่งที่ ... (ท่านก็เขียนตำบลที่อยู่ของท่าน)
สุ. สำหรับท่านผู้นี้ ขอเรียนว่า ถ้าท่านฟังธรรมไปเรื่อยๆ และไม่กังวลกับเรื่องหูทิพย์ของท่าน หมดไปเมื่อไร ก็จะทำให้ท่านเข้าใจธรรมตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น และวันหนึ่งก็อาจจะทำให้ท่านประพฤติปฏิบัติอบรมเจริญปัญญาในทางที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยไม่คลาดเคลื่อนได้ แต่ถ้าไม่ใช่อาศัยการฟังธรรม ไม่พิจารณาในเหตุผลแล้ว ก็ย่อมจะผิดไปเรื่อยๆ และคงจะไม่มีท่านผู้หนึ่งผู้ใดช่วยเอาหูทิพย์ออกจากตัวท่านได้
ท่านผู้ฟังมีความเห็นอะไรในเรื่องนี้บ้างไหม ท่านจะเกื้อกูลผู้ฟังท่านนี้ประการใดบ้าง ในความคิดของท่าน
ผู้ฟัง …. (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ก็ดีที่ท่านไม่ยกย่องในทางเสีย เพราะว่าจะทำให้เสียยิ่งขึ้น ถ้ากล่าวสนับสนุนว่าท่านมีหูทิพย์ ซึ่งไม่ใช่ความจริง คนที่เข้าใจผิดอยู่แล้ว ก็จะยึดมั่นยิ่งขึ้น เข้าใจว่าตัวเองมีหูทิพย์จริงๆ แต่เหตุต้องสมควรกับผล
เพราะฉะนั้น สำหรับท่านผู้ฟังท่านนี้ ที่ท่านจะได้หูทิพย์นั้น ท่านเจริญอบรมอย่างไร และหูทิพย์ของท่านได้ยินอะไร ได้ยินเสียงอะไรที่ว่าเป็นทิพย์ เพราะว่าการที่จะมีคุณวิเศษคือหูทิพย์ จะต้องอาศัยเหตุที่ถูกต้อง คือ การอบรมฌานสมาบัติจนชำนาญคล่องแคล่วจริงๆ และเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาเสียก่อนว่า ก่อนที่จะอบรมเจริญฌานสมาบัติให้เกิดฌานจิตขึ้นได้จริงๆ นั้นจะต้องทำอย่างไร ไม่ใช่เพียงฟังและท่านก็คิดว่า ฌานจิตได้เกิดขึ้นแล้วกับท่าน หรือคิดว่าหูทิพย์คุณวิเศษต่างๆ เกิดขึ้นแล้วกับท่าน ประการสำคัญที่ท่านจะพิจารณาได้โดยไม่ยาก คือ พระผู้มีพระภาคทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีรูปธรรมนามธรรมเกิดขึ้นอีกเลย เพราะฉะนั้น บุคคลที่ท่านพบไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน
น่าคิดไหม ข้อปฏิบัติผิดจะพาให้ไปถึงไหนได้ พาไปไหนๆ ก็ได้ จนกระทั่งถึงกับเข้าใจว่า ตัวท่านเองมีหูทิพย์ และถามดิฉันว่า ทำอย่างไรให้หูทิพย์หลุดไปจากการเชื่อมโยง หูทิพย์นี่ เวลามีแล้วเอาออกไม่ได้ ก็เป็นเรื่องลำบาก ขอเรียนให้ท่านผู้ฟังพิจารณาว่า การที่จะเดินทางตรงๆ และถูกจริงๆ ต้องประกอบด้วยเหตุผลจริงๆ เพราะถ้าเป็นหนทางที่ไม่ถูก เป็นหนทางที่ผิดไปทีละเล็กทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว ก็จะทำให้ผิดไปได้ไกลมากทีเดียว
ผู้ฟัง เรื่องพบพระผู้มีพระภาค ผมได้ฟังมา ๒ แห่ง เป็นพระอาจารย์มีชื่อเสียงอยู่ทางบ้านผม อยุธยา ท่านเข้าฌานแล้วท่านก็ขึ้นไปอยู่ชั้นดาวดึงส์ ที่พระจุฬามณี ได้พบพระพุทธเจ้านั่งอยู่ที่พระจุฬามณีพร้อมด้วยพระอรหันต์ ถ้าจะให้เราพูด ก็แปลว่าท่านเคลิ้มไปแล้ว พระพุทธเจ้าเข้านิพพานแล้วจะมีอะไรเหลืออยู่ บาลีมีว่าอย่างนี้ อนฺตมโส สุปินํ ตาปิ พระนิพพานแม้จะในฝันก็ไม่มี
สุ. ขอเรียนถึงเหตุผลในการปฏิบัติธรรม เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณา เพราะว่าโดยมากที่ท่านปฏิบัติกันคลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้อง เป็นเพราะเข้าใจความหมายของคำว่าปฏิบัติธรรมผิด เพราะถ้าจะแปลออกมาเป็นภาษาไทย ท่านก็เข้าใจว่าเป็นการทำ ท่านอาจจะคิดว่า ต้องกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น โดยการไปสู่สถานที่หนึ่งที่ใด นั่นเป็นการทำ แต่ว่าการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นการเจริญอบรมมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งได้แก่ สัมมาสติ เป็นต้น
เมื่อได้อบรมเจริญ คือ เกิดขึ้นเนืองๆ บ่อยๆ ย่อมจะมีความชำนาญในการที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และปัญญาซึ่งสำเหนียก สังเกต ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็เริ่มรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลขึ้นทีละเล็กทีละน้อย
การปฏิบัติธรรม คือ การอบรมความเข้าใจถูกให้เกิดขึ้น
การปฏิบัติธรรม คือ การอบรมเจริญปัญญาให้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ใช่ต้องไปสู่สถานที่หนึ่งที่ใด ทำอาการกิริยาที่ไม่เป็นปกติและคิดว่า นั่นคือการปฏิบัติธรรม แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น
การปฏิบัติธรรม คือ การอบรมเจริญปัญญา ความเข้าใจถูกให้เกิดขึ้น นั่นคือปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ความสงบ
เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นการอบรมปัญญาเพื่อรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สติเกิด ขณะใดที่ปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นั่นคือ ปฏิบัติธรรมให้เกิดความเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น อย่าลืม ปฏิบัติธรรม คือ การอบรมเจริญปัญญาให้เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง และไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดปฏิบัติ นอกจากมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งตามปกติแล้ว มรรค ๕ องค์ คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก สัมมาสังกัปปะ การจรดในลักษณะของอารมณ์ที่ถูก สัมมาวายามะ ความเพียรซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง เว้นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๑๖ ดวง ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณ เป็นต้น คือ ขณะที่กำลังเห็น ได้ยิน เหล่านี้ ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ว่าขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นสัมมาวายามะซึ่งเป็นวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ต้องเป็นห่วงที่จะต้องไปเป็นตัวตนที่จะทำความเพียรประการหนึ่งประการใดเลย เพราะว่าขณะใดที่สติเกิด จะมีแต่เฉพาะสติอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีโสภณธรรม เจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เช่น สัมมาวายามะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ในมรรคมีองค์ ๕ ก็มี สัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ๑ สัมมาสังกัปปะ ได้แก่ วิตกเจตสิก ๑ สัมมาวายามะ ได้แก่ วิริยเจตสิก ๑ สัมมาสมาธิ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง ๑ และสัมมาสติ เป็นสภาพธรรมที่ระลึกได้ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง
นี่คือ การปฏิบัติธรรมของเจตสิกซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติแล้วจะมีมรรคเกิดร่วมกันเพียง ๕ องค์ จนกว่าขณะใดที่โลกุตตรจิตเกิดขึ้น ประจักษ์แจ้งชัดลักษณะของนิพพานธาตุ ขณะนั้นจึงประกอบพร้อมกันทั้ง ๘ องค์ รวมทั้งเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเป็น โสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมไม่ใช่การทำอะไรที่ผิดปกติ แต่เป็นการกระทำความรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมให้เกิดขึ้น โดยระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติเนืองๆ บ่อยๆ เพราะฉะนั้น ถ้ามีการระลึกได้ ก็รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้
ขณะนี้มีสภาพธรรมใดปรากฏทางไหน ยังไม่เคยระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็เป็นการหลงลืมสติ แต่เมื่อระลึกได้ ก็ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อศึกษา สังเกต สำเหนียก ให้เกิดความรู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน คือ เป็นเพียงสภาพของรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ หรือเป็นสภาพของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แต่ไม่ใช่เป็นการทำความผิดปกติให้เกิดขึ้น ถ้าเข้าใจความเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว ปัญหาเรื่องสถานที่ไม่มี แต่ตราบใดที่ยังมีปัญหาเรื่องสถานที่ แสดงให้เห็นว่า ยังไม่เข้าใจชัดในการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น ข้อปฏิบัตินี้สำคัญที่สุดที่จะเป็นเหตุให้บรรลุผล คือ ปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจ ๔ ได้หรือไม่ ถ้าข้อปฏิบัติผิด คลาดเคลื่อน ก็ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ แต่ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะทำให้ปัญญาเพิ่มขึ้น รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏชัดเจนขึ้น จนประจักษ์แจ้งในอริยสัจธรรม ๔ ได้
ถ. เมื่อก่อนนั้น ผมฟังหลายอาจารย์ ฟังอย่างไรก็ไม่รู้ ผมบวชที่บ้านผมกับเพื่อน เขาบอกให้ฉันข้าวมื้อเดียว ให้ฉันสำรวม และให้เดินช้าๆ รู้สึกว่า ขัดกับความรู้สึกผมอย่างมาก มาฟังอาจารย์สุจินต์แล้วรู้สึกว่าเป็นปกติ ระเบียบนี้ผมฟังมาหลายอาจารย์แล้ว ตัวผมเองเป็นคนเชื่อคนยากที่สุด เชื่อยากมาก หลายอาจารย์รู้สึกไม่ค่อยเชื่อ พอมาฟังอาจารย์สุจินต์ พูดได้ลึกซึ้งมาก ละเอียดมาก และไม่กระทบใคร เคยฟังหลายอาจารย์ บางคราวฝืนความรู้สึก และกระทบผู้อื่นด้วย อาจารย์สุจินต์ ถ้าฟังไม่ตลอด อาจจะตีปัญหาไม่ออก
