แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 567


    ครั้งที่ ๕๖๗


    ผู้ฟัง จดหมายที่อาจารย์อ่านก็มีข้อที่น่าคิด ผู้เขียนนี้เป็นผู้ที่ปฏิบัติตาม พระปาติโมกข์ใช่ไหม ผมก็บวชมานาน เรียนมามาก แต่ก็ไม่มากพอที่จะเอาตัวรอด ถือตัวว่ามีความรู้มาก ถือตัวมานาน ถ้าตายระหว่างนั้นเห็นจะไม่พ้นนรกหรอก แต่ก่อนคิดว่า อย่างจิตเป็นต้น ถือว่าไม่ตายหรอก พอจุติจากนี่ก็ไปเกิดใหม่ ตอนหลังมาฟังอาจารย์ จึงรู้ว่า จิตเกิดดับๆ รูปนามก็เกิดดับ

    ท่านผู้เขียนกล่าวว่า ท่านทำตามในปาติโมกข์ สำรวมในปาติโมกข์ ท่านเป็นฆราวาสใช่ไหม ความจริงโอวาทปาติโมกข์ พระผู้มีพระภาคท่านสอนกับพระเท่านั้น แต่ว่าอะไรที่สอนกับพระ ฆราวาสจะฟังและปฏิตามก็ไม่ขัดข้อง ผมรู้บาลีก็อยากจะว่าให้ฟัง โอวาทปาติโมกข์มีอย่างนี้

    สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำความชั่ว

    กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญความดี

    สจิตฺตปริโยทปนํ ทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว

    อนูปาฆาโต อนูปวาโท ปาติโมกฺเข จ สํวโร การไม่ว่ากล่าว หรือไม่เข้าไปว่า หรือการสำรวมในปาติโมกข์

    แสดงให้เห็นว่า ท่านสอนพระ ไม่ได้สอนฆราวาส แต่เราจะเอามาปฏิบัติ ก็ไม่ขัดข้อง ตอนหลังมีต่อไปว่า

    ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา แปลว่า ความอดทนเป็นตบะอันสูงยิ่ง

    มตฺตญญุตา จ ภตฺตสฺมึ การรู้จักพอดีในอาหารที่รับประทาน

    ปนฺตญฺจ สยนาสนํ อยู่ในที่สงัด นั่งหรือนอนในที่สงัด

    อธิจิตฺเต จ อาโยโค แปลว่า ประกอบจิตในอธิจิต คือ อธิศีลสิกขา

    เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

    ซึ่งความจริงท่านสอนกับพระจึงเรียกว่า โอวาทปาติโมกข์

    สุ. ขอบคุณ ต้องขอให้ท่านผู้ฟังซึ่งจะศึกษาและปฏิบัติตามในโอวาท- ปาติโมกข์ได้เข้าใจให้ชัดเจนว่า จุดประสงค์นั้น คือ เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม และจะต้องละคลายขัดเกลากิเลส ซึ่งจะต้องอาศัยความอดทนและธรรมอย่างอื่นประกอบด้วย อดทนที่จะให้คนอื่นเขาเข้าใจถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่ ท่านนที่เข้าใจถูกต้องแล้ว ก็ไม่ควรจะเกิดความรำคาญใจ แต่ควรจะมีความอดทน เห็นใจ เข้าใจ และช่วยให้บุคคลอื่นได้เข้าใจธรรมที่ถูกต้องยิ่งขึ้น อดทนที่ได้ฟังซ้ำแล้วซ้ำอีกบ่อยๆ เพื่อที่จะอุปการะเกื้อกูลให้คนอื่นได้พิจารณา และได้เข้าใจเหตุผลของธรรม

    สำหรับเรื่องของการปฏิบัติ คือ เรื่องของอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา และ อธิปัญญาสิกขา ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต สมณวรรคที่ ๔ สมณสูตร ข้อ ๕๒๑ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจของสมณะที่สมณะควรทำ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ การสมาทานอธิศีลสิกขา ๑ การสมาทานอธิจิตตสิกขา ๑ การสมาทาน อธิปัญญาสิกขา ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจของสมณะที่สมณะควรทำ ๓ อย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ ท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิศีลสิกขา เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิจิตตสิกขา เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิปัญญาสิกขา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาเช่นนี้แล ฯ