สุ. ขออนุโมทนาที่ท่านเห็นว่า การเจริญสติเป็นปกติเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เพราะถ้าเกิดความหวั่นไหว หรือการกระทำขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ผู้ที่มีความสังเกตระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ จะรู้ว่า มีความเป็นตัวตนอยู่ในขณะนั้น จึงหวั่นไหว เพราะว่าสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงทั้งหมดเป็นของจริง ต้องเป็นผู้ที่อาจหาญ กล้าที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏแล้วเพราะเหตุปัจจัย และการอาจหาญกล้าที่จะระลึกรู้ จะทำให้เห็นตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น และเป็นสภาพธรรมลักษณะต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ปัญญาจะต้องรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกตินี้เอง จึงจะเป็นการถูกต้อง
เพราะฉะนั้น ขอให้อบรมเจริญสติปัฏฐานต่อไปเรื่อยๆ
ถ. บางทีก็เผลอ ลืมทุกครั้ง บางทีขึ้นต้นใหม่ มันลืม เพราะรู้ว่าสติเผลอ บางครั้งก็รู้ บางครั้งก็ไม่รู้ แล้วแต่การสะสมมาหลายต่อหลายชาติ จะเอาอย่างใจไม่ได้ ต้องค่อยๆ ไป
สุ. นี่เป็นการถูกต้อง คำพูดของท่านที่ว่า ระลึก รู้ และก็หลงลืม แล้วก็ตั้งต้นใหม่ ระลึก รู้ และก็หลงลืม ซึ่งในพระไตรปิฎกใช้คำว่า ปรารภสติ หรือว่าสติเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็ตั้งต้นใหม่ คือ เกิดอีก แล้วก็ดับอีกไปเรื่อยๆ กว่าจะเป็นปัญญาที่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมได้ชัดเจน จะต้องอาศัยสติที่ระลึกรู้แล้วก็หมดไป และก็หลงลืม แล้วก็ตั้งต้นใหม่ ระลึก รู้ และก็หลงลืม
การตั้งต้น ไม่มีตัวตนที่จะไปตั้งตนได้ แล้วแต่สติเกิดเมื่อไร
ถ. แล้วแต่โอกาส
สุ. เพราะฉะนั้น นามรูปก็มีเพียงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งวิจิตรมาก และเพราะการปรารภ คือ ระลึก ตั้งต้นไปเรื่อยๆ ซ้ำทางตาอีก ซ้ำทางหูอีก ซ้ำทางจมูกอีก ซ้ำทางลิ้นอีก ซ้ำทางกายอีก เมื่อยังไม่ใช่เป็นปัญญาที่คมกล้ารู้ชัด ก็ยังไม่สามารถที่จะทำลายกิเลสซึ่งสะสมมามากมายเหลือเกินในจิตใจมีปัจจัยพร้อมและเร็วที่จะเกิดปรากฏให้เห็นได้ เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยสติซึ่งปรารภบ่อยๆ และสังเกตโดยศึกษา สำเหนียกรู้ลักษณะของสภาพธรรมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเป็นปัญญาที่คมกล้า
ถ. ผมอยากจะได้วิธีปฏิบัติขั้นแรก
สุ. วิธีจะปฏิบัติขั้นแรก คือ ฟังให้เข้าใจ ขั้นแรกทีเดียว
ถ้ามีท่านผู้หนึ่งผู้ใดบอกให้ท่านทำวิปัสสนาโดยไม่ให้ท่านเข้าใจว่า วิปัสสนานั้นคือปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ท่านจะได้ผลอันนี้ไหม ถ้าทำตามบอกเล่าโดยไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจของท่านจริงๆ ว่า วิปัสสนานั้นรู้อะไร
ที่จะกระทำนั้น คือ กระทำความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ประการแรก คือ ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกิดขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อได้พิจารณาเหตุผลของข้อปฏิบัติว่า สภาพธรรมกำลังปรากฏอยู่ทุกขณะ ปฏิบัติอย่างไรจึงจะกระทำให้เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้ เพราะถึงแม้จะได้ฟังมาแล้วว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นอนัตตาอย่างไร อะไรเป็นอนัตตา กำลังเห็นในขณะนี้เป็นของจริง เป็นอนัตตาหรือเปล่า เมื่อสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา การเห็นในขณะนี้ต้องเป็นอนัตตาด้วย แต่ว่าการเห็นคืออย่างไร
กำลังเห็น แต่ยังไม่ประจักษ์ในลักษณะสภาพธรรมที่แท้จริงของการเห็น ทั้งๆ ที่เห็นอยู่เรื่อยๆ เพราะไม่ได้ศึกษา หรือไม่ได้ฟังให้เข้าใจก่อนว่า สภาพที่เห็นเป็นเพียงสภาพรู้ชนิดหนึ่ง แต่ว่าเป็นสภาพรู้ทางตา ถ้าสภาพรู้ทางตาไม่มี สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตาไม่มีเลยที่จะปรากฏได้ ถึงแม้ว่าสีสันวัณณะมี ปรากฏกับผู้อื่น แต่ถ้าไม่มีการเห็นกับผู้ใดในขณะใด สีสันวัณณะจะไม่ปรากฏกับผู้นั้นในขณะนั้นเลย เพราะฉะนั้น สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่สภาพรู้ แต่ปรากฏแก่สภาพรู้ที่กำลังรู้สีสันวัณณะในขณะนี้
นี่คือ การฟังขั้นต้นให้เข้าใจว่า วิปัสสนาหรือปัญญานั้น จะต้องรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตรง ถูกต้องตามลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เมื่อมีความเข้าใจว่า ปัญญาจะต้องรู้อะไร คือ รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกตินี้เอง จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ ถ้าตราบใดปัญญายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติจริงๆ จะไม่มีการละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้เลย
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ไม่ใช่หนีความเป็นปกติของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏแล้วในแต่ละขณะ เพราะมีเหตุปัจจัยสภาพธรรมนั้นๆ จึงได้เกิดปรากฏ แต่การที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ ต้องอาศัยการระลึกได้ว่า จะต้องรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง คือ ไม่ว่าจะกำลังเห็นในขณะใด ให้ระลึก ให้รู้ในความจริงว่า เป็นแต่เพียงสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ทางตาเท่านั้น เป็นความจริงไหม กำลังเห็นเป็นเพียงสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ทางตาเท่านั้นเอง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๗ ตอนที่ ๕๖๑ – ๕๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 541
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 542
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 543
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 544
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 545
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 546
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 547
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 548
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 549
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 550
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 551
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 552
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 553
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 554
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 555
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 556
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 557
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 558
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 559
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 560
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 561
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 562
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 563
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 564
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 565
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 566
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 567
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 568
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 569
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 570
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 571
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 572
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 573
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 574
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 575
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 576
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 577
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 578
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 579
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 580
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 581
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 582
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 583
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 584
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 585
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 586
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 587
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 588
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 589
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 590
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 591
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 592
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 593
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 594
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 595
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 596
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 597
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 598
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 599
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 600