    สำหรับเรื่องของอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขานั้น ก็คือ การอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ที่ท่านผู้นี้เขียนมา ข้อ ๒ ที่ว่า สีเป็นรูปที่จิตรู้ได้ทางตา ตาสัมผัสสีในปัจจุบันธรรม นั่นรู้สึกว่าเป็นเรื่องพูดง่าย ปฏิบัติยากมากที่สุด

    ก็จริงใช่ไหม แต่ไม่ได้บอกว่า เมื่อปฏิบัติยากแล้วก็อย่าปฏิบัติเลย ไม่ใช่อย่างนั้น ขอให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ยากที่จะรู้แจ้งว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แม้การเห็น สภาพที่กำลังรู้ กำลังเห็นที่ปรากฏทางตาขณะนี้ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ท่านกล่าวว่า รู้สึกว่าเป็นเรื่องพูดง่าย ปฏิบัติยากมากที่สุด

    จริง และต้องปฏิบัติด้วย ไม่ใช่ว่ารู้ว่าปฏิบัติยากเลยไม่ปฏิบัติ อย่างนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะยากสักเพียงไรก็ตาม แต่เมื่อจะอบรมเจริญปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็จะต้องอบรมจนถึงการประจักษ์แจ้งได้

    สำหรับข้อที่ ๑. ที่ท่านว่า คำว่า รู้แจ้งแทงตลอด มีผู้ปรารภว่า ใช้ได้กับพระอรหันต์เท่านั้น ผมเห็นว่าน่าจะมีการจำกัดการใช้บ้างตามสมควร

    นี่เป็นเรื่องของพยัญชนะที่พยายามจะให้ท่านเข้าใจลักษณะสภาพของปัญญา ซึ่งเป็นการประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงความคิด ความเข้าใจ หรือคาดคะเนว่า ขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับ นี่เป็นเรื่องจริงซึ่งประจักษ์แจ้งยาก แต่ก็จะต้องอดทนที่จะต้องอบรมจนกระทั่งประจักษ์แจ้งได้จริงๆ

    ข้อความต่อไปที่ท่านว่า ในทางปฏิบัติจริง อภิสังขารมารมาหลอกเอาบ่อยๆ ผมเห็นว่า ต้องดูเทวบุตรมารและอภิสังขารมารควบคู่ไปด้วย ผมไม่อยากให้เขามาหลอก

    ไม่ใช่เพียงแต่ไปอ่านเรื่องเทวบุตรมารหรืออภิสังขารมาร แต่ต้องรู้ว่า ในขณะนี้ที่กำลังเห็นอยู่และก็ไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่ามีความสงสัยบ้าง หรือมีความเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องรู้เพราะเป็นสิ่งที่รู้ยาก นั่นคือมารหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าไปเปิดตำราดูเทวบุตรมารหรืออภิสังขารมาร แต่ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ มีกิเลส คือ ความเห็นผิด หรือความไม่รู้หนทางข้อปฏิบัติซึ่งกั้นไม่ให้ปัญญาเจริญขึ้นที่จะประจักษ์ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้หรือเปล่า นี่คือตามความเป็นจริง

    คามิกะ เท่าที่อาจารย์ว่ามานี่ ผมก็อยากจะเรียนให้ท่านทราบ ในฐานะที่เรียนมามาก ผมเรียนได้ตั้ง ๖ ประโยค ได้แต่เรียน ปฏิบัติไม่มี แต่ก็อวดดีว่าตัวรู้ดี คิดว่า นั่งอยู่เฉยๆ คงไม่เป็นไร แต่ที่ไหนได้ มาฟังอาจารย์จึงได้รู้ว่า นั่งอยู่เฉยๆ ก็ได้ทั้งบุญทั้งบาป ถ้าจิตเราคิดไม่ดี ไปด่าใคร แช่งใคร ก็บาปแล้ว แต่ถ้าจิตดี คิดว่า ที่โน่นเขาทำบุญ ก็ได้บุญ นี่เป็นของละเอียด และที่อาจารย์ว่า เป็นของยาก ก็แน่นอน พระผู้มีพระภาคทรงสร้างบารมีมาเท่าไร พระอรหันต์ พระสาวกต่างๆ ท่านสร้างบารมีมา ไม่ใช่ง่ายๆ ถ้าง่ายก็สำเร็จโสดากันเสียหมด อีกอย่างหนึ่งที่ว่า ปรากฏชัดแจ้ง รู้แจ้งชัด ต้องพระอรหันต์ ก็แปลกันตามตัวหนังสือที่ปรากฏ ที่พระผู้มีพระภาคท่านตรัส อย่างว่า วิปัสสนา ขอให้ท่านคิด ตามศัพท์แปลว่าอะไร

    วิ แปลว่า แจ้ง คือ รู้แจ้ง เห็นแจ้ง

    ปัสส แปลว่า เห็น

    ปัญญา แปลว่า รู้ทั่ว รู้รอบ

    ก็แปลกันไปอย่างนั้น ผู้แปลไม่ได้แปลผิดอะไร

    สุ. สำหรับข้อ. ๓ รู้สึกว่าเป็นข้อที่ท่านมีความต้องการที่จะให้มีการปรับปรุง ท่านเขียนมาว่า การแสดงตนสูงกว่า เสมอ และต่ำกว่าของท่านผู้ถาม การใช้เดรัจฉานกถาของผู้ถาม ถ้ามี ผมเห็นว่า น่าจะมีอุบายอันแยบคายทำให้ลดลงไปได้ ก็คงจะทำให้ดีขึ้นในหลายๆ อย่าง มีผู้ปรารภมากว่าชอบมาถามกันมาก ยิ่งเปิดช่องว่างต่างๆ เขาก็ถาม แต่ถ้ามีบุญ เขาก็ไม่มาถามมาก

    สำหรับอุบายที่แยบคาย เข้าใจว่า คงจะไม่มีอุบายอื่นที่จะแยบคายกว่าธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพราะว่าการที่จะไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขบุคคลคนอื่นซึ่งมีข้อข้องใจและมาถามด้วยอัธยาศัยต่างๆ กันนั้น เป็นสิ่งซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าบุคคลนั้นไม่ฟังพระธรรม

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ได้กล่าวถึงในการบรรยายแนวทางเจริญสติปัฏฐาน จะเป็นเครื่องช่วยให้บุคคลที่มีอุปนิสัยสะสมมาต่างๆ กัน ได้ขัดเกลากิเลสของตนเองให้เบาบาง ซึ่งดิฉันเห็นว่า มีแต่พระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นอุบายที่แยบคายที่สุด ที่เมื่อนำพระธรรมมากล่าวมาแสดงให้ท่านผู้ฟังมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น การขัดเกลากิเลสของแต่ละท่าน ก็ย่อมเป็นไปได้มากขึ้น

    และที่ท่านเขียน ป.ล.ว่า ถ้าจะกรุณามีการปรับปรุงบ้างก็อาจจะดี บางท่านปรารภว่า พูดอะไรไม่ได้ ผมก็ไม่เชื่อเขา จึงลองเขียนมา

    ฟังแล้วเหมือนกับว่า ดิฉันเป็นคนดื้อ คือว่าไม่ยอมที่จะปรับปรุง หรือเชื่อคำแนะนำของผู้ใดเลย แต่ให้ทราบว่า ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีบุคคลใดสามารถที่จะกระทำอย่างไรได้เลย นอกจากว่าจะเป็นผู้ฟังพระธรรม พิจารณาในเหตุผล และขัดเกลากิเลส แต่ไม่ทราบจะให้ปรับปรุงอย่างไร ถึงแม้ว่าจะปรับปรุงตามใจอัธยาศัยของท่านผู้นี้ ก็ไม่เป็นที่ถูกอัธยาศัยของท่านผู้อื่น เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเพียงปรับไปตามคำพูดของคนอื่น หรือความเห็นของคนอื่น ในที่สุดจะทำอะไรไม่ถูก และจะทำอะไรไม่ได้ เพราะว่าไม่มีหนทางใดเลยที่จะทำให้ถูกใจทุกท่านได้ แต่ถ้าทุกท่านเป็นผู้ที่ต้องการฟังพระธรรมจริงๆ และประพฤติธรรมขัดเกลากิเลสด้วย ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่มีความอดทน เข้าใจ และเห็นใจในบุคคลอื่น มีความเมตตา หวังดี ที่จะอดทนให้ผู้อื่นได้เข้าใจธรรมในแง่มุมต่างๆ ด้วย

    ผู้ฟัง สำหรับผม ด้วยความสัตย์จริงเรียนมามาก สำนักไหนที่ว่าดี ผมไม่ฟังหรอก ไม่เข้าท่า บางทีพอว่าเสร็จแล้วเรี่ยไรเลย นี่รำคาญที่สุด เรี่ยไรกัน หาเงินกันจริง ผมไม่ต้องการอะไร อายุ ๘๒ – ๘๓ ปีแล้ว ผมต้องการสัจจะ ต้องการไปสวรรค์ ไม่อยากไปนรก เพราะฉะนั้น อาจารย์คนไหนที่สอนไม่เข้าท่า โคหัวหน้าฝูงไปทางไหน ลูกน้องก็ตามไปทางนั้น ลงเหวก็ลงด้วย อย่างนี้ผมไม่เอา ผมฟังมามาก ๒๐ – ๓๐ อาจารย์ ที่ไหนว่าดี ๆ ไปฟัง แต่ไม่เข้าท่า มีเลื่อมใสอยู่ไม่เท่าไรหรอก อย่างอาจารย์นี้ในฐานะเป็นฆราวาส ผมฟังฆราวาสทุกคน มาติดใจ ติดใจอย่างไร เพราะสอนให้ผมรู้ความจริง สอนให้ผมรู้ธรรม และตรงกับความเห็นของเรา คนเราทุกคนไม่ใช่ว่าตามเขาไป เขาว่าดำก็ดำ แดงก็แดง ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าจะตกนรกเพราะตัวเราเองก็ยอม แต่ถ้าตกนรกเพราะให้คนอื่นเขาจูงไป มันน่าเสียใจ

    อีกอย่างหนึ่ง นี่เป็นหลักธรรมดา พระผู้มีพระภาคท่านตรัสเป็นบาลีว่า สุทสฺสํ วชฺชมญฺเญสํ อตฺตโน ปน ทุทฺทสํ โทษคนอื่นเห็นง่าย แต่ของตน ไม่เห็นหรอก ไม่มองดูโทษของตน มองแต่คนอื่นเขาทำผิด ส่วนโทษของตนแม้จะใหญ่เท่าภูเขาหลวงก็ปิดเสีย ก็เข้าลักษณะอย่างนี้ คนเราทั่วๆ ไป

    สุ. ขอเพิ่มเติมในข้อ. ๒ ที่ท่านว่า สีเป็นรูปที่จิตรู้ได้ทางตา ... ตาสัมผัสสีในปัจจุบันธรรม นั่นรู้สึกว่าเป็นเรื่องพูดง่าย ปฏิบัติยากมากที่สุด

    จริง เพราะเหตุว่าที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะที่กำลังเห็น เป็นการปฏิบัติ หรือเป็นการศึกษา อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา

    โดยพยัญชนะ อธิ แปลว่า ละเอียด

    อธิศีลสิกขา เป็นการศึกษาศีลโดยละเอียด

    อธิจิตสิกขา เป็นการศึกษาจิต สมาธิโดยละเอียด

    อธิปัญญาสิกขา เป็นการอบรมเจริญปัญญาโดยละเอียด

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม จะต้องเข้าใจหนทางข้อปฏิบัติ คือ มรรคมีองค์ ๘ เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ยาก แต่เป็นข้อปฏิบัติที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ และก็เป็นกิจของสมณะ คือ ผู้สงบ หรือผู้ที่ปฏิบัติดำเนินหนทางที่จะขัดเกลากิเลสให้เป็นผู้ที่สงบระงับดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทจริงๆ

    ขอกล่าวถึง อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต สมณวรรค สมณสูตร อีกครั้ง ซึ่งมีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจของสมณะที่สมณะควรทำ ๓ อย่างนี้

    ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ใช่สมณะ แต่ท่านเจริญหนทางที่จะรู้แจ้งอรินสัจธรรม ก็เป็นการปฏิบัติธรรมของสมณะ

    ๓ อย่างเป็นไฉน คือ การสมาทานอธิศีลสิกขา ๑ การสมาทานอธิจิตตสิกขา ๑ การสมาทานอธิปัญญาสิกขา ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจของสมณะที่สมณะควรทำ ๓ อย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ ท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิศีลสิกขา เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิจิตตสิกขา เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิปัญญาสิกขา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาเช่นนี้แล ฯ

    ท่านทั้งหลาย คือ ท่านที่จะเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็นทางตา ซึ่งทุกท่านเห็นว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ยาก แม้แต่ท่านเจ้าของจดหมาย ท่านก็กล่าวว่า เป็นเรื่องที่พูดง่าย ปฏิบัติยากมากที่สุด แต่ท่านก็ควรจะได้สอบทานจิตใจและความเข้าใจของท่านว่า ท่านมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ท่านทั้งหลายพึงศึกษาเช่นนี้แล เพราะเหตุว่าอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขานั้น ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๗ ตอนที่ ๕๖๑ – ๕๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